หนังตะลุง
หนังตะลุง คือ ศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นอย่างหนึ่งของภาคใต้ เป็นการเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าการ "ว่าบท" มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ และใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม ซึ่งการว่าบท การสนทนา และการแสดงเงานี้ นายหนังตะลุงเป็นคนแสดงเองทั้งหมด หนังตะลุงเป็นมหรสพที่นิยมแพร่หลายอย่างยิ่งมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในยุคสมัยก่อนที่จะมีไฟฟ้าใช้กันทั่วถึงทุกหมู่บ้านอย่างในปัจจุบัน หนังตะลุงแสดงได้ทั้งในงานบุญและงานศพ ดังนั้นงานวัด งานศพ หรืองานเฉลิมฉลองที่สำคัญจึงมักมีหนังตะลุงมาแสดงให้ชมด้วยเสมอ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หนังตะลุงกลับกลายเป็นความบันเทิงที่ต้องจัดหามาในราคาที่ "แพงและยุ่งยากกว่า" เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ เพราะการจ้างหนังตะลุงมาแสดง เจ้าภาพต้องจัดทำโรงหนังเตรียมไว้ให้ และเพราะหนังตะลุงต้องใช้แรงงานคน (และฝีมือ) มากกว่าการฉายภาพยนตร์ ค่าจ้างต่อคืนจึงแพงกว่า ยุคที่การฉายภาพยนตร์เฟื่องฟู หนังตะลุงและการแสดงท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น มโนราห์ รองแง็ง ฯลฯ ก็ซบเซาลง ยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคที่ทุกบ้านมีโทรทัศน์ดู ละครโทรทัศน์จึงเป็นความบันเทิงราคาถูกและสะดวกสบาย ที่มาแย่งความสนใจไปจากศิลปะพื้นบ้านเสียเกือบหมด[ต้องการอ้างอิง] ปัจจุบัน โครงการศิลปินแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงให้แก่อนุชนรุ่นหลัง เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ให้คงอยู่สืบไป ประวัตินักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า มหรสพการแสดงเงาจำพวกหนังตะลุงนี้ เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของมนุษยชาติ เคยปรากฏแพร่หลายมาทั้งในแถบประเทศยุโรป และเอเชีย โดยอ้างว่า มีหลักฐานปรากฏอยู่ว่า เมื่อครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมีชัยชนะเหนืออียิปต์ ได้จัดให้มีการแสดงหนัง (หรือการละเล่นที่คล้ายกัน) เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะและประกาศเกียรติคุณของพระองค์ และเชื่อว่า มหรสพการแสดงเงานี้มีแพร่หลายในประเทศอียิปต์มาแต่ก่อนพุทธกาล ในประเทศอินเดีย พวกพราหมณ์แสดงหนังที่เรียกกันว่า ฉายานาฏกะ เรื่องมหากาพย์รามายณะ เพื่อบูชาเทพเจ้าและสดุดีวีรบุรุษ ส่วนในประเทศจีน มีการแสดงหนังสดุดีคุณธรรมความดีของสนมเอกแห่งจักรพรรดิ์ยวนตี่ (พ.ศ. 411 - 495) เมื่อพระนางวายชนม์ ในสมัยต่อมา การแสดงหนังได้แพร่หลายเข้าสู่ในเอเชียอาคเนย์ เขมร พม่า ชวา มาเลเซีย และประเทศไทย คาดกันว่า หนังใหญ่คงเกิดขึ้นก่อนหนังตะลุง และประเทศแถบนี้คงจะได้แบบมาจากอินเดีย เพราะยังมีอิทธิพลของพราหมณ์หลงเหลืออยู่มาก เรายังเคารพนับถือฤๅษี พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ยิ่งเรื่องรามเกียรติ์ ยิ่งถือว่าเป็นเรื่องขลังและศักดิ์สิทธิ์ หนังใหญ่จึงแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เริ่มแรกคงไม่มีจอ คนเชิดหนังใหญ่จึงแสดงท่าทางประกอบการเชิดไปด้วย และเชื่อกันว่าหนังใหญ่มีอยู่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะมีหลักฐานอ้างอิงว่า มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งเป็นชาวเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์และทางกวี สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเรียกตัวเข้ากรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาราชครูหรือพระโหราธิบดี และมีรับสั่งให้พระมหาราชครูฟื้นฟูการเล่นหนัง (หนังใหญ่) อันเป็นของเก่าแก่ขึ้นใหม่ ดังปรากฏในสมุทรโฆษคำฉันท์ว่า
หนังใหญ่ แต่เดิมเรียกว่า "หนัง" นิยมเล่นกันแพร่หลายในแถบภาคกลาง ส่วนหนังตะลุง แต่เดิมคนในท้องถิ่นภาคใต้ก็เรียกสั้น ๆ ว่า "หนัง" เช่นกัน ดังคำกล่าวที่ได้ยินกันบ่อยว่า "ไปแลหนังโนรา" จึงสันนิษฐานว่า คำว่า "หนังตะลุง" คงจะเริ่มใช้เมื่อมีการนำหนังจากภาคใต้ไปแสดงให้เป็นที่รู้จักในภาคกลาง จึงได้เกิดคำ "หนังตะลุง" และ "หนังใหญ่" ขึ้นมาเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน หนังจากภาคใต้เข้าไปเล่นในกรุงเทพฯ ครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาพัทลุง (เผือก) นำไปเล่นที่แถวนางเลิ้ง หนังที่เข้าไปครั้งนั้นเป็นนายหนังจากจังหวัดพัทลุง คนกรุงเทพฯจึงเรียก "หนังพัทลุง" ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็น "หนังตะลุง" เชื่อกันว่า หนังตะลุงเลียนแบบมาจากหนังใหญ่ โดยย่อรูปหนังให้เล็กลง ในยุคแรก ๆ คงแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนกัน แต่เปลี่ยนบทพากย์มาเป็นภาษาท้องถิ่น เปลี่ยนเครื่องดนตรีจาก พิณพาทย์ ตะโพน มาเป็น ทับ กลอง ฉิ่ง โหม่ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีอยู่เดิมในภาคใต้ หลักฐานที่บอกว่าหนังตะลุงคงเลียนแบบมาจากหนังใหญ่ คือ แม้หนังตะลุงจะไม่ได้ใช้ พิณพาทย์ ตะโพน แต่ในโองการร่ายมนต์พระอิศวร (บทบูชาพระอิศวร) ก็ยังมีบทที่ว่า
ต่อมา หนังภาคใต้หรือหนังตะลุง รับอิทธิพลของหนังชวาเข้ามาผสมผสาน จึงทำให้เกิดวิวัฒนาการใน "รูปหนัง" ขึ้นมา รูปหนังใหญ่จะเป็นแผ่นเดียวกันทั้งตัว เคลื่อนไหวอวัยวะไม่ได้ แต่รูปหนังชวาเคลื่อนไหวมือและปากได้ ส่วนใหญ่รูปหนังจะเคลื่อนไหวมือได้เพียงข้างเดียว ยกเว้นรูปกาก หรือตัวตลก และรูปนางบางตัว ที่สามารถขยับมือได้ทั้งสองข้าง รูปหนังชวามีใบหน้าที่ผิดไปจากคนจริง และหนังตะลุงก็รับแนวคิดนี้มาปรับใช้กับรูปตัวตลก เช่น แกะรูปหนูนุ้ยให้หน้าคล้ายวัว เท่งหน้าคล้ายนกกระฮัง เป็นต้น นี่ก็อาจจะเป็นอีกความเชื่อหนึ่งที่ทำให้ถูกเรียกว่าหนังตะลุง เนื่องจาก คำว่า ตลุง หรือ dalang ในภาษาชวาและมาเลย์ หมายถึงคนที่เชิดรูปหุ่นของวาหยัง กุลิท และนอกจากนั้นตัวละครที่เป็นตัวตลก เช่นยอดทอง พูน หนูนุ้ย ก็มีความคล้ายคลึงกับ วาหยัง กุลิท หนังตะลุงเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด นักวิชาการสันนิษฐานว่าคงเป็นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะกลอนหนังตะลุงนิยมแต่งเป็นกลอนแปด ซึ่งในสมัยอยุธยากลอนแปดไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ยิ่งในภาคใต้ วรรณกรรมพื้นบ้านรุ่นเก่าแก่ล้วนแต่งเป็นกาพย์ทั้งสิ้น กลอนแปดเพิ่งมาเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางก็เมื่อหลังสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีออกเผยแพร่แล้วนี่เอง หนังตะลุงเกิดขึ้นในภาคใต้ครั้งแรกที่จังหวัดใด ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด ดนตรีหนังตะลุงเครื่องดนตรีหนังตะลุงในอดีต มีความเรียบง่าย ชาวบ้านในท้องถิ่นประดิษฐ์ขึ้นได้เอง มี ทับ กลอง โหม่ง ฉิ่ง เป็นสำคัญ ส่วน ปี่ ซอ นั้นเกิดขึ้นภายหลัง แต่ก็ยังเป็นเครื่องดนตรีที่ชาวบ้านประดิษฐ์ได้เองอยู่ดี จนเมื่อมีวัฒนธรรมภายนอกเข้ามา โดยเฉพาะดนตรีไทยสากล หนังตะลุงบางคณะจึงนำเครื่องดนตรีใหม่ ๆ เข้ามาเสริม เช่น กลองชุด กีตาร์ ไวโอลิน ออร์แกน เมื่อเครื่องดนตรีมากขึ้น จำนวนคนในคณะก็มากขึ้น ต้นทุนจึงสูงขึ้น ทำให้ต้องเรียกค่าราด (ค่าจ้างแสดง) แพงขึ้น ประจวบกับการฉายภาพยนตร์แพร่หลายขึ้น จึงทำให้มีคนรับหนังตะลุงไปเล่นน้อยลง การนำเครื่องดนตรีสมัยใหม่เข้ามาเสริมนี้ บางท่านเห็นว่าเป็นการพัฒนาให้เข้ากับสมัยนิยม แต่หลายท่านก็เป็นห่วงว่าเป็นการทำลายเอกลักษณ์ของหนังตะลุงไปอย่างน่าเสียดาย เครื่องดนตรีสำคัญของหนังตะลุงคือทับ ทับของหนังตะลุงเป็นเครื่องกำกับจังหวะและท่วงทำนองที่สำคัญที่สุด ผู้บรรเลงดนตรีชิ้นอื่น ๆ ต้องคอยฟังและยักย้ายจังหวะตามเพลงทับ เพลงที่นิยมเล่นมีถึง 12 เพลง คือ เพลงเดิน เพลงถอยหลังเข้าคลอง เพลิงเดินยักษ์ เพลงสามหมู่ เพลงนาดกรายออกจากวัง เพลงนางเดินป่า เพลงสรงน้ำ เพลงเจ้าเมืองออกสั่งการ เพลงชุมพล เพลงยกพล เพลงยักษ์ และเพลงกลับวัง นักดนตรีที่สามารถตีทับได้ครบทั้ง 12 เพลง เรียกกันว่า "มือทับ" เป็นคำยกย่องว่าเป็นคนเล่นทับมือฉมัง ทับหนังตะลุงมี 2 ใบ ใบหนึ่งเสียงเล็กแหลม เรียกว่า "หน่วยฉับ" อีกใบหนึ่งเสียงทุ้ม เรียกว่า "หน่วยเทิง" ทับหน่วยฉับเป็นตัวยืน ทับหน่วยเทิงเป็นตัวเสริม หนังตะลุงในสมัยโบราณมีมือทับ 2 คน ต่อมา เมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้ว หนังตะลุงใช้มือทับเพียงคนเดียว โดยใช้ผ้าผูกทับไขว้กัน เวลาเล่นบางคนวางทับไว้บนขา บางคนก็พาดขากดทับเอาไว้ไม่ให้เคลื่อนที่ โดยทั่วไป ตัวทับ หรือที่เรียกกันว่า "หุ่น" นิยมทำจากแก่นไม้ขนุน เนื่องจากตบแต่งและกลึงได้ง่าย บางครั้งก็ทำจากไม้กระท้อน โดยตัดไม้ออกเป็นท่อน ๆ ยาวท่อนละประมาณ 60 เซนติเมตร ใช้ขวานถากเกลาให้เป็นรูปคล้ายกลองยาว จากนั้นนำมาเจาะภายในและกลึงให้ได้รูปทรงตามต้องการ ลงน้ำมันชักเงาด้านนอก ทับเป็นเครื่องดนตรีที่ขึงหนังหน้าเดียว ขึ้นหน้าด้วยหนังบาง ๆ ส่วนใหญ่จะใช้หนังค่าง ตรงแก้มทับใช้เชือกหรือหวายผูกตรึงกับหุ่นให้แน่น มีสายโยงเร่งเสียงโดยใช้หนังเรียดโยงจากขอบหนังถึงคอทับ ก่อนใช้ทุกครั้ง ต้องชุบน้ำที่หนังหุ้ม ใช้ผ้าขนาดนิ้วก้อยอัดที่แก้มทับด้านใน เพื่อให้หนังตึงมีเสียงไพเราะกังวาน ทับ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า โทนชาตรี ตัวตลกหนังตะลุงตัวตลกหนังตะลุง เป็นตัวละครที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นตัวละครที่ "ขาดไม่ได้" สำหรับการแสดงหนังตะลุง บทตลกคือเสน่ห์ หรือสีสัน ที่นายหนังจะสร้างความประทับใจให้กับคนดู เมื่อการแสดงจบลง สิ่งที่ผู้ชมจำได้ และยังเก็บไปเล่าต่อก็คือบทตลก นายหนังตะลุงคนใดที่สามารถสร้างตัวตลกได้มีชีวิตชีวาและน่าประทับใจ สามารถทำให้ผู้ชมนำบทตลกนั้นไปเล่าขานต่อได้ไม่รู้จบ ก็ถือว่าเป็นนายหนังที่ประสบความสำเร็จในอาชีพโดยแท้จริง ในการแสดงประเภทอื่น ๆ ตัวละครที่โดดเด่นและติดตาตรึงใจผู้ชมที่สุด มักจะเป็นพระเอก นางเอก แต่สำหรับหนังตะลุง ตัวละครที่จะอยู่ในความทรงจำของคนดูได้นานที่สุดก็คือตัวตลก มีเหตุผลหลายประการ ที่ทำให้บทตลกของหนังตะลุงติดตรึงใจผู้ชมได้มากกว่าบทพระเอกหรือนางเอก ดังต่อไปนี้
เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้คนดูหนังตะลุงรู้สึกผูกพันกับตัวตลกมากกว่าตัวละครอื่น ๆ ในเรื่อง คือ ตัวตลกหนังตะลุงเหล่านี้เป็นตัวละคร "ยืน" หมายถึง ตัวตลกตัวหนึ่งเล่นได้หลายเรื่อง โดยใช้ชื่อเดิม บุคลิกเดิม นอกจากนั้น ตัวตลกหนังตะลุงยังเป็นพับลิกโดเมนอีกด้วย นายหนังทุกคณะสามารถหยิบตัวตลกตัวใดไปเล่นก็ได้ เราจึงเห็น อ้ายเท่ง อ้ายหนูนุ้ย มีอยู่ในเกือบทุกเรื่อง ของหนังตะลุงเกือบทุกคณะ รูปตัวตลกรูปตัวตลกหนังตะลุง หรือที่เรียกว่า รูปกาก ส่วนใหญ่จะไม่ใส่เสื้อ บางตัวนุ่งโสร่งสั้นแค่เข่า บางตัวนุ่งกางเกง และส่วนใหญ่จะมีอาวุธประจำตัว ตัวตลกทุกตัวสามารถขยับมือขยับปากได้ หนังแต่ละคณะจะมีรูปตัวตลกไม่น้อยกว่าสิบตัว แต่โดยปกติจะใช้แสดงในแต่ละเรื่องแค่ไม่เกินหกตัวเท่านั้น ตัวตลกเอกตัวตลกเอก หมายถึง ตัวตลกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป นายหนังคณะต่าง ๆ หลายคณะนิยมนำไปแสดง มีดังต่อไปนี้
บรมครูอิ่ม จันทร์ชุม ผู้แกะหนังตะลุง ให้ข้อมูลว่า นายหนูนุ้ย บ้านอยู่ที่บ้านพรวน ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา ได้เขียนบันทึกไว้ที่รูปปั้นหน้าอาคารทำการที่บางแก้ว พัทลุง (ครูอิ่ม จันทร์ชุม เกียรติคุณ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมของภาคใต้ ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ รับโล่ผู้สาธิตสินค้าหัตถกรรมดีเด่น ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๒ ด้านศิลปกรรม (การแกะหนังตะลุง) จากนำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี)
โดยปกติตัวตลกหนังตะลุงจะต้องมีคู่หู เพื่อเอาไว้รับส่งมุกตลกโต้ตอบกัน ในแต่ละเรื่องจะมีตัวตลกเอกอย่างน้อยสองคู่ คือ เป็นพี่เลี้ยงพระเอกคู่หนึ่ง และเป็นพี่เลี้ยงนางเอกคู่หนึ่ง นอกจากที่ยกตัวอย่างมา ยังมีตัวตลกประกอบอีกจำนวนมาก โรงหนังตะลุง ขั้นตอนการแสดงหนังตะลุงทุกคณะมีลำดับขั้นตอนในการแสดงเหมือนกันจนถือเป็นธรรมเนียมนิยม ดังนี้
อ้างอิงวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ Shadow play |