Share to:

 

อาน เซือง เวือง

อาน เซือง เวือง
อนุสาวรีย์อาน เซือง เวืองที่นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม
กษัตริย์แห่งเอิวหลัก
ครองราชย์257 – 207 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ 179 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ก่อนหน้าหุ่ง เสวะ เวือง แห่งวัน ลาง
ถัดไปราชวงศ์ล่มสลาย
เจี่ยว ด่า แห่งนามเหวียต
พระราชบุตรหมิ เจิว
พระนามเต็ม
ถุก ฟ้าน
ราชวงศ์ราชวงศ์ถุก
พระราชบิดาถุก เจ๊ (ตามตำนานของชาวตั่ย)[1][2]
อาน เซือง เวือง
ชื่อภาษาเวียดนาม
ภาษาเวียดนามAn Dương Vương
ฮ้าน-โนม

อาน เซือง เวือง (เวียดนาม: 安陽王, An Dương Vương) มีชื่อจริงคือ ถุก ฟ้าน (蜀泮, Thục Phán) ผู้ปกครองอาณาจักรเอิวหลัก (ประเทศเวียดนามปัจจุบัน) ตั้งแต่ 257 ถึง 207 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นผู้นำของเผ่าเอิวเหวียต เขาได้เอาชนะและยึดราชบัลลังก์จากกษัตริย์หุ่งองค์สุดท้าย แห่งอาณาจักรวันลาง และได้รวบรวมชนเผ่าที่ยึดมาคือหลักเหวียต เข้ากับเอิวเหวียต

เขาได้ก่อตั้งอาณาจักรใหม่ มีเมืองหลวงที่โก๋ลวา สร้างป้อมปราการที่ชื่อป้อมปราการโก๋ลวา จนกระทั่งในช่วง 208 ปีก่อนคริสต์ศักราช กองทัพจีนแห่งราชวงศ์ฉินนำโดยแม่ทัพจีน เจี่ยวด่า ได้รุกรานเอิวหลัก เมืองหลวงโก๋ลวาถูกโจมตี พระราชวังถูกปล้นสะดม อาน เซือง เวือง ต้องหลบหนีออกจากเมืองหลวงและตัดสินใจฆ่าตัวตาย

เจี่ยวด่าแม่ทัพชาวจีนฮั่นได้สถาปนาราชวงศ์จ้าวขึ้นมาใหม่ ดินแดนเอิวหลักถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรหนานเยฺว่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง

หลักฐานประวัติ

แผนที่อาณาจักรเวียดนามโบราณ   (ดินแดนสีเหลือง) คือ อาณาจักรวันลาง (Văn Lang) ปกครองโดยราชวงศ์ห่งบ่าง   (ดินแดนสีเขียว) คือ อาณาจักรนามเกือง (Nam Cương) ปกครองโดยอาน เซือง เวือง ซึ่งได้รวมอาณาจักรวันลางเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ต่อมาได้กลายมาเป็นอาณาจักรเอิวหลัก (Âu Lạc)

ตามบันทึกประวัติศาสตร์เวียดนาม ดั่ยเหวียตสือกี๊ตว่านทือ (大越史記全書, Đại Việt sử ký toàn thư) และ เคิมดิ่ญเหวียตสือทงซ้ามเกืองหมุก (欽定越史通鑑綱目, Khâm định Việt sử Thông giám cương mục) ได้ระบุไว้ว่า ถุก ฟ้าน เป็นเจ้าชายชาวจีนฮั่นจากแคว้นฉู่ (จีน: , อ่านออกเสียงว่า ถุก ในภาษาเวียดนาม)[3][4] ตรงกับในช่วงยุครณรัฐในประวัติศาสตร์จีน ถุก ฟ้าน ได้ถูกส่งไปเดินทางสำรวจยังดินแดนรัฐต่าง ๆ ของจีนโดยพ่อของเขา เพื่อสำรวจดินแดนทางภาคใต้ของจีนในกว่างซีและยูนนาน ต่อมาถก ฟ้านได้นำผู้คนอพยพและย้ายไปตั้งรัฐใหม่ที่บริเวณตอนเหนือของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเวียด เมื่อบรรดารัฐต่าง ๆ ของจีนถูกราชวงศ์ฉินรวบรวม โดยมีจิ๋นซีฮ่องเต้เป็นผู้นำ

นักประวัติศาสตร์เวียดนามสมัยใหม่บางกลุ่มได้มีความเชื่อกันว่า ถุก ฟ้าน มาถึงดินแดนของชนเผ่าเอิวเหวียต (บริเวณเวียดนามตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกวางตุ้งและจังหวัดภาคใต้ของกว่างซี ซึ่งมีเมืองหลวงในจังหวัดกาวบั่งในปัจจุบัน)[5] มีการวิเคราะห์กันในหมู่นักประวัติศาสตร์เวียดนามว่า ถุก ฟ้านอาจจะเป็นชาวจีนที่นำกองทัพเข้ามาปกครองชาวเวียดนามและตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งเวียดนามเสียเอง หลังจากนั้นได้รวบรวมกองทัพและได้เอาชนะราชวงศ์ที่ 18 ของกษัตริย์หุ่ง แห่งราชวงศ์ห่งบ่าง หรือ วันลาง ประมาณ 257 ปีก่อนคริสตกาล ถุก ฟ้าน ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์มีพระนามว่า อาน เซือง เวือง และได้เปลี่ยนชื่ออาณาจักรจากวันลาง เป็น เอิวหลัก พระองค์ได้สร้างป้อมปราการและเมืองหลวงใหม่ขึ้นเหนือหุบเขาแม่น้ำแดง ที่ เมืองโก๋ลวา (ในปัจจุบันคือเขตด่งอาน บริเวณเมืองฮานอย ห่างจากตัวเมืองประมาณ 16 กิโลเมตร (10 ไมล์)[6]

ราชวงศ์ถุก

การปกครองเอิวหลักของถุก ฟ้าน

ศาลเจ้าอาน เซือง เวือง ที่โก๋ลวา เมืองฮานอย

ไม่มีหลักฐานที่ได้บันทึกหรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เกี่ยวกับอาณาจักรเอิวหลักได้ถูกปกครองบริหารด้วยรูปแบบวิธีการใด อย่างไรก็ตาม ตามบันทึกตำนาน เขาจะถือว่า เป็นผู้นำที่ชาญฉลาดและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์เวียดนาม แน่นอนว่าเขาเป็นนายพลที่มีพรสวรรค์ ผู้ที่รู้วิธีหาผลประโยชน์จากความสับสนและความสับสนวุ่นวายในประเทศจีนในช่วงเวลานั้น ไม่เพียง แต่จะคว้าที่ดินเพื่อเป็นของตัวเอง แต่ยังเพื่อรักษาความมั่งคั่งและความอยู่รอดของรัฐด้วย ในช่วงเวลานั้นหลายรัฐในจีนกำลังต่อสู้เพื่อปกครองดินแดนจีนทั้งหมด จนในที่สุดแล้วรัฐฉินได้ขึ้นสู่อำนาจและรวบรวมรัฐต่าง ๆ ของจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้จักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ ขณะที่จิ๋นซีฮ่องเต้ได้สร้างกำแพงเมืองจีนเพื่อป้องกันจักรวรรดิ อาน เซือง เวือง ได้เริ่มก่อสร้างป้อมปราการแบบเกลียวหรือป้อมปราการโก๋ลวาขึ้น เพื่อป้องกันอาณาจักรเอิวหลากจากการรุกรานของราชวงศ์ฉินที่ทรงอำนาจของจีน

ตำนานราชวงศ์ถุก

ป้อมโก๋ลวาและอาณาจักรเอิวหลัก

หลักจากที่ถุก ฟ้าน เอาชนะและขับไล่กษัตริย์หุ่งออกจากบัลลังก์ และขึ้นครองราชย์ต่อในนาม อาน เซือง เวือง พระองค์ได้เปลี่ยนชื่ออาณาจักรจากวันลางเป็น เอิวหลัก และสร้างป้อมปราการโก๋ลวาเป็นศูนย์กลางของเมืองหลวงใหม่[7] พระองค์เห็นความสำคัญทางยุทธศาสตร์และทางภูมิศาสตร์ของเมืองโก๋ลวา ด้านสองด้านเมืองโก๋ลวาล้อมรอบไปด้วยภูเขาและป่าที่ไม่เข้าถึงได้ยาก นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำไหลผ่าน ในบรรดานักประวัติศาสตร์เวียดนามไม่มีใครรู้ว่าทำไม อาน เซือง เวือง ทรงชื่นชอบรูปแบบเกลียว และได้ทรงออกแบบป้อมปราการโก๋ลวามีรูปร่างเหมือนเปลือกหอย แต่ตำนานกล่าวไว้ว่าการก่อสร้างของป้อมเป็นงานที่ยากมากและยากที่จะเสร็จสมบูรณ์ มีเรื่องเล่าที่ได้เล่ากันว่า เวลาที่ป้อมปราการโก๋ลวาดูมีท่าทางว่าจะก่อสร้างเสร็จ ในเวลากลางคืนก็จะคอยมีฝูงวิญญาณชั่วร้ายมารื้อทำลายป้อมขัดขวางมิให้สร้างเสร็จ

ตำนานหน้าไม้วิเศษ

กษัตริย์แห่งราชวงศ์ถุก พยายามขอเจ้าหญิงจากราชวงศ์ห่งบ่าง ซึ่งปกครองอาณาจักรวันลางแต่งงาน กษัตริย์ทุกข์ระทมเพราะเจ้าหญิงปฏิเสธ เขาจึงสาบานว่าจะทำลายล้างราชวงศ์ห่งบ่างให้ได้ แต่กลับเสียชีวิตไปก่อนโดยมิอาจได้ชำระแค้น จึงมอบภารกิจนี้ให้แก่ผู้สืบบัลลังก์ต่อไป นี่คือจุดกำเนิดของสงครามระหว่างอาณาจักรถุกกับอาณาจักรวันลาง ราชวงศ์ห่งบ่างมีชัยชนะติดต่อกันหลายปี แต่อำนาจและความสำเร็จทำให้บรรดาลูกหลานมั่นใจเกินไป เหล่าราชวงศ์ขาดความรอบคอบ ใช้ชีวิตอย่างเกียจคร้านเฉยเมย ส่วนฝ่ายศัตรูคือ ถุก ฟ้าน ได้เริ่มฝึกทหารอย่างยาวนานและเลือกช่วงเวลาอันเหมาะสมเพื่อรุกรานอาณาจักรวันลางของราชวงศ์ห่งบ่าง กษัตริย์ถุก ฟ้าน รวมสองอาณาจักรคือ ถุกและวันลางเข้าด้วยกันได้ ขึงได้ตั้งชื่ออาณาจักรใหม่ว่าเอิว หลัก และเรียกตนเองว่า อาน เซือง เวือง พระองค์ได้สร้างนครหลวง และกำแพงแน่นหนาทางด้านเหนือเพื่อป้องกันอาณาจักรจากกองโจร แต่เมื่อสร้างกำแพงเสร็จมีพายุพัดกระหน่ำ ฝนตกไหลจนน้ำเชี่ยว ลมแรงพัดโหมจนกำแพงพังโนเสียงสนั่นหวั่นไหว กษัตริย์อาน เซือง เวือง ได้สร้างกำแพงขึ้นอีกสามครั้ง แต่ก็ถูกทำลายในทำนองเดียวกันทุกครั้ง ในที่สุดพระองค์ก็ได้เรียกบรรดาอำมาตย์เข้าเฝ้า อำมาตย์จึงแนะนำให้ อาจจะเป็นเพราะเทพไม่โปรดปราน และควรตั้งศาลถวายเครื่องเซ่นไหว้เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากเทพเจ้า กษัตริย์ อาน เซือง เวือง จึงให้ตั้งศาลขึ้นริมฝั่งแม่น้ำนอกประตูเมืองตะวันออก มีการเซ่นสรวงโค กระบือ และสวดภาวนาหมอบกราบเพื่อขอพรจากเทพเจ้า ในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนสาม มีภูตแปลงเป็นเต่าสีทองตัวโตมาปรากฏในฝันของกษัตริย์ เต่าได้บอกวิธีสร้างกำแพงที่เหมาะสมว่า "วิญญาณเป็นผู้พังกำแพงของท่าน ซึ่งเป็นวิญญาณที่ชอบหลอกพวกมนุษย์เพื่อแสดงพลังของตน" เมื่อ อาน เซือง เวือง ตื่นเช้าวันรุ่งขึ้น พระองค์ได้จำสิ่งที่เต่าทองบอกได้หมด จึงปฏิบัติตามคำสอนทุกประการและได้สร้างกำแพงป้อมปราการใหญ่เป็นรูปหอยสังข์ ได้เรียกป้อมปราการนี้ว่า ป้อมโก๋ลวา หรือ "ป้อมหอยสังข์" และตั้งชื่อเมืองว่า เมืองโก๋ลวา หรือ นครหอยสังข์[8]

แผนที่ของเมืองโก๋ลวา

อาน เซือง เวือง คือว่า กำแพงคงป้องกันสิ่งต่างๆในเมืองให้ปลอดภัยได้ แต่ก็ทราบดีว่าหากถูกศัตรูที่มีกำลังกล้าแข็งล้อมรอบก็คงไม่อาจป้องกันเมืองไว้ได้ตลอดไป เต่าสีทองทราบความกังวลของ อาน เซือง เวือง จึงปรากฏให้เห็นในความฝันอีกครั้ง "ความเจริญรุ่งเรืองหรือความเสื่อมสลายขึ้นอยู่กับเจตจำนงของสวรรค์ แต่สวรรค์จะช่วยผู้ที่เหมาะสม บัดนี้ท่านได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไว้ใจข้ามาก ข้าจะทำของขวัญจากเล็บของข้ามอบให้ ท่านจงนำไปใช้เป็นหน้าไกของหน้าไม้ มันจะช่วยขับวิญญาณชั่วร้ายออกไปและปราบได้ทั้งกองทัพ แต่ท่านต้องไม่ลืมว่าความมั่นคงของอาณาจักรขึ้นอยู่กับความระมัดระวังของท่านเองด้วย เต่าดึงเล็บข้างหนึ่งออกมามอบให้ อาน เซือง เวือง แล้วกลับคืนลงสู่แม่น้ำ" อาน เซือง เวือง พอใจมากเมื่อตื่นมาพบเล็บวิเศษในมือ จึงสั่งให้ช่างอาวุธทำหน้าไม้ล้ำค่าซึ่งใช้เล็บวิเศษเป็นไกและกล่องผลึกงดงามไว้สำหรับบรรจุลูกศร อาน เซือง เวือง รำลึกถึงพระคุณของเต่าเสมอ พระองค์เชื่อมั่นว่าอาณาจักรของพระองค์จะมีสันติภาพและสงบเรียบร้อยเป็นเวลาหลายปี[9]

ในเวลานั้นประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์ฉิน ซึ่งจิ๋นซีฮ่องเต้ได้ปราบปรามอาณาจักรรอบๆมาเป็นเมืองขึ้นได้ทั้งหมดและยกกองทัพมาถึงทะเลจีนใต้ ในปีเดียวกันกับที่ อาน เซือง เวือง เริ่มสร้างกำแพง จิ๋นซีฮ่องเต้ส่งไพร่พลและทัพม้าขนาดใหญ่ลงมาจากจีนตอนใต้พื่อรุกรานอาณาจักรเอิวหลัก แต่ก็พ่ายแพ้หลายต่อหลายครั้ง และในที่สุดก็ถูกทำลายด้วยธนูวิเศษก่อนที่จะยกทัพมาประชิดพระนครโก๋ลวา สามปีต่อมา จิ๋นซีฮ่องเต้ได้ส่งกองทหารห้าแสนนาย นำโดยนายพลเจี่ยวด่า ทำให้ภาคเหนือของอาณาจักรเอิวหลักตกอยู่ในมือของจีนอย่างง่ายดาย กองทหารจีนยกมาเป็นสามขบวนคือ พลม้า พลเท้า พลเรือ กองทัพนั้นยกมาพร้อมธงปลิวไสวในอากาศ เสียงอาวุธกระทบกันดังสนั่นหวั่นไหว นายพลเจี่ยวด่าสั่งให้ยกทัพไปตั้งบนภูเขา ให้กองเรือเทียบรอในแม่น้ำ ปิดล้อมพระนครไว้ กษัตริย์อาน เซือง เวือง เฝ้าสังเกตการณ์อย่างสุขุมจากหน้าต่างของป้อมปราการ ขณะที่กองทหารทั้งสามขบวนหลั่งไหลเข้าล้อมพระนครโก๋ลวา พระองค์กลับปล่อยให้กองทัพจีนเข้ามาโดยไม่ยกทัพออกไปต้านและไม่สั่งให้เตรียมกำลังป้องกันพระนครแต่อย่างใด เมื่อทหารรายงานว่า ทหารจีนมากันมืดฟ้ามัวดิน พระองค์กลับกล่าวอย่างพอใจว่า "พวกเขาคงจะลืมหน้าไม้วิเศษของข้าแล้วกระมัง" แล้วพระองค์ก็เล่นหมากรุกต่อโดยไม่แยแส เมื่อข้าศึกมาประชิดประตูเมืองโก๋ลวา อาน เซือง เวือง ยืนขึ้นไปหยิบหน้าไม้ แต่หลังจากยิงครั้งแรก ก็ยิงไม่ออก เมื่อยิงอีก ข้าศึกก็ยังคงหลั่งไหลเหมือนกระแสน้ำบ่าท่วมเข้ามา[10]

อาน เซือง เวือง ตัดสินใจหลบหนี เขาแทบไม่มีเวลาเตรียมม้าจึงให้เจ้าหญิงหมิเจิวประทับนั่งซ้อนหลัง ทั้งสองควบม้าไปอย่างรวดเร็วสู่ทิศใต้ ทิ้งเมืองหลวงและอาณาจักรไว้เบื้องหลัง อาน เซือง เวือง ควบม้าผ่านทุ่งนาและหนองบึงหลายแห่ง เมื่อถึงทางแยก เจ้าหญิงหมีเจิว ได้โปรยขนห่านเพื่อให้จ่องถวีตามมาถูก ส่วนที่พพระราชวัง จ่องถวีพบว่ากษัตริย์กับเจ้าหญิงหลบหนีไปแล้วจึงออกติดตามทันที และได้ตามรอยขนห่านที่เจ้าหญิงโปรยไว้เป็นเครื่องนำทาง ม้าของอาน เซือง เวือง วิ่งต่อไปเรื่อยๆพาทั้งสองไกลไปจนถึงทะเลกว้างใหญ่ ที่นั่นไม่มีเรือแม้แต่ลำเดียวและไม่มีวิธีอื่นที่จะข้ามน้ำได้ อาน เซือง เวืองแหงนหน้าขึ้นท้องฟ้าและร้องออกมาด้วยความสิ้นหวัง ทันใดนั้นเต่าสีทองก็โผล่หัวขึ้นมาจากใต้ทะเลสีครามแล้วร้องขึ้นด้วยเสียงอันทางพลังว่า "จงระวังศัตรูทรยศที่นั่งอยู่หลังพระองค์" อาน เซือง เวืองหันไปจับจ้องเจ้าหญิง หมิเจิว เจ้าหญิง หมิเจิวตัวสั่นเทิ้มน้ำตาไหลพราก อาน เซือง เวืองจึงชักดาบออกมาตัดศีรษะของเจ้าหญิงทันที อาน เซือง เวืองหวาดกลัวและละอายในการกระทำของพระองค์ จึงกระโดดลงทะเลตามเต่าสีทองหายไป เมื่อจ่องถวีตามมาถึงพบร่างของเจ้าหญิงหมิเจิว จึงร้องไห้เสียใจเป็นอันมากและนำร่างของเจ้าหญิงกลับไปยังพระนครเพื่อทำพิธีฝัง[11]

การล่มสลายของราชวงศ์ถุก

หลังจากก่อร่างสร้างอาณาจักรเอิวหลัก และเมืองหลวงของอาน เซือง เวืองเป็นรูปเป็นร่าง อาณาจักรของเขารุ่งเรืองและในไม่ช้าก็ถูกรายล้อมโดยรัฐใกล้เคียงที่เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว หนึ่งในรัฐที่เป็นคู่แข่งของดินแดนของเขาคือ จ้าวตัว (ในภาษาเวียดนามคือ เจี่ยวด่า) แม่ทัพของราชวงศ์ฉินของจีน ผู้ซึ่งปฏิเสธที่จะยอมสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ฮั่นที่สถาปนาขึ้นมาใหม่ต่อจากการล่มสลายของราชวงศ์ฉิน เป็นระยะเวลาสิบปี ประมาณ 217 ถึง 207 ปีก่อนคริสตกาล เจี่ยวด่าได้พยายามรุกรานอาณาจักรเอิวหลัก หลายครั้ง แต่ประสบความล้มเหลว เนื่องจาก อาน เซือง เวือง มีการป้องกันที่เข้มแข็งทำให้ยากต่อการโจมตีของทหารเจี่ยวด่า

อุบายของเจี่ยวด่า

เจี่ยวด่าประสบความพ่ายแพ้หลายครั้งในการพยายามเข้ายึดครองอาณาจักรเอิวหลัก ทำให้เขาได้คิดแผนใหม่ เขาได้เจรจาทำสนธิสัญญาสันติภาพกับเอิวหลัก แต่แท้ที่จริงแล้วเขามุ่งมั่นที่จะสืบหาที่แนวการวางความแข็งแรงในการป้องกันเมืองและต้องการล่วงรู้ถึงกลยุทธ์ของศัตรูของเขา เขาดำเนินแผนการไปไกลถึงขั้นทำการขอแต่งงานกันระหว่างลูกสาวของอาน เซือง เวือง เจ้าหญิง หมิ เจิว () และ ลูกชายของเขา จ่องถวี (, จงซื่อ) ในตำนานกล่าวว่า แผนการแต่งงานทำให้เจี่ยวด่ารู้ว่า อาน เซือง เวือง มีธนูหน้าไม้วิเศษอยู่ โดยมีเจ้าหญิงหมิ เจิว คอยบอกและเล่าเรื่องต่างๆให้เจี่ยวด่ารับรู้ เจี่ยวด่าจึงให้จ่องถวีแอบเข้าไปในพระราชวังของอาน เซือง เวือง และขโมยธนูหน้าไม้วิเศษออกมาและเอาธนูหน้าไม้ปลอมไปเปลี่ยนแทน แต่ความจริงทางประวัติศาสตร์คือ จ่องถวี ได้ไปแบสืบความลับทางการทหารของอีกฝ่ายทำให้เจี่ยวด่านำเอากองทัพบุกเข้ายึดเมืองโก๋ลวาได้ในที่สุด และอาณาจักรเอิวหลักก็ถึงกาลล่มสลาย

การตายของหมิเจิวและจ่องถวี

หลังจากที่เมืองโก๋ลวาตกอยู่ในการยึดครองของกองทัพเจี่ยวด่า อาน เซือง เวืองได้พาเจ้าหญิงหมิ เจิว หลบหนีออกจากเมืองโก๋ลวาไปด้วย และได้หนีไปพำนักอยู่ที่ทะเลและพบกับเต่าสีทองยักษ์ ซึ่งตามตำนานได้บอก อาน เซือง เวือง ว่า "ศัตรูกำลังนั่งอยู่ข้างหลังท่าน!" ด้วยความโกรธที่รู้ว่าลูกสาวตนทรยศไปบอกที่ซ่อนธนูหน้าไม้วิเศษ อาน เซือง เวือง จึงสังหารเจ้าหญิงหมิ เจิว และกระโดดทะเลเพื่อไปหาเต่ายักษ์สีทอง

จ่องถวี ได้ออกตามหาหมิเจิวของภรรยาที่รักของเขา โดยได้ตามขนห่านที่หมิเจิวโปรยไว้ตามทาง เมื่อได้พบร่างของภรรยาที่รักของเขากำลังนอนอยู่ในสระเลือดและไม่พบพ่อตาของเขา ด้วยความซื่อสัตย์และความรักที่มีต่อภรรยาเขาดึงดาบของตัวเองและฆ่าตัวตายเพื่อจะอยู่กับภรรยาตลอดไปชั่วนิรันดร์ เรื่องราวของหมิเจิวและจ่องถวี เป็นเรื่องราวความรักที่น่าเศร้าที่เล่าขานบ่อยๆในวรรณคดีของเวียดนาม

ส่วนเจี่ยวด่า หลังจากเอาชัยชนะอาน เซือง เวือง อาณาจักรเอิวหลากถูกรวมเข้ากับราชวงศ์ฉินในฐานะเป็นเมืองขึ้นของจีน จนกระทั่งราชวงศ์ฉินล่มสลาย และมีการสถาปนาราชวงศ์ฮั่นขึ้นมาใหม่แทน เจี่ยวด่าได้ปฏิเสธที่จะสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์ฮั่นและตั้งตนเป็นอิสระ อีกทั้งสร้างรัฐของตน ที่มีนามว่า น่านเย่ว์ ประกาศตัวจักรพรรดิองค์ใหม่ของราชวงศ์จ้าว หรือ ราชวงศ์เจี่ยว (เจี่ยว ในภาษาเวียดนาม) (207-111 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

แหล่งข้อมูลอื่น

สื่อวิดิโอ

อ้างอิง

  1. "Thành Bản Phủ ở Cao Bình". Trang tin Ban quản lý di tích Khu tưởng niệm các Vua Nhà Mạc. 27 February 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 October 2014. สืบค้นเมื่อ 13 June 2017. Thục Chế làm vua được 60 năm thì mất, con là Thục Phán mới 10 tuổi, thay cha lên làm vua, cháu Thục Chế là Thục Mô giúp Thục Phán nhiếp chính.
  2. "Hỏi – đáp về thời Âu Lạc". 5 June 2013. Sách “Ngược dòng lịch sử” của GS Trần Quốc Vượng viết rằng sau khi nước Thục bị Tần diệt, con nhỏ vua Thục là Thục Chế được lập lên ngôi, lưu vong về phía đông nam. Tuy nhiên qua thế hệ Thục Chế vẫn phải lẩn trốn trước sự truy nã của Tần và không có cơ hội khôi phục nước Thục cũ. Cuối cùng tới con Thục Chế là Thục Phán thì hình thành quốc gia nằm ở phía bắc Lạc Việt của họ Hồng Bàng. Và sau cuộc chống Tần thắng lợi đã buộc vua Hùng thứ 18 nhường ngôi, lập ra nước Âu Lạc.
    Truyền thuyết Cẩu chúa cheng vùa (“Chín chúa tranh vua”) của người Tày ở Cao Bằng cũng dẫn chúng ta đến hướng nghĩ như trên về gốc tích của An Dương Vương. Theo truyền thuyết này thì Thục Phán là con Thục Chế, vua nước Nam Cương (tên mới của nước Khai Minh?). Thục Phán đã lãnh đạo nước Nam Cương hợp nhất với Văn Lang để lập ra Âu Lạc. Kinh đô xưa của nước Nam Cương vẫn còn dấu tích khá rõ nét. Đó là kinh đô Nam Bình (Cao Bằng) với thành Bản Phủ là nơi vua ở.
  3. Taylor (1983), p. 19
  4. Asian Perspectives, Volume 28, Issue 1 (1990), p. 36
  5. 1
  6. Ray, Nick; และคณะ (2010), "Co Loa Citadel", Vietnam, Lonely Planet, p. 123, ISBN 9781742203898.
  7. An Dương Vương Huy Long Tạ, Việt Hà Nguyẽ̂n - 2008 -"King An Dương Vương builds Loa Thành to protect the country but Triệu Đà sets up his son Trọng Thủy marries An Dương Vương's daughter, Mỵ Châu, to discover and steal the secret."
  8. รศ. ดร.สุนทร โคตรบรรเทา (แปล), จิตพาชื่น มุสิกานนท์ (March 2014). ตำนานและนิทานพื้นบ้านเวียดนาม. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์. ISBN 9786160423811.
  9. รศ. ดร.สุนทร โคตรบรรเทา (แปล), จิตพาชื่น มุสิกานนท์ (March 2014). ตำนานและนิทานพื้นบ้านเวียดนาม. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์. ISBN 9786160423811.
  10. รศ. ดร.สุนทร โคตรบรรเทา (แปล), จิตพาชื่น มุสิกานนท์ (March 2014). ตำนานและนิทานพื้นบ้านเวียดนาม. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์. ISBN 9786160423811.
  11. รศ. ดร.สุนทร โคตรบรรเทา (แปล), จิตพาชื่น มุสิกานนท์ (March 2014). ตำนานและนิทานพื้นบ้านเวียดนาม. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์. ISBN 9786160423811.
Kembali kehalaman sebelumnya