Share to:

 

ประวัติศาสตร์เวียดนาม

เวียดนาม ตั้งอยู่ริมชายฝั่งด้านตะวันออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ประวัติความเป็นมาของเวียดนามสามารถสืบย้อนกลับไปได้มากกว่า 4000 ปีก่อน[1] มีปฏิสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งจักรวรรดิจีน กัมพูชา ลาว และประเทศไทย ประวัติศาสตร์เวียดนามเริ่มต้นขึ้นจากวัฒนธรรมดงเซินในเขตบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวออสโตรเอเชียติกพื้นเมืองเดิมในยุคราชวงศ์โห่งบั่ง (Hồng Bàng dynasty) เป็นรัฐเวียดนามรัฐแรกกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 29ปี ก่อนคริสตกาล[2][3] และการปกครองของอานเซืองเวือง ในปี 217 ก่อนค.ศ. จักรวรรดิจีนแผ่ขยายอำนาจลงมาสู่ลุ่มแม่น้ำแดงทำให้การปกครองของชาวออสโตรเอเชียติกพื้นเมืองเดิมสิ้นสุดลงและเวียดนามภาคเหนือในเขตลุ่มแม่น้ำแดงตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิจีนหลากหลายราชวงศ์เป็นระยะเวลายาวนานประมาณหนึ่งพันปี ในช่วงเวลาที่เวียดนามภาคเหนืออยู่ภายใต้การปกครองของจีนนั้นเกิดการผสมผสานทางเชื้อชาติภาษาและวัฒนธรรมระหว่างชาวจีนผู้อพยพมาจากทางเหนือและชาวออสโตรเอเชียติกเดิม เกิดเป็นอัตลักษณ์ของชาวเวียดนาม ในค.ศ. 981 ชาวเวียดนามสามารถปลดแอกตนเองจากการปกครองของจีนได้อย่างมั่นคง นำไปสู่การก่อตั้งอาณาจักรดั่ยเหวียต (Đại Việt, 大越) และก่อตั้งราชวงศ์ลี้ (Lý dynasty) ในค.ศ. 1009 ในสมัยราชวงศ์ลี้พุทธศาสนามหายานได้รับการส่งเสริมให้เป็นศาสนาประจำรัฐ ต่อมาในสมัยราชวงศ์เจิ่น (Trần dynasty) อาณาจักรดั่ยเหวียตสามารถต้านทานการรุกรานของมองโกลราชวงศ์หยวนได้ทั้งสามครั้ง จักรวรรดิจีนยุคราชวงศ์หมิงสามารถผนวกเวียดนามกลับไปปกครองได้เป็นระยะเวลาสั้น ราชวงศ์เลหลัง (Later Lê dynasty) สามารถแยกตัวเป็นอิสระจากจีนได้อีกครั้งและส่งเสริมลัทธิขงจื้อใหม่ (Neo-Confucianism) ขึ้นมาเป็นหลักการในการปกครอง

แม้ว่าเวียดนามภาคเหนือจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่ส่วนอื่นของเวียดนามได้แก่เวียดนามภาคกลางและเวียดนามภาคใต้มีประวัติพัฒนาการเฉพาะของตัวเองและเริ่มต้นขึ้นจากวัฒนธรรมแบบพราหมณ์-พุทธ อาณาจักรจามปา (Champa kingdom) ของชนชาติจามครอบครองดินแดนเวียดนามภาคกลางมาตั้งแต่ค.ศ. 197 และเวียดนามภาคใต้เป็นดินแดนของจักรวรรดิเขมร เมื่ออาณาจักรดั่ยเหวียตซึ่งปกครองเวียดนามภาคเหนือเป็นอิสระจากการปกครองของจีนจึงแผ่ขยายอำนาจลงทางทิศใต้เรียกว่า กระบวนการนัมเที้ยน (Nam tiến) ดั่ยเหวียตใช้กำลังทหารเข้ารุกรานอาณาจักรจามปาหลายครั้ง ในกระทั่งในค.ศ. 1471 ดั่ยเหวียตสามารถเข้ายึดดินแดนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของอาณาจักรจามปาได้สำเร็จ ทำให้อาณาจักรจามปาสูญสิ้นไปเหลืองเพียงเมืองเล็กที่ยังปกครองตนเองอยู่จนกระทั่งค.ศ. 1832

ความขัดแย้งทางการเมืองในยุคราชวงศ์เลหลังทำให้ประเทศเวียดนามถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่ เวียดนามภาคเหนือถูกปกครองโดยเจ้าญวนเหนือตระกูลจิ่ญ (Trịnh clan) และเวียดนามภาคกลางปกครองโดยเจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียน (Nguyễn clan) ตระกูลเหงียนแผ่ขยายอำนาจเข้าครอบครองเวียดนามภาคใต้ซึ่งเดิมเป็นดินแดนของอาณาจักรเขมรอุดง ในค.ศ. 1771 กบฎเตยเซินทำให้การปกครองของตระกูลเหงียนสิ้นสุดลง ในค.ศ. 1802 เหงียนฟุกอั๊ญหรือองเชียงสือยึดอำนาจจากราชวงศ์เตยเซินและก่อตั้งราชวงศ์เหงียน (Nguyễn dynasty) ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม ในยุคราชวงศ์เหงียนเกิดเหตุการณ์อานามสยามยุทธและการรุกรานของฝรั่งเศสและลัทธิจักรวรรดินิยม เวียดนามสูญเสียดินแดนโคชินจีน (Cochinchina) ให้แก่ฝรั่งเศสในค.ศ. 1862 และหลังจากสงครามจีน-ฝรั่งเศส (Sino-French War) เวียดนามสูญเสียเอกราชให้แก่ฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาเว้ (Treaty of Hue) ในค.ศ. 1883

ฝรั่งเศสจัดตั้งอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส (French Indochina) ขึ้นในค.ศ. 1887 มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน ซึ่งเวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสร่วมกับกัมพูชาและลาว ในค.ศ. 1945 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศสถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดครอง หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเกิดขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของเวียดนามเรียกว่าขบวนการเวียดมินห์ (Việt Minh) นำโดย โห่จี๊มิญ (Hồ Chí Minh) หรือโฮจิมินห์ ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมูนนิสต์อินโดจีน (Indochinese Communist Party) เกิดเป็นสงครามอินโดจีนครั้งแรก (First Indochina War) การประชุมเจนีวา (Geneva Conference) ในค.ศ. 1954 รับรองฐานะความเป็นเอกราชของเวียดนามแต่แบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วนที่เส้นละติจูดที่ 17 เหนือ เวียดนามเหนือกลายเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (Democratic Republic of Vietnam) ซึ่งเป็นรัฐบาลคอมมูนนิสต์ ในขณะที่เวียดนามใต้คือสาธารณรัฐเวียดนาม (Republic of Vietnam) สงครามเวียดนาม (Vietnam War) หรือสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง (Second Indochina War) ทัพฝ่ายเวียดนามเหนือสามารถข้ายึดนครไซ่ง่อนได้ในค.ศ. 1975 ทำให้รัฐเวียดนามใต้สิ้นสภาพลงถูกรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับเวียดนามเหนือกลายเป็นประเทศเวียดนามในปัจจุบัน

ชนเผ่าเวียดนามโบราณ

จากการวิจัยของโรงพยาบาลแซ็ง-ลูยในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในการเปรียบเทียบชาวเวียดนามกับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพันธุกรรมของประชากรอันใกล้ชิดด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยมีตัวแสดงเอกลักษณ์เจ็ดประการที่ไม่ซ้ำกัน ผลลัพธ์บ่งชี้ว่าเวียดนามเป็นชาติพันธุ์สืบมาจากการผสมของชาวจีนและไทย-ลาว[4]

ชนเผ่าตระกูลไท-ลาว เป็นชนเผ่าที่ถือเป็นเครือญาติกับชนเผ่าเวียดนามโบราณ นักมานุษยวิทยาที่สถาบันวิจัยชนเผ่าที่ฮานอย ถือว่า ไทย-ลาว เป็นชนเผ่าไทเผ่าหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นเผ่าเดียวกันกับชนเผ่าเวียดโบราณ โดยมีการสันนิษฐานชาวเวียดโบราณอาจจะมีการที่ใช้ภาษาตระกูลภาษาขร้า-ไทที่ใกล้เคียงกัน อาจมีการแต่งกาย ความเชื่อ ที่คล้ายคลึงกัน ชาวเวียดโบราณนั้นเกิดจากการผสมผสานของหลายชนเผ่ามี ชาวจิงจากบริเวณตอนใต้ของมณฑลกวางสีของจีน และชาวไท-ลาว

ก่อนที่ชาวเวียดจะถูกจีนยึดครองซึ่งทำให้ชาวเวียดจะสูญเสียวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนไป ชาวจีนที่เข้ามาปกครองเวียดนามได้ใช้นโยบายกลืนชาติ บังคับให้ชาวเวียดนามแต่งกายแบบจีน ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาราชการ เขียนตัวอักษรจีน ซึ่งเวียดนามได้พัฒนาอักษรเป็นของตัวเองหรือ จื๋อโนม แต่ก็ยังปรากฏคำศัพท์บางคำที่ใกล้เคียงภาษาไทยและภาษาลาวอยู่บ้าง

ยุคราชวงศ์ในช่วงต้น (ค.ศ. 2879-111 ก่อนคริสต์ศักราช)

ยุคราชวงศ์โห่งบั่ง (2879-258 ก่อนคริสตกาล)

กลองมโหระทึกสำริด ศิลปะวัฒนธรรมดงเซิน

ตามตำนานเป็นเวลาเกือบสามพันปี จากจุดเริ่มต้นของรอบ 2879 ก่อนคริสตกาล (หรือต้นศตวรรษที่ 7) อาณาจักรเวียดนามได้ถูกปกครองโดย ถุก ฟ๋าน ในปี 258 ก่อนคริสตกาล ยุคโห่งบั่งได้แบ่งออกเป็นราชวงศ์ 18 ราชวงศ์ แต่ละราชวงศ์อยู่บนพื้นฐานของเชื้อสายของกษัตริย์ ตลอดยุคนี้ประเทศพบการเปลี่ยนแปลงมากมาย การเปลี่ยนแปลงบางอย่างนำไปสู่ความรุนแรงหรือสงคราม เนื่องจากข้อมูลหลักฐานที่จำกัดของหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร แหล่งข้อมูลหลักของข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาของยุคราชวงศ์โห่งบั่ง คือร่องรอยต่างๆ วัตถุและสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการขุดค้นพบมาจากแหล่งโบราณคดี อีกทั้งการศึกษาจากตำนานและนิยายโบราณจำนวนมาก ดินแดนเวียดนามเริ่มต้นจากการเป็นรัฐที่มีชนเผ่าหลากหลายอยู่อาศัยกันอย่างกระจัดกระจาย โดยมีกษัตริย์ กิง เดือง เวือง รวบรวมบรรดารัฐเล็กๆ ในช่วง 2,879 ปีก่อนคริสตกาล ผู้ปกครองชาวเวียดนามยุคโบราณสมัยนี้รู้จักกันในนามของ กษัตริย์ ที่ชาวเวียดนาม เรียกว่า หุ่ง (เวียดนาม: Hùng Vương) ใกล้เคียงคำภาษาไทย-ลาว คำว่า ขุน (ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง)

วัฒนธรรมดงเซิน

ยุคราชวงศ์โห่งบั่งช่วงต้น 2879-1913 ปีก่อนคริสตกาล

อาณาเขตของอาณาจักรวันลาง นำโดยราชวงศ์ห่งบ่าง

ตั้งแต่สมัยโบราณ บริเวณประเทศเวียดนามตอนเหนือสมัยปัจจุบันและภาคใต้ของจีนมีผู้คนจำนวนมากหลากหลายเชื้อชาติ ได้มีหัวหน้าเผ่าเวียดผู้หนึ่งนามว่า ลก ตุ๊ก (2919-2794 ก่อนคริสตกาล) ผู้ซึ่งได้ประสบความสำเร็จในการขึ้นสู่ฐานะหัวหน้าเผ่าและได้มีความพยายามครั้งแรกเพื่อรวมทุกเผ่าให้เป็นหนึ่งเดียว ประมาณ 2879 ก่อนคริสตกาล ในขณะที่พระองค์ประสบความสำเร็จในรวบรวมกลุ่มรัฐทั้งหมดให้ในอาณาเขตของพระองค์ บรรดาชนเผ่าต่างๆได้มีการชุมนุมโดยประกาศให้ พระองค์ขึ้นปราบดาภิเษก เป็นกษัตริย์มีพระนามว่า กิญ เซือง เวือง

ศาลเจ้าของหลัก ล็อง เกวิน ที่ฟู้เถาะ

การขยายอาณาจักร เวียดนามใต้แห่งซึกกุ่ยถูกแบ่งออกเป็น 100 แคว้น แต่ละแคว้นปกครองโดยโอรสองค์หนึ่งในจำนวน 100 องค์ ในราว 2,879 ปี ก่อนคริสตกาล พระโอรสองค์โตได้รักบการสถาปนา เป็นกษัตริย์แห่งหลากเวียด (Lac Viet) พระองค์ทรงพระนามว่า พระเจ้าฮุงเวือง (Hung Vuong) และหลากเวียด ก็ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วันลาง (Van Lang)

ยุคราชวงศ์โห่งบั่งช่วงปลาย

อาณาจักรวันลาง เจริญรุ่งเรืองอยู่ระหว่าง 1,000 ปี แรกก่อนคริสตกาล ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ราชวงศ์ฮุง ที่สืบราชสมบัติต่อกันมา 18 พระองค์ และได้มีการก่อตั้งราชวงศ์ฮุงเวืองขึ้น โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดหวิงห์ฝู (Vinh Phu) ในปัจจุบันอาณาจักรนี้แบ่งออกเป็น 15 จังหวัด ก่อนจะเสื่อมอำนาจลงในปีที่ 258 ก่อนคริสตกาล หลังจากนั้นก็มาสู่ยุคความรุ่งเรืองของอีกอาณาจักรหนึ่ง ภายใต้พระนามว่า พระเจ้า ฮันเซืองเวือง ทรงก่อตั้งอาณาจักรเอาหลากขึ้น และตั้งราชธานีอยู่ที่ฟุอัน 50 ปีต่อมา อาณาจักรนี้ได้ตกอยู่ในมือของกลุ่มคนจากทางเหนือ ภายใต้การนำของถุก ฟ้าน แม่ทัพชาวจีนที่นำกองทัพจีนมาปกครองเวียดนาม

ราชวงศ์ถุก

ในช่วงก่อนคริสต์ศักราชที่ 3 ชนเผ่าเวียดอีกชนเผ่านามว่า "เอิวเวียด" อพยพจากบริเวณตอนใต้ของจีนในปัจจุบันเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณแม่น้ำแดงและได้มีการผสมกลมกลืนกับชนเผ่าวันลางที่เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน ในช่วง 257 ปีก่อนคริสต์ศักราช อาณาจักรใหม่นามว่า เอิวหลัก ได้เกิดขึ้นจากการรวมของชนเผ่าเอิวเวียดและหลักเวียด โดยมี ถุก ฟ้าน ตามตำนานเขาเป็นชาวจีนฮั่นที่อพยพเข้ามาปกครองดินแดน บริเวณตอนเหนือของเวียดนาม ถุก ฟ้าน ได้ประกาศตนเองเป็นกษัตริย์ อาน เซือง เวือง มีนักประวัติศาสตร์เวียดนามสมัยใหม่ได้สันนิษฐานว่า ถุก ฟ้าน มาจากบริเวณของชาวเอิวเวียด (ภาคเหนือของเวียดนาม, ตะวันตกของมณฑลกวางตุ้ง และภาคใต้ของมณฑลกวางสี ของประเทศจีนในปัจจุบัน โดยมีเมืองหลวงบริเวณจังหวัดกาวบั่งในปัจจุบัน[5]

หลังจากนั้นอาน เซือง เวือง ได้รวบรวมกองทัพเอาชนะและโค่นล้มราชวงศ์ที่ 18 ของกษัตริย์หุ่งแห่งราชวงศ์ห่งบ่าง ในช่วง 258 ปีก่อนคริสตกาล อาน เซือง เวือง เปลี่ยนชื่อประเทศจากอาณาจักรวันลางมาเป็นเอิวหลักและสถาปนาเมืองหลวงใกล้กับเมืองฟู้เถาะ ทางตอนเหนือของเวียดนาม และได้สร้างป้อมปราการโก๋ลวาหรือป้อมเกลียวยาวประมาณ 10 ไมล์ ทางตอนเหนือของเมืองหลวง

ราชวงศ์เจี่ยว

แผนที่รัฐน่านเย่ว์หรือนามเวียด

ในปี 217 ก่อนค.ศ. จิ๋นซีฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฉินของจักรวรรดิส่งแม่ทัพจ้าวตั้ว (Zhào Tuó, 趙佗) หรือเจี่ยวด่า (Triệu Đà) ยกทัพจีนมาทำการปราบชนเผ่าหนานเยว่ทั้งหลายและรวบรวมดินแดนจีนภาคใต้เข้ากับจักรวรรดิจีน แม่ทัพจ้าวตั้วเข้าโจมตีอันเซืองเวืองหลายครั้งแต่อันเซืองเวืองสามารถต้านทานทัพจีนได้ จนกระทั่งปี 207 ก่อนค.ศ. จ้าวตั้วสามารถยกทัพเข้ายึดเมืองโก๋ลวาได้สำเร็จ ทำให้การปกครองของอันเซืองเวืองและอาณาจักรเอิวหลักสิ้นสุดลง บริเวณเขตลุ่มแม่น้ำแดงจึงถูกผนวกเข้ากับจักรวรรดิจีนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังจากที่ราชวงศ์ฉินล่มสลายลง จ้าวตั้วได้ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นในดินแดนภาคใต้ของจีน ในปี 204 ก่อนค.ศ. จ้าวตั้วปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรหนานเยฺว่ (Nányuè, 南越) หรืออาณาจักรนัมเหวียต (Nam Việt) มีอาณาเขตตั้งแต่จีนภาคใต้มณฑลกวางตุ้งในปัจจุบันมาจนถึงเขตลุ่มแม่น้ำแดง มีราชธานีที่เมืองพันหยู (Pānyú, 番禺 เมืองกว่างโจวในปัจจุบัน) ก่อตั้งราชวงศ์เจี่ยว (Triệu dynasty) อาณาจักรหนานเยฺว่หรือนัมเหวียตเป็นประเทศราชของจักรวรรดิจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น กษัตริย์แห่งนัมเหวียตมีความพยายามที่จะแยกตัวเป็นเอกราชจากจีน ทำให้ต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางการทหารจากจีนหลายครั้ง จนกระทั่งปี 111 ก่อนค.ศ. พระจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ทรงส่งกองทัพจีนเข้าบุกยึดอาณาจักรหนานเยฺว่ ทำให้อาณาจักรหนานเยฺว่หรือนัมเหวียตของราชวงศ์เจี่ยวสิ้นสุดลงและถูกรวมเข้ากับจักรวรรดิจีน


การปกครองของจีน

สองพี่น้องตระกูลจึง

สองพี่น้องตระกูลจึง ขี่ช้างเข้าสู้กับกองทัพของจีน

เมื่อราชวงศ์ฮั่นผนวกอาณาจักรนัมเหวียตเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิจีนแล้ว เวียดนามจึงเข้าสู่ยุคการปกครองของจีนครั้งแรก (First Chinese domination) เวียดนามมีสถานะเป็นมณฑลเจียวจี่ (Jiāozhǐ, 交趾) หรือเจียวโจว (Jiāozhōu, 交州 คำว่า "เจียว" ภาษาจีนยุคกลาง: kˠau กลายเป็นคำว่า "แกว") มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองลองเบียน (Long Biên) หรือฮานอยในปัจจุบัน การปกครองครั้งแรกของจีนสิ้นสุดลงในค.ศ. 40 ในเหตุการณ์การลุกฮือของสองพี่น้องตระกูลจึง (Hai Bà Trưng หรือ Trưng sisters) สองพี่น้องตระกูลจึงเป็นสตรีได้แก่ จึงจัก (Trưng Trắc) และจึงหญิ (Trưng Nhị) เป็นบุตรสาวของผู้ปกครองอำเภอหมีหลิง (Mílíng , 麊泠) ในจังหวัดเจียวจี่ สามีของจึงจักชื่อว่าทิซั๋ก (Thi Sách) ก่อการกบฎต่อต้านการปกครองของจีนราชวงศ์ฮั่น ทางการจีนจึงนำตัวทิซั๋กไปประหารชีวิต สองพี่น้องจึงจักและจึงหญิจึงปลุกระดมชาวเวียดนามให้ลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของจีน หลังจากที่สองพี่น้องตระกูลจึงปกครองเวียดนามได้สามปีพระจักรพรรดิฮั่นกวังอู่ตี้ทรงส่งแม่ทัพหม่าหยวน (Mǎ Yuán, 馬援) มาปราบกบฎของสองพี่น้องตระกูลจึงลงได้สำเร็จในค.ศ. 43

หลังจากสิ้นสุดการลุกฮือของสองพี่น้องตระกูลจึงแล้ว เวียดนามเข้าสู่ยุคการปกครองของจีนครั้งที่สอง (Second Chinese domination) หลังจากที่ราชวงศ์ฮั่นล่มสลายลงแล้ว เขตแคว้นเจียวจี่จึงกลายเป็นดินแดนของรัฐง่อก๊กในสมัยสามก๊ก ในค.ศ. 248 นางบ่าเจียว (Bà Triệu) หรือนางเจียวเอิ๋ว (Triệu Ẩu, 趙嫗) หรือนางเจียว (Lady Triệu) รวบรวมชาวเวียดนามก่อกบฎต่อต้านการปกครองของง่อก๊ก พระเจ้าซุนกวนแห่งง่อก๊กส่งแม่ทัพหลู่หยิ่น (Lù Yìn, 陸胤) ยกทัพมาปราบกบฎของนางเจียวได้สำเร็จ ในปัจจุบันทั้งสองพี่น้องตระกูลจึงและนางเจียวเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิชาตินิยมในเวียดนาม แสดงถึงอัตลักษณ์ของสังคมเวียดนามก่อนการปกครองของจีนซึ่งสตรีเป็นใหญ่

ราชวงศ์ลี้ก่อน

เจดีย์วัดเจิ๊นโกว๊ก (Trấn Quốc Pagoda, 鎭國寺) เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองฮานอย (ลองเบียน) สร้างขึ้นในสมัยของจักรพรรดิลี้นัมเด๊ในค.ศ. 544

ในยุคราชวงศ์เหนือใต้ (Northern and Southern Dynasties) ของจีน เวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์เหลียง (Liang dynasty) ในค.ศ. 541 ชาวจีนชื่อว่าหลี่ปี้ (Lǐ Bì, 李賁) ก่อการกบฎขับไล่การปกครองของราชวงศ์เหลียงออกจากพื้นที่ ในค.ศ. 544 หลี่ปี้ตั้งตนขึ้นเป็นพระจักรพรรดิลี้นัมเด๊ (Lý Nam Đế, 李南帝) หรือจักรพรรดิลี้แห่งทักขิณทิศ ก่อตั้งราชวงศ์ลี้ก่อน (Early Lý dynasty) และก่อตั้งอาณาจักรหวั่นซวน (Vạn Xuân, 萬春) หรืออาณาจักรหมื่นวสันต์ มีราชธานีที่เมืองลองเบียน หลังจากที่ราชวงศ์ลี้ก่อนครองเวียดนามได้เพียงหนึ่งปี ในค.ศ. 545 จักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ทรงส่งแม่ทัพเฉินป้าเซียน (Chén Bàxiān, 陳霸先) ยกทัพเข้าปราบอาณาจักรหวั่นซวนทำให้จักรพรรดิลี้นัมเด๊ต้องเสด็จหลบหนีไปยังดินแดนประเทศลาว ทำให้ราชวงศ์ลี้ก่อนต้องไปตั้งฐานที่มั่นในป่าเขา ต่อมาจักรพรรดิลี้นัมเด๊สละราชสมบัติแล้วถูกชนเผ่าในประเทศลาวสังหาร เมื่อราชวงศ์ลี้ก่อนอ่อนแอทำให้แม่ทัพเจี่ยวกวางฟุก (Triệu Quang Phục, 趙光復) เรืองอำนาจและได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าชายเจี่ยวเหวียตเวือง (Triệu Việt Vương, 趙越王) เจ้าชายเจี่ยวเหวียตเวืองนำทัพเข้ายึดเมืองลองเบียนคืนมาจากจีนได้สำเร็จ ลี้ฝัตตื๋อ (Lý Phật Tử, 李佛子) ยกทัพเข้ายึดเมืองลองเบียนจากเจ้าชายเจี่ยวเหวียตเวืองในค.ศ. 571 และตั้งตนขึ้นเป็นจักรพรรดิลี้นัมเด๊ที่สอง ฝ่ายพระจักรพรรดิสุยเหวินตี้แห่งราชวงศ์สุยทรงเห็นว่าอาณาจักรหวั่นซวนประสบกับความขัดแย้งภายในจึงส่งกองทัพเข้าบุกยึดอาณาจักรหวั่นซวนในค.ศ. 602 ทำให้เวียดนามถูกรวมเข้ากับจักรวรรดิจีนอีกครั้ง ราชวงศ์ลี้ก่อนจึงสิ้นสุดลง

การปกครองของจีนครั้งที่สามและกาต่อสู้เพือเอกะราชเสีม

หลังจากที่ทัพของราชวงศ์สุยได้ทำลายอาณาจักรหวั่นซวนของราชวงศ์ลี้ก่อนลงในค.ศ. 602 แล้ว เวียดนามจึงเข้าสู่ยุคการปกครองของจีนครั้งที่สาม (Third Chinese domination) ราชวงศ์สุยปกครองดินแดนลุ่มแม่น้ำแดงในฐานะเป็นจังหวัดเจียวโจว ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถังค.ศ. 679 จังหวัดเจียวโจวเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐในอารักขาอันหนาน (Ānnándúhùfǔ, 安南都護府 - Protectorate of Annan) หรืออันนัม หมายถึงสันติสุขทางทิศใต้ ซึ่งปกครองโดยตูหู่ (Dūhù, 都護) หรือข้าหลวงซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาจากราชสำนักราชวงศ์ถัง มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองซ่งผิง (Sòngpíng, 宋平) หรือต๊งบิ่ญ (Tống Bình) บริเวณเมืองฮานอยในปัจจุบัน ในค.ศ. 772 ชาวเวียดนามชื่อว่ามัยทุกลวน (Mai Thúc Loan, 梅叔鸞) รวบรวมกำลังพลก่อกบฎต่อต้านการปกครองของราชวงศ์ถังสามารถยึดเมืองซ่งผิงได้สำเร็จและตั้งตนขึ้นเป็นจักรพรรดิมัยฮักเด๊ (Mai Hắc Đế, 梅黑帝) แปลว่า "จักรพรรดิดำ" เนื่องจากจักรพรรดิมัยฮักเด๊มีผิวคล้ำ ในปีเดียวกันนั้นพระจักรพรรดิถังซวนจงทรงส่งทัพมาปราบจักรพรรดิมัยฮักเด๊ได้สำเร็จสามารถรวมอันนัมกลับเข้าเป็นของราชวงศ์ถังได้อีกครั้ง ในค.ศ. 791 ชาวเวียดนามอีกคนหนึ่งชื่อว่าฝุ่งฮึง (Phùng Hưng) ก่อการกบฎต่อราชวงศ์ถังแต่ก็ถูกปราบได้

ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ถังอำนาจการปกครองส่วนกลางของราชวงศ์ถังเสื่อมลง ทำให้เจี๋ยตู้สื่อ (Jiédùshǐ, 節度使) หรือขุนศึกท้องถิ่นตั้งตนเป็นอิสระตามดินแดนต่างๆของจีนราชวงศ์ถัง ในค.ศ. 905 คุกเถื่อสุ (Khúc Thừa Dụ, 曲承裕) ตั้งตนขึ้นเป็นเจี๋ยตู้สื่อแห่งเขตทหารจิ้งไห่ (Jìnghǎi jūn, 靜海軍) แปลว่า ทะเลบริสุทธิ์ หมายถึงแคว้นอันนัม ทำให้ตระกูลคุก (Khúc clan) เรืองอำนาจขึ้นมาในเขตจิ้งไห่มีอำนาจในการปกครองตนเองและได้รับการยอมรับจากราชสำนักราชวงศ์ถัง

ราชวงศ์โง ราชวงศ์ดิญ และราชวงศ์เลก่อน

เมื่อราชวงศ์ถังเสื่อมอำนาจและล่มสลายไปในค.ศ. 907 ทำให้ประเทศจีนเข้าสู่ยุคห้าวงศ์สิบรัฐ (Five dynasties and Ten kingdoms period) ดินแดนประเทศจีนแตกแยกออกเป็นรัฐต่างๆ จักรพรรดิหลิวหยั่น (Liú Yǎn, 劉龑) แห่งรัฐฮั่นใต้ (Southern Han) ต้องการแผ่ขยายอำนาจลงมายังเขตจิ้งไห่จึงส่งทัพมาโจมตีเข้ายึดเมืองต๊งบิ่ญในค.ศ. 930 และจับตัวเจี๋ยตู้สื่อคุกเถื่อมี้ (Khúc Thừa Mỹ) กลับไป ทำให้การปกครองของเจี๋ยตู้สื่อตระกูลคุกสิ้นสุดลง เซืองดื่ญเหงะ (Dương Đình Nghệ, 楊廷藝) ยกทัพเข้าขับไล่ทัพของรัฐฮั่นใต้ออกไปจากจิ้งไห่ได้สำเร็จแล้วตั้งตนขึ้นเป็นเจี๋ยตู้สื่อแห่งจิ้งไห่ ในค.ศ. 937 เจี๋ยตู้สื่อเซืองดิ่ญเหงะถูกลอบสังหารโดยเขี่ยวกงเที๋ยน (Kiều Công Tiễn, 矯公羡) ซึ่งอยู่ฝ่ายของรัฐฮั่นใต้ เมื่อยึดอำนาจในเขตจิ้งไห่ได้แล้วเขี่ยวกงเที๋ยนจึงเข้าสวามิภักดิ์ต่อรัฐฮั่นใต้ โงเกวี่ยน (Ngô Quyền, 吳權) บุตรเขยของเซืองดิ่ญเหงะยกทัพเข้าปราบและสังหารเขี่ยวกงเที๋ยน จักรพรรดิหลิวหยั่นแห่งรัฐฮั่นใต้ทรงส่งพระโอรสหลิวหงเชา (Liú Hóngcāo, 劉弘操) ยกทัพมาปราบโงเกวี่ยนในเขตจิ้งไห่ โงเกวี่ยนวางแท่งเหล็กแหลมไว้ใต้แม่น้ำบักดั่ง เมื่อทัพเรือของรับฮั่นใต้มาถึงโงเกวี่ยนจึงส่งเรือไปสกัดทัพของฮั่นใต้ไว้ เมื่อระดับน้ำลดลงทัพเรือของรัฐฮั่นใต้จึงถูกเหล็กแหลมใต้น้ำทิ่มแทง เจ้าชายหลิวหงเชาสิ้นพระชนม์ในที่รบ โงเกวี่ยนจึงได้รับชัยชนะในยุทธนาวีแม่น้ำบักดั่ง (Battle of Bạch Đằng River) ในค.ศ. 938 และตั้งตนเองขึ้นเป็น "เจ้าชายโงเวือง" (Ngô Vương, 吳王) ก่อตั้งราชวงศ์โง (Ngô dynasty) ปกครองเขตจิ้งไห่เป็นรัฐแยกตัวเป็นอิสระจากจักรวรรดิจีนและการปกครองของจีนครั้งที่สามสิ้นสุดลง เจ้าชายโงเวืองทรงย้ายเมืองหลวงของจิ้งไห่มายังเมืองโก๋ลวา (Cổ Loa)

หลังจากที่เจ้าชายโงเวืองสิ้นพระชนม์ในค.ศ. 944 เกิดการแก่งแย่งชิงอำนาจระหว่างพระโอรสหลายพระองค์และตระกูลเซือง นำไปสู่กลียุคของขุนศึกทั้งสิบสอง (Anarchy of Twelve Warlords) รัฐจิ้งไห่แตกออกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยเป็นเวลายี่สิบสี่ปี จนกระทั่งขุนศึกดิญโบะลิ๋ญ (Đinh Bộ Lĩnh) ปราบปรามขุนศึกคนอื่นและรวบรวมดินแดนรัฐจิ้งไห่ให้เป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง ในค.ศ. 968 ดิญโบะลิ๋ญปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นฮว่างเด๊ดิญเทียนฮว่าง (Đinh Tiên Hoàng, 丁先皇) ก่อตั้งราชวงศ์ดิญ (Đinh dynasty) ขึ้น พระจักรพรรดิดิญเทียนฮว่างทรงตั้งชื่อประเทศใหม่ว่า "ดั่ยโก่เหวียต" (Đại Cồ Việt, 大瞿越) และย้ายราชธานีจากเมืองโก๋ลวาไปยังเมืองฮวาลือ (Hoa Lư) พระจักรพรรดิดิญเทียนฮว่างถูกขุนนางลอบปลงพระชนม์สวรรคตในค.ศ. 979 พระโอรสที่ยังพระเยาว์ขึ้นเป็นฮว่างเด๊องค์ต่อมาโดยมีไท้เห่าพระนางเซืองเวินงา (Dương Vân Nga, 楊雲娥) เป็นผู้สำเร็จราชการแทน ในค.ศ. 980 พระจักรพรรดิซ่งไท่จงแห่งราชวงศ์ซ่งทรงเห็นว่าดั่ยโก่เหวียตมีจักรพรรดิที่ยังพระเยาว์จึงมีพระราชโองการให้จัดทัพเข้ารุกรานผนวกรัฐดั่ยโก่เหวียตกลับคืนสู่จักรวรรดิจีนอีกครั้ง บรรดาขุนนางของดั่ยโก่เหวียตเห็นว่าประเทศชาติกำลังประสบภัยอันตรายจากราชวงศ์ซ่งจึงร้องขอให้ไท้เห่าเซืองเวินงาปลดฮว่างเด๊ที่ยังพระเยาว์ออกจากราชสมบัติ ไท้เห่าเซืองเวินงาจึงทรงยอมปลดพระโอรสของพระนางเองออกจากราชสมบัติและยกราชสมบัติให้เล ฮวั่น (Lê Hoàn) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพสูงสุด เป็นพระจักรพรรดิดั่ยฮั่ญ (Đại Hành, 大行皇帝) เป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์เลก่อน (Early Lê dynasty)

พระจักรพรรดิซ่งไท่จงทรงส่งทัพจีนเข้าบุกมายังเวียดนาม ทัพของดั่ยโก่เหวียตสามารถเอาชนะทัพจีนได้ในยุทธนาวีที่แม่น้ำบักดั่ง (Battle of Bạch Đằng River) ในค.ศ. 981 จากนั้นเกิดการเจราสงบศึกโดยที่พระจักรพรรดิดั่ยฮั่ญแห่งดั่ยโก่เหวียดทรงยอมส่งเครื่องบรรณาการไปถวายแด่พระจักรพรรดิซ่งไท่จงเป็นพิธีการทุกสามปี ในค.ศ. 990 พระจักรพรรดิดั่ยฮั่ญทรงส่งทัพดั่ยโก่เหวียตเข้ารุกรานอาณาจักรจามปาเป็นครั้งแรก อาณาจักรจามปายินยอมส่งบรรณาการเป็นเมืองขึ้นของดั่ยโก่เหวียต เมื่อพระจักรพรรดิดั่ยฮั่ญสวรรคตในค.ศ. 1005 จากนั้นเกิดการแย่งชิงอำนาจหลายครั้ง ฮว่างเด๊ราชวงศ์เลมีความอ่อนแอ

ราชวงศ์ลี้

เจดีย์เสาเดียว (Chùa Một Cột) ที่เมืองฮานอย สร้างในรัชสมัยจักรพรรดิลี้ไท้ตง ในสมัยราชวงศ์ลี้พุทธศาสนามหายานได้รับการสนับสนุน

ค.ศ. 1009 พระจักรพรรดิเลลองดิ๋ญสวรรคต พระโอรสของจักรพรรดิเลลองดิ๋ญยังทรงพระเยาว์เกินกว่าจะบริหารบ้านเมือง บรรดาขุนนางปรึกษาหารือและยกราชสมบัติให้แก่ลี้กงอ๋วน (Lý Công Uẩn, 李公蘊) เป็นพระจักรพรรดิลี้ไท้โต๋ (Lý Thái Tổ, 李太祖) เป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์ลี้ (Lý dynasty) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่สามารถประดิษฐานอย่างมั่นคงในเวียดนามได้เป็นราชวงศ์แรก ในค.ศ. 1010 พระจักรพรรดิลี้ไท้โต๋ทรงย้ายราชธานีของดั่ยโก่เหวียตจากเมืองฮวาลือซึ่งเป็นราชธานีมาเป็นเวลาประมาณห้าสิบปี มาสู่เมืองใหม่ซึ่งได้รับชื่อว่า "ทังลอง" (Thăng Long, 昇龍) หรือ มังกรผงาด ซึ่งในปัจจุบันคือเมืองฮานอย เนื่องจากพระจักรพรรดิลี้ไท้โต๋ทรงเคยเป็นลูกศิษย์วัดมาก่อน จึงทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนามหายานให้เป็นศาสนาประจำชาติของดั่ยโก่เหวียต ในสมัยราชวงศ์ลี้มีการสร้างวัดวาอารามให้พุทธศาสนาขึ้นมากมาย ค.ศ. 1050 พระจักรพรรดิลี้ทั้ญตง (Lý Thánh Tông, 李聖宗) ทรงเปลี่ยนชื่อประเทศจากดั่ยโก่เหวียตเป็น "ดั่ยเหวียด" (Đại Việt, 大越) ซึ่งจะกลายเป็นชื่อประเทศเวียดนามไปเป็นเวลาประมาณแปดร้อยปี ในค.ศ. 1070 พระจักรพรรดิลี้ทั้ญตงทรงก่อตั้งวันเมี่ยว (Văn Miếu, 文廟) หรือราชวิทยาลัยไว้ให้กุลบุตรศึกษาหลักปรัชญาลัทธิขงจื้อ และในค.ศ. 1089 ทรงจัดตั้งระบบราชการเก้าขั้นและหกกระทรวงตามแบบอย่างของจีนราชวงศ์ซ่ง รวมทั้งจัดตั้งระบบการสอบจอหงวนสำหรับรับคนเข้ารับราชการ

ในค.ศ. 1042 หนุ่งจี้เกา (Nùng Trí Cao, 儂智高 ภาษาจ้วง: Nungz Ciqgaoh) ผู้นำของชนชาติหนุ่ง (Nung) ซึ่งอาศัยอยู่บนเขาพรมแดนระหว่างจีนราชวงศ์ซ่งและดั่ยเหวียด ตั้งตนขึ้นเป็นอิสระจากอิทธิพลของทั้งจีนและดั่ยเหวียด ดั่ยเหวียดส่งทัพเข้าโจมตีชนชาติหนุ่งและจับตัวหนุ่งจี้เกามาขังจองจำไว้ที่เมืองทังลองเป็นเวลาหกปี หลังจากที่หนุ่งจี้เกาถูกปล่อยตัวไปแล้วจึงกลับไปรวบรวมกำลังพลเข้าโจมตีมณฑลกว่างซีของจีนจนกระทั่งถูกกองทัพของราชวงศ์ซ่งปราบลง ในค.ศ. 1075 พระจักรพรรดิซ่งเสินจงประกาศสงครามกับอาณาจักรได่เหวียด เกิดเป็นสงครามลี้-ซ่ง (Lý–Song War) พระจักรพรรดิลี้ทั้ญตงทรงส่งแม่ทัพหนุ่งตงดั้น (Nùng Tông Đán) ซึ่งเป็นญาติของหนุ่งจี้เกา และแม่ทัพเรือลี้เถื่องเกียต (Lý Thường Kiệt, 李常傑) นำทัพไดเวียดเข้ารุกรานมณฑลกว่างซี ทัพดั่ยเหวียดสามารถเข้ายึดนครหย่งโจว (Yǒngzhōu) ได้ ฝ่ายราชวงศ์ซ่งตอบโต้โดยการส่งแม่ทัพกัวคุ๋ย (Guō Kuí, 郭逵) ยกทัพเข้ารุกรานดั่ยเหวียดในค.ศ. 1077 แม่ทัพลี้เถื่องเกียตปลุกระดมขวัญกำลังใจทหารไดเวียดด้วยบทกลอน "ธาราและบรรพตแห่งทักขิณประเทศ" (Nam quốc sơn hà, 南國山河) เป็นการประกาศอิสรภาพจากการปกครองของจีน ลี้เถื่องเกียตจัดทัพเข้าต้านทานการรุกรานของจีนแต่ไม่สำเร็จ ปรากฏว่าทัพกองทัพของจีนไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนและโรคภัยไข้เจ็บได้จึงถอยทัพกลับไป ในค.ศ. 1082 มีการเจรจาสงบศึกและปักปันเขตแดนระหว่างจีนและดั่ยเหวียด

หลังจากที่จักรพรรดิลี้ญันตง (Lý Nhân Tông) สวรรคตในค.ศ. 1128 จากนั้นมาจักรพรรดิราชวงศ์ลี้องค์ต่อๆมาขึ้นครองราชย์แต่ยังเยาว์ทำให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของขุนนางและเกิดการยึดอำนาจหลายครั้ง ในรัชกาลของจักรพรรดิลี้เหวะตง (Lý Huệ Tông) ขุนนางชื่อเจิ่นทึโดะ (Trần Thủ Độ, 陳守度) และตระกูลเจิ่นขึ้นมามีอำนาจ ในค.ศ. 1224 เจิ่นทึโดะแนะนำให้พระจักรพรรดิลี้เหวะตงซึ่งไม่มีพระโอรสสละราชสมบัติให้แก่พระธิดาเจ้าหญิงเจียวทั้ญ (Chiêu Thánh, 昭聖公主) ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระจักรพรรดินีลี้เจียวฮว่าง (Lý Chiêu Hoàng, 李昭皇)

ราชวงศ์เจิ่น

ในรัชสมัยของจักรพรรดินี้ลี้เจียวฮว่างขุนนางเจิ่นทึโดะเรืองอำนาจขึ้นและผลักดันให้ตระกูลเจิ่นขึ้นมามีอำนาจ ในค.ศ. 1225 เจิ่นทึโดะให้จักรพรรดินีลี้เจียวฮว่างอภิเษกสมรสกับนายเจิ่นกั๋ญ (Trần Cảnh, 陳煚) ซึ่งเป็นหลานชายของเจิ่นทึโดะเอง ในปีเดียวกันนั้นเจิ่นทึโดะให้จักรพรรดินีลี้เจียวฮว่างสละราชสมบัติให้แก่เจิ่นกั๋ญ ทำให้การปกครองของราชวงศ์ลี้สิ้นสุดลงและเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์เจิ่น (Trần dynasty) เจิ่นกั๋ญขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิเจิ่ญไท้ตง (Trần Thái Tông, 陳太宗) อำนาจการปกครองที่แท้จริงอยู่ที่เจิ่นทึโดะ ในค.ศ. 1258 เจ้าชายกุบไลข่านส่งทูตเข้ามายังเมืองทังลองเพื่อให้อาณาจักรไดเวียดยอมสวามิภักดิ์เป็นเมืองขึ้นของมองโกล เมื่อไม่เป็นผลกุบไลข่านจึงส่งแม่ทัพชื่อว่าอูรียังคาได (Uriyangkhadai) ยกทัพมองโกลเข้าบุกไดเวียด ทัพมองโกลสามารถยึดเมืองทังลองได้แต่ทัพมองโกลไม่ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนและโรคภัยไข้เจ็บจึงถอนทัพกลับไป หลังจากที่กุบไลข่านยึดจีนภาคใต้จากราชวงศ์ซ่งใต้และปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวนแล้ว ในค.ศ. 1282 จักรพรรดิกุบไลข่านส่งแม่ทัพโซเกอตู (Sogetu) เข้าโจมตีอาณาจักรจามปาสามารถยึดเมืองวิชัยราชธานีของจามปาได้ ในค.ศ. 1285 ไดเวียดจึงเผชิญกับการรุกรานของมองโกลครั้งที่สองทั้งจากทางเหนือนำโดยแม่ทัพโตคน (Toghon) และทางใต้จากจามปาโดยโซเกอตู แต่ฝ่ายเวียดนามสามารถต้านทานการรุกรานจากทั้งสองฝั่งได้ ในค.ศ. 1288 แม่ทัพโตคนยกทัพมองโกลเข้ารุกรานไดเวียดเป็นครั้งที่สาม นำไปสู่ยุทธนาวีแม่น้ำบักดั่ง (Battle of Bạch Đằng River) ปรากฏเป็นวีรกรรมของแม่ทัพเจิ่นฮึงเด่า (Trần Hưng Đạo, 陳興道) สามารถเอาชนะทัพเรือมองโกลได้ด้วยการวางเหล็กแหลมไว้ใต้น้ำ เมื่อน้ำลดทำให้เรือมองโกลถูกเหล็กแหลมทิ่มแทง

หลังจากสงครามกับมองโกลสิ้นสุดลง อาณาจักรดั่ยเหวียดสมัยราชวงศ์เจิ่นหันมาทำสงครามกับอาณาจักรจามปาทางทิศใต้ พระจักรพรรดิเจิ่นอัญตงทรงส่งพระขนิษฐาคือเจ้าหญิงเฮวี่ยนเจิน (Huyền Trân) ไปอภิเษกเป็นพระมเหสีของพระชัยสิงหวรมันที่ 3 (Jaya Simhavarman III) หรือพระเจ้าเจ๊เมิน (Chế Mân) แห่งอาณาจักรจามปาในค.ศ. 1306 โดยอาณาจักรจามปายอมยกดินแดนให้แก่ดั่ยเหวียดกลายเป็นจังหวัดทัญฮว้า ปีต่อมาค.ศ. 1307 พระเจ้าเจ๊เมินสวรรคตตามธรรมเนียมของศาสนาฮินดูเจ้าหญิงเฮวี่ยนเจินต้องเข้าพิธีสตีกระโดดเข้าพระจิตกาธานสิ้นพระชนม์ตามพระสวามี เจ้าหญิงเฮวี่ยนเจินจึงทรงขอความช่วยเหลือไปยังดั่ยเหวียด จักรพรรดิเจิ่นอัญตงทรงส่งทูตมานำองค์เจ้าหญิงเฮวี่ยนเจินกลับมายังดั่ยเหวียด กษัตริย์แห่งจามปาองค์ต่อมาประสงค์ดินแดนจังหวัดทัญฮว้าคืนให้แก่จามปาจึงนำทัพเข้ารุกรานดั่ยเหวียดสองครั้งแต่ไม่สำเร็จ ทัพฝ่ายดั่ยเหวียดสามารถเอาชนะทัพจามได้ทั้งสองครั้งและอาณาจักรจามปากลายเป็นเมืองขึ้นของดั่ยเหวียดอยู่ระยะหนึ่ง ในค.ศ. 1371 พระเจ้าเจ๊บ่งงา (Chế Bồng Nga) แห่งจามปายกทัพเข้ายึดนครทังลองได้สำเร็จ ทำให้พระจักรพรรดิเจิ่นเหงะตงพร้อมทั้งขุนนางในราชสำนักต้องหลบหนีออกจากนครทังลองชั่วคราวหลังจากทัพจามกลับไปแล้วจึงคืนสู่นครทังลอง จักรพรรดิเจิ่นเหวะตงสละราชสมบัติให้แก่พระจักรพรรดิเจิ่นเซวะตง จักรพรรดิเจิ่นเซวะตงทรงยกทัพเข้ารุกรานจามปาแต่พ่ายแพ้ให้แก่ทัพของพระเจ้าเจ๊บ่งงาพระจักรพรรดิเจิ่นเซวะตงสวรรคตในที่รบ วิกฤตการณ์ในสงครามกับอาณาจักรจามปาทำให้ราชวงศ์เจิ่นเสื่อมลงและขุนนางชื่อว่าโห่กวี้ลี (Hồ Quý Ly, 胡季犛) เรืองอำนาจขึ้น ในค.ศ. 1388 โห่กวี้ลีปลดพระจักรพรรดิเจิ่นเฟ๊เด๊ออกจากราชสมบัติแล้วตั้งพระจักรพรรดิเจิ่นถ่วนตงเป็นหุ่นเชิด ในค.ศ. 1390 พระเจ้าเจ๊บ่งงารุกรานดั่ยเหวียดอีกครั้งแต่พ่ายแพ้ให้แก่ทัพของเจิ่นคัตจัน (Trần Khát Chân) พระเจ้าเจ๊บ่งงาสวรรคตในที่รบ

ราชวงศ์โห่

ป้อมปราการเตยโดสมัยราชวงศ์โห่

ท้ายเถื่องฮหว่างเด๊จักรพรรดิเจิ่นเหงะตงเสด็จสวรรคตในค.ศ. 1394 เปิดโอกาสให้โห่กวี้ลีเรืองอำนาจขึ้นอย่างเต็มที่ โห่กวี้ลีย้ายราชธานีของราชวงศ์เจิ่นไปยังเมืองเต็ยโด (Tây Đô) ในจังหวัดทัญหว้า ในค.ศ. 1398 โห่กวี้ลีสำเร็จโทษปลงพระชนม์จักรพรรดิเจิ่นถ่วนตงรวมทั้งสังหารแม่ทัพเจิ่นคัตจันและกวางล้างสมาชิกราชวงศ์เจิ่นไปจำนวนมาก ในค.ศ. 1400 โห่กวี้ลีปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นฮหว่างเด๊หรือพระจักรพรรดิ เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์เจิ่นและก่อตั้งราชวงศ์โห่ จักรพรรดิโห่กวี้ลีทรงเปลี่ยนชื่อประเทศจากดั่ยเหวียดเป็นดั่ยงู (Đại Ngu, 大虞) อย่างไรก็ตามในค.ศ. 1403 เจิ่นเทียมบิ่ญ (Trần Thiêm Bình, 陳添平) ผู้อ้างการสืบทอดจากราชวงศ์เจิ่นได้เข้าเฝ้าพระจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิงที่เมืองหนานจิงทูลขอให้ราชวงศ์หมิงส่งทัพไปช่วยเหลือคืนราชสมบัติเวียดนามให้แก่ราขวงศ์เจิ่น จักรพรรดิหย่งเล่อทรงมีราชโองการลงมายังเวียดนามพร้อมกับเจิ่นเทียมบิ่ญแต่ทว่าพระจักรพรรดิโห่กวี้ลีทรงสังหารเจิ่นเทียมบิ่ญและคณะทูตราชวงศ์หมิง พระจักรพรรดิหย่งเล่อจึงทรงส่งทัพขนาดใหญ่จำนวนกว่าสองแสนนายนำโดยแม่ทัพจางฟู่ (Zhang Fu, 張輔) และ หมู่เฉิง (Mu Sheng, 沐晟) แม่ทัพจีนทั้งสองสามารถเข้ายึดเมืองทังลองได้และในค.ศ. 1407 สามารถยึดเมืองเต็ยโดได้ พระจักรพรรดิโห่กวี้ลีทรงถูกจับองค์ไปยังนครหนานจิงเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์โห่ซึ่งปกครองเวียดนามเพียงเจ็ดปีเท่านั้น นำไปสู่การปกครองของจีนครั้งที่สี่

การปกครองของจีนครั้งที่สี่

ในช่วงการปกครองของจีนครั้งที่สี่ (Fourth Chinese Domination of Vietnam) จักรวรรดิจีนราชวงศ์หมิงในรัชสมัยของจักรพรรดิหย่งเล่อผนวกเวียดนามเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน กลายเป็นมณฑลเจียวจี่ จีนจัดการปกครองเวียดนามใหม่มีการสำรวจสำมะโนประชากร จักรพรรดิหย่งเล่อทรงมีนโยบายทำลายวัฒนธรรมเวียดนามเพื่อให้เวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของจีนทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรม มีการเผาทำลายวรรณกรรมท้องถิ่นของเวียดนามซึ่งเขียนด้วยอักษรจื๋อโนมไปจนเกือบหมดสิ้นเหลือเพียงวรรณกรรมจีนเท่านั้น ในค.ศ. 1407 เจิ่ญโหงย (Trần Ngỗi, 陳頠) พระโอรสของจักรพรรดิเจิ่ญเหงะตงก่อการกบฎต่อต้านการปกครองของจีนราชวงศ์หมิงขึ้นในจังหวัดทัญฮว้า แม่ทัพจีนจางฟู่นำทัพเข้าทำลายกบฎฝ่ายราชวงศ์เจิ่นได้สำเร็จในค.ศ. 1413 ราชวงศ์หมิงปกครองเวียดนามจนถึงค.ศ. 1427 เป็นเวลายี่สิบปี

ราชวงศ์เล

พระจักรพรรดิเล ทั้ญ ตง

เลเหล่ย (Lê Lợi, 黎利) คหบดีจากจังหวัดทัญฮว้าก่อการกบฎต่อต้านการปกครองของจีนราชวงศ์หมิงขึ้นในค.ศ. 1418 เรียกว่า กบฎลัมเซิน (Lam Sơn uprising) จัดตั้งจากกองกำลังท้องถิ่นสู้รบแบบกองโจรโดยมีฐานที่มั่นอยู๋ที่จังหวัดทัญฮว้า หลังจากการสู้รบเป็นเวลาแปดปี ในค.ศ. 1426 ทัพของเลเหล่ยสามารถเอาชนะทัพของราชวงศ์หมิงได้ในยุทธการที่โต๊ดด่ง-จุ๊กด่ง (Battle of Tốt Động – Chúc Động) และเข้ายึดเมืองดงกิญหรือเมืองฮานอยได้ ฝ่ายจีนราชวงศ์หมิงยอมเจรจาสงบศึกพระจักรพรรดิเซฺวียนเต๋อยอมรับในอธิปไตยของประเทศดั่ยเหวียต ภายใต้เงื่อนไขว่าดั่ยเหวียตต้องส่งเครื่องบรรณาการจิ้มก้องให้แก่ราชวงศ์หมิงเป็นพิธีการ ประเทศเวียดนามจึงได้รับเอกราชอีกครั้ง เลเหล่ยปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระจักรพรรดิเล ท้าย โต๋ (Lê Thái Tổ, 黎太祖) ในค.ศ. 1418 ก่อตั้งราชวงศ์เลหลัง (Later Lê dynasty) พระจักรพรรดิเลท้ายโต๋จัดการปกครองและร่างกฎหมายขึ้นใหม่ตามอย่างราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง

หลังจากรัชสมัยของจักรพรรดิเลท้ายโต๋เป็นช่วงเวลาแห่งการแก่งแย่งอำนาจระหว่างพระราชวงศ์และขุนพลผู้ใกล้ชิดของพระจักรพรรดิเลท้ายโต๋ หลังจากการยึดอำนาจในค.ศ. 1460 กลุ่มขุนนางอัญเชิญพระจักรพรรดิเล ทั้ญ ตง (Lê Thánh Tông, 黎聖宗) ขึ้นครองราชสมบัติ รัชสมัยของจักรพรรดิเลทั้ญตงเป็นสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรดั่ยเหวียดทั้งทางด้านการทหารและวัฒนธรรมเรียกว่า รัชศกห่งดึ๊ก (Hồng Đức, 洪德) แห่งความเจริญรุ่งเรือง จักรพรรดิเลทั้ญตงทรงส่งเสริมลัทธิขงจื๊อขึ้นมาให้เป็นศาสนาประจำชาติเวียดนามแทนที่พระพุทธศาสนามหายาน มีการจัดรูปแบบการปกครองและร่างกฎหมายขึ้นใหม่อีกครั้งโดยมีแบบอย่างจากจีนราชวงศ์หมิง ทรงกำหนดข้อระเบียบทางจริยธรรมให้ขุนนางและราษฎรปฏิบัติตามหลักการของลัทธิขงจื๊อ พระเจ้ามหาซาจัน (Maha Sajan) แห่งอาณาจักรจามปานำทัพจามเข้ารุกรานดั่ยเหวียด พระเจ้าเลทั้ญตงทรงนำทัพเวียดนามเข้ารุกรานอาณาจักรจามปาในค.ศ. 1471 สามารถตีเมืองวิชัย (Vijaya) ราชธานีของจามปาแตกและเข้ายึดครองผนวกเอาดินแดนของจามปาทั้งหมดในเวียดนามภาคกลางเข้ามารวมกับดั่ยเหวียด ชาวจามถอยร่นลงไปทางใต้ตั้งราชธานีใหม่ที่เมืองปัณฑุรังคะ (Panduranga) อาณาจักรจามปาซึ่งเคยยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณจึงถูกทำลายลงเกือบหมดสิ้นนับแต่นั้น และทำให้อาณาจักรดั่ยเหวียดมีอาณาเขตดินแดนเพิ่มเป็นสองเท่าจากเดิม นอกจากนี้พระจักรพรรดิเลทั้ญตงทรงนำทัพเข้าบุกอาณาจักรล้านช้างในค.ศ. 1479 ในสมัยของพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว เข้ายึดเมืองหลวงพระบางได้ แม้ว่าล้านช้างจะสามารถยึดเมืองหลวงพระบางคืนไปได้ในที่สุด

ราชวงศ์หมัก

หลังจากรัชสมัยของพระจักรพรรดิเลทั้ญตงพระจักรพรรดิราชวงศ์เลทรงขาดพระปรีชาและเกิดการยึดอำนาจขึ้นหลายครั้ง ทหารองครักษ์ชื่อว่าหมักดังซุง (Mạc Đăng Dung, 莫登庸) เรืองอำนาจขึ้นมาในราชสำนัก ในค.ศ. 1516 หมักดังซุงตั้งพระจักรพรรดิเลเจียวตง (Lê Chiêu Tông, 黎昭宗) ที่ยังพระเยาว์ขึ้นเป้นจักรพรรดิหุ่นเชิด สร้างความไม่พอใจให้แก่ขุนนางตระกูลเหงียนและตระกูลจิ่ญซึ่งนำโดยเหงียนฮหว่างสุ (Nguyễn Hoằng Dụ, 阮弘裕) รวมกลุ่มต่อต้านอิทธิพลของหมักดังซุง ในค.ศ. 1522 เหงียนฮหว่างสุนำองค์พระจักรพรรดิเลเจียวตงเสด็จไปยังจังหวัดทัญฮว้าเพื่อหลบหนีอิทธิพลของหมักดังซุง หมักดังซุงยกทัพไปสังหารเหงียนฮหว่างสุรวมทั้งสำเร็จโทษปลงพระชนม์จักรพรรดิเลเจียวตงในค.ศ. 1527 และในปีเดียวกันปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิหมักท้ายโต๋ (Mạc Thái Tổ, 莫太祖) ก่อตั้งราชวงศ์หมัก (Mạc dynasty) ราชวงศ์เลจึงขาดช่วงไประยะหนึ่ง

เหงียนกิม (Nguyen Kim, 阮淦) บุตรชายของเหงียนฮหว่างสุ และจิ่ญเกี๋ยม (Trịnh Kiểm, 鄭檢) ก่อการกบฎต่อต้านพระจักรพรรดิหมักท้ายโต๋และถวายฏีกาแด่พระจักรพรรดิเจียจิ้งแห่งจีนราชวงศ์หมิงให้ส่งทัพลงมาปราบราชวงศ์หมักและคืนราชสมบัติให้แก่ราชวงศ์เล จักรพรรดิเจียจิ้งทรงส่งกองทัพขนาดใหญ่มาที่เวียดนาม แต่ทว่าพระจักรพรรดิหมักท้ายโต๋ทรงใช้การเจรจาทำให้แม่ทัพจีนเปลี่ยนมาให้การสนับสนุนแก่ราชวงศ์หมัก ต่อมาในค.ศ. 1533 เหงียนกิมและจิ่ญเกี๋ยมอัญเชิญพระจักรพรรดิราชวงศ์เลขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้งที่เมืองเต็ยโดอดีตราชธานีของราชวงศ์โห่ในจังหวัดทัญฮว้า ทำให้ประเทศเวียดนามแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่อยู่ทิศเหนือของแม่น้ำแดงมีราชวงศ์หมักปกครองอยู่ที่เมืองดงกิญ และส่วนทิศใต้ของแม่น้ำแดงราชวงศ์เลปกครองจากเมืองเต็ยโด เมื่อเหงียนกิมเสียชีวิตในค.ศ. 1545 จิ่ญเกี๋ยมขึ้นมามีอำนาจแทนและลดทอนอำนาจของตระกูลเหงียน ทำให้บุตรชายของเหงียนกิมชื่อว่า เหงียนฮว่าง (Nguyễn Hoàng, 阮潢) เดินทางออกจากเมืองเต็ยโดไปยังจังหวัดเถื่อเทียนในเวียดนามภาคกลางเพื่อหลีกให้พ้นจากอิทธิพลของจิ่ญเกี๋ยมและสร้างฐานอำนาจของตนเอง ในค.ศ. 1592 บุตรชายของจิ่ญเกี๋ยมชื่อว่าจิ่ญตุ่ง (Trịnh Tùng, 鄭松) ยกทัพเข้ายึดนครดงกิญจากราชวงศ์หมักได้และสำเร็จโทษประหารจักรพรรดิหมักเหม่าเหิป (Mạc Mậu Hợp) ทำให้ราชวงศ์หมักต้องล่าถอยไปอยู่ที่จังหวัดกาวบั่ง ราชวงศ์เลจึงนิวัติหวนคืนสู่เมืองดงกิญอีกครั้งแต่อยู่ภายใต้อิทธิพลของตระกูลจิ่ญ แม้ว่าฝ่ายราชวงศ์หมักเหลือดินแดนเพียงแค่จังหวัดกาวบั่งจังหวัดเดียวแต่เนื่องจากราชวงศ์หมักได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์หมิง จิ่ญตุ่งจึงงดเว้นการทำสงครามกับราชวงศ์หมักไปชั่วคราว จวบจนกระทั่งหลังจากที่ราชวงศ์หมิงสิ้นสุดลงแล้ว จิ่ญตุ่งจึงยกทัพไปยึดจังหวัดกาวบั่งในค.ศ. 1677 ทำให้ราชวงศ์หมักสิ้นสุดลง

ตระกูลจิ่ญและตระกูลเหงียน

เวียดนามประมาณค.ศ. 1650 ตระกูลจิ่ญปกครองเวียดนามภาคเหนือ ตระกูลเหงียนปกครองเวียดนามภาคกลาง ในขณะที่เวียดนามภาคใต้ยังคงเป็นดินแดนของอาณาจักรจามปาและอาณาจักรเขมร

หลังจากที่ทำลายราชวงศ์หมักลงได้แล้ว จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างตระกูลจิ่ญและตระกูลเหงียน ตระกูลจิ่ญมีผู้นำคือจิ่ญตุ่งมีอำนาจเหนือราชสำนักราชวงศ์เลโดยมีจักรพรรดิราชวงศ์เลเป็นหุ่นเชิด ในขณะเดียวกันเหงียนฮว่างซึ่งอพยพไปอยู่เวียดนามภาคกลางนั้นได้สร้างฐานอำนาจขึ้นในจังหวัดเถื่อเทียน ในค.ศ. 1615 บุตรชายของเหงียนฮว่างชื่อว่าเหงียนฟุกเงวียน (Nguyễn Phúc Nguyên, 阮福源) อนุญาตให้ชาวโปรตุเกสและชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งสถานีค้าขายที่เมืองห่อยอัน หรือฮอยอัน (Hội An ชาวโปรตุเกสเรียกเมืองไฟโฟ Faifo) ทำให้ตระกูลเหงียนสามารถเข้าถึงปืนใหญ่ตามแบบตะวันตกซึ่งจะนำไปใช้ในสงครามในอนาคต ในค.ศ. 1620 เหงียนฟุกเงวียนปฏิเสธไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการให้แด่พระจักรพรรดิราชวงศ์เลที่นครดงกิญ จิ่ญตุ่งส่งกองทัพเข้ารุกรานฐานที่มั่นของตระกูลเหงียนในค.ศ. 1627 แต่พ่ายแพ้ ทำให้ประเทศเวียดนามถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ เวียดนามภาคเหนือปกครองโดยตระกูลจิ่ญมีอำนาจเหนือพระจักรพรรดิราชวงศ์เลที่เมืองดงกิญ เรียกว่า จั๊วจิ่ญ (Chúa Trịnh, 主鄭) หรือเจ้าญวนเหนือ และเวียดนามภาคกลางปกครองโดยตระกูลเหงียน เรียกว่า จั๊วเหงียน (Chúa Nguyễn, 阮主) หรือเจ้าญวนใต้ โดยมีการแบ่งอาณาเขตกันที่แม่น้ำซัญ (Gianh River) ในจังหวัดกว๋างบิ่ญ นำไปสู่เป็นสงครามจิ่ญ-เหงียน (Trịnh–Nguyễn War) ซึ่งดำเนินไปเป็นเวลาประมาณห้าสิบปี จั๊วเหงียนเหงียนฟุกเงวียนสร้างกำแพงสองชั้นขึ้นที่พรมแดนที่แม่น้ำซัญซึ่งได้รับการติดปืนใหญ่ที่ได้มาจากชาวโปรตุเกสเพื่อช่วยในการป้องกัน จิ่ญตุ่งยกทัพเข้าทำลายกำแพงของตระกูลเหงียนสองครั้งแต่ไม่สำเร็จ ในค.ศ. 1653 เหงียนฟุกลัน (Nguyễn Phúc Lan, 阮福瀾) ยกทัพตระกูลเหงียนเป็นฝ่ายบุกเข้าภาคเหนือบ้าง แต่พ่ายแพ้ให้แก่ทัพของจั๊วจิ่ญจิ่ญตัก (Trịnh Tạc, 鄭柞) ในค.ศ. 1672 จิ่ญตักส่งทัพเข้าโจมตีกำแพงของตระกูลเหงียนแต่ล้มเหลวอีกครั้ง นำไปสู่การเจรจาสงบศึกในค.ศ. 1673 ตระกูลเหงียนยอมรับอำนาจของจักรพรรดิราชวงศ์เลแต่ในทางพิธีการเท่านั้น ทำให้ตระกูลจิ่ญและตระกูลเหงียนสงบศึกซึ่งกันและกันเป็นเวลาประมาณหนึ่งร้อยปี

ภาพวาดเมืองฮอยอันโดยพ่อค้าชาวญี่ปุ่น

สงครามจิ่ญเหงียนสิ้นสุดลงเปิดโอกาสให้ตระกูลเหงียนแผ่ขยายอำนาจลงไปทางใต้ไปยังอาณาจักรจามปาและอาณาจักรเขมรอุดง การแผ่ขยายอำนาจลงทางใต้ของชาวเวียดนามเรียกว่า นัมเที้ยน (Nam tiến, 南進) ในค.ศ. 1620 เหงียนฟุกเงวียนส่งบุตรสาวของตนคือนางเหงียนฟุกหง็อกหวั่น (Nguyễn Phúc Ngọc Vạn, 阮福玉萬) อภิเษกเป็นพระมเหสีในพระไชยเชษฐาที่ 2 แห่งกัมพูชาที่เมืองอุดงฦาไชย โดยที่ตระกูลเหงียนได้รับดินแดนปากแม่น้ำโขงที่เรียกว่าไพรนคร (Prey Nokor) มาจากกัมพูชา นำไปสู่การก่อตั้งเมืองไซ่ง่อน หรือเมืองซาดิ่ญ (Gia Định) ชาวเวียดนามค่อยๆอพยพไปยังเมืองไซ่ง่อนและอาณาบริเวณโดยรอบ ค.ศ. 1659 นางเหงียนฟุกหง็อกหวั่นร้องขอให้จั๊วเหงียนเหงียนฟุกต่าน (Nguyễn Phúc Tần, 阮福瀕) ยกทัพเข้ารุกรานกัมพูชาเพื่อปลดพระรามาธิบดีที่ 1ออกจากราชสมบัติ นับจากนั้นมาตระกูลเหงียนจึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงราชสมบัติภายในอาณาจักรเขมรหลายครั้ง ในยุคมืดของกัมพูชาเวียดนามตระกูลเหงียนและสยามอาณาจักรอยุธยาแผ่ขยายอำนาจเข้าไปในกัมพูชา นำไปสู่ความขัดแย่งระหว่างตระกูลเหงียนและอาณาจักรอยุธยาในเรื่องอิทธิพลเหนือกัมพูชา ค.ศ. 1687 มีการสร้างเมืองเว้ (Huế) สร้างคฤหาสน์ป้อมปราการไว้เป็นฐานที่มั่นสำหรับตระกูลเหงียน ในค.ศ. 1707 เจ้าญวนใต้เหงียนฟุกจู (Nguyễn Phúc Chu, 阮福淍) ยกทัพบุกกัมพูชาเพื่อยกราชสมบัติให้แก่พระแก้วฟ้าที่ 3 ทำให้พระศรีธรรมราชาธิราชที่ 2เสด็จหลบหนีไปยังอยุธยารัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในค.ศ. 1717 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโปรดฯให้ยกทัพสยามมาทั้งทางบกตีเมืองอุดงมีชัยและทางทะเลตีเมืองบันทายมาศ แม้ว่าม่อจิ่ว (莫玖 ภาษาเวียดนามเรียกหมักจิ๋ว Mạc Cửu) เจ้าเมืองบันทายมาศซึ่งเป็นชาวจีนโพ้นทะเลสามารถเอาชนะทัพเรือสยามได้ แต่ฝ่ายตระกูลเหงียนก็ต้องสูญเสียเมืองอุดงมีชัยให้แก่ฝ่ายสยามไป ม่อจิ่วสวามิภักดิ์ขึ้นกับเจ้าญวนใต้ตระกูลเหงียน เมืองบันทายมาศเป็นเมืองท่าซึ่งเรืองอำนาจจากการค้าโดยเฉพาะในสมัยของม่อซื่อหลิน (莫士麟 ภาษาเวียดนามเรียก หมักเทียนตื๊อ Mạc Thiên Tứ) บุตรชายของม่อจิ่ว ต่อมาในสมัยของเจ้าญวนใต้เหงียนฟุกควั้ต (Nguyễn Phúc Khoát, 阮福濶) ให้การสนับสนุนแก่กษัตริย์กัมพูชา ได้รับดินแดนบริเวณปากแน้ำโขงเพิ่มเติมส่งผลให้เวียดนามและกัมพูชามีพรมแดนอาณาเขตดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ราชวงศ์เต็ยเซิน

อนุเสาวรีย์พระจักรพรรดิกวางจุง หรือเหงียนเหวะ

การกบฎเต็ยเซิน (Tây Sơn, 西山) เกิดขึ้นในค.ศ. 1771 มีต้นกำเนิดจากหมู่บ้านเต็ยเซินนำโดยสามพี่น้องตระกูลเหงียน เกิดจากความไม่พอใจในการปกครองของจั๊วเหงียน เหงียนญัค (Nguyễn Nhạc, 阮岳) พี่ชายคนโตนำทัพกบฎเต็ยเซินเข้ายึดเมืองกวีเญินและใช้เมืองกวีเญินเป็นฐานที่มั่น จั๊วจิ่ญจิ่ญซัม (Trịnh Sâm, 鄭森) ได้อาศัยโอกาสนี้ยกทัพเข้ายึดเมืองเว้จากจั๊วเหงียนได้ในค.ศ. 1774 ส่งผลให้จั๊วเหงียนเหงียนฟุกถ่วน (Nguyễn Phúc Thuần, 阮福淳) รวมทั้งสมาชิกตระกูลเหงียนต้องเดินทางลี้ภัยทางเรือไปยังเมืองไซง่อน เหงียนญัคเจรจาสงบศึกกับจั๊วจิ่ญจากนั้นจึงส่งน้องชายของตนคือเหงียนเหวะ (Nguyễn Huệ, 阮惠) ยกทัพลงทางใต้เข้าตีเมืองไซ่ง่อนแตกยึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จในค.ศ. 1777 เหงียนเหวะสังหารจั๊วเหงียนเหงียนฟุกถ่วนและสมาชิกตระกูลเหงียนไปจนเกือบหมดสิ้นที่เมืองไซ่ง่อน เหลือเพียงเหงียนฟุกอั๊ญ (Nguyễn Phúc Ánh, 阮福暎) หรือองเชียงสือเดินทางหลบหนีไปยังกรุงรัตนโกสินทร์ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในค.ศ. 1778 เหงียนญัคปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระจักรพรรดิท้ายดึ๊ก (Thái Đức, 泰德) ก่อตั้งราชวงศ์เต็ยเซิน ในค.ศ. 1783 ฝ่ายสยามยกทัพมาโจมตีเมืองไซ่ง่อนเพื่อช่วยเหลือองเชียงสือ เหงียนเหวะสามารถนำทัพเรือเอาชนะทัพของสยามได้ในยุทธการที่สักเกิ่มซว่ายมุต (Battle of Rạch Gầm-Xoài Mút)

แผนที่เวียดนาม สีน้ำเงิน: ดินแดนที่เหงียนเหวะปกครอง ในขณะที่เหงียนญัค ปกครองสีเหลือง สีเขียว:ปกครองโดย เหงียน ฟุก อั๊ญ

เมื่อศึกทางทิศใต้เสร็จสิ้นแล้วราชวงศ์เต็ยเซินจึงขยายอำนาจขึ้นทางทิศเหนือ โดยเหงียนเหวะยกทัพยึดเมืองเว้คืนจากจั๊วจิ่ญได้ในค.ศ. 1786 เหงียนเหวะฝ่าฝืนราชโองการของจักรพรรดิท้ายดึ๊กยกทัพขึ้นเหนือเข้ายึดเมืองทังล็องหรือฮานอยได้สำเร็จ ทำให้การปกครองของจั๊วจิ่ญสิ้นสุดลง ทำให้ราชวงศ์เตยเซินมีอำนาจตั้งแต่เหนือจรดใต้ตลอดประเทศเวียดนาม แต่ทว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างสองพี่น้องเต็ยเซินคือเหงียนญัคและเหงียนเหงียนเหวะ จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองสองพี่น้องยกทัพเข้ารบกัน เมื่อไม่มีฝ่ายแพ้ชนะที่เด็ดขาดเหงียนญัคและเหงียนเหวะจึงเจรจาแบ่งดินแดน โดยที่เหงียนญัคปกครองเวียดนามภาคกลางมีศูนย์กลางที่เมืองกวีเญินและเหงียนเหวะปกครองเวียดนามภาคเหนือตั้งแต่บริเวณเมืองเว้ขึ้นไป เหงียนเหวะขึ้นมาเป็นผู้นำของราชวงศ์เต็ยเซินแทนที่เหงียนญัคพี่ชาย

ยุทธการที่หง็อกฮ่อยด๊งซา (Battle of Ngọc Hồi and Đống Đa)

หลังจากที่เสียเมืองทังล็องให้แก่เต็ยเซินพระจักรพรรดิเลเจียวโท้ง (Lê Chiêu Thống, 黎昭統) พระจักรพรรดิองค์สสุดท้ายแห่งราชวงศ์เลเสด็จหลบหนีไปในป่าส่วนพระราชมารดาเสด็จไปยังมณฑลกวางสีเพื่อขอความช่วยเหลือทางการทหารจากจีนราชวงศ์ชิง ฝ่ายจีนราชวงศ์ชิงพระจักรพรรดิเฉียนหลงทรงส่งกองทัพขนาดมหึมาจากมณฑลภาคใต้ของจีนเข้ามายังเวียดนามเพื่อนำราชสมบัติคืนให้แก่พระจักรพรรดิเลเจียวโท้ง เมื่อทราบข่าวเหงียนเหวะจึงปราบดาภิเษากตนเองขึ้นเป็นพระจักรพรรดิกวางจุง (Quang Trung, 光中) ที่เมืองเว้ และยกทัพเข้าซุ่มโจมตีทัพของจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนจนได้รับชัยชนะในยุทธการที่หง็อกฮ่อยด๊งซา (Battle of Ngọc Hồi and Đống Đa) ในค.ศ. 1789 ทัพจีนแตกพ่ายไป จนกระทั่งเกิดการเจรจาขึ้นโดยที่เหงียนเหวะยินยอมส่งบรรณาการจิ้มก้องให้แก่ราชวงศ์ชิงเป็นประเทศราชแต่ในทางพิธีการเท่านั้น พระจักรพรรดิกวางจุงทรงปฏิรูปการปกครองโดยลดความสำคัญของลัทธิขงจื๊อลงไป

ในค.ศ. 1788 องเชียงสือเหงียนพุกอั๊ญเดินทางจากกรุงรัตนโกสินทร์สามารถเข้ายึดนครไซ่ง่อนไปครองได้อีกครั้ง ทำให้เวียดนามถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนได้แก่ เวียดนามภาคเหนือปกครองโดยพระจักรพรรดิกวางจุงเหงียนเหวะ เวียดนามภาคกลางปกครองโดยเหงียนญัค และเวียดนามภาคใต้ปกครองโดยองเชียงสือ เหงียนฟุกอั๊ญได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากฝรั่งเศสผ่านทางบาทหลวงปิโญ เดอ เบแอน (Pigneau de Béhaine) พระจักรพรรดิกวางจุงเสด็จสวรรคตในค.ศ. 1792 พระโอรสของจักรพรรดิกวางจุงขึ้นครองราชย์สมบัติต่อมาเป็นพระจักรพรรดิเหงียนกวางตว๋าน (Nguyễn Quang Toản, 阮光纘) มีพระชนมมายุเพียงแค่สิบชันษา ทำให้ราชวงศ์เต็ยเซินอ่อนแอลง เป็นโอกาสให้เหงียนฟุกอั๊ญสามารถขยายอำนาจไปทางทิศเหนือยึดเมืองกวีเญินและเมืองเว้ได้ เหงียนฟุกอั๊ญปราบดาภิเษกตนเองขึ้นที่เมืองเว้เป็นพระจักรพรรดิซา ล็อง เป็นปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เหงียน ค.ศ. 1802 พระจักรพรรดิซาล็องทรงยกทัพขึ้นทางเหนือเข้ายึดเมืองทังล็องได้ และสำเร็จโทษพระจักรพรรดิเหงียนกวางตว๋านแห่งราชวงศ์เต็ยเซิน เป็นการสิ้นสุดการกบฎเต็ยเซินและราชวงศ์เต็ยเซินไปนับแต่นั่นมา

ราชวงศ์เหงียน

เมื่อองเชียงสือเหงียนฟุกอั๊ญรวบรวมเวียดนามตั้งแต่เหนือจรดใต้ได้สำเร็จในค.ศ. 1802 แล้ว จึงปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นฮว่างเด๊หรือพระจักรพรรดิพระนามว่าจักรพรรดิซา ล็อง (Gia Long, 嘉隆) ก่อตั้งราชวงศ์เหงียน (Nguyễn dynasty) พระจักรพรรดิซาล็องทรงวางรากฐานการปกครองของราชวงศ์เหงียน ทรงส่งเสริมลัทธิขงจื๊อให้เป็นคติปรัชญาประจำชาติของเวียดนาม ทรงสร้างพระราชวังเมืองเว้ หรือ ฮว่างถ่าญ (Hoàng thành, 皇城) ตามแบบพระราชวังต้องห้ามของจีน มีการประมวลกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อทดแทนกฎหมายจากสมัยราชวงศ์เล

ฉลองพระองค์จักรพรรดิและจักรพรรดินีสมัยราชวงศ์เหงียน

ในสมัยราชวงศ์เหงียนมีการแข่งขันระหว่างเวียดนามและสยามสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เกี่ยวกับอิทธิพลเหนืออาณาจักรเขมรอุดง นำไปสู่อานามสยามยุทธซึ่งประกอบไปด้วยสองช่วง ช่วงแรกค.ศ. 1831-1834 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นำทัพเข้ารุกรานอาณาจักรเขมรเพื่อนำนักองค์ด้วงเจ้าชายเขมรขึ้นครองราชสมบัติกัมพูชา ทรงให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) นำทัพเรือไปโจมตีเวียดนามภาคใต้ ฝ่ายสยามได้เมืองพนมเปญและเมืองบันทายมาศ จักรพรรดิมิญ หมั่งทรงให้เจืองมิญสาง (Trương Minh Giảng, 張明講) เป็นผู้นำทัพเรือเวียดนามเข้าต้านทานทัพสยามสามารถตอบโต้การรุกรานได้ทำให้ทัพฝ่ายสยามต้องถอยออกไป พระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงสถาปนากษัตรีองค์มี (Ang Mei) ให้เป็นเป็นหุ่นเชิดของเวียดนาม จักรพรรดิมิญหมั่งมีพระราชประสงค์ที่จะผนวกอาณาจักรเขมรเข้ามาเป็นของเวียดนามโดยสิ้นเชิงทั้งในทางการเมืองและทางวัฒนธรรม เป็นมณฑลหนึ่งของเวียดนามมีชื่อว่าเจิ๊นเต็ย (Trấn Tây, 鎮西) ชาวเขมรถูกบังคับให้เปลี่ยนมาพูดภาษาเวียดนามและดำเนินชีวิตตามแบบวัฒนธรรมเวียดนามสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเขมร สงครามช่วงที่สองค.ศ. 1841-1845 ชาวกัมพูชาก่อการกบฎต่อต้านการปกครองของเวียดนามทำให้ฝ่ายเวียดนามต้องล่าถอยกลับมาไป ฝ่ายสยามสามารถเข้าครองนครอุดงมีชัยและนครพนมเปญได้แต่กองทัพฝ่ายเวียดนามยกทัพมายึดเมืองพนมเปญจากสยามกลับไปได้สำเร็จอีกครั้งและยกทัพเข้ารุกรานเมืองอุดงมีชัย เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯนำทัพสยามเข้าโจมตีทัพเวียดนามอย่างไม่ทันรู้ตัวจนแตกพ่ายไป เมื่อสงครามระหว่างเวียดนามและสยามดำเนินมาเป็นเวลานานโดยไม่ประสบผลไม่สามารถเอาชนะกันได้ การเจรจาจึงเริ่มขึ้นโดยให้นักองค์ด้วงขึ้นครองราชสมบัติกัมพูชาเป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี โดยที่เป็นประเทศราชอยู่ในอาณัติของทั้งสยามและเวียดนาม

กองทัพฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนในค.ศ. 1859

ราชสำนักราชวงศ์เหงียนมีนโยบายต่อต้านอิทธิพลของชาวตะวันตกและการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ จักรพรรดิมิญหมั่งทรงมีพระราชโองการห้ามมิให้มีการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในพระราชอาณาจักรและทรงห้ามมิให้มิชชันนารีชาวตะวันตกเดินทางเข้าประเทศ มีการลงโทษประหารชาวคริสเตียนทั้งที่เป็นชาวตะวันตกและชาวเวียดนาม เปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ายึดดินแดนเวียดนาม ในค.ศ. 1847 มิชชันนารีดอมีนิก เลอแฟบฟวร์ (Dominique Lefèbvre) ชาวฝรั่งเศสถูกจับกุมในข้อหาลักลอบเผยแพร่ศาสนาคริสต์ใน แม่ทัพเรือฝรั่งเศสฌ็อง- บาติสต์ เซซีย์ (Jean-Baptiste Cécille) นำเรือรบเข้าปิดล้อมเมืองท่าดานัง หรือเมืองตูราน (Tourane) ยิงปืนใหญ่เข้าทำลายเรือรบของเวียดนามไปสังหารทหารเวียดนามไปจำนวนมาก เรียกว่าเหตุการณ์โจมตีเมืองตูราน (Bombardment of Tourane) ในค.ศ. 1857 แม่ทัพเรือฝรั่งเศส ชาร์ล รีโกล เดอ เยอนูยยี (Charles Rigault de Genuoilly) ยกทัพเรือฝรั่งเศสมายังเวียดนามเข้ายึดเมืองท่าดานังในค.ศ. 1858 พระจักรพรรดิตึ ดึ๊กทรงส่งแม่ทัพเหงียนจิเฟือง (Nguyễn Tri Phương, 阮知方) ยกทัพเข้าล้อมทัพฝรั่งเศสในเมืองดานังไว้ เดอเยอนูยยียึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จในค.ศ. 1859 เหงียนจิเฟืองจึงยกทัพตามไปล้อมเมืองไซ่ง่อนคืนจากฝรั่งเศส แต่ทัพฝรั่งเศสสามารถฝ่าวงล้อมของเหงียนจิเฟืองออกมาจากไซ่ง่อนและสามารถเอาชนะเหงียนจิเฟืองได้ในยุทธการที่กี่ฮว่า (Battle of Kỳ Hòa) นำไปสู่การเจรจาระหว่างราชสำนักเวียดนามกับฝ่ายฝรังเศสในค.ศ. 1862 ในสนธิสัญญาไซ่ง่อน (Treaty of Saigon) จักรพรรดิตึดึ๊กทรงยกเมืองไซ่ง่อนรวมทั้งดินแดนเวียดนามตอนใต้ซึ่งเรียกว่าโคชินจีน (Cochinchina) ให้แก่ฝรั่งเศส นับว่าเป็นการสูญเสียดินแดนให้แก่ชาติตะวันตกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เวียดนาม

กองกำลังเพื่อการเดินทัพสู่ตังเกี๋ย (Tonkin Expeditionary Corps) ของรัฐบาลฝรั่งเศส นำโดยนายอาเมดี กูร์แบ (Amédée Courbet) ยกทัพเข้ายึดป้อมปราการถ่วนอาน (Battle of Thuận An) ในค.ศ. 1883 ซึ่งเป็นป้อมปราการที่อยู่ใลก้กับเมืองเว้ การเสียป้อมถั่วนอันให้แก่ฝรั่งเศสนำไปสู่การเจรจาสนธิสัญญาเว้ (Treaty of Hue) ฝรั่งเศสจัดตั้งรัฐในอารักขาขึ้นในเวียดนามภาคเหนือ เรียกว่า รัฐในอารักขาตังเกี๋ย (Protectorate of Tonkin) และรัฐในอารักขาอันนัม (Protectorate of Annam) ในเวียดนามภาคกลาง ราชสำนักราชวงศ์เหงียนสูญสิ้นซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศเวียดนามและสูญเสียเอกราชให้แก่ฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นเป็นต้นมา

อินโดจีนฝรั่งเศส

เวียดนามเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ. 2426 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวเวียดนามได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดมินห์ขึ้น โดยมีโฮจิมินห์เป็นผู้นำต่อต้านฝรั่งเศส

เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้

ในที่สุด พ.ศ. 2497 มีการเจรจาสงบศึกกันที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การตกลงครั้งนี้ เวียดนามได้เอกราช และแบ่งประเทศออกเป็น 2 ฝ่าย คือ เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ เวียดนามเหนือมีโฮจิมินห์เป็นผู้นำ พยายามล้มล้างรัฐบาลเวียดนามใต้ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งผู้นำ คือ โงดินห์เสี่ยม เวียดนามเหนือสนับสนุนเวียดกง หรือกลุ่มประชาชนและชาวนาเวียดนามใต้ให้ต่อต้านรัฐบาลตนเอง ทั้งสองฝ่ายต่างสู้รบกัน เวียดนามใต้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ส่วนเวียดกงได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือ และสหภาพโซเวียต เมื่อ พ.ศ. 2506 โงดินห์เสี่ยม ถูกโค่นอำนาจ และเสียชีวิต เวียดนามใต้จึงขาดเสถียรภาพทางการเมือง แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงรบกันใน พ.ศ. 2515 เวียดนามเหนือโจมตีเวียดนามใต้อย่างหนัก ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องทิ้งระเบิดที่เมืองท่าไฮฟองของเวียดนามเหนือเพื่อช่วยเหลือเวียดนามใต้

สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

พ.ศ. 2516 มีการเจรจาหยุดยิงกันที่ปารีส แต่สงครามดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ในที่สุดเวียดนามใต้ ก็แพ้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ และมีการจัดตั้ง รัฐบาลชั่วคราวขึ้นปกครองประเทศ ในที่สุด เมื่อ พ.ศ. 2518 เวียดนามเหนือสามารถรวมเวียดนามทั้งสองเข้าเป็นประเทศเดียวกัน ใช้ชื่อประเทศใหม่ว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ทางด้านเศรษฐกิจรัฐมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเจริญในอนาคต เช่น ตั้งเขตเสรีเศรษฐกิจพิเศษตามเมืองสำคัญต่างๆ ปรับ- ปรุงท่าเรือ และสนามบินนานาชาติ ส่งเสริมการต่อเรือสินค้าขนาดใหญ่ พัฒนาผลิตกระแสไฟฟ้า ปรับปรุงโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังส่งเสริม การลงทุนกับชาวต่างชาติ เช่นสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น [6]

อ้างอิง

  1. "BVOM.COM - Vietnamese History". 6 January 2010.
  2. Lê Huyền Thảo Uyên, 2012–13. Welcome to Vietnam. International Student. West Virginia University.
  3. Handbook of Asian Education: A Cultural Perspective, p. 95
  4. Ivanova R; Astrinidis A; Lepage V; และคณะ (December 1999). "Mitochondrial DNA polymorphism in the Vietnamese population". Eur. J. Immunogenet. 26 (6): 417–22. doi:10.1046/j.1365-2370.1999.00184.x. PMID 10583463. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-02. สืบค้นเมื่อ 2017-06-09. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |author-separator= ถูกละเว้น (help)
  5. Chapuis, Oscar (1995-01-01). "A History of Vietnam: From Hong Bang to Tu Duc". ISBN 9780313296222. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  6. หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน : ประวัติศาสตร์
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia

Kembali kehalaman sebelumnya