อาร์แซน แวงแกร์
อาร์แซน ชาร์ล แอร์แน็สต์ แวงแกร์, โอบีอี[3] (ฝรั่งเศส: Arsène Charles Ernest Wenger, ออกเสียง: [aʁsɛn vɛŋ(ɡ)ɛʁ]) หรือ อาร์เซน เวงเกอร์ ตามการออกเสียงในภาษาอังกฤษ[4] เป็นอดีตนักฟุตบอล และผู้จัดการทีมฟุตบอลชาวฝรั่งเศส ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกพัฒนาฟุตบอลของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)[5] เขาเป็นที่จดจำในฐานะผู้จัดการทีมอาร์เซนอลในพรีเมียร์ลีก โดยคุมทีมยาวนาน 22 ฤดูกาลตั้งแต่ ค.ศ. 1996–2018 ซึ่งเขากลายเป็นผู้จัดการทีมที่คุมทีมยาวนานที่สุด และประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร และยังได้รับการยกย่องในฐานะหนึ่งในผู้ปฏิวัติสิ่งใหม่ ๆ ให้แก่วงการฟุตบอลอังกฤษ เช่น การฝึกซ้อม, การดูแลโภชนาการของนักกีฬาซึ่งเป็นการพัฒนาสโมสรอาร์เซนอล และวงการกีฬาในศตวรรษที่ 21 แวงแกร์เป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมที่มีชื่อเสียงและประสบความเร็จมากที่สุดในยุคของเขา รวมทั้งได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ[6] แวงแกร์เกิดที่สทราซบูร์ เมืองในแคว้นกร็องแต็สต์ ประเทศฝรั่งเศส เขาได้รับการแนะนำให้รู้จักกีฬาฟุตบอลโดยคุณพ่อของเขา ซึ่งเป็นผู้จัดการทีมให้แก่ทีมเล็ก ๆ ในท้องถิ่น และเริ่มเข้าสู่อาชีพนักฟุตบอลแต่ทว่าไม่สบความสำเร็จ โดยลงเล่นให้แก่สโมสรสมัครเล่นหลายสโมสรก่อนจะได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ฝึกสอนฟุตบอลใน ค.ศ. 1981 และเริ่มต้นงานแรกในฐานะผู้ฝึกสอนให้แก่สโมสรน็องซี และภายหลังจากระยะเวลาสามปีที่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาย้ายไปรับงานคุมอาแอ็ส มอนาโก และพาทีมชนะเลิศลีกเอิง ฤดูกาล1987–88 และแชมป์ฟุตบอลถ้วยอย่างกุปเดอฟร็องส์ ฤดูกาล 1990–91 จากนั้นเขาย้ายไปเป็นผู้ฝึกสอนให้แก่นาโงยะ แกรมปัสในเจลีกของประเทศญี่ปุ่น พาทีมชนะเลิศฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระจักรพรรดิ และเจแปนนิส ซูเปอร์คัพซึ่งเขาใช้เวลาเพียงหนึ่งฤดูกาลในญี่ปุ่น[7] แวงแกร์ย้ายมาเป็นผู้จัดการทีมอาร์เซนอลใน ค.ศ. 1996 การรับตำแหน่งของเขาไม่เป็นที่คาดหวังโดยสื่ออังกฤษและแฟน ๆ ของสโมสรมากนัก อย่างไรก็ตาม เขาพาสโมสรทำผลงานยอดเยี่ยมตั้งแต่ช่วงแรก ๆ และในฤดูกาล 1997–98 เขากลายเป็นผู้จัดการทีมต่างชาติคนแรกที่คุมทีมชนะเลิศพรีเมียร์ลีก และเอฟเอคัพได้ในฤดูกาลเดียวกัน และทำได้อีกครั้งในฤดูกาล 2001–02 ก่อนจะพาอาร์เซนอลสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2003–04 โดยไม่แพ้ทีมใดตลอดทั้งฤดูกาลซึ่งเป็นสถิติของพรีเมียร์ลีกมาถึงปัจจุบัน และถือเป็นสโมสรแรกในรอบ 115 ปีของอังกฤษที่คว้าแชมป์ฟุตบอลลีกโดยไม่แพ้ทีมใดทั้งฤดูกาล หลังจากสโมสรเพรสตันนอร์ทเอนด์ อาร์เซนอลยังสร้างสถิติใหม่ในประเทศด้วยการไม่แพ้ทีมใดติดต่อกัน 49 นัด[8] ก่อนจะยุติลงด้วยการแพ้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด สโมสรคู่ปรับสำคัญของแวงแกร์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 แวงแกร์ยังพาอาร์เซนอลเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 2006 แต่แพ้บาร์เซโลนาด้วยผลประตู 1–2[9] และเป็นผู้นำสโมสรสู่การย้ายสนามแห่งใหม่ที่เอมิเรตส์สเตเดียม แทนที่สนามเดิมที่ใช้มายาวนานอย่างไฮบิวรีในปีนั้น[10] ซึ่งต้องแลกมาด้วยการจำกัดงบประมาณในการซื้อตัวผู้เล่น และส่งผลให้สโมสรปราศจากถ้วยรางวัลเป็นเวลาถึงเก้าฤดูกาลติดต่อกัน แต่เขายังพาสโมสรชนะเลิศเอฟเอคัพได้อีกสามสมัยในทศวรรษ 2010 และกลายเป็นผู้จัดการทีมที่คว้าแชมป์รายการนี้มากที่สุด 7 ครั้ง ก่อนจะประกาศเกษียณตนเองจากการเป็นผู้จัดการทีมใน ค.ศ. 2018 เขาได้รับสมญานาม "Le Professeur" (ศาสตร์จารย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญ) ในภาษาฝรั่งเศสเพื่อสะท้อนถึงปรัชญา และแนวทางการบริหารทีมฟุตบอลของเขา การปฏิวัติและอุทิศตนเพื่อสโมสรและวงการฟุตบอลอังกฤษของเขาเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศตลอดศตวรรษที่ 21 เขายังได้รับการชื่นชมในปรัชญาการทำฟุตบอลเกมรุก, การครอบครองบอล และการส่งบอลอย่างสวยงาม แม้ว่าทีมอาร์เซนอลของเขาจะได้รับการวิจารณ์ในแง่การขาดวินัยในการเล่น โดยผู้เล่นอาร์เซนอลได้รับใบแดงมากถึง 100 ใบระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. 1996 ถึง กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 แม้ว่าจะได้รับรางวัลการเล่นใสสะอาด (Fair Play) แวงแกร์ยังเป็นที่ยอมรับในด้านการให้โอกาส และดึงศักยภาพของผู้เล่นดาวรุ่งซึ่งช่วยพัฒนาระบบเยาวชนของทีม ชีวิตช่วงต้นอาร์แซน แวงแกร์ เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ที่เมืองสทราซบูร์ โดยเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 3 คน ส่วนพ่อและแม่เป็นเจ้าของกิจการผับ โดยเติบโตขึ้นมาในผับ ในวัยเด็กแวงแกร์เคยเป็นพนักงานขายบุหรี่และเคยติดบุหรี่มาก่อนในวัยหนุ่ม[11] ในด้านการศึกษานั้น แวงแกร์จบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ และปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสทราซบูร์ แวงแกร์มีความสามารถในการพูดได้หลายภาษา โดยสามารถใช้ภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน และอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว และยังสามารถพูดภาษาอิตาลี, สเปน และญี่ปุ่นได้บ้างอีกด้วย ช่วงชีวิตของการเป็นนักฟุตบอลการเล่นฟุตบอลอาชีพของแวงแกร์นั้นไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จเท่าไรนัก และแทบจะไม่มีใครเคยได้ยินชื่อของเขาเลย ต่างกับผู้จัดการทีมหลายคนที่เคยเป็นนักฟุตบอลระดับโลกมาก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการทีม เขาเริ่มต้นอาชีพนักฟุตบอลจากการเป็นนักฟุตบอลสมัครเล่นในตำแหน่งกองหลังของสโมสรสมัครเล่นหลายสโมสรด้วยกันเมื่อครั้งที่ยังศึกษาในระดับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1971 แวงแกร์กลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพครั้งแรกในปี ค.ศ. 1977 ในทีมแอร์เซ สทราซบูร์นัดที่เจอกับโมนาโก เขาได้ลงเล่นให้กับต้นสังกัดเพียง 12 ครั้ง โดยในจำนวนนี้มีหนึ่งนัดที่ได้เล่นฟุตบอลรายการยูฟ่าคัพ ฤดูกาล 1978-79 ซึ่งเป็นการลิ้มลองรสชาติครั้งแรกและครั้งเดียวของเขาในรายการฟุตบอลยุโรป ต่อมา ในปี ค.ศ. 1981 นั้น เขาได้รับใบอนุญาตการเป็นผู้จัดการทีม และได้รับมอบหมายให้ทำงานในส่วนของโค้ชทีมเยาวชนของสโมสร ช่วงชีวิตของการเป็นผู้จัดการทีมอาร์แซน แวงแกร์ รับตำแหน่งผู้จัดการทีมชุดใหญ่ครั้งแรกกับน็องซีในปี ค.ศ. 1984 แต่ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จเท่าไรนัก ในปีที่ 3 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของเขาที่น็องซีนั้น น็องซีปิดฤดูกาลด้วยอันดับ 19 ของตารางและต้องตกไปเล่นในลีกเดอซ์ฝรั่งเศส ชีวิตการเป็นผู้จัดการทีมของเขาเริ่มดีขึ้นเมื่อเขาได้มาเป็นผู้จัดการทีมของอาแอ็ส มอนาโก ในปี ค.ศ. 1987 และได้แชมป์ลีกในปี ค.ศ. 1988 ซึ่งก็เป็นฤดูกาลแรกที่เข้ามาคุมทีมนั่นเอง จากนั้นก็คว้าแชมป์เฟรนช์คัพ ในปี ค.ศ. 1991 แวงแกร์เคยเซ็นสัญญาซื้อตัวเกลนน์ ฮอดเดิล, จอร์จ เวอาห์ และเยือร์เกิน คลินส์มันน์ มาร่วมทีมอีกด้วย นอกจากนั้นยังได้เซ็นสัญญากับยูรี จอร์เกฟฟ์ (Youri Djorkaeff) มาจากแอร์เซ สทราซบูร์ ที่ได้กลายมาเป็นนักเตะทีมชาติฝรั่งเศสชุดที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 1998 และดาวซัลโวลีกเอิงฝรั่งเศส (20 ประตู) ในปีสุดท้ายที่แวงแกร์คุมทีมอยู่ในฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1994 เป็นปีที่โชคร้ายของแวงแกร์ เมื่อเขาปฏิเสธข้อเสนอจากไบเอิร์นมิวนิก และการเป็นโค้ชทีมชาติฝรั่งเศส แต่โมนาโกจบฤดูกาลด้วยการเป็นอันดับ 9 ของตาราง ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่สโมสรตั้งเอาไว้ หลังจากนั้น เขาก็ถูกไล่ออก ต่อมา เขาได้ย้ายไปประสบความสำเร็จกับช่วงเวลาสั้น ๆ 18 เดือนกับทีมฟุตบอลในเจลีกของญี่ปุ่น คือ นาโงยะ แกรมปัส โดยแวงแกร์พาลูกทีมคว้าถ้วยพระราชทานสมเด็จพระจักรพรรดิซึ่งเป็นฟุตบอลชิงถ้วยของประเทศ นอกจากนั้นยังพาทีมที่เคยอยู่ในอันดับ 3 จากท้ายตารางขึ้นมาเป็นรองแชมป์ได้ในลีก ที่แกรมปัสนี้ เขาได้ว่าจ้างให้ บอรอ พรีมอรัก ผู้จัดการทีมของสโมสรฟุตบอลวาล็องเซียน มาเป็นผู้ช่วยของเขา และก็ได้เป็น "มือขวา" ของแวงแกร์เป็นเวลาหลายปี แวงแกร์นั้นถือว่าเป็นคนที่โชคดีที่ได้เป็นเพื่อนกับคนที่จะได้เป็นรองประธานสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลในเวลาต่อมา นั่นคือ เดวิด ดีน ในคราวที่ทั้งสองได้พบกันเมื่อแวงแกร์ไปชมเกมระหว่างอาร์เซนอลกับควีนส์ปาร์กเรนเจิร์สในปี ค.ศ. 1988 ต่อมาหลังจากที่บรูซ ริอ็อก ได้ลาออกไปในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1996 นั้น เฌราร์ อูลีเย ต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการทางเทคนิคของสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศสได้แนะนำให้ดีนชวนแวงแกร์มาทำงานแทนในปี ค.ศ. 1996 อาร์เซนอลยืนยันการว่าจ้างอาร์แซน แวงแกร์เป็นผู้จัดการทีมในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1996 และเขาก็ได้เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกันนั้นเอง แวงแกร์เป็นผู้จัดการทีมของอาร์เซนอลคนแรกที่มาจากประเทศนอกสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ แม้ว่าผู้อำนวยการทางเทคนิคที่มีศักยภาพของสมาคมฟุตบอลจะเป็นคนชักชวนให้แวงแกร์มารับตำแหน่งนี้ แต่ในเวลานั้นแทบไม่มีใครในอังกฤษเลยที่รู้จักชื่อของคนคนนี้ ก่อนที่แวงแกร์จะเข้ามาคุมทีมอย่างเป็นทางการนั้น เขาต้องวางแผนที่จะเสริมความแข็งแกร่งและเฉียบขาดของทีมก่อน แวงแกร์ได้ร้องขอให้สโมสรเซ็นสัญญา ปาทริค วิเอร่า กองกลางชาวฝรั่งเศส และ เรมี การ์ด ในช่วง 1 เดือนก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง เกมแรกที่เขาคุมทีมลงเล่นคือเกมที่เอาชนะแบล็กเบิร์นโรเวิร์สไปได้ 2-0 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1996 ฤดูกาลที่ 2 ที่เขาเข้ามาคุมทีมนั้น (ฤดูกาล 1997-98) เป็นฤดูกาลที่อาร์เซนอลสามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพซึ่งเป็นการคว้าดับเบิลแชมป์ได้เป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของสโมสร (ฤดูกาลนั้นอาร์เซนอลทิ้งห่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดถึง 12 คะแนนทั้ง ๆ ที่แข่งน้อยกว่า 2 นัด) ความสำเร็จครั้งนี้ต้องให้เครดิตกับปราการหลังฉายา "แบ็กโฟร์" ที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงฤดูกาลนี้ทั้ง โทนี แอดัมส์, ไนเจล วินเทอร์เบิร์น, ลี ดิกสัน และ มาร์ติน คีโอน รวมไปถึง สตีฟ โบลด์ ปราการหลังอีกคน และศูนย์หน้าเดนนิส เบิร์กแคมป์ ตำนานของสโมสรในเวลาต่อมาอีกด้วย และก็ต้องยกเครดิตให้กับนักเตะหน้าใหม่ที่แวงแกร์ซื้อเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น เอ็มมานูเอล เปอตี, ปาทริค วิเอร่า, มาร์ก โอเฟอร์มาร์ส และศูนย์หน้าดาวยิง นีกอลา อาแนลกา ในช่วงหลายฤดูกาลต่อมา แวงแกร์ทำหน้าที่กับอาร์เซนอลได้ดีแต่กลับไม่ได้แชมป์ตอนท้ายฤดูกาลเลย ในปี ค.ศ. 1999 พวกเขาเสียแชมป์พรีเมียร์ลีกให้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดโดยวันสุดท้ายของฤดูกาลพวกเขาตามอยู่เพียง 1 คะแนนเท่านั้น แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยังเป็นทีมที่ทำให้อาร์เซนอลต้องตกรอบเอฟเอคัพในช่วงต่อเวลาพิเศษอีกด้วย จากนั้นอาร์เซนอลก็มาแพ้กาลาตาซารายในการดวลจุดโทษนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลยูฟ่าคัพ ในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลเอฟเอคัพ ในปี ค.ศ. 2001 อาร์เซนอลก็ต้องมาแพ้ให้กับลิเวอร์พูล 2 ประตูต่อ 1 จากประตูของ ไมเคิล โอเวน ในช่วงท้ายเกม ในช่วงนี้ แวงแกร์ยังได้นำนักเตะหน้าใหม่เข้ามาสู่ทีมเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นสัญญา โซล แคมป์เบลล์ จากทอตแนมฮ็อตสเปอร์ และนักเตะชื่อก้องโลกอย่าง เฟรดริค ยุงแบร์, ตีแยรี อ็องรี และรอแบร์ ปีแร็ส ขุนพลนักเตะชุดใหม่นี้ช่วยให้อาร์เซนอลในยุคของอาร์แซน แวงแกร์นั้นสามารถคว้าดับเบิลแชมป์ได้อีกครั้งหนึ่ง ช่วงเวลาที่ทำให้อาร์เซนอลได้แชมป์คือนัดรองสุดท้ายของฤดูกาลที่พบกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด อาร์เซนอลเอาชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไปได้ 1-0 ซึ่งโดยรวม ๆ แล้วอาร์เซนอลเล่นได้ดีกว่า รอย คีน อดีตกัปตันทีมของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในชุดนั้นยังได้กล่าวถึงเกมนัดนั้นว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่าง "เด็กกับผู้ใหญ่" นั่นก็คือฤดูกาล 2001-02 นั่นเอง อาร์แซน แวงแกร์ยังเคยพาอาร์เซนอลเป็นแชมป์ฟุตบอลเอฟเอคัพในปี ค.ศ. 2003 และพาทีมอาร์เซนอลรักษาสถิติไม่แพ้ใครทั้งฤดูกาลได้และสถิติยิงประตูทุกนัดที่ลงทำการแข่งขันในพรีเมียร์ชิพจนทำให้คว้าแชมป์อย่างยิ่งใหญ่ในฤดูกาล 2003-04 อีกด้วย หลังจากนั้น อาร์แซน แวงแกร์ ก็นำถ้วยเอฟเอคัพมาสู่สโมสรอาร์เซนอลได้อีกครั้งในปี ค.ศ. 2005 ทำให้อาร์เซนอลได้แชมป์พรีเมียร์ลีก 3 สมัยและเอฟเอคัพ 4 สมัยภายใต้การคุมทีมของแวงแกร์ นับว่าเขาเป็นผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์อาร์เซนอลเมื่อนับตามถ้วยรางวัลที่ได้มา อย่างไรก็ตาม แวงแกร์ก็ยังไม่เคยได้แชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก รายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรปมาครองได้ โดยเขาพาทีมเข้าไปใกล้คำว่า "แชมป์" มากที่สุดในฤดูกาล 2005-06 ที่อาร์เซนอลเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร แต่กลับแพ้ให้กับบาร์เซโลนา 2-1 อย่างน่าเสียดาย ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 เขาได้เซ็นสัญญาว่าจะอยู่กับสโมสรไปจนจบฤดูกาล 2007-08 [12] โดยเดวิด ดีน รองประธานสโมสรอาร์เซนอลวางแผนว่าจะยื่นข้อเสนอให้อาร์แซน แวงแกร์เข้ามาเป็นบอร์ดบริหารสโมสรเมื่อครั้งที่เขาวางมือจากตำแหน่งผู้จัดการทีมไปแล้ว อนาคตอาชีพผู้จัดการทีมของแวงแกร์เริ่มไม่แน่นอนเมื่อครั้งที่เดวิด ดีนได้ลาออกจากบอร์ดบริหารของอาร์เซนอลเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 2007 ซึ่งเดวิด ดีนคือหนึ่งในบอร์ดบริหารที่แวงแกร์ใกล้ชิดมากที่สุด จนเกิดกระแสว่าแวงแกร์อาจจะไปคุมทีมที่สโมสรอื่นหรืออาจจะวางมือจากวงการฟุตบอล อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 2007 อาร์แซน แวงแกร์ได้ตกลงเซ็นสัญญา 3 ปีฉบับใหม่กับอาร์เซนอล[13] สัญญานี้มีมูลค่าถึง 4 ล้านปอนด์และทำให้แฟนบอลอาร์เซนอลที่เคยคิดว่าเขาจะออกจากสโมสรตอนท้ายฤดูกาลเมื่อสัญญาหมดลงได้มั่นใจขึ้นอย่างมากว่า เขาจะยังอยู่กับอาร์เซนอลต่อไปอีก ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2009 อาร์แซน แวงแกร์ ทำสถิติเป็นผู้จัดการทีมอาร์เซนอลที่คุมทีมอย่างยาวนานที่สุด โดยทำลายสถิติเดิมของจอร์จ อัลลิสัน ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการทีมตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1934 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1947 นับเป็นเวลาทั้งสิ้น 4,748 วัน สไตล์และปรัชญาการทำทีมแวงแกร์ได้ชื่อว่าเป็นโค้ชที่ใช้เวลาไปกับการสร้างทีมที่สามารถผสมผสานระหว่างการไล่ล่าแชมป์กับความต้องการที่จะสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ชมด้วยเกมรุกเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว[14] เดอะไทมส์ได้กล่าวไว้ว่าในฤดูกาล 2003-04 ที่เขาประสบความสำเร็จนั้น แวงแกร์สร้างความสำเร็จมาจากการเน้นเกมรุกที่เร้าใจ[15] สไตล์การเล่นของลูกทีมเขานั้นมักจะถูกมองว่าแตกต่างไปจากทีมคู่แข่ง[16] แต่ในทางตรงข้าม ก็มักโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดสัญชาตญาณความเป็นนักฆ่า[17] แม้ว่าแวงแกร์จะนิยมใช้แผนการเล่นแบบ 4-4-2 แต่ต่อมา นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 เขาก็เริ่มใช้แผนการเล่นแบบ 4-5-1 มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยทิ้งกองหน้าไว้คนเดียวและเน้นในแดนกลางสนามมากกว่า[18] ซึ่งจะเห็นบ่อยในยามที่ต้องเล่นในสนามที่กว้างขึ้นอย่างเอมิเรตส์สเตเดียม[19] หรือในเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกที่สำคัญ ๆ[20] อาร์แซน แวงแกร์ มีชื่อเสียงอย่างมากในการปั้นเด็กที่มีพรสวรรค์ที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักให้สามารถแจ้งเกิดในวงการฟุตบอลได้อย่างยิ่งใหญ่ เมื่อคราวที่คุมทีมอยู่โมนาโกนั้น เขาซื้อตัว จอร์จ เวอาห์ (George Weah) ชาวไลบีเรียมาจากทีมตอแนร์ยาอูนเด (Tonnerre Yaoundé) ในประเทศแคเมอรูน เข้ามาร่วมทีม ต่อมานักเตะรายนี้ก็ได้ครองตำแหน่งผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของฟีฟ่าเมื่อมาอยู่กับเอซีมิลานอีกด้วย และเมื่อคราวที่คุมทีมอาร์เซนอล แวงแกร์ก็ได้นำนักเตะดาวรุ่งเข้ามามากมาย ซึ่งในขณะที่เขาเซ็นสัญญากับนักเตะเหล่านี้ แทบจะไม่มีใครได้ยินชื่อของพวกเขามาก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็น ปาทริค วิเอร่า, เซสก์ ฟาเบรกัส, โรบิน ฟัน แปร์ซี และโกโล ตูเร เขาได้ปั้นนักเตะเหล่านี้ขึ้นมา ช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถเติบโตขึ้นเป็นนักเตะระดับโลกได้ในที่สุด สถิติที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ กองหลังของอาร์เซนอลชุดหนึ่งเคยสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการทำสถิติไม่เสียประตูในเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกติดต่อกันถึง 10 นัดในฤดูกาล 2005-06 จนสามารถเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปพบกับบาร์เซโลนาได้ ทั้ง ๆ ที่กองหลังชุดนี้มีค่าตัวรวมกันไม่ถึง 5 ล้านปอนด์ด้วยซ้ำไป แม้ว่าแวงแกร์จะใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลไปในการเซ็นสัญญานักเตะเข้ามาร่วมทีมอาร์เซนอล แต่สถิติการใช้จ่ายเงินของเขานั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทีมชั้นนำของพรีเมียร์ชิพทีมอื่น ๆ เช่น ในปี ค.ศ. 2007 นั้น เขาเป็นผู้จัดการทีมพรีเมียร์ลีกคนเดียวที่สามารถทำกำไรได้จากการซื้อขายนักเตะ[21] และปีเตอร์ ฮิลล์-วูด ประธานสโมสรของอาร์เซนอลก็เคยกล่าวว่า "โดยปกติแล้ว ตั้งแต่อาร์แซนมาอยู่กับเรา เขาจะใช้เงินเพียงปีละ 4-5 ล้านปอนด์เท่านั้นเอง"[22] และมีอีกหนึ่งตัวอย่างที่บ่งบอกถึงความสามารถในการหานักเตะของเขาที่ดีก็คือ การนำนีกอลา อาแนลกาเข้ามาร่วมทีมจากปารีแซ็ง-แฌร์แม็งด้วยค่าตัวเพียง 500,000 ปอนด์เท่านั้น แต่ในอีก 2 ปีต่อมาสามารถขายให้กับเรอัลมาดริดได้ถึง 22.3 ล้านปอนด์ เงินก้อนนี้จึงสามารถนำไปซื้อนักเตะคนใหม่ 3 คนเข้ามาเสริมทีมได้ ซึ่งก็ได้แก่ ตีแยรี อ็องรี, โรแบร์ ปิแรส และ ซีลแวง วีลตอร์ ซึ่งเป็นสามนักเตะที่อยู่ในชุดที่คว้าดับเบิลแชมป์ในฤดูกาล 2001-02 และแชมป์ลีกในฤดูกาล 2003-04 นอกจากเรื่องการปั้นนักเตะโนเนมให้เป็นนักเตะระดับโลกแล้ว แวงแกร์ยังมีความสามารถในการช่วยให้นักเตะที่มากประสบการณ์แต่กำลังอยู่ในช่วงขาลงสามารถกลับมายิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอลได้อีกครั้งหนึ่งที่อาร์เซนอล ไม่ว่าจะเป็น เดนนิส เบิร์กแคมป์ นักเตะที่เซ็นสัญญามาเล่นในลอนดอนเหนือก่อนหน้าที่แวงแกร์จะเข้ามาคุม 1 ปีก็สามารถก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตได้เมื่อแวงแกร์เข้ามาบริหารทีม นอกจากนั้น แวงแกร์ก็ยังเคยนำอดีตเด็กปั้นของเขาที่โมนาโกอย่างตีแยรี อ็องรีมาโลดแล่นในวงการฟุตบอลที่อาร์เซนอลจนสามารถเป็นนักเตะระดับโลกได้ในที่สุด โดยสร้างสถิติดาวซัลโวสูงสุดของสโมสรและยังเคยเป็นกัปตันทีมของอาร์เซนอลอีกด้วย นอกจากนั้น แวงแกร์ยังเป็นคนที่เข้ามาปฏิวัติเรื่องการฝึกซ้อมและเรื่องการควบคุมอาหารของทีมอีกด้วย เขาสั่งห้ามนักเตะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามซ้อมรวมไปถึงห้ามรับประทานอาหารขยะที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย แวงแกร์เคยสั่งพักอดีตกัปตันทีมโทนี แอดัมส์ หลังจากพบว่าเขาเป็นโรคติดแอลกอฮอล์ในปี ค.ศ. 1996 การสนับสนุนจากแวงแกร์เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แอดัมส์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ สามารถคืนฟอร์มเก่งได้และได้เล่นฟุตบอลต่ออีกหลายปี การฝึกซ้อมของแวงแกร์และการควบคุมอาหารนั้นอาจจะช่วยยืดเวลาการค้าแข้งของสมาชิกคนอื่น ๆ ของแบ็กโฟร์ กองหลังอันแข็งแกร่งของอาร์เซนอลได้อีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็นไนเจล วินเทอร์เบิร์น, ลี ดิกสัน และ มาร์ติน คีโอน (ตอนแรกแวงแกร์วางแผนว่าจะหาคนมาแทนที่พวกเขา แต่ในตอนหลังเขาก็รู้ดีว่าเขาไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเลย) รวมทั้งในฤดูกาล 2014-15 แวงแกร์ออกกฎห้ามเด็ดขาดที่จะให้นักฟุตบอลทุกคนสูบบุหรี่ หากใครฝ่าฝืนจะถูกไล่ลงไปซ้อมกับทีมระดับเยาวชนตลอดทั้งฤดูกาล หลังจากที่พบวอยแชค ชแชนส์นือ ผู้รักษาประตู แอบสูบบุหรี่ระหว่างพักครึ่งในเกมที่ทีมแพ้เซาแทมป์ตัน 0-2 ในต้นปี ค.ศ. 2015 แวงแกร์ได้สั่งปรับเงินชแชนส์นือเป็นจำนวน 20,000 ปอนด์ แวงแกร์ยังมีส่วนในการออกแบบสนามเอมิเรตส์สเตเดียมของอาร์เซนอลอีกด้วย สนามแห่งนี้เปิดใช้ในปี ค.ศ. 2006 ทำให้สนามซ้อมของอาร์เซนอลย้ายมาอยู่ที่ลอนดอน โคลนีย์ในที่สุด รางวัลและความสำเร็จแวงแกร์ได้รับการสนับสนุนจากแฟนบอลของอาร์เซนอลอย่างมาก แฟนคลับของสโมสรศรัทธาในความสามารถของผู้จัดการทีมคนนี้และศรัทธาในวิสัยทัศน์ของเขาในระยะยาว แฟนบอลของไอ้ปืนใหญ่มักจะพูดว่า "Arsène Knows" (อาร์แซนรู้) และ "In Arsène We Trust" (เราเชื่ออาร์แซน) ซึ่งเป็นคำพูดที่ยืนยันว่าเขาได้รับความนิยมในหมู่แฟนบอลอย่างมาก แฟนบอลกลุ่มนี้มากจะพูดซ้ำ ๆ และกลายเป็นคำขวัญของฝูงชนที่เอมิเรตส์สเตเดียมไปแล้ว ในพิธีอำลาสนามไฮบิวรีเมื่อฤดูกาล 2005-06 นั้น แฟนบอลได้แสดงความประทับใจในตัวผู้จัดการทีมคนนี้มากด้วยการกำหนด "วันแวงแกร์" (Wenger Day) ซึ่งตรงกับวันเกิดครบรอบ 56 ปีของเขาคือวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็นวันที่มีการแข่งขันกับแมนเชสเตอร์ซิตีพอดี[23] เดวิด ดีน อดีตรองประธานสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล ได้กล่าวว่าแวงแกร์คือผู้จัดการทีมที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร "อาร์แซนคือคนที่วิเศษมาก เขาทำให้นักเตะหลายต่อหลายคนกลายเป็นนักเตะระดับโลกได้ ตั้งแต่เขาย้ายมาอยู่ที่นี่ เราก็ได้เห็นฟุตบอลในแบบฉบับที่ไม่เคยเห็นที่ดาวดวงไหนมาก่อน"[24] เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2007 มีการมอบเหรียญทองแดงเกียรติยศให้กับอาร์แซน แวงแกร์ เช่นเดียวกับที่เคยให้เฮอร์เบิร์ต แชปแมน เพื่อเป็นการยกย่องคุณความดีของแวงแกร์ โดยคณะกรรมการบริหารของสโสรฟุตบอลอาร์เซนอลได้มอบรางวัลนี้ให้กับเขาในงานประชุมสามัญประจำปีของสโมสร[25] แวงแกร์ได้รับเลฌียงดอเนอร์ (Légion d'Honneur) เครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 2002 เขาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นายทหารแห่งจักรวรรดิบริเตน (OBE) เพื่อเป็นรางวัลสำหรับการเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้กับวงการฟุตบอลสหราชอาณาจักรในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระราชินีปี ค.ศ. 2003 ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 ชื่อของแวงแกร์ได้ถูกจารึกไว้ในหอเกียรติยศแห่งวงการฟุตบอลอังกฤษเพื่อเป็นการบันทึกความสำเร็จในการเป็นผู้จัดการทีมในอังกฤษ นับว่าเป็นผู้จัดการทีมชาวต่างชาติคนที่สองที่ได้มีชื่อในหอเกียรติยศแห่งนี้ หลังจากที่ดารีโอ กราดี ชาวอิตาลีเคยทำสำเร็จมาแล้วในการคุมทีมครูว์อเล็กซานดรา ในปี ค.ศ. 2007 มีนักดาราศาสตร์ชื่อเอียน พี. กริฟฟิน นำชื่อของแวงแกร์ไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งว่า 33179 อาร์แซนแวงแกร์[26] เนื่องจากนักดาราศาสตร์ผู้นี้หลงใหลในทีมฟุตบอลของผู้จัดการทีมคนนี้มาก นอกจากนี้แล้ว อาร์แซน แวงแกร์ ยังถือเป็นผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยทำหน้าที่คุมทีมเป็นนัดที่ 1,000 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 2014 ในนัดที่อาร์เซนอลบุกไปเยือนเชลซี ถึงสแตมฟอร์ดบริดจ์ ในพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2013–14 แต่ผลการแข่งขันออกมา ปรากฏว่าเชลซีเป็นฝ่ายชนะอาร์เซนอลไปอย่างท่วมท้นถึง 6-0 และคีแรน กิบส์ ของอาร์เซนอล ถูกใบแดงไล่ออกจากสนามไปด้วยในนาทีที่ 15 ทั้งที่ผู้ที่กระทำฟาล์ว คือ อเล็กซ์ ออกซ์เลด-เชมเบอร์เลน[27] การวิพากษ์วิจารณ์ทีมของอาร์แซน แวงแกร์ มักจะโดนวิพากษ์วิจารณ์บ่อย ๆ เรื่องการขาดระเบียบวินัย โดยนักเตะของเขานั้นโดนใบแดงไปถึง 73 ครั้งในช่วงปี ค.ศ. 1996 ถึง 2008 แม้ว่าหลายคนจะคัดค้านในประเด็นนี้[28] อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2004-2005 อาร์เซนอลคว้าตำแหน่งทีมที่เล่นขาวสะอาด (Fair Play) ที่สุดในลีก[29][30] และในปี ค.ศ. 2006 นั้น พวกเขาก็ได้อันดับ 2 มาครอง ตามหลังเพียงแค่ชาร์ลตันแอธเลติกทีมเดียวเท่านั้น[31] ในปี ค.ศ. 1999 แวงแกร์เสนอให้มีการจัดการแข่งขันเกมเอฟเอคัพรอบที่ 4 กับเชฟฟีลด์ยูไนเต็ดใหม่ หลังจากจบการแข่งขันแมตช์นั้นไปแล้ว เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันครั้งนี้ อาร์เซนอลได้ประตูชัยจากมาร์ก โอเฟอร์มาร์ส ซึ่งต่อเนื่องมาจากจังหวะที่อึนวังกโว กานูไม่ยอมเตะบอลคืนให้ทีมเชฟฟีลด์ยูไนเต็ดที่มีนักเตะนอนเจ็บอยู่ในสนาม แต่นัดรีเพลย์นั้น อาร์เซนอลก็กลับมาเอาชนะได้อยู่ดีด้วยผล 2-1 นอกจากนั้น แวงแกร์ยังเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นคู่ปรับของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน บรมกุนซือของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ส่วนทางด้านอาร์เซนอลและแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดก็เป็นคู่ปรับกันเรื่องการแย่งแชมป์พรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพมาตลอดช่วงปลายทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 ความเป็นอริต่อกันนี้ยังทำให้เกิดเหตุการณ์ "ปาพิซซา" ที่โอลด์แทรฟฟอร์ดเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 ด้วย หลังจากที่อาร์เซนอลเสียจุดโทษจากจังหวะน่ากังขาและต้องพ่ายแพ้ไป 2-0 จนหยุดสถิติไร้พ่ายของอาร์เซนอลไว้ที่ 49 นัดติดต่อกันในพรีเมียร์ชิพ หลังจบเกมนี้ นักเตะคนหนึ่งของอาร์เซนอลได้ขว้างอาหารใส่ทีมคู่แข่งที่อุโมงค์ทางเดิน[32] ส่วนอาร์แซน แวงแกร์ โดนปรับเงินจำนวน 15,000 ปอนด์ จากข้อหาที่ไปเรียกรืด ฟัน นิสเติลโรยว่า "ไอ้ขี้โกง" ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์หลังจบเกม จากนั้นเขาก็โดนปรับเงินอีกครั้งสำหรับการเรียกฟัน นิสเติลโรยว่า "ไอ้ขี้โกง" อีกครั้ง โดยอ้างว่าเขามั่นใจว่าเขาคิดถูกแล้ว[33] จากนั้นมา ผู้จัดการทีมทั้งสองก็ตกลงกันว่าจะปรับความเข้าใจกันเพื่อลดความบาดหมางและความเป็นอริต่อกันให้เหลือน้อยที่สุด[34] ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 แวงแกร์ก็ได้มีปากเสียงทำสงครามน้ำลายกับโชเซ มูรีนโย ผู้จัดการทีมของเชลซี โดยมูรีนโยกล่าวหาว่าแวงแกร์นั้นหมกหมุ่นกับเชลซีและไม่มีความเป็นมืออาชีพเลย และยังกล่าวโจมตีถึงขั้นบอกว่าแวงแกร์เป็นพวกชอบถ้ำมอง[35] โดยพูดว่า "เขากังวลเรื่องพวกเรามาก เขาพูดถึงพวกเราตลอด - มีแต่เชลซี, เชลซี, เชลซี, เชลซี" แวงแกร์ก็ออกมาตอบโต้โดยการชี้แจงว่า เขาไม่เคยรู้สึกอย่างนั้น เขาเพียงแค่ออกมาตอบคำถามนักข่าวเรื่องเชลซีเท่านั้น และยังบอกว่าทัศนคติของมูรีนโยเป็นพวกที่ไม่ให้เกียรติคนอื่นเลย จากนั้นมูรีนโยก็ออกมาขอโทษ โดยบอกว่าเขาเสียใจที่ไปต่อว่าแวงแกร์ว่าเป็นพวกถ้ำมอง และแวงแกร์ก็น้อมรับคำขอโทษอย่างบริสุทธิ์ใจ[36] แวงแกร์ยังโดนผู้จัดการทีมพรีเมียร์ลีกคนอื่น ๆ วิพากษ์วิจารณ์บ่อย ๆ ว่าไม่ยอมให้โอกาสนักเตะอังกฤษเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกมแชมเปียนส์ลีก อะลัน พาร์ดิว อดีตผู้จัดการทีมเวสต์แฮมยูไนเต็ดได้บอกว่า ความสำเร็จในแชมเปียนส์ลีกของอาร์เซนอลไม่ได้เป็นความสำเร็จของฟุตบอลสหราชอาณาจักรเลย[37] แต่ทางด้านแวงแกร์มองว่า เรื่องสัญชาติกับฟุตบอลนั้นมันไม่เกี่ยวข้องกันเลยและกล่าวว่า "เวลาคุณเล่นให้กับสโมสร มันก็ขึ้นอยู่กับคุณค่าและความสามารถ ไม่ใช่ว่าคุณถือพาสปอร์ตอะไร"[38] นอกจากนั้น ผู้มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ เป็นต้นว่าเทรเวอร์ บรุกกิง ผู้อำนวยการพัฒนากีฬาฟุตบอลแห่งสมาคมฟุตบอลอังกฤษก็ยังได้ปกป้องแวงแกร์ด้วย โดยบรูกกิงบอกว่านักเตะตัวหลักของทีมชาติอังกฤษต่างก็เริ่มต้นอาชีพนักฟุตบอลภายใต้การทำทีมของอาร์แซน แวงแกร์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เดวิด เบนต์ลีย์, สตีฟ ซิดเวลล์, เจอร์เมน เพนแนนต์ และแอชลีย์ โคล โดยล่าสุดนั้น เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2007 แวงแกร์ก็โดนเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คู่ปรับเก่าตำหนิว่าให้โอกาสนักเตะอังกฤษน้อยเกินไป[39] บ่อยครั้งที่อาร์แซน แวงแกร์ ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของผู้ตัดสิน โดยมักจะออกมาตำหนิการตัดสินที่ไม่ค่อยเป็นธรรมกับทีมของเขาหลังจากจบเกมอยู่เสมอ[40] เช่น หลังจากเกมคาร์ลิงคัพนัดชิงชนะเลิศปี ค.ศ. 2007 นั้น เขาเรียกผู้กำกับเส้นว่า "เจ้าคนหลอกลวง" นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทำให้เขาโดนสมาคมฟุตบอลอังกฤษสอบสวน[41] และโดนปรับเป็นจำนวนเงิน 2,500 ปอนด์เพื่อเป็นการเตือนว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต[42] ระหว่างปี ค.ศ. 2005 ถึงปี ค.ศ. 2014 อาร์เซนอลไม่เคยได้แชมป์เลยเป็นระยะเวลานานถึง 9 ปีด้วยกัน ทำให้อาร์แซน แวงแกร์ ถูกวิจารณ์อย่างมาก บ้างก็ว่าหมดยุคของเขาแล้ว จนในที่สุด อาร์เซนอลสามารถคว้าแชมป์แรกในรอบ 9 ปีมาได้ ด้วยการเอาชนะฮัลล์ซิตี ไปในช่วงต่อเวลาพิเศษ 3-2 ทั้งที่ถูกนำไปก่อน 0-2 ในช่วงต้นการแข่งขัน ทำให้ได้แชมป์เอฟเอคัพ ในฤดูกาล 2013-14 โดยแชมป์สุดท้ายที่ได้ก่อนหน้านั้นก็คือ เอฟเอคัพเช่นเดียวกัน ในฤดูกาล 2004-05[43] และในรายการพรีเมียร์ลีก ถึงแม้ว่าอาร์เซนอลจะจบฤดูกาลด้วยอันดับ 4 เหมือนฤดูกาลที่แล้ว แต่อาร์เซนอลก็มีโอกาสได้ลุ้นแชมป์มากที่สุดในรอบ 9 ปี ด้วยการยืนพื้นเป็นทีมอันดับหนึ่งในตารางคะแนนนานถึง 128 วัน นับว่านานที่สุดในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้[44] ในฤดูกาล 2014–15 ในช่วงต้นฤดูกาล มีเสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวผู้จัดการทีมจากแฟนบางส่วนของอาร์เซนอล เมื่อไม่สามารถทำผลงานได้ดีนักในช่วงต้น แต่หลังจากขึ้นปี ค.ศ. 2015 แล้ว อาร์เซนอลทำสถิติชนะรวด 8 นัด นับว่าเป็นทีมที่ทำสถิติชนะติดต่อกันมากที่สุดของพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนี้ เมื่อจบฤดูกาล อาร์เซนอลได้อันดับที่ 3 นับว่ามีผลงานที่ดีกว่าฤดูกาลที่แล้ว[45] และในเอฟเอคัพ อาร์เซนอลยังสามารถเอาชนะ แอสตันวิลลา คู่ชิงชนะเลิศไปได้ถึง 4-0 นอกจากจะสามารถป้องกันตำแหน่งแชมป์ไว้ได้แล้ว ยังทำให้อาร์เซนอลสร้างประวัติศาสตร์ คือ เป็นทีมที่เป็นแชมป์รายการนี้มากที่สุดของวงการฟุตบอลอังกฤษ คือ 12 สมัย และอาร์แซน แวงแกร์ ยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้จัดการทีมที่ทำสถิติเป็นแชมป์รายการนี้มากที่สุด คือ 6 ครั้ง เทียบเทา จอร์จ แรมซีย์ ผู้จัดการทีมแอสตันวิลลาเมื่อทศวรรษที่ 21[46] ในเอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ 2015 ซึ่งเป็นการแข่งขันนัดพิเศษก่อนเริ่มฤดูกาล 2015–16 ซึ่งเป็นการพบกันระหว่าง เชลซี ในฐานะแชมป์พรีเมียร์ลีก กับ อาร์เซนอล ในฐานะแชมป์เอฟเอคัพ ผลปรากฏว่า อาร์เซนอลสามารถเอาชนะไปได้ 1-0 ประตู จากการทำประตูของอเล็กซ์ ออกซ์เลด-เชมเบอร์ลิน ในนาทีที่ 24 ทำให้อาร์เซนอลป้องกันแชมป์เอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ได้ นับเป็นแชมป์สมัยที่ 14 อีกทั้งยังถือเป็นครั้งแรกอีกด้วยที่แวงแกร์สามารถเอาชนะโชเซ มูรีนโย ได้ หลังจากก่อนหน้านั้นมา 13 นัด ในทุกรายการ อาร์เซนอลภายใต้การคุมทีมของแวงแกร์ ไม่สามารถเอาชนะเชลซีภายใต้การคุมของมูรีนโยได้เลย [47] โดยก่อนหน้านั้นทั้งมูรีนโยและแวงแกร์ถือเป็นคู่ปรับกันมาโดยตลอด โดยมักทำสงครามประสาทด้วยคำพูดใส่กัน โดยเฉพาะมูรีนโยที่ถึงกับกล่าวหาแวงแกร์ว่าเป็น "เจ้าแห่งความล้มเหลว" เนื่องจากอาร์เซนอลมิได้แชมป์ใด ๆ เลยมาเป็นเวลานาน 9 ปี[48] ซึ่งในเรื่องนี้ แป็ป กวาร์ดิออลา ผู้จัดการทีมไบเอิร์นมิวนิก แห่งบุนเดิสลีกา เยอรมนี เห็นว่าแวงแกร์มิได้เป็นเช่นนั้น[49] แต่ในช่วงต้นของฤดูกาลนี้ ผลงานของอาร์เซนอลไม่ค่อยดี โดย 4 นัดแรก ชนะไปเพียง 2 นัด, เสมอ 1 นัด และแพ้ 1 นัด ในนัดเปิดฤดูกาล โดยแพ้ต่อเวสต์แฮมยูไนเต็ด ที่สนามเอมิเรตส์สเตเดียม และยิงประตูคู่แข่งไปได้แค่ 1 ลูกเท่านั้น นอกจากนั้นเป็นการทำเข้าประตูตัวเองของคู่แข่งขัน ทำให้แวงแกร์กลับมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก่อนเปิดฤดูกาลจนกระทั่งเริ่มต้น แวงแกร์ซื้อตัวผู้เล่นใหม่เข้ามาเสริมทีมเพียงคนเดียวเท่านั้น คือ เปเตอร์ เช็ค จากเชลซี ในตำแหน่งผู้รักษาประตู ทั้งที่ทีมมีปัญหาจากกองหน้าไม่สามารถทำประตูได้ จนกระทั่งเหล่าแฟนผู้สนับสนุนทีมรวมตัวกันยื่นเรื่องถึงผู้บริหารทีมให้ทบทวนนโยบายซื้อตัวผู้เล่น[50] เกียรติยศนักเตะ
ผู้จัดการทีม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ อาร์แซน แวงแกร์ |