เขาอกทะลุ เป็นเขาในตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ชาวพัทลุงเชื่อกันว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์และเปรียบเสมือนเสาหลักเมือง[1] ทางราชการได้นำภาพเขาอกทะลุและเจดีย์บนยอดเขาทำเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง
เขาอกทะลุเป็นเขาหินปูน เขามีความสูง 250 เมตร[2] มีบันไดสำหรับขึ้นยอดเขาเพื่อชมทิวทัศน์ของเมืองพัทลุง มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนกว้างที่สุดประมาณ 1 กิโลเมตร บริเวณตรงกลางเกือบถึงตอนปลายของยอดเขา มีโพรงขนาดใหญ่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 10 เมตร จึงเป็นที่มาของชื่อเขา พื้นที่เชิงเขามีประชาชนอยู่อาศัยและใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือมีลำคลองไหลผ่าน เรียกว่า คลองโรงตรวน ด้านใต้ของภูเขามีคลองตำนานไหลผ่านเขาอกทะลุ[3]
แหล่งโบราณคดี
เขาอกทะลุยังเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของจังหวัดภายในถ้ำต่าง ๆ บนเขามีการค้นพบพระพิมพ์ดินดิบศิลปะศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 12–13) จำนวนมาก[4]
- ถ้ำคุรำตั้งอยู่ทางทิศเหนือของถ้ำพิมพ์ห่างกันประมาณ 1.5 กิโลเมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตกกว้างประมาณ 20 เมตร ลึกประมาณ 20 เมตร ภายในมีถ้ำมีกรุพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัยจำนวนมาก ปัจจุบันสภาพถ้ำถูกทำลายจากการขุดขี้ค้างคาวและการย่อยหิน
- ถ้ำตลับตั้งอยู่ทางทิศใต้ของถ้ำคุรำห่างกันประมาณ 50 เมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตก เป็นถ้ำขนาดใหญ่มากมีหินงอกหินย้อยและแอ่งน้ำ ภายในถ้ำมีกรุพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย ปัจจุบันถ้ำตลับและถ้ำคุรำเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ถ้ำตลับ
- เจดีย์ยอดเขาจังตั้งอยู่บนยอดเขาจังซึ่งเป็นยอดเขาหนึ่งในภูเขาอกทะลุด้านทิศเหนือมีความสูงประมาณ 240 เมตรสภาพปัจจุบันทรุดโทรมมาก เหลือเพียงซากฐานเจดีย์สี่เหลี่ยม
- เจดีย์ยอดเขาอกทะลุเล่ากันว่าพ่อหลวงนุ้ยเจ้าอาวาสวัดโคกคีรีกับท่านรักษ์วัดเดียวกันได้ชักชวนชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2453 มีการนำเอาสำเภาเงินสำเภาทองบรรจุไว้ในเจดีย์ด้วยได้ทำสระน้ำเล็ก ๆ ไว้กลางกองเจดีย์ ปัจจุบันเจดีย์บนยอดเขาอกทะลุก่ออิฐถือปูนมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 4.50 X 4.50 เมตร รากฐานที่เหลือสูงประมาณ 1.50 เมตร ทางทิศเหนือของเจดีย์มีแนวบันไดขึ้นสู่ฐานทักษิณกว้างประมาณ 2 เมตร ฐานทักษิณเดิมปรุด้วยกระเบื้องแต่หักไปหมดแล้ว ส่วนองค์เจดีย์มีรูปแบบอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่บางท่านกล่าวว่าคล้ายเจดีย์วัดควนสาด กล่าวคือเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองฐานทักษิณปรุด้วยกระเบื้องสีเขียว
อ้างอิง
- ↑ "เขาอกทะลุ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๔ (อักษร ย-ฮ) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร : สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสชิ่ง, ๒๕๖๑. (แก้ไขปรับปรุงข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๓)
- ↑ "ตำนานเขาอกทะลุ". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
- ↑ กรมศิลปากร. "เขาอกทะลุ(เขาอกทลุ)" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 20 มกราคม 2567. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
|
---|
อำเภอ | | |
---|
ประวัติศาสตร์ | |
---|
ภูมิศาสตร์ | |
---|
เศรษฐกิจ | |
---|
สังคม | การศึกษา | |
---|
วัฒนธรรม | |
---|
กีฬา | |
---|
การเมือง | |
---|
|
---|
|