Share to:

 

เนติพร เสน่ห์สังคม

เนติพร เสน่ห์สังคม
เกิด8 สิงหาคม พ.ศ. 2538
เสียชีวิต14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 (28 ปี)
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี ประเทศไทย
ชื่ออื่นบุ้ง ทะลุวัง
อาชีพนักเคลื่อนไหวสังคม
มีชื่อเสียงจากแกนนำกลุ่มทะลุวัง นักโทษคดีการเมือง
บิดามารดา
  • ปัญจพล เสน่ห์สังคม (บิดา)
ญาติชญาภัส เสน่ห์สังคม (พี่สาว)

เนติพร เสน่ห์สังคม (8 สิงหาคม พ.ศ. 2538 – 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567[1]) ชื่อเล่น บุ้ง หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ บุ้ง ทะลุวัง เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย และเป็นชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง โดยในอดีต เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร เป็นผู้ประกาศอดข้าวประท้วงรัฐบาลต่อสาธารณชนคนแรก ๆ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จนถึงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา[1]

บุ้งเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2556 โดยร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่หลังจากที่ได้ฟังข้อมูลจาก น.ส.พรรณิการ์ วานิช ที่เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง ราชประสงค์ บุ้งจึงรู้สึกผิดต่อคนเสื้อแดงและเปลี่ยนมาเคลื่อนไหวการเมืองขั้วตรงข้ามในท้ายที่สุด[2] เมื่อ พ.ศ. 2563 บุ้งได้เป็นแกนนำกลุ่มทะลุวัง เพื่อทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลให้เธอถูกฟ้องเป็นคดีอาญามากมาย รวมถึงข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเธอต้องต่อสู้ดำเนินคดีเรื่อยมา ในระหว่างที่ถูกคุมขัง บุ้งและผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ได้ร่วมกันประท้วงกระบวนการยุติธรรมของไทยด้วยการอดอาหารเรื่อยมาจนสุขภาพทรุดโทรม โดยมี 2 ข้อเรียกร้อง คือ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก [3] [4]และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 บุ้งได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจากอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน[5] ระยะเวลาที่บุ้งถูกขังชั่วคราวเพื่อรอศาลพิพากษาคดีและเริ่มต้นการประท้วงกระบวนการยุติธรรมด้วยการอดอาหาร จนถึงวันที่เธอเสียชีวิต รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 109 วันถ้วน[5]

"เป็นอีกครั้งที่กระบวนการยุติธรรมที่เรียกบุ้งว่าลูกหลานตุลาการมาตั้งแต่เล็กทำให้บุ้งผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ศาลเลือกปกป้องผู้มีอำนาจที่ปล้นอำนาจของประชาชนไป แต่กลับกระทืบลูกหลานของตัวเองเพื่อปกป้องคนไม่กี่กลุ่ม น่าละอายเหลือเกิน ในวันนี้บุ้งยืนยันว่า กระบวนการยุติธรรมต้องถูกปฏิรูป ต้องไม่มีใครติดคุกเพียงเพราะเห็นต่าง และอย่าคิดว่าการจับบุ้งเข้าคุกครั้งนี้จะทำให้บุ้งยอมถอย ศาลที่ควรเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ต้องมีกระดูกสันหลังตั้งตรงและเลิกรับใช้พวกที่ทำรัฐประหารเสียที มิเช่นนั้นจงอย่าภูมิใจในตัวเองที่ได้นั่งอยู่บนหอคอยงาช้างและคราบเลือดของประชาชน อำนาจเป็นของประชาชน พวกมึงแค่ปล้นมันไป วันข้างหน้ากูจะจำไว้แล้วคิดบัญชีผู้พิพากษาชั่วทุกคน" -- ข้อความในจดหมายของบุ้ง หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนประกัน และสั่งจำคุกบุ้ง 1 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2567[6][7][8]

ชีวิตและการศึกษา

เนติพร เสน่ห์สังคม เกิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2538 เนติพรเติบโตขึ้นมาในครอบครัวตุลาการ โดยบิดา นายปัญจพล เสน่ห์สังคม เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา พี่สาวเป็นทนายความ[9] เนติพรศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า บทบาทที่สำคัญคือเป็นคณะกรรมการนักเรียน จากนั้นมาศึกษาต่อที่สาขาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังรับงานพิเศษเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ ระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย[10]

การเคลื่อนไหวทางสังคม

พี่สาวบุ้งเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าบุ้งมีความสนใจในการทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยที่เธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาและได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนักเรียน บุ้งเคยบอกเพื่อน ๆ ในฐานะคณะกรรมการนักเรียนเสมอว่า ต้องดูแลทรงผมให้เรียบร้อย เสื้อผ้าต้องทำให้ถูกระเบียบ แต่บุ้งก็เริ่มเอะใจว่า ทำไมมีเพื่อนที่เห็นต่าง มีเพื่อนที่คัดค้านเรื่องทรงผม บุ้งจึงฉุกคิดได้ถึงความไม่เป็นธรรมของตัวกฎระเบียบ[11]

จนเมื่อปี พ.ศ. 2557 บุ้งได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขณะที่ยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อย่างไรก็ดี เมื่อบุ้งได้เข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บุ้งได้โลกกว้างมากขึ้นจากข้อมูลชุดใหม่ผ่านสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ซึ่งมีการถกเถียงประเด็นสังคมอย่างกว้างขวางและหลากหลาย จนทำให้จุดยืนทางการเมืองเธอเปลี่ยนไปในท้ายที่สุด[12] พี่สาวของบุ้งได้ยกตัวอย่างหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้จุดยืนทางการเมืองของบุ้งเปลี่ยนแปลงไปคือเหตุการณ์ "Big Cleaning Day" กิจกรรมที่ชาว กทม. บางส่วนออกมาล้างทำความสะอาดพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หลังการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ พ.ศ. 2553 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพ และบาดเจ็บหลายพันคน ซึ่งเสมือนการทำลายหลักฐานที่จะอาจจะบ่งชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมและให้ความเป็นธรรมต่อญาติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต[13]

เมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 อรรถพันธ์ ตั้งมโนวุฒิกุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ ข้าราชการอัยการชั้น 5 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ก็ได้ยื่นฟ้องนักกิจกรรมและสื่ออิสระทั้ง 8 ราย รวมถึงบุ้งด้วย ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในฐานความผิด “ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ร่วมกันยุยงปลุกปั่นฯ, ร่วมกันขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป, ร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และร่วมกันขัดคำสั่งเจ้าพนักงานฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116, 136, 138, 140 และ 368 โดยในคำฟ้องได้มีใจความสำคัญระบุว่า[14]

กลุ่มทะลุวังทำโพสสำรวจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ในคำถามว่า คุณยินดีที่จะยกบ้านของคุณให้กับราชวงศ์หรือไม่ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2565

“จำเลยทั้งแปดกับพวก (เยาวชน) ได้ร่วมกันกระทำความผิด และต่างกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรม กล่าวคือ จำเลยทั้งแปดกับพวกดังกล่าว ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท โดยการร่วมกันทำแผ่นป้ายกระดาษสีขาวขนาดใหญ่ โดยทำให้ปรากฏข้อความที่ส่วนบนของกระดาษว่า “คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่” โดยส่วนด้านล่างของแผ่นกระดาษ ได้ทำการแบ่งออกเป็น 2 ช่อง แล้วทำให้ปรากฏข้อความที่ช่องทางด้านซ้ายมือของผู้อ่านว่า “เดือดร้อน” และที่ช่องทางด้านขวามือของผู้อ่านว่า “ไม่เดือดร้อน” ออกเผยแพร่แสดงแก่ประชาชนทั่วไป และได้แจกสติ๊กเกอร์สีเขียวเพื่อให้ประชาชนผู้สัญจรผ่านไปมาในบริเวณดังกล่าว และในละแวกใกล้เคียงที่ประสงค์แสดงความคิดเห็น นำสติ๊กเกอร์ดังกล่าวไปติดที่ช่องที่เลือก อันเป็นการสื่อความหมายเป็นการโจมตีเรื่องขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นโบราณราชประเพณีสืบต่อกันมาในการถวายความปลอดภัยให้กับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเจตนาจะสื่อไปถึงสถาบันกษัตริย์ว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นการทำให้ปรากฏข้อความ หนังสือ แก่ประชาชน อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”

ข้อวิพากษ์วิจารณ์

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เบญจมาภรณ์ นิวาส และ สุพิชฌาย์ ชัยลอม อดีตสมาชิกทะลุงวัง และเป็นผู้ต้องหา ม.112 มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย อยู่ที่ ประเทศแคนาดา ได้ออกมาเคลื่อนไหวผ่านทวิตเตอร์กล่าวหาว่าบุ้งได้มีพฤติกรรมครอบงำเด็กมาร่วมกิจกรรม พลอยอ้างว่าตนถูกบังคับบงการ (manipulate) และขูดรีดผลประโยชน์จากการเคลื่อนไหวในฐานะเยาวชน โดยเฉพาะเคลื่อนไหวการชุมนมแต่ละครั้ง เพื่อนำไปเรียกรับทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย[15] ในขณะที่ ธนลภย์ ผลัญชัย ใช้พื้นที่เฟซบุ๊กส่วนตัวยืนยันว่า บุ้งคือคนที่สนับสนุนเธอ ดูแลเธอเป็นอย่างดี เสนอให้พักการทำกิจกรรมตลอด และเป็นเธอเองที่ขอไปอาศัยอยู่ด้วย นอกจากนี้ มีนักกิจกรรมรายอื่นๆ ออกมาแสดงข้อคิดเห็นเชิงสนับสนุนบุ้งด้วย เช่น ใบปอ—ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ สมาชิกทะลุวังและนักกิจกรรมที่เคยอดอาหารร่วมกับบุ้งระหว่างถูกคุมขัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า บุ้งไม่เคยบังคับและบงการใคร เพราะบุ้งเชื่อว่าทุกคนมีสติปัญญาเป็นของตัวเอง ขณะที่ อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรมกลุ่มนักเรียนเลว ที่เคลื่อนไหวกับบุ้งและหยกอยู่บ่อยครั้ง โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เคยเคลื่อนไหวกับบุ้ง แต่ไม่เคยถูกบังคับให้ทำกิจกรรม[16]

การเสียชีวิตและปฏิกิริยาจากสังคม

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 บุ้งได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจากอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน โดยนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับการยืนยันจากครอบครัวของบุ้งว่าบุ้งมีอาการทรุดลงจนตรวจสัญญาณชีพไม่พบ คาดว่าเกิดการการอดอาหารเป็นเวลานานก่อนหน้านี้[17] ทางด้านนายกิตติธัช ศรีอำรุง และ นางสาวณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ แนวร่วมของกลุ่มทะลุวังได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันการเสียชีวิตของบุ้ง โดยใบปอกล่าวว่า “วันนี้เป็นที่ทราบกันในสังคมว่า 112 ได้พรากชีวิตพี่บุ้งไปเรียบร้อยแล้ว”'' ส่วนนายกิตติธัช ในนามตัวแทนของเพื่อนบุ้ง ได้ยืนหยัดข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1. ประเทศไทยไม่ควรที่จะได้เป็นสมาชิกคณะมนตรีว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 2. ประเทศควรที่จะมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ประเทศไทย นักโทษคดี112 และนักโทษทางการเมือง ควรจะได้รับสิทธิการประกันตัว และ 3. ไม่ควรมีผู้เห็นต่างทางการเมืองจะต้องมาติดคุกอีก นายกิตติธัชยังทิ้งท้ายด้วยว่าอยากเรียกร้องในจุดยืน 3 ข้อนี้ในสังคมไทย และอยากสานต่อเจตนารมณ์ของบุ้ง โดยไม่อยากให้ข้อเรียกร้องนี้สูญเปล่า[18]

ในขณะเดียวกัน บัญชีโซเชียลมีเดียของพรรคก้าวไกลได้โพสต์ข้อความแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของบุ้ง และเน้นย้ำว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนต้องได้รับการรับรองในสังคมประชาธิปไตย รวมถึงกล่าวถึงหลักการว่าไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง ไม่ควรมีใครถูกปฏิเสธสิทธิในการได้รับประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง และไม่ควรมีใครถูกผลักให้ต้องต่อสู้ด้วยวิธีการที่เสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิต ก่อนทิ้งท้ายว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อหาทางออกต่อความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตและที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองที่อยู่ระหว่างต่อสู้คดี การเร่งพิจารณากระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุทางการเมือง และฟื้นความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมสำหรับประชาชนทุกคน[19] ทางด้าน พรรณิการ์ วานิช ได้ออกมาตั้งคำถามว่าต้องรอให้มีคนตายก่อนหรือ ถึงจะทำให้สังคมตระหนักว่าคนเห็นต่างไม่สมควรตายหรือติดคุก และสิทธิการประกันตัวเป็นของทุกคน หรือแม้แต่มีคนตายแล้ว ก็จะยังไม่เข้าใจ ไม่รับรู้กันอีก พร้อมทั้งย้ำว่าปัจจุบันยังมีอีกหลายคนยังอยู่ในคุกที่ไม่ได้ประกัน และยังมีคนอีก 3 คนที่อดอาหารประท้วงอยู่ในเรือนจำ[20] ส่วนรังสิมันต์ โรม นอกจากได้แสดงความเสียใจจากการจากไปของบุ้งแล้ว เขายังกล่าวด้วยว่าไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับการแสดงออกของบุ้ง แต่สิทธิในการประกันตัว เป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ เพื่อให้สามารถต่อสู้ได้อย่างเต็มที่ ความสูญเสียเช่นนี้ มาจากการถอนประกันโดยไม่เข้าเหตุตามกฎหมาย ต้องถามไปที่ผู้วินิจฉัยกฎหมาย ว่าจะรับผิดชอบอย่างไรที่มีผู้เสียชีวิต[21] ขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้กล่าวว่าไม่ควรมีใครควรต้องถูกคุมขังเพียงเพราะความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ควรมีใครต้องเสียชีวิต เพียงเพราะการคิดที่แตกต่างกัน สิทธิการประกันตัว คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับจากรัฐ[22]

ส่วนพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จากพรรคประชาชาติ ได้รายงานเหตุการณ์ดังกล่าวให้แก่นาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการแสดงความเห็นหรือแถลงการณ์ใดจากพรรคเพื่อไทย[23] มีเพียง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาแสดงความเสียใจและทิ้งท้ายว่าไม่ควรมีใครเสียชีวิตเพราะความคิดที่แตกต่าง ตนหวังให้เหตุการณ์นี้เป็นกรณีสุดท้าย และขอปล่อยเด็ก ๆ ที่เหลือออกมา [24]

ในขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แสดงความเสียใจต่อบุ้งที่เรียกร้องเรียกร้องให้มีการปฏิรูป กระบวนการยุติธรรมและคืนสิทธิ์ประกันตัว ให้นักโทษคดีการเมือง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการตรวจสอบสาเหตุการตายของบุ้งอย่างโปร่งใสและยุติธรรม พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมรวมกลุ่มเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน[25] ในวันเดียวกัน นักการทูตแลสถานทูตต่าง ๆ ในประเทศไทยได้แก่ Robert F. Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย Jon Thorgaard เอกอัคราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย David Daly เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ได้ออกมาแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของบุ้งเช่นกัน[26][27][28][29] ส่วน Ernst Reichel เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย นอกจากจะแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของบุ้งแล้ว ยังได้ย้ำว่ากรณีดังกล่าวเป็นโศกนาฏกรรมของเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เกิดขึ้นระหว่างถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดีโดยไม่มีการประกันตัว หลังจากการอดอาหารประท้วงเป็นเวลานาน[30]

ส่วนทางด้านภาคประชาชน ภายหลังที่ทราบข่าว ประชาชนและนักกิจกรรมจำนวนมากเข้าร่วมการนัดจุดเทียนหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที เพื่อรำลึกถึงบุ้ง[31]ในวันที่ 16 พฤษภาคม มีผู้เข้าร่วมงานสวดอภิธรรมอาทิ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ธิษะณา ชุณหะวัณ ชัยธวัช ตุลาธน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล วันที่ 17 พฤษภาคม พันตำรวจโท ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมเนื่องจากบิดาของเนติพร เป็นผู้พิพากษา วันที่ 18 พฤษภาคม ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมในพิธี กำหนดวันฌาปนกิจวันที่ 19 พฤษภาคม ณ วัดสุทธาโภชน์

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "ประวัติ 'บุ้ง ทะลุวัง' สาว 'นักกิจกรรมทางการเมือง' จากไปในวัยเพียง28ปี". 2024-05-14.
  2. "เปิดประวัติ "บุ้ง ทะลุวัง" จากม็อบ กปปส. โตในบ้านผู้พิพากษา สู่นักโทษคดี ม.112". www.thairath.co.th. 2024-05-14.
  3. "ม. 112 : เปิดใจพี่สาว "บุ้ง ทะลุวัง" จากหนุน กปปส. สู่นักกิจกรรมทำโพลล์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2024-05-14.
  4. https://www.matichon.co.th/politics/news_4575873#google_vignette
  5. 5.0 5.1 "บุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิตแล้ว หลังอดอาหารประท้วง-ถูกคุมขังในเรือนจำเป็นวันที่ 110". BBC News ไทย. 2024-05-14.
  6. "Facebook". www.facebook.com.
  7. Thosapol (2024-05-14). "ประวัติ "บุ้ง ทะลุวัง" เส้นทางชีวิต จากลูกตุลาการ สู่ผู้ต้องหา ม.112". Thaiger ข่าวไทย.
  8. "ศาลสั่งถอนประกัน ม. 112 'บุ้ง-เนติพร' ละเมิดอำนาจศาล จำคุก 1 เดือน ไม่รอลงโทษ | ประชาไท Prachatai.com". prachatai.com. 2024-05-15.
  9. "ไทม์ไลน์ "บุ้ง ทะลุวัง" อดอาหาร 110 วัน ช็อกหัวใจหยุดเต้น". Thai PBS.
  10. "เปิดประวัติ "บุ้ง ทะลุวัง" จากม็อบ กปปส. โตในบ้านผู้พิพากษา สู่นักโทษคดี ม.112". www.thairath.co.th. 2024-05-14.
  11. "ไทม์ไลน์ "บุ้ง ทะลุวัง" อดอาหาร 110 วัน ช็อกหัวใจหยุดเต้น". Thai PBS.
  12. "ม. 112 : เปิดใจพี่สาว "บุ้ง ทะลุวัง" จากหนุน กปปส. สู่นักกิจกรรมทำโพลล์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2024-05-14.
  13. "ม. 112 : เปิดใจพี่สาว "บุ้ง ทะลุวัง" จากหนุน กปปส. สู่นักกิจกรรมทำโพลล์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2024-05-14.
  14. "ยื่นฟ้อง "ม.112 - ม.116" 8 นักกิจกรรม - สื่ออิสระ แล้ว กรณีทำ "โพลขบวนเสด็จ" ที่พารากอน ก่อนศาลต่อประกัน 6 ราย โดยติด EM แต่ยังไม่ให้ประกัน "ใบปอ - บุ้ง" จากกลุ่มทะลุวัง | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน". 2022-06-02.
  15. "อดีต "ทะลุวัง" ยัน จริง แฉ "บุ้ง" ครอบงำเด็ก เรียกรับเงินสนับสนุนต่างประเทศ". www.thairath.co.th. 2023-08-09.
  16. "เกิดอะไรขึ้นในกลุ่ม 'ทะลุวัง' ? สรุปกรณีกลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกตั้งคำถามปมสวัสดิภาพ 'หยก'". The MATTER (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-08-09.
  17. https://www.pptvhd36.com (2024-05-14). ""บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิตแล้ว หลังหัวใจหยุดเต้น". pptvhd36.com. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)
  18. https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_8231747
  19. "พรรค ก้าวไกล เสียใจกรณี บุ้ง ทะลุวัง ยืนยันหลักสิทธิประกันตัว-สร้างพื้นที่ปลอดภัย". THE STANDARD. 2024-05-14.
  20. https://twitter.com/Pannika_FWP/status/1790255354707894522?ref_src=twsrc%5Etfw%7Ctwcamp%5Etweetembed%7Ctwterm%5E1790255354707894522%7Ctwgr%5E7f8b5643b36cda1e063bb43b38c7303d245a5b60%7Ctwcon%5Es1_&ref_url=https%3A%2F%2Fwww.matichon.co.th%2Fpolitics%2Fnews_4575184
  21. หยู (2024-05-14). "สส.รังสิมันต์ ถามหาคนรับผิดชอบ 'บุ้ง' เสียชีวิต".
  22. หยู (2024-05-14). "สส.วิโรจน์ เศร้า 'บุ้ง ทะลุวัง' เสียชีวิตเพียงเพราะการคิดที่แตกต่างกัน".
  23. https://www.pptvhd36.com (2024-05-14). ""ทวี" รายงานนายกฯ "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิต". pptvhd36.com. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)
  24. "ณัฐวุฒิ-พรรณิการ์ อาลัย บุ้ง เนติพร ย้ำ ไม่ควรมีคนตายเพราะความเห็นต่าง". THE STANDARD. 2024-05-14.
  25. https://twitter.com/OHCHRAsia/status/1790373348398272520
  26. https://twitter.com/USAmbThailand/status/1790341458614165640
  27. https://twitter.com/DKAMBinThailand/status/1790324395002458412
  28. https://twitter.com/SwedeninTH/status/1790331835329007989
  29. https://twitter.com/DavidDalyEU/status/1790313677662654478
  30. https://twitter.com/GermanAmbTHA/status/1790310655461073121
  31. https://www.matichon.co.th/politics/news_4575873#google_vignette
Kembali kehalaman sebelumnya