Share to:

 

แวร์นแฮร์ ฟ็อน เบราน์

แวร์นแฮร์ ฟ็อน เบราน์
เกิด23 มีนาคม ค.ศ. 1912(1912-03-23)
มณฑลโพเซิน จักรวรรดิเยอรมัน (ปัจจุบันอยู่ในโปแลนด์)
เสียชีวิต16 มิถุนายน ค.ศ. 1977(1977-06-16) (65 ปี)
รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐ
พลเมืองเยอรมัน
สหรัฐ (หลัง ค.ศ. 1955)
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน
อาชีพวิศวกรและผู้ออกแบบจรวด, ผู้จัดการโครงการอวกาศ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไรช์เยอรมัน
แผนก/สังกัด เอ็สเอ็ส
ประจำการค.ศ. 1937–1945
ชั้นยศ นายกองตรี (Sturmbannführer)

แวร์นแฮร์ มัคนุส มัคซีมีลีอาน ไฟรแฮร์ ฟ็อน เบราน์ (เยอรมัน: Wernher Magnus Maximilian, Freiherr von Braun) หรือ เวอร์เนอร์ ฟอน บราวน์ เป็นวิศวกรและสถาปนิกอวกาศชาวเยอรมัน เขาเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีจรวดในเยอรมนี และได้รับการยกย่องเป็น "บิดาแห่งจรวดและวิทยาศาสตร์อวกาศ" ในสหรัฐอเมริกา

ประวัติ

แวร์นแฮร์ ฟ็อน เบราน์ เกิดในเมืองชนบทที่ชื่อว่าเวียร์ซิทซ์ในมณฑลโพเซินของจักรวรรดิเยอรมัน (ปัจจุบันคือเมืองวือชึสก์ จังหวัดวีแยลกอปอลสกา ประเทศโปแลนด์) เป็นบุตรคนที่สองในสามคนของครอบครัวขุนนางเยอรมัน เขามีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่แรกเกิดเป็น ไฟรแฮร์ (Freiherr) ซึ่งเทียบเท่าบารอน แม้ว่าระบบขุนนางตลอดจนอภิสิทธิ์ต่าง ๆ จะถูกล้มเลิกไปใน ค.ศ. 1919 แต่ทางการก็ยังอนุญาตให้นำยศเดิมมาเป็นส่วนหนึ่งของนามสกุล

บิดาของเขาคือมัคนุส ไฟรแฮร์ ฟ็อน เบราน์ (Magnus Freiherr von Braun) ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการและเป็นรัฐมนตรีเกษตราธิการของเยอรมนีในช่วงสาธารณรัฐไวมาร์ ส่วนมารดาของเขา เอ็มมึ ฟ็อน ควิสทอร์พ (Emmy von Quistorp) ก็มาจากตระกูลเก่าแก่ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าฟีลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศส, พระเจ้าวัลเดอมาร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก, พระเจ้ารอเบิร์ตที่ 3 แห่งสกอตแลนด์ และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ[1][2]

เบราน์เริ่มมีความสนใจด้านดาราศาสตร์ ตั้งแต่ที่เขาได้รับกล้องดูดาวเป็นของขวัญจากมารดาในวัยเด็ก เขามีผลการเรียนเป็นเลิศในวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ เขาเริ่มสนใจเรื่องจรวดและต้องการเป็นวิศวกรจรวด ส่วนหนึ่งเนื่องจากสนธิสัญญาแวร์ซายใน ค.ศ. 1919 ที่ทำขึ้นหลังเยอรมนีพ่ายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไม่ได้ถือว่าจรวดเป็นหนึ่งในอาวุธที่ห้ามครอบครองในเยอรมนี

การทำงาน

แวร์นแฮร์ ฟ็อน เบราน์ (ชุดสูท) กับทหารเยอรมันระดับสูง ที่เพเนอมึนเดอ เยอรมนี ค.ศ. 1941

เบราน์เข้าร่วมกับพรรคนาซีในปี 1937 และทำงานในโครงการจรวดของเยอรมนีที่เมืองเพเนอมึนเดอ (Peenemünde) ติดกับทะเลบอลติก เขาช่วยออกแบบและสร้างจรวด V-2 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้เข้าสังกัดหน่วยเอ็สเอ็สในปี 1940 และได้รับยศนายหมวดตรี (Untersturmführer) ในหน่วยอัลเกอไมเนอ เอ็สเอ็ส[3]: 47 [4] เขาให้การกับทางการสหรัฐภายหลังสงครามว่า ที่เขามียศในเอ็สเอ็สก็เพราะเป็นคำสั่งของฮิมเลอร์ ตัวเขานั้นวุ่นวายกับการออกแบบจรวดเกินกว่าจะไปยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมืองใด ๆ เขาอธิบายว่าการที่ยศเอ็สเอ็สเขาสูงขึ้นนั้นเพราะเป็นการเลื่อนขั้นตามระเบียบปกติ[5]

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง เขาและนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเยอรมันราว 1,600 คนถูกพาตัวไปยังสหรัฐอย่างลับ ๆ ซึ่งเรียกแผนการนี้ว่าปฏิบัติการคลิปหนีบกระดาษ เขาทำงานในโครงการพัฒนาขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยปานกลางให้กับกองทัพบกสหรัฐ และยังช่วยพัฒนาจรวดเพื่อใช้ส่งดาวเทียมเอกซ์พลอเรอร์ 1 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐ กลุ่มของเขาถูกโอนย้ายไปทำงานให้กับองค์การนาซา เขาได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของศูนย์การบินอวกาศมาร์แชลซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ และยังเป็นสถาปนิกใหญ่ของจรวดแซเทิร์นที่ห้า (Saturn V) ซึ่งนำส่งยานอะพอลโลไปยังดวงจันทร์

ในปี 1975 เบราน์ได้รับเหรียญแห่งชาติสาขาวิทยาศาสตร์ เขายังเป็นผู้ให้การสนับสนุนภารกิจทางอวกาศสู่ดวงจันทร์

อ้างอิง

  1. "Von Braun, Wernher" เก็บถาวร กรกฎาคม 19, 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Erratik Institut. Retrieved 4 February 2011
  2. "Dr. Wernher von Braun'i mälestuseks", Füüsikainstituut. Retrieved 4 February 2011
  3. Ward, Bob (2009). Dr. Space: The Life of Wernher von Braun. US Naval Institute Press. ISBN 978-1591149279.
  4. "Wernher von Braun FBI file".
  5. Dr. Space, p. 35. "Wernher von Braun in SS uniform". The Reformation Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-01. สืบค้นเมื่อ 2018-10-30.

แหล่งข้อมูลอื่น

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Wernher von Braun

Kembali kehalaman sebelumnya