Share to:

 

โรมันคาทอลิกในประเทศไทย


โรมันคาทอลิกในประเทศไทย
ประเภทองค์การระดับชาติ
กลุ่มโรมันคาทอลิก
ความโน้มเอียงศาสนาคริสต์ในเอเชีย
คัมภีร์คัมภีร์ไบเบิล
เทววิทยาเทววิทยาคาทอลิก
สันตะปาปาฟรานซิส
ประธานสภาชูศักดิ์ สิริสุทธิ์
เอกอัครสมณทูตปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์
ภูมิภาคประเทศไทย
ภาษาไทย, ละติน
ศูนย์กลางสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย
สมาชิก406,201 (0.58%)
เว็บไซต์ทางการเว็บไซต์คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทย
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ระหว่างเสด็จเยือนประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019)

คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย หรือที่ชาวคาทอลิกเรียกโดยย่อว่า พระศาสนจักรในประเทศไทย เป็นประชาคมของคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก มีการปกครองตนเองภายใต้การควบคุมของสันตะสำนัก[1] ตามสถิติคาทอลิกในประเทศไทย พ.ศ. 2566 มีชาวคาทอลิกอยู่ราว 406,201 คน และมีโบสถ์คาทอลิก 532 แห่ง[2]

ประวัติการเผยแพร่

ตลอดประวัติศาสตร์คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทย สามารถจำแนกได้เป็น 3 ยุค ดังนี้

ยุคปาโดรอาโด

ยุคปาโดรอาโด (Padroadro) ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2054 - 2212 (ค.ศ. 1511 – 1669)

ปาโดรอาโด เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างคริสตจักรคาทอลิกกับรัฐคาทอลิกในยุโรป ให้รัฐเหล่านั้นมีอำนาจในการบริหารและสนับสนุนคริสตจักรภายในเขตอธิปไตยของตน เมื่อโปรตุเกสและสเปนขยายอาณานิคมไปทั่วโลก ทำให้สิทธิ์ตามสัญญานี้ขยายไปทั่วโลกไปด้วย และทำให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างทั้งสองรัฐเพราะต่างก็ต้องการรักษาผลประโยชน์ของตน สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 จึงทรงให้แบ่งโลกเป็นสองส่วน แล้วยกดินแดนซีกโลกตะวันออกทั้งหมดให้โปรตุเกสมีอำนาจปกครองทั้งทางการเมืองและทางศาสนา[3] แต่เนื่องจากโปรตุเกสเป็นชาติเล็ก มีประชากรน้อย การปกครองอาณานิคมจำนวนมากจึงต้องอาศัยอาสาสมัครจากต่างชาติเข้าร่วม รวมทั้งงานด้านศาสนาด้วย คริสต์ศาสนาซึ่งเข้าสู่สยามครั้งแรกจึงเป็นนิกายคาทอลิกโดยโปรตุเกส และปรากฏหลักฐานว่ามีมิชชันนารีคู่แรกเป็นบาทหลวงคณะดอมินิกัน 2 ท่าน คือบาทหลวงเยโรนีโมแห่งไม้กางเขน (Jeronimo da Cruz) และบาทหลวงเซบาสตีอาวแห่งกันโต (Sebastiao da canto) ซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2110 (ค.ศ. 1567)[4] ทั้งสองทำหน้าที่สอนศาสนาให้ชาวโปรตุเกสรวมทั้งชาวพื้นเมืองที่เป็นภรรยา เมื่อท่านทั้งสองเริ่มมีอิทธิพลในสังคมไทยก็ถูกชาวมุสลิมที่อิจฉาริษยาทำร้ายร่างกาย[5] บาทหลวงเยโรนีโมเสียชีวิต ส่วนบาทหลวงเซบาสตีอาวบาดเจ็บสาหัส จึงขอพระบรมราชานุญาตพามิชชันนารีจากมะละกามาเพิ่มเติม ต่อมาจึงมีมิชชันนารี 3 คนทำงานในสยาม ต่อมามิชชันนารีทั้งสามคนเสียชีวิตพร้อมกันเพราะถูกทหารพม่าฆ่าตายขณะกำลังอธิษฐานในอยู่ในโบสถ์ระหว่างการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งปี ค.ศ. 1569

เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ ก็มีมิชชันนารีซึ่งเป็นนักบวชจากคณะนักบวชคาทอลิกต่าง ๆ เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในสยาม เช่น คณะดอมินิกัน (ซึ่งเข้ามาก่อนแล้ว) คณะฟรันซิสกัน (ในปี พ.ศ. 2125 หรือ ค.ศ. 1582) คณะเยสุอิต (พ.ศ. 2150 หรือ ค.ศ. 1607) คณะออกัสติเนียน (พ.ศ. 2220 หรือ ค.ศ. 1677)

แม้ว่าจะพยายามเผยแพร่คริสต์ศาสนาในกลุ่มชาวสยาม แต่เนื่องจากปัญหาด้านภาษา และขาดความเข้าใจเรื่องสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ประกอบกับการดำเนินงานภายใต้สิทธิปาโดรอาโดของโปรตุเกสมีข้อจำกัด คือมิชชันนารีในอาณัติมีแตกต่างกันไปหลายเชื้อชาติและคณะ ทำให้การดำเนินงานไม่เป็นเอกภาพ และมีการวิวาทกันเองบ่อยครั้ง ทำให้การแผยแพร่กับคนสยามในระยะนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เหล่ามิชชันนารีจึงหันไปมุ่งงานอภิบาล (pastoral work) คนในอาณัติโปรตุเกสแทน[6]

ปัญหาข้างต้นทำให้สันตะสำนักหาทางแก้ปัญหาโดยตั้งสมณะกระทรวงการเผยแพร่ความเชื่อ (Sacred Congregation for the Propagation of the Faith) หรือ โปรปากันดา ฟีเด (Propaganda Fide) เพื่อให้การเผยแพร่ศาสนาและปกครองคริสจักรที่สิทธิ์ปาโดรอาโดยังไปไม่ถึงได้ขึ้นกับสมณะกระทรวงนี้แต่เพียงแห่งเดียวโดยตรง และเมื่อทราบว่าคริสตจักรทางตะวันออกไกลต้องการให้มีผู้แทนพระสันตะปาปาไปปกครอง สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 จึงแต่งตั้งบาทหลวง 3 ท่านเป็นมุขนายกเกียรตินามและผู้แทนพระสันตะปาปาประมุขมิสซังต่าง ๆ ดังนี้

  1. ฟร็องซัว ปาลูว์ (Francois Pallu) เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่งเฮลีโอโปลิส (Heliopolis) และประมุขมิสซังตังเกี๋ย โดยรวมลาวและห้ามณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนอยู่ในปกครองด้วย
  2. ปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต (Pierre Lambert de la Motte) เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่งเบรุต (Beirut) และประมุขมิสซังโคชินไชนา
  3. อีญัส กอตอล็องดี (Ignace Cotolendi) เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่งเมเตลโลโปลิส (Metellopolis) และประมุขมิสซังหนานจิง โดยรวมมณฑลทางภาคอีสานของจีนตลอดทั้งเกาหลีอยู่ในปกครองด้วย ต่อมามุขนายกท่านนี้ได้ถึงแก่กรรมเสียในระหว่างทาง

มุขนายกทั้งสามได้ตั้งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสขึ้นเพื่อฝึกหัดบาทหลวงที่จะไปเป็นมิชชันนารีในภูมิภาคตะวันออกไกล เมื่อมิชชันนารีเหล่านี้เดินทางมาถึงก็ได้ข่าวว่ากำลังมีการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนในจีนและญวน คณะทั้งหมดจึงตัดสินใจพำนักที่กรุงศรีอยุธยาเพราะทราบว่ากษัตริย์ไทย (ขณะนั้นคือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) มีไมตรีกับชาติตะวันตก จากนั้นจึงดำเนินการเผยแพร่ศาสนาทันที

คณะมิชชันนารีได้จัดซีโนด (Synod) ขึ้นที่อยุธยา ได้ข้อสรุปการทำงานดังนี้[7]

การเผยแพร่ศาสนาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับมิชชันนารีฝ่ายปาโดรอาโด พระคุณเจ้าล็องแบร์จึงส่งบาทหลวงฌ็อง เดอ บูร์ช ไปแจ้งปัญหาแก่สันตะสำนัก ในที่สุดโรมจึงตั้งมิสซังสยามขึ้นในปี พ.ศ. 2212 (ค.ศ. 1669) ให้อยู่ภายใต้การปกครองของประมุขมิสซังซึ่งพระคุณเจ้าทั้งสองเลือกเอง จึงถือเป็นการสิ้นสุดยุคปาโดรอาโด

ยุคเขตผู้แทนพระสันตะปาปา

พระคุณเจ้าปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต มุขนายกคาทอลิกองค์แรกที่เดินทางมาถึงสยาม

ยุคโปรปากันดาฟีเด หรือ ยุคเขตผู้แทนพระสันตะปาปาครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2212 - 2508 (ค.ศ. 1669 – 1965)

เมื่อสันตะสำนักตั้งมิสซังสยามเป็นเขตผู้แทนพระสันตะปาปาแล้ว ก็ให้มุขนายกทั้งสองท่านอภิเษกบาทหลวงคนหนึ่งขึ้นเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาประจำกรุงสยาม (Vicar apostolic of Siam) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าประมุขมิสซังสยาม ทั้งสองตัดสินใจเลือกบาทหลวงหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) ซึ่งเป็นมิชชันนารีในคณะของมุขนายกปาลูว์เป็นประมุขมิสซังสยามคนแรก นับจากนั้นมาก็มีประมุขมิสซังสืบงานต่อมาดังนี้

  1. หลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2216 - 2239 (ค.ศ. 1673-1696)
  2. หลุยส์ ช็องปียง เดอ ซีเซ (Louis Champion de Cicé) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2243 - 2270 (ค.ศ. 1700-1727)
  3. ฌ็อง-ฌัก เตสซีเย เดอ เกราแล (Jean-Jacques Tessier de Quéralay) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2270 - 2279 (ค.ศ. 1727-1736)
  4. ฌ็อง เดอ ลอลีแยร์-ปุยกงตา (Jean de Lolière-Puycontat) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2281 - 2298 (ค.ศ. 1738-1755)
  5. ปีแยร์ บรีโก (Pierre Brigot) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2298 - 2310 (ค.ศ. 1755-1767)
  6. โอลีวีเย-ซีมง เลอ บง (Olivier-Simon Le Bon) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2311 - 2323 (ค.ศ. 1768-1780)
  7. โฌแซ็ฟ-หลุยส์ กูเด (Joseph-Louis Coudé) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2325 - 2328 (ค.ศ. 1782-1785)
  8. อาร์โน-อ็องตวน การ์โนล (Arnaud-Antoine Garnault) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2329 - 2353 (ค.ศ. 1786-1810)
  9. แอสพรี-มารี-โฌแซ็ฟ โฟลร็อง (Esprit-Marie-Joseph Florens) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2354 - 2377 (ค.ศ. 1811-1834)
  10. ฌ็อง-ปอล-อีแลร์-มีแชล กูร์เวอซี (Jean-Paul-Hilaire-Michel Courvezy) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2377 - 2384 (ค.ศ. 1834-1841)

ในปี พ.ศ. 2384(ค.ศ. 1841) สันตะสำนักได้แบ่งมิสซังสยามออกเป็น 2 เขตผู้แทนพระสันตะปาปา คือมิสซังสยามตะวันออกซึ่งครอบคลุมพื้นที่อาณาจักรสยามและลาว และมิสซังสยามตะวันตกซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกาะสุมาตรา แหลมมลายู และพม่าใต้ โดยมุขนายกกูร์เวอซี ย้ายไปเป็นประมุขมิสซังสยามตะวันตก ประจำอยู่ที่สิงคโปร์ ส่วนมิสซังสยามตะวันออกได้อภิเษกบาทหลวงปาลกัว อดีตมุขนายกรองประมุขมิสซัง ขึ้นเป็นประมุขมิสซังสยามตะวันตกแทนสืบมา เขตผู้แทนพระสันตะปาปาประจำมิสซังสยามตะวันออกมีลำดับประมุขดังนี้

  1. ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว (Jean-Baptiste Pallegoix) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2384 - 2405 (ค.ศ. 1841-1862)
  2. แฟร์ดีน็อง-แอเม-โอกุสแต็ง-โฌแซ็ฟ ดูว์ป็อง (Ferdinand-Aimé-Augustin-Joseph Dupond) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2407 - 2415 (ค.ศ. 1864-1872)
  3. ฌอง หลุยส์ เวย์ (Jean-Louis Vey) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2418 - 2452 (ค.ศ. 1875-1909)
  4. เรอเน แปร์รอส (René-Marie-Joseph Perros) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2452 - 2490 (ค.ศ. 1909-1947)

ในปี ค.ศ. 1924 มิสซังสยามตะวันออกถูกเปลี่ยนชื่อเป็นมิสซังกรุงเทพฯ[8] พระคุณเจ้าแปร์รอสยังรั้งตำแหน่งประมุขมิสซัง และมีประมุขมิสซังกรุงเทพฯ สืบทอดต่อมาอีกดังนี้

  • 5. หลุยส์ โชแรง (Louis-August-Clément Chorin) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2490 - 2508 (ค.ศ. 1947-1965)
  • 6. ยอแซฟ ยวง นิตโย ปกครองมิสซังตั้งแต่ 29 เม.ย. – 18 ธ.ค. พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965)

ในปี พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) สันตะสำนักได้แยกลาวออกไปตั้งเป็นมิสซังลาว ต่อมาปี พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) พื้นที่ราชบุรีได้ถูกยกขึ้นเป็นมิสซังเขตผู้แทนพระสันตะปาปา ตามด้วยจันทบุรีก็ได้เป็นมิสซังมิสซังเขตผู้แทนพระสันตะปาปาในปี พ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944) ส่วนมิสซังลาวต่อมาเหลือพื้นที่เฉพาะภาคอีสานของไทยแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นมิสซังท่าแร่ ต่อมาในปี ค.ศ. 1953 ได้ตั้งอุบลราชธานีเป็นมิสซังเขตผู้แทนประสันตะปาปาและอุดรธานีเป็นมิสซังเขตหัวหน้าจากสันตะสำนัก ตั้งเชียงใหม่เป็นมิสซังเขตหัวหน้าจากสันตะสำนักในปี ค.ศ. 1959 ทำให้ในช่วงท้ายยุคโปรปากันดาฟีเด ศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยประกอบด้วยมิสซังถึง 7 มิสซังซึ่งมีสถานะเป็นเขตผู้แทนพระสันตะปาปา 5 มิสซัง และเขตหัวหน้าจากสันตะสำนัก 2 มิสซัง

ตลอดยุคเขตผู้แทนพระสันตะปาปา การเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก มีทั้งช่วงที่เป็นปกติเรียบร้อย และช่วงที่ถูกเบียดเบียน สาเหตุเป็นเพราะนิกายคาทอลิกมีภาพลักษณ์ว่าเป็นศาสนาของชาติตะวันตกและเป็นสัญลักษณ์ของอิทธิพลตะวันตกที่แพร่หลายในสังคมไทย เมื่อการเมืองไทยอยู่ในภาวะตึงเครียดเพราะความขัดแย้งกับชาติฝรั่งเศส คริสตจักรคาทอลิกในสยามซึ่งมีผู้ปกครองมิสซังเป็นคนชาติฝรั่งเศสก็ถูกเบียดเบียนไปด้วย เช่น การรัฐประหารตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีการกวาดล้างอิทธิพลของฝรั่งเศสในการเมืองไทย ทรัพย์สินของมิสซังสยามได้ถูกยึด พระคุณเจ้าลาโน และมิชชันนารีหลายคนถูกจับขังคุกและทรมานร่างกาย เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติทุกคนจึงถูกปล่อยตัว และคืนทรัพย์สินให้มิสซัง[9] ต่อมาในปี พ.ศ. (ค.ศ. 1940 - 1941) เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนหรือสงครามระหว่างไทย – ฝรั่งเศส ทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้านฝรั่งเศสรวมทั้งศาสนาคริสต์ด้วย มีชาวคาทอลิกถูกข่มเหงต่าง ๆ การเบียดเบียนที่รุนแรงที่สุดคือ การสังหารชาวอีสานคาทอลิก 7 คนที่หมู่บ้านสองคอน โดยมีนักพรตหญิง ฆราวาสหญิง และเด็กรวมอยู่ในนี้ด้วย ต่อมาผู้พลีชีพทั้งหมดได้รับประกาศให้เป็นบุญราศีและเป็นมรณสักขีแห่งสองคอน

นอกจากนี้วิธีการเผยแพร่ศาสนาก็เป็นต้นเหตุสำคัญให้นิกายคาทอลิกถูกต่อต้าน กล่าวคือมิชชันนารีมักใช้วิธีเหยียดหยามศาสนาท้องถิ่น เช่น มีการพิมพ์เผยแพร่หนังสือชื่อ “ปุจฉาวิสัชนา” ซึ่งแต่งโดยมุขนายกลาโน มีเนื้อหาเปรียบเทียบศาสนาคริสต์ – ศาสนาพุทธ ชี้ให้เห็นความเหนือกว่าของศาสนาคริสต์ ดูหมิ่นพุทธศาสนา ทันทีหนังสือเล่มนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกก็สร้างความไม่พอใจให้กับราชการไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงเรียกบาทหลวง 3 คนขึ้นศาลไต่สวน ที่สุดมีพระราชโองการห้ามไม่ให้ใช้ภาษาไทยในการเผยแพร่ศาสนา ห้ามคนไทย มอญ และลาวเข้ารีตศาสนาคริสต์ และห้ามมิให้มิชชันนารีติเตียนศาสนาของคนไทย มิชชันนารีที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกเฆี่ยนแล้วเนรเทศ[10] ส่งผลให้การเผยแพร่ศาสนาแก่คนไทยในยุคนั้นต้องหยุดชะงักไป ต่อมาในรัชกาลที่ 3 พระคุณเจ้าปาลกัวให้พิมพ์หนังสือนี้ออกเผยแพร่อีก พอถึง พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) สมัยจอมพลสฤษฎิ์ ก็มีการเผยแพร่หนังสือดังกล่าวอีกครั้ง ตำรวจจึงเรียกบาทหลวง 3 คนไปสอบสวน หนังสือถูกยึด ภายหลังก็สงบลง[11]

แม้คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทยจะประสบปัญหาในบางช่วง แต่โดยภาพรวมก็ถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ช่วงที่ถูกห้ามเผยแพร่ศาสนาให้คนสยาม ก็ได้แผยแพร่ให้คนต่างชาติในสยามแทนจนเกิดโบสถ์คาทอลิกขึ้นหลายแห่ง เช่น วัดคอนเซ็ปชัญของชาวเขมร วัดซางตาครู้สของชาวจีน เป็นต้น เมื่อได้รับเสรีภาพในการประกาศศาสนาก็ทำให้การดำเนินงานสะดวกขึ้น มีการตั้งโรงเรียน วิทยาลัย และโรงพยาบาลขึ้นหลายแห่งภายใต้การบริหารงานของคณะนักบวชคาทอลิกคณะต่าง ๆ[11]

ยุคมุขมณฑล

พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พระคาร์ดินัลองค์แรกของประเทศไทย

เมื่อเห็นว่ากิจการของคริสตจักรในประเทศไทยก้าวหน้าเป็นอย่างดี สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ก็ได้ยกสถานะมิสซังทั้งหลายในประเทศไทยขึ้นเป็นมุขมณฑล (diocese) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) โดยแบ่งเป็นสองภาคคริสตจักร (ecclesiastical province)[12] คือ

  1. ภาคกรุงเทพฯ ประกอบด้วยเขตมิสซังกรุงเทพฯซึ่งเป็นอัครมุขมณฑล (archdiocese) และเขตมิสซังราชบุรี เขตมิสซังจันทบุรี เขตมิสซังเชียงใหม่เป็นมุขมณฑล (diocese)
  2. ภาคท่าแร่-หนองแสง ประกอบด้วยเขตมิสซังท่าแร่-หนองแสงซึ่งเป็นอัครมุขมณฑล (archdiocese) ส่วนเขตมิสซังอุบลราชธานี เขตมิสซังนครราชสีมา และเขตมิสซังอุดรธานีเป็นมุขมณฑล (diocese)

ต่อมาได้มีการแยกพื้นที่ทางตอนเหนือของเขตมิสซังกรุงเทพฯ ออกไปกับบางส่วนของเขตมิสซังเชียงใหม่ ตั้งเป็นเขตมิสซังนครสวรรค์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) แยกภาคใต้ออกจากเขตมิสซังราชบุรีเพื่อตั้งเป็นเขตมิสซังสุราษฎร์ธานีในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2512 และตั้งเขตมิสซังเชียงรายในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561 ทั้งสามเขตมิสซังใหม่ยังคงรวมอยู่ในภาคกรุงเทพฯ คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทยจึงประกอบด้วย 11 เขตมิสซังซึ่งล้วนแต่เป็นมุขมณฑลดังเช่นปัจจุบัน

ในระยะแรกบางมิสซังยังมีมุขนายกเป็นชาวต่างชาติอยู่ ต่อมาเมื่อเขตมิสซังมีความพร้อมจึงลาออกเพื่อให้มีมุขนายกใหม่ที่เป็นคนไทย คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทยปัจจุบันจึงได้ดำเนินการด้วยคนไทยเองอย่างสมบูรณ์ แต่ยังต้องรายงานและรับนโยบายสำคัญจากสันตะสำนักด้วยเพื่อความเป็นเอกภาพของคริสตจักรคาทอลิกที่มีอยู่ทั่วโลก

คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทยยังได้รับเกียรติจากพระสันตะปาปาในสองเรื่อง คือ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้แต่งตั้งพระคุณเจ้าไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นพระคาร์ดินัลซึ่งเป็นสมณศักดิ์สูงสุดในคริสตจักรคาทอลิกรองจากพระสันตะปาปา นับเป็นบาทหลวงชาวไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ พิธีสถาปนาจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) ต่อมาวันที่ 10 — 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้ต้อนรับประมุขแห่งคริสตจักรคาทอลิก ในการนี้ได้ทรงบวชบาทหลวง 23 องค์ด้วย[13]

การปกครอง

ศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยมีสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยเป็นองค์การปกครองสูงสุด[14] มีสมาชิกซึ่งประกอบด้วยมุขนายกมิสซังต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ปัจจุบันมีมุขนายก ยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ เป็นประธานสภาฯ นอกจากนี้สภาฯ ยังได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการฝ่าย และคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกิจการด้านต่าง ๆ ดังนี้[15]

  • คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม
  • คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม
  • คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อบาทหลวงและผู้ถวายตัว
  • คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตชนฆราวาส
  • คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการธรรมทูต
  • คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการศึกษา
  • คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์และคริสตสัมพันธ์
  • คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อมรดกวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
  • คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม
  • คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอภิบาลสังคม
  • คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสื่อมวลชน
  • คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ

สถิติ

สถิติคาทอลิกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 - 2559 มีดังนี้

ข้อมูล พ.ศ. 2556[16] พ.ศ. 2557[17] พ.ศ. 2559[18] พ.ศ. 2560[19] พ.ศ. 2561[20] พ.ศ. 2563[21] พ.ศ. 2564[22] พ.ศ. 2565[23] พ.ศ. 2566[2]
ชาวคาทอลิก 367,978 369,636 379,347 380,374 379,975 401,976 405,727 411,166 406,201
บาทหลวงมิสซัง 504 496 530 533 534 578 576 575 557
บาทหลวงนักบวช 289 287 315 323 324 315 398 353 334
ภราดา 113 122 111 111 116 113 128 129 136
ภคินี 1,503 1,473 1,479 1,448 1,439 1,502 1,434 1,404 1,422
โบสถ์ 501 501 506 515 517 526 498 532 532
  • หมายเหตุ : ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป สถิติถือเป็นข้อมูลของศักราชใหม่ จึงไม่มีสถิติประจำปี พ.ศ. 2558

อ้างอิง

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 468
  2. 2.0 2.1 ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2566/2023, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
  3. เคียว อุค ลี, การเผยแพร่ศาสนาคริสต์กับการตอบสนองของชาวพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่าง ค.ศ.1511 – 1990, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539, หน้า 71 -2
  4. Luc Colla, พระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์, เรือง อาภรณ์รัตน์ และ อากาทา จิตอุทัศน์ แปล, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ, 2542, หน้า 44
  5. มาโนช พุ่มไพจิตร, แก่นแท้ศาสนาคริสต์ที่หายไป, เชียงใหม่: หน่วยงานเผยแพร่ข่าวประเสริฐ, 2548, หน้า 90
  6. มาโนช พุ่มไพจิตร, แก่นแท้ศาสนาคริสต์ที่หายไป, หน้า 87
  7. Luc Colla, พระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์
  8. Archdiocese of Bangkok. The Hierarchy of the Catholic Church. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ก.พ. พ.ศ. 2554.
  9. Luc Colla, พระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์, หน้า 48
  10. มาโนช พุ่มไพจิตร, แก่นแท้ศาสนาคริสต์ที่หายไป, หน้า 120
  11. 11.0 11.1 เสรี พงศ์พิศ, ศาสนาคริสต์, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: ฝ่ายงานอภิบาลและธรรมทูต เขตมิสซังกรุงเทพฯ, 2545, หน้า 92
  12. Luc Colla, พระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์, หน้า 50 – 1
  13. กำหนดการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2. มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ก.พ. พ.ศ. 2554
  14. "องค์การศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย หน้า 161" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2011-07-01.
  15. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-29. สืบค้นเมื่อ 2020-05-16.
  16. ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2557/2014, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
  17. ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2558/2015, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
  18. ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2559/2016, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
  19. ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2560/2017, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
  20. ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2018/2561, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
  21. ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2020/2563, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
  22. ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2021/2564, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
  23. ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2022/2565, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
Kembali kehalaman sebelumnya