จังหวัดชิบะ
จังหวัดชิบะ (ญี่ปุ่น: 千葉県; โรมาจิ: Chiba-ken) เป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคคันโต บนเกาะฮนชูของประเทศญี่ปุ่น[1] จังหวัดชิบะมีประชากร 6,278,060 คน (1 มิถุนายน ค.ศ. 2019) และมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ 5,157 ตารางกิโลเมตร จังหวัดชิบะติดกับจังหวัดอิบารากิทางทิศเหนือ จังหวัดไซตามะทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และโตเกียวทางทิศตะวันตก จังหวัดชิบะมีเมืองหลวงชื่อเดียวกันคือ นครชิบะ อีกทั้งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในจังหวัด เมืองที่สำคัญอื่น ๆ เช่น ฟูนาบาชิ มัตสึโดะ อิจิกาวะ[2] และคาชิวะ จังหวัดชิบะตั้งอยู่ริมชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกของญี่ปุ่น อยู่ทางตะวันออกของโตเกียว และเป็นส่วนหนึ่งของเขตมหานครโตเกียว ซึ่งเป็นเขตมหานครที่มีประชากรมากที่สุดในโลก พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดชิบะอยู่บนคาบสมุทรโบโซ ปิดล้อมด้านตะวันออกของอ่าวโตเกียว ซึ่งเป็นอ่าวที่แยกจังหวัดชิบะออกจากจังหวัดคานางาวะ จังหวัดชิบะเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ, โตเกียวดิสนีย์รีสอร์ต (ประกอบด้วยโตเกียวดิสนีย์แลนด์และโตเกียวดิสนีย์ซี) และเขตอุตสาหกรรมเคโย ที่มาของชื่อชื่อของจังหวัดชิบะในภาษาญี่ปุ่นมาจากตัวอักษรคันจิสองตัว ตัวแรก 千 หมายถึง "หนึ่งพัน" และตัวที่สอง 葉 หมายถึง "ใบไม้" ชื่อนี้ปรากฏเป็นครั้งแรกในชื่อของสำนักงานบัญชาการประจำภูมิภาค ชิบะ คูนิ โนะ มิยัตสึโกะ (ญี่ปุ่น: 千葉国造; โรมาจิ: Chiba Kuni no Miyatsuko)[3] ชื่อนี้ถูกนำมาใช้โดยตระกูลย่อยของตระกูลไทระ ซึ่งย้ายมาอยู่ในพื้นที่ที่เป็นนครชิบะในปัจจุบันในช่วงปลายสมัยเฮอัง โดยได้รับชื่อนี้มาใช้กลายเป็นตระกูลชิบะ และมีอิทธิพลอย่างมากในพื้นที่ของจังหวัดนี้จนถึงสมัยอาซูจิ–โมโมยามะ คำว่า "ชิบะ" ได้รับเลือกให้เป็นชื่อของจังหวัดนี้ ณ เวลาที่ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1873 โดยสมัชชาผู้ว่าราชการจังหวัด (ญี่ปุ่น: 地方官会議; โรมาจิ: Chihō Kankai Kaigi) ซึ่งเป็นการประชุมของผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยเมจิตอนต้นในการตัดสินใจโครงสร้างการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นในญี่ปุ่น[4] คำประสม "เคโย" (ญี่ปุ่น: 京葉; โรมาจิ: Keiyō) ซึ่งหมายถึงภูมิภาคโตเกียว-ชิบะนั้น มาจากอักษรตัวที่สองของคำว่าโตเกียว (京) และอักษรตัวที่สองของคำว่าชิบะ (葉) ซึ่งสามารถออกเสียงได้เป็น "เค" และ "โย" ตามลำดับ[5] คำประสมนี้ใช้ในชื่อต่าง ๆ เช่น ทางรถไฟสายเคโย ถนนเคโย และเขตอุตสาหกรรมเคโย ประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์ช่วงต้นในจังหวัดชิบะมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตามหลักฐานจากยุคโจมงที่ยังคงมีอยู่ในทุกส่วนของภูมิภาค มีการพบกองเปลือกหอยไคซูกะที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีประชากรจำนวนมากในจังหวัดที่พึ่งพาอาศัยผลิตภัณฑ์ทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทรแปซิฟิกและอ่าวโตเกียว และมีสุสานโบราณโคฟุง (เนินสุสานรูปกุญแจ) ซึ่งพบได้ทั่วทั้งจังหวัด โดยกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในฟุตสึ ริมอ่าวโตเกียว[6] ยุคอาซูกะและยุคนาระในยุคอาซูกะ (ค.ศ. 538–710) ภายใต้การปฏิรูปปีไทกะ ค.ศ. 645 โครงสร้างการปกครองของบริเวณที่เป็นจังหวัดชิบะในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แคว้นโบราณที่ชื่อแคว้นฟูซะ ซึ่งคาดว่าครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดชิบะและอิบารากิ ได้แบ่งออกเป็นสองแคว้น ได้แก่ แคว้นชิโมซะ (หรือเรียกอีกอย่างว่าชิโมฟูซะ) ในพื้นที่ทางเหนือ และแคว้นคาซูซะ ในพื้นที่ทางใต้ แคว้นอาวะซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดชิบะได้แยกออกมาจากแคว้นคาซูซะใน ค.ศ. 718 หน่วยการปกครองเหล่านี้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งถูกยกเลิกและรวมเข้าเป็นจังหวัดชิบะหลังจากการฟื้นฟูเมจิ รัฐบาลกลางได้มีการจัดตั้งวัดประจำแคว้นหรือที่เรียกว่าโคคุบุนจิ[7] ยุคเฮอังราชสำนักของจักรวรรดิค่อย ๆ ขยายอำนาจเหนือสามแคว้นดังกล่าวในยุคนาระ (ค.ศ. 710–794) และยุคเฮอัง (ค.ศ. 794–1185) ฐานันดรศักดินาโชเอ็งได้ก่อตั้งขึ้นทั่วทั้งสามแคว้นนี้ และภูมิภาคนี้ได้กลายเป็นแหล่งรายได้จากภาษี สินค้าเกษตร และสินค้าอื่น ๆ ให้กับเมืองหลวงที่เกียวโต อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคเฮอังก้าวหน้าขึ้น โคกูชิหรือผู้ว่าประจำแคว้นก็เข้ามาใช้อำนาจทางทหารโดยไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลางในเกียวโต ตระกูลชิบะได้ล่มสลายโดยสิ้นเชิงพร้อมกับราชสำนักของจักรวรรดิ และเป็นส่วนสำคัญในการก่อตั้งผู้สำเร็จรัฐบาลโชกุนคามากูระ[7][8] ยุคใหม่จังหวัดชิบะก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1873 โดยการยุบสองจังหวัดรวมกัน ได้แก่ จังหวัดคิซาราซุ และจังหวัดอิมบะ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในคันโต ค.ศ. 1923 ทำให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางในจังหวัดชิบะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณตอนใต้สุดของคาบสมุทรโบโซซึ่งมีผู้เสียชีวิต 1,300 คน พื้นที่ของจังหวัดชิบะที่อยู่ติดกับโตเกียวได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ความรุนแรงของผู้ชุมนุมต่อชาวเกาหลีและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ได้เกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในฟูนาบาชิ อิชิกาวะ และพื้นที่อื่น ๆ[9] ชาวเกาหลีในหลาย ๆ ย่านของยาจิโยะถูกสังหาร และมีการสร้างหอคอยขึ้นใน ค.ศ. 1972 บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟยาจิโยไดเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว[10] การทำสงครามของจังหวัดชิบะเกิดขึ้นในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1904–1905) ป้อมปราการชายฝั่งถูกสร้างขึ้นตามอ่าวโตเกียวไปทางใต้จนถึงทาเตยามะเพื่อป้องกันเมืองหลวงของจักรวรรดิญี่ปุ่นจากการโจมตี ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 พื้นที่ทางตอนเหนือและตอนกลางของจังหวัดได้กลายเป็นศูนย์กลางของการผลิตทางทหารขนาดใหญ่ และมีการสร้างฐานทัพและป้อมปราการในพื้นที่ชายฝั่งส่วนใหญ่ของจังหวัด หลังจากที่สหรัฐเข้าควบคุมเกาะไซปัน พื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งนครชิบะและโชชิก็ถูกโจมตีด้วยระเบิดเพลิง อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของจังหวัดถูกทำลาย ปฏิบัติการโคโรเนต ซึ่งเป็นหนึ่งในสองส่วนของปฏิบัติการดาวน์ฟอล คือแผนการรุกรานแผ่นดินโตเกียวในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1946 โดยสหรัฐ ปฏิบัติการโคโรเนตมีแผนให้หาดคูจูกูริเป็นหนึ่งในสองแห่งของฐานจอดเรือช่วงแรก ส่วนอีกแห่งคือฮิรัตสึกะโดยผ่านอ่าวซางามิ โดยกองทัพสหรัฐที่หนึ่งจะเข้าที่หาดคูจูกูริเพื่อกวาดล้างคาบสมุทรโบโซและไปพบกับกองทัพสหรัฐที่แปดที่โตเกียว หลังจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ เนื่องจากการยอมจำนนของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1945 แผนดังกล่าวจึงไม่เป็นผล[11] ยุคหลังสงครามในช่วงการยึดครองญี่ปุ่น (ค.ศ. 1945–1952) จังหวัดชิบะถูกควบคุมโดยกองกำลังอเมริกันจากชั้นสองของอาคารศาลากลางจังหวัดในนครชิบะ และเมืองอื่น ๆ อีกมากมายในจังหวัดทั้งทางเหนืออย่างนครโชชิและทางใต้อย่างนครทาเทยามะได้ถูกใช้เป็นฐานในการยึดครอง ด้วยความที่ทั่วทั้งจังหวัดนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ไม่ค่อยได้รับปัญหาการขาดแคลนอาหารและความอดอยากในทันทีหลังสงคราม ช่วงเวลาทันทีหลังสงครามนั้นได้มีการขยายตัวทางอุตสาหกรรมที่มีการวางแผนไว้อย่างดีทางตอนเหนือของจังหวัด และมีผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากการปฏิรูปที่ดินทั่วทั้งจังหวัด ได้มีการรวบรวมพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดเล็กตลอดทั้งชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดชิบะมาเป็นเขตอุตสาหกรรมเคโย และเขตอุตสาหกรรมนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมหนักและท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ที่สำคัญในญี่ปุ่นเรื่อยมา เมืองที่อยู่ใกล้กับโตเกียวเชื่อมต่อกันด้วยรถไฟ เมืองเหล่านี้ได้กลายเป็นเมืองที่อยู่อาศัยของผู้ที่ทำงานในโตเกียว ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะเริ่มเปิดดำเนินการใน ค.ศ. 1978 ในนครนาริตะ เพื่อแทนที่ท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว (สนามบินฮาเนดะ) ที่แออัด โดยก่อนหน้านี้ได้มีการประท้วงอย่างหนัก ในปัจจุบันการสัญจรทางอากาศระหว่างประเทศส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ญี่ปุ่นจะต้องผ่านจังหวัดชิบะ ส่วนเกษตรกรรมโดยเฉพาะข้าวและผักที่ส่งไปยังเขตมหานครโตเกียวและปริมณฑลได้ขยายตัวอย่างมากจนกลายเป็นแหล่งรายได้สู่พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือและตอนกลางของจังหวัด การขยายตัวของเกษตรกรรมทางตอนกลางและตอนใต้ของจังหวัดนั้นตรงกันข้ามกับการลดลงของจำนวนประชากรในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ย้ายไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด อันเป็นผลมาจากนคราภิวัฒน์ (การกลายเป็นเมือง) ของญี่ปุ่น ซึ่งยังคงดำเนินต่อไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 21 แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ ค.ศ. 2011แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุใน ค.ศ. 2011 ส่งผลกระทบในทางตอนใต้ของจังหวัดชิบะ ในขณะที่การสูญเสียชีวิตและความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมนั้นน้อยกว่าในภูมิภาคโทโฮกุอยู่มาก แต่ก็มีผู้เสียชีวิต 20 คนในจังหวัดชิบะ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสึนามิที่พัดถล่มนครอาซาฮิ นครทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด และทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย เหตุเพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในสื่อข่าวหลังแผ่นดินไหวในโทโฮกุ เกิดขึ้นที่โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทคอสโมออยล์ในนครอิจิฮาระ ถังแก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG) ขนาดใหญ่ถูกไฟไหม้ตั้งแต่วันที่ 11–21 มีนาคม ค.ศ. 2011[12] เหตุการณ์แผ่นดินเหลวในพื้นที่ที่มีการแปรสภาพที่ดินได้เกิดทั่วพื้นที่ทางตอนเหนือและตะวันตกของจังหวัดชิบะทำให้เกิดความเสียหายโดยเฉพาะที่อยู่อาศัย[13][14] นครชิบะ ฟูนาบาชิ นาราชิโนะ และโดยเฉพาะอูรายาซุ ได้รับผลกระทบอย่างมาก[15] เนื่องด้วยความเสียหายถาวรต่อที่อยู่อาศัยอันเป็นผลมาจากแผ่นดินเหลว และการพบหลักฐานของวัสดุกัมมันตภาพรังสี ทำให้ประชากรในจังหวัดชิบะลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1920[13][16] ภูมิศาสตร์จังหวัดชิบะมีอาณาเขตทางทิศเหนือติดกับจังหวัดอิบารากิที่แม่น้ำโทเนะ ทิศตะวันตกติดกับกรุงโตเกียวและจังหวัดไซตามะที่แม่น้ำเอโดะ ทิศตะวันออกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก และทิศใต้ล้อมรอบโดยมหาสมุทรแปซิฟิกและอ่าวโตเกียว พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดชิบะตั้งอยู่บนคาบสมุทรโบโซซึ่งมีลักษณะเป็นเนินเขา มีพื้นที่ทำนาข้าวทางด้านชายฝั่งตะวันออกที่เรียกว่าที่ราบคูจูกูริ[17] ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผลผลิตมาก เขตที่มีประชากรมากที่สุดที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคคันโต ซึ่งเขตเมืองได้ขยายไปยังโตเกียวและไซตามะเกิดเป็นการรวมกันเป็นกลุ่มของเขตเมือง (urban agglomeration) การไหลของกระแสน้ำคูโรชิโอะใกล้กับจังหวัดชิบะทำให้ที่นี่ค่อนข้างอบอุ่นในฤดูหนาวและเย็นกว่าในฤดูร้อนในโตเกียว อุทยานแห่งชาติและอุทยานประจำจังหวัดชายฝั่งทั้งหมดของจังหวัดชิบะ ยกเว้นเขตอุตสาหกรรมเคโยทางตอนเหนือ ได้รับการคุ้มครองเป็นอุทยานกึ่งแห่งชาติ 2 แห่ง และอุทยานธรรมชาติประจำจังหวัด 1 แห่ง ภายใต้ระบบอุทยานแห่งชาติของญี่ปุ่น โดย ณ วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2012 ร้อยละ 6 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดได้รับการกำหนดให้เป็นอุทยานธรรมชาติ[18]
จังหวัดชิบะได้กำหนดและดูแลอุทยานธรรมชาติประจำจังหวัดจำนวน 8 แห่ง เพื่อคุ้มครองทั้งพื้นที่ธรรมชาติและวัฒนธรรม ได้แก่ อุทยานธรรมชาติประจำจังหวัดอินบะเทงะ, คาซาโมริสึรูมาอิ, คูจูกูริ, มิเนโอกาซังเก, โอโตเนะ, ทากาโงยามะ, โทมิซัง, และโยโรเคโกกุโอกูกิโยซูมิ[21] อีกทั้งยังมีพื้นที่สวนสาธารณะที่กำหนดและคุ้มครองโดยเทศบาลนคร เมือง และหมู่บ้านต่าง ๆ ภายในจังหวัด สวนสาธารณะเหล่านี้ได้รับการบำรุงรักษาเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดให้มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในท้องถิ่น ภูมิอากาศจังหวัดชิบะมีภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น (Cfa ตามการแบ่งแบบเคิพเพิน) โดยมีฤดูร้อนที่ร้อนชื้น และฤดูหนาวที่ไม่หนาวจัด ช่วงฤดูฝนหรือที่เรียกว่า สึยุ มีช่วงเวลาประมาณ 50 วัน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นระบุว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 15.7 °C (60.3 °F) ค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ 19.6 °C (67.3 °F) และค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ 12.3 °C (54.1 °F)[22]
เขตการปกครองจังหวัดชิบะประกอบด้วย 37 เทศบาลนคร, 6 อำเภอ, 16 เทศบาลเมือง และ 1 เทศบาลหมู่บ้าน พื้นที่ที่แสดงในตารางมาจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่นใน ค.ศ. 2019[23] และจำนวนประชากรที่แสดงในตารางมาจากรายงานสำมะโนประชากรประจำ ค.ศ. 2015 ของสำนักงานสถิติ กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร[24] โดย 37 เทศบาลนครในจังหวัดชิบะมีพื้นที่รวมกัน 4,405.55 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 85.42 ของพื้นที่จังหวัด และมีประชากรรวม 6,012,551 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 96.62 ของประชากรทั้งจังหวัด เทศบาล
การเมืองการปกครองตั้งแต่ ค.ศ. 2009 มีผู้ว่าราชการจังหวัด[25]คือ เอจิ ซูซูกิ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อในวงการของเขาคือ เค็นซากุ โมริตะ ซึ่งเป็นอดีตนักแสดง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พรรคจิมินโต/อิสระ – โตเกียวเขต 4) และสภาชิกราชมนตรีสภา (อิสระ – โตเกียว) เขาได้รับเลือกอย่างท่วมท้นจนถึงวาระที่สองในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2013 โดยมีเพียงผู้ท้าชิงจากพรรคคอมมิวนิสต์และผู้เยาว์ที่ไม่สังกัดพรรค สภาจังหวัดชิบะ[26] มีสมาชิกตามจำนวน 94 คน โดยได้รับการเลือกตั้งใน 45 เขตเลือกตั้ง ปัจจุบันยังคงอยู่ในวงรอบการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1947 (รอบล่าสุดคือ ค.ศ. 2019) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 สมาชิกสภาประกอบด้วย พรรคจิมินโต 53 คน, พรรคมินชูโต 17 คน, พรรคโคเมโต 8 คน, พรรคมินนะโนะโต 3 คน, พรรคคอมมิวนิสต์ 2 คน, พรรคอื่น ๆ อีก 5 คน และไม่สังกัดพรรค 6 คน[27] ในรัฐสภาญี่ปุ่น จังหวัดชิบะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 13 คนจากเขตเลือกตั้ง 1 คนต่อเขต และสมาชิกราชมนตรีสภา 6 คน การปกครองส่วนท้องถิ่นใน ค.ศ. 2014 จังหวัดชิบะแบ่งออกเป็น 54 เทศบาล (ดูรายชื่อในส่วน #เขตการปกครอง) ได้แก่ 37 นคร, 16 เมือง และ 1 หมู่บ้าน[28] เช่นเดียวกับในช่วงหลังสงครามของญี่ปุ่น เทศบาลแต่ละแห่งจะมีนายกเทศมนตรีและสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง นครที่มีประชากรมากที่สุดและเป็นนครใหญ่ที่รัฐกำหนดเพียงแห่งเดียวในจังหวัดชิบะคือ นครชิบะ มีนครศูนย์กลาง 2 แห่ง คือ ฟูนาบาชิ และคาชิวะ หลังจากมีการควบรวมเทศบาลในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 พื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของจังหวัดส่วนใหญ่ได้รับการจัดตั้งเป็นนครที่เป็นอิสระจากอำเภอ ทำให้เหลืออำเภอเพียง 6 อำเภอ ซึ่งมี 3 อำเภอที่มีเมืองหรือหมู่บ้านขึ้นอยู่เหลือเพียงหนึ่งหรือสองแห่ง ในสมัยก่อนหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างของการปกครองอำเภอและเทศบาลในทุกจังหวัดใน ค.ศ. 1889–1890 จังหวัดชิบะในตอนแรกมี 12 อำเภอและยังไม่มีนคร[29] และต่อมาเมืองชิบะที่ขึ้นกับอำเภอชิบะได้กลายเป็นเทศบาลแห่งแรกในจังหวัดชิบะที่ได้รับการยกฐานะเป็นนครใน ค.ศ. 1921 รายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดชิบะ (ตั้งแต่ ค.ศ. 1947)
เศรษฐกิจอุตสาหกรรมจังหวัดชิบะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เนื่องจากลักษณะชายฝั่งที่ติดต่อกับอ่าวโตเกียว ในอดีตชิบะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการบ่ม เช่น มิโซะ สาเก มิริน ภายหลังสงครามโลกสิ้นสุดลงเกิดการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม ชิบะเป็นที่ตั้งของโรงงานเหล็กขนาดใหญ่คาวาซากิตั้งแต่ ค.ศ. 1950 รัฐบาลมีนโยบายการถมทะเลทำนิคมอุตสาหกรรม โกดัง และท่าเรือ เช่นเขตอุตสาหกรรมเคโย[30] อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมเครื่องจักร จังหวัดชิบะมีผลผลิตรวมด้านอุตสาหกรรมเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศญี่ปุ่น[31] เกษตรกรรมจังหวัดชิบะยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเกษตรกรรมอันดับ 2 ของญี่ปุ่นรองจากจังหวัดฮกไกโด โดยเฉพาะถั่ว ถือเป็นพืชหลักที่ปลูกในจังหวัดชิบะถึงร้อยละ 78[32] นอกจากนี้ยังมีพืชอื่นที่สำคัญเช่น แคร์รอต กะหล่ำปลี ผักกาดหัว ข้าวโพด และข้าว[33][34] นอกจากนี้ยังมีการประมงที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดชิบะจากอ่าวโตเกียว ประชากรศาสตร์อัตราการเพิ่มหรือลดของจำนวนประชากรภายในจังหวัดมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละภูมิภาคของจังหวัด โดยภูมิภาคฮิงาชิกัตสึ ภูมิภาคอิมบะ และภาคกลางของจังหวัดเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่ภาคใต้ของจังหวัด ภูมิภาคโซโตโบ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดมีการลดลงอย่างมาก อัตราการเติบโตของประชากรมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเป็นพื้นที่ที่ใกล้กับเขตพิเศษของโตเกียว และอัตราการเติบโตของประชากรจะลดลงเมื่อเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างออกไป จังหวัดไซตามะและจังหวัดคานากาวะก็เป็นลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งสองจังหวัดเป็นเขตปริมณฑลของโตเกียว แต่ในจังหวัดชิบะจะเห็นแนวโน้มนี้เด่นชัดมากกว่าสองจังหวัดดังกล่าว
ตำรวจกองกำลังตำรวจของจังหวัดชิบะเป็นหนึ่งในสิบกองตำรวจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีสมาชิกมากกว่า 10,000 นาย (รวมถึงตำรวจสนามบินนาริตะ) เช่นเดียวกับในทุกจังหวัด ตำรวจจะอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะประจำจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกห้าคนที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดและได้รับอนุมัติจากสภาจังหวัด[36][37] ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจังหวัดชิบะมีความสัมพันธ์แบบเมืองพี่น้องกับ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|