Share to:

 

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค

บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน)
GMM Music Public Company Limited
ชื่อเดิมบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด
ประเภทบริษัทมหาชนจำกัด
อุตสาหกรรมดนตรี
ก่อตั้ง7 เมษายน พ.ศ. 2566 (20 เดือนก่อน) (2566-04-07)
ผู้ก่อตั้งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
สำนักงานใหญ่50 อาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลส ถนนอโศกมนตรี แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา, ,
บุคลากรหลัก
ผลิตภัณฑ์
บริษัทแม่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
บริษัทในเครือ
เว็บไซต์gmmmusic.com

บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: GMM Music Public Company Limited; ชื่อย่อ: GMM) เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ในเครือบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจเพลงและดนตรีโดยเฉพาะอย่างครบวงจร ตั้งแต่การคัดเลือกศิลปิน การผลิตเพลง การทำการตลาดเพื่อส่งเสริมผลงานเพลง การบริหารและจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง การจำหน่ายเพลงทั้งรูปแบบดิจิทัลและทางกายภาพ รวมถึงการจัดคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี และบริหารจัดการศิลปิน มีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน และเป็นบริษัทเรือธงสำหรับการประกอบธุรกิจเพลงของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ปัจจุบันมีไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เป็นประธานกรรมการ และภาวิต จิตรกร เป็นรองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ก่อตั้ง บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด ขึ้นเป็นบริษัทย่อยเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2566 ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง ต่อมา จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้อนุมัติแผนให้นำ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เข้าสู่กระบวนการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน ในสัดส่วนไม่เกิน 30% และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม จากนั้น จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้รับโอนธุรกิจเพลงทั้งหมดจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มาดำเนินงานต่อเองตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน รวมถึงได้รับมติจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ให้เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน ก่อนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในนาม บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2567

หลังจากนั้น จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจเพลงและดนตรีอีกหลายราย อาทิ ร่วมมือกับฮาร์เลมเชก จัดตั้งสถาบันศิลปะบันเทิงแบล็คเจ็ม, จำหน่ายหุ้น 10% ให้แก่ Black Serenade ในเครือเทนเซ็นต์ จากประเทศจีน, ร่วมทุนกับค่ายเพลงแอลดีเอช จากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท จี แอนด์ แอลดีเอช จำกัด, และเป็นพันธมิตรกับกลุ่มวอร์เนอร์มิวสิค โดยจำหน่ายหุ้น 1.50% ให้แก่วอร์นเนอร์ มิวสิค ฮ่องกง พร้อมทั้งส่งบริษัท จีเอ็มเอ็ม โกลบอล จำกัด ไปร่วมทุนจัดตั้งค่ายเพลงใหม่ร่วมกับค่ายเพลงวอร์นเนอร์ มิวสิค ไทยแลนด์ และวอร์นเนอร์ มิวสิค เอเชีย จากนั้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ทำข้อตกลงร่วมมือทางธุรกิจกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ก่อนที่เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน เพื่อระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในชื่อย่อหลักทรัพย์ GMM

ประวัติ

ก่อนปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง

โลโก้ของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2566 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะกรรมการของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้อนุมัติการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงครั้งใหญ่ โดยดำเนินการแยกธุรกิจ (Spin-off) ประกอบด้วยการโอนถ่ายทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคลากร สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดต่าง ๆ และสัญญาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพลงทั้งหมด ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทย่อยใหม่ เพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะถือหุ้นในบริษัทย่อยใหม่จำนวน 100% และมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารกลุ่ม และ/หรือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม (บุษบา ดาวเรือง) หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหารกลุ่ม และ/หรือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม เป็นผู้ดำเนินการ กำหนด แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง[1]

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้แจ้งว่าได้ดำเนินการการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงขั้นแรก โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อยในชื่อ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (อังกฤษ: GMM Music Co., Ltd.) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000,000 บาท โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% โดยมีไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เป็นประธานกรรมการ, ภาวิต จิตรกร เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร[2]

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม คณะกรรมการของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้กำหนดให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เป็นบริษัทเรือธง (Flagship Company) สำหรับการประกอบธุรกิจเพลงของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอนุมัติแผนการนำจีเอ็มเอ็ม มิวสิค เข้าสู่กระบวนการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน (IPO) ในสัดส่วนไม่เกิน 30% และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค สามารถขยายธุรกิจและส่งเสริมอุตสาหกรรมดนตรีให้เป็นเศรษฐกิจดนตรีใหม่ (New Music Economy)[3] โดยมีเงื่อนไขในการเข้าจดทะเบียนรวม 7 ข้อ[4] ทั้งนี้ เนื่องจากการเสนอขายหุ้นจะอยู่ภายใต้สัดส่วนไม่เกิน 30% ทำให้ภายหลังการเสนอขายหุ้นแล้ว จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จะยังคงเป็นบริษัทย่อยของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ตามเดิม[5]

การปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้แจ้งว่า ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงขั้นที่ 2 เรียบร้อยแล้ว ดังนี้

  • เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม คณะกรรมการบริหารกลุ่มของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้อนุมัติข้อตกลงและเงื่อนไขในสัญญาโอนธุรกิจเพลงทั้งหมด รวมถึงถึงสัญญาและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และจีเอ็มเอ็ม มิวสิค
  • เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้อนุมัติให้เข้าทำสัญญารับโอนธุรกิจเพลงจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ รวมถึงอนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค จากเดิม 4,000,000 บาท เป็น 800,000,000 บาท โดยได้จดทะเบียนเพิ่มทุนจดทะเบียนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม
  • เมื่อวันที่ 1 กันยายน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ดำเนินการโอนธุรกิจเพลงทั้งหมด ประกอบด้วย ทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระผูกพันต่าง ๆ และบุคลากรในธุรกิจเพลง รวมถึงหุ้นสามัญจดทะเบียนของบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจเพลงเฉพาะส่วนที่ถือโดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ทั้งหมด และยังดำเนินกิจการอยู่ ได้แก่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (สัดส่วน 100%), บริษัท จีสองร้อยเอ็ม จำกัด (สัดส่วน 100%), บริษัท จีอาร์ โวคอล สตูดิโอ จำกัด (สัดส่วน 65%) และบริษัท วายจีเอ็มเอ็ม จำกัด (สัดส่วน 51%) ให้แก่จีเอ็มเอ็ม มิวสิค (ตามเงื่อนไขเข้าจดทะเบียนข้อที่ 1)

จากการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงดังกล่าว ส่งผลให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเพลงและดนตรีโดยเฉพาะ (Music Pure Play) และในขณะเดียวกัน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็ไม่มีการประกอบธุรกิจของตนเองอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน คณะกรรมการของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้อนุมัติการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจทั่วไป (Operating Company) เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นบริษัทอื่น (Holding Company) แทน โดยกำหนดให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักที่ไม่เป็นบริษัทจดทะเบียน และกำหนดให้บริษัท จีเอ็มเอ็ม โอ ช้อปปิ้ง จำกัด เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักที่ไม่เป็นบริษัทจดทะเบียน ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ IPO ของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค[6]

แปรสภาพและขยายพันธมิตร

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้เปลี่ยนโลโก้ เพื่อเตรียมความพร้อมอีกขั้นก่อนดำเนินการแยกธุรกิจ โดยมีจุดเด่นคือการใช้ลายเส้นและวางตำแหน่งตัวอักษร "US" ในคำว่า music ให้มีความโดดเด่น แตกต่าง โดยเฉพาะการเติมลายเส้นเชื่อมต่อ เพื่อให้สอดคล้องกับจุดมุ่งเน้นของบริษัทในอนาคตมากขึ้น[7]

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ทีเอ็นวาย เอนเตอร์เทนเมนท์ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด (TNY) ซึ่งประกอบธุรกิจบริหารค่ายเพลงคลับอาฟเตอร์คลาส (Club After Class) จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม (พีระพงษ์ เย็นบำรุง และ ณรงค์ศักดิ์ ศรีบรรฎาศักดิ์วัชรากรณ์) จำนวน 250,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท คิดเป็นสัดส่วน 41.67% มูลค่ารวมทั้งหมด 25,000,000 บาท ทำให้ TNY มีสถานะเป็นบริษัทร่วมของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค[8]

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้มีมติพิเศษอนุมัติให้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด รวมถึงแตกหุ้นจากเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้นทั้งหมดของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค มีจำนวน 800,000,000 หุ้น[8] (ตามเงื่อนไขเข้าจดทะเบียนข้อที่ 2 ส่วนที่ 1) โดยได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในชื่อ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: GMM Music Public Co., Ltd.) พร้อมแจ้งเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นดังกล่าวต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในวันเดียวกัน[9] (ตามเงื่อนไขเข้าจดทะเบียนข้อที่ 3 ส่วนที่ 1)

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 เมษายน จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ร่วมมือกับสถาบันสอนการเต้น ฮาร์เลมเชก (Harlem Shake) จัดตั้งสถาบันศิลปะบันเทิงแบล็คเจ็ม (BLKGEM) เพื่อพัฒนาหลักสูตรและสร้างบุคลากร สำหรับรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมบันเทิง[10] ทั้งนี้ บริษัท จีอาร์ โวคอล สตูดิโอ จำกัด ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท แบล็คเจ็ม จำกัด เพื่อรองรับการประกอบธุรกิจนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม[9]

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม คณะกรรมการของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้อนุมัติการจำหน่ายหุ้นสามัญของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำนวน 80,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10% ให้แก่นักลงทุนเชิงกลยุทธ์ คือ Black Serenade Investment Limited (บริษัทร่วมระหว่างเทนเซ็นต์ มิวสิค (Tencent Music) และเทนเซ็นต์ (Tencent) จากประเทศจีน) ในมูลค่า 70,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,570,827,000 บาท) โดยกลุ่มเทนเซ็นต์จะชำระค่าตอบแทนด้วยเงินสด และจำหน่ายหุ้นสามัญของจูกซ์ ประเทศไทย (Joox Thailand) จำนวน 30% ให้ GMM Tomorrow Limited (บริษัทย่อยของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่) ในมูลค่า 25,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 918,152,500 บาท) โดยการทำธุรกรรมแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน[11]

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้จัดงานแถลงข่าวร่วมทุนกับแอลดีเอช (LDH) บริษัทค่ายเพลงจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดเพลงที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก จัดตั้งเป็น บริษัท จี แอนด์ แอลดีเอช จำกัด (G&LDH) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมดนตรีของไทย และยกระดับความเชี่ยวชาญด้านการบริหารศิลปิน เพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัทให้มากขึ้น[12] โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน มีสถานะเป็นกิจการร่วมค้าของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค[13]

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้อนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 80,000,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 11 ของทุนจดทะเบียนเดิม เพื่อใช้เป็นหุ้นเพิ่มทุนสำหรับการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน (ตามเงื่อนไขเข้าจดทะเบียนข้อที่ 2 ส่วนที่ 2) ทำให้ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 800,000,000 บาท เป็น 880,000,000 บาท โดยได้จดทะเบียนเพิ่มทุนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในวันเดียวกัน[8] (ตามเงื่อนไขเข้าจดทะเบียนข้อที่ 3 ส่วนที่ 2)

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงธุรกรรมเกี่ยวกับจีเอ็มเอ็ม มิวสิค อีกหลายอย่าง เช่น การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท จีเอ็มเอ็ม โกลบอล จำกัด ขึ้นเป็นบริษัทย่อยตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม เพื่อรองรับการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเพลงเพิ่มเติม[14] และมติคณะกรรมการของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่อนุมัติการจำหน่ายหุ้นสามัญของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำนวน 12,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.50% ให้แก่ วอร์นเนอร์ มิวสิค ฮ่องกง ในเครือกลุ่มวอร์เนอร์มิวสิค ในมูลค่า 10,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 367,366,650 บาท) โดยกลุ่มวอร์เนอร์มิวสิคจะจ่ายเงินสดเป็นค่าตอบแทน รวมถึงอนุมัติให้จีเอ็มเอ็ม โกลบอล ทำสัญญาการร่วมมือทางการค้าร่วมลงทุน (Commercial Joint Venture Label Agreement) กับวอร์นเนอร์ มิวสิค ไทยแลนด์ และ วอร์นเนอร์ มิวสิค เอเชีย เพื่อประกอบธุรกิจค่ายเพลงร่วมกัน โดยลงทุนฝ่ายละไม่เกิน 54,564,930 บาท ภายใต้กิจการร่วมดําเนินงาน (Joint Operation) รวมถึงสนับสนุนแผนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Equity Joint Venture) ภายหลังสัญญามีผลบังคับใช้ครบ 1 ปี[15] โดยมีเงื่อนไขว่าต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน จึงกำหนดจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2567 เพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติธุรกรรมทั้ง 2 ส่วน[16] และในวันที่ 26 กันยายน ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติธุรกรรมทั้ง 2 ส่วนดังกล่าว โดยการทำธุรกรรมแล้วเสร็จในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 27 กันยายน[17]

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามที่คณะกรรมการของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อนุมัติให้จัดทำตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน และจัดทำเสร็จเมื่อวันดังกล่าว โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะไม่ขยายธุรกิจเพิ่มเติมในธุรกิจเพลงที่จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ทำอยู่ ส่วนจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ก็จะไม่ประกอบธุรกิจหลักอื่น ๆ ที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ดำเนินการผ่านบริษัทย่อยอื่น ๆ และให้ความร่วมมือแก่บริษัทในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โดยอนุญาตให้บริษัทในเครือใช้ลิขสิทธิ์เพลงของตน ซึ่งจะเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ตามราคาตลาด[18]

จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อทำการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน และจดทะเบียนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ ในชื่อย่อหลักทรัพย์ GMM โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่ง GMM เสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชนทั้งหมด 2 ส่วน ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายเอง จำนวน 80,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 9.09% และหุ้นสามัญเดิมที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เสนอขายอีกจำนวน 148,800,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 16.91% รวมแล้ว GMM เสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชนจำนวนทั้งหมด 228,800,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26%[19][20] ทั้งนี้ GMM จะเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเพลงและดนตรีโดยเฉพาะรายแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นรายเดียวในปัจจุบัน[21]

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  • ข้อมูล ณ วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ภายหลังการจำหน่ายหุ้นของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ให้วอร์นเนอร์ มิวสิค ฮ่องกง[16] และมีผลหลังวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2567 ภายหลังที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นอนุมัติธุรกรรมดังกล่าว[17]
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นสามัญ สัดส่วนการถือหุ้น
1 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) 707,999,980 88.50%
2 Black Serenade Investment Limited 80,000,000 10.00%
3 Warner Music Hong Kong Limited 12,000,000 1.50%
4 นาย ภาวิต จิตรกร 10 0.00%
5 นาย ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม 10 0.00%
รวม 800,000,000 100.00%

บริษัทและธุรกิจในเครือ

บริษัทในเครือ

ปัจจุบัน GMM มีบริษัทในเครือจำนวน 8 บริษัท แบ่งออก 4 บริษัทย่อย, 1 บริษัทร่วม และ 3 กิจการร่วมค้า ในจำนวนนี้จดทะเบียน 2 บริษัท และมิได้จดทะเบียน 1 แห่ง ดังนี้

บริษัทย่อย

  • บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
  • บริษัท จีสองร้อยเอ็ม จำกัด
  • บริษัท แบล็คเจ็ม จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท จีอาร์ โวคอล สตูดิโอ จำกัด; จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ถือหุ้น 65%)
  • บริษัท จีเอ็มเอ็ม โกลบอล จำกัด

บริษัทร่วม

กิจการร่วมค้า

การประกอบธุรกิจ

ปัจจุบัน GMM มีรายได้จาก 5 แหล่งธุรกิจหลัก ดังนี้[3]

  • ธุรกิจเพลงดิจิทัล (Music Digital Business)
  • ธุรกิจจัดการศิลปินดนตรี (Music Artist Management Business)
  • ธุรกิจโชว์บิซ (Showbiz Business)
  • ธุรกิจการจัดการสิทธิ (Right Management Business)
  • ธุรกิจเชิงกายภาพ (Physical Business)

ค่ายเพลง

ศิลปินในสังกัด

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. ชลยา พร้อมศรี (2023-02-27). "การปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง" (PDF). จดหมายถึงกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-08-02.{{cite press release}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "GRAMMY ปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง แยกตั้งบริษัทใหม่ "จีเอ็มเอ็ม มิวสิค"". ประชาชาติธุรกิจ. 2023-07-04. สืบค้นเมื่อ 2023-08-02.
  3. 3.0 3.1 "'แกรมมี่' เตรียม Spin-Off 'จีเอ็มเอ็ม มิวสิค' เข้าตลาด สร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมเพลง". TODAY Bizbiew. สำนักข่าวทูเดย์. 2023-08-01. สืบค้นเมื่อ 2023-08-02.
  4. ชลยา พร้อมศรี (2023-07-31). "แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับแผนการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering) และการนําหุ้นสามัญของบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" (PDF). จดหมายถึงกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-08-02.{{cite press release}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "GRAMMYส่ง "จีเอ็มเอ็ม มิวสิค" ขาย IPO 30 % เข้า SET". ผู้จัดการออนไลน์. 31 กรกฎาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2023.
  6. "สิ่งทีส่งมาด้วย : สารสนเทศเกี่ยวกับการปรับรูปแบบการประกอบธุรกิจจากบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจทั่วไป (Operating Company) เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) การกำหนดธุรกิจหลัก และการกำหนดบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักที่ไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน" (PDF). ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย: 3–13. 15 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2023.
  7. "GMM Music อวดโลโก้ใหม่ รับแผน Spin-Off ย้ำแนวคิด "ดนตรีของเราทุกคน"". ฟอบส์ ประเทศไทย. 15 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. 8.0 8.1 8.2 "งบการเงิน ไตรมาสที่ 2/2567". หนังสือชี้ชวนตราสารทุน บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน). 18 ตุลาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2024 – โดยทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์.
  9. 9.0 9.1 งบการเงินไตรมาสที่ 1/2567 (PDF). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (Report). 16 พฤษภาคม 2024. p. 18. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2024.
  10. "GMM MUSIC-HARLEM SHAKE เปิดตัว BLKGEM มุ่งพัฒนาบุคลากรบันเทิงครบทุกมิติ". อมรินทร์ทีวี. 29 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. "แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับการเข้าทำรายการที่มีนัยสําคัญที่เข้าข่ายเป็นการจำหน่ายไปและได้มาซึ่งสินทรัพย์" (PDF). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. 31 พฤษภาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "ธุรกิจเพลงขาขึ้น GMM MUSIC ร่วมทุนค่ายเพลงญี่ปุ่น LDH หลังจับมือพาร์ทเนอร์ "จีน-เกาหลี" เดินหน้าขายหุ้น IPO". Brand Buffet. 6 มิถุนายน 2024. สืบค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. งบการเงินไตรมาสที่ 2/2567 (PDF). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (Report). 15 สิงหาคม 2024. p. 26. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2024.
  14. "แจ้งการจัดตั้งบริษัทย่อย ของ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" (PDF). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. 14 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. "'จีเอ็มเอ็ม มิวสิค' ดึง 'Warner Music Asia' ลงทุน 370 ล้านบาท ปลดล็อกธุรกิจเพลงโต". กรุงเทพธุรกิจ. 15 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2024.
  16. 16.0 16.1 "แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2567 เรื่อง (ก) รายการที่มีนัยสําคัญที่เข้าข่ายเป็นการจำหน่ายไปและได้มาซึ่งสินทรัพย์ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และ (ข) กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2567" (PDF). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. 14 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  17. 17.0 17.1 "แจ้งมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2567 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting)" (PDF). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. 26 กันยายน 2024. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. "แจ้งการเข้าทำข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ระหว่างบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน)" (PDF). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. 8 ตุลาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  19. จรรย์จิรา พนิตพล (25 ตุลาคม 2024). รายงานความคืบหน้าการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) รวมถึงการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ บมจ.จีเอ็มเอ็ม มิวสิค (PDF) (Report). จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่. pp. 1–2. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2024.
  20. "หนังสือชี้ชวนตราสารทุน บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน)". สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. จันกิเสน, ถนัดกิจ (25 ตุลาคม 2024). "GMM Music ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เดินหน้า IPO เตรียมขายหุ้นรวมกันไม่เกิน 228.80 ล้านหุ้น". เดอะสแตนดาร์ด. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya