ชั้นฐานสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง
สัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง หรือ สัตว์มีถุงหน้าท้อง (อังกฤษ: Marsupial) เป็นกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในชั้นฐานมาร์ซูเพียเลีย (Marsupialia) สัตว์ในชั้นฐานนี้ มีความแตกต่างและหลากหลายในแง่ของรูปร่าง ลักษณะ และขนาดเป็นอย่างมาก แต่มีลักษณะเด่นที่มีความเหมือนกันประการหนึ่ง คือ จะออกลูกเป็นตัว โดยตัวเมียมีถุงหน้าท้อง ตัวอ่อนของสัตว์ในอันดับนี้เจริญเติบโตในมดลูกในช่วงระยะเวลาสั้น มีสะดือและสายรกด้วย แล้วจะคลานย้ายมาอยู่ในถุงหน้าท้องดูดกินนมจากแม่ ก่อนจะเจริญเติบโตในถุงหน้าท้องหรือกระเป๋าหน้าท้องนี้จนโต บางครั้งเมื่อยังโตไม่เต็มที่ จะเข้า-ออกระหว่างข้างออกกับกระเป๋าหน้าท้องเป็นปกติ[1] ซึ่งสัตว์ในอันดับนี้ที่เป็นที่รู้จักดี ได้แก่ จิงโจ้, โคอาลา, โอพอสซัม, ชูการ์ไกลเดอร์, วอมแบต, แทสเมเนียนเดวิล เป็นต้น ซึ่งสัตว์ในชั้นฐานนี้ล้วนแต่จะพบเฉพาะในทวีปออสเตรเลียและบางส่วนของนิวกินี และพบในบางส่วนของทวีปอเมริกา ทั้งอเมริกาเหนือ, อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ หลายชนิดก็สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น หมาป่าแทสมาเนีย (Thylacinus cynocephalus) หรือไดโปรโตดอน (Diprotodon spp.) เป็นต้น[2] [3] โดยคำว่า Marsupialia นั้นมาจากภาษาละติน แปลว่า "กระเป๋า หรือ ถุง"[4] วิวัฒนาการสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง วิวัฒนาการหรือการกลายพันธุ์มาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรูปร่างคล้ายหนู ที่ชื่อ "ไซโนเดลฟิส" ที่มีอายุเมื่อกว่า 125 ล้านปีก่อนที่จีน ไซโนเดลฟิสมีความยาว 6 ฟุต แต่มีน้ำหนักเพียง 1 ออนซ์ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการปีนป่ายไปตามต้นไม้ หลักฐานทางฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดของสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง พบที่ยูทาห์ มีอายุ 110 ล้านปีมาแล้ว ในสมัยที่ทวีปต่าง ๆ ยังคงยึดติดกันเป็นแผ่นใหญ่ คือ กอนด์วานา ปัจจุบัน ที่ออสเตรเลียมีสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องแยกเป็นชนิดต่าง ๆ ได้ 156 ชนิด[5] ขณะที่อเมริกาใต้มีประมาณ 60 ชนิด [6]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิสปีชีส์มีข้อมูลภาษาอังกฤษเกี่ยวกับ Marsupialia |