Share to:

 

ทางด่วน

ทางหลวงรัฐออนแทรีโอหมายเลข 401 ในทางตอนใต้ของรัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา เป็นฟรีเวย์สายสำคัญของประเทศ

ทางหลวงที่ควบคุมการเข้าถึง (อังกฤษ: controlled-access highway) หรือ ทางด่วน เป็นทางหลวงประเภทหนึ่งของที่มีความสามารถที่จะรองรับปริมาณการจราจรได้จำนวนหนึ่ง ออกแบบมาเพื่อรองรับการจราจรที่รวดเร็วอย่างปลอดภัย โดยอาจจะเปิดให้ใช้ในลักษณะถนนที่เก็บค่าผ่านทางหรือไม่ก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งในแคนาดาและทวีปเอเชียเรียก เอกซ์เพรสเวย์ (expressway) ในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เรียก มอเตอร์เวย์ (motorway) และในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเรียก ฟรีเวย์ (freeway)

ทางหลวงที่ควบคุมการเข้าถึงจะไม่มีการขัดขวางของการจราจรด้วยไฟจราจร ทางแยก และไม่มีการเข้าถึงสถานที่ที่อยู่ติดถนน เป็นอิสระจากจุดตัดที่ผ่านถนน ทางรถไฟ หรือทางเท้าที่ระดับดิน โดยอาจออกแบบเป็นทางยกระดับหรือทางลอดก็ได้ สามารถเข้าและออกจากทางหลวงนี้ได้โดยทางลาดและทางแยกต่างระดับ และมีการแบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลาง อาจเป็นแบบราว กำแพงกั้น หรือเป็นที่ว่างปลูกหญ้า การกำจัดจุดตัดในทิศทางต่าง ๆ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของนักเดินทาง[1] รวมทั้งช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับปริมาณจราจร

ทางหลวงที่ควบคุมการเข้าถึงมีการพัฒนาขึ้นในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ประเทศอิตาลีได้เปิดใช้ เอาโตสตราดา (อิตาลี: autostrada) เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1924 เชื่อมต่อระหว่างเมืองมิลานกับเมืองวาเรเซ (ปัจจุบันเป็น เอาโตสตราดาเอ 8) ประเทศเยอรมนีได้เริ่มสร้าง เอาโทบาน (เยอรมัน: autobahn) สายแรกเป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร (19 ไมล์) ในปี ค.ศ. 1932 ระหว่างเมืองโคโลญกับเมืองบอนน์ (ปัจจุบันเป็นเอาโทบานหมายเลข 555) หลังจากนั้นก็ได้ก่อสร้างถนนดังกล่าวเป็นระบบทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการเดินทางในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนในอเมริกาเหนือได้เปิดใช้ ฟรีเวย์ (freeway) หรือที่รู้จักในชื่อพาร์กเวย์ (parkway) เป็นสายแรกในนครนิวยอร์กเมื่อยุคปี 1920 และประเทศที่มีอิทธิพลมากในด้านรถไฟอย่างบริเตน ได้มีการเปิดใช้ทางเลี่ยงเมืองเพรสตัน (ปัจจุบันเป็น เอ็ม 6 มอเตอร์เวย์) ในปี ค.ศ. 1958

ประวัติศาสตร์

แผนที่ทางประวัติศาสตร์ของเอาโตสตราดาเอ 8 และเอาโตสตราดาเอ 9 ในประเทศอิตาลี เป็นทางที่ควบคุมการเข้าถึงสายแรกในโลก เปิดใช้เมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1924

ทางหลวงที่ควบคุมการเข้าถึงรุ่นแรกพัฒนาขึ้นในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ลองไอแลนด์มอเตอร์พาร์กเวย์ ในเกาะลอง นครนิวยอร์ก ได้เปิดใช้เมื่อปี ค.ศ. 1908 เป็นถนนที่จำกัดการเข้าถึงสายแรกของโลก ประกอบด้วยสิ่งทันสมัยหลายอย่าง ได้แก่ พื้นเอียงบริเวณทางโค้ง ราวกันอันตราย และยางมะตอยคอนกรีตเสริมแรง[2]

ทางหลวงที่ควบคุมการเข้าถึงสมัยใหม่มีต้นกำเนิดในช่วงต้นยุคปี 1920 เพื่อตอบสนองการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของรถยนต์ ความต้องการที่เดินทางที่รวดเร็วมากขึ้น เช่น ถนนในเบอร์ลินที่ชื่อ AVUS เปิดใช้ในปี ค.ศ. 1921 เป็นทางหลวงที่ควบคุมการเข้าถึงที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป แม้ว่าครั้งแรกจะเปิดใช้เพื่อการแข่งขันก็ตาม

ทางหลวงที่เป็นทางคู่สายแรกเปิดใช้ในประเทศอิตาลีเมื่อปี ค.ศ. 1924 ระหว่างเมืองมิลานกับเมืองวาเรเซ และในปัจจุบันก็ได้กำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของเอาโตสตราดาเอ 8 และเอาโตสตราดาเอ 9 ทางหลวงสายนี้ ประกอยด้วยช่องจราจรเดียวต่อทิศทางไม่มีทางแยกต่างระดับ หลังจากนั้นไม่นาน นครนิวยอร์กได้เปิดใช้บรองซ์ริเวอร์พาร์กเวย์ (Bronx River Parkway) ในปี ค.ศ. 1924 บรองซ์ริเวอร์พาร์กเวย์เป็นถนนสายแรกในอเมริกาเหนือที่ใช้เกาะกลางแยกการจราจรของทั้งสองทิศทาง ถูกก่อสร้างให้มีเส้นทางผ่านสวนสาธารณะและผ่านทางแยกต่างระดับ[3][4] เซาเทิร์นสเตตพาร์กเวย์เปิดใช้ในปี ค.ศ. 1927 ขณะที่ลองไอแลนด์มอเตอร์พาร์กเวย์ได้ถูกปิดไปเมื่อปี ค.ศ. 1937 และแทนที่โดยนอร์ทเทิร์นสเตตพาร์กเวย์ (เปิดใช้ในปี ค.ศ. 1931) และเชื่อมต่อกับแกรนด์เซนทรัลพาร์กเวย์ (เปิดใช้ในปี ค.ศ. 1936) ส่วนในประเทศเยอรมนี ได้เริ่มก่อสร้างเอาโทบานสายบอนน์-โคโลญในปี ค.ศ. 1929 และเปิดใช้โดยนายกเทศมนตรีเมืองโคโลญในปี ค.ศ. 1932[5]

ทางด่วนในประเทศต่าง ๆ

สหรัฐอเมริกา

ทางแยกต่างระดับที่เป็นจุดตัดของอินเตอร์สเตตในสหรัฐอเมริกา

ระบบทางหลวงในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า อินเตอร์สเตต (อังกฤษ: interstate) ระหว่างรัฐของสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นก่อสร้างขึ้นจนกระทั่งครอบคลุมทั่วทุกรัฐ ประกอบไปด้วยทางหลวง 3 แบบ ได้แก่ ทางหลวงที่ไม่จำกัดความเร็ว (freeway) ทางหลวงแผ่นดิน (highway) และทางด่วน (expressway) ใช้ระบบตัวเลขกำหนดสายทาง โดยตัวเลข 1 หลักและ 2 หลักจะเป็นถนนสายหลัก โดยเส้นทางที่ลงท้ายด้วยเลขคู่จะเป็นเส้นทางข้ามจากฝั่งตะวันออกมาตะวันตก ส่วนเส้นทางที่ลงท้ายด้วยเลขคี่จะเป็นเส้นทางจากเหนือจรดใต้ ส่วนตัวเลข 3 หลักจะเป็นถนนที่เป็นสาขาหรือเส้นทางวนรอบพื้นที่ในเขตชนบท กำหนดความเร็วจำกัดอยู่ที่ 105-129 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละรัฐ

จีน

ทางด่วนในประเทศจีน

ประเทศจีนมีระบบทางหลวงพิเศษที่เรียกว่า ระบบทางหลวงขนส่งแห่งชาติ (อังกฤษ: National Truck Highway System หรือ NTHS) มีการควบคุมการเข้าออก โดยยึดมาตรฐานของระบบทางหลวงระหว่างรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้นแบบในการก่อสร้าง มีระยะทางโครงข่ายรวม 74,000 กิโลเมตร (พ.ศ. 2553) กำหนดความเร็วจำกัดสูงสุดที่ 110-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต่ำสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สหราชอาณาจักร

โครงข่ายทางด่วนในสหราชอาณาจักรเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมตามหัวเมืองสำคัญเข้าไว้ด้วยกัน แนวคิดเรื่องมอเตอร์เวย์ในสหราชอาณาจักรเริ่มขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยออกพระราชบัญญัติทางหลวงพิเศษขึ้นใน พ.ศ. 2492 และเปิดให้บริการทางด่วนสายแรกของสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 2501 คือ เส้นทาง M1 และได้ก่อสร้างทางด่วนเส้นทางอื่น ๆ จนครบ 1,600 กิโลเมตร จนกระทั่งใน พ.ศ. 2540 รัฐบาลอังกฤษได้ลดแผนการเพิ่มโครงข่ายถนน และหันไปสร้างระบบรางแทน

ทางด่วนเกือบทั้งหมดในสหราชอาณาจักร จะเป็นถนนที่มีรถวิ่ง 2 ทาง มีช่องจราจรทั้งหมด 2–4 ช่องจราจรในแต่ละทาง ซึ่งโดยส่วนมากมี 3 ช่องจราจร โดยในปัจจุบันทางด่วนในสหราชอาณาจักรมีระยะทางรวม 3,438 กิโลเมตร และกำหนดความเร็วจำกัด 113 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ประเทศไทย

ทางหลวงของประเทศไทยมีมากกว่า 97,903 กิโลเมตร แต่ทางหลวงที่มีลักษณะทางด่วนมีเพียง 382 กิโลเมตร ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางพิเศษ และทางยกระดับอุตราภิมุข ปัจจุบัน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงเปิดให้บริการ 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร–บ้านฉาง ระยะทาง 126 กิโลเมตร และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (บางพลี–บางปะอิน) ระยะทาง 64 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 190 กิโลเมตร

ตามกฎหมายไทย จะเรียกทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยว่า ทางพิเศษ เรียกทางด่วนของกรมทางหลวงว่า ทางหลวงพิเศษ (ระหว่างเมือง) และเรียกทางด่วนอุตราภิมุขว่า ทางยกระดับ

ชื่อเรียกในประเทศต่าง ๆ

สัญลักษณ์ทางด่วนในสหราชอาณาจักรและหลายประเทศในยุโรป (ซ้าย) และสัญลักษณ์ทางหลวงพิเศษในไทย (ขวา) สัญลักษณ์ทางด่วนในสหราชอาณาจักรและหลายประเทศในยุโรป (ซ้าย) และสัญลักษณ์ทางหลวงพิเศษในไทย (ขวา)
สัญลักษณ์ทางด่วนในสหราชอาณาจักรและหลายประเทศในยุโรป (ซ้าย) และสัญลักษณ์ทางหลวงพิเศษในไทย (ขวา)

ในแต่ละประเทศ มีชื่อเรียกทางด่วนแตกต่างกันไป :

อ้างอิง

  1. http://archive.etsc.eu/documents/copy_of_PR%20Motorways%20safety-02.18-final.pdf
  2. Patton, Phil (9 October 2008). "A 100-Year-Old Dream: A Road Just for Cars". The New York Times.
  3. "Built to Meander, Parkway Fights to Keep Measured Pace". The New York Times. 6 June 1995. สืบค้นเมื่อ 13 April 2010.
  4. Hershenson, Roberta (18 June 1995). "Bronx River Parkway On an Endangered List". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 13 April 2010.
  5. "German Myth 8 Hitler and the Autobahn". German.about.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-08. สืบค้นเมื่อ 2016-05-09.

แหล่งข้อมูลอื่น

  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Freeways
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Motorways
Kembali kehalaman sebelumnya