นโปเลียนที่ 2
นโปเลียน ฟร็องซัว ชาร์ล โฌแซ็ฟ โบนาปาร์ต (ฝรั่งเศส: Napoléon François Charles Joseph Bonaparte) เป็นพระราชโอรสองค์เดียวของ จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ที่ประสูติแด่อาร์ชดัชเชสมารี หลุยส์ แห่งออสเตรีย ตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส ทรงมีพระยศตั้งแต่เกิดเป็น พระราชกุมาร (Prince Imperial) และกษัตริย์แห่งโรม (King of Rome) เนื่องจากจักรพรรดินโปเลียนประกาศให้เป็นพระยศกิตติมศักดิ์สำหรับรัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรง ต่อมาเมื่อพระราชบิดาลงจากอำนาจในปี 1814 พระนางมารี หลุยส์ พระราชมารดาได้รับตำแหน่งดัชเชสผู้ครองปาร์มา เจ้าชายน้อยจึงได้รับยศตามมารดาเป็น เจ้าชายแห่งปาร์มา อย่างไรก็ตาม เจ้าชายน้อยถูกเชิญให้ประทับอยู่ในเวียนนา ซึ่งที่นั่นพระองค์ถูกเรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า ฟรันซ์ ดยุกแห่งไรชส์ชตัท (Franz, Duke of Reichstadt) เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 สละราชสมบัติในปี 1814 ทรงเสนอนามพระราชโอรสขึ้นเป็นจักรพรรดิ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสหสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามนโปเลียนไม่ยอมรับการสืบราชบัลลังก์ดังกล่าว นโปเลียนที่ 1 จึงถูกบังคับให้สละราชสมบัติโดยปราศจากเงื่อนไขในอีกหลายวันต่อมา ซึ่งแม้ว่าจักรพรรดินโปเลียนที่ 2 ไม่ได้ทรงปกครองฝรั่งเศสในทางปฏิบัติแต่อย่างใด แต่ก็ถือว่าทรงเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสในนามในปี 1815 หลังจากสิ้นการปกครองของพระราชบิดา นโปเลียน กษัตริย์แห่งโรม ดยุกแห่งไรชส์ชตัท เสด็จสวรรคตในปี 1832 ที่กรุงเวียนนา พระองค์ได้รับสมัญญาภายหลังการสวรรคตว่า อินทรีย์หนุ่ม (L'Aiglon) ต่อมาในปี 1852 เมื่อพระญาติของพระองค์นามว่า หลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ต ราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิและสถาปนาจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง ทรงเลือกใช้พระนามาภิไธยว่าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เพื่อเป็นการยอมรับสภาพการทรงราชย์ของนโปเลียนที่ 2 พระราชประวัติประสูติในช่วงเวลา 20 ถึง 21 นาฬิกาของคืนวันที่ 19 มีนาคม 1811 จักรพรรดินีมารี หลุยส์ รู้สึกเจ็บพระครรภ์ นางสนองพระโอษฐ์จึงแจ้งให้บรรดาบุคคลสำคัญทราบ บรรดาเจ้านายและขุนนางชั้นสูง รัฐมนตรี สมุหพระราชวัง ตลอดจนข้าราชบริพารต่างพากันมารวมตัวกัน ณ พระราชวังตุยเลอรี[1] ต่อมาในเช้าวันที่ 20 มีนาคม เวลา 9.20 นาฬิกา ทรงคลอดทารกเพศชายน้ำหนัก 4.1 กิโลกรัม และส่วนสูง 51 เซนติเมตร ทรงได้รับการเจิม (พิธีบัพติศมาแบบย่อตามขนบธรรมเนียมฝรั่งเศส) โดยโฌแซ็ฟ เฟ็สช์ และมีพระนามเต็มว่า นโปเลียน ฟร็องซัว ชาร์ล โฌแซ็ฟ[2] ต่อมาทรงเข้าพิธีบัพติศมา ซึ่งมีต้นแบบมาจากพิธีบัพติศมาของเจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส ในวันที่ 9 มิถุนายน ณ มหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส[2] โดยคาร์ล ฟิลลิพ เจ้าชายแห่งชวาร์ทเซินแบร์ค ราชทูตออสเตรียประจำฝรั่งเศสในขณะนั้น ได้บันทึกไว้ว่า :
ต่อมาทรงอยู่ในความดูแลของหลุยส์ ชาร์ลอต ฟร็องซัว เลอ เตลีเย เดอ มงเตสกียู ทายาทของฟร็องซัว-มิเชล เลอ เตลีเย มาร์กี เดอ โลวัวส์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งข้าหลวงแห่งราชโอรสราชธิดาฝรั่งเศส (Governess of the Children of France) และด้วยความเป็นที่รักใคร่และชาญฉลาด ข้าหลวงผู้ดูแลพระองค์จึงได้รวบรวมชุดหนังสือจำนวนมากไว้สำหรับพระราชโอรส เพื่อใช้ในการปูพื้นฐานทางด้านศาสนา ปรัชญา และการกลาโหม[2] สิทธิสืบราชสมบัติเนื่องจากเป็นพระราชโอรสองค์โตที่ถูกต้องตามกฎหมายของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 รัฐธรรมนูญจึงรับรองพระราชสถานะของพระองค์เป็นเจ้าชายแอ็งเปรียาลและรัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรง นอกจากนี้จักรพรรดิยังพระราชทานพระอิสริยยศแก่พระองค์เป็นกษัตริย์แห่งโรมอีกด้วย ถึงกระนั้นก็ตาม จักรวรรดิฝรั่งเศสที่หนึ่งที่พระองค์เป็นรัชทายาทก็ล่มสลายลงในอีกสามปีถัดมา จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทรงพบปะกับพระชายา (จักรพรรดินีมารี หลุยส์) และพระราชโอรสของพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2357[3] และต่อมาในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2357 ก็ทรงสละราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสวัย 3 ชันษา ภายหลังการทัพหกวัน และยุทธการที่ปารีส เจ้าชายพระองค์น้อยจึงได้ขึ้นเสวยราชย์ด้วยพระนาม นโปเลียนที่ 2 อย่างไรก็ตามในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2357 จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 สละราชสมบัติโดยครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งสละพระราชสิทธิ์ของพระองค์และรัชทายาทเหนือราชบัลลงก์ฝรั่งเศสด้วย ทั้งนี้สนธิสัญญาฟงแตนโบลปี พ.ศ. 2357 ยังมอบสิทธิ์ในการใช้พระอิสริยยศ เจ้าชายแห่งปาร์มา ปลาเซนตีอา และกัสตัลลา แก่นโปเลียนที่ 2 และพระอิสริยยศ ดัชเชสแห่งปาร์มา ปลาเซนตีอา และกัสตัลลา แก่พระราชมารดาของพระองค์ ครองราชย์ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2357 พระนางมารี หลุยส์ เสด็จฯ ออกจากพระราชวังตุยเลอรีพร้อมกับพระราชโอรส โดยที่หมายแรกก็คือพระราชวังร็องบูเยต์ แต่ด้วยความที่ทรงกลัวกองทหารของฝ่ายศัตรูที่กำลังคืบคลานเข้ามา จึงเสด็จฯ ต่อไปยังพระราชวังบลัว ต่อมาในวันที่ 13 เมษายน พระนางและพระราชโอรสจึงเสด็จฯ กลับไปยังพระราชวังร็องบูเยต์ และทรงพบกับพระราชบิดา จักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งออสเตรีย พร้อมด้วยจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย จากนั้นในวันที่ 23 เมษายน พระนางและพระราชโอรสจึงเสด็จฯ ออกจากร็องบูเยต์และฝรั่งเศสไปพำนักลี้ภัยอยู่ที่ออสเตรียเป็นการถาวร ภายใต้การอารักขาของกองทหารออสเตรีย โดยมิมีโอกาสได้เสด็จฯ กลับมาอีกเลยตลอดช่วงพระชนม์ชีพที่เหลือ[4] ในปี พ.ศ. 2358 หลังจากที่ทรงพ่ายแพ้ในยุทธการที่วอเตอร์ลู จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 สละราชสมบัติแก่พระราชโอรสวัย 4 ชันษาเป็นครั้งที่สอง ผู้ซึ่งพระองค์มิได้ทรงพบปะตั้งแต่การเสด็จลี้ภัยไปเกาะเอลบา และหนึ่งวันหลังจากที่สละราชสมบัติ คณะรัฐบาลซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกห้าคนจึงได้เข้ายึดการปกครองของฝรั่งเศสเอาไว้[5] และเฝ้ารอการเสด็จนิวัติคืนสู่ปารีสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ซึ่งในขณะนั้นประทับอยู่ ณ เลอ กาโต-ก็องเบรซิ[6] โดยในระหว่างที่ได้ปกครองฝรั่งเศสอยู่เป็นเวลาสองสัปดาห์นั้น คณะรัฐบาลไม่เคยกราบบังคมทูลเชิญจักรพรรดินโปเลียนที่ 2 อย่างเป็นทางการหรือแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนเลย จนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม เมื่อกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรเคลื่อนพลเข้าสู่กรุงปารีส ความหวังของฝ่ายผู้สนับสนุนจักรพรรดินโปเลียนที่ 2 ในการเชิญพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติจึงจบสิ้นลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในขณะนั้นพระองค์ประทับอยู่ในออสเตรียกับพระราชมารดาและมีความเป็นไปได้ว่าทรงไม่รับรู้ว่าทรงได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิหลังการสละราชสมบัติของพระราชบิดา เชื้อพระวงศ์โบนาปาร์ตพระองค์ต่อมาที่ได้ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองฝรั่งเศสก็คือเจ้าชายหลุยส์-นโปเลียน พระราชโอรสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งฮอลล์แลนด์ พระอนุชาในจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2395 โดยใช้พระนามว่า จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 พระชนม์ชีพในออสเตรียตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี พ.ศ. 2357 เป็นต้นมา เจ้าชายนโปเลียนทรงใช้พระชนม์ชีพอยู่ในออสเตรียและทรงเป็นที่รู้จักในพระนาม ฟรันซ์ ซึ่งเป็นชื่อที่ทรงได้รับมาเป็นชื่อที่สอง ในปี พ.ศ. 2361 ทรงได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งไรช์สตัดท์ ซึ่งเป็นอิสริยยศที่ได้รับสืบทอดมาจากพระราชอัยกา (ตา) ฝ่ายพระราชมารดา จักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 เจ้าชายฟรันซ์ทรงได้รับการศึกษาจากครูผู้สอนจากกองทัพ จึงทำให้พระองค์มีความสนพระทัยด้านการทหารในเวลาต่อมา ทรงแต่งกายด้วยชุดทหารจำลองและเล่นแปรแถวกองทหารในบริเวณพระราชวัง จนกระทั่งเจริญพระชันษาได้ 8 ชันษา จึงเป็นที่ปรากฏแน่ชัดแก่คณาอาจารย์ของพระองค์ว่าจะทรงเลือกอาชีพทางด้านการทหาร ต่อมาในปี พ.ศ. 2363 เจ้าชายฟรันซ์ทรงสำเร็จการศึกษาในชั้นประถมศึกษาและเริ่มเข้ารับการฝึกทางทหาร ทรงเรียนรู้ภาษาเยอรมัน ภาษาอิตาลี และคณิตศาสตร์ เช่น เกี่ยวกับการฝึกทางกายภาพขั้นสูง และในปี พ.ศ. 2366 ทรงเข้ารับราชการทหารอย่างเป็นทางการด้วยวัย 12 ชันษา หลังจากที่ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักเรียนายร้อยทหารแห่งกองทัพออสเตรีย ซึ่งจากคำบอกเล่าของคณาจารย์ผู้ฝึกสอน พระองค์ทรงมีบุคคลิกที่เฉลียวฉลาด จริงจัง และมุ่งมั่น นอกจากนี้ยังทรงมีรูปร่างที่สูงใหญ่ ด้วยวัย 17 พรรษา ทรงสูงเกือบ 6 ฟุต (180 เซนติเมตร) ทั้งนี้พระกรณียกิจด้านการทหารของพระองค์สร้างความกังวลและความชื่นชมแก่บรรดาพระมหากษัตริย์ในทวีปยุโรปรวมถึงผู้นำของฝรั่งเศส และยังเปิดโอกาสความเป็นไปได้ว่าพระองค์จะนิวัติกลับสู่ฝรั่งเศสอีกครั้ง อย่างไรก็ตามทรงไม่ได้รับพระราชานุญาตให้ข้องเกี่ยวกับการเมือง แต่ทรงถูกเสนาบดีแห่งจักรวรรดิ (ตำแหน่งเทียบเท่านายกรัฐมนตรี) เคลเมินส์ ฟอน เมทเทอร์นิช ใช้พระองค์เป็นข้อต่อรองกับฝรั่งเศสเพื่อความได้เปรียบของออสเตรียแทน เมทเทอร์นิชเกรงกลัวว่าเชื้อพระวงศ์โบนาปาร์ตจะกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง ถึงขนาดที่ว่าไม่อนุญาตให้เจ้าชายฟรันซ์ได้มีโอกาสเปลี่ยนที่ประทับไปยังภูมิภาคที่มีสภาพอากาศอบอุ่นกว่าอย่างอิตาลีเลย นอกจากนี้พระอัยกาของพระองค์ยังทรงปฏิเสธคำกราบบังคมทูลขอพระราชานุญาตไปปฏิบัติกรณียกิจด้านการทหารเพื่อร่วมปราบปรามกลุ่มกบฏในอิตาลีอีกด้วย[7] จากการสิ้นพระชนม์ของพระบิดาบุญธรรม นายพลอดัม อัลแบร์ท ฟอน ไนพ์แพร์ก และการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ว่าพระมารดาของพระองค์มีพระบุตรก่อนการเสกสมรสซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมายกับเจ้าชายอาดัม 2 พระองค์ เจ้าชายฟรันซ์จึงทรงห่างเหินกับพระมารดามากขึ้นเรื่อย ๆ และทรงรู้สึกว่าพระราชวงศ์ออสเตรียของพระองค์กำลังยื้อยุดพระองค์เอาไว้เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งนี้พระองค์ได้ตรัสกับพระสหาย นายพลอันทอน ฟอน พรอเคช-โอสเทิน ว่า "ถ้าหากพระนางโฌเซฟีนเป็นพระราชมารดาของเรา พระราชบิดาก็คงจะไม่ต้องถูกฝัง ณ เกาะเซนต์เฮเลนา และเราก็คงไม่ต้องประทับอยู่ที่เวียนนา พระราชมารดาของเรา (พระนางมารี หลุยส์) มีพระจริยวัตรที่เมตตาแต่อ่อนแอ พระนางทรงมิใช่พระชายาอันคู่ควรของพระราชบิดา"[8] ในปี พ.ศ. 2374 เจ้าชายฟรันซ์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองพันทหารออสเตรีย แต่ก็ไม่เคยได้รับโอกาสให้ทรงบัญชาการอย่างจริงจังสักครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2375 พระองค์ประชวรด้วยอาการพระปัปผาสะ (ปอด) บวม ทำให้ต้องประทับอยู่บนแท่นพระบรรทมนานหลายเดือน จนในที่สุดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2375 ด้วยพระพลานามัยที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง เจ้าชายฟรันซ์จึงสิ้นพระชนด้วยวัณโรค ณ พระราชวังเชินบรุนน์ในกรุงเวียนนา[9] ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์สิ้นพระชนม์โดยปราศจากรัชทายาท ส่งผลให้การอ้างสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์ฝรั่งเศสสายโบนาปาร์ตตกเป็นของพระญาติคือ เจ้าชายหลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งภายหลังทรงสามารถฟื้นฟูจักรวรรดิฝรั่งเศสขึ้นมาได้สำเร็จ และครองราชสมบัติในฐานะ จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส การย้ายที่ฝังพระศพในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2483 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์สั่งให้เคลื่อนย้ายพระศพของนโปเลียนที่ 2 จากกรุงเวียนนามาฝั่งไว้ที่เลแซ็งวาลีด กรุงปารีส[10][11] ส่วนพระศพของนโปเลียนที่ 1 ถูกนำกลับมายังฝรั่งเศสตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2483 ในช่วงของราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคม[12] โดยที่พระศพของเจ้าชายถูกฝังไว้เคียงข้างกับพระราชบิดาเป็นช่วงเวลาสักระยะหนึ่ง แต่ต่อมาพระศพถูกย้ายลงไปยังโบสถ์ส่วนล่างแทน ในขณะที่พระศพส่วนมากของเจ้าชายฟรันซ์ถูกเคลื่อนย้ายไปฝัง ณ ปารีส แต่ยังคงอวัยวะบางส่วนคือพระหทัย (หัวใจ) และพระอันตคุณ (ลำไส้เล็ก) ฝังไว้ที่เวียนนาตามธรรมเนียมของสมาชิกราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค โดยพระหทัยฝังไว้ในโกศที่ 42 ณ แฮร์ซกรุฟท์ (เยอรมัน: Herzgruft; ห้องชั้นใต้ถุนของโบสถ์ซึ่งใช้ฝังหัวใจ) ส่วนพระอันตคุณฝังไว้ในโกศที่ 76 ณ แฮร์โซกส์กรุฟท์ (เยอรมัน: Herzogsgruft; ห้องชั้นใต้ถุนของโบสถ์ซึ่งใช้ฝังพระศพของดยุก) พระราชมรดก
นอกจากนี้ยังทรงเป็นที่จดจำจากมิตรภาพของพระองค์กับเจ้าหญิงโซฟีแห่งบาวาเรีย เชื้อพระวงศ์วิตเตลส์บาค[14] ผู้ปราดเปรื่อง ทะเยอทะยาน และหัวแข็ง ซึ่งเจ้าหญิงโซฟีทรงมีพระจริยวัตรที่ไม่ค่อยเหมือนกับพระสวามี อาร์ชดยุกฟรันซ์ คาร์ล นอกจากนี้ยังมีข่าวลือด้วยว่าทั้งเจ้าชายฟรันซ์และเจ้าหญิงโซฟีทรงมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างกัน และพระโอรสองค์ที่สองของพระนาง จักรพรรดิแม็กซีมีเลียนที่ 1 แห่งเม็กซิโก (ประสูติ พ.ศ. 2375) คือผลจากความสัมพันธ์ดังกล่าว เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ตราอาร์มประจำพระองค์
อ้างอิง
|