พระอารามนาม (ประเทศจีน)
พระอารามนาม หรือ เมี่ยวเฮ่า (จีนตัวย่อ: 庙号; จีนตัวเต็ม: 廟號; พินอิน: Miàohào) หมายถึง พระปรมาภิไธยบนพระป้ายที่จารึกไว้เพื่อสักการะสรรเสริญถึงพระเกียรติคุณในสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าภายหลังเสด็จสู่สวรรคาลัย[1] ในประเทศจีนมีการจารึกพระอารามนามไว้บนพระป้ายทองคำประดิษฐาน ณ ไท่เมี่ยว หรือศาลบูรพกษัตริย์อันเป็นหอบรรพชนของราชวงศ์ เปรียบเสมือนกับปราสาทพระเทพบิดรในไทย พระราชประเพณีนี้นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดมาแต่สมัยราชวงศ์ซางซึ่งให้ความสำคัญกับการสักการะบูชา สมัยราชวงศ์โจวมีเพียงประเพณีถวายพระสมัญญานาม สมัยราชวงศ์ฉินจักรพรรดิฉินสื่อ พระองค์รับสั่งยกเลิกพระราชประเพณี ด้วยเหตุว่า การตั้งสมัญญานามและอารามนาม เป็นเรื่องของ "บุตรวิจารณ์บิดา ข้าวิจารณ์เจ้า" อันสื่อถึงความไม่เคารพ[2] ต่อมาสมัยราชวงศ์ฮั่นได้นำประเพณีตั้งสมัญญานามและอารามนามกลับมา แต่สำหรับพระอารามนามนั้นมีธรรมเนียมที่เคร่งครัด จึงทำให้ก่อนราชวงศ์สุยพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีพระอารามนามทุกพระองค์ มีเพียงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณูปการแก่อาณาประชาราษฎร์ แก่ชาติบ้านเมือง จึงจะมีพระอารามนามได้ ต่อมาสมัยราชวงศ์ถังได้กลายเป็นธรรมเนียมนิยม ก่อเกิดอักษรสำหรับถวายพระอารามนามมากมาย ทำให้จักรพรรดิแทบทุกพระองค์มีพระอารามนาม เว้นแต่จะมีเหตุทำให้ถวายพระอารามนามไม่ได้ ประเพณีถวายพระอารามนามสืบทอดต่อมาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังเป็นต้นมา เป็นเหตุให้นักประวัติศาสตร์นิยมใช้ พระอารามนาม เมื่อกล่าวอ้างถึงจักรพรรดิในราชวงศ์นี้จวบจนถึงจักรพรรดิในราชวงศ์หมิง[3] ในต่างประเทศเนื่องจากอิทธิพลทางแวดวงวัฒนธรรม ทำให้ราชวงศ์ของประเทศโดยรอบ เช่น ราชวงศ์โครยอ ราชวงศ์โชซ็อน ราชวงศ์เหงียน ได้รับประเพณีการตั้งสมัญญานามและอารามนามไปด้วย ส่วนในประเทศญี่ปุ่นพบเพียงการตั้งสมัญญานามเท่านั้น[4]
ข้อแตกต่างพระอารามนามกับสมัญญานามแม้ว่า พระอารามนาม จะมีส่วนคล้าย พระสมัญญานาม ตรงที่เป็นพระนามถวายแด่พระมหากษัตริย์ที่เสด็จสรรคตไปแล้ว แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่ตรงที่ พระอารามนาม มีความหมายไปในทางยกย่องเชิดชูเป็นหลัก และถวายแด่พระมหากษัตริย์เท่านั้น มีกฎเกณฑ์ในการถวายที่รัดกุม อันประกอบด้วยอักษรเพียง 2 ตัวเท่านั้น อักษรแรกเป็นคำคุณศัพท์ที่สะท้อนพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ ซึ่งโดยมากคำคุณศัพท์นี้จะไม่ซ้ำกับคำที่ใช้ใน พระสมัญญานาม และหากพระมหากษัตริย์เป็นต้นวงศ์มักจะใช้คำว่า “เกา” (高) แปลว่า สูง หรือ “ไท่” (太) แปลว่า ยิ่งใหญ่ ส่วนคำที่ 2 นั้นจะใช้คำว่า “จู่” (祖) หรือ “จง” (宗) คำใดคำหนึ่งเท่านั้น ซึ่งทั้งคู่มีความหมายว่า บรรพชน และหากสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์นั้นเป็นต้นวงศ์-ไม่ว่าจะเป็นต้นสกุล ผู้สถาปนาราชวงศ์ใหม่ หรือต้นสายใหม่ในราชวงศ์เดิม-จะใช้คำว่า “จู่” และหากเป็นจักรพรรดิในลำดับถัดมาจะใช้คำว่า “จง”[5] หลักพระอารามนาม
พระอารามนามตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์จีน
ในช่วงสมัยห้าราชวงศ์และสิบอาณาจักร เป็นช่วงที่ พระอารามนามเกาจู่ มีความเฟื่องฟูใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น หลิวเก่า จักรพรรดิเกาจู่แห่งฮั่นยุคหลัง เป็นต้น
อ้างอิง
|