พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน (จีน: 中国国家博物馆; พินอิน: Zhōngguó guójiā bówùguǎn) เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะและประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจัตุรัสเทียนอันเหมิน ใจกลางกรุงปักกิ่ง มีพื้นที่อาคารทั้งหมดประมาณ 200,000 ตารางเมตร มีผลงานมากกว่า 1.4 ล้านชิ้น และห้องนิทรรศการ 48 ห้อง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีพื้นที่อาคารเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมจีนไว้มากที่สุด[3] และยังเป็นสถาบันสาธารณะระดับชาติชั้นนำที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว[4] ประวัติศาตร์รูปแบบนิติบุคคลปัจจุบันของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2003[5] โดยการควบรวมสองพิพิธภัณฑ์ที่เคยครอบครองอาคารเดียวกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 ได้แก่ พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติจีน (ตั้งอยู่ทางปีกเหนือ) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากสำนักงานพิพิธภัณฑ์การปฏิวัติแห่งชาติที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1950 เพื่อรักษามรดกของการปฏิวัติ ค.ศ. 1949 และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จีนแห่งชาติ (ตั้งอยู่ทางปีกใต้) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากทั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติปักกิ่งที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1949 และสำนักงานพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1912 มีหน้าที่ในการปกป้องมรดกทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของจีน ตัวอาคารแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1959 ในฐานะหนึ่งในสิบมหาอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นส่วนเสริมที่สมบูรณ์แบบของมหาศาลาประชาชนซึ่งสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6.5 เฮกตาร์ (16 เอเคอร์) มีความยาวด้านหน้า 313 เมตร (1,027 ฟุต) สูง 4 ชั้น รวมความสูง 40 เมตร (130 ฟุต) และมีความกว้าง 149 เมตร (489 ฟุต)[6] ส่วนหน้าของอาคารมีเสาสี่เหลี่ยมจำนวน 10 ต้น ภายหลังการปรับปรุงครั้งใหญ่เป็นเวลาสี่ปี พิพิธภัณฑ์ได้เปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 2011 พร้อมด้วยห้องนิทรรศการใหม่ 28 ห้อง ซึ่งเพิ่มพื้นที่จัดแสดงมากกว่าของเดิมสามเท่า และสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดแสดงและจัดเก็บที่ทันสมัย มีพื้นที่จัดแสดงรวมเกือบ 200,000 ตารางเมตร (2.2 ล้านตารางฟุต)[7] การปรับปรุงดังกล่าวได้รับการออกแบบโดยบริษัท เกอร์คาน, มาร์ก แอนด์พาร์ตเนอส์ จำกัด จากประเทศเยอรมนี[8] นิทรรศการ "เส้นทางสู่การฟื้นฟู" ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวปราศรัยถึงแนวคิดทางการเมือง "ฝันจีน" เป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2012[9]: 56 ครึ่งแรกของนิทรรศการนี้แสดงให้เห็นภาพศตวรรษแห่งความอัปยศอดสูของจีน[9]: 56 ส่วนครึ่งหลังนั้นได้นำเสนอคุณธรรมของจีนในการเอาชนะความทุกข์ยาก การปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีน และการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน[9]: 56-57 หลังจากการเยี่ยมชมนิทรรศการแล้ว สีได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า "การฟื้นฟูชาติจีนให้กลับมามีความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งนั้นเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ที่สุดของประชาชาติจีนในสมัยปัจจุบัน"[9]: 57 เนื่องจากการระบาดทั่วของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ปิดทำการตลอดปี ค.ศ. 2020 ส่งผลให้จำนวนผู้เข้าชมลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 78 เหลือเพียง 1,600,000 คน อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 2021 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมเป็นอันดับสองในรายชื่อพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดรองจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์[10] นิทรรศการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีนได้จัดนิทรรศการถาวรและชั่วคราวมากกว่า 10 รายการตลอดทั้งปี ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาของจีนในสมัยโบราณและสมัยใหม่เท่านั้น แต่ยังพยายามที่จะเป็นหน้าต่างแสดงอารยธรรมโลกอีกด้วย
คอลเลกชันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ครอบคลุมประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่ยุคมนุษย์หยวนโมวเมื่อ 1.7 ล้านปีก่อนจนถึงปลายราชวงศ์ชิง (ราชวงศ์สุดท้ายในประวัติศาสตร์จีน) มีของสะสมถาวรกว่า 1,050,000 ชิ้น[11] ด้วยโบราณวัตถุล้ำค่าและหายากมากมายที่ไม่สามารถพบเจอได้ในพิพิธภัณฑ์แห่งใดในจีนหรือที่อื่น ๆ ในโลก หนึ่งในสิ่งของที่สำคัญที่สุดในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน ได้แก่ "โฮ่วหมู่อู้ติ่ง" (后母戊鼎) สมัยราชวงศ์ชาง ซึ่งเป็นเครื่องสำริดโบราณที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก หนักประมาณ 832.84 กิโลกรัม,[12] ซุนบรอนซ์ทรงสี่เหลี่ยมประดับด้วยหัวแกะสี่ตัวสมัยราชวงศ์ชาง,[12] กระทะน้ำสำริดขนาดใหญ่สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก,[12] เหรียญสำริดเลี่ยมทองเป็นรูปเสือสมัยราชวงศ์ฉิน,[12] ชุดหยกฝังศพเย็บด้วยด้ายสีทองสมัยราชวงศ์ฮั่น,[12] และคอลเลกชันซันฉ่ายเคลือบสามสีสมัยราชวงศ์ถังและเซรามิกสมัยราชวงศ์ซ่ง[12] นอกจากนี้ยังมีของสะสมเกี่ยวกับเหรียญที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงเหรียญ 15,000 เหรียญที่บริจาคโดย หลัว ป๋อจ้าว (羅伯昭)[13] พิพิธภัณฑ์มีนิทรรศการถาวรชื่อ ถนนสู่การปฏิวัติ (The Road to Rejuvenation) ซึ่งนำเสนอประวัติศาสตร์ล่าสุดของจีนตั้งแต่จุดเริ่มต้นของสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง โดยเน้นที่ประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) และความสำเร็จทางการเมืองของพรรค[14] แกลเลอรี
นาฬิกานับถอยหลังตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 มีการติดตั้งนาฬิกานับถอยหลังที่เกี่ยวข้องกับโอกาสสำคัญระดับชาติ เช่น การโอนอำนาจอธิปไตยของฮ่องกงในปี พ.ศ. 2540 การโอนอำนาจอธิปไตยของมาเก๊าในปี พ.ศ. 2542 การเริ่มต้นของโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปักกิ่ง พ.ศ. 2551 และการเปิดงานเอ็กซ์โป 2010 ที่เซี่ยงไฮ้ ดูเพิ่ม
อ้างอิง
|