อักษรตังกุต
อักษรตังกุต (ตังกุต: 𗼇𘝞; จีน: 西夏文; พินอิน: Xī Xià Wén; แปลตรงตัว: "อักษรเซี่ยตะวันตก") เป็นระบบการเขียนตัวหนังสือคำที่ใช้สำหรับภาษาตังกุตในราชวงศ์เซี่ยตะวันตก ตามรายงานล่าสุด มีอักษรตังกุตเท่าที่รู้จัก (ไม่รวมรูปแบบอื่น ๆ) 5,863 ตัว[1] อักษรตังกุตมีความคล้ายกับอักษรจีน[2] โดยมีวิธีขีดเส้นคล้ายกัน แต่วิธีการเขียนตัวอักษรในระบบการเขียนตังกุตมีความแตกต่างจากรูปแบบการเขียนของอักษรจีนอย่างมาก ประวัติพงศาวดารซ่ง ซ่งฉื่อ (ค.ศ. 1346) ระบุว่าอักษรนี้ได้รับการคิดค้นโดย เหย่ลี่เหรินหรง (ตังกุต: 𘘥𗎁𗸯𘄊;[3] จีน: 野利仁榮) เจ้าหน้าที่ชั้นสูงในปี ค.ศ. 1036[4][5] หลังคิดค้นอักษรนี้ในเวลาไม่นานก็มีการใช้งานทันที โดยการเรียนการสอนในโรงเรียนของรัฐ, เอกสารของทางการใช้อักษรนี้ (เอกสารสองภาษามีเฉพาะทางการทูต) มีคัมภีร์ศาสนาพุทธจำนวนมากที่แปลจากภาษาทิเบตและภาษาจีนมาเป็นอักษรนี้ และมีภาพพิมพ์แกะไม้ที่สลักด้วยอักษรนี้[6] ถึงแม้ว่าราชวงศ์เซี่ยตะวันตกล่มสลายในปี ค.ศ. 1227 แต่อักษรนี้ยังคงมีการใช้งานต่อมาอีกหลายศตวรรษ ตัวอย่างสุดท้ายที่พบจารึกด้วยอักษรนี้ปรากฏบนเสาตังกุตธารณีคู่ ซึ่งสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1502 ที่เมืองเป่าติ้ง ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอเป่ย์[7] อ้างอิง
ข้อมูล
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ อักษรตังกุต
|