ฟุตบอลทีมชาติกัมพูชา
ฟุตบอลทีมชาติกัมพูชา (เขมร: ក្រុមបាល់ទាត់ជម្រើសជាតិកម្ពុជា, Krŏm Băltoăt Chômreus Chéatĕ Kâmpŭchéa) เป็นทีมฟุตบอลตัวแทนของราชอาณาจักรกัมพูชาในการแข่งขันระหว่างประเทศ อยู่ภายใต้การควบคุมของสหพันธ์ฟุตบอลกัมพูชา โดยเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย และสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน กัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกฟีฟ่าใน ค.ศ. 1953 และเคยใช้ชื่อทีมว่า ทีมฟุตบอลสาธารณรัฐเขมรในช่วง ค.ศ. 1970–1975 ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นกัมพูชาอย่างในปัจจุบันหลังจากอำนาจการปกครองของเขมรแดงสิ้นสุดลงในช่วงทศวรรษ 1990 สนามเหย้าของกัมพูชาคือพหุกีฬาสถานชาติโอลิมปิก และกีฬาสถานชาติมรดกเตโช กัมพูชายังไม่เคยประสบความสำเร็จในการแข่งขันนานาชาติ โดยมักจบอันดับสุดท้ายของกลุ่มในรายการสำคัญ เช่น ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน มีผลงานดีที่สุดในการแข่งขันระดับทางการคืออันดับ 4 ในรายการเอเชียนคัพ 1972 และหลังจากนั้น พวกเขายังไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นรายการนี้ได้อีก กัมพูชาเคยเข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์สองครั้งในปี 1970 และ 1998 ประวัติจุดเริ่มต้นประเทศกัมพูชาเริ่มก่อตั้งทีมฟุตบอลภายหลังจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสสิ้นสุดใน ค.ศ. 1954 ลงเล่นเกมแรกพบทีมสหพันธรัฐมาลายา (ทีมชาติมาเลเซีย ในปัจจุบัน) ซึ่งกัมพูชาแพ้ไปด้วยผลประตู 2–9 เช่นเดียวกับชาติอื่น ๆ ในเอเชียในยุคนั้น กัมพูชาไม่มีส่วนร่วมในการแข่งขันรายการใหญ่อย่างฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก และเอเชียนคัพเนื่องจากยังอยู่ในช่วงสร้างทีมและพัฒนากีฬาฟุตบอล อย่างไรก็ตาม เมื่อจอมพล ลอน นอล ก่อการรัฐประหารล้มอำนาจของรัฐบาลและก่อตั้งสาธารณรัฐเขมร ทีมฟุตบอลของกัมพูชาก็ได้ร่วมแข่งขันรายการสำคัญครั้งแรกคือเอเชียนคัพ 1972 รอบคัดเลือก และเอาชนะฮ่องกงไปได้ และในการแข่งขันรอบสุดท้ายซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย กัมพูชาซึ่งในช่วงเวลานั้นใช้ชื่อทีมว่าสาธารณรัฐเขมรลงเล่นในกลุ่มบี โดยแพ้เกาหลีใต้ในนัดแรก 1–4 แต่เอาชนะคูเวตในนัดที่สอง 4–0 ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศและแพ้อิหร่าน 1–2 ตามด้วยการแพ้จุดโทษทีมชาติไทยเจ้าภาพคว้าอันดับ 4 ไปครอง และนั่นเป็นความสำเร็จสูงสุดในการแข่งขันระดับทางการของกัมพูชามาถึงปัจจุบัน โดยหลังจากนั้นพวกเขาไม่มีส่วนร่วมในการแข่งขันรายการใดหลายปีเนื่องจากการปกครองของเขมรแดง สิ้นสุดยุคเขมรแดง และเริ่มพัฒนาทีมทศวรรษ 1990–2000ภายหลังจากความวุ่นวายในประเทศในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการรุกรานของเวียดนาม กัมพูชาได้กลับมาแข่งขันระดับนานาชาติอีกครั้งใน ค.ศ. 1993 และเปลี่ยนไปใช้ชื่อว่า ทีมฟุตบอลราชอาณาจักรกัมพูชา มาถึงปัจจุบัน พวกเขาลงแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 1996 และแพ้รวดทุกนัดในรอบแบ่งกลุ่ม แม้จะถูกมองว่าเป็นทีมที่ด้อยที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้ ทว่ากัมพูชาก็แสดงสปิริตให้แฟนฟุตบอลได้เห็นถึงความตั้งใจในการเล่น อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่สามารถรักษาสปิริตนั้นได้ในรายการต่อ ๆ ไปและยังคงมีผลงานย่ำแย่ แต่ก็ยังมีเรื่องดีอยู่บ้างเมื่อทีมได้ค้นพบผู้เล่นดาวรุ่งพรสวรรค์สูงอย่าง ฮก โสเจตรา ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดของกัมพูชามาถึงปัจจุบัน กัมพูชาส่งทีมร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 1998 รอบคัดเลือก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พวกเขาร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก และได้ร่วมแข่งขันในรอบคัดเลือกในครั้งต่อ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง กระนั้น พวกเขาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลงานโดยตกรอบแรกของรอบคัดเลือกด้วยการเป็นทีมอันดับสุดท้ายทุกครั้ง และยังได้ถอนตัวจากการแข่งขันเอเชียนคัพในช่วงระหว่าง ค.ศ. 2003–2007 รวมทั้งไม่ผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียนถึงสามครั้งติดต่อกันในช่วงเวลานั้น ทศวรรษ 2010–ปัจจุบันกัมพูชาพัฒนาทีมขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา เริ่มมีการสร้างทีมใหม่ด้วยการมาถึงของ ลี แท-ฮุน ผู้ผึกสอนชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่น การฝึกซ้อม รวมถึงมีการพัฒนาระบบเยาวชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการฟุตบอลกัมพูชา ลีสร้างทีมโดยใช้ผู้เล่นอายุน้อยเป็นแกนหลัก ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ชาน วัฒนาคา นักฟุตบอลชาวกัมพูชาคนแรกที่ได้ไปเล่นอาชีพในลีกต่างประเทศ และทีมเริ่มได้รับความสนใจและสนับสนุนจากแฟนฟุตบอลมากขึ้นนับตั้งแต่นั้น แต่พวกเขาก็ยังไม่ผ่านรอบคัดเลือกรายการสำคัญทั้ง เอเอฟซีชาเลนจ์คัพ 2012 และ 2014 รวมถึงเอเชียนคัพ 2015 ในการแข่งขันเอเชียนคัพ 2019 รอบคัดเลือก – รอบที่ 3 กัมพูชาพบกับชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทีม แม้พวกเขาจะตกรอบโดยแพ้เวียดนามและจอร์แดน แต่พวกเขาเอาชนะอัฟกานิสถานซึ่งมีอันดับโลกดีกว่าพวกเขาได้ 1–0 ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกและครั้งเดียวในการแข่งขันเอเชียนคัพรอบคัดเลือกรอบสุดท้ายของกัมพูชา และเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ทีมเข้าสู่ยุคใหม่หลังเขมรแดงสิ้นอำนาจ ในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก กัมพูชาผ่านรอบแรกได้โดยเอาชนะปากีสถานรวมผลประตูสองนัด 4–1 แต่ในรอบคัดเลือกรอบที่ 2 พวกเขาต้องอยู่ร่วมกลุ่มกับทีมอื่นที่แข็งแกร่งกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นอิหร่านซึ่งเป็นทีมชั้นนำของเอเชีย รวมถึงฮ่องกง, อิรัก และบาห์เรน โดยผลงานดีที่สุดของกัมพูชาคือการเสมอฮ่องกง 1–1 ในนัดแรก ก่อนจะแพ้ในอีก 7 นัดรวดที่เหลือรวมทั้งแพ้อิหร่านด้วยผลประตูถึง 0–14 ซึ่งเป็นการแพ้ด้วยผลประตูที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ทีม[8] ตามด้วยการแพ้ด้วยผลประตู 0–10 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021จบอันดับสุดท้ายด้วยผลงานเสมอ 1 นัด และแพ้ 7 นัด[9][10] และตกรอบแรกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2020 แต่ยังชนะได้หนึ่งนัดโดยเอาชนะลาว 3–0 ในปัจจุบัน กัมพูชามีนโยบายการพัฒนาทีมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการว่าจ้างบุคลากรมืออาชีพจากวงการฟุตบอลญี่ปุ่น พวกเขามี ริว ฮิโรเสะ เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน[11] รวมถึงการดึงตัว เคซูเกะ ฮนดะ อดีตนักฟุตบอลชื่อดังเข้ามาเป็นผู้จัดการทีม[12][13] ฮิโรเสะและฮนดะอำลาทีมหลังจากตกรอบแบ่งกลุ่มฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2022 แม้จะตกรอบ แต่ในครั้งนี้กัมพูชามีการพัฒนาทีมที่ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก พวกเขาเอาชนะได้ถึง 2 นัดจาก 4 นัด มี 6 คะแนน รวมทั้งเอาชนะฟิลิปปินส์ที่อันดับโลกเหนือกว่าในนัดแรก 3–2 และแพ้อินโดนีเซียในนัดต่อมาอย่างสนุก 1–2 ตามด้วยการเอาชนะบรูไนขาดลอย 5–1 ปิดท้ายด้วยการแพ้ทีมชาติไทย 1–3 แม้จะอำลาทีมไปแต่ฮิโรเสะและฮนดะได้รับการยกย่องในแง่ของการวางรากฐานและระบบการเล่นให้กับทีมซึ่งเป็นปัจจัยในการพัฒนาทีมต่อไป ต่อมาในฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย – รอบที่ 1 กัมพูชาพบกับปากีสถานอีกครั้ง เช่นเดียวกับรอบคัดเลือกครั้งที่แล้ว และครั้งนี้พวกเขาแพ้ด้วยผลประตูรวมสองนัด 0–1 เฟลิกซ์ ดัลมัส ผู้ฝึกสอนชาวอาร์เจนตินาเข้ามาคุมทีมในช่วงสั้น ๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2023 และอำลาทีมในปี 2024 ใน ค.ศ. 2024 กัมพูชาได้รับเชิญจากฟีฟ่าให้ร่วมแข่งขันฟีฟ่าซีรีส์ 2024 ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติที่ได้รับเชิญเพื่อแข่งขันนัดกระชับมิตรระหว่างทีมชาติจากสมาพันธ์ต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยฟีฟ่า กัมพูชาลงแข่งขันที่ญิดดะฮ์ และแพ้ทั้งสองนัด (แพ้อิเควทอเรียลกินี 0–2 และแพ้กายอานา 1–4) ต่อมา กัมพูชาแพ้จุดโทษศรีลังกาในเอเชียนคัพ 2027 รอบคัดเลือก หลังจากเสมอกัน 0–0 ในนัดแรก และเสมอ 2–2 ในนัดที่สอง พวกเขาลงแข่งกระชับมิตร 3 นัดระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 2024 เริ่มต้นด้วยการเอาชนะจีนไทเปที่พนมเปญ 3–2, บุกไปแพ้ฮ่องกง 0–3 และบุกไปแพ้กาตาร์อย่างสูสี 1–2 ซึ่งเป็นเกมที่พวกเขาได้รับเสียงชื่นชม ในช่วงปลายปี กัมพูชาลงแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2024 กลุ่มเอ สามารถยันเสมอมาเลเซียได้ในนัดแรก 2–2 และแพ้สิงคโปร์ในนัดต่อมา 1–2 ตามด้วยการเอาชนะติมอร์-เลสเต 2–1 แต่ตกรอบจากการแพ้ไทยในนัดสุดท้าย 2–3 สนามแข่ง
ภาพลักษณ์ชุดแข่งขันนับตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2022 ชุดทีมเหย้าของกัมพูชาเป็นเสื้อสีน้ำเงินและสีดำ พร้อมกางเกงขาสั้นสีดำและถุงเท้าสีน้ำเงิน ในขณะที่ชุดทีมเยือนแบบดั้งเดิมจะเป็นสีขาวล้วน โดยมีแถบสีแดงแนวนอนบนเสื้อโดยผู้สนับสนุนชุดแข่งขันเวอร์ชันนี้คือเอฟบีที ผลงานฟุตบอลโลก
เอเชียนคัพ
เอเอฟซี แชลเลนจ์คัพ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ฟุตบอลทีมชาติกัมพูชา |