Share to:

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตราชบุรี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าธนบุรี
พื้นที่การศึกษาราชบุรี
ตราพระมหาพิชัยมงกุฏ
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อย่อมจธ.ราชบุรี / KMUTT RC
คติพจน์The trained man wins
ทนโต เสฏโฐ มนุสเสสุ
(ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ฝึกตนดีแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด)
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
สถาปนา2556
อธิการบดีรศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย[1]
รองอธิการบดี มจธ.ราชบุรีอ.ธนิตสรณ์ จิระพรชัย
ที่อยู่
ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยดอกธรรมรักษา
สี
  •   สีแสด
  •   สีเหลือง
เว็บไซต์ratchaburi.kmutt.ac.th

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี หรือ มจธ. (ราชบุรี) เป็นหนึ่งในพื้นที่การศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณประโยชน์ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ณ บ้านรางดอกอาว ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,117 ไร่ มหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการให้คำปรึกษาแผนแม่บท และร่วมวางแนวคิดหลัก[2]

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตราชบุรี

ประวัติ

ในปี 2537 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้แสวงหาที่ดินใหม่เพื่อขยายวิทยาเขตการศึกษาตามนโยบายของทบวงมหาวิทยาลัย โดยที่ดินใหม่ควรมีเนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ เพื่อพัฒนาให้เป็นวิทยาเขตที่มีลักษณะเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

  1. สถานที่เรียนและวิจัย
  2. สถานที่ทำสวนอุตสาหกรรม
  3. โรงเรียนและโรงพยาบาล
  4. ที่พักอาศัยของอาจารย์และนักศึกษา
  5. แปลงทดลองสำหรับงานด้านเกษตรกรรมเพื่ออุตสาหกรรม งานด้านทรัพยากร ชีวภาพและเครื่องจักรกลเกษตร
  6. สวนที่แสดงความหลากหลายทางชีวภาพ และสวนธรรมชาติ
  7. ที่พักผ่อนและเล่นกีฬา
  8. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

มหาวิทยาลัยฯได้พิจารณาที่ดินในจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดราชบุรี ในที่สุดเห็นว่า จังหวัดราชบุรีมีความเหมาะสมมากที่สุดที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เหตุผลเพราะระยะทางจากราชบุรีถึงที่ตั้งมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ห่างประมาณ 150 กิโลเมตร การเดินทางไม่ต้องผ่านตัวเมืองของกรุงเทพมหานคร ทำให้สะดวกในการเดินทาง และจังหวัดราชบุรียังมีบรรยายกาศที่ร่มรื่น สงบ สวยงาม

แต่เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้การก่อสร้าง มจธ.ราชบุรี ล่าช้าออกไป โดยระหว่างนี้มหาวิทยาลัยฯได้นำหลักสูตรวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิตและหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เปิดสอนให้กับประชาชนในพื้นจังหวัดราชบุรีและใกล้เคียงที่ศาลาประชาคม อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พื้นที่การศึกษาราชบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 209 หมู่ 1 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี บนทางหลวงหมายเลข 3087 ห่างจากอำเภอจอมบึงขึ้นไปทางอำเภอสวนผึ้ง 10 กิโลเมตร

ในปี 2553 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับการจัดสรรงบประมาณไทยเข้มแข็ง (SP2) จำนวน 500 ล้านบาท สร้างพื้นที่การศึกษาในมจธ. (ราชบุรี) เพื่อดำเนินการเปิดรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 ซึ่งมหาวิทยาลัยได้วางแผนแม่บท และออกแบบกลุ่มอาคารโดยใช้หลักการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รักษาต้นไม้และสภาพป่าที่มีอยู่ไว้ให้มากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยของเสีย รวมถึงการร่วมกับชุมชนจัดทำเขตเมืองมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างให้เป็นพื้นที่การศึกษาสีเขียวและสะอาด (Green and Clean Campus) ตามมาตรฐานสากล ช่วยสร้างสภาพ แวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนการสอนและการวิจัยที่มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยของภูมิภาคตะวันตก เพื่อเป็นส่วนสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและสังคมที่อุดมสุขให้แก่ภูมิภาคนี้ โดยปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งแล้วเสร็จ จำนวน 17 หลัง มีพื้นที่ใช้สอยรวม 53,416.05 ตารางเมตร ประกอบด้วย

  1. อาคารเรียนรวม
  2. อาคารหอสมุดและสำนักงานผู้บริหาร
  3. อาคารปฏิบัติการ
  4. อาคารวิจัย
  5. อาคารหอประชุม

ในปี 2556 มจธ.ราชบุรีได้เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ โดยจัดการจัดการเรียนการสอนแบบ Residential College ของมหาวิทยาลัย Cambridge และ Oxford จากประเทศอังกฤษ ที่ให้นักศึกษาพักในมหาวิทยาลัย โดยที่มหาวิทยาลัยเป็นทั้งที่พัก และที่จัดการเรียนรู้ ดังนั้นนักศึกษาทุกคนที่ศึกษาอยู่ที่นี่จะต้องพักในที่พักของมหาวิทยาลัยเท่านั้น [3]

การศึกษา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี เปิดสอนระดับปริญญาตรี ในปีการศึกษา 2566 เปิดรับ 4 หลักสูตร ได้แก่

  • วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
  • วิศวกรรมเครื่องกล
  • วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
  • วิศวกรรมระบบอัจฉริยะ

โดยนักศึกษาเรียนร่วมกันในวิชาพื้นฐาน และแยกการเรียนในวิชาเฉพาะทาง ซึ่งมีวิธีการจัดการเรียนการสอน 2 ขั้นตอน

  1. การเรียนในห้องใหญ่ ที่เน้นการบรรยายทางทฤษฎีโดยอาจารย์ผู้สอน
  2. การเรียนในห้องเล็กที่เป็นการทบทวนวิชาความรู้ และฝึกฝนผ่านการทำแบบฝึกหัด นักศึกษาจะมีโอกาสได้ซักถาม อภิปรายแสดงความคิดเห็นร่วมกับอาจารย์ในเนื้อหาวิชาที่นักศึกษาได้เรียนมาจากการเรียนในห้องใหญ่

ในหลักสูตรวิชาการนี้จะมีวิชาศึกษาทั่วไปมีรูปแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างออกไป โดยเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ร่วมกับชุมชนรอบมหาวิทยาลัย และนำปัญหาของชุมชนมาขบคิดแก้ไขด้วยหลักวิศวกรรม

Residential College

มจธ. (ราชบุรี) ได้จัดวิธีการเรียนการสอนที่เรียกว่า Residential College ที่เน้นการพัฒนา Soft Skill โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นการดำเนินการระยะที่ 2 รับนักศึกษาแบบพักอยู่ประจำ 120 คนต่อปี จัดการเรียนการสอนแบบโมดูลที่สร้างให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน จัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น กิจกรรมร่วมกันในช่วงเย็น ชมภาพยนตร์ ละคร เล่นดนตรี ฝึกกีฬา เป็นต้น โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดในแต่ละกลุ่มย่อย

การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแบบสังคม เป็นกิจกรรมสำคัญอีกหนึ่งอย่างของ Residential College ที่มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 2 ประการคือ การดูแลนักศึกษา และการจัดกิจกรรมร่วมกัน นักศึกษาจะถูกจัดเป็นกลุ่มเล็กประมาณ 10 คน มีอาจารย์พี่เลี้ยง 1 คนที่จะคอยดู ให้คำปรึกษาและเสริมสร้างประสบการณ์ด้านการใช้ชีวิต

การจัดกิจกรรมร่วมกันของนักศึกษาในรูปแบบสโมสร ชุมนุมกิจกรรมโดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาช่วยเสริมทักษะการเป็นผู้นำและการทำงานร่วมกันแบบเป็นทีมในการบรรลุเป้าหมายของกลุ่ม รวมถึงกิจกรรมสันทนาการ เช่นการเล่นดนตรีและกีฬา รวมถึงการฟังปาฐกถาจากผู้รอบรู้ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อเสริมความรู้และประสบการณ์ชีวิตให้กับนักศึกษา[4]

หลักสูตรคู่ขนาน (Co-curriculum)

นักศึกษา มจธ.ราชบุรี มีโอกาสเรียนวิชาในหลักสูตรคู่ขนาน (Co-curriculum) ตามความสนใจของนักศึกษา วิชาเหล่านี้จัดขึ้นโดยผู้สอนที่มีความชำนาญทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เช่น การเขียนโปรแกรม MATLAB การฝึกฝนวิชาช่างใน Workshop และการเสริมความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ไปจนถึงวิชาที่เกี่ยวกับความบันเทิงและการพักผ่อน เช่นดนตรีไทย การวาดภาพ และการทำอาหาร[5]

พื้นที่มหาวิทยาลัย

1
2
3
4
5
6
ภูมิทัศน์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี จากมุมมองหอพักนักศึกษา
1
อาคารเรียนรวม
2
อาคารหอสมุด
3
อาคารปฏิบัติการ
4
อาคารหอประชุม
5
อาคารวิจัย
6
รมณียาคาร

อาคารหอสมุด


อาคารหอสมุด มีพื้นที่ทั้งหมด 1,063 ตารางเมตร

ภายในอาคารชั้นแรกจะพบกับบรรณารักษ์ที่คอยให้คำแนะนำและบริการยืมคืน ณ เคาน์เตอร์ยืม-คืน รวมทั้งมีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้และที่พักคอย

ชั้น 2 มี Open Classroom and drawing เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่แบบเปิดรองรับการเรียน การสอนหลากหลายรูปแบบพร้อมโต๊ะเขียนแบบสำหรับฝึกฝนทักษะเริ่มต้นของการเรียน และมีห้องเรียน/ติวกลุ่ม ขนาด 18-20 คน จำนวน 2 ห้อง

ชั้น 3 เป็นที่ให้สามารถเรียนรู้ร่วมกันเฉพาะกลุ่มแบบกึ่งปิดที่ Study Booth นอกจากนี้ยังมี Stage ที่เป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับการแสดงออกและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ห้องเรียน/ติวกลุ่ม จำนวน 4 ห้อง และหยุดนิ่ง อ่าน เขียน พักผ่อนกับความเงียบสงบเฉพาะตัวใน Reading Zone

หอพักนักศึกษา


หอพักนักศึกษา ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย เป็นอาคารขนาด 4 ชั้น แต่ละอาคารประกอบด้วยหอพักหญิงและหอพักชายในอาคารเดียวกัน โดยภายในห้องพัก 1 ห้อง จะแบ่งเป็น ห้องพัก 2 ห้อง พักห้องละ 2 คน รวมเป็น 4 คน หอพักนักศึกษาเป็นผู้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องพัก อาทิ เตียงนอน ที่นอน ตู้เสื้อผ้า โต๊ะทำงาน เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น และราวตากผ้า

สิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคาร ประกอบด้วย Wi-Fi และ Lan, ห้องสมุด, กล้องวงจรปิด และอุปกรณ์ดับเพลิง มีเจ้าหน้าที่ รปภ. ตลอด 24 ชั่วโมง โดยการเข้า-ออกอาคารจะใช้บัตรนักศึกษาเป็นคีย์การ์ดในการผ่าน ซึ่งประตูทางเข้าหอพักหญิงและหอพักชายแยกจากกัน นอกจากนี้ยังมีห้องอุ่นอาหารและเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญอยู่ชั้นล่างของอาคาร

รมณียาคาร เป็นอาคารสำหรับให้บริการห้องพักรับรองแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัย และนักท่องเที่ยวทั่วไป เป็นห้องพักปรับอากาศ มีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบโรงแรม พักได้ 2 คน/ห้อง โดยไม่มีบริการอาหารเช้า[6]

งานวิจัยที่โดดเด่น

ด้านผึ้งและต้นผึ้ง

ด้านผึ้งและต้นผึ้ง ที่ดำเนินการภายใต้ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Native Honeybee and Pollinator Research Center: NHBEE) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานวิจัย 4 ส่วน คือ

  • ส่วนที่ 1 ศึกษาพฤติกรรมผึ้ง ความหลากหลายของผึ้ง และปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผึ้งทางด้านเกษตรและการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ (climate change)
  • ส่วนที่ 2 สร้างเครื่องมือที่มีชื่อว่า รังผึ้งฉลาด (smart hives) เพื่อศึกษาภาษาของผึ้งผ่านแอปพลิเคชัน bee connex โดยทำร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.
  • ส่วนที่ 3 ใช้ประโยชน์จากผึ้งเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
  • ส่วนที่ 4 สร้างน้ำผึ้งมูลค่าสูงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ จำหน่ายผ่านบริษัท beesanc ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับผลผลิตน้ำผึ้งของเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจากทั่วประเทศไทย[7]

ด้านวัสดุทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม

ด้านวัสดุทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการภายใต้หน่วยวิจัยห้องปฏิบัติการนวัตกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมและวัสดุก่อสร้างอัจฉริยะ (Innovative Environmental Management and Smart Construction Materials: IEMLAB) ที่มีเป้าหมายเพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำของเหลือทิ้ง และของเสียจากภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมกลับมาใช้ใหม่ในรูปของวัสดุที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากของเสียภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม[8]

ด้านวัสดุและการทดสอบโดยไม่ทำลาย

ด้านวัสดุและการทดสอบโดยไม่ทำลาย ที่ดำเนินการตามความเชี่ยวชาญของบุคลากร มจธ.(ราชบุรี) และตอบสนองความต้องการด้านอุตสาหกรรม ภายใต้หน่วยวิจัยวัสดุและการทดสอบโดยไม่ทำลาย (Materials and Nondestructive Testing Laboratory: MNDT)[9]

ด้านเกษตรแม่นยำ

ด้านเกษตรแม่นยำ ที่ดำเนินการภายใต้ศูนย์วิจัยการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร (Center for Translational Agriculture Research: CTAR) ที่มีเป้าหมายเพื่อ

  1. ผลิตผลงานวิจัยและเผยแพร่ผลงานคุณภาพสูงในระดับนานาชาติ เกี่ยวกับปัจจัยการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้ปุ๋ยและน้ำของมันสำปะหลัง

เพื่อเพิ่มผลผลิตทั้งในระดับสรีรวิทยาและระดับสนาม

  1. ยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง
  2. เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยทางด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. สร้างเครือข่ายวิจัย(Research Consortium) ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยกับชุมชน (KMUTT & Community Linkages Programs) เพื่อนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและประเทศ[10]

ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับเห็ด ผักกาด ขิง สับปะรด ว่างห่างจระเข้ และส่วนเหลือทิ้งทางการเกษตร[11]

วัสดุคาร์บอน ผลิตจากวัตถุดิบชีวมวล

พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้น เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก การเพาะปลูกทำให้เกิดวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อย่างเช่น กะลามะพร้าว เหง้ามันสำปะหลัง ซังข้าวโพด เปลือกสับปะรด เปลือกทุเรียน เป็นต้น วัตถุดิบชีวมวลเหล่านี้บ้างถูกนำไปใช้ประโยชน์ บ้างถูกเผาทิ้งในพื้นที่การเกษตร เนื่องจากเกษตรกรบางกลุ่มอาจไม่ทราบวิธีการจัดการที่ถูกต้อง[12]

อ้างอิง

  1. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/001/T_0004.PDF
  2. "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี)". kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
  3. "รู้จัก RESIDENTIAL COLLEGE". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
  4. "รู้จัก RESIDENTIAL COLLEGE". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
  5. "รู้จัก RESIDENTIAL COLLEGE". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
  6. "หอพักศึกษา มจธ. ราชบุรี". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.[ลิงก์เสีย]
  7. "ด้านผึ้งและต้นผึ้ง". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
  8. "ด้านวัสดุทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
  9. "ด้านวัสดุและการทดสอบโดยไม่ทำลาย". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
  10. "ด้านเกษตรแม่นยำ". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
  11. "ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-23. สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.
  12. "วัสดุคาร์บอน ผลิตจากวัตถุดิบชีวมวล". ratchaburi.kmutt.ac.th. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี). สืบค้นเมื่อ 23 January 2023.[ลิงก์เสีย]
Kembali kehalaman sebelumnya