ยาโรสลัฟล์
57°37′N 39°51′E / 57.617°N 39.850°E
ยาโรสลัฟล์ (อังกฤษ: Yaroslavl รัสเซีย: Ярославль) เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองหลักของ แคว้นยาโรสลัฟล์ ในประเทศรัสเซีย ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากกรุงมอสโกไปราว 258 กิโลเมตร โดยมีแม่น้ำวอลกาไหลผ่านกลางเมือง มีประชากรราว ๆ เกือบหกแสนคนและนับเป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรเยอะที่สุดในกลุ่มเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำวอลกาตอนบนก่อนจะถึงเมืองนิซนีนอฟโกรอด มีชื่อเสียงในด้านการเป็นเมืองวัฒนธรรม เมืองท่องเที่ยว และเคยเป็นเมืองท่าค้าขายทางน้ำรวมถึงเป็นฐานอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศรัสเซียในอดีต ยาโรสลัฟล์นั้นถือเป็นหนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซีย ได้รับการบันทึกการก่อตั้งตั้งแต่ในสมัยของเคียฟรุส ในปี พ.ศ. 1553 (ค.ศ. 1010) และเมื่อปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) ก็ได้มีการจัดการฉลองอายุครบหนึ่งพันปีของเมือง[2] ภูมิศาสตร์ตั้งอยู่บนบริเวณที่ราบของลุ่มแม่น้ำวอลกาตอนบนเยื้องไปทางด้านตะวันออกของเขตปกครองยาโรสลาฟในตำแหน่งที่แม่น้ำวอลกาหักเลี้ยวไปทางทิศตะวันออก โดยอยู่ห่างจากเขื่อนรีบินสก์ที่เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่รับน้ำจากแม่น้ำวอลกาและลำน้ำสาขาอื่นๆที่ตั้งอยู่ไกลไปทางทางตะวันตกเฉียงเหนือราวๆ 80 กิโลเมตร โดยจุดที่เป็นหัวใจของเมืองนั้นเป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำโคตาโรสึล์ (อังกฤษ: Kotorosl รัสเซีย: Ко́торосль) กับแม่น้ำวอลกา ทำให้ตั้งแต่อดีตกาลมา ที่นี่มีความสำคัญในฐานะเมืองท่าค้าขายแห่งนึงและเป็นประตูทางเชื่อมการค้าขายทางน้ำที่สามารถเดินทางผ่านลำน้ำสาขาที่ติดต่อกับแม่น้ำวอลกาจนสามารถไปออกสู่ทะเลขาวทางทิศเหนือของรัสเซียให้แก่มอสโกได้อีกด้วย ภูมิอากาศของยาโรสลัฟล์นั้นจะมีอุณหภูมิเฉลี่ย 21-25 องศาในหน้าร้อน แต่หากเป็นช่วงที่แดดจัดๆก็อาจขึ้นถึงกว่า 30 องศาได้ ส่วนในหน้าหนาวนั้น อุณหภูมิสามารถลดลงไปได้ถึง -20 องศาเซลเซียสหรือกระทั่ง -40 องศาในช่วงที่มีพายุหิมะหนัก และในฤดูหนาวแม่น้ำวอลกาและโคตาโรสึล์ช่วงที่ไหลผ่านเมืองมักจะจับตัวเป็นน้ำแข็ง
ประวัติศาสตร์ช่วงอาณาจักรรอสตอฟของเคียฟรุสในบริเวณนี้นั้น เคยมีชุมชนตั้งอยู่มาก่อนโดยเป็นชาวพื้นเมืองฟินโน-อูกริค (อังกฤษ: Finno-Ugric) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับบรรพบรุษของชาวรัสเซีย จนกระทั่งการมาถึงของยาโรสลาฟผู้ปราดเปรื่อง (อังกฤษ: Yaroslav the Wise) ซึ่งเป็นเชื้อสายของราชวงศ์รูริคที่ทำการปกครองเคียฟรุสอยู่ในยุคนั้น โดยตำนานบันทึกการก่อตั้งเมืองพระองค์ได้ล่องเรือมาตามแม่น้ำโคตาโรสึล์จากต้นแม่น้ำคือทะเลสาบเนโรซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองรอสตอฟ-นา-โดนู อันเป็นดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของเคียฟรุสที่พระองค์มาปกครองอยู่ ครั้นเมื่อเรือล่องมาถึงบริเวณจุดบรรจบกับแม่น้ำวอลกา พระองค์ได้ให้ความสนใจว่าเป็นจุดที่น่าจะอำนวยความสะดวกในการค้าขายผ่านแม่น้ำวอลกา ทว่ากลุ่มคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณนี้นั้นบางครั้งก็ทำการปล้นเรือสินค้า กล่าวกันว่าในยามที่พระองค์มาถึงบริเวณปากแม่น้ำโคตาโรสึล์ ก็ได้พบเรือสินค้ากำลังถูกปล้นอยู่พอดีจีงได้ไปช่วยพ่อค้าบนเรือนั้น เป็นผลให้ชาวพื้นเมืองไม่พอใจ และได้ปล่อยหมีซึ่งตามความเชื่อในลัทธิหมอผีถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาเพื่อหมายจะทำร้าย ซึ่งพระองค์ก็ได้ทำการสังหารหมีด้วยง้าว (Halberd) จนเหล่าชาวพื้นเมืองยอมจำนน เชื่อกันว่าบริเวณซึ่งเหตุการณ์ในตำนานการสร้างเมืองเกิดขึ้นนั้น ก็คือบริเวณแหลมซึ่งยื่นล้ำไปตรงจุดที่แม่น้ำหลักของเมืองทั้งสองสายไหลมารวมกันที่ในภาษารัสเซียเรียกกันว่า สเตรลกา หลังจากปราบหมีแล้วยาโรสลาฟผู้ปราดเปรื่องก็ได้มีดำริให้สร้างโบสถ์ไม้และป้อมปราการขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ ซึ่งชื่อของเมือง "ยาโรสลัฟล์" นั้น เป็นรูปแสดงความเป็นเจ้าของในภาษารัสเซียโบราณและแปลได้ว่า "ของ/แห่งยาโรสลาฟ" หลังจากการก่อตั้งในปี พ.ศ. 1553 (ค.ศ. 1010) แล้ว ยาโรสลัฟล์ในช่วงแรกๆนั้นมีฐานะเป็นเมืองปราการหน้าด่านรอบนอกให้แก่รอสตอฟรวมถึงเป็นชุมชนที่มีส่วนช่วยในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์ในแถบลุ่มน้ำวอลกาตอนบน เมืองอิสระยาโรสลัฟล์ในราวปี พ.ศ. 1761 (ค.ศ. 1218) ผู้นำซึ่งปกครองเมืองรอสตอฟที่ถูกลดอำนาจลงเป็นเพียงเมืองศูนย์กลางทางศาสนาในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของเคียฟรุสหลังจากยูริ ดาลการูกี้ย์ได้ย้ายเมืองที่กุมอำนาจปกครองไปยังซุซดัลแทนในปี พ.ศ. 1668 (ค.ศ. 1125)[3] คือ คอนสตันตินแห่งรอสตอฟ ได้ทำการแบ่งดินแดนซึ่งอยู่ในความครอบครองของรอสตอฟให้แก่ผู้สืบเชื้อสาย และ ในครั้งนั้นเองที่ยาโรสลัฟล์ได้กลายเป็นเมืองอิสระ (Yaroslavl principality) แยกออกมาจากรอสตอฟโดยมี วเซโวลอด คอนสตันติโนวิช ผู้เป็นบุตรชายได้รับกรรมสิทธิ์ในการปกครอง ทว่าในระยะนั้นเป็นช่วงที่เคียฟรุสเสื่อมโทรมและเหล่าดินแดนที่เคยประกอบกันขึ้นเป็นเคียฟรุสก็ต่างแตกกระจัดกระจายเป็นเขตเล็กเขตน้อย ระยะนั้นดินแดนแถบนี้จึงประสบภยันตรายจากการรุกรานของชาวมองโกล-ตาตาร์กันโดยทั่วถึง ซึ่งสำหรับยาโรสลัฟล์นั้นต้องประสบกับความสูญเสียในการรบที่สมรภูมิแม่น้ำซิท ซึ่งเจ้าผู้ปกครองเมืองในเวลานั้นถูกฝ่ายมองโกลฆ่าตายในการรบและทำให้ยาโรสลัฟล์อ่อนแอลงจนถูกมองโกลเข้าโจมตีเสียหายย่อยยับ และตลอดช่วงการพยายามฟื้นตัวก็ยังคงถูกมองโกลปล้นสะดมภ์บ่อยๆเป็นเวลาอีกกว่าร้อยปีจนกระทั่งราชวงศ์มอสโกเริ่มเข็มแข็งจนสามารถขึ้นมาแข่งขันด้านอิทธิพลในภูมิภาคนี้กับชาวมองโกลได้ ใต้การปกครองของราชวงศ์มอสโกหลังราชวงศ์มอสโกสามารถแยกตัวเป็นอิสระจากอำนาจมองโกลได้และเริ่มทำการรวบรวมดินแดนที่กระจัดกระจายในละแวกนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง เมืองอิสระต่างๆก็ค่อยๆถูกรวบรวมเข้าไปเป็นของมอสโก ไม่ว่าจะด้วยการถูกตียึดหรือต่อรองให้เจ้าผู้ครองเมืองนั้นยอมยกสิทธิ์การปกครองเมืองให้แก่ทางฝ่ายมอสโกโดยแลกกับทรัพย์สมบัติของทางฝ่ายมอสโก ซึ่งในปี พ.ศ. 2006 (ค.ศ. 1463) ยาโรสลัฟล์ก็ถูก"ซื้อ"เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมัสโควีในรัชสมัยของพระเจ้าอีวานมหาราช จากนั้นมายาโรสลัฟล์ก็ได้รับบทบาทเป็นเมืองท่าค้าขายติดต่อทางน้ำให้แก่อาณาจักรมัสโควี โดยเส้นทางทางเหนือนั้น สามารถเชื่อมต่อแม่น้ำวอลกากับแม่น้ำสาขาอื่นๆจนไปออกสู่ทะเลขาวที่อาร์คันเกลสค์ (Arkhangelsk) ได้ ส่วนทางด้านตะวันออกก็ไปได้ถึงทะเลแคสเปียนที่เป็นปากแม่น้ำวอลกาและจากแม่น้ำสาขาก็สามารถเดินทางไปได้ถึงเขตเทือกเขาอูรัล ปี พ.ศ. 2044 (ค.ศ. 1501) เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเมืองยาโรสลัฟล์ ทำให้สิ่งก่อสร้างต่างๆในเมืองซึ่งสร้างด้วยไม้ถูกเผาผลาญหมดสิ้น ในช่วงนี้เองจึงมีการเริ่มสร้างโบสถ์ด้วยวัดถุที่ไม่เป็นเชื้อเพลิงเช่นหินและอิฐ โดยสิ่งก่อสร้างที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเมืองก็คือโบสถ์ศิลา Transfiguration of the Saviour ภายในอาราม Spaso-Preobrazhensky สร้างขึ้นหลังจากไฟไหม้ใหญ่ครั้งนั้นระหว่างปี พ.ศ. 2049-2059 (ค.ศ. 1506-1516) ในช่วงการปกครองรัสเซียของพระเจ้าอีวานที่ 4 ยาโรสลัฟล์ได้รับอานิสงส์การทำนุบำรุงด้านศาสนาจากพระองค์ เนื่องด้วยในบางครั้งพระองค์จะเดินทางมาแสวงบุญที่อาราม Spaso-Preobrazhensky และจะมอบสิ่งของเงินทองให้แก่อาราม และเมื่อนอฟโกรอดถูกทำลายย่อยยับด้วยน้ำมือของพระเจ้าอีวานที่ 4 เช่นกัน ยาโรสลัฟล์ก็ได้กลายเป็นที่พักพิงแห่งใหม่ของเหล่าพ่อค้าผู้มั่งมีซึ่งหลบหนีออกมาจากนอฟโกรอด ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายและการถูกแทรกแซงจากโปแลนด์และลิทัวเนียในช่วงปี พ.ศ. 2134 (ค.ศ. 1591) โอรสองค์สุดท้ายของพระเจ้าอีวานที่ 4 คือ ดมีตรี ได้สิ้นชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้ผู้สืบสายราชวงศ์รูริคโดยตรงถึงกาลสิ้นสูญ จึงเป็นเหตุให้เกิดการแย่งอำนาจขึ้นในมอสโกรวมถึงมีผู้แอบอ้างเป็นดมีตรีตัวปลอมหลายรายเพื่อหวังมาอ้างสิทธิ์ในบัลลังค์ปกครองรัสเซีย[4] จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2151 (ค.ศ. 1608) ทางเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย (Polish–Lithuanian Commonwealth) ได้ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงโดยให้การสนับสนุนผู้แอบอ้างเป็นดมีตรีคนที่สองและก่อความเสียหายให้กับเมืองต่างๆในภูมิอาณาบริเวณของมอสโกและลุ่มน้ำวอลกาตอนบน ยาโรสลัฟล์นั้นในชั้นแรกได้ให้การสวามิภักดิ์ต่อดมีตรีปลอมคนที่สอง แต่เมื่อก็ยังถูกกองกำลังของชาวโปแลนด์เข้าปล้นอยู่เรื่อยๆจึงเริ่มทำให้ยาโรสลัฟล์และเมืองต่าง ๆ ในลุ่มน้ำวอลกาลุกฮือขึ้นต่อต้าน และครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2152 (ค.ศ. 1609) ทางฝั่งเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนียได้ยกทัพมาเพื่อพยายามจะตียาโรสลัฟล์ให้แตกและยึดไว้ให้อยู่ใต้อำนาจให้ได้ ทว่าก็ไม่สามารถทำให้ยาโรสลัฟล์กลับมาสวามิภักดิได้แม้จะทำลายเมืองจนเกือบหมดก็ตาม เดือนเมษายนปี พ.ศ. 2155 (ค.ศ. 1612) ได้มีกองทัพราษฎรนำโดย คุซมา มีนิน (Kuzma Minin) และ ดมีตรี ปอจาร์สกี (Dmitry Pozharsky)[5] เดินทางจากเมืองนิซนีนอฟโกรอดที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกตามแนวแม่น้ำวอลกาและมาตั้งหลักรวบรวมเสบียงและกำลังคนเพิ่มที่ยาโรสลัฟล์ และในช่วงเวลาราวๆสี่เดือนที่กองทัพราษฎรมาปักหลักอยู่ในเมืองนี้เอง ได้มีการตั้งคณะผู้ปกครองเฉพาะกาล “The Council of the Russian Land” ขึ้นมาทำการบริหารจัดการเรื่องต่างๆของดินแดนรัสเซียที่ยังไม่ขึ้นกับฝ่ายเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย จึงกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานั้นเองยาโรสลัฟล์ได้กลายเป็นเมืองหลวงชั่วคราวของรัสเซีย[6]เพราะในระยะเวลานั้นมอสโกก็ตกอยู่ในกำมือของผู้บุกรุกต่างชาติโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งปลายเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เมื่อรวบรวมกำลังได้ถึง 25,000 คนแล้ว กองทัพของมีนินและปอจาร์สกีจึงได้ออกเดินทางจากยาโรสลัฟล์ไปกอบกู้มอสโก จนในเดือนพฤศจิกายนนั้นเองมอสโกก็ได้เป็นอิสระจากเงื้อมมือของเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย คริสต์ศตวรรษที่ 17-18หลังบ้านเมืองกลับมาสงบสุขอีกครั้งด้วยการขึ้นปกครองรัสเซียของราชวงศ์โรมานอฟ ยาโรสลัฟล์ก็กลับมาเป็นเมืองท่าหลักในการเดินเรือค้าขายขนส่งสินค้าบนฝั่งแม่น้ำวอลกาดังเดิม ในระหว่างปลายยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้น ยาโรสลัฟล์มีฐานะเป็นถึงเมืองใหญ่อันดับที่สองของรัสเซียเป็นรองเพียงมอสโกด้วยจำนวนประชากร 15,000 คน และเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งด้วยกำไรจากการเป็นเมืองท่าจนทำให้ในยุคนี้เอง เมืองเริ่มขยับขยายใหญ่ขึ้นและมีตระกูลพ่อค้าที่ร่ำรวยอาศัยอยู่ในเมืองหลายตระกูล จึงทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อจะอวดฐานะทางทรัพย์สมบัติระหว่างกลุ่มตระกูลพ่อค้าเหล่านี้ ดังนั้นในเมืองก็ได้มีการสร้างโบสถ์ขึ้นมาหลายแห่งพร้อมๆกันโดยโบสถ์แต่ละแห่งก็เป็นเหมือนตัวแทนแสดงความยิ่งใหญ่ของแต่ละตระกูล ทำให้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโบสถ์แต่ละแห่งในยุคนี้จะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไปตามแต่ตระกูลผู้ให้ทุนก่อสร้างจะเห็นชอบ ตัวอย่างของโบสถ์ซึ่งสร้างในช่วงนี้และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันเช่น Church of Elijah the Prophet, Church of the Epiphany, Church of St. Michael the Archangel และ St. John the Baptist Church ปี พ.ศ. 2201 (ค.ศ. 1658) เป็นอีกครั้งที่เกิดไฟไหม้ใหญ่ทำลายสิ่งก่อสร้างต่างๆภายในตัวเมือง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนส่วนใหญ่ที่ยังคงสร้างด้วยไม้และมีประชากรเสียชีวิตไปนับพันคน ทว่าโบสถ์ส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนไปสร้างด้วยอิฐและหินตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วนั้นไม่ค่อยได้รับความเสียหายมากมาย เว้นเสียก็แต่โบสถ์ Cathedral of the Dormition ตรงบริเวณเนินเหนือแหลมสเตรลก้าที่เสียหายจนต้องสร้างใหม่ ซึ่งหลังจากไฟไหม้ใหญ่ครั้งนี้ สิ่งก่อสร้างต่างๆในเมืองก็แทบไม่มีการสร้างด้วยไม้อีกเลย ช่วงการเปลี่ยนแปลงไปสู่เมืองอุตสาหกรรมภายหลังจากซาร์ปีเตอร์มหาราชทรงย้ายเมืองหลวงแห่งรัสเซียจากมอสโกไปสู่เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ความสำคัญของยาโรสลัฟล์รวมถึงเมืองท่าการค้าตามแม่น้ำวอลกาอื่นๆก็เริ่มเสื่อมถอยลงส่งผลให้เมืองต้องปรับตัวโดยใช้ความมั่งคั่งจากการเป็นเมืองท่ามาก่อนในการพัฒนาสาธารณูปโภคในเมืองเพื่อเริ่มรองรับการเข้ามาตั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆ[6] โดยโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดในยุคเริ่มแรกของยาโรสลัฟล์ได้ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2315 (ค.ศ. 1772) โดย Ivan Tames ได้เปิดโรงงานสิ่งทอ Krasny Perekop (รัสเซีย: Красный Перекоп) ขึ้น ณ ฝั่งแม่น้ำโคตาโรสึล์ด้านใต้ตรงข้ามกับตัวเมืองหลักของยาโรสลัฟล์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นโรงงานสิ่งทอที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของรัสเซียในช่วงเวลานั้น ชื่อของโรงงานก็ได้กลายเป็นชื่อของย่าน Krasnoperekopsky ที่เป็น 1 ใน 6 เขตย่อยของยาโรสลัฟล์อีกด้วย แม้แต่กระทั่งทุกวันนี้ โรงงานแห่งนี้ก็ยังคงดำเนินงานอยู่ ปี พ.ศ. 2293 (ค.ศ. 1750) Fyodor Volkov ผู้ซึ่งจะกลายเป็นนักแสดงละครเวทีคนสำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาวงการละครเวทีของรัสเซียในภายหลัง ได้เปิดการแสดงละครต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในยาโรสลัฟล์โดยจัดการแสดงขึ้นในโกดังเก็บสินค้าของผู้เป็นพ่อเลี้ยง แม้นว่าจะไม่ใช่สถานที่จัดการแสดงที่ถูกต้องเป็นทางการ แต่นั้นก็ได้รับการยอมรับกันว่าเป็นการ"เปิดโรงละครให้แก่สาธารณะ"เป็นครั้งแรกในประเทศรัสเซีย[7] ทำให้ยาโรสลัฟล์ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานที่กำเนิดโรงละครแห่งแรกของรัสเซียในปีนั้นนั่นเอง จังหวัดยาโรสลัฟล์ครั้นปี พ.ศ. 2320 (ค.ศ. 1777) ในรัชสมัยของพระนางเจ้าแคทเธอรีนที่ 2 ด้วยความสำคัญในฐานะเมืองเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตรุดหน้าและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ ยาโรสลัฟล์จึงได้รับการพิจารณาให้ได้รับอำนาจปกครองตัวเองโดยแยกออกมาเป็นจังหวัดยาโรสลัฟล์ (อังกฤษ: Yaroslavl province) และได้รับพระราชทานตราสัญลักษณ์เมืองรวมถึงได้รับการออกแบบผังเมืองใหม่ มีการก่อสร้างเพิ่มเติมสาธารณูปโภคพื้นฐานในเมืองและปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมในส่วนใจกลางเมืองเก่าให้สร้างอาคารแบบยุโรปตะวันตกในสไตล์เดียวกันหมดเพื่อความสวยงาม ทั้งยังมีการขยายสร้างสวนสาธารณะแทรกไว้กับหมู่อาคารที่ก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่อีกด้วย ด้วยความสำคัญทางฐานะของเมืองและจำนวนประชากร ทำให้ในปี พ.ศ. 2331 (ค.ศ. 1788) ได้มีการย้ายศูนย์กลางของการปกครองมุขมณฑลออร์โธดอกซ์เขตรอสตอฟ-ยาโรสลัฟล์มาอยู่ที่นี่แทน จากที่ดั้งเดิมนั้นเคยตั้งอยู่ที่เมืองรอสตอฟ[8] ตั้งแต่ได้รับอำนาจการปกครองตัวเอง ในช่วงอีกร้อยปีต่อมานั้น ยาโรสลัฟล์ก็ได้มีการพัฒนายกระดับเมืองขึ้นมากมายไม่ว่าด้านการก่อสร้างสาธารณูปโภคเพิ่มเติม การส่งเสริมทางด้านอุตสาหกรรม สร้างความเจริญให้กับเมืองอย่างเห็นได้ชัดเจนอาทิเช่น
ด้วยการพัฒนาเมืองขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยาโรสลัฟล์ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการสร้างสะพานสำหรับรถไฟข้ามแม่น้ำวอลกา ในปี พ.ศ. 2456 (ค.ศ. 1913) กบฏฝ่ายขาวในยาโรสลัฟล์[10]หลังจากการปฏิวัติโค่นล้มระบอบซาร์และได้เกิดสงครามกลางเมืองในรัสเซียตามมา ในวันที่ 6 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2461 (ค.ศ. 1918) กลุ่มทหารและนักเคลื่อนไหวของฝ่ายขาวที่ได้ลักลอบเข้ามาในยาโรสลัฟล์ได้ทำการจับอาวุธขึ้นยึดอำนาจในเมืองจากตัวแทนของฝ่ายแดงซึ่งกุมอำนาจการปกครองเมืองอยู่ โดยมีการสมรู้ร่วมคิดจากคณะนักบวชท้องถิ่นและกองกำลังตำรวจของเมือง ซึ่งแม้กำลังของฝ่ายขาวที่เข้ายึดอำนาจนั้นไม่ได้มีกำลังมากไปกว่าหลักร้อยกว่าคนและอาวุธก็มีเพียงปืนสั้นในชั้นต้น แต่ด้วยว่าขณะเกิดเหตุการณ์นั้น กองกำลังของฝ่ายแดงในเมืองถูกส่งไปช่วยรบในการต่อสู้กับฝ่ายขาวที่ทางภาคใต้อยู่ ทำให้ฝ่ายขาวสามารถจับตัวคนของฝ่ายแดงในเมืองแล้วส่งไปจองจำบนเรือที่ทอดสมอกลางแม่น้ำวอลกาให้ตายตามยถากรรม หากใครพยายามจะหนีจากเรือว่ายน้ำกลับขึ้นฝั่งก็จะถูกยิงโดยไม่ลังเล เมื่อทำการกำจัดคนของฝ่ายแดงไปแล้วทั้งด้วยการจองจำบนเรือกลางแม่น้ำหรือฆ่าเป็นบางคนกลุ่มฝ่ายขาวก็ได้ทำการยึดคลังอาวุธของเมือง ทว่าตลอดการยึดอำนาจนั้น ประชาชนโดยทั่วไปของยาโรสลัฟล์ก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนหรือต่อต้าน ด้วยจำนวนกำลังคนที่ไม่มากมายนัก ทางฝ่ายขาวเองก็ไม่สามารถทำสิ่งใดให้เหล่าประชากรส่วนใหญ่ของยาโรสลัฟล์หันมาเข้ากับพวกตนได้ จึงเพียงรอให้การก่อความไม่สงบยึดอำนาจที่รีบินสก์ในอีกสองวันต่อมาประสบความสำเร็จเช่นกัน แล้วหลังจากนั้นกำลังของฝ่ายขาวที่ยึดรีบินสก์ได้จะลงมาช่วยสมทบสร้างความเข้มแข็งเพิ่มที่ยาโรสลัฟล์ด้วยว่าทางฝ่ายขาวหวังจะใช้ยาโรสลัฟล์เป็นหนึ่งในที่มั่นสั่งสมกำลังไว้สำหรับการเข้ายึดมอสโกที่เป็นที่มั่นของฝ่ายแดง ทว่าการพยายามยึดอำนาจที่รีบินสก์นั้นไม่ประสบผลสำเร็จ รวมถึงกำลังทหารต่างชาติที่ให้การสนับสนุนฝ่ายขาวอยู่ที่อาร์คันเกลสค์ก็ไม่ส่งกำลังมาช่วยตามที่คาดหวังไว้ การยึดอำนาจจึงยืดเยื้อไปจนถึงวันที่ 21 กรกฎาคมเมื่อฝ่ายแดงสามารถไปรวบรวมกำลังพลจากเขตใกล้เคียงเช่น อีวาโนโว, คัสโทรมา และ ตเวียร์ มาสบทบกับกองกำลังฝ่ายแดงท้องถิ่นของยาโรสลัฟล์และทำการปิดล้อมโจมตีเมืองอย่างรุนแรงด้วยปืนใหญ่และทิ้งระเบิดจากเครื่องบินเพื่อเอาชนะกลุ่มฝ่ายขาว จนสุดท้ายฝ่ายขาวได้แตกพ่ายและกลุ่มผู้นำการยึดอำนาจได้หลบหนีจากเมืองไป ทว่าการโจมตีที่กล่าวกันว่ารุนแรงเกินกว่าเหตุนั้นได้ทำให้ประชากรของยาโรสสลาฟล์เสียชีวิตไปเป็นหลักหลายร้อยคนและสร้างความเสียหายให้กับเมืองอย่างแสนสาหัสจากเพลิงไหม้ซึ่งไม่สามารถดับลงได้เพราะสถานีสูบจ่ายน้ำของเมืองก็ถูกทำลายไปในการระดมโจมตีของฝ่ายแดง หลังจากเหตุการณ์นี้ ตามข้อมูลระบุว่าประชากรของยาโรสลัฟล์ลดลงอย่างฮวบฮาบจากราว 120,000 ลงมาเหลือเพียงประมาณ 70,000 โดยประชากรที่หายไปส่วนใหญ่อพยพไปอยู่เขตชนบทแทนด้วยภาวะขาดแคลนอาหารในเมือง สิ่งก่อสร้างของเมืองก็เสียหายเป็นจำนวนมากไม่ว่าโบสถ์ อาคารสถานที่ราชการ โรงพยาบาล หอสมุด บ้านเรือนประชาชน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ผลที่ตามมาก็คือเศรษฐกิจของเมืองเกิดความตกต่ำต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเริ่มฟื้นตัว ช่วงฟื้นตัวหลังกบฏและสงครามโลกครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) จังหวัดยาโรสลัฟล์ได้ถูกยุบและเข้าไปรวมอยู่กับ เขตอุตสาหกรรมอิวาโนโว (Ivanovo Industrial Oblast) และเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของทางโซเวียตที่จะเร่งรัดขยายอัตราการผลิตด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการเริ่มขยายฐานอุตสาหกรรมในเมืองอย่างรวดเร็ว ได้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดย่อมขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณกระแสไฟฟ้ารองรับ ในช่วงนี้เองที่โรงงานผลิตยางสังเคราะห์ Yaroslavl Tyre Factory หนึ่งในโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังให้แก่เศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมของยาโรสลัฟล์ได้ถูกตั้งขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นการลงทุนอุตสาหกรรมด้านยางรถยนต์และยางสำหรับอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในเขตภาคกลางของรัสเซีย[11] นอกจากนั้นแล้วโรงงานอุตสาหกรรมที่ช่วยดึงเศรษฐกิจของเมืองกลับมาจากจุดวิกฤตหลังจากกบฏก็ยังมีโรงงานผลิตเครื่องยนตร์และประกอบยานพาหนะขนส่ง Avtodiesel Yaroslavl Motor Works (YaMZ) ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916)[12] ปี พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) เป็นอีกครั้งซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงขอบเขตการปกครอง และยาโรสลัฟล์ก็ได้แยกตัวจากอีวาโนโวออกมาเป็นศูนย์กลางการปกครองของเขตปกครองย่อยยาโรสลาฟโอบลาสต์ซึ่งคงอยู่มาถึงทุกวันนี้ ครั้นภัยจากสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เข้ามารุกรานถึงโซเวียตในปี พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) ระยะนั้นยาโรสลัฟล์ได้ฟื้นกลับขึ้นมาเป็น 1 ในเขตอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งที่สุดของโซเวียตแล้วและได้เป็นฐานสำคัญแห่งหนึ่งในการผลิตชิ้นส่วนยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพโซเวียตในการสู้รบ โดยเหล่าโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆในเมืองได้ระงับการผลิตสินค้าปรกติแล้วหันมาเพิ่มการผลิตสิ่งของจำเป็นต่อกองทัพทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น เครื่องยนตร์และยางรถสำหรับรถบรรทุก, รถถัง และเครื่องบินของกองทัพ เสื้อผ้าเครื่องแบบ เต็นท์ผ้าใบ ต่อเรือสำหรับกองเรือลาดตระเวณแม่น้ำวอลกา แปรรูปอาหารส่งเป็นเสบียงให้กองทัพ แม้กระทั่งผลิตชิ้นส่วนอาวุธต่างๆเช่น รถถัง ระเบิด เครื่องยิงจรวดคัตยูชา (Katyusha) และ ปืนพีพีชา-41 ด้วยความสำคัญทั้งด้านการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนุนหลังกองทัพโซเวียตและยังมีสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำวอลกาในรัศมีที่อยู่ใกล้กับมอสโกมากที่สุด ยาโรสลัฟล์จึงถูกฝ่ายนาซีเยอรมันหมายตาที่จะยึดมาให้ได้ แม้ว่าทางฝ่ายนาซีเยอรมันจะไม่สามารถเคลื่อนพลทางภาคพื้นดินฝ่าแนวป้องกันของมอสโกมาจนถึงเมืองได้ แต่ก็ได้ส่งเครื่องบินมาโจมตีทิ้งระเบิดใส่เมืองทางอากาศอยู่เรื่อยๆตลอดช่วงปี พ.ศ. 2484-2486 (ค.ศ. 1941-1943) สร้างความเสียหายให้กับเมืองหลายครั้งและครั้งหนึ่งนั้น การทิ้งระเบิดจากทางฝ่ายนาซีเยอรมันได้ทำลายโรงงานของ Yaroslavl Tyre Factory เสียหายย่อยยับ ทว่าเมื่อการโจมตีเมืองทางอากาศหยุดลงแล้วก็มีการฟื้นฟูโรงงานกลับขึ้นมาใหม่จนสามารถทำการผลิตต่อไปได้ ซึ่งในระยะของสงครามที่อุตสาหกรรมของเมืองหันไปทำการผลิตสิ่งของต่างๆเพื่อสนับสนุนกองทัพนี่เอง อุตสาหกรรมของยาโรสลัฟล์นั้นมีอัตราเติบโตของผลผลิตถึง 12.2% ตามข้อมูลระบุว่า มีประชากรของเขตปกครองยาโรสลัฟล์โอบลาสต์ทั้งหมดราวๆ 600,000 คนถูกส่งไปรบในแนวหน้า และในจำนวนนี้ประมาณ 200,000 คนเสียชีวิตไปในการรบ อีกด้านหนึ่งนั้น ยาโรสลัฟล์ได้กลายเป็นที่พักพิงของเด็กๆจากเลนินกราดซึ่งอพยพหนีออกจากเมืองเลนินกราดซึ่งถูกฝั่งนาซีเยอรมันปิดล้อมไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) โดยผ่านทางทะเลสาบลาโดกา ซึ่งกลายเป็นน้ำแข็งในช่วงหน้าหนาวซึ่งเรียกกันว่าปฏิบัติการ ถนนแห่งชีวิต และในยาโรสลัฟล์นี้เองก็ได้เป็นที่ตั้งของค่ายกักกันนักโทษสงครามฝั่งเยอรมันของทางโซเวียตอีกด้วย หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงก่อนขึ้นสหัสวรรษใหม่เมื่อจบสงครามโลกครั้งที่สอง ยาโรสลัฟล์ได้รับบทบาทในด้านการเป็นหนึ่งในเมืองกำลังหลักที่ช่วยดึงเศรษฐกิจของโซเวียตให้กลับมามั่นคงเข้มแข็ง การพัฒนาเสริมความเจริญของเมืองก็ได้เป็นไปอย่างรวดเร็วจนแม้กระทั่งฝั่งซ้ายของแม่น้ำวอลกาซึ่งแต่ดั้งเดิมไม่เคยมีการไปพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ มีการก่อสร้างอาคารชุดขยายแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมากจนในช่วงนี้เองที่เมืองมีประชากรมากกว่า 500,000 คนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้งมา ในปี พ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1951) ได้มีการมาเปิดศูนย์การศึกษาทางด้านการทหารในยาโรสลัฟล์และปรับเปลี่ยนมาเรื่อยจนปัจจุบันนี้เป็นโรงเรียนสาขาของกองทัพอากาศรัสเซีย Military Space Academy AF Mozhaysky[13] ซึ่งสอนการใช้เรดาห์ตรวจจับอากาศยานขั้นสูงและการใช้ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน ปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) โรงกลั่นน้ำมัน Novo-Yaroslavskiy refinery ได้เริ่มเปิดดำเนินงานเพิ่มความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมให้กับเมือง ถัดมาอีกไม่นานก็มีการก่อสร้างสะพานใหม่เพื่อข้ามแม่น้ำสายหลักของเมืองทั้งสองสาย คือ สะพานมอสโก (Moscow Bridge) เชื่อมต่อถนน Moscow Avenue ที่เป็นถนนเส้นหลักของเมืองฝั่งด้านใต้ข้ามแม่น้ำโคตาโรสึล์มายังฝั่งเมืองเก่า และ สะพานตุลาคม (October Bridge) เป็นเส้นทางคมนาคมหลักข้ามแม่น้ำวอลกา และในช่วงนี้เองที่ยาโรสลัฟล์ได้รับมอบหมายบทบาทการเป็นเมืองมุ่งเน้นทางการส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจากการได้รับมอบหมายนโยบายนั้นก็สะท้อนในเห็นด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของโครงการอวกาศโซเวียต เมื่อวาเลนตีนา เตเรชโควา (ผู้มีพื้นเพจากเขตปกครองยาโรสลาฟโอบลาสต์ได้กลายเป็นสตรีคนแรกที่ได้ขึ้นไปสู่อวกาศกับยานวอสตอค 6 ในปี พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963)[14] ปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) เมืองยาโรสลัฟล์ได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ธงแดงแห่งแรงงาน ในฐานะที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่โซเวียตในด้านวัฒนธรรม, อุตสาหกรรม และ วิทยาศาสตร์ ก่อนจะได้รับอีกเหรียญเชิดชูเกียรติในปี พ.ศ. 2528 (ค.ศ. 1985) คือเครื่องอิสริยาภรณ์การปฏิวัติเดือนตุลาคม ในฐานะที่ช่วยสนับสนุนให้ลัทธิคอมมิวนิสต์เติบโตอย่างมั่นคงหรือช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่โซเวียตทั้งกิจทางทหารและกิจด้านพลเรือน หลังจากการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียตในช่วงทศตวรรษที่ 90 ยาโรสลัฟล์เริ่มได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติในด้านการเป็นเมืองที่ยังคงกลิ่นอายบริสุทธิ์ของความเป็นรัสเซียแท้ๆเอาไว้ได้และทั้งยังร่วมผ่านประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงต่างๆของชาติรัสเซียมาตลอดอายุเกือบพันปี[15] ในช่วงเดียวกันเหล่าโบสถ์ อาราม ศาสนสถานต่างๆในเมืองซึ่งในสมัยการปกครองของคอมมิวนิสต์ถูกลดความสำคัญลงจนกลายเป็นเพียงพิพิธภัณฑ์หรือโกดังที่เก็บสินค้าก็ได้รับการคืนสิทธิ์ให้ใช้เป็นศาสนสถานเพื่อการเคารพบูชาอีกครั้ง ศาสนสถานที่ทรุดโทรมหรือถูกปิดลงไปจึงได้รับการบูรณะซ่อมแซมอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นจุดดึงดูดหลักของอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวของเมืองและความศิวิไลซ์แบบตะวันตกก็เริ่มเข้ามาปรากฏให้เห็นในเมือง เช่น ร้านฟาสต์ฟู้ดของแม็คโดนัลด์ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ในเมืองถึงสองสาขาด้วยกัน มีการก่อสร้างโรงแรมใหม่ๆขึ้นเพื่อรองรับความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงเริ่มมีการจัดงานเทศกาลต่างๆในเมืองเพิ่มขึ้น อาทิ งาน Jazz on the Volga ซึ่งจะจัดทุกๆสองปีโดยถือว่าเป็นงานเทศกาลดนตรีแจ๊ซที่มีอายุมากที่สุดของรัสเซีย[16] ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมาเมื่อยาโรสลัฟล์กำลังจะก้าวเข้าสู่อายุปีขึ้นหลักพัน ได้มีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเมืองเพื่อเป็นการพร้อมรับการฉลองวาระครบรอบหนึ่งพันปีพร้อมๆกับการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมืองได้รับความสนใจมากขึ้นจากการได้รับยกย่องเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของรัสเซียในปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) ซึ่งทางเมืองและเขตปกครองยาโรสลัฟล์โอบลาสต์ได้รับงบประมาณจำนวนมหาศาลในการปรับปรุงเมืองเพื่อวาระนี้โดยเฉพาะ[17] ทว่าก็มีความขัดแย้งเล็กๆน้อยๆในการอนุมัติสิ่งก่อสร้างใหม่เพื่อเตรียมเฉลิมฉลองวาระครบพันปีในอีกห้าปีหลังจากการได้รับเลือกเป็นมรดกโลก ตัวอย่างเช่น การสร้างโบสถ์ Cathedral of the Dormition บนเนินเหนือแหลมสเตรลก้า ซึ่งทางคณะกรรมการของยูเนสโก้เป็นห่วงว่าด้วยความสูงของยอดโดมโบสถ์ถึง 60 เมตร จะทำให้ขัดกับความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวของย่านเมืองเก่า แต่ที่สุดก็สามารถหารือตกลงกันได้จึงไม่ถูกถอดออกจากสถานะมรดกโลก รายชื่อสิ่งก่อสร้างเพื่อเฉลิมฉลองวาระก่อตั้งยาโรสลัฟล์ครบหนึ่งพันปี
และก่อนหน้านั้น ทางรัฐบาลรัสเซียนำโดยประธานาธิบดีในขณะนั้นคือดมิทรี เมดเวเดฟก็ได้ดำเนินการเพิ่มโอกาสให้ยาโรสลัฟล์เป็นที่รู้จักแก่ต่างชาติเพิ่มขึ้น ด้วยการจัดงานสัมนาระดับนานาชาติ Yaroslavl Global Policy Forum ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึง 2554 (ค.ศ. 2009 จนถึง 2011) ในที่สุดครั้นเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) ยาโรสลัฟล์ก็ได้จัดงานการเฉลิมฉลองครบอายุหนึ่งพันปีอย่างยิ่งใหญ่ วันที่ 7 กันยายน ปี พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) เกิดเหตุเครื่องบินตกที่สนามบินประจำเมือง ซึ่งเป็นเครื่องบินที่จะพานักกีฬาและโค้ชทีมฮอกกี้ประจำเมืองไปแข่งขัน โดยเหตุการณ์เกิดในระหว่างที่ยาโรสลัฟล์เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมนา Global Policy Forum พอดี ทำให้ประธานาธิบดีเมดเวเดฟซึ่งมาเป็นประธานของงานรุดมาดูความคืบหน้าด้วยตัวเองในวันรุ่งขึ้น แล้วสั่งการให้อุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ของรัสเซียต้องปรับปรุงด้านความปลอดภัยอย่างเร่งด่วนทันที[18] โดยหากสายการบินขนาดกลางและเล็กแห่งใดไม่สามารถขยับตัวเองขึ้นมาให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ก็จะให้ระงับกิจการไป และหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น มาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมการบินของรัสเซียก็เริ่มจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นจนในปีหลังๆจำนวนอุบัติเหตุก็มีลดลงกว่าแต่ก่อน วันที่ 19 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) คบเพลิงโอลิมปิกฤดูหนาวซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองโซชีในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดไปก็ได้เดินทางมาถึงยาโรสลัฟล์จากคัสโทรม่า ก่อนจะส่งต่อไปที่เมืองโวลอกดาในวันรุ่งขึ้น โดยในจำนวนบุคคลที่ได้รับเกียรติเป็นผู้วิ่งคบเพลิงในเมืองก็ร่วมถึง วาเลนตีน่า เตเรชโคว่า ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งส.ส.สภาดูม่าของเขตยาโรสลาฟโอบลาสต์ และ Andrey Kovalenko อดีตนักกีฬาฮอกกี้ทีมชาติรัสเซียและปัจจุบันเป็นประธานสหภาพนักกีฬาฮอกกี้ของลีกฮอกกี้ KHL[1] ตราเมืองตราเมืองและธงประจำเมืองยาโรสลัฟล์นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานการก่อตั้งเมืองวีรกรรมการสังหารหมีดุร้ายของยาโรสลาฟผู้ปราดเปรื่องเป็นหลัก ในปี พ.ศ. 2321 (ค.ศ. 1778) ตราเมืองแบบแรกที่ได้รับมาพร้อมๆกับฐานะการปกครองตัวเองของจังหวัดยาโรสลัฟล์ เป็นรูปหมีที่ยืนด้วยสองขาหลังถือขวานด้ามยาวสีทองพาดบ่าบนพื้นหลังสีเทาเงินรูปทรงโล่ ส่วนตราเมืองที่ใช้ในปัจจุบันนั้น ได้รับการออกแบบใหม่ในปี พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) โดยมีการเพิ่มสัญลักษณ์ Cap of Monomakh ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ามหามงกุฏของอาณาจักรรัสเซียโบราณซ้อนไว้ที่ด้านบนของตัวกรอบโล่สีเงิน แสดงถึงความเป็นเมืองโบราณมีบทบาทและอำนาจในดินแดนรัสเซียมาช้านาน โดยทั่วไปแล้ว สามารถพบเห็นการตกแต่งส่วนต่างๆของเมืองที่ใช้ตราเมืองเป็นส่วนประกอบได้ทั้งเป็นลายประดับตามรั้ว ม้านั่งสาธารณะ ไฟถนน หรือกระทั่งเป็นการตัดแต่งพุ่มไม้ออกมาเป็นรูปหมีแล้วใส่ขวานจำลองประกอบ โดยเฉพาะที่สวนสาธารณะบนแหลมสเตรลก้า จะมีแปลงดอกไม้ใหญ่ที่จัดตกแต่งไว้เป็นรูปตราเมือง แล้วใต้ตราเมืองนั้นจะมีเลขอายุของเมืองกำกับอยู่ซึ่งจะเปลี่ยนทุกๆปีเมื่อถึงวันคล้ายวันก่อตั้งเมืองในทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม[19] สถานที่ท่องเที่ยวยาโรสลัฟล์เป็นเมืองเด่นอันดับต้นๆเมืองหนึ่งของเส้นทางท่องเที่ยวซึ่งรู้จักกันในนาม "โกลเด้น ริง" (Golden Ring)[19] อันประกอบไปด้วยเมืองโบราณที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์ชาติรัสเซียมายาวนาน เช่น วลาดิเมียร์ ซุซดัล รอสตอฟ เปเรสลาฟล์ โดยจุดเด่นของยาโรสลัฟล์นั้นอยู่ที่มีโบสถ์ของนิกายออร์โธดอกซ์ที่สร้างในยุคคริสต์ศตรรษที่ 17-18 ผสมผสานแทรกอยู่กับสถาปัตยกรรมแบบยุโรปตะวันตกที่สร้างตามแปลนเมืองที่ได้รับจากมาในสมัยของ พระนางเจ้าแคทเธอรีนที่ 2 ซึ่งความโดดเด่นตรงนี้นั่นเองซึ่งทำให้ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศรับเขตเมืองเก่าของยาโรสลัฟล์เข้าเป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งของประเทศรัสเซียในปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005)[20] โบสถ์และศาสนสถาน
สถานที่น่าสนใจอื่นๆ
เศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมเป็นที่มาของรายได้หลักของเมือง ด้วยยาโรสลัฟล์นั้นมีรากฐานทางอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งมาตลอดสามร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งอุตสาหกรรมใหญ่ๆของเมืองนั้นประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมวิศวกรรมทางเครื่องจักรกล โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมด้านการผลิตยางรถ แปรรูปอาหาร เสื้อผ้าและสิ่งทอ และในช่วงไม่กี่ปีหลังที่ผ่านมา ได้มีการส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเปิดกิจการ[24] ซึ่งเท่าที่ผ่านมาผู้ลงทุนใหญ่ๆได้แก่ โรงงานผลิตเครื่องจักรกลด้านงานก่อสร้างของ Komatsu[25] และ โรงงานผลิตยาของบริษัท Takeda จากญี่ปุ่น[26] โรงกลั่นน้ำมันของยาโรสลัฟล์ Novo-Yaroslavskiy refinery นั้นตั้งขึ้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันอยู่ในการบริหารของบริษัทน้ำมัน Slavneft นับจากปี พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) เป็นต้นมา โดยโรงกลั่นน้ำมันนี้ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาครัสเซียเหนือด้านฝั่งยุโรป มีกำลังการผลิตประมาณ 15 ล้านตันต่อปี[27][28] การเดินทางคมนาคมการเดินทางมายังยาโรสลัฟล์นั้น นับว่ายังค่อนข้างสะดวกถ้าเทียบกับหลายๆเมืองในรัสเซียที่ไม่ใช่เมืองใหญ่เจริญมากๆอย่างมอสโก หรือ เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก เพราะด้วยที่เมืองเป็นชุมทางของการคมนาคมแทบทุกประเภท จึงมีทางเลือกหลากหลายในการเดินทางทว่าก็ยังค่อนข้างจะใช้เวลามากพอสมควร
โดยสถานีรถไฟหลักของเมืองคือ Yaroslavl Glavny ตั้งอยู่ฝั่งเดียวกับตัวเมืองเก่าของยาโรสลัฟล์ข้ามฝั่งแม่น้ำโคตาโรสึล์ไป
ระบบขนส่งมวลชนในเมืองภายในเมืองค่อนข้างจะมีระบบขนส่งมวลชนที่หลากหลาย ทั้งรถเมล์โดยสาร โทรย์เลย์บัส รถราง มินิบัส/รถตู้ และแท็กซี่ ในจำนวนนี้ ตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือรถเมล์โดยสารธรรมดา กับ มินิบัส/รถตู้ ส่วนระบบเดินรถรางไฟฟ้าของยาโรสลัฟล์เป็นหนึ่งในระบบรถรางที่เก่าแก่ที่สุดในรัสเซีย แต่ในช่วงปีหลังๆได้มีการยกเลิกเส้นทางรถรางบางสายแล้วให้บริการรถเมล์โดยสารทับเส้นทางนั้นแทน เช่น ในเขตเมืองเก่าซึ่งได้มีการยกเลิกเส้นทางรถรางที่ผ่านบริเวณนั้นและเคลื่อนย้ายระบบรถรางออกโดยสิ้นเชิงหลังจากได้รับเลือกเป็นมรดกโลก กีฬายาโรสลัฟล์นั้นเป็นที่รู้จักในรัสเซียด้วยเป็นถิ่นกำเนิดของทีมฮอกกี้ Hockey Club Lokomotiv (รัสเซีย: ХК Локомотив) หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายภายนอกรัสเซียในชื่อ โลโกโมทีฟ ยาโรสลัฟล์ (อังกฤษ: Lokomotiv Yaroslavl) ซึ่งเล่นอยู่ในลีกฮอกกี้สูงสุดของทวีปยุโรปคือ ลีกKHL (Kontinental Hockey League) โดยเคยได้แชมป์ลีกฮอกกี้ของรัสเซียในฤดูกาล 1996-1997, 2001-2002 และ 2002-2003 ทว่าช่วงเริ่มต้นฤดูกาล 2011-2012 ในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) ทีมได้ประสบกับหายนะอย่างใหญ่หลวง เมื่อเครื่องบินเช่าเหมาลำที่กำลังจะพาทีมไปแข่งนัดเปิดฤดูกาลที่เมืองมินสค์ ประเทศเบลารุส ได้ประสบเหตุตกใกล้กับแม่น้ำวอลกาไม่ห่างจากสนามบินทูโนชน่าขณะพยายามจะทำการขึ้นบิน เป็นเหตุให้ผู้เล่นและสตาฟฟ์โค้ชที่อยู่บนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด 37 คน โดยมีบุคลากรของทีมเพียงสองคนเท่านั้นที่รอดชีวิตคือ Maxim Zyuzyakin ซึ่งเป็นผู้เล่นที่ไม่ได้เดินทางไปมินสค์ด้วยเนื่องจากต้องการให้พักตัวไว้สำหรับการแข่งขันเกมต่อไป[32] และ Jorma Valtonen ซึ่งเป็นโค้ชผู้รักษาประตูที่ไม่ได้มีกำหนดเดินทางไปพร้อมกับทีม[33] เหตุการณ์นั้นทำให้ชาวเมืองตกอยู่ในภาวะโศกเศร้าเสียใจอย่างมาก[34] ทางลีก KHL ได้ประกาศให้วันที่ 7 กันยายนของทุกปีนับแต่เกิดเหตุการณ์เป็นวันที่ระลึกไว้อาลัยและงดไม่ให้มีโปรแกรมการแข่งขันในวันที่ 7 เพื่อเป็นอนุสรณ์[35][36] สำหรับทางทีมเอง หลังจากเกิดเหตุการณ์ก็ได้ระงับการเข้าร่วมแข่งขันในลีก KHL ของฤดูกาลนั้นไปถึงแม้ทางลีกจะอนุญาตการดราฟท์ฉุกเฉิน (disaster draft) ให้แก่ทีมเพื่อให้มีโอกาสได้เข้าร่วมแข่งขันในฤดูกาลนั้นต่อไป ทว่าทางทีมได้ตกลงใจที่จะขอดรอปลงไปเล่นในลีกที่ต่ำกว่าโดยใช้ผู้เล่นจากทีมเยาวชนของสโมสรเป็นหลักเพื่อค่อยๆสร้างทีมขึ้นมาใหม่ และในฤดูกาล 2012-2013 โลโกโมทีฟก็ได้กลับขึ้นมาเล่นในลีก KHL อีกครั้ง ปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) ในวาระครบรอบสองปี ที่สนามเหย้าของโลโกโมทีฟคือ อารีนา-2000 (ARENA-2000) ได้มีการเปิดอนุสาวรีย์รำลึกถึงบุคลากรของทีมทั้ง 37 คนที่จบชีวิตไปในเหตุครั้งนั้น[37] และเหตุการณ์นี้ยังถูกนำไปสร้างเป็นตอนหนึ่งของสารคดี Air Crash Investigation ของช่อง National Geographic อีกด้วยภายใต้ชื่อตอนว่า Lokomotiv Hockey Team Disaster
ทีมกีฬาอื่นๆของเมือง
รายชื่อเมืองพี่น้องของยาโรสลัฟล์
อ้างอิง
ข้อมูลเพิ่มเติมวิกิท่องเที่ยว มีคำแนะนำการท่องเที่ยวสำหรับ Yaroslavl
|