Share to:

 

วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร

วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร
พระอุโบสถ วัดสุวรรณาราม
แผนที่
ที่ตั้งแขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700
ประเภทพระอารามหลวง ชั้นโท
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร หรือนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า วัดสุวรรณาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร[1] ปัจจุบันตั้งอยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ตรงข้ามกับแยกบางขุนนนท์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย โดยติดอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก

ประวัติ

วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดทอง ลักษณะเป็นลานกว้างขวาง ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำรัสให้นำเชลยศึกพม่าจากค่ายบางแก้วไปประหารชีวิต ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงรับมาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์และสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอารามและพระราชทานนามว่า "วัดสุวรรณาราม" ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์มีพระนามเดิมว่า "ทองด้วง" เช่นเดียวกับชื่อวัด นอกจากนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีพระราชศรัทธาสร้างเมรุหลวงสำหรับใช้ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งตามประเพณีต้องนำไปฌาปนกิจนอกกำแพงพระนครชั้นนอก เมรุหลวงนี้ใช้มาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5

ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณารามและให้ช่างเขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถด้วย มีงานของหลวงวิจิตรเจษฎา (ทองอยู่) ผู้เขียนเนมิราชชาดก กับหลวงเสนีย์บริรักษ์ (คงแป๊ะ) ผู้เขียนมโหสถชาดก ซึ่งเป็นจิตรกรขึ้นชื่อในยุคนั้นทั้งคู่ โดยทั้งคู่เขียนด้วยการประชันกัน โดยใช้ผ้าคลุมและเปิดออกเผยให้เห็นเมื่องานเสร็จแล้ว นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังในยุครัตนโกสินทร์ที่สวยงาม มีความละเอียดอ่อนของลายเส้นและรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และมีความสมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครและประเทศไทย [2]

พระราชทานเพลิงพระศพ เชื้อพระวงศ์บ้านพลูหลวง

หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 พม่าได้กวาดต้อนเชื้อพระวงศ์บ้านพลูหลวงกลับไปกรุงอังวะกว่า 2,000 พระองค์ ตามการบันทึกของเอกสาร "มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า" ที่ได้บันทึกรายพระนามไว้อย่างละเอียด เหลือแต่เชื้อพระวงศ์บางพระองค์ที่ทรงพระประชวรอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้น ได้แก่ เจ้าฟ้าสุริยา 1 เจ้าฟ้าพินทวดี 1 เจ้าฟ้าจันทวดี 1 พระองค์เจ้าฟักทอง 1 ทั้ง 4 พระองค์นี้เป็นราชบุตรีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเจ้ามิตรบุตรีกรมพระราชวัง 1 หม่อมเจ้ากระจาดบุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร 1 หม่อมเจ้ามณีบุตรีกรมหมื่นเสพภักดี 1 หม่อมเจ้าฉิมบุตรีเจ้าฟ้าจีด 1 และยังมีพระองค์เจ้าทับทิม บุตรีของสมเด็จพระอัยกานั้น พวกข้าไทพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบูร เจ้าตากสินได้สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้ในเวลาต่อมา

เชื้อพระวงศ์อยุธยาทั้งหมดได้ถูกทูลเชิญลงมาพำนักที่พระราชวังกรุงธนบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทูลเชิญเชื้อพระวงศ์บ้านพลูหลวงทั้งหมดจากราชสำนักกรุงธนบุรี มาพำนักยังพระบรมมหาราชวังด้วย ในปี พ.ศ.2344 เจ้าฟ้าพินทวดีแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงทรงสิ้นพระชนม์ลง ได้มีบันทึกในหมายรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กล่าวถึงการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้าฟ้ากิม (คาดว่าคือเจ้าฟ้าพินทวดี) ณ เมรุวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2345 และสันนิฐานว่าอาจเป็นที่พระราชทานเพลิงพระศพของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอยุธยาทั้ง 4 พระองค์ อันเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และมีศักดิ์เป็นพระเชษฐภคินี (พี่สาว) ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร และสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์)

สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม

พระอุโบสถ
พระวิหาร
หลวงพ่อพระศาสดา พระประธานในพระอุโบสถ
จิตรกรรมพระเนมิราช ฝีมือครูทองอยู่
จิตรกรรมมโหสถ ฝีมือครูคงแป๊ะ

ทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม พระอุโบสถ สร้างตามแบบแผนศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 มีเสาทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีระเบียงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ช่อฟ้าใบระกาประดับกระจก หน้าบันจำหลักลายรูปเทพนมและรูปนารายณ์ทรงครุฑปิดทอง สถาปัตยกรรมอื่นๆ ภายในวัดได้แก่ พระวิหารสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีมุขขวางทั้งด้านหน้าและด้านหลังกับหมู่กุฏิสงฆ์ที่เป็นเรือนไม้ฝาปะกน เก่าแก่และงดงามมาก หมู่กุฏิสงฆ์ เป็นหมู่ตึก 6 หลัง มีหอฉันอยู่กลางและมีหอเล็กติดกำแพง 2 หอพร้อมทั้งหอระฆังและหอไตร

ภายในพระอุโบสถ นอกจากภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้วยังเป็นที่ประดิษฐานของพระศาสดา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย ฝีมือช่างเดียวกันกับพระศรีศากยมุนีที่วัดสุทัศน์ (ฝีมือช่างสุโขทัยมีนามว่า "พระศาสดา") สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปที่เชิญมาแต่กรุงสุโขทัยในสมัยรัชกาลที่ 1 มีความเชื่อและความศรัทธาในพระศาสดาว่า มีความศักดิ์สิทธิ์และดลบันดาลให้สมประสงค์ได้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเกณฑ์ทหาร ผู้คนจึงนิยมมาแก้บนด้วยการนำผ้าขาวม้ามาผูกเอวและวิ่งวนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ พร้อมกับส่งเสียงเหมือนม้าร้องไปด้วย เรียกว่า "วิ่งม้า" เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่าในอดีต มีผู้พบเห็นม้าสีขาวตัวหนึ่งวิ่งวนรอบพระอุโบสถ จึงเชื่อกันว่าพระศาสดาคงโปรดม้า[3][2]

ลำดับเจ้าอาวาส

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระธรรมเจดีย์ ? ?
2 พระธรรมกิตติ ? ?
3 พระญาณสมโพธิ ? ?
4 พระเทพมุนี (กัน) ? พ.ศ. 2410
5 พระธรรมธราจารย์ (ด้วง) พ.ศ. 2410 พ.ศ. 2413
6 พระธรรมธราจารย์ (นาค) พ.ศ. 2413 พ.ศ. 2416
7 พระศีลาจารพิพัฒ (ศรี) พ.ศ. 2417 พ.ศ. 2439
8 พระครุปัญญาวิมล (เนียม) พ.ศ. 2439 พ.ศ. 2441
9 พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี (ทับ อินฺทโชโต) พ.ศ. 2441 พ.ศ. 2455
10 พระครูสังวราธิคุณ (เทศ) พ.ศ. 2458 พ.ศ. 2463
11 พระสาธุศีลสังวร (เผื่อน อุคฺคเสโน) พ.ศ. 2465 พ.ศ. 2466
12 พระครูเทพสิทธิเทพาธิบดี (ผัน จนฺทโชโต) พ.ศ. 2470 พ.ศ. 2501
13 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พุฒ สุวฑฺฒโน) พ.ศ. 2502 พ.ศ. 2553
14 พระราชปริยัติโมลี (ไพบูลย์ วิปุโล) พ.ศ. 2554 พ.ศ. 2556
15 พระธรรมวชิราจารย์ (สุชาติ กิตฺติปญฺโญ) พ.ศ. 2556 ปัจจุบัน

เรื่องเล่าลือ

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องเล่าลือกันว่าที่วัดแห่งนี้มีผีสิง ด้วยเป็นดวงวิญญาณของทหารพม่าที่ถูกประหารชีวิตจำนวนมากในสมัยกรุงธนบุรี ครั้งหนึ่งมีการบูรณะโรงเรียนวัดสุวรรณาราม ซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของวัด มีการขุดพบโครงกระดูกที่ข้อแขนหรือข้อขามีกำไลนากสวมอยู่ นักการภารโรงผู้หนึ่งพบเข้าจึงแอบหยิบกลับมาและนำไปขายต่อ ได้เงินมาซื้ออาหารจำนวนมากเลี้ยงภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ตกดึกคืนนั้นภรรยาของภารโรงผู้นี้ก็ฝันเห็นทหารพม่ามาทวงกำไลคืน จึงเล่าให้ผู้เป็นสามีฟัง แต่ภารโรงก็ไม่รู้จะไปหาคืนมาได้อย่างไรเพราะได้ขายต่อไปแล้ว หลังจากนั้นไม่นาน ภรรยาที่ตั้งครรภ์อยู่นั้นก็เสียชีวิต และไม่นาน ภารโรงก็เสียชีวิตตามไปด้วย ผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้จึงมีความหวาดกลัว และได้ตั้งศาลบูชาขึ้นมาให้เป็นที่สิงสถิตย์ของเหล่าดวงวิญญาณทหารพม่า และได้ตั้งอีกศาลหนึ่งขึ้นมาซึ่งภายในเป็นรูปวาดของทหารไทยโบราณ 3 นาย เรียกว่า "ศาลเสด็จพ่อสามพระยา" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นนายทหารผู้ที่ควบคุมเชลยศึกพม่ามาแต่ครั้งนั้น เพื่อให้ควบคุมเหล่าดวงวิญญาณทหารพม่าอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันศาลทั้ง 2 อยู่ในบริเวณลานโรงเรียนวัดสุวรรณาราม นอกจากนี้แล้วยังมีผู้พบเห็นผีหรือดวงวิญญาณหลายต่อหลายครั้ง เช่น ปรากฏมาในรูปของผีหัวขาด, เป็นผู้หญิงนั่งห้อยขาอยู่ริมน้ำ หรือเปรตบนหอระฆัง เป็นต้น[2] [4] [5]

สถานที่ใกล้เคียง

  • สำนักงานเขตบางกอกน้อย
  • โรงเรียนวัดสุวรรณาราม
  • ชุมชนบ้านบุ
  • ตลาดไร้คาน หรือ ตลาดวัดทอง

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๙๐
  2. 2.0 2.1 2.2 "Lineกนก ตอน ลมหายใจสุดท้ายของชุมชน ช่วงที่ 1 ชุมชนบ้านบุ". เนชั่นทีวี. 2014-10-01.
  3. ""วิ่งม้าแก้บน" ทำบุญกุศลรับปีใหม่ ที่ "วัดสุวรรณาราม"". ผู้จัดการออนไลน์. 2014-01-03.[ลิงก์เสีย]
  4. หนุ่มลูกทุ่ง (2007-10-30). "สยองขวัญวันปล่อยผี กับเรื่องผีๆในเมืองกรุง". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-21. สืบค้นเมื่อ 2018-03-18.
  5. "ผวา!! หนุ่มเล่าเหตุการณ์หลังเจอดี "ผีหัวเรือ" วัดสุวรรณาราม งานนี้ถึงกับ..?(มีคลิป)". ทีนิวส์. 2016-06-28.

แหล่งข้อมูลอื่น

13°45′48″N 100°28′37″E / 13.763302°N 100.476825°E / 13.763302; 100.476825

Kembali kehalaman sebelumnya