Share to:

 

ศิลปะทวารวดี

พระพุทธรูปปางแสดงธรรมที่พระปฐมเจดีย์

อาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) เป็นของชนชาติมอญ มีศูนย์กลางอยู่บริเวณจังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี อำเภออู่ทอง และกินพื้นที่ไปจนถึงภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงหนือ แถบจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดปราจีนบุรี และขึ้นไปถึงทางเหนือ จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงในภาคใต้เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดปัตตานี เป็นต้น

จิตรกรรม

ไม่เหลืออะไรปรากฏเป็นหลักฐานทางด้านจิตรกรรม ชำรุดเสียหายไปหมดแล้ว เพราะงานจิตรกรรมเขียนด้วยวัสดุที่ไม่คงทนและถูกแดดถูกฝนจึงสูญหายไป

ประติมากรรม

เทวรูป

เป็นประติมากรรมศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู อยู่ร่วมสมัยกับทวารวดีตอนต้นและตอนปลาย ในราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 ที่เมืองศรีมโหสถและเมืองศรีเทพ และพบอยู่ร่วมกับศรีวิชัยและทวารวดีที่ภาคใต้ของประเทศไทย มักจะทำเป็นรูปพระนารายณ์

ลักษณะพระพักตร์จะไม่เหมือนพระพุทธรูปแบบทวารวดี จะมีลักษณะคล้ายกับอินเดีย ตัวอย่างเช่น พระนารายณ์ที่ไชยาแสดงลักษณะอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบมทุราและอมราวดี(พุทธศตวรรษที่ 6-9) รวมทั้งที่พบที่นครศรีธรรมราช ซึ่งถือสังข์ด้วยพระหัตถ์ซ้ายด้านล่าง ผ้านุ่งและผ้าคาดที่พบที่ภาคใต้และที่เมืองศรีมโหสถ จะมีผ้าคาดเฉียงเหมือนศิลปะอินเดียหลังคุปตะ (ปัลลวะ) ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ส่วนเทวรูปรุ่นเก่าที่อำเภอศรีเทพจะมีอายุใกล้เคียงกัน และที่ศรีเทพนอกจากที่จะพบรูปพระนารายณ์แล้วยังพบรูปพระกฤษณะและพระนารายณ์ด้วย

ลักษณะของเทวรูปกลุ่มนี้ไม่เหมือนกับที่พบในเขมรเนื่องจากทำรูปลอยตัวอย่างแท้จริง ไม่ทำแผ่นหินมารับกับพระหัตถ์คู่บน แต่ยังไม่มีการนำเอากลุ่มเทวรูปนี้เข้าไปไว้ในศิลปะทวารวดี จึงเพียงมีแต่สมมุติฐานว่าเทวรูปกลุ่มนี้น่าจะเป็นทวารวดีที่เป็นพราหมณ์ การเข้ามาของเทวรูปนี่มีข้อคิดเห็นแตกไปเป็น 2 ทางคือ เป็นศิลปะอินเดียที่นำเข้าที่พร้อมกับการติดต่อค้าขาย หรือเป็นศิลปะแบบอินเดียที่ทำขึ้นในท้องถิ่น และมีการพัฒนาการภายใต้อิทธิพลศิลปะพื้นเมืองแบบทวารวดีและศรีวิชัย

พระพุทธรูป

ลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี แบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ

  1. มีลักษณะของอินเดียแบบคุปตะและหลังคุปตะ บางครั้งก็มีอิทธิพลของอมราวดีอยู่ด้วย ลักษณะวงพักตร์แบบอินเดีย ไม่มีรัศมี จีวรเรียบเหมือนจีวรเปียก พระพุทธรูปนั่งจะขัดสมาธิหลวม ๆ แบบอมราวดี มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12
  2. พัฒนาขึ้นจากแบบแรก โดยมีอิทธิพลพื้นเมืองผสมมากขึ้น พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเกตุมาลาเป็นต่อมนูนใหญ่ บางทีมีรัศมีบัวตูมเหนือเกตุมาลา และสั้น พระพักตร์แบนกว้าง พระเนตรโปน พระหนุ (คาง) ป้าน พระนลาฏ (หน้าผาก) แคบ พระนาสิกป้านใหญ่แบน พระโอษฐ์หนา พระหัตถ์และพระบาทใหญ่ ยังคงขัดสมาธิหลวม ๆ แบบอมราวดี มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษ ที่ 13-15
  3. พระพุทธรูปในช่วงนี้ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมร เนื่องจากเขมรเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นในสมัยเมืองพระนคร ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ในระยะนี้จึงมีอิทธิพลเขมรแบบบาปวนในประเทศไทยเรียกว่าศิลปะลพบุรีปะปน เช่น พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีลักยิ้ม นั่งขัดสมาธิราบ เป็นต้น นอกจากพระพุทธรูปแล้วยังพบสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงการสืบทอดแนวคิดทางศิลปะอินเดียโบราณก่อนหน้าที่จะทำรูปเคารพเป็นรูปมนุษย์ภายใต้อิทธิพลศิลปะกรีก

สถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรมทวารวดีส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่าสร้างขึ้นในพุทธศาสนานิกายเถรวาท[1] สถาปัตยกรรมแบบทวาราวดีมักก่ออิฐและใช้สอดิน เช่น วัดพระเมรุและเจดีย์จุลปะโทน จังหวัดนครปฐม บางแห่งมีการใช้ศิลาแลงบ้าง เช่น ก่อสร้างบริเวณฐานสถูป การก่อสร้างเจดีย์ในสมัยทวารวดีพบทั้งเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม เจดีย์ทรงระฆังคว่ำมียอดแหลมอยู่ด้านบน

เครื่องมือเครื่องใช้

เครื่องมือเครื่องใช้ที่พบในแหล่งทวารวดีทั่วไปมักจะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เศษภาชนะดินเผา เนื้อดินมักทำเป็นภาชนะปากบาน ภาชนะทรงหม้อตาล เศษภาชนะเคลือบ มีทั้งที่เป็นเครื่องเคลือบจีนในสมัยราชวงศ์ถังถึงสมัยราชวงศ์หยวน เครื่องเคลือบจากเตาในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ เครื่องเคลือบเปอร์เซีย เครื่องใช้อื่น ๆ ก็มีพบ เช่น กุณฑีดินเผา กาดินเผา ตะคันดินเผา กระสุนดินเผา ที่ประทับตราดินเผา ตุ๊กตาดินเผา ฯลฯ นอกจากเครื่องปั้นดินเผาแล้ว ยังพบเครื่องใช้สำริด ทั้งเป็นเครื่องใช้ทั่วไปกับที่เป็นของของสูง หรือของที่ใช้ในพีธีกรรม เช่นคันฉ่อง เครื่องประกอบราชยานคานหาม และเครื่องใช้ทำจากเหล็ก นอกจากเครื่องใช้แล้วยังพบเครื่องประดับทำจากหิน แก้ว ดินเผา สำริด ทองคำ ได้แก่ ลูกปัด แหวนตุ้มหู กำไล ฯลฯ

ภาพ

อ้างอิง

  1. อานนท์ เรืองกาญจนวิทย์. "การออกแบบพระอุโบสถและพระวิหารแบบไทยประเพณีสมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2173-2310)" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 41.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya