ละครโทรทัศน์ไทย
ละครโทรทัศน์ไทย คือรูปแบบรายการโทรทัศน์ประเภทบันเทิงของไทย ละครโทรทัศน์ไทยเรื่องแรกคือ สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน ออกอากาศทางช่อง 4 บางขุนพรหม ละครโทรทัศน์ไทยมีเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องชนชั้นสูงในสังคมไทย ตัวละครมุ่งเน้นไปที่ฝ่ายดี ฝ่ายเลว สามารถเดาตอนจบของเรื่องได้ง่าย มักจะจบลงแบบสุขนาฏกรรม (happy ending) มีการนำมาทำซ้ำกันบ่อยครั้ง ลักษณะละครโทรทัศน์ไทยมีขนบการเล่าเรื่อง ตัวละคร และสูตรที่ค่อนข้างตายตัว ละครส่วนใหญ่เป็นไปตามลักษณะดังนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ได้รับความนิยมมาก
ประวัติยุคบุกเบิกหลังจากที่ประเทศไทยเปิดสถานีช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรก หลังจากนั้น 2 เดือนจึงมีละครโทรทัศน์เรื่องแรก คือ เรื่อง สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน ของนายรำคาญ (ประหยัด ศ. นาคะนาท) นำแสดงโดย หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ โชติ สโมสร และ นวลละออ ทองเนื้อดี [4] ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2499 ละครโทรทัศน์ในยุคนี้เป็นการแสดงสด ส่วนละครพูดที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับแสดงทางโทรทัศน์โดยเฉพาะ เป็นละครสั้นจบในตอน เนื่องจากห้องส่ง (สตูดิโอ) มีขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องใช้ฉากจำกัด นอกจากนี้นักแสดงยังจำบทละครไม่ได้ จึงต้องมีการบอกบทขณะแสดงด้วย ในปีแรก ๆ มีละครโทรทัศน์เพียง 6 เรื่อง อีก 5 เรื่องได้แก่ กระสุนอาฆาต (ออกอากาศเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2499) ก่อนพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า 1 เดือน ,ดึกเสียแล้ว (ออกอากาศเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499), น้ำสาบาน (ออกอากาศเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2499), ศัตรูลับของสลยา (ออกอากาศเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2499) และ ง่ายนิดเดียว (ออกอากาศเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2499)[5] เริ่มได้รับความนิยมละครโทรทัศน์เริ่มเฟื่องฟูราวปี พ.ศ. 2501 นักแสดงละครเวทีเริ่มหันมาเล่นละครโทรทัศน์มากขึ้น ช่อง 4 มีผู้นิยมชมกันมาก ส่วนสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) ช่อง 7 หรือ ช่อง 5 ในปัจจุบันก็เริ่มบุกเบิกด้านละครโทรทัศน์มากขึ้น ส่วนใหญ่จะนำเรื่องละครเวทีมาทำใหม่ แต่ก็มีเรื่องที่แต่งสำหรับละครโทรทัศน์มากขึ้น ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2505-2510 ทั้ง 2 สถานีแข่งขันผลิตละครดี ๆ มาออกอากาศจำนวนมาก แต่กิจการละครโทรทัศน์ก็เริ่มเสื่อมไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องยาวกลับมาได้รับความนิยม ละครโทรทัศน์กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เมื่อมีการใช้เทปบันทึกภาพแทนไทยทีวีสีช่อง 9 หรือช่อง 4 เดิม มีการจัดละครโทรทัศน์มากกว่าช่องอื่น ๆ ออกอากาศตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ในลักษณะละครน้ำเน่าของอเมริกาโดยละครเรื่อง ทัดดาวบุษยา เมื่อ พ.ศ. 2519 ได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากนั้นก็มีการผลิตละครแนวนี้มากขึ้น ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2522 ช่อง 5 ได้ผลิตละครเรื่อง 38 ซอย 2 ซึ่งถือว่าเป็นละครสำหรับครอบครัวครั้งแรก มีคติธรรมในการดำเนินชีวิตครอบครัว ในปี พ.ศ. 2523 คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ได้มีคำสั่งให้งดออกอากาศในช่วงเวลา 18.30-20.00 น. เพื่อให้ประหยัดพลังงาน จึงทำให้ละครได้รับความนิยมลดลง พร้อมกันนั้นภาพยนตร์จีนก็เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 กบว. ได้ขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ให้เสนอรายการของไทยแทนรายการต่างประเทศ ในช่วงเวลาหลังข่าว 20.00 น. จึงทำให้ละครไทยกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จึงมีละครโทรทัศน์ในช่วงหลังข่าว 20.00 น. กันทุกช่อง ได้ดำเนินยุทธวิธีนี้มาจนปี พ.ศ. 2530 แต่บางช่องมีการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีการจัดรายการในช่วงหลังข่าวอยู่บ้าง[6] สำหรับละครแนวซิตคอม ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเริ่มเมื่อใด แต่มีการสันนิษฐานว่า ละครชุด นุสรา (พ.ศ. 2503) เป็นละครแนวซิตคอมเรื่องแรก ได้รับอิทธิพลจากละครของสหรัฐอเมริกาเรื่อง I Love Lucy ละครชุด นุสรา เป็นละครเบาสมองชุดสั้นจบในตอน มีความยาว ตอนละ 30 นาที มีผู้แสดงชุดเดียวกันตลอด แต่เรื่องที่ผลิตเรื่องที่สองไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีรูปแบบละครรูปแบบนี้อีกหลายเรื่องเช่น ผู้พิทักษ์ความสะอาด, ยุทธ-จักรนักคิด, สาธรดอนเจดีย์, พิภพมัจจุราช, หุ่นไล่กา, บาปบริสุทธิ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามละครแนวซิตคอมเริ่มได้รับความนิยมในปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัว เมื่อช่อง 3 เปิดสถานี มีละครเรื่องแรก ๆ ได้แก่ เขมรินทร์ – อินทิรา, แม่หญิง, สะใภ้จ้าว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ช่อง 3 ได้เปิดละครสมัยใหม่อย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2519 โดยมีภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ (มีชูธน) เป็นผู้บุกเบิกจากละครแบบเก่าที่มีคนบอกบท เป็นนักแสดงท่องบทเอง ลักษณะละครใกล้เคียงกับละครสมัยใหม่อย่างต่างประเทศ ภัทราวดี นำบทประพันธ์ นำเรื่อง ไฟพ่าย ของกฤษณา อโศกสิน มาประเดิมเป็นเรื่องแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเปลี่ยนมาเป็นละครที่คิดบทเอง เช่น ขบวนการคนใช้, ตุ๊กตาเสียกบาล, สงครามปราสาท, นานาจิตตัง, ประชาชนชาวแฟลต, ศรีธนนชัย, ละครชุด ความรัก, ปะการังสีดำ เมื่อปี พ.ศ. 2524 สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เข้ามาดูแลด้านการตลาด, ฝ่ายรายการและฝ่ายบุคคล ทางช่อง 7 และชวนหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล มาร่วมหุ้นเปิดบริษัทพร้อมมิตรภาพยนตร์ เพื่อผลิตละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ ละครในยุคที่สุรางค์ เปรมปรีดิ์ หมายตาไว้ ไม่ใช่สูตรน้ำเน่าอย่างทุกวันนี้ มีผลงานเช่น หญิงก็มีหัวใจ, ห้องสีชมพู, เงือกน้อย, จดหมายจากเมืองไทย, ห้วงรักเหวลึก และ ข้าวนอกนา ละครชุดที่โด่งดังมากคือ หมอผี ต่อมาช่อง 7 ได้ดึงวาณิช จรุงกิจอนันต์ มาช่วยเขียนบทโทรทัศน์ในยุคแรก คณะละครช่อง 7 ยุคแรก ๆ ได้แก่ไพรัช สังวริบุตร, กันตนา เข้าสู่ธุรกิจละครเต็มรูปแบบนับแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ถือเป็นยุคธุรกิจละครเต็มรูปแบบ มีการวัดความสำเร็จด้วยระบบเรตติ้ง ละครโทรทัศน์ช่อง 7 สีในยุคธุรกิจเต็ม ระหว่างปี พ.ศ. 2530 – 2545 เช่นเรื่อง นางทาส, เคหาสน์สีแดง, ปราสาทมืด, กิ่งไผ่, ริษยา, กนกลายโบตั๋น, สายโลหิต, ญาติกา, รัตนโกสินทร์, สองฝั่งคลอง, นิรมิต, เบญจรงค์ห้าสี, น้ำใสใจจริง[7] ละครโทรทัศน์ไทยในยุคปัจจุบันออกอากาศในหลายช่วงเวลาตลอดวัน รวมถึงในช่วงไพรม์ไทม์ (ช่วงเวลาที่ทางสถานีโทรทัศน์ให้ความสำคัญ) ในช่วงเวลาหลังข่าวภาคค่ำประมาณ 20.30 น.-22.30 น. ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์และผู้อำนวยการผลิตจะพิจารณานำโครงเรื่องหรือบทประพันธ์ที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษและเหมาะสมกับการผลิตรายการละครโทรทัศน์ รวมถึงคัดเลือกนักแสดงที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชม[8] ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 หลังจากมีการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในประเทศไทย ช่อง 3 และช่อง 7 ซึ่งครองตลาดละครจึงเริ่มสั่นคลอน หลังมีช่องอื่นหันมาทำละครโทรทัศน์ แนวละครของช่อง 8 ที่มุ่งเน้นตอบโจทย์คนดูในระดับฐานราก โดยเป็นแนวละครบ้าน ๆ สำหรับช่องวัน 31 มุ่งเน้นผลิตละครเจาะกลุ่มคนดูทั่วไป ในขณะที่จีเอ็มเอ็ม 25 มุ่งไปที่กลุ่มวัยรุ่น[9] แนวเรื่องละครน้ำเน่าละครน้ำเน่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องชนชั้นสูงในสังคมไทย ตัวละครมุ่งเน้นไปที่ฝ่ายดี ฝ่ายเลว สามารถเดาตอนจบของเรื่องได้ง่าย มักจะจบลงแบบสุขนาฏกรรม (happy ending) มีการนำมาทำซ้ำกันบ่อยครั้ง สืบทอดเนื้อหาอุดมการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื่องจากมักมีบทและเนื้อหาแสดงเกินจริง ผู้คน/เนื้อหาในเรื่องจึงมีมิติเดียว ซึ่งเหตุผลน่าจะมาจากต้องการให้คนดูมาก หรือเรื่องผู้สนับสนุนและการโฆษณา นักแสดงนำเรียก พระเอก และนางเอก ซึ่งเป็นคู่รักกัน โดยพระเอกนางเอก มักเป็นคนฐานะดี[10] จุดใหญ่ใจความ มักเป็นเรื่องแย่งผัวแย่งเมีย หรือ มีการแก่งแย่งมรดกกัน[11] ละครหลายเรื่อง มีเค้าโครง "ทั้งรัก ทั้งแค้น แน่นอุรา" ดังจะเห็นได้จากละครเรื่อง รักในรอยแค้น, ขมิ้นกับปูน, ริษยา, คลื่นซัดใจ และ บริษัทบำบัดแค้น เมื่อตัวละครแก้แค้นบรรลุตามเป้าหมายแล้ว ก็มักจะปวดร้าวอยู่ในใจ[12] ละครน้ำเน่ามักถูกวิจารณ์ว่ามีเนื้อหาและพล็อตเรื่องแนวน้ำเน่า หรือแบบเดิม ๆ เพื่อดึงดูดจำนวนผู้ชมมากกว่า จะคำนึงถึงคุณค่าและไม่สร้างสรรค์[13] ละครผีละครโทรทัศน์ แนวนี้มีเรื่องเกี่ยวกับภูติผีปีศาจหรือวิญญาณ เวทมนตร์ ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ การติดต่อสื่อสารข้ามภพระหว่างวิญญาณกับมนุษย์ที่ชวนให้ความรู้สึกตื่นเต้น สยองขวัญ อาจมีแนวเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้เนื้อเรื่องน่าสนใจ เช่น ละครแนวชีวิต ความรัก ตลก สืบสวน เช่นละครเรื่อง เกิดแต่ชาติปางไหน (2542) และละคร ภูตสาวพราวเสน่ห์ (2551) ที่ผสมผสานแนวเรื่องตลกเบาสมอง ละครผีในแนวหลอกหลอน ที่ผีมีปมความแค้นอยู่ในใจ เช่นเรื่อง ภาพอาถรรพ์ (2534), ทายาทอสูร (2535) และ เวียงร้อยดาว (2557) เป็นต้น[14] ละครสำหรับเด็กละครโทรทัศน์เพื่อเยาวชนยังมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นละครโทรทัศน์สำหรับเด็กที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ควรแนะนำ (น 13+) มักเน้นตัวละครที่เป็นเยาวชนและวัยรุ่น แต่ก็มีตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่หรือวัยอื่นด้วย จุดมุ่งหมายของละครประเภทนี้ คือให้ความบันเทิงเป็นหลัก และให้ความรู้ สอนให้เป็นคนดี[15] ตัวอย่างเช่น นิทานทะลุมิติ (2552) ออกฉายทางช่อง 7 และ ทีมซ่าท้าฝัน (2553) เรื่องหลังนำเสนอเนื้อหาของครูที่ให้นักเรียนก้าวหน้าทางด้านกีฬาบาสเกตบอลควบคู่ไปกับการเรียน[16] ละครวัยรุ่นละครวัยรุ่น มีเรื่องราวเกี่ยวกับวัยรุ่น วัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต นำเสนอเรื่องราวของเพื่อนและครอบครัว บอกเล่าความสนุกสนานในชีวิตวัยรุ่น ความรักในวัยเรียน ฉากเลิฟซีนในยุคก่อนนั้น มีเพียงจับมือ ถือแขน ละครในยุคนี้เช่น ม.6/16 ร้ายบริสุทธิ์ (2539), วัยร้ายไฮสคูล (2544) และ กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ (2534) เป็นต้น[17] เมื่อเข้าสู่ยุคที่ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือ มีการใช้โซเชียลเนตเวิร์ก ฉากเลิฟซีนก็เริ่มมากขึ้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด ตบตีแย่งผู้ชาย เกย์ เลสเบี้ยน หรือเรื่องเพศสัมพันธ์[18] อาทิเรื่อง ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น (2556-2558)[19], เลิฟซิคเดอะซีรีส์ รักวุ่น วัยรุ่นแสบ (2556) และ GPA สถาบันพันธุ์แสบ (2558) เป็นต้น ละครแนวข้ามเวลาละครแนวข้ามเวลา ส่วนใหญ่จะเดินทางข้ามไปยังอดีต แกนเรื่อง เป็นเรื่องราวความรักของพระเอก นางเอก ที่ไม่สมหวัง แล้วเดินทางข้ามเวลา ไปสร้างเรื่องสร้างราวต่าง ๆ ในละครไทยมักมี เหตุการณ์ประหลาดทั้งหลาย เช่น วิญญาณหลุดออกจากร่าง ไปจนถึงการมีวัตถุพิเศษที่เชื่อมโยงระหว่างสองช่วงเวลา หรือการมีเวทมนตร์คาถาที่ทำให้มิติเวลาบิดผัน[20] ตัวอย่างของละครแนวนี้เช่น บุพเพสันนิวาส, ทวิภพ, บ่วงบรรจถรณ์, แต่ปางก่อน, อตีตา, หัวใจรักข้ามภพ, สู่ฝันนิรันดร, บุพเพสันนิวาส 2 และ รอยไหม เป็นต้น[21] ละครจักร ๆ วงศ์ ๆละครจักร ๆ วงศ์ ๆ เป็นละครที่สร้างมาจากนิทานพื้นบ้าน ตำนานเมือง บริษัทผู้สร้างละครแนวนี้ที่ถือว่าครองตลาดในปัจจุบันคือ สามเศียร[22] ซึ่งผลิตละครให้ทางช่อง 7 ออกฉายช่วงเช้าวันเสาร์ อาทิตย์ ละครบางเรื่องมีเรตติ้งดีไม่แพ้ละครช่วงหลังข่าว อย่างเรื่อง สี่ยอดกุมาร ฉบับปี 2559 มีเรตติ้งดีจนผู้จัดยืดเรื่อง มีจำนวนตอนถึง 81 ตอน ออกฉายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 อวสานตอนเดือนกุมภาพันธ์ 2560 หรือเรื่อง แก้วหน้าม้า ได้รับความนิยม เรตติ้งอยู่ที่ 11 มีจำนวนตอน 102 ตอน ละครพื้นบ้าน สังข์ทอง มีกลุ่มเป้าหมายใหญ่คือช่วงอายุ 6-9 ปี เรตติ้งในกลุ่มนี้ถึง 10.603 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี เรตติ้งเฉลี่ย 9.515[23] ละครโลดโผนละครโลดโผน หรือ ภาษาปากว่า ละครบู๊ เป็นละครที่นำเสนอฉากคิวบู๊ เช่น เตะ ต่อย ฉากระเบิด ยิงปืน[24] ผู้กำกับที่มีชื่อเสียงด้านการกำกับละครบู๊ เช่น ฉลอง ภักดีวิจิตร ละครเรื่องแรกของฉลอง คือ ระย้า ในปี 2541 ทำเรตติ้งสูงถึง 25 ซึ่งไม่เคยมีละครบู๊เรื่องใดทำได้สูงเท่านี้มาก่อน[25] ละครซูเปอร์ฮีโรและจินตนิมิตละครโทรทัศน์ไทย มีตัวละครที่เป็นซูเปอร์ฮีโร แนวเหนือมนุษย์ มีความสามารถพิเศษ และเครื่องแต่งกายอันโดดเด่น อย่างเช่น อินทรีแดง ที่ถูกสร้างมาเป็นละครโทรทัศน์เช่นกัน หรือ นักสู้พันธุ์ข้าวเหนียว ที่มีพลังพิเศษ มีจุดอ่อนที่ทำให้หมดพลัง มีอุดมการณ์และศัตรูที่ชัดเจน[26] เรื่อง ลูกผู้ชายพันธุ์ดี ผู้ได้สืบทอดตะกรุดสายฟ้า ได้ช่วยกำจัดเหล่าร้ายและตามหาคนที่ฆ่าพ่อของตัวเอง เรื่อง คมแฝก มีไม้กระบองที่ปัดกระสุนได้ เรื่อง ยอดมนุษย์ดาบเทวดา ผู้สามารถใช้ดาบได้อย่างเก่งกาจ เรื่อง ลูกผู้ชายไม้ตะพด ที่ครอบครองไม้ตะพดวิเศษ เรื่อง ธิดาพญายม ลูกสาวของเทพที่จำเป็นต้องลงมาตามล่านักโทษแห่งสรวงสวรรค์ และ เรื่อง อังกอร์ เสือที่แปลงกายมาอยู่ในร่างผู้หญิง[27] ละครอิงประวัติศาสตร์ละครอิงประวัติศาสตร์ เป็นละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ ดำเนินเรื่องในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ ให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์[28] ละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส มีเนื้อหาละครในช่วงยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[29] เป็นละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดนับตั้งแตประเทศไทยเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลเมื่อปี 2558[30] ละครที่มีเรื่องราวในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ได้แก่ละครเรื่อง สายโลหิต, บุพเพสันนิวาส และ ฟ้าใหม่[31] ละครเรื่อง รัตนโกสินทร์ ย้อนยุคไปในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3[32] เรื่อง ข้าบดินทร์และ บุพเพสันนิวาส 2มีเนื้อเรื่องเกิดขึ้นสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[33] ละครที่เล่าเรื่องราวในช่วงรัชกาลที่ 5 ยุคที่ประเทศชาติบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลง และประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำหลายอย่าง เช่น บ่วงบาป, นางทาส, ลูกทาส, สี่แผ่นดิน, ร่มฉัตร และ ทวิภพ[34] ละครเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศละครหรือซีรีส์ที่มีเนื้อเรื่องนำเสนอเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ บางครั้งเรียกละครวาย ที่มีตัวละครหลักเป็นเกย์ หรือตัวละครรักเพศเดียวกัน[35] คู่รักนี้รู้จักว่า คู่จิ้น ซึ่งได้สร้างให้นักแสดงคู่นั้นมีชื่อเสียงมาแล้วหลายคู่ บางคู่ได้ไปโชว์ตัวที่ต่างประเทศมาแล้ว เช่น ปุณกับโน่ ใน เลิฟซิคเดอะซีรีส์ รักวุ่น วัยรุ่นแสบ, ก็อตกับบาส จาก เดือนเกี้ยวเดือน 2Moons The Series, สกายกับต่อ ใน โปรเจกต์ เอส เดอะซีรีส์[36] ละครโทรทัศน์ที่มีเกย์นำเสนอเรื่องราวเริ่มได้ความนิยมในสื่อในช่วงปี 2540 ละครในช่วงนั้นเช่น รักไร้อันดับ (2540), ท่านชายกำมะลอ (2540), ซอยปรารถนา 2500 (2541), กามเทพเล่นกล (2541), ชายไม่จริงหญิงไม่แท้ (2541), รักเล่ห์เพทุบาย (2542), สะพานดาว (2542), เมืองมายา (2543), ไม้แปลกป่า (2544), และ รักแปดพันเก้า (2547) และในยุคต่อมาการยอมรับเกย์มากขึ้น ส่งผลต่อตัวละครเกย์มากขึ้นใน ช่วงปี พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2558 เช่นเรื่อง มงกฎดอกส้ม (2554), กี่เพ้า (2555), ละครชุด Hormones วัยว้าวุ่น ฤดูกาลที่ 1 – 2 (ฤดูกาลที่ 1 พ.ศ. 2556, ฤดูกาลที่ 2 พ.ศ. 2557), ชิงรักหักสวาท (2557), มาลีเริงระบำ (2557), ละครชุด Hormones 3 The Final Season (2558), นางชฎา (2558)[37] ในปัจจุบันเริ่มมีละครหรือซีรีส์ที่มีตัวละครเกย์ หรือกะเทยเป็นตัวละครหลัก เช่น ไดอารีตุ๊ดซีส์ เดอะซีรีส์ ที่ทำออกมา 2 ฤดูกาล[38] ละครสะท้อนสังคมละครแนวสะท้อนสังคมมีไม่มากนัก สร้างออกมาก็ไม่โด่งดังมาก อย่างเรื่อง คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ เคยสร้างก็ไม่ดังเท่าไร ยังมีการสร้างละครเสนอมุมมองด้านอาชีพ อย่างเรื่อง เลือดเข้าตา (2538) ที่เสนอภาพตำรวจเลว หรือเรื่อง สงครามนางฟ้า (2551) ที่นำเสนอภาพลักษณ์แอร์โฮสเตส ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบกลับจากสังคม [39] ประเภทละครสามารถจำแนกประเภทได้ดังนี้[40]
ความนิยมละครโทรทัศน์ไทยเป็นรายการโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยม สถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญในการจัดช่วงเวลาการออกอากาศรายการประเภทละครโทรทัศน์ โดยวางผังในช่วงหลังข่าวภาคค่ำ เวลา 20.30-22.30 น.[41] โดยละครในช่วงหลังข่าวที่ช่องทีวีเรียกค่าโฆษณาได้สูงที่สุดมาทุกยุคทุกสมัย ในยุคเฟื่องฟูละครหลังข่าวช่อง 7 เคยสร้างสถิติขายนาทีละ 600,000 บาท ส่วนช่อง 3 อยู่ในระดับ 400,000 บาท ช่องที่ทำเรตติ้งได้สูงสุดตกเป็นของช่อง 7[42] โดย 5 อันดับแรกของละครที่มีเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลทั้งหมด เป็นของช่อง 7 โดยละครเรื่อง คู่กรรม (2533) ที่มีเรตติ้งสูงสุดตลอดกาล มีเรตติ้งที่ 40[43] ละครโทรทัศน์ไทยยังได้รับความนิยมในต่างประเทศ โดยเริ่มจากการได้รับความนิยมจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว กัมพูชา พม่า จนในยุคอินเทอร์เน็ต ละครไทยได้รับความนิยมในประเทศจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยในช่วงปี 2551 ถึง 2554 ละครเรื่อง สงครามนางฟ้า และ เลือดขัตติยา โด่งดังมาก จนขอซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างใหม่ ในยุคนี้เองสถานีโทรทัศน์ของจีนบางสถานีฉายละครไทยถึงปีละ 10 เรื่อง[44] ละครโทรทัศน์ไทย ได้มีการแปลซับไตเติลเป็นภาษาของตนเองเผยแพร่กันเองในโลกออนไลน์ ก่อนที่ทางสถานีโทรทัศน์ในประเทศนั้น ๆ จะนำมาฉายเสียอีก โดยกลุ่มผู้ชมในประเทศเวียดนามต่างชื่นชอบละครโทรทัศน์ไทยมากกว่าละครโทรทัศน์เกาหลีด้วยซ้ำ เนื่องจากเบื่อที่เนื้อหาซ้ำ ๆ ขณะที่ของละครโทรทัศน์ไทยนั้นน่าตื่นเต้นกว่า หักมุมมากกว่า มีโครงเรื่องใหม่ ๆ ตลอดเวลา โดยเรื่องที่ได้รับความนิยมคือ ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น และ วุ่นนักรักเต็มบ้าน ขณะที่ผู้ชมในเมียนมาจะชื่นชอบละครโทรทัศน์แนวผีเป็นส่วนใหญ่ ส่วนแนวรักไม่ได้รับความนิยมเลย ส่วนผู้ชมในกัมพูชาจะชอบแนวชิงรัก หักสวาท แย่งมรดก หรือตบตีกัน เช่น สามีตีตรา, ธรณีนี่นี้ใครครอง, ลมซ่อนรัก, แอบรักออนไลน์ หรือ แรงเงา โดยส่วนใหญ่เป็นของช่อง 3 เนื่องจากสถานีได้เซ็นสัญญาบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับทางสถานีโทรทัศน์พีเอ็นเอ็น คอมโบเดีย ของทางกัมพูชา[45] [46] การตรวจพิจารณาพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 37 บัญญัติให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์มีหน้าที่ตรวจสอบและระงับการออกอากาศรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม[47] ในปี พ.ศ. 2554 ละครเรื่อง ดอกส้มสีทอง ได้มีการตัดบางฉากออก เช่นฉากเลิฟซีน พร้อมให้มีคำเตือนก่อนเข้าละคร เพื่ออธิบายให้ผู้ชมได้รับทราบและเข้าใจว่า ภาพที่ปรากฏเป็นการแสดง ขณะที่ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำแก่บุตรหลาน และให้ละครโทรทัศน์เป็นบทเรียนในการสอนลูกหลาน[48] ในปี พ.ศ. 2556 ผู้บริหารของช่อง 3 ตัดสินใจยุติการออกอากาศละคร เหนือเมฆ 2 มือปราบจอมขมังเวทย์ โดยระบุว่ามีเนื้อหาตอนใดที่ไม่เหมาะสม หรือน่าจะเข้าข่ายละเมิดมาตรา 37 ของ พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่เขียนไว้ว่า "ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง"[49] และเนื่องจากละครเรื่องนี้มีเค้าโครงระบุถึงการเมืองและการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง จึงมีกระแสข่าวออกมาเป็นจำนวนมากว่านักการเมืองรายหนึ่งสั่งให้ยุติการออกอากาศในทันที[50][51] ต่อมาในปีเดียวกัน ละครเรื่อง แผนร้ายพ่ายรัก ที่เนื้อบางส่วนเกี่ยวโยงธุรกิจเชิงเกษตรกรรมทุจริตโกงกินชาวบ้าน มีการดูดเสียงบริษัทที่สมมติขึ้น ชื่อว่า บริษัท UF[52] วันที่ 29 ตุลาคม 2556 กสทช.ได้ออกประกาศ แนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ฉบับใหม่ (ประกาศแนวทางจัดเรตฯ) ลงในราชกิจจานุเบกษา โดยใช้ประกอบกับประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2556 [53] ดูเพิ่มอ้างอิง
บรรณานุกรม
|