ไทยร็อก
ไทยร็อก (อังกฤษ: Thai rock) เป็นดนตรีร็อกจากประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของดนตรีแนวสตริงและป็อปร็อก ดนตรีร็อกเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยในราวทศวรรษที่ 1965 จากอิทธิพลชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ผ่านสงครามเวียดนาม โดยแหลม มอริสัน นักดนตรีชาวอุดรธานีได้ตั้งวงดนตรีชื่อ วีไอพี ขึ้นมา เพื่อเล่นดนตรีแนวเฮฟวี่เมทัลและฮาร์ดร็อกให้กับเหล่าทหารอเมริกันในสถานบันเทิงยามค่ำคืนของอุดรธานี โดยมีจิมิ เฮนดริกซ์ และจิม มอร์ริสัน แห่งวงเดอะดอร์ส เป็นแบบอย่าง ก่อนที่จะมีนักดนตรีอีกหลายคนสร้างชื่อเสียงขึ้นมา เช่น กิตติ กาญจนสถิตย์, โอฬาร พรหมใจ หรือชัคกี้ ธัญญรัตน์[1] [2] จุดกำเนิดของไทยร็อกเริ่มขึ้นในปลายทศวรรษที่ 70 โดยเริ่มจาก เนื้อกับหนัง ถือว่าเป็นวงดนตรีในแนวเฮฟวี่เมทัลและฮาร์ดร็อกวงแรกของไทย โดยมีวิฑูร วทัญญู เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งยากมากที่จะหาผู้ที่ยอมรับฟังดนตรีร็อกในยุคนั้น เนื่องจากในขณะนั้นวงการดนตรีไทยเป็นยุคที่นิยมดนตรีป๊อปแบบใส ๆ เช่น ฟรุตตี้, เรนโบว์ [3] ต่อมาในทศวรรษที่ 80 ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ วงดนตรีที่เล่นเพลงแนวเฮฟวี่เมทัล โดยปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ และโอฬาร พรหมใจ ก็ได้รับความนิยมและยอมรับขึ้นมาจากอัลบั้ม "กุมภาพันธ์ 2528" ต่อมาเมื่อไทยเริ่มเข้าสู่ยุคของการพาณิชย์ เริ่มมีค่ายเพลงต่าง ๆ เกิดขึ้น ความสำเร็จของอัสนี-วสันต์ กับไมโคร ในสังกัดแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ก็ช่วยให้ดนตรีร็อกได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงในดนตรีแนวเพื่อชีวิตอย่าง คาราบาว ที่สร้างยอดขายได้มากกว่า 5 ล้านตลับ ก็ยังนำเอาดนตรีร็อกมาผสมผสานกับดนตรีรำวงจังหวะสามช่าแบบไทยอีกด้วย[4] [5] จวบจนช่วงต้นของทศวรรษที่ 90 ศิลปินหลายวง หลายคนในสังกัดอาร์เอส โปรโมชั่น เช่น ไฮ-ร็อก ที่ทำให้ดนตรีแนวเฮฟวี่เมทัลได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมากขึ้น[6], หิน เหล็ก ไฟ ที่เมื่อออกผลงานชุดแรกก็สร้างยอดขายได้มากกว่าหนึ่งล้านตลับ, หรั่ง ร็อกเคสตร้า, อิทธิ พลางกูร, ธนพล อินทฤทธิ์, พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร ก็ประสบความสำเร็จอีกด้วย ในช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นยุคทองของดนตรีร็อกแนวเฮฟวี่เมทัลของไทยอย่างแท้จริง โดยทั้งหมดได้รวมกันแสดงคอนเสิร์ต ช็อต ชาร์จ ช็อก ร็อก คอนเสิร์ต ที่มีจำนวนผู้ชมล้นหลามและจัดต่อเนื่องด้วยกันถึง 3 ครั้งในรอบ 3 ปี[7] ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 90 วงการดนตรีไทยได้เปลี่ยนความนิยมไป เมื่ออัลเทอร์เนทีฟและอินดี้ป็อป เริ่มเข้ามามีอิทธิพลและได้รับความนิยมขึ้นมาแทนที่เฮฟวี่เมทัล โมเดิร์นด็อก จากสังกัดเบเกอรี่มิวสิค ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ของดนตรีในแนวนี้ขึ้นมาเป็นวงแรก ก่อนจะตามด้วยวงอื่นในแนวเดียวกัน เช่น วายน็อตเซเว่น, ฟลาย, แบล็คเฮด, สไมล์บัฟฟาโล่, นครินทร์ กิ่งศักดิ์ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วดนตรีร็อกในแนวอื่นที่มิใช่อัลเทอร์เนทีฟก็ยังได้รับความนิยม เช่น โลโซ, วูล์ฟแพ็ค, ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, ลาบานูน, ไอน้ำ[8] ในยุคปัจจุบัน ดนตรีร็อกไทยได้มีแนวดนตรีแบบใหม่เข้ามา เช่น แกลมเมทัล หรือ นูเมทัล มีหลายวงที่ได้รับความนิยม เช่น บิ๊กแอส, บอดี้แสลม แคลช ,โปเตโต้, อีโบลา, เรโทรสเปกต์, ซีล,สวีตมัลเล็ต, กะลา เป็นต้น วงดนตรีร็อคในเมืองไทยในยุคแรกไม่สามารถจัดเป็นทศวรรษได้ เนื่องจากกระแสความนิยมและการเปลี่ยนแปลงทางดนตรีก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว นอกนั้นยังมีวงดนตรีนอกกระแสหรือดนตรีใต้ดินอย่าง ดีเซมเบอร์, ดอนผีบิน หรือกล้วยไทย เป็นต้น[9] ทศวรรษ 1960–1970แนวเพลงป็อปร็อกของไทยในยุคแรกเริ่มเกิดจากอิทธิพลดนตรีทางฝั่งตะวันตกจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร วงดนตรีร็อกของไทยในยุคแรก ๆ ได้รับอิทธิพลจากวงเดอะเวนเจอร์ส และเดอะชาโดวส์ (วงแบ็กอัพของคลิฟฟ์ ริชาร์ด) ซึ่งวงดนตรีประเภทดังกล่าวในประเทศไทยรู้จักกันในชื่อวงชาโดว์ จากความนิยมไปทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1960 ทำให้วงดนตรีเช่น เดอะบีเทิลส์, เดอะบีชบอยส์, เดอะโรลลิ่งสโตนส์, เดอะดอร์ส และนักดนตรีอย่างจิมมี เฮนดริกซ์ มีอิทธิพลต่อการก่อตั้งวงดนตรีไทยแนวตะวันตกในยุคแรก ๆ วงดนตรีไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุคนี้ได้แก่ ซิลเวอร์แซนด์, ดิอิมพอสซิเบิ้ล, เดอะแคท และเดอะไดนามิกในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 1960 แนวเพลงบลูส์ร็อคและฮาร์ดร็อคของไทยเริ่มต้นในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 โดยแหลม มอริสัน “กีตาร์คิง” และกิตติ กาญจนสถิตย์ “ กิตติ กีตาร์ปืน” ซึ่งแสดงดนตรีให้ทหารอเมริกันฟังในช่วงสงครามเวียดนาม[10][11] วงดนตรีร็อกในแนวนี้ในยุคแรก ๆ ได้แก่ วง V.I.P. นำโดยแหลม มอริสัน (วิชัย นวลแจ่ม), วง Siamese และคาไลโดสโคป นำโดยกิตติ กาญจนสถิตย์, วงเดอะฟ็อกซ์ นำโดยช. อ้น ณ บางช้าง, วง Epitaph และ Marmalade นำโดยโอฬาร พรหมใจ, วง Heavy Mountain นำโดยแดง เวชยันต์, วง Mundee นำโดยเอกมันต์ โพธิ์พันธุ์ทอง และสรวง สันติ ซึ่งช่วยผลักดันให้เพลงร็อคไทยเข้าสู่กระแสหลัก[12] ทศวรรษ 1980วงดนตรีร็อกในทศวรรษนี้ ได้แก่ ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์, เนื้อกับหนัง และร็อคเคสตร้า วงดนตรีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคืออัสนี-วสันต์ และไมโคร ซึ่งทั้ง 2 วงเซ็นสัญญากับแกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนต์[13][14] เดอะร็อกผับเปิดให้บริการในกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2530 และยังคงเป็นสถานที่แสดงดนตรีร็อคสดของไทยที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่าสี่สิบปีแล้วที่เดอะร็อกผับได้เปิดให้บริการและให้โอกาสนักร้องและวงดนตรีแนวร็อคแอนด์โรล, ร็อก, ป็อปร็อก, ฮาร์ดร็อก และเฮฟวีเมทัลของไทยที่เพิ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้มาทำการแสดง แนวเพลงเพื่อชีวิต (ซึ่งได้รับอิทธิพลจากดนตรีร็อก) ได้รับความนิยมจากอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ของวงคาราบาวซึ่งขายได้มากกว่าห้าล้านชุด[15] ทศวรรษ 1990แนวเพลงเฮฟวีเมทัลเริ่มเกิดขึ้น โดยมีวงอย่าง หิน เหล็ก ไฟ, คาไลโดสโคป, ดอนผีบิน, ยูเรเนียม, บิ๊กกัน และไฮ-ร็อก นักร้องเพลงร็อกชื่อดังของไทยในยุคนี้ ได้แก่ อิทธิ พลางกูร, ชัชชัย สุขขาวดี (หรั่ง ร็อคเคสตร้า), ธนพล อินทฤทธิ์[11] ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 แนวเพลงอัลเทอร์เนทีฟและอินดี้เริ่มได้รับการยอมรับในประเทศไทย หลังจากวงดนตรีสัญชาติอเมริกันอย่างเนอร์วานา ประสบความสำเร็จอย่างแพร่หลายจนทำให้แนวเพลงร็อกอัลเทอร์เนทีฟเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในช่วงต้นทศวรรษ 1990 และวงดนตรีสัญชาติอังกฤษอย่างโอเอซิสรวมถึงกระแสดนตรีบริตป็อปก็ได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1990 มีวงดนตรีไทยแนวอัลเทอร์เนทีฟร็อกหลายวงเกิดขึ้นมา เช่น โมเดิร์นด็อก, ซิลลี่ ฟูลส์, วายน็อตเซเว่น, ซีเปีย, ลาบานูน, ครับ, สไมล์บัฟฟาโล่, พาราด็อกซ์, ฟลาย, โลโซ, แบล็คเฮด และศิลปินเดี่ยวอย่างนครินทร์ กิ่งศักดิ์[16] ทศวรรษ 2000ในช่วงทศวรรษ 2000 แคลชได้ออกอัลบั้มแรกของพวกเขาชื่อว่า "ONE" ซิงเกิลแรกของพวกเขาอย่างเพลง "กอด" ได้รับความนิยมอย่างมาก และทำให้วงประสบความสำเร็จ วงกะลาเปิดตัวด้วยซิงเกิล "My Name is Kala" บิ๊กแอสออกอัลบั้ม "Seven" ในปี 2547 ซึ่งมีซิงเกิลที่โด่งดังอย่าง "เล่นของสูง" อัลบั้มที่ 3 ของวงบอดี้สแลมที่มีชื่อว่า "Believe" ออกจำหน่ายในเดือนเมษายน 2548 และทำให้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในวงดนตรีชั้นนำของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ความสำเร็จของอัลบั้มนี้ทำให้พวกเขาออกทัวร์ทั่วประเทศเป็นเวลานานในช่วงปี 2548 และบางส่วนของปี 2549 พวกเขาได้รับรางวัล Fat Awards ครั้งที่ 4 ในสาขา "Favorite Album" และ "ความเชื่อ" ได้รับรางวัลในสาขา "Song of the Year" เดอะริชแมนทอยเปิดตัวซิงเกิล "อ๊อด อ๊อด" พร้อมกับมิวสิควิดีโอที่ล้อเลียนรายการโทรทัศน์ในยุค 1960 จุ๋ย จุ๋ยส์เปิดตัวซิงเกิลแรกของเขาอย่าง “Lesson 1 (บทที่ 1)” เป็นเพลงแนวโฟล์คร็อกที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น วงดนตรีที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยในยุคนี้ ได้แก่ อีโบลา, ฟลัวร์, สล็อตแมชชีน, โปเตโต้, ทเวนตีไฟฟ์อาเวอส์, โซคูล, สเลอ, วัชราวลี,[17] และเพลย์กราวด์ อ้างอิง
|