Share to:

 

สังฆทาน

สังฆทาน (บาลี: สงฺฆทาน) เป็นศัพท์ในพระสูตร เป็นชื่อเรียกการถวายทานแก่พระสงฆ์อย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอานิสงส์มาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทักขิณาวิภังคสูตร[1] ว่าการถวายสังฆทานแก่คณะพระสงฆ์ มีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานเฉพาะเจาะจงแก่พระพุทธเจ้า แม้ยังทรงพระชนม์อยู่

การถวายสังฆทานนั้น เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าคือการนำถังใส่จตุปัจจัยสีเหลืองไปถวายแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งหรือหลายรูปเท่านั้น แต่ความจริงแล้วสังฆทานอาจหมายถึงการถวายปัจจัยวัตถุใด ๆ ก็ได้ ที่เป็นประโยชน์แก่คณะสงฆ์โดยส่วนรวม เช่นการถวายกุฏิวิหาร หนังสือ ปากกา จาน หรือ แม้กระทั่งไม้กวาด แม้จะกล่าวคำถวายหรือไม่กล่าว หรือกล่าวคำถวายเป็นอย่างอื่น แต่อาการแห่งการถวายเป็นการอุทิศให้แก่สงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ ก็จัดเป็นสังฆทานได้

ทานพิธีที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ที่เข้าลักษณะของสังฆทาน ก็จัดว่าเป็นสังฆทานได้ เช่น การตักบาตร การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้าป่า เป็นต้น

ความหมายและลักษณะของสังฆทาน

ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการถวายสังฆทานคือการถวายแก่พระสงฆ์ แต่ความจริงแล้วการถวายแก่ตัวแทนของสงฆ์ซึ่งได้รับมอบหมาย(เผดียงสงฆ์)เช่น แก่สามเณร ก็นับว่าเป็นสังฆทานที่ถูกต้องได้เช่นกัน

การถวายสังฆทาน หมายถึงการ ถวายสิ่งของจตุปัจจัยวัตถุแก่หมู่พระสงฆ์ โดยไม่เลือกระบุถวายเฉพาะเจาะจงแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง กล่าวคือ ถวายเข้าเป็นสิทธิกองกลางแก่คณะสงฆ์ภายในวัด เพื่อคณะสงฆ์จะจัดแบ่งปันแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ต้องการ

หรือเพียงแค่ถวายแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง (โดย "ไม่เลือก" ว่าจำเพาะถวายรูปนั้นรูปนี้ เช่น เป็นพระผู้ทรงพรรษา พระรูปที่เรารู้จัก หรือพระรูปที่ตนศรัทธา) ที่เป็นตัวแทนแห่งสงฆ์ (ได้รับเผดียงสงฆ์) หรือถวายโดยมีเจตนาเพื่อบำรุงพระสงฆ์สามเณรโดยไม่เลือกผู้รับ ก็นับเป็นสังฆทานเช่นกัน (ตัวอย่าง: เช่นการใส่บาตรโดยไม่เลือกพระผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือสามเณรก็ตาม)

เมื่อพิจารณาจากมูลอันจะเป็นสังฆทานดังกล่าว การที่จะเป็นสังฆทานหรือไม่นั้น มีหลักสำคัญอยู่ที่การถวายสิ่งของเพื่อบำรุงสังฆบริษัท หรือตัวแทนแห่งสังฆบริษัท เพื่อประโยชน์ในด้านการไม่เลือกปฏิบัติและความเท่าเทียมด้านปัจจัยสี่ของพระสงฆ์นั่นเอง[1]

มีข้อควรพิจารณาประการหนึ่งว่า ในพระวินัยถือว่า ภิกษุสงฆ์ 4 รูปขึ้นไปนับเป็นองค์สงฆ์ แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนาของพระพุทธเจ้าในทักขิณาวิภังคสูตรแล้ว หากแม้จะเป็นพระภิกษุถึง 4 รูป แต่เป็นพระที่ผู้ถวายเจาะจงระบุตัวมา ก็หานับว่าเป็นสังฆทานไม่ (คงนับเป็นปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ระบุตัวพระภิกษุผู้รับถวายทาน)

มูลเหตุของสังฆทาน

มูลเหตุที่ทำให้พุทธศาสนิกชนนิยมทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน มาจาก ทักขิณาวิภังคสูตร[1] ในพระไตรปิฎก ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสังฆทานว่า (โดยย่อ)

"ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชมน์อยู่ ครั้งนั้นทรงประทับอยู่ ณ วัดนิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระพุทธเจ้า ได้เกิดศรัทธาแรงกล้า ทรงทอจีวรด้วยพระองค์เองเพื่อนำมาถวายแก่พระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงได้ปฏิเสธที่จะรับถวายผ้าจีวรดังกล่าว โดยได้ตรัสให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีนำผ้าดังกล่าวไปถวายแก่กองกลางคณะสงฆ์ เพราะทรงเห็นว่าการถวายผ้าเป็นสังฆทานจักได้อานิสงส์มากกว่า แม้จะถวายแก่พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาก็ตาม (การถวายหรือให้ทานแก่พระพุทธเจ้า พระภิกษุหรือบุคคลทั่วไป ทรงจัดเป็นปาฏิปุคลิกทาน) อีกทั้งการถวายเป็นสังฆทานนั้นย่อมถือว่าเป็นการบูชาพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งพระสงฆ์ทั้งปวงด้วย

จากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสถึงปาฏิปุคลิกทาน 14 ประเภท (มีการถวายทักษิณาแก่พระพุทธเจ้าเป็นอาทิ) และตรัสถึงทักษิณาทานที่ถวายแก่สงฆ์ (สังฆทาน) ว่ามี 7 ประการ คือ

การถวายโดยอุทิศให้แก่สงฆ์ โดยอุทิศให้เป็นเผดียงสงฆ์ (ไม่ระบุเฉพาะว่าจะถวายรูปไหน) เช่นการถวายสลากภัต แม้พระจะได้รับของที่ถวายแค่รูปเดียว แต่ถือได้ว่าพระสงฆ์ที่มารับถวายเป็นพระที่ได้รับมอบหมายจากสงฆ์ ก็นับเป็นสังฆทานเช่นกัน
  1. ให้ทานในสงฆ์ 2 ฝ่าย (ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
  2. ให้ทานในสงฆ์ 2 ฝ่าย ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
  3. ให้ทานในภิกษุสงฆ์ ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
  4. ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
  5. เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้าแล้วให้ทาน (ให้ทานโดยให้คณะสงฆ์เป็นผู้เลือกพระภิกษุและพระภิกษุณีที่จะรับถวายทานเอง)
  6. เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน
  7. เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน

โดยได้ตรัสว่า แม้ในอนาคตกาล การถวายสังฆทานแม้แก่พระสงฆ์ผู้ทุศีล ก็ยังนับว่ามีผลนับประมาณมิได้ และปาฏิปุคลิกทานทั้งปวงในบุคคลใด ๆ มีพระพุทธเจ้าเป็นอาทิ ก็ไม่สามารถมีผลสู้สังฆทาน 1 ใน 7 ประการดังกล่าวได้เลย"

จากพระพุทธดำรัสดังกล่าว ทำให้พุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธานิยมทำบุญด้วยการถวายสังฆทานเพราะมีอานิสงส์มาก อีกประการหนึ่งการที่สังฆทานมีอานิสงส์มากกว่าปาฏิปุคลิกทานธรรมดาเพราะการที่จัดถวายทานแก่ส่วนรวม (คณะสงฆ์) ย่อมมีประโยชน์แก่พระศาสนามากกว่า เพราะการถวายสังฆทานเป็นการกระจายปัจจัยวัตถุอันจะพึงได้แก่คณะสงฆ์ทั้งปวงโดยไม่จำกัดหรือเลือกปฏิบัติแก่รูปใดรูปหนึ่ง

ดังนั้นการที่พระพุทธองค์ตรัสยกย่องสังฆทานจึงนับได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงการไม่เลือกปฏิบัติทางด้านบุคคล ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เพื่อเป็นประโยชน์ผาสุกโดยเท่าเทียมกันทางด้านปัจจัย 4 แก่พระสงฆ์ทั้งปวงผู้เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน

คำกล่าวถวายสังฆทาน

ตั้งนะโมสามจบ
(๓ จบ)
อิมานิ มยํ ภนฺเต ภตฺตานิ สปริวารานิ ภิกขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม
สาธุ โน ภนฺเต ภิกฺขุ สังโฆ อิมานิ ภตฺตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ
อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขายฯ
กล่าวคำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหาร กับของที่เป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์
ขอพระสงฆ์ จงรับ ซึ่งภัตตาหาร กับของที่เป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ[2]

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสังฆทาน

ในปัจจุบัน มักเรียกกันอย่างเข้าใจผิดว่าการถวายสังฆทานคือการถวายสิ่งของโดยใส่ถังหรือบรรจุภัณฑ์สีเหลือง โดยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าสิ่งของที่จะนำมาถวายสังฆทานนั้นต้องซื้อเป็นชุดไทยธรรมหรือถังสีเหลืองสำเร็จรูปที่บรรจุสิ่งของจากร้านสังฆภัณฑ์ หรือจะต้องนำสิ่งของที่ตนตั้งใจถวายใส่บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่มีสีเหลือง แล้วนำสิ่งเหล่านั้นไปถวายพระสงฆ์แล้วจะเป็นสังฆทานที่ถูกต้อง แต่ความจริงแล้วสังฆทานนั้นคือการถวายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่หมู่พระสงฆ์โดยสิ่งของนั้นจะเป็นสิ่งของชนิดใดก็ได้

ปรากฏการณ์ถังสีเหลือง

ถังหรือบรรจุภัณฑ์สีเหลือง

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการถวายสังฆทานในปัจจุบัน มีผู้กล่าวว่าเกิดจากปรากฏการณ์ "ถังสีเหลือง"[3] โดยกล่าวว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมีที่มาจากการที่ร้านค้าสังฆภัณฑ์จัดสินค้าเป็นถังไทยธรรมที่บรรจุสิ่งของเครื่องใช้นำมาวางจำหน่ายโดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์สีเหลืองเพื่อให้เป็นที่ติดตาของผู้ซื้อ และบางร้านมีการติดสัญลักษณ์ร้านค้าบนบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของถังสีเหลืองให้แก่ผู้ซื้ออีกด้วย โดยเรียกถังสีเหลืองดังกล่าวว่าเป็น "ถังสังฆทาน" และปรากฏว่าพุทธศาสนิกชนนิยมซื้อสินค้าดังกล่าวนำไปถวายพระสงฆ์ เพราะมีความสะดวกที่ไม่ต้องไปจัดหาสิ่งของด้วยตนเอง และความสวยงามของการจัดรูปแบบสิ่งของในตัวบรรจุภัณฑ์

และเนื่องจากการที่ถังสีเหลืองดังกล่าวมีผู้นิยมซื้อเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ จึงทำให้สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าสำคัญของร้านค้าต่าง ๆ ห้างดิสเคาท์สโตร์ หรือแม้ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ จนในระยะหลังเริ่มมีร้านค้าบางร้านเอาเปรียบผู้ซื้อโดยจัดสิ่งของในถังสีเหลืองที่ไม่ได้คุณภาพหรือน้อยกว่าความเป็นจริง เช่น การทำให้สิ่งของดูมีจำนวนมากโดยใส่ขวดน้ำหรือกระดาษลังในก้นถังเพื่อถ่วงน้ำหนัก และปรากฏว่ามีการกระทำเช่นนี้มานานแล้วนับสิบปีโดยไม่มีผู้ออกมาร้องเรียน (เนื่องจากสินค้าถังสีเหลืองส่วนใหญ่จะนำไปถวายพระสงฆ์ โดยที่ผู้ซื้อไม่เคยแกะถังสีเหลืองเพื่อตรวจสอบ)

จนในช่วงปี 2548 เริ่มมีรายการโทรทัศน์ออกข่าวเปิดโปงการเอาเปรียบดังกล่าวและมีสื่อมวลชนและองค์กรต่าง ๆ เสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นระยะ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก[4] เพื่อควบคุมชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมที่ขายตามรานค้าและร้านสังฆภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีคุณภาพต่อไป แต่ก็ยังคงมีผู้ค้าบางรายแอบนำสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาใส่ในถังเหลืองเพื่อจำหน่ายอยู่บ้าง

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ "ถังสีเหลือง" เป็นสิ่งของแรก ๆ ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่คิดถึง เมื่อจะไปทำบุญถวายจตุปัจจัยตามวัดต่าง ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า "การทำบุญด้วยถังสีเหลือง" เป็นสิ่งคู่กันอย่างแยกไม่ออก และมักเรียกรวมกันว่า การถวายถังสังฆทาน ซึ่งยังคงก่อปัญหาความลำบากใจให้แก่พระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ อยู่จนถึงปัจจุบัน[5] เพราะยังคงมีร้านค้าบางร้านใช้สินค้าราคาถูกหรือไม่ได้คุณภาพบรรจุลงในถังเหลืองออกจำหน่ายอยู่ ดังนั้นการทำบุญให้เป็นสังฆทานที่มีคุณภาพโดยแท้จริงควรซื้อหาสินค้าที่จะนำไปถวายโดยพิจารณาจากความต้องการและประโยชน์ของพระสงฆ์ มากกว่าประโยชน์คือความสะดวกของผู้ถวาย ดังที่มีผู้แนะนำการถวายสังฆทานว่าควรประกอบไปด้วย[6]

  1. ปุพพเจตนา หรือ มีความตั้งใจในการทำบุญโดยการเลือกซื้อสิ่งของที่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่พระสงฆ์ เช่นของมีคุณภาพ หรือสิ่งของที่พระสงฆ์ต้องการ
  2. มุญฺจเจตนา คืออาการที่ถวายเป็นสังฆทานถูกต้อง เช่น ถวายเข้ากองกลางของวัด หรือถวายแก่ตัวแทนของพระสงฆ์เพื่อนำสิ่งของไปแจกจ่าย หรือเผดียงสงฆ์ไม่เลือกระบุตัวพระสงฆ์ผู้รับ โดยการถวายดังกล่าวควรทำเจตนาในการถวายให้มุ่งตรงต่อหมู่สงฆ์ ไม่ใช่ถวายแก่บุคคล
  3. อปราปรเจตนา[7] เมื่อถวายแล้วก็ทำจิตใจให้เป็นบุญ นึกถึงการถวายสังฆทานดังกล่าวเมื่อใดก็มีความยินดีไม่เกิดความเสียดาย

อื่น ๆ

สังฆทานเวียน

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 6 มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค ทักขิณาวิภังคสูตร[ลิงก์เสีย]
  2. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. ศาสนพิธีคู่มือทำบุญบำเพ็ญกุศลสำหรับพุทธศาสนิกชน. โรงพิมพ์ชุติมาการพิมพ์. ๒๕๒๖
  3. ""สังฆทาน" INTREND !!!!!! ลบภาพปรากฏการณ์ "ถังเหลือง" เต็มวัด. เว็บไซต์ผู้จัดการรายวัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-06. สืบค้นเมื่อ 2009-01-06.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ. ๒๕๕๐) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก, เล่ม ๑๒๔, ตอนพิเศษ ๔ ง, ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐, หน้า ๑๒
  5. เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. เอกสาร : เอกสารแนะนำวัดคุ้งตะเภา . อุตรดิตถ์ : วัดคุ้งตะเภา , 2549.
  6. ศาสนพิธี สำหรับ พุทธศาสนิกชน : การถวายสังฆทาน. เว็บไซต์ธรรมะไทย
  7. พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ  : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2538

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya