อุปนิษัท (เทวนาครี : उपनिषद् อุปนิษทฺ, ไอเอเอสที: upaniṣad) เป็นคัมภีร์ของศาสนาฮินดู เนื้อหาเป็นหลักธรรม หรือคำสอนอันลึกซึ้ง นับเป็นส่วนสุดท้ายของวรรณกรรมพระเวท (วรรณกรรมพระเวทส่วนอื่นได้แก่ สังหิตา, พราหมณะ, อารัณยกะ) และเนื่องจากเป็นส่วนสุดท้ายของวรรณกรรมพระเวท จึงอีกอย่างหนึ่งว่า "เวทานฺต" (เวทานตะ)
คำว่า “อุปนิษัท” (อุปนิษทฺ) มาจากคำอุปสรรค อุป+นิ+ (ธาตุ) สทฺ ความหมายคือ “นั่งลงใกล้...” ดังนั้นจึงมีนักปราชญ์บางคนอธิบายความหมายของคำ “อุปนิษทฺ” ว่า คือความรู้ที่ได้จากการนั่งลงใกล้กับเท้าทั้งสองของอาจารย์เพื่อฟังคำสอน (ซึ่งการถ่ายทอดความรู้ที่เป็นความลับจะถ่ายทอดกันในลักษณะนี้) แต่นักปราชญ์ชาวอินเดียได้อธิบายความหมายของคำ “อุปนิษทฺ” ว่าหมายถึง การทำลายความโง่เขลาด้วยการเปิดเผยความรู้เกี่ยวกับจิตวิญญาณสูงสุดและตัดขาดจากสิ่งผูกรัดทางโลก
นอกจากนี้คำ “อุปนิษทฺ” ยังให้ความหมายในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับความลึกลับ เช่น ลัทธิที่ลักลับ ลัทธิที่ปกปิด ถ้อยคำที่ลึกลับ เป็นต้น ต่อมาได้มีการนำเอาคำ “อุปนิษทฺ” มาใช้เรียกวรรณกรรมส่วนท้ายสุดของพระเวท ซึ่งเนื้อหาความรู้ในวรรณกรรมส่วนนี้จะมีลักษณะเป็นปรัชญาที่ลึกซึ้ง อุปนิษัทจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เวทานตะ (เวทานฺต)” มาจากคำสมาส เวท (คำนามของธาตุ วิทฺ) + อนฺต (สุดท้าย) มีความหมายว่า “ส่วนท้ายสุดของพระเวท” ในกลุ่มนักปราชญ์ชาวอินเดียยังคงยึดถือว่า อุปนิษัทเป็นวรรณกรรมประเภทศรุติ สำหรับคำว่า “เวทานตะ” นั้นเป็นคำที่พ้องกับชื่อปรัชญาอินเดียสาขาหนึ่งใน 6 สาขาที่เป็น “อาสติกะ (อาสฺติก)” (ความคิดที่ยอมรับอำนาจของพระเวทและเชื่อในความมีอยู่ของพระเจ้าและโลกอื่น) คือ ปรัชญาเวทานตะ และปรัชญาสาขานี้ก็ยึดถือว่าคัมภีร์อุปนิษัทหลายอุปนิษัทเป็นคัมภีร์สำคัญของสาขา
มุขยะ อุปนิษัท
มุขยะ อุปนิษัท (มุขฺย อุปนิษทฺ) เป็นคำเรียกคัมภีร์อุปนิษัทกลุ่มหนึ่ง มีด้วยกัน 10 เล่ม จากอุปนิษัททั้งหมด 108 เล่ม นับเป็นอุปนิษัทที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งศังกราจารย์ นักปราชญ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ได้กล่าวถึงไว้ คำว่า "มุขยะ" ในภาษาสันสกฤต หมายถึง หลัก หัวหน้า หรือโดดเด่น "มุขยะ อุปนิษัท" จึงหมายถึง อุปนิษัทหลัก นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ยังมีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทโศปนิษัท หรือ อุปนิษัททั้งสิบ คัมภีร์เหล่านี้ชาวฮินดูยอมรับว่าเป็นศรุติ (คัมภีร์ที่เกิดจากการฟังมาจากพระเจ้า) โดยมีรายชื่อดังนี้ (ในวงเล็บ คือชื่อพระเวทที่เกี่ยวข้องของอุปนิษัทนั้น ๆ)
- อีษา อุปนิษัท (อีศ-อุปนิษทฺ) "ผู้ปกครองภายใน" (ศูกล ยชุรเวท) หรือเรียกอีกชื่อว่า อีศาวาสฺย-อุปนิษทฺ ประกอบด้วย 18 มันตระ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระเจ้าและโลก การงานและปัญญา อาตมัน ความจริงแท้สูงสุดและสิ่งสูงสุด วิทยา และ อวิทยา ฯลฯ
- เกนะ อุปนิษัท (เกน-อุปนิษทฺ) "ใครย้ายโลก" (สามเวท) รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ตลวการ-อุปนิษทฺ ตามชื่อของพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าของอุปนิษัทนี้ แบ่งเป็น 4 ตอน เนื้อหาสองตอนแรกซึ่งเป็นร้อยกรองกล่าวถึงพรหมันสูงสุด ที่ไม่อาจกำหนดคุณลักษณะใด ๆ ได้ เป็นสิ่งสมบูรณ์ที่เป็นรากฐานของโลกและปรากฏการณ์ธรรมชาติ ส่วนเนื้อหาในสองตอนหลังซึ่งเป็นร้อยแก้วกล่าวถึง สิ่งสูงสุด (พระเจ้า) หรือ อีศวระ และความรู้ที่ทำให้หลุดพ้น ความรู้เกี่ยวกับสิ่งสมบูรณ์ (ปรา-วิทยา) ซึ่งทำให้ได้ผลเป็นการหลุดพ้นแบบฉับพลันที่เป็นไปได้สำหรับบุคคลที่ดึงความคิดออกจากวัตถุทางโลก และตั้งสมาธิจดจ่ออยู่ที่ความจริงสูงสุดของจักรวาล ความรู้ที่เกี่ยวกับ อีศวระ อปรา-วิทยา ซึ่งทำให้บุคคลอยู่บนหนทางที่นำไปสู่การเป็นอิสระในที่สุด (karma mukti) จิตวิญญาณที่มีความศรัทธาต้องการปัญญาที่สูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะให้ผลในความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเหมือนกันกับสิ่งสูงสุด
- กถะ อุปนิษัท (กฐ-อุปนิษทฺ) "ความตายเป็นครู" (กฤษณะ ยชุรเวท) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า กฐาโกปนิษทฺ นำเสนอเนื้อหาในรูปของการสนทนาระหว่าง นิจิเกตสฺ กับ ยม (เทพแห่งความตาย) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้นหาความลับที่อยู่เบื้องหลังชีวิตและความตายของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับพรหมัน ธรรมชาติของอัตมัน (Self) ความจริงแท้สูงสุดของสิ่งที่ดำรงอยู่ทั้งหลาย เสียง “โอม” อัตมันที่เป็นอมตะ อัตมันที่มีสองลักษณะ คุณลักษณะตรงกันข้ามกันของสิ่งสูงสุด การเปรียบเทียบร่างกายกับรถม้าศึก ฯลฯ
- ปรัสนะ อุปนิษัท (ปฺรศฺน-อุปนิษทฺ) "ลมหายใจของชีวิต" (อาถรรพเวท) นำเสนอในลักษณะของคำถามที่ลูกศิษย์ถามฤษีผู้เป็นอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น คำถามเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเกิดขึ้นมาจากอะไร คำถามเกี่ยวกับเทพจำนวนเท่าใดที่ค้ำจุนสิ่งมีชีวิตอยู่ เทพองค์ใดทำให้รุ่งโรจน์ เทพองค์ใดเป็นผู้นำ คำถามเกี่ยวกับปราณ พลังอำนาจของคำว่า “โอม” ฯลฯ
- มุณฑกะ อุปนิษัท (มุณฺฑก-อุปนิษทฺ) "การรับรู้สองอย่าง" (อาถรรพเวท) สันนิษฐานว่าชื่อของคัมภีร์อุปนิษัทนี้มาจากคำสอนที่อยู่ในอุปนิษัททำให้ศิษย์ผู้เรียนรู้และสะอาดเหมือนกับศีรษะที่ถูกโกนด้วยมีด (มุณฺฑก) ขจัดม่านแห่งความโง่เขลาออกไป คัมภีร์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความจริงแท้สูงสุด พรหมวิทยา หนทางการบรรลุพรหมัน ฯลฯ คัมภีร์นี้ศึกษากันในหมู่ สนฺนยาสี (นักบวช)
- มาณฑูกยะ อุปนิษัท (มาณฺฑูกฺย-อุปนิษทฺ) "จิตสำนึกและช่วงต่าง" (อาถรรพเวท) มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสำคัญของคำว่า “โอม” อัตมัน และ พรหมัน รวมถึงสภาวะต่าง ๆ ของจิต
- ไตติรียะ อุปนิษัท (ไตตฺติรีย-อุปนิษทฺ) "จากอาหาร สู่ปีติ" (กฤษณะ ยชุรเวท) เนื้อหาแบ่งเป็น 3 ตอน ตอนแรกคือ ศิกฺษา-วลฺลิ เกี่ยวกับการปฏิญาณตนหลังจบการศึกษากับครู ตอนที่สอง (พฺรหฺมานนฺท-วลฺลิ) และตอนที่สาม (ภฤคุ-วลฺลิ) เป็นความรู้เกี่ยวกับปรามาตมันหรือความจริงแท้สูงสุด
- ไอตเรยะ อุปนิษัท (ไอตเรย-อุปนิษทฺ) "ตัวตนและอาตมันของมนุษย์" (ฤคเวท) เนื้อหาเกี่ยวกับยัญพิธีและการแปลความหมายของยัญพิธี เพื่อให้ผู้ประกอบยัญพิธีเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งที่แฝงอยู่ภายใน รวมถึงความรู้และการบูชาปราณ ฯลฯ
- ฉานโทคยะ อุปนิษัท (ฉานฺโทคฺย-อุปนิษทฺ) "บทเพลงและการสังเวย" (สามเวท) เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ “ฉานฺโทคฺย-พฺราหฺมณ” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอภิปรายปัญหาของพิธีสวดบูชาและทฤษฎีต่าง ๆ เช่น แหล่งกำเนิดและความสำคัญของคำว่า “โอม” ความหมายและชื่อของ สามนฺ อัตมัน ปราณ เป็นต้น
- พฤหทารัณยกะ อุปนิษัท (พฤหทารณฺยก-อุปนิษทฺ) (ศูกล ยชุรเวท) เป็นคัมภีร์อุปนิษัทที่มีความสำคัญมากที่สุดและเก่าแก่ที่สุด เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ “ศตฺปถะ-พฺราหฺมณ” แบ่งออกเป็น 3 กาณฑะ อันดับแรกคือ มธุ-กาณฺฑ เป็นคำสอนเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานของอัตมันและปรมาตมัน อันดับสองคือ ยาชฺญวลฺกฺย หรือ มุนิ-กาณฑ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้เหตุผลทางปรัชญาของคำสอน อันดับสามคือ ขิล-กาณฺฑ เป็นคำสอนเกี่ยวกับรูปแบบบางประการของการบูชาและการทำสมาธิ การสะท้อนทางตรรกะ การทำสมาธิอย่างลึก ฯลฯ
อ้างอิง
ผศ.ดร.สถิตย์ ไชยปัญญา ประวัติวรรณคดีสันสกฤต สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2563