เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
นายพันเอก เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร (6 พฤษภาคม พ.ศ. 2402 - 5 มกราคม พ.ศ. 2453) พระประวัติเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าน้อยสุริยะ ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน 6 ขึ้น 5 ค่ำ ปีมะแม จ.ศ. 1221 (6 พฤษภาคม พ.ศ. 2402) เป็นโอรสในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 กับแม่เจ้ารินคำ ณ ลำพูน และเป็นนัดดา (หลานปู่) ในพระยาราชวงศ์ (มหาพรหมคำคง) นครเชียงใหม่ และราชนัดดา (หลานตา) ในเจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 6 เจ้าน้อยสุริยะได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าราชบุตร เมื่อปี พ.ศ. 2432[1] เป็นเจ้าราชวงศ์ ในปี พ.ศ. 2436 และวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2440 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าอุปราชเมืองนครเชียงใหม่[2] ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งเป็นเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษ์เกษตร์ วรฤทธิ์เดชดำรง จำนงยุติธรรมสุจริต วิศิษฐสัตยธาดา มหาโยนางคราชวงษาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่ โดยมีพิธีการตั้งเจ้าผู้ครองนครเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444[3] นับเป็นเจ้านครเชียงใหม่องค์แรก ภายหลังปี พ.ศ. 2442 ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยมีมณฑลพายัพ หรือ มณฑลลาวเฉียง และมณฑลมหาราษฎร์ เป็นมณฑลในอาณาจักรล้านนา โดยราชสำนักกรุงเทพฯ ส่งข้าหลวงขึ้นมาช่วยให้คำแนะนำเจ้านายฝ่ายเหนือในการบริหารราชการ และได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งเสนากรมขึ้นมาใหม่ 6 ตำแหน่ง โดยให้คงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครอยู่ แต่ลดอำนาจลง และในที่สุดในปี พ.ศ. 2442 ล้านนาได้ถูกปฏิรูปการปกครองเป็นแบบ มณฑลเทศาภิบาล เป็นการยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราช และผนวกดินแดนล้านนาที่อยู่ใต้การปกครองของเชียงใหม่มาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2444 ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันเอก[4] เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ป่วยด้วยโรคปอด จนถึงแก่พิราลัยในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2453[5] (หรือปี พ.ศ. 2452 หากนับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นศักราชใหม่) รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร 8 ปี ชันษา 50 ปี การตั้งเจ้าอุปราชเมืองนครเชียงใหม่เป็นเจ้าผู้ครองเมืองวันที่ 28 พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก 120 เป็นวันกำหนดการตั้งเจ้าอุปราช เมืองนครเชียงใหม่ เป็นเจ้านครเชียงใหม่ เจ้าพนักงานได้จัดการ ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เวลาบ่าย 5 โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องราชอิสริยาภรณ์เสด็จออกท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ประทับ ณ พระที่นั่งพุดตาล ภายใต้พระมหาเศวตรฉัตร เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ แลมโหรทึก พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท แต่งครึ่งยศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว พระยาศรีสุเทพ ราชปลัดทูลฉลอง กระทรวงมหาดไทย นำเจ้าอุปราช แลเจ้านายนครเชียงใหม่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร ตั้งให้เจ้าอุปราช เมืองนครเชียงใหม่ เป็น เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ดำรงนพสีนคร สุนทรทศลักษ์เกษตร์ วรฤทธิ์เดชดำรง จำนงยุติธรรมสุจริต วิสิษฐสัตยธาดา มหาโยนางคราชวงษาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่ แล้ว ได้ทรงสรวมมาลายอดเกี้ยวทองคำ พระราชทานแก่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้านครเชียงใหม่ แลพระราชทานพานทองคำ เครื่องในพร้อม แลคนโททองคำ แลผ้าพรรณนุ่งห่ม เป็นเกียรติแก่เจ้านครเชียงใหม่ แลได้มีพระบรมราชโองการ ดำรัสพระราชทานพรแก่เจ้านครเชียงใหม่ แล้วเสด็จขึ้น เป็นเสร็จการตั้งเจ้านครเชียงใหม่แต่เท่านี้[6] พระจริยวัตรเจ้าน้อยสุริยะ ในฐานะเจ้าอุปราช รักษาการเมืองนครเชียงใหม่ ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกรุงเทพ ด้วยเหตุที่ว่า เจ้าอุปราชเป็นคนไม่เอาการเอางาน ไม่คิดจะทำงานให้บ้านเมือง แสวงหาแต่ประโยชน์สุขส่วนตน และยังเชื่อคำยุยงประจบสอพลอของข้าบ่าวบริวารจนเสียการงานไปหมด ดังปรากฏในรายงานของพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วีรยศิริ) ต่อกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทย ซึ่งมีใจความว่า "...เจ้านายพระยาท้าวแสน ไม่หันหน้าหาพวกข้าหลวง คอยแต่ขัดขวางทุกอย่าง เพราะเมื่อครั้งพระยาทรงสุรเดชนั้นกลัวนัก ครั้นนึกถึงพระยานริศราชกิจ เห็นพระยานริศราชกิจเป็นคนใจดี นึกเสียว่ากลัว เลยขัดขวางพระยานริศราชกิจทำอะไรไม่ได้ [...] การที่ขัดขวางต่างต่างนั้น เปนด้วยพวกพระยาลาวแลคนไทยหลายคนยุให้ทำพวกเจ้านาย โง่ เขลา ก็ทำตามจนหมดอำนาจเชียงใหม่ ตกลงพวกพระยาผู้น้อยมีอำนาจบังคับการบ้าน การเมือง ได้เด็ดขาด เอาเจ้านายไว้เปน ลูกไก่ แล้วแต่พวกเจ้าพระยาจะใช้หรือยุให้ทำอะไร..." [7] รัฐบาลสยามไม่พอใจการทำงานของเจ้าอุปราช (น้อยสุริยะ) เป็นอย่างมาก รัฐบาลสยามถึงกับต้องว่าจ้างชายาของเจ้าอุปราชคอยดูแลและกำกับตัวเจ้าอุปราช ดังโทรเลขของพระยาศรีสหเทพต่อกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2443 ใจความตอนหนึ่งว่า "...ได้จัดตั้งเบี้ยหวัดเจ้าทิพเนตร ปีละ ๕๐๐ รูเปีย เท่ากับแม่นางภัณฑารักษ์ ยกขึ้นให้เปนข้าราชการฝ่ายผู้หญิง เงินเบี้ยหวัดรายนี้ ได้บอกให้เจ้าทิพเนตรเข้าใจว่า ถ้าเจ้าอุปราชเมา หรือไม่รับราชการดี จะลดหย่อนเงินเดือนเสีย ถ้ายังไม่ฟัง ขืนเมาหรือขืนเชื่อคำคนสอพลอยุยง ให้เจ้าทิพเนตรฟ้องต่อข้าหลวงใหญ่ อนึ่งเงินค่าตอไม้ แม่ปิง แม่ฮ่องสอน ซึ่งเจ้าผู้ครองเมืองเก็บได้ จะยกเอาเปนของหลวง..." [7] ครอบครัวเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์มีภรรยาเอกคือเจ้าทิพเนตร มีพระโอรสเพียงคนเดียวคือเจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่) นอกจากนี้ยังมีหม่อมละครในคุ้มหลวงเชียงใหม่อีกหลายท่าน แต่ไม่มีพระบุตร ได้แก่[8]
พระกรณียกิจ
เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ชอบที่จะใกล้ชิดประชาชนมีรูปแบบการปกครองเป็นแบบพ่อปกครองลูก ทรงประกอบพระกรณียกิจในฐานะเจ้านครเชียงใหม่ ในด้านต่าง ๆ อาทิ การแสดงความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ พร้อมด้วยเจ้าราชภาคินัย เจ้าน้อยเลาแก้ว เจ้าน้อยสมพมิตร เจ้าน้อยเมืองชื่น และเจ้าน้อยวุฒิวงษ์ เข้าเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2447[10] ตามราชประเพณีที่ประเทศราชต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการไปยังกรุงเทพฯ ทุกๆ 3 ปี หรือทุกปี เพื่อแสดงความสวามิภักดิ์และการยอมเป็นเมืองขึ้น[11] และนับเป็นเครื่องราชบรรณาการ งวดสุดท้าย ก่อนจะมีการยกเลิกธรรมเนียมการถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา[12] การศึกษาในปี พ.ศ. 2446 ได้จัดให้มีการเรียนหนังสือภาษาไทย และส่งเสริมให้มีการสร้างโรงเรียนขึ้นในนครเชียงใหม่ เพื่อรองรับการสร้างบุคลากรให้รับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีการจัดตั้งจากรัฐบาลส่วนกลาง[13] และในปี พ.ศ. 2449 ได้อนุญาตให้ใช้คุ้มของเจ้าหลวงแห่งหนึ่ง ตั้งเป็นโรงเรียนผู้หญิง (ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ) และทรงรับอุปการะด้วย[14] นอกจากนั้นเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ยังดำริให้สร้างสวนสัตว์ขึ้นในบริเวณคุ้มหลวง โดยนำเอาสัตว์มาเลี้ยงไว้ให้ประชาชนได้ชมโดยไม่เสียเงิน เช่น นกกระจอกเทศ อูฐ จระเข้ เสือลายพาดกลอน เป็นต้น การศาสนาในกิจการพุทธศาสนา ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่เข้มแข็ง นอกจากการบำเพ็ญกุศลตามเทศกาลและวาระต่างๆ เป็นปกติแล้ว เจ้าหลวงยังคงปรากฏให้เห็นผลงานได้แก่ ในปี พ.ศ. 2435 ได้จัดการฉลองพระวิหารวัดกิตติ (ปัจจุบันคือวัดร้างในโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่) ในปี พ.ศ. 2442 ได้สร้างกุฏิวัดหอธรรม ในปี พ.ศ. 2445 ได้เป็นมหาสัทธาเค้า เป็นประธานคณะศรัทธาบวชสามเณร 44 รูป ในปี พ.ศ. 2446 ได้ปฏิสังขรณ์และยกยอดฉัตรพระเจดีย์ธาตุเจ้าทุ่งตุ๋ม ในปีถัดมาได้ฉลองพระไตรปิฎกวัดเชียงมั่น และวัดกิตติ ในปี พ.ศ. 2448 ได้สร้างวิหารวัดดอกเอื้อง และสร้างพระพุทธรูปทันใจองค์หนึ่งด้วยไม้จันทน์ ในปี พ.ศ. 2449 สร้างวิหารวัดนางเหลียว และในปี พ.ศ. 2451 สร้างฉัตรพระเจดีย์วัดทุงยู การผังเมืองในปี พ.ศ. 2442 ทรงมีดำริให้มีการวางผังเมืองเชียงใหม่ตามแนวความคิดสมัยใหม่ โดยการย้ายหน่วยงานราชการมาไว้ภายในเขตกำแพงเมือง และย้ายตลาดกลางเวียง ไปอยู่ที่ริมแม่น้ำปิง จัดตั้งเป็นตลาดวโรรสดังเช่นปัจจุบัน[15] ทำให้สามารถลดความคับคั่งของผู้คนในตัวเมืองได้ การสื่อสารและเทคโนโลยีในปี พ.ศ. 2444 ทรงนำเครื่องปั่นไฟฟ้ามาริเริ่มสร้างกระแสไฟฟ้าใช้ในคุ้มหลวงเป็นครั้งแรกของนครเชียงใหม่ และในปี พ.ศ. 2451 ทรงเห็นความสำคัญของการสื่อสาร จึงได้ช่วยอุดหนุนราชการของรัฐบาล โดยบริจาคเสาโทรเลข จำนวน 250 ต้น[16] เพื่อขยายเขตการสื่อสารในนครเชียงใหม่ การคลังและภาษีอากรในยุคของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เป็นยุคที่เจ้าหลวงไม่มีอำนาจในการจัดเก็บรักษาเงินของเมือง โดยที่เงินผลประโยชน์ของเจ้าหลวงและเจ้านายบุตรหลานจะได้มาจากส่วนแบ่งค่าตอไม้ เงินเดือนพระราชทาน และเงินส่วนแบ่งค่าแรงแทนเกณฑ์ ในส่วนของการจัดเก็บภาษีใหม่นี้จึงเรียกว่า "เงินค่าราชการ" จึงเป็นช่วงที่เจ้าหลวงและเจ้านายบุตรหลานต้องยอมสละประโยชน์และเสียอำนาจไปเป็นอันมาก สถานที่อันเนื่องมาจากพระนาม
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พงศาวลี
อ้างอิง
|