Share to:

 

นครเชียงใหม่

รัตนติงสาอภินวปุรีสรีคุรุรัฎฐ
พระนครเชียงใหม่

ᩁᩢᨲ᩠ᨲᨶᨲᩥᩴᩈᩣᩋᨽᩥᨶᩅᨷᩩᩁᩦᩈᩕᩦᨣᩩᩁᩩᩁᩢᨭᩛ
ᨻᩕᨶᨣᩬᩁᨩ᩠ᨿᨦᩉ᩠ᨾᩲ᩵
พ.ศ. 2317–2442
พระราชลัญจกรของเชียงใหม่
พระราชลัญจกร
  อาณาเขตรัชสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์
  หัวเมืองนครล้านนาอื่น ๆ
สถานะประเทศราชของสยาม
เมืองหลวงนครเชียงใหม่
ภาษาทั่วไปคำเมือง
ศาสนา
ศาสนาพุทธ (เถรวาท)
การปกครองเจ้าขันห้าใบ
เจ้าผู้ครองนคร 
• พ.ศ. 2317–2319
พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา)
• พ.ศ. 2325–2482
ราชวงศ์ทิพย์จักร
ประวัติศาสตร์ 
• สถาปนานครเชียงใหม่
พ.ศ. 2317
• พระยาจ่าบ้าน
อพยพคนไปลำปาง
พ.ศ. 2319
• เจ้ากาวิละและไพร่พล
ตั้งเมืองที่ป่าซาง
พ.ศ. 2325
• ยาตราเข้าเวียงเชียงใหม่
พ.ศ. 2339
2442
พื้นที่
พ.ศ. 243644,466 ตารางกิโลเมตร (17,168 ตารางไมล์)
สกุลเงินรูปี[1]
ก่อนหน้า
ถัดไป
2317:
หัวเมืองเชียงใหม่
2347:
นครรัฐเชียงแสน
เมืองเชียงใหม่ภายใต้มณฑลลาวเฉียง
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ

รัตนติงสาอภินวปุรีสรีคุรุรัฎฐพระนครเชียงใหม่ (ไทยถิ่นเหนือ: ᩁᩢᨲ᩠ᨲᨶᨲᩥᩴᩈᩣᩋᨽᩥᨶᩅᨷᩩᩁᩦᩈᩕᩦᨣᩩᩁᩩᩁᩢᨭᩛᨻᩕᨶᨣᩬᩁᨩ᩠ᨿᨦᩉ᩠ᨾᩲ᩵) หรือ นครเชียงใหม่ เป็นประเทศราชในหัวเมืองเหนือของสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2317 ภายหลังจากการขจัดอิทธิพลของพม่าออกจากดินแดนล้านนา อาณาเขตของนครเชียงใหม่ประกอบด้วยพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน รวมถึงดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำสาละวินในตอนใต้ของรัฐฉาน

ประวัติศาสตร์

ล้านนา เดิมเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 มีอาณาเขตกว้างขวาง ในยุคทองของอาณาจักรล้านนานั้น มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไปจนถึงรัฐไทใหญ่, สิบสองปันนา, ล้านช้าง, พม่า และ สุโขทัย การขยายอำนาจของอาณาจักรล้านนาทำให้เกิดความขัดแย้งกับอาณาจักรอยุธยา จนเกิดสงครามกันหลายครั้ง ถึงแม้ยามล้านนาอ่อนแอ ก็ไม่เคยตกเป็นประเทศราชของอยุธยาอย่างแท้จริง

อาณาจักรล้านนารุ่งเรืองอยู่สองร้อยกว่าปีก็ตกเป็นประเทศราชของพม่าซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานกว่าสองร้อยกว่าปีเช่นกัน จนกระทั่งผู้นำของเมืองเชียงใหม่และลำปางได้เข้าขอความช่วยเหลือทางทหารต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนสามารถขับไล่พม่าจากล้านนาไปได้ ล้านนาก็เป็นขัณฑสีมาของธนบุรีมานับแต่นั้น

ต้นไม้ทอง ผู้ครองนครเชียงใหม่ถวายแก่กรุงเทพฯ จัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ล้านนาในฐานะประเทศราชของสยาม

ภายหลังการกอบกู้เอกราชของล้านนาโดยการนำของพระเจ้ากาวิละ แต่เดิมพระองค์เป็นพระยานครลำปาง สืบเชื้อสายมาแต่พระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) องค์ปฐมวงศ์ราชวงศ์ทิพย์จักร และเจ้าอนุชารวม 7 องค์ ภายใต้การสนับสนุนทัพหลวงในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว ล้านนาจึงได้เข้ามาอยู่ในฐานะประเทศราชของกรุงธนบุรีตั้งแต่นั้น

หลังจากสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ด้วยความสัมพันธ์ในฐานะพระญาติระหว่างราชวงศ์จักรีและราชวงศ์ทิพย์จักร เนื่องด้วยเจ้าศรีอโนชา พระขนิษฐาในพระเจ้ากาวิละ ได้เป็นพระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กอปรกับพระเจ้ากาวิละและเจ้านายฝ่ายเหนือได้ถวายความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีมาแต่ก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงสู้ขับไล่ข้าศึกพม่าให้พ้นแผ่นดินล้านนา ขยายขอบขัณฑสีมาอาณาจักรออกไปอย่างกว้างใหญ่ ได้กวาดต้อนผู้คนและสิ่งของจากหัวเมืองน้อยใหญ่ที่หนีภัยสงครามในช่วงที่พม่ายึดครอง และทรงสร้างบ้านแปงเมืองอาณาจักรล้านนาใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามพระยากาวิละขึ้นเป็น พระบรมราชาธิบดี เป็นพระเจ้าประเทศราชปกครองเมืองเชียงใหม่และ 57 หัวเมืองล้านนา

พระเจ้ากาวิละได้ทรงส่งพระญาติเจ้านายบุตรหลานไปปกครองหัวเมืองล้านนา อันประกอบด้วย นครเชียงใหม่, นครลำปาง และนครลำพูน รวมถึง เมืองพะเยา และเมืองเชียงราย โดยมีนครเชียงใหม่เป็นราชธานี มีอิสระในการปกครองราชอาณาจักร โดยนครประเทศราช มีหน้าที่สำคัญดังนี้

  1. ทุก 3 ปี เจ้าหลวงเชียงใหม่, ลำพูน และ ลำปาง ต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองและเครื่องบรรณาการ ถวายไปยังราชสำนักสยามที่กรุงเทพฯ ของที่ถวายก็ตามแต่อัธยาศัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของที่ราชสำนักสยามต้องใช้ในโอกาสพิธีการสำคัญ เช่น ราชพิธีพระศพ อาทิ ขี้ผึ้ง, ผ้าขาว, งาช้าง, เครื่องเขิน และไม้ซุง เป็นต้น[2]
  2. สร้างรายได้แก่เมืองแม่ ด้วยการส่งส่วยและของถวายเป็นสินค้าที่สำคัญของท้องถิ่นที่ตลาดภายในและนอกต้องการ เช่น ไม้สักและของป่า
  3. ส่งกำลังหรือเสบียงตลอดจนการสนับสนุนอื่น ๆ ในยามสงคราม เช่นในยามศึก ทำหน้าที่ดูแลรักษาชายแดน และส่งข่าวความเคลื่อนไหวจากพม่า

เมืองเชียงใหม่เปนเมืองขึ้นกรุงเทพก็จริง แต่เปนประเทศราช กฎหมายแผ่นดินแลธรรมเนียมบ้านเมืองเขาก็ใช้ตามนิใสเขา ไม่ได้เอากฎหมายที่กรุงเทพไปใช้ เมืองเหล่านี้กฎหมายเขาแรงนัก ทำผิดก็ฆ่าเสียง่ายๆ... แล้วก็เปนบ้านป่าเมืองดง ธรรมเนียมเมืองนั้นก็เปนทำเนียมป่าทำเอาตามชอบใจ[3]

เหตุการณ์ในรัชสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์

มณฑลลาวเฉียง
  หัวเมืองนครเชียงใหม่
  หัวเมืองนครลำพูน
  หัวเมืองนครลำปาง
  หัวเมืองนครแพร่
  หัวเมืองนครน่าน

ก่อนรัชสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2411 มีศาสนาจารย์แมคกิลวารีและครอบครัวมิชชันนารีได้อพยพขึ้นมาศัยอยู่ที่นครเชียงใหม่ ตั้งจุดประกาศศาสนาโดยเริ่มจัดการศึกษาแบบตะวันตก โดยมีนางโซเฟีย รอยซ์ แมคกิลวารีได้เริ่มให้มีการศึกษาสำหรับสตรีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2418

ต่อมาในปี พ.ศ. 2422 นางสาวแมรี แคมป์เบลล์ และเอ็ดนา โคลได้มาจัดระเบียบโรงเรียนสตรี บริเวณเชิงสะพานนวรัฐ จนกลายมาเป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัยในปัจจุบัน ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กชายนั้น ได้มีการจัดตั้ง "โรงเรียนเด็กชายวังสิงห์คำ" ขึ้นที่บริเวณที่เรียกว่า วังสิงห์คำ เมื่อ พ.ศ. 2431 โดยมีศาสนาจารย์ เดวิด จี.คอลลินส์เป็นผู้ก่อตั้ง ต่อมาเป็นโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนดังกล่าวระยะแรกนั้นใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยถิ่นเหนือในการเรียนการสอน มีการพิมพ์ตำราด้วยอักษรธรรมล้านนา ในขณะที่ตัวหนังสือแป้นนั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2379 แล้ว

ในช่วงเดียวกันนี้ บริษัททำป่าไม้ซึ่งทยอยเข้ามาที่เมืองเชียงใหม่ เช่น บริษัทบริติชบอร์เนียว (British Borneo, เข้ามาในราว พ.ศ. 2407), บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา (Bombay Burma, เข้ามาในราว พ.ศ. 2432) และบริษัทสยามฟอเรสต์ (Siam Forest) เป็นต้น ได้นำเอาลูกจ้างชาวพม่า, กะเหรี่ยง และชาวพื้นเมืองอื่น ๆ เข้ามาทำงาน ดังนั้นจึงมีชาวอังกฤษและผู้ติดตามเข้ามาในล้านนามากขึ้น ทำให้เกิดการฟ้องศาลที่กรุงเทพฯ หลายคดี จากหลักฐานพบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2401–2416 มีคดีความจำนวน 42 เรื่อง ตัดสินยกฟ้อง 31 คดี ส่วนอีก 11 คดีนั้นพบว่าเจ้านายทำผิดจริง จึงตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายรวม 466,015 รูปี หรือ 372,812 บาทสยาม (เทียบเท่าราคาเรือรบอย่างดีสองลำ) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้นคือ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้ทรงขอชำระเพียงครึ่งเดียวก่อน ส่วนที่เหลือจะทรงชำระภายใน 6 เดือน แต่กงสุลอังกฤษไม่ยินยอม เรียกร้องให้พระเจ้านครเชียงใหม่ชำระทั้งหมด หรือมิฉะนั้นต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย ซึ่งราชสำนักกรุงเทพฯ ก็ไม่ยินยอมด้วยเช่นกัน ดังนั้นพระเจ้าอินทวิชยานนท์จึงทรงจ่ายค่าเสียหาย 150,000 รูปี (120,000 บาทสยาม) และราชสำนักกรุงเทพฯ ให้ทรงยืมอีก 310,000 รูปี (248,000 บาทสยาม) โดยต้องชำระคืนภายใน 7 ปี พร้อมทั้งดอกเบี้ยในรูปไม้สัก 300 ท่อนต่อปี

ถูกผนวกเข้ากับสยาม

ในปี พ.ศ. 2369 พม่าได้เสียดินแดนหัวเมืองมอญให้แก่อังกฤษ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับล้านนา จึงมีชาวอังกฤษข้ามเข้ามาค้าขายและสัมปทานป่าไม้ในล้านนาจำนวนหนึ่ง เมื่ออังกฤษได้เข้าครอบครองดินแดนพม่าทางตอนล่าง อิทธิพลของอังกฤษก็ได้ขยายเข้าใกล้ชิดกับล้านนามากขึ้น มีชาวพม่าซึ่งอยู่ในบังคับของอังกฤษเข้ามาทำป่าไม้ในล้านนาจำนวนมาก ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการจัดสรรที่ดิน อังกฤษจึงเรียกร้องให้รัฐบาลกลางเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ในปี พ.ศ. 2416 ราชสำนักกรุงเทพฯ จึงได้ส่ง "พระนรินทรราชเสนี (พุ่ม ศรีไชยยันต์)" ไปเป็นข้าหลวงดูแลสามหัวเมืองใหญ่ประจำที่นครเชียงใหม่ เพื่อควบคุมดูแลปัญหาในนครเชียงใหม่, นครลำปาง และนครลำพูน แต่ก็ยังมิสามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะนั้นหัวเมืองขึ้นของพม่าเป็นจำนวนมากต่างประกาศเป็นอิสระ และได้ยกกำลังเข้าโจมตีหัวเมืองชายแดนล้านนา ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้เกินกำลังที่เชียงใหม่ และเมืองบริวารจะจัดการได้ ในขณะนั้นสถานการณ์ภายในเมืองเชียงใหม่ก็มีปัญหา เนื่องจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ทรงชราภาพขาดความเข้มแข็งในการปกครอง เจ้านายชั้นสูงเริ่มแก่งแย่งชิงอำนาจกัน

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7

ในขณะเดียวกันอังกฤษก็ได้ขยายอิทธิพลเข้าสู่ล้านนา มีข่าวลือในกรุงเทพว่าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรจะทรงรับเจ้าดารารัศมี เจ้าราชธิดาองค์เล็กในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม เมื่อข่าวลือทราบถึงพระกรรณใน พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งเทียบได้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในภาคพายัพ) โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ และอัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชรไปพระราชทานเป็นของขวัญแด่เจ้าดารารัศมี พระราชชายาโดยมีรับสั่งว่า การพระราชทานของขวัญดังกล่าวเพื่อเป็นการหมั้นหมาย หลังจากนั้น 3 ปี เจ้าดารารัศมีจึงได้โดยเสด็จพระราชบิดาลงมาถวายตัวในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 (ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248) ซึ่งต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "พระราชชายา" ทั้งนี้ ยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ถวายแด่พระเจ้าอินทวิชยานนท์[4] อันเป็นการแสดงนัยยะว่าทรงนับเนื่องเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในพระบรมราชวงศ์จักรี ด้วยพระกุศโลบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสายสัมพันธ์ความรักระหว่าง 2 พระองค์ที่เกิดขึ้นภายหลัง ถือเป็นส่วนสำคัญให้เกิดความจงรักภักดีในหมู่เจ้านายฝ่ายเหนือและประชาชนล้านนาต่อราชสำนักกรุงเทพฯ ในขณะที่ทรงดำเนินพระราชกุศโลบายปฏิรูปการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนืออย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2442 ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยมีมณฑลพายัพ หรือ มณฑลลาวเฉียง และมณฑลมหาราษฎร์เป็นมณฑลในอาณาจักรล้านนา โดยราชสำนักกรุงเทพฯ ส่งข้าหลวงขึ้นมาช่วยให้คำแนะนำเจ้านายฝ่ายเหนือในการบริหารราชการ ได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งเสนากรมขึ้นมาใหม่ 6 ตำแหน่ง โดยให้คงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครอยู่แต่ลดอำนาจลง และในที่สุดในปี พ.ศ. 2442 ล้านนาได้รับการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เป็นการยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราช และผนวกดินแดนล้านนาที่อยู่ใต้การปกครองของเชียงใหม่มาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม โดยมีเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายคือเจ้าแก้วนวรัฐ พระเชษฐาในเจ้าดารารัศมี พระราชชายา

การส่งข้าหลวงและข้าราชการกรุงเทพเข้ามาควบคุมเชียงใหม่ในระยะเริ่มต้นมีความลำบากด้านการสื่อสาร เพราะภาษาและวัฒนธรรมไม่ใคร่จะถูกกัน ชาวเชียงใหม่มักถูกผู้ที่มาจากกรุงเทพเรียกอย่างดูถูกว่า "ลาว" และมีการนำพฤติกรรมไปล้อเลียน เช่น "ลาวกินข้าวเหนียวยืนเยี่ยวอย่างควาย"[5] การกระทำเช่นนี้ทำให้คนเชียงใหม่คลั่งแค้น จึงมีการประดิษฐ์คำด่าสวนกลับว่า "ไทยกิ๋นข้าวจ้าว ง่าวเหมือนหมา" นอกจากนี้ คนเชียงใหม่ยังพูดถึงคนกรุงเทพและภาคกลางด้วยความหมั่นไส้ว่า "ไอ่ไทยตูดดำ"[5]

ความสัมพันธ์กับสยาม

ด้วยความช่วยเหลือจากสยามจนทำให้สามารถขับไล่พม่าออกไปได้ ทำให้เมืองต่าง ๆ ในล้านนายอมรับอำนาจของสยามและมีความสัมพันธ์กันในฐานะเมืองแม่กับเมืองประเทศราชมาตลอด อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์จะแตกต่างกันไปตามแต่สมัย ในสมัยธนบุรี พระเจ้าตากสินทรงปฏิบัติต่อหัวเมืองล้านนาอย่างเข้มงวด จะเห็นได้ว่า พระเจ้าตากสินทรงตัดสินให้ลงโทษพระยากาวิละข้อหาทำร้ายข้าหลวงด้วยการเฆี่ยน 100 ที และตัดขอบใบหูทั้งสองข้างและจำคุก แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ปรากฏการลงโทษเจ้านายฝ่ายเหนืออย่างรุนแรง มีเพียงการกักตัวไว้ที่กรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างเจ้านายเท่านั้น

เจ้ากาวิละได้รับสถาปนาเป็น พระบรมราชาธิบดี เทียบชั้นสมเด็จพระอุปราช(วังหน้า)แห่งสยาม

ความสัมพันธ์ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ราบรื่นเป็นพิเศษ เนื่องจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างราชวงศ์จักรีและราชวงศ์ทิพย์จักร จากการที่เจ้ารจจา ขนิษฐาของพระเจ้ากาวิละ ได้เป็นพระอัครชายาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และเนื่องจากช่วงเวลานั้นยังมีการรุกรานจากพม่า ทำให้สยามต้องการล้านนาที่มีผู้นำเข้มแข็งเพื่อช่วยต่อต้านพม่า ทำให้สยามใช้นโยบายประนีประนอมและเอาใจ เพื่อให้ล้านนาสวามิภักดิ์และทำหน้าที่ดูแลรักษาชายแดน ตลอดจนการสร้างความผูกพันใกล้ชิด เช่น ราชสำนักสยามส่งหมอหลวงมาดูแลรักษาในยามเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ประชวร หรือส่งสิ่งของเครื่องใช้มาช่วยงานพระศพ

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและประเทศราชล้านนาในสายตาชนชั้นปกครองสยามนั้นแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งถือว่าล้านนาเป็น "เมืองสวามิภักดิ์" ไม่ใช่ "เมืองขึ้นกรุง"

...ฉันว่าสวามิภักดิ์จริงแต่คนตระกูลนี้ (ราชวงศ์ทิพย์จักร) แต่เมืองมิได้สวามิภักดิ์ เราตีได้แล้วตั้งให้อยู่ต่างหาก ใครพูดดังนี้เห็นจะไม่ถูก ท่านว่านั้นแลเขาพูดกันอย่างนั้น มันจึงเปรี้ยวนัก...

— พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งต่อ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์[6]

ในฐานะพระเจ้าอธิราช กษัตริย์สยามมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งเจ้านายต่าง ๆ และเจ้านายตำแหน่งสำคัญ ๆ ของเมืองต่าง ๆ ส่งผลให้สยามสร้างอิทธิพลเหนือเจ้านายและขุนนางล้านนา เพราะทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งเจ้าหลวงและเจ้านายสำคัญ เจ้าตัวจะต้องลงไปเฝ้าที่กรุงเทพฯ ด้วยตนเอง เป็นการแสดงความภักดี แม้การแต่งตั้งจะเป็นไปตามที่ทางหัวเมืองประเทศราชเสนอมา แต่การแต่งตั้งโดยกษัตริย์สยามก็เป็นการรับรองสิทธิธรรมในการปกครองของเจ้านายอีกชั้นหนึ่ง และเพื่อยืนยันฐานะของเจ้านายที่ได้รับแต่งตั้ง กษัตริย์สยามจะพระราชทานเครื่องยศ ที่เป็นสัญลักษณ์ปกครอง เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชทาน พระสัปตปฎลเศวตฉัตร กางเหนือพระแท่นของพระเจ้ากาวิละในหอคำหลวง[7] ซึ่งแสดงถึงฐานันดรศักดิ์เทียบชั้นพระอุปราชแห่งสยาม

ทั้งล้านนาและสยามต่างชิงไหวชิงพริบในการสร้างสมดุลของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เมื่อมีโอกาส กษัตริย์สยามมักจะแสดงให้พระเจ้าประเทศราชล้านนาเห็นแสนยานุภาพการรบของตน เพื่อให้เกิดความยำเกรง ไม่คิดกบฏหรือเอาใจออกหาก ส่วนเจ้านายล้านนาก็แสดงถึงกำลังอำนาจของตนให้สยามเห็น ด้วยการทำสงครามกับบ้านเล็กเมืองน้อยรอบ ๆ ด้วยตนเอง อาทิ รัฐไทใหญ่, เชียงตุง และ สิบสองปันนา เมื่อชนะสงครามก็มักนำเจ้าเมืองและไพร่พลลงมาถวายกษัตริย์สยามที่กรุงเทพเพื่อเป็นการสร้างความดีความชอบและเลื่อนยศ สินสงครามที่ถวายแด่กษัตริย์สยาม มักจะพระราชทานคืนแก่บ้านเมืองที่ทำสงคราม และเพื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์สยามนั้น เจ้าหลวงล้านนามักจะแสดงอำนาจและความเข็มแข็งด้านกำลังคนให้สยามประจักษ์ เช่น กระบวนพยุหยาตราชลมารคของพระเจ้ากาวิละที่ลงไปเฝ้ารัชกาลที่ 1 มีเรือติดตามรวมกันถึง 138 ลำ[8]

ชนชั้นทางสังคม

โครงสร้างทางสังคมของประเทศราชฝ่ายเหนือประกอบด้วย 4 ชนชั้น[9] คือ:

  1. เจ้าขุนท้าวพระญา คือชนชั้นเจ้านายและขุนนาง เจ้านายล้านนานี้มีลักษณะพิเศษต่างจากเชื้อพระวงศ์ไทยคือ ราชวงศ์ล้านนาจะสืบเชื้อสายต่อ ๆ กันไปไม่มีสิ้นสุด ไม่มีการลดฐานันดรเพื่อจำกัดจำนวนเจ้า นอกจากเจ้านายแล้ว ยังมีชนชั้นขุนนางซึ่งมียศลดหลั่นกันไปตั้งแต่ พระญา เจ้าแสน เจ้าหมื่น เจ้าพัน นายร้อย นายห้าสิบ นายซาว นายสิบ นายจ๊าง นายม้า นายบ้าน ขุนนางได้รับอภิสิทธิ์ไม่ต้องเสียภาษี มีที่ดินเป็นของตัวเอง และไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานเหมือนไพร่ แต่ถ้าขุนนางทำผิดจะต้องรับโทษหนักกว่าไพร่[10]
  2. พระสงฆ์ พระสงฆ์ถือเป็นผู้นำทางจิตใจ เมื่อถึงยามคับขันพระสงฆ์ก็เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ เช่น ในช่วง พ.ศ. 2272–2275 พระอธิการวัดชมภูเมืองนครลำปางเป็นผู้นำกอบกู้บ้านเมืองจากพม่า[11] ประชาชนฝ่ายเหนือมีความยกย่องศรัทธาสถาบันสงฆ์มาก พระสงฆ์หลายองค์เป็นผู้นำการบูรณะสาธารณสถานต่าง ๆ
  3. ไพร่เมือง คือกลุ่มคนที่มีจำนวนมากสุดในสังคม รวมกันแล้วมีจำนวน 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด[12] ประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติ
  4. ข้า คือชนชั้นทาส ทาสในภาคเหนือมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร นายทาสค่อนข้างอะลุ่มอล่วยไม่กดขี่ บ้านเมืองเองก็มีกฎหมายคุ้มครองทาส หากนายทาสไม่เอาใจใส่ดูแลทาส เช่น ทาสป่วยแต่ไม่ยอมรักษา หรือนายคิดร้ายต่อทาส เป็นชู้กับเมียทาส ฯลฯ นายทาสต้องปล่อยทาสเป็นอิสระพร้อมทั้งเสียค่าสินไหมแก่ทาส[10] หากทาสไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถฟ้องร้องกับทางราชการได้ การที่ทาสมีความเป็นอยู่ดีเช่นนี้ ทำให้เกิดภาวะไพร่เมืองขายตัวเป็นทาสจำนวนมาก จนทางการต้องออกกฎหมายห้ามขุนนางรับไพร่บางประเภทเป็นทาส ทาสแบ่งเป็นสามประเภท[13] คือ:
    1. ข้าเชลย คือทาสที่ถูกกวาดต้อนมาจากการทำสงคราม
    2. ข้าสินไถ่ คือคนที่ขายตัวเองหรือถูกพ่อแม่ขายเป็นทาส[14]
    3. ข้าวัด คือทาสที่ถูกยกให้แก่วัดเพื่อรับใช้ภิกษุสงฆ์

การปกครอง

แม้ล้านนาจะเป็นประเทศราชของสยาม แต่สยามก็ไม่เคยเข้ามาปกครองล้านนาโดยตรง เมืองต่าง ๆ ของล้านนายังคงปกครองตนเองในลักษณะนครรัฐ รวมทั้งระยะทางที่ห่างไกลและยากลำบากจากกรุงเทพฯ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสยามไม่ได้ใกล้ชิดนัก อีกทั้งในภาคเหนือ ยังมีเทือกเขาทอดยาวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ยอดเขาแต่ละแห่งสูงไม่ต่ำกว่า 1,000 เมตร ทำให้การเดินทางระหว่างเมืองต่าง ๆ ในล้านนาไม่สะดวกนัก ซึ่งมีส่วนทำให้การปกครองของราชวงศ์ทิพย์จักรเป็นแบบกระจายอำนาจ ไม่ได้เป็นรัฐเดี่ยวเสมือนอาณาจักรล้านนาแต่ก่อน เมืองต่าง ๆ ปกครองโดยเจ้านายฝ่ายเหนือที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันทางเครือญาติ อาทิ เมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่, ลำพูน และ ลำปาง มีอำนาจในการปกครองตนเอง โดยยอมรับเจ้าหลวงเชียงใหม่เป็นประมุขแห่งราชวงศ์ และการติดต่อกับสยาม เจ้าเมืองต่าง ๆ จะติดต่อโดยผ่านเชียงใหม่

นอกจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ยากแก่การเข้าถึงแล้ว ปราการที่ป้องกันอำนาจจากสยามอีกประการคือ อำนาจการปกครองตนเองที่เข้มแข็งของเมืองล้านนา การปกครองหัวเมืองประเทศราชภาคเหนือ ก่อนที่จะมีการปฏิรูปสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ อยู่ภายใต้อำนาจของราชตระกูลเจ้าเจ็ดตน เริ่มจากเจ้ากาวิละ และอนุชาทั้งหก เจ้าเมืองทั้งหลาย ต่างมีอำนาจในการปกครองเมืองของตนเองเป็นอิสระแก่กัน โดยมีเมืองเล็กเมืองน้อยเป็นบริวาร เจ้านครประเทศราชออกกฎหมายภายในนครของตนเอง โดยมีลำดับขั้นในการบริหารในนครประเทศราชต่าง ๆ มีสามขั้น ได้แก่

  1. เจ้าห้าขัน หรือ เจ้าขันห้าใบ
  2. เค้าสนาม (สภาขุนนาง)
  3. นายบ้าน (หัวหน้าหมู่บ้าน)

เจ้าห้าขัน

การปกครองเจ้าห้าขัน หรือ เจ้าขันห้าใบ เป็นระบบการปกครองแบบคณาธิปไตยที่สืบทอดมาจากราชตระกูลเจ้าเจ็ดตนที่ฟื้นฟูบ้านเมืองและขับไล่พม่าออกไป เจ้าห้าขันเป็นกลุ่มผู้ปกครองสูงสุด ประกอบด้วยเจ้าหลวงของนครประเทศราชนั้น ๆ เป็นประมุข และเจ้าอื่น ๆ อีก 4 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าหอหน้า (หรือ เจ้าอุปราช), เจ้าราชวงศ์, เจ้าราชบุตร และ เจ้าหอเมืองแก้ว (หรือ เจ้าบุรีรัตน์) โดยเจ้าห้าขันเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจและอิทธิพลสูง ทั้งการเมือง, เศรษฐกิจและสังคม การสืบตำแหน่งเจ้าห้าขันนั้นจะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในวงศ์ตระกูลของเจ้านาย จะต้องเป็นเชื้อสายเจ้านายสำคัญ มีอิทธิพล มั่งคั่ง มีข้าทาสบริวารจำนวนมาก เป็นที่เคารพนับถือของราษฎร และมีราชสำนักสยามเป็นผู้รับรองการแต่งตั้ง

นอกจากอำนาจทางการเมืองและการทหารแล้ว เจ้าห้าขันใช้จารีตประเพณีเป็นสัญลักษณ์ที่ยืนยันอำนาจในการเป็นเจ้าอธิราชในบ้านเมืองของตน เมื่อเจ้าหลวงถึงแก่พิราลัย บรรดาเจ้านายและเสนาอำมาตย์จะเป็นผู้น้อมถวายเมืองแก่เจ้านายผู้จำรับตำแหน่งต่อไป แล้วเจ้านายพระองค์นั้นจะเสด็จยังกรุงเทพฯ เพื่อรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งจากกษัตริย์สยาม จากนั้น เจ้าหลวงองค์ใหม่จะเข้าพิธีมุรธาพิเศกสรงพระเจ้านครเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่ราชวงศ์มังราย

เจ้าหลวง

เจ้าหลวงมีอำนาจเฉกเช่นพระมหากษัตริย์ เจ้าหลวงที่ทรงอำนาจมากจะเรียกว่า เจ้ามหาชีวิต อาทิ เจ้าหลวงบุญมาแห่งลำพูน และพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์แห่งเชียงใหม่ แม้ว่าล้านนาจะเป็นประเทศราชของสยาม แต่เจ้าหลวงของแต่ละเมืองต่างมีอำนาจเด็ดขาด ดังข้าราชการอังกฤษที่เดินทางมาติดต่อกับเจ้านายล้านนาพบว่า เจ้าหลวงนั้นเป็น "...ผู้นำอิสระที่มีอำนาจเหนือคนในบังคับของตนและเหนือทรัพย์สินรายได้ เป็นผู้สร้างและบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมวัดวาอารามและมีพระสงฆ์เป็นผู้รับใช้ ไม่มีกองทัพบกหรือกองทัพเรือ แต่ถ้ามีก็จะอยู่ภายใต้อำนาจพระองค์..."[15]

แม้ว่าในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ นครต่าง ๆ ของล้านนาไม่รวมกันเป็นปึกแผ่นภายใต้ผู้ปกครองคนเดียวเหมือนสมัยราชวงศ์มังราย แต่เจ้าหลวงเชียงใหม่ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำของล้านนา เป็นผู้ดูแลปกครองเจ้านายที่ครองเมืองต่าง ๆ ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกัน พระเจ้าเชียงใหม่มีอิทธิพลเหนือนครอื่น ๆ เช่น ลำปางและลำพูน ทรงทำหน้าที่ปรองดองสมานสามัคคีในหมู่เจ้านาย นอกจากนี้ เจ้าหลวงเชียงใหม่ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานกับราชสำนักสยาม มีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าห้าขันและตำแหน่งเจ้าเมืองอื่น ๆ ต่อกษัตริย์สยาม ซึ่งมักจะแต่งตั้งตามที่เสนอ เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองตากและเจ้าเมืองเถินตามที่พระเจ้ากาวิละ กราบทูลเสนอมา[16] นอกจากนี้ เจ้าหลวงเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเจ้านาย สืบทอดประเพณีล้านนา โดยเป็นองค์ประธานในงานพิธีสำคัญ ๆ เช่น สงกรานต์ และการเลี้ยงผีอารักษ์เมืองประจำปี

เจ้าหอหน้า

ถัดจากเจ้าหลวงแล้ว อำนาจที่เป็นรองมาคือเจ้าหอหน้า หรือเจ้าอุปราช โดยเป็นเจ้านายที่ทรงอิทธิพลมากกว่าเจ้านายองค์อื่น ๆ บางครั้งเจ้าหอหน้าบางองค์มีอิทธิพลเหนือเจ้าหลวงด้วย ในยามที่เจ้าหลวงไม่ได้ประทับในนครหลวง, ประชวร หรือถึงแก่พิราลัย ระหว่างรอการแต่งตั้งเจ้าหลวงองค์ใหม่ เจ้าหอหน้าจะทำหน้าที่แทน ชาวต่างประเทศที่มาติดต่อกับล้านนาต้องเข้าพบเจ้าหอหน้าก่อนที่จะพบกับเจ้าหลวง เจ้าหอหน้าบางองค์สามารถเพิกถอนโองการของเจ้าหลวงได้[17]

เค้าสนามหลวง

โครงสร้างทางการเมืองที่รองจากเจ้าห้าขัน คือ เค้าสนามหลวง หรือสภาขุนนาง เป็นหน่วยบริหารราชการ ในสมัยของเจ้าหลวงบุญมาแห่งลำพูน ชาวอังกฤษได้เดินทางเข้าไปถึงลำพูนเพื่อเจรจาค้าวัวควายกับเจ้านาย ก็ต้องผ่านเค้าสนามหลวงลำพูนก่อน โดยพบว่าเค้าสนามของลำพูนนั้นเป็นเพียงเรือนไม้โทรม ๆ ที่ทำจากไม้ไผ่ ไม่มีเครื่องเรือนใด ๆ ด้านหลังเป็นที่คุมนักโทษ[18] ในทางทฤษฎีประกอบด้วยสมาชิก 32 คน (นครแพร่มี 12 คน) มักเป็นเจ้านายชั้นรองและขุนนางที่แต่งตั้งโดยเจ้าห้าขัน มีหน้าที่ตัดสินคดีความ จัดเก็บภาษี และต้อนรับแขกเมือง

สี่พญาพื้น

บ้างเรียก "พ่อเมืองทั้งสี่" หรือ "สี่สิงห์เมือง" เป็นขุนนางสี่คนที่มีอำนาจที่สุดในเค้าสนาม มาจากการแต่งตั้งโดยตรงของเจ้าหลวง ประกอบด้วย[19]

  • ปฐมอรรคมหาเสนาธิบดี มียศเป็น พญาหลวงจ่าแสนบดีศรีรัษฎามาตย์[20]
  • อรรคมหาเสนาบดีที่สอง มียศเป็น พญาสามล้านศิริราชโยธาไชยอามาตย์
  • อรรคมหาเสนาบดีที่สาม มียศเป็น พญาจ่าบ้านรัษฎาโยนัคราช
  • อรรคมหาเสนาบดีที่สี่ มียศเป็น พญาเด็กชายราชเสนา
ซาวแปดขุนเมือง

หมายถึงขุนนางอีก 28 คนที่เป็นสมาชิกเค้าสนาม[19] มียศลดหลั่นลงไปตั้งแต่ เจ้าพญา, พญาหลวง, พญา, อาชญา, แสนหลวง, แสน, ท้าว, หาญ, หมื่นหลวง และ หมื่น

หมู่บ้าน

โครงสร้างระดับล่าง คือ หมู่บ้าน ในเมืองต่าง ๆ ประกอบด้วยหมู่บ้านจำนวนหนึ่ง มากบ้างน้อยบ้างตามขนาดของเมือง การปกครองระดับหมู่บ้านมีความสำคัญมาก เพราะหมู่บ้านเป็นหน่วยการผลิตที่แท้จริงที่เลี้ยงดูเมืองและชนชั้นปกครอง ในแต่ละหมู่บ้าน มีผู้ปกครองเป็นนายบ้าน ซึ่งผู้ปกครองหมู่บ้านมีตำแหน่งเป็น จ่า, หมื่น, แสน และ พญา[21] อาจขึ้นตรงต่อเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่งหรือเค้าสนาม นายบ้านทำหน้าที่ปกครองดูแลหมู่บ้านและเป็นตัวกลางระหว่างเจ้านายกับชาวบ้านในการเรียกเกณฑ์กำลังคน เมื่อมีคำสั่ง (อาดยา) จากเจ้านาย ซึ่งเป็นการเกณฑ์ไปเพื่อทำงาน หรือทำสงคราม ตลอดจนรวบรวมผลผลิตเพื่อส่งส่วยให้กับเจ้านาย ดูแลความสงบในพื้นที่ ตลอดจนตัดสินคดีความเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านหรือระหว่างหมู่บ้าน ในพื้นที่ห่างไกลเช่นที่แม่สะเรียง นายบ้านก็จะทำหน้าที่เก็บเงินค่าตอไม้ส่งเจ้าหลวง[22]

ศาสนา

ในประเทศราชล้านนา มีศาสนาหลักที่ประชาชนทั่วไปนับถือคือ พุทธศาสนา นอกจากพุทธศาสนาแล้วประชาชนยังนับถือผี ซึ่งเป็นความเชื่อแต่โบราณของดินแดนแถบนี้ เป็นการแสดงความยำเกรงและเคารพต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

พุทธศาสนาในล้านนาถือว่ามีความเข้มแข็งมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเจ้านายล้านนาที่โปรดการสร้างสมบุญบารมีด้วยการทำนุบำรุงศาสนาอย่างมากมาย เป็นการสืบทอดภารกิจของกษัตริย์ราชวงศ์มังรายที่ได้ทรงทำหน้าที่องค์ศาสนูปถัมภก และทำให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางความเจริญของพุทธศาสนาในเขตรัฐไทตอนบน การทำนุบำรุงดังกล่าว ไม่เพียงแต่แสดงถึงศรัทธาในศาสนาของเจ้านายและไพร่พลในบ้านเมือง ยังแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งทางการเมืองและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของบ้านเมือง เมื่อสงครามน้อยลง พระเจ้ากาวิละทรงเริ่มการก่อสร้างศาสนวัตถุและศาสนสถาน เช่น สร้างช้างเผือกคู่หนึ่งไว้ที่ประตูหัวเวียง (ประตูช้างเผือกในปัจจุบัน), ก่อรูปกุมกันฑ์หนึ่งคู่และรูปฤๅษีหนึ่งตนไว้ที่วัดเจดีย์หลวง[23]

รัชสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เป็นสมัยที่หัวเมืองล้านนาเข้มแข็งและมั่งคั่ง เห็นได้จากการก่อสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุที่สำคัญต่าง ๆ เช่น โปรดให้หล่อระฆังทองใบใหญ่หนักเจ็ดแสนสองหมื่นตำลึงเพื่อตีบอกเวลาในคุ้มหลวง และอีกหนึ่งใบหนักเจ็ดแสนสองหมื่นเก้าพันตำลึงเพื่อบูชาพระธาตุหริภุญชัย นอกจากนี้ ในสมัยของพระองค์ยังมีการประหารชีวิตคริสเตียนชาวเชียงใหม่สองคน โดยทรงให้เหตุผลว่า เพราะทั้งสองคนหันไปนับถือคริสต์ และพระองค์จะประหารทุกคนที่ทำเช่นนั้น เพราะการละทิ้งศาสนาของบ้านเมืองถือเป็นการขบถต่อพระองค์[24]

หัวเมืองนครล้านนานั้น มีสังฆมณฑลเป็นของตนเองแยกจากพระนครกรุงเทพฯ มี พระสังฆราชา ซึ่งมาจากการตั้งโดยเจ้าหลวง ในพิธีถวายสมณศักดิ์นั้น พระสังฆราชาจะประกาศเชื่อฟังเจ้าหลวงในทางโลก และเจ้าหลวงจะประกาศเชื่อฟังสังฆราชในทางธรรม[9] สมณศักดิ์รองจากสังฆราชคือ สวามีสังฆราชา, มหาราชครู, ราชครู โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 18 นิกายได้แก่ นิกายเชียงใหม่, เชียงแสน, น่าน, ไธย (ไทย), มอญ, เลน, งัวราย (วัวลาย), นายเขิน, เขิน, ครง, แพร่, ลัวะ, แม่ปละ, ยอง, ม่าน (พม่า), ลวง, เงี้ยว (ไทใหญ่) และ หลวย

รายพระนามและรายนามผู้ปกครอง

ข้าหลวงใหญ่

ลำดับ พระนาม/นาม ตำแหน่ง ราชวงศ์ ช่วงเวลา
1 กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวเฉียง ราชวงศ์จักรี พ.ศ. 2427–2428
2 เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม ศรีไชยยันต์) ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวเฉียง - พ.ศ. 2428–2431
3 พระยาเพชรพิไชย (จิน จารุจินดา) ข้าหลวงใหญ่ห้าหัวเมือง - พ.ศ. 2431–2432
4 พระยามหาเทพกระษัตรสมุห (บุตร บุณยรัตพันธุ์) ข้าหลวงใหญ่ห้าหัวเมือง - พ.ศ. 2432–2435

สำหรับวาระต่อจากนี้ ดูเพิ่มที่ มณฑลพายัพ

อ้างอิง

  1. "ทำไม "รูปีอินเดีย" จึงนิยมใช้ในล้านนา และเป็นเงินสกุลสำคัญของเศรษฐกิจ". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 16 September 2020.
  2. Constance Wilson, Ibid, p.80.
  3. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ รล. – กต. เล่ม ๗ เอกสารเย็บเล่ม กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ กระทรวงการต่างประเทศ (จ.ศ.๑๒๓๐ – ๑๒๓๔). หน้า ๘๘–๙๑
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ถวายบังคมพระบรมรูปและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 10, ตอน 34, 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 1893, หน้า 367
  5. 5.0 5.1 พระบารมีปกเกล้า ยุพราชวิทยาลัย ๑๐๐ ปีนามพระราชทาน หน้า ๔๕๙; โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ; 2548
  6. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. เจ้าคุณกรมท่า. หน้า 81.
  7. Volker Grabowsky and Andrew Turton. Ibid. p. 292.
  8. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์. อ้างแล้ว. หน้า 125.
  9. 9.0 9.1 Nigel J. Brailey. "The Origin of the Siames Forward Movement..." p. 30
  10. 10.0 10.1 อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, การวิเคราะห์สังคมเชียงใหม่... หน้า 243-244
  11. ปราณี ศิริธร, เพชรล้านนา หน้า 2
  12. Holt Hallet. A Thousand Miles.. p.203
  13. สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา ฉบับสมบูรณ์
  14. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. พระราชบัญญัติลักษณะทาสทางมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. ๑๑๙
  15. U.K., Hilderbrand's Report. F.O. 625/10/157. 15 Febuary. 1875.
  16. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์. อ้างแล้ว หน้า 104.
  17. Carl Bock. Temple and Elephant: Travels in Siam in 1881-1882. p. 226.
  18. Volker Grabowsky and Andrew Turton. The Gold and Silver Road of Trade and Friendship. pp.286-287.
  19. 19.0 19.1 ภูเดช แสนสา. วารสารล้อล้านนา ฉบับที่ 7. สิงหาคม 2553
  20. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานสัญญาบัตร์ขุนนาง เล่ม 18 หน้า 712. 15 ธันวาคม ร.ศ. 120
  21. รัตนาพร เศรษฐกุล และคณะ. การสำรวจทางชาติพันธุ์ของชนเผ่าไทในลุ่มแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่. หน้า 50.
  22. U.K., Journal Kept by Captain Lowndes, Superintendent of Police. British Burmah. Whilst on Mission to the Zimme Court. F.O. 69/55. 27 March 1871.
  23. พระยาประชากิจกรจักร. อ้างแล้ว. หน้า 464-470.
  24. Daniel McGilvary. A Half Century Among the Siamese and Lao, pp.122-125.
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia

Kembali kehalaman sebelumnya