เทศมณฑล (ไต้หวัน)
เทศมณฑล[หมายเหตุ 1] หรือในรัฐธรรมนูญเรียกว่า hsien (เซี่ยน)[1] เป็นหน่วยการปกครองประเภทหนึ่งในสาธารณรัฐจีน (ประเทศไต้หวัน) ตามโครงสร้างการบริหารของไต้หวัน เทศมณฑลอยู่ในระดับเดียวกับนครภายใต้มณฑล เทศมณฑลเคยอยู่ภายใต้การปกครองของมณฑล แต่ในปี 1998 หน่วยงานการบริหารของมณฑลก็ได้รับการปรับปรุงให้คล่องตัวขึ้นและลดขนาดให้เป็นองค์กรที่ไม่มีอำนาจปกครองตนเอง จนปี 2018 หน่วยงานการบริหารของมณฑลทั้งหมดก็ได้ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการ[2][3] ทำให้ในปัจจุบัน เทศมณฑล และนครภายใต้มณฑล (ซึ่งเปลี่ยนชื่อเรียกให้สั้นลงเป็น "นคร") ถือเป็นเขตการปกครองระดับบนสุดที่กำกับโดยรัฐบาลกลางของไต้หวัน ประวัติเขตการปกครองที่เรียกว่า เซี่ยน (縣) ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 1661 โดยราชอาณาจักรตงหนิง ต่อมาจักรวรรดิชิงที่เข้ามาปกครองไต้หวัน ก็ได้รับเขตการปกครองประเภทนี้มาใช้ ด้วยจำนวนชาวจีนฮั่นที่เพิ่มขึ้นในไต้หวัน จำนวนเทศมณฑลก็เพิ่มขึ้นตามเวลาด้วยเช่นกัน เมื่อสิ้นสุดยุคจักรวรรดิชิง ขณะนั้นในไต้หวันมีเทศมณฑลจำนวน 11 แห่ง มิชชันนารีโปรเตสแตนต์ในจีนเริ่มใช้คำว่า hien เป็นอักษรโรมัน[4] ไต้หวันถูกญี่ปุ่นยึดครองตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิในปี 1895 ทำให้ในช่วงที่ไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ต้องเปลี่ยนระบบการแบ่งเขตการปกครองไปเป็นระบบของญี่ปุ่น เดือนกันยายน 1945 ไต้หวันแบ่งออกเป็น 8 จังหวัด (州 และ 廳) หลังจากที่ญี่ปุ่นคืนไต้หวันให้กับจีนเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1945 จังหวัดต่าง ๆ ได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็น 8 เทศมณฑล (縣) โดยใช้ชื่อเดิม และอยู่ภายใต้มณฑลไต้หวันของสาธารณรัฐจีน[5] การอ่านชื่อของเทศมณฑลต่าง ๆ ได้เปลี่ยนจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาจีนกลาง โดยยังคงตัวอักษรจีนของญี่ปุ่นไว้ อนึ่ง นครที่อยู่ภายใต้การปกครองของจังหวัดในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครอง ส่วนใหญ่ได้รับการเปลี่ยนแปลงเป็นนครภายใต้มณฑล ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเทศมณฑลใด ๆ
ปลายปี 1949 รัฐบาลสาธารณรัฐจีนแพ้สงครามกลางเมืองจีนและย้ายที่ตั้งรัฐบาลไปที่ไทเป ไต้หวัน ต่อมาปี 1950 เทศมณฑลในไต้หวันได้มีการจัดระเบียบใหม่ เทศมณฑลทางตะวันตกของไต้หวันที่มีประชากรหนาแน่นบางเทศมณฑลได้ถูกแบ่งออกเป็นสองถึงสามเทศมณฑล ส่งผลให้จำนวนเทศมณฑลเพิ่มขึ้นเป็น 16 แห่ง หลังจบสงคราม รัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้ควบคุมเกาะนอกชายฝั่งของจีนแผ่นดินใหญ่เพียงไม่กี่เกาะเท่านั้น ซึ่งดินแดนเหล่านี้ได้รับการจัดระเบียบใหม่เป็นสองเทศมณฑล ได้แก่ จินเหมิน และเหลียนเจียง ซึ่งขึ้นกับมณฑลฝูเจี้ยน จำนวนเทศมณฑลที่อยู่ภายใต้มณฑลไต้หวัน 16 แห่ง และมณฑลฝูเจี้ยน 2 แห่ง ยังคงมีจำนวนเท่าเดิมจนถึงต้นทศวรรษ 1990
หลังการปฏิรูปประชาธิปไตยในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับข้อเสนอการปฏิรูปฝ่ายบริหารมากขึ้น และทำให้เทศมณฑลที่มีประชากรหนาแน่นบางแห่งได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นนครปกครองโดยตรง (หรือเทศบาลพิเศษ) ในปี 2010 และ 2014 ซึ่งเทศมณฑลดังกล่าวมีดังนี้
ปัจจุบัน มีการจัดตั้งเทศมณฑลตาม รัฐบัญญัติการปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยไต้หวัน รัฐบัญญัตินี้ยังมีมาตราพิเศษที่ให้เทศมณฑลที่มีประชากรมากกว่าสองล้านคน มีสิทธิพิเศษบางประการในการปกครองท้องถิ่นที่ออกแบบมาสำหรับนครปกครองโดยตรง มักเรียกเทศมณฑลประเภทนี้ว่า กึ่งนครปกครองโดยตรง (準直轄市) โดยคำนี้ใช้กับซินเป่ย์และเถาหยวนก่อนที่จะยกฐานะเป็นนครปกครองโดยตรง เทศมณฑลในปัจจุบันปัจจุบันมี 13 เทศมณฑล ดังนี้[6]
จากมาตรา 9 ในบทบัญญัติเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐจีน ซึ่งวางระเบียบโดยรัฐบัญญัติการปกครองท้องถิ่น แต่ละเทศมณฑลจะมีคณะบริหารที่นำโดยผู้ว่าการเทศมณฑลที่มาจากเลือกตั้ง และสภาเทศมณฑลที่มาจากเลือกตั้งซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ[7] ดูเพิ่ม
อ้างอิง
หมายเหตุคำในภาษาพื้นเมือง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ เทศมณฑลของไต้หวัน Information related to เทศมณฑล (ไต้หวัน) |