ศุลกสถาน
ศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม หรือโรงภาษีเก่า ชาวแต้จิ๋วเรียกว่า ฟ้าซีกวน หรือแป๊ะลั่นซา ซึ่งมีความหมายเดียวกัน)[2] เป็นอดีตอาคารที่ทำการของศุลกสถาน (กรมศุลกากรในปัจจุบัน) ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยเจริญกรุง 36 (โรงภาษี) ของเขตบางรัก ติดกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2429 ถึง พ.ศ. 2431 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามคำกราบบังคมทูลของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) อธิบดีกรมศุลกากรคนแรก สถาปัตยกรรมศุลกสถานเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีมุขกลางสูง 4 ชั้น ศิลปะโรมันคลาสสิค เป็นสถาปัตยกรรมทรงนีโอคลาสสิก และสมมาตรตามวิถีของปัลลาดีโอ (Neo-Palladian) เป็นอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกันเป็นรูปตัวไอ โดยโยอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi/Gioachino Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลีสัญชาติออสเตรียน/ฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง สถาปนิกผู้นี้มีผลงานมากมายในขณะนั้น เช่น คองคอร์เดียคลับ, พระราชวังบางปะอิน, วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร, เรือนรับรองสถานทูตโปรตุเกส, วังบูรพาภิรมย์, วังใหม่ประทุมวัน, โรงทหารหน้า, ป้อมพระจุลจอมเกล้า, อาคารเก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ, ตึกวิคตอเรียและตึกเสาวภาคที่ศิริราชพยาบาล, ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้, คุกมหัตโทษ[3] ภายหลังสร้างเสร็จ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาคารที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น[4] ผังของศุลกสถาน ประกอบด้วยตึก 3 หลัง ตึกด้านเหนือวางแนวตั้งฉากกับแม่น้ำมีสองชั้นเป็นที่ทำการภาษีขาเข้าขาออก (มีตัวหนังสือ Import and Export Department ที่หน้าบันตัวตึก) ตึกกลางเป็นตึกใหญ่รูปสี่เหลี่ยมยาวแผ่ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีระเบียงทางเดินด้านหน้าซึ่งประกอบด้วยซุ้มหน้าต่างตลอดแนวอาคาร ชั้นล่างเป็นซุ้มสี่เหลี่ยมเรียบ ๆ ส่วนชั้น 2 และชั้น 3 เป็นซุ้มโค้ง ขอบระเบียงเป็นลูกกรงแก้วปูนปั้น มีเสาอิงเป็นระยะสลับกับแนวหน้าต่าง ชั้น 4 เป็นห้องโถงใหญ่ (ออกแบบเป็นที่เก็บเอกสาร) มียอดเป็นจั่ว รูปสามเหลี่ยมบรรจุนาฬิกาทรงกลมในจั่ว เหนือจั่วมีกระบังหน้าคล้ายมงกุฎปั้นเป็นตราแผ่นดิน[5] มีรูปปูนปั้นสิงห์สองข้าง อาคารมีทรงคล้ายคลึงกับตึกเก่าของโรงเรียนอัสสัมชัญ (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว) ซึ่งสร้างในช่วงเวลาและตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากสถาปนิกผู้ออกแบบเป็นคนเดียวกัน ตึกกลางมีสะพานไม้เชื่อมกับชั้นสองของทั้งตึกด้านเหนือและตึกด้านใต้ ส่วนตึกด้านใต้เป็นตึกยาวสองชั้นวางแนวตั้งฉากกับแม่น้ำ ใช้เป็นที่ทำการภาษีข้าวและไปรษณีย์ต่างประเทศ ประวัติศาสตร์อาคารศุลกสถาน สร้างขึ้นในปี 2431 โดยมีโยอาคิม กรัสซี เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ สร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมแบบปัลลาดีโอ เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการนำสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้ในการก่อสร้างอาคารราชการในประเทศสยามในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] อาคารตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตบางรัก ในซอยเจริญกรุง 36 ในปี 2492 กรมศุลกากรได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ท่าเรือคลองเตย ต่อมา อาคารแห่งนี้ได้ใช้เป็นที่ทำการของกองบังคับการตำรวจน้ำ และเป็นที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงบางรัก อาคารศุลกสถานมีสภาพทรุดโทรมลงมากตามกาลเวลา แม้จะมีการเสนอแผนการบูรณะหลายโครงการ แต่ก็ยังไม่มีโครงการใดได้รับการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2548 กลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์เนเชอรัล พาร์ค ได้รับสัมปทานจากกรมธนารักษ์ (ซึ่งดูแลอาคารในฐานะทรัพย์สินของรัฐ) เป็นเวลา 30 ปี เพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นโรงแรมอามัน รีสอร์ท อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการพัฒนาใด ๆ เกิดขึ้น เนื่องจากติดปัญหาในการย้ายผู้อยู่อาศัยรายเดิมออกไป ในที่สุด ผู้อยู่อาศัยได้ย้ายออกจากอาคารในช่วงต้นปี 2559 กรมธนารักษ์ได้ยืนยันในปี 2560 ว่า โครงการพัฒนาอาคารศุลกสถานจะดำเนินการต่อโดยบริษัท ยู ซิตี้ ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของบริษัท เนเชอรัลพาร์ค หลังจากการปรับโครงสร้างองค์กร ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 บริษัท ยู ซิตี้ ได้ร่วมมือกับบริษัท อามัน รีสอร์ท และ ซิลเวอร์ลิงค์ รีสอร์ท ลงนามในสัญญาพัฒนาโครงการ โดยได้รับสัมปทานในการเช่าอาคารเป็นระยะเวลา 30 ปี แรบบิท โฮลดิงส์ (ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากยู ซิตี้[6]) วางแผนทุ่มงบ 3,000 ล้านบาท (94 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นโรงแรมหรู โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2568 ก่อนเริ่มงานบูรณะมีการขุดค้นทางโบราณคดีและจัดทำรายการสิ่งที่พบร่วมกับกรมศิลปากร[7] ระเบียงภาพ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
13°43′31″N 100°30′50″E / 13.725232°N 100.513916°E วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ศุลกสถาน |