คำสาบานในสวนท้อ
คำสาบานในสวนท้อ (อังกฤษ: Oath of the Peach Garden ; จีน: 桃園三結義) ในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ประพันธ์โดยหลอ กว้านจง ได้กล่าวถึงคำสาบานในสวนท้อ ซึ่งเป็นการกล่าวร่วมสัตย์สาบานตนเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดระหว่างเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย ภายหลังจากได้อ่านประกาศจากทางวังหลวง เพื่อรับสมัครอาสาจากชาวเมืองเป็นจำนวนมาก ในการร่วมกับทหารหลวงออกปราบปรามกบฏโจรโพกผ้าเหลืองที่นำโดยเตียวก๊ก ภายหลังจากเกิดความอดยากและการถูกกดขี่ข่มเหงจากเหล่าขุนนาง ออกปล้นสะดมเข่นฆ่าราษฏร สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้แก่ราชสำนักและราชวงศ์ฮั่น จุดกำเนิดของคำสาบานคำสาบานในสวนท้อ มีจุดกำเนิดจากการที่เล่าปี่ กวนอูและเตียวหุยได้มีโอกาสพบกันที่ร้านสุราแห่งหนึ่งในเมืองตุ้นกวน โดยต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคืออาสาแผ่นดินเพื่อจับโจรโพกผ้าเหลือง เมื่อคราวโฮจิ๋นนำเนื้อความในการเปิดกบฏโจรโผกผ้าเหลืองขึ้นกราบทูลพระเจ้าเลนเต้ ให้มีตราไปทุกหัวเมืองเพื่อหาผู้อาสาปราบโจรโพกผ้าเหลือง ทหารหลวงได้นำประกาศมาปิดไว้ที่ประตูเมืองดังคำว่า "เพื่อหาผู้ใดมีฝืมือกล้าหาญ ให้ช่วยกันจับโจรโพกผ้าเหลือง ได้แล้วจะปูนบำเหน็จให้เป็นขุนนาง"[1] เล่าปี่เดินไปเห็นประกาศแต่คิดมิได้ตลอด ได้แต่ทอดใจใหญ่ จนผู้ที่ยืนอยู่ด้านหลังกล่าวแก่เล่าปี่ว่า "เป็นผู้ชายไม่ช่วยทำนุบำรุงแผ่นดิน แล้วสิมาทอดใจใหญ่"[1] เล่าปี่หันกลับมาดูจึงได้พบกับเตียวหุย เล่าปี่และเตียวหุยต่างเจรจาเห็นต้องกัน โดยเตียวหุยกล่าวแก่เล่าปี่ว่า "บ้านอยู่ตุ้นก้วน เรามีทรัพย์สินไร่นาเป็นอันมาก ทั้งร้านสุกรสุราก็มีขาย เราพอใจคบเพื่อนฝูงผู้มีสติปัญญา บัดนี้เห็นท่านดูหนังสือแล้วทอดใจใหญ่จึงทักใคร่จะรู้เนื้อความ"[1] เล่าปี่จึงว่า "เราเป็นเชื้อพระเจ้าฮั่นเกงเต้ชื่อเล่าปี่ ได้ยินข่าวว่าโจรโพกผ้าเหลืองมาทำอันตรายแผ่นดิน เราคิดจะใคร่อาสาแผ่นดินไปปราบโจร แต่ขัดสนด้วยกำลังทรัพย์ก็น้อยคิดไปมิตลอด จึงทอดใจใหญ่"[1] เตียวหุยเมื่อได้ฟังสาเหตุการทอดใจของเล่าปี่ จึงออกปากให้ทรัพย์สินเพื่อไปเกลี้ยกล่อมชาวเมืองซึ่งมีฝีมือกล้าหาญ เพื่อยกออกไปจับโจรโพกผ้าเหลือง สร้างความดีใจแก่เล่าปี่จึงชวนเตียวหุยไปในร้านสุรา ซื้อสุราและชวนกันนั่งกิน ในขณะเล่าปี่และเตียวหุยแลกเปลี่ยนถ้อยคำสนทนา กวนอูได้ขับเกวียนมาถึงหน้าร้านสุราและร้องเรียกผู้ขายสุราว่า "เอาสุรามาขายจงเร็ว เรากินแล้วจะรีบไปอาสาแผ่นดิน"[1] ซึ่งคำกล่าวของกวนอูนั้นทำให้เล่าปี่และเตียวหุยเกิดความสนใจจึงชวนไปนั่งกินสุราด้วยพร้อมกับสอบถามชื่อแซ่ ซึ่งกวนอูตอบว่า "เราชื่อกวนอู อีกชื่อหนึ่งนั้นหุนเตี๋ยง บ้านเราอยู่เมืองฮอตั๋งไกเหลียง ที่เมืองฮอตั๋งไกเหลียงนั้นมีคนหนึ่งมีทรัพย์มาก ร้ายกาจสามหาวข่มเหงคนทั้งปวง เราเห็นผิดนักเราจึงฆ่าผู้นั้นเสีย แล้วหนีไปเที่ยวอยู่เป็นหลายหัวเมือง บัดนี้เราได้ยินว่าเมืองนี้มีหนังสือเกลี้ยกล่อมป่าวร้องให้อาสาแผ่นดินจับโจกโพกผ้าเหลือง เราจึงมาหวังจะอาสาแผ่นดิน"[1] เล่าปี่ได้ฟังจึงว่า "เรากับเตียวหุยคิดต้องกันกับท่าน"[1] เตียวหุยจึงว่า "เราทั้งสามคิดการต้องกัน เชิญท่านทั้งสองมาไปบ้านเรา ที่หลังบ้านเรามีสวนดอกไม้แล้วเป็นที่สงัด ดอกยี่โถก็บานอยู่เป็นอันมาก จะได้บูชาพระแลเทพดาแล้วจะได้ให้สัตย์ต่อกันทั้งสาม ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะได้คิดการใหญ่สืบไป"[1] คำสัตย์สาบานคำสัตย์สาบานระหว่างเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย จากวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก ได้รับการเชิดชูและยกย่องจากชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวจีนให้การเคารพและยกย่องความซื่อสัตย์จงรักภักดีควบคู่กับความกตัญญู คำสัตย์สาบานในสวนท้อจึงกลายเป็นเรื่องเล่ากล่าวขานเพื่อเป็นการยกย่องแก่เล่าปี่ กวนอูและเตียวหุยสืบและเป็นเยี่ยงอย่างให้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลากว่าพันปี ฉบับวรรณกรรมคำสัตย์สาบานในฉบับวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กล่าวไว้ว่าภายหลังจากเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุยได้เห็นต้องกันในความคิดที่จะอาสาออกปราบโจรโพกผ้าเหลือง จึงชวนกันไปยังบ้านเตียวหุยเพื่อร่วมคำสัตย์สาบาน ตามความปรากฏในวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ความว่า "ครั้นรุ่งขึ้น เตียวหุยจึงจัดม้าขาวกระบือดำ แลธูปเทียนสิ่งของทั้งปวงแล้วชวนกันออกมายังสวนดอกไม้ จึงจุดธูปเทียนไหว้พระแลบูชาเทพดา แล้วจึงตั้งสัตย์สาบานต่อกันว่า ข้าพเจ้าเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ทั้งสามคนนี้อยู่ต่างเมือง วันนี้ได้มาพบกัน จะตั้งสัตย์สบถเป็นพี่น้องร่วมท้องกัน เป็นน้ำใจเดียวซื่อสัตย์ต่อกันสืบไปจนวันตาย จะได้ช่วยทำบุบำรุงแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุข ถ้ามีภัยอันตรายสิ่งใดแลรบศึกเสียที ข้าพเจ้ามิได้ทิ้งกัน จะแก้กันกว่าจะตายทั้งสาม แลความสัตย์นี้ข้าพเจ้าได้สาบานต่อหน้าเทพดาทั้งปวงจะเป็นทิพยพยาน ถ้าสืบไปภายหน้าข้าพเจ้าทั้งสามมิได้ซื่อตรงต่อกัน ขอให้เทพดาสังหารผลาญชีวิตให้ประจักษ์แก่ตาโลก"[2] และเรียกเล่าปี่เป็นพี่ใหญ่ กวนอูเป็นน้องกลางและเตียวหุยเป็นน้องสุด ฉบับละครโทรทัศน์ภายหลังจากประเทศจีนได้นำวรรณกรรมสามก๊กมาจัดทำในรูปแบบของละครโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2538 เพื่อเป็นการเชิดชูเกียติวรรณกรรมอมตะของจีนที่ได้รับการกล่าวขานไปทั่วโลก การร่วมพบกันระหว่างเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุยและคำสัตย์สาบานในสวนท้อของเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุยได้มีความแตกต่างจากวรรณกรรมบ้างเล็กน้อยโดยทั้งสามได้พบกันที่ตลาด เล่าปี่เป็นเพียงคนทอเสื่อและรองเท้าฟาง กวนอูเป็นเพียงคนขายถั่วและเตียวหุยเป็นพ่อค้าขายหมู ภายหลังเกิดการปะทะฝีมือกันระหว่างกวนอูและเตียวหุย เล่าปี่เป็นผู้เข้าห้ามและชักนำไปสู่การแลกเปลี่ยนคำสนทนาในการอาสาปราบโจรโพกผ้าเหลือง ก่อนได้ร่วมให้คำสัตย์สาบานต่อกันในสวนท้อของเตียวหุยว่า "แม้นไม่เกิดวัน เดือน ปีเดียวกัน แต่ขอตายวัน เดือน ปีเดียวกัน"[3] ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์เรื่องคำสาบานในสวนท้อที่ปรากฏในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนระบุว่าเป็นเพียงเรื่องที่แต่งเพิ่มเติมขึ้นโดยหลอ กว้านจง ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีนได้บันทึกไว้เพียงแต่ว่า ภายหลังจากเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุยได้ร่วมเป็นหนึ่งใจเดียวกันในการอาสาปราบโจรโพกผ้าเหลือง มิได้ร่วมสัตย์สาบานในสวนดอกไม้ดังวรรณกรรม เพียงแต่เล่าปี่ กวนอูและเตียวหุยนอนบนเตียงนอนเดียวกัน และใกล้ชิดกันเหมือนกับพี่น้องร่วมสายเลือด[4] การภักดีและยึดมั่นคำสาบานภายหลังจากเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย ได้ร่วมคำสัตย์สาบานในสวนท้อ สาบานเป็นพี่น้องร่วมสายเลือด จะซื่อตรงต่อกันตลอดไปจนกว่าจะตาย ผลของคำสัตย์สาบานในสวนท้อได้ทำให้ทั้งสามมีความรักใคร่เสมือนพี่น้อง โดยเมื่อคราวเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุยร่วมออกปราบโจรโพกผ้าเหลือง เล่าปี่เห็นตั๋งโต๊ะและทัพหลวงแตกพ่าย ถูกโจรโพกผ้าเหลืองไล่ตามจึงเข้าช่วยเหลือ ภายหลังตั๋งโต๊ะได้สอบถามเล่าปี่ว่า "ตัวนี้เป็นขุนนางตำแหน่งใด" ครั้นเล่าปี่บอกว่า "ข้าพเจ้าจะได้เป็นตำแหน่งที่ขุนนางนั้นหามิได้" ตั๋งโต๊ะก็แสดงกิริยาดูหมิ่นเหยียดหยามเล่าปี่ กวนอูและเตียวหุย ซึ่งสร้างความโกรธแค้นแก่เตียวหุยเป็นอย่างมาก จับดาบจะไปฆ่าตั๋งโต๊ะเสียแต่ถูกกวนอูห้ามไว้ เล่าปี่จึงว่า "เราพี่น้องสามคน เป็นกระไรก็เป็นด้วยกัน ซึ่งจะพลัดกันนั้นไม่ควร จะไปไหนต้องไปด้วยกัน"[5] ต่อมาเล่าปี่ได้ตำแหน่งเพียงนายอำเภออันห้อก้วน กวนอูและเตียวหุยก็ติดตามเล่าปี่ไปตลอดดังคำกล่าวในวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ความว่า "ไปอยู่ ณ เมืองอันห้อก้วนได้ประมาณเดือนเศษ เล่าปี่เกลี้ยไกล่อาณาประชาราษฏรซึ่งวิวาท มีคดีแก่กันนั้น มากให้น้อยลง น้อยนั้นให้หายเสีย ราษฏรทั้งปวงได้รับความสุข ยกมือไหว้สรรณเสริญเล่าปี่เป็นอันมาก แล้วกวนอู เตียวหุยนั้นมีใจภักดีต่อเล่าปี่เป็นอันมาก เวลาเล่าปี่ออกว่าราชการ กวนอู เตียวหุยมิได้ขาดหน้า อุตสาห์พิทักษ์รักษากัน"[5] คราวที่เล่าปี่ทำศึกแพ้โจโฉที่เมืองชีจิ๋วแตกแยกพลัดพรากจากกวนอูและเตียวหุย เล่าปี่หนีไปอยู่กับอ้วนเสี้ยว เตียวหุยแตกไปแย่งชิงเมืองเล็ก ๆ และตั้งซุ่มเป็นกองโจร กวนอูถูกโจโฉวางกลอุบายล้อมจับตัวได้ที่เมืองแห้ฝือ และมอบหมายให้เตียวเลี้ยวมาเจรจาเกลี้ยกล่อม กวนอูขอสัญญาสามข้อจากโจโฉคือ "เราจะขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ประการหนึ่ง เราจะขอปฏิบัติพี่สะใภ้ทั้งสอง แลอย่าให้ผู้ใดเข้าออกกล้ำกรายเข้าถึงประตูที่อยู่ได้ จะขอเอาเบี้ยหวัดของเล่าปี่ซึ่งเคยได้รับพระราชทานนั้น มาให้แก่พี่สะใภ้เราทั้งสองประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งถ้าเรารู้ว่าเล่าปี่อยู่แห่งใดตำบลใด ถึงมาตรว่าเรามิได้ลามหาอุปราชเราก็จะไปหาเล่าปี่ แม้มหาอุปราชจะห้ามเราก็ไม่ฟัง"[6] โจโฉตกลงตามสัญญาสามข้อจึงได้กวนอูไว้ตามต้องการ โจโฉนำกวนอูไปถวายตัวต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ พยายามเลี้ยงดูกวนอูอย่างดีเพื่อให้ลืมคุณของเล่าปี่แต่หนหลัง ให้เครื่องเงินเครื่องทองแลแพรอย่างดีแก่แก่กวนอูเพื่อหวังเอาชนะใจ สามวันแต่งโต๊ะไปให้ครั้งหนึ่ง ห้าวันครั้งหนึ่ง จัดหญิงสาวรูปงามสิบคนให้ไปปฏิบัติหวังผูกน้ำใจกวนอูให้หลง แต่กวนอูกลับไม่สนใจต่อทรัพย์สินและหญิงงามที่โจโฉมอบให้ ใจมุ่งหวังแต่เพียงคิดหาทางกลับคืนไปหาเล่าปี่ โจโฉเห็นเสื้อผ้ากวนอูเก่าและขาดจึงมอบเสื้อใหม่ให้ กวนอูจึงนำเสื้อเก่าสวมทับเสื้อใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่า "เสื้อเก่านี้ของเล่าปี่ให้ บัดนี้เล่าปี่จะไปอยู่ที่ใดมิได้แจ้ง ข้าพเจ้าจึงเอาเสื้อผืนนี้ใส่ชั้นนอก หวังจะดูต่างหน้าเล่าปี่ ครั้นจะเอาเสื้อใหม่นั้นใส่ชั้นนอก คนทั้งปวงจะครหานินทาว่าได้ใหม่แล้วลืมเก่า"[7] โจโฉเห็นม้าที่กวนอูขี่ผ่ายผอมเพราะทานน้ำหนักกวนอูไม่ไหวจึงมอบม้าเซ็กเธาว์ของลิโป้ให้ สร้างความดีใจให้กวนอูเป็นอย่างยิ่งจนถึงกับคุกเข่าคำนับโจโฉหลายครั้งจนโจโฉสงสัยถามว่า "เราให้ทองสิ่งของแก่ท่านมาเป็นอันมากก็ไม่ยินดี ท่านไม่ว่าชอบใจและมีความยินดีเหมือนเราให้ม้าตัวนี้ เหตุไฉนท่านจึงรักม้าอันเป็นสัตว์เดียรัจฉานมากกว่าทรัพย์สินอีกเล่า"[8] [9] กวนอูจึงตอบด้วยเหตุผลว่า "ข้าพเจ้าแจ้งว่าม้าเซ็กเธาว์ตัวนี้มีกำลังมาก เดินทางได้วันละหมื่นเส้น แม้ข้าพเจ้ารู้ข่าวว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด ถึงมาตรว่าไกลก็จะไปหาได้โดยเร็ว เหตุฉะนี้ข้าพเจ้าจึงมีความยินดี ขอบคุณมหาอุปราชมากกว่าให้สิ่งของทั้งปวง"[8] [9] อ้างอิง
ดูเพิ่ม |