อ้วนเสี้ยว
อ้วนเสี้ยว หรือในภาษาจีนกลางว่า หยวน เซ่า (เสียชีวิตวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 202)[1][2]) ชื่อรอง เปิ่นชู (本初)[3]เป็นขุนพลทหาร นักการเมือง และขุนศึกชาวจีนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เขาครอบครองดินแดนทางตอนเหนือของจีนในช่วงสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่น นอกจากนี้เขายังเป็นพี่ชายต่างมารดาของอ้วนสุด(หยวนซู่) ขุนศึกผู้ควบคุมภูมิภาคแม่น้ำห้วย แม้ว่าทั้งสองคนจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกันก็ตาม หนึ่งในขุนศึกที่ทรงอำนาจมากที่สุดในยุคสมัยนั้น อ้วนเสี้ยวเป็นหัวหอกของเหล่าขุนศึกที่จัดตั้งแนวร่วมพันธมิตรต่อต้านตั๋งโต๊ะ ซึ่งมีพระเจ้าเหี้ยนเต้ ยุวจักรพรรดิเป็นตัวประกันในเมืองลั่วหยาง(ลกเอี๊ยง) แต่ประสบความล้มเหลว เนื่องจากเกิดความแตกแยกกันเอง ใน ค.ศ. 200 เขาได้เปิดฉากการทัพต่อต้านโจโฉ(เฉาเชา) แต่กลับประสบความปราชัยอย่างพินาศย่อยยับในยุทธการที่กัวต๋อ เขาได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการป่วยในอีกสองปีต่อมาในเมืองเย่ ด้วยความล้มเหลวในตอนท้าย แม้ว่าจะมีภูมิหลังครอบครัวที่มีชื่อเสียงเลื่องลือว่ารับใช้ราชวงศ์ฮั่นถึงสี่ชั่วอายุคน และข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์มักจะถูกตำหนิว่าเป็นคนที่ไม่มีความเด็ดขาดและไม่รับฟังคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองของที่ปรึกษาของตนเอง ประวัติอ้วนเสี้ยวเกิดในอำเภอยีเอ็ง(หรู่หยาง-汝陽縣) เมืองยีหลำ(หรู่หนาน) ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอชางฉุ่ย มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน ตระกูลของเขาเป็นกำลังที่สำคัญในราชการแผ่นดินของราชวงศ์ฮั่นมานานกว่าสี่ชั่วอายุคน ได้สร้างสมาชิกจำนวนมากอยู่ในตำแหน่งระดับสูงมาตั้งแต่ศตวรรษแรกก่อนคริสตกาล ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากอ้วนอัน(หยวนอัน) ซึ่งเข้ารับราชการในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นจาง บิดาที่แท้จริงของอ้วนเสี้ยวเป็นที่มาของข้อโต้เถียงกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของความขัดแย้งกันระหว่างตัวเขาเองกับน้องชายต่างมารดาหรือลูกพี่ลูกน้องอย่างอ้วนสุด อ้วนเสี้ยวเป็นบุตรของอ้วนฮอง(หยวนเฝิง-袁逢) และพี่ชายคนโต ซึ่งเป็นที่คาดเดากันว่าน่าจะทำให้อ้วนสุดรู้สึกโกรธแค้นชิงชัง ทั้งอ้วนเสี้ยวและอ้วนสุดได้รับการยอมรับว่าเป็นเหลนของอ้วนอัน ตามบันทึกไว้ในบันทึกเว่ย์ของหวังเฉิน มารดาของอ้วนเสี้ยวเดิมทีเป็นสาวใช้ของอ้วนฮอง เนื่องจากอ้วนฮองไม่มีทายาทชาย การเกิดของอ้วนเสี้ยวทำให้มารดาของเขามีสถานะเป็นอนุภรรยา ในจดหมายเหตุสามก๊กได้ยืนยันว่า อ้วนเสี้ยวเป็นลูกพี่ลูกน้องของอ้วนสุด และถูกรับเลี้ยงดูโดยพี่ชายของอ้วนฮองนามว่า อ้วนเทีย(หยวนเฉิง-袁成) ซึ่งไม่มีทายาทชายเช่นกัน การรับเลี้ยงดูอ้วนเสี้ยวได้ทำให้อ้วนสุดรู้สึกโกรธแค้นอย่างมาก เนื่องจากมารดาของตนซึ่งเป็นอนุภรรยาของอ้วนฮองซึ่งมีสถานะสูงกว่ามารดาของอ้วนเสี้ยว อย่างไรก็ตาม ด้วยการรับเลี้ยงดูอ้วนเสี้ยวของอ้วนเทียทำให้อ้วนสุดไม่ใช่ผู้ชายที่มีสถานะสูงสุดในตระกูลอ้วนอีกต่อไป อ้วนเสี้ยวได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าอ้วนสุด แม้ว่าคนหลังจะเป็นสมาชิกสายเลือดเดียวกันของตระกูลก็ตาม เมื่ออ้วนเสี้ยวและอ้วนสุดได้กลายเป็นคู่ขัดแย้งในภายหลัง อ้วนสุดได้ใช้มารดาของอ้วนเสี้ยวเป็นการยกข้อกล่าวอ้างว่า เขาไม่ใช่"บุตรชายที่แท้จริง" ของตระกูลอ้วน เมื่อเทียบกับอ้วนสุด อ้วนเสี้ยวมีภาพลักษณ์ที่จริงจังกว่าและเคารพคนที่มีความสามารถโดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้รับการต้อนรับจากหลาย ๆ คนตั้งแต่วัยเด็ก รวมทั้งโจโฉและเตียวเมา รับราชการภายใต้ราชวงศ์ฮั่น(ค.ศ. 169-189)เมื่อครั้งที่อ้วนเสี้ยวยังอยู่ในวัยหนุ่ม เขาได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงหรือตังเหริน(黨人) บางคนให้รอดพ้นจากความตายหรือประสบชะตากรรมอันเลวร้ายอื่น ๆ ในช่วงที่สองของหายนะแห่งคณะอภิชน หนึ่งในคนของพวก"ตังเหริน" นามว่า ฮี หยง ซึ่งอ้วนเสี้ยวได้ตีสนิทกันภายหลังจากที่เขาหลบหนีมายังเมืองยีหลำ และกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน เมื่อช่วงที่สองของหายนะแห่งคณะอภิชนได้เริ่มต้นขึ้น ฮี หยงมักจะแอบเข้าไปในลกเอี๊ยงอย่างลับ ๆ ซึ่งเขาได้ปรึกษาหารือกับอ้วนเสี้ยวในการวางแผนหาวิธีช่วยเหลือพวก"ตังเหริน" เมื่อครั้งที่พวก"ตังเหริน"กำลังสิ้นเนื้อประดาตัว ได้มีแผนที่จะให้ความช่วยเหลือด้วยวัตถุปัจจัย เมื่อครั้งที่พวก"ตังเหริน"ถูกคุมขัง ได้มีแผนที่จะให้เข้ามาในระบบราชการเพื่อให้พวกตังเหรินสามารถหลบหนีไปได้[4] ภายหลังจากที่เขาได้เข้ารับราชการ ในช่วงแรก อ้วนเสี้ยวได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของแม่ทัพใหญ่ โฮจิ๋น ซึ่งได้มอบไว้วางใจแก่เขาอย่างสุดซึ้ง ภายหลังจากจักรพรรดิฮั่นหลิงสวรรคตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 189 โฮจิ๋นและอ้วนเสี้ยวได้วางแผนลับที่จะกำจัดสิบขันที[5] แต่สมเด็จพระจักรพรรดินีเหอซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นไทเฮาทรงไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกเขา จากนั้นโฮจิ๋นได้ตัดสินใจเรียกตั๋งโต๊ะนำกองทัพเข้ามายังลกเอี๊ยง ราชธานีของจักรวรรดิเพื่อกดดันไทเฮา สิบขันทีรู้สึกหวาดกลัวและปลอมรับสั่งพระราชเสานีย์ในนามของไทเฮา เรียกโฮจิ๋นเข้ามาในพระราชวังชั้นใน อ้วนเสี้ยวได้ห้ามปรามโฮจิ๋น โดยกล่าวเตือนว่าเขาควรออกคำสั่งให้บุกเข้าโจมตีสิบขันทีทันทีแทนที่จะเข้าไปในพระราชวัง ภายหลังโฮจิ๋นปฏิเสธที่ยอมรับคำแนะนำของเขาถึงสามครั้ง อ้วนเสี้ยวและอ้วนสุดได้นำกองกำลังทหารชั้นยอด 200 นาย ไปรออยู่ภายนอกวัง วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 189[6] ภายในพระราชวัง โฮจิ๋นถูกพวกสิบขันทีดักซุ่มและลอบสังหาร ศีรษะที่ถูกตัดขาดได้ถูกโยนข้ามกำแพง เหล่าผู้ติดตามของโฮจิ๋นต่างโกรธแค้นจึงจุดไฟเผาพระราชวังและบุกเข้าไปข้างใน เข่นฆ่าทุกคน(ยกเว้นอิสตรี) โดยเฉพาะคนที่ไม่มีหนวดขนบนใบหน้า ถึงขั้นให้ชายหนุ่มหลายคนที่ไม่มีหนวดขนบนใบหน้าต้องแสดงอวัยวะเพศชายของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเข้าใจผิดว่าเป็นขันทีและถูกสังหาร[7] มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คนในการสังหารหมู่ ในขณะที่จักรพรรดิฮั่นเช่าตี้ซึ่งเป็นยุวจักรพรรดิและตันหลิวอ๋อง(จักรพรรดิเซี่ยนตี้ในอนาคต) ได้หลบหนีในช่วงเหตุการณ์ชุลมุน ด้วยภาวะสูญญากาศทางอำนาจที่เกิดขึ้นทำให้ตั๋งโต๊ะซึ่งได้พบเจอจักรพรรดิและท่านอ๋อง พร้อมกับสบโอกาสยึดอำนาจควบคุมเมืองหลวงของจักรวรรดิเมื่อเขาเดินทางมาถึง จากนั้นตั๋งโต๊ะได้ปรึกษาหารือกับอ้วนเสี้ยวเกี่ยวกับแผนการของเขาที่จะทำการปลดจักรพรรดิฮั่นเช่าตี้ออกจากราชบัลลังก์และสถาปนาตันหลิวอ๋องขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน แต่อ้วนเสี้ยวกลับไม่เห็นด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองคนจึงตกต่ำลงและอ้วนเสี้ยวได้หลบหนีจากลกเอี๊ยงไปยังกิจิ๋ว(ตอนใต้ของมณฑลเหอเป๋ย์ในปัจจุบัน) ในตอนนั้น อ้วนเสี้ยวเพิ่งจะออกจากประตูเมืองลกเอี๊ยง ตั๋งโต๊ะได้มีความคิดที่จะส่งคนไปตามหาเขา แต่เลขาเจียวปี(โจวปี้) นายทหารเหงาเค่ง(อู่เฉียง) และฮี หยงได้ให้ความช่วยเหลืออ้วนเสี้ยวอย่างลับ ๆ โดยเกลี้ยกล่อมให้ตั๋งโต๊ะปล่อยเขาไป ด้วยคำแนะของทั้งสามคนดังกล่าว ตั๋งโต๊ะได้แต่งตั้งให้อ้วนเสี้ยวเป็นเจ้าเมืองปั๋วไห่เพื่อเป็นการเอาใจเขา[8] แนวร่วมพันธมิตรต่อต้านตั๋งโต๊ะ(ค.ศ. 190-191)ความก้าวหน้าของซุนเกี๋ยนอย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปี ค.ศ. 190 อ้วนเสี้ยวได้กลายเป็นศัตรูอย่างเปิดเผย แนวร่วมพันธมิตรของเจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาคและเจ้าเมืองจากมณฑลตะวันออก รวมทั้งโจโฉ อ้วนสุด ฮันฮก เตียวเมา และเปาสิ้น รวมตัวกันเพื่อเปิดศึกโค่นล้มอำนาจของตั๋งโต๊ะ อ้วนเสี้ยวได้ประกาศตั้งตนเองเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารม้ารถศึก(車騎將軍) และตั้งค่ายที่เมืองโห้ลายหรือเหอเน่ย์(河內) ใกล้กับที่ลุยน้ำข้ามฟากบนแม่น้ำหวงทางตอนเหนือของลกเอี๊ยง วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 190[9] ตั๋งโต๊ะได้สั่งประหารชีวิตสมาชิกตระกูลอ้วนทั้งหมดในลกเอี๊ยง จากนั้นเขาได้ส่งทูตออกไปพร้อมกับราชโองการรับสั่งให้เจ้าหน้าระดับภูมิภาคแยกย้ายสลายตัว อย่างไรก็ตาม สมาชิกของแนวร่วมพันธมิตรต่างเชื่อฟังอ้วนเสี้ยว และให้ประหารชีวิตทูตทั้งหมดแทน(ยกเว้นฮันหยง) จากนั้นตั๋งโต๊ะได้ส่งโฮจิ้น ลิโป้ และฮัวหยงไปต้านทานกองกำลังแนวหน้าของแนวร่วมพันธมิตรที่นำโดยซุนเกี๋ยน แม้จะประสบความสำเร็จในช่วงแรก ซุนเกี๋ยนได้ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งกันเองระหว่างโฮจิ้นและลิโป้ และเอาชนะพวกเขาที่หยางเริน ภายหลังจากความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น ตั๋งโต๊ะได้ตัดสินใจที่จะย้ายเมืองราชธานีไปยังเมืองฉางอัน ซึ่งฐานที่มั่นบ้านเกิดของเขาในแคว้นเหลียงจิ๋วอยู่ใกล้กัน หนึ่งปีต่อมา ตั๋งโต๊ะได้ทำการเผาเมืองลกเอี๊ยงจนวอดวายและล่าถอยไปทางตะวันตกพร้อมกับผู้อพยพจำนวนมาก แม้ว่าจะไม่มีฐานที่มั่นในการส่งกำลังบำรุง แต่ซุนเกี๋ยนและโจโฉได้เรียกร้องให้เร่งติดตามกองทัพของตั๋งโต๊ะที่กำลังล่าถอย แต่อ้วนเสี้ยนและเหล่าผู้นำแนวร่วมพันธมิตรคนอื่น ๆ ต่างไม่เห็นด้วยกับพวกเขา ซุนเกี๋ยนได้รับคำสั่งนัดพบกับอ้วนสุด โจโฉจึงนำกองกำลังของตนออกติดตามไปเพียงลำพัง และประสบความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับให้กับลูกสมุนของตั๋งโต๊ะ นามว่า ซีเอ๋ง การสลายตัวในช่วงเวลานี้ อ้วนเสี้ยวและฮันฮกได้ตั้งใจที่จะสร้างความชอบธรรมของแนวร่วมพันธมิตรโดยการสถาปนาเล่าหงี ผู้ตรวจการแคว้นอิวจิ๋ว(ตอนเหนือของมณฑลเหอเป๋ย์ในปัจจุบัน) ขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่แทนที่จักรพรรดิเซี่ยนตี้ อย่างไรก็ตาม เล่าหงีได้ปฏิเสธ เนื่องจากมีความจงรักภัดดีต่อจักรพรรดิเซี่ยนตี้อย่างเหนียวแน่น เมื่อภาพเมืองราชธานีที่ถูกเผาทำลายได้ปรากฏต่อสายตาของพวกเขา เหล่าผู้นำแนวร่วมพันธมิตรที่แตกคอกันเองต่างตระหนักว่าราชวงศ์ฮั่นได้มาถึงจุดจบแล้ว และเริ่มวางแผนในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งสถานะของพวกเขาเอง และในไม่ช้าพวกเขาต่างแยกย้ายกลับไปยังฐานบ้านเกิดของตน รวบรวมทางตอนเหนือของจีน (ค.ศ. 191-199)การยึดครองและรวบรวมแคว้นกิจิ๋ว (ค.ศ. 191)เนื่องจากมีผู้คนอาสาสมัครจำนวนมากจากมณฑลต่าง ๆ แห่เข้าร่วมกับอ้วนเสี้ยว เมืองปั๋วไห่จึงไม่เพียงพอที่จะเสริมกองทัพของเขาเพิ่มเติมได้ ดังนั้นอองกี่จึงแนะนำให้อ้วนเสี้ยวจัดตั้งพันธมิตรลับกับขุนศึกกองซุนจ้านและยุยงให้ฝ่ายหลังบุกเข้าโจมตีแคว้นกิจิ๋วของฮันฮก[10] เมื่อเผชิญหน้ากับการบุกเข้าโจมตีที่กำลังใกล้เข้ามาของกองซุนจ้าน ฮันฮกรู้สึกหวาดกลัวมาก ดังนั้นเขาจึงเชื่อฟังผู้วิ่งเต้นของอ้วนเสี้ยวอย่างโกกัน (หลานชายของอ้วนเสี้ยว)[11] และซุนซิม(ซุนเฉิน) ยินยอมมอบอำนาจการปกครองของแคว้นกิจิ๋วให้กับอ้วนเสี้ยวเพื่อที่จะขับไล่กองซุนจ้านออกไป จากนั้นอ้วนเสี้ยวได้เริ่มสร้างรัฐขุนศึกจากเมืองเงียบกุ๋นหรือเย่เฉิง เมืองหลวงของแคว้นกิจิ๋ว เพื่อสกัดการขยายอิทธิพลของอ้วนสุด อ้วนเสี้ยวได้จับมือพันธมิตรกับโจโฉและเตียวเมา และแต่งตั้งผู้ติดตามของเขานามว่า โจวหย่ง ให้เป็นผู้ตรวจการแคว้นอิจิ๋ว ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ซุนเกี๋ยนดำรงอยู่แล้ว และส่งเขาไปโจมตีดินแดนของซุนเกี๋ยนในแคว้นอิจิ๋ว ในขณะที่อีกฝ่ายกำลังเดินทางกลับจากเมืองลกเอี๊ยง เพื่อเป็นการตอบโต้ อ้วนสุดจับมือพันธมิตรกับกองซุนจ้านและโตเกี๋ยม และสั่งให้ซุนเกี๋ยนบุกเข้าโจมตีพี่ชายต่างมารดาของตน แม้ว้าโจวหย่งจะสามารถเอาชนะกองทัพของซุนเกี๋ยนในยุทธการที่อำเภอหยงเซีย เขาได้พ่ายแพ้ให้กับซุนเกี๋ยนในการสู้รบครั้งต่อไป การสู้รบครั้งแรกระหว่างสองพี่น้องได้ยุติลงโดยการเข้าข้างอ้วนสุด: เขาได้เผชิญหน้าและเอาชนะกองทัพของอ้วนเสี้ยวทั้งในอำเภอหยงเซียและเมืองกิวกั๋ง(จิ่วเจียง)คืนตำแหน่งในเมืองเองฉ่วนภายใต้ซุนเกี๋ยนและกำจัดโจวหย่งในฐานะภัยคุกคามครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ว่าเมืองกิวกั๋งจะยังไม่ถูกพิชิต ในอีกมุมมองหนึ่ง สำหรับอ้วนเสี้ยว สถานการณ์นั้นยากลำบากอย่างมาก นอกจากความล้มเหลวในทางตอนใต้แล้ว เขายังถูกคุกคามจากกองซุนจ้าน ซึ่งเชื่อว่าอ้วนเสี้ยวต้องรับผิดชอบต่อการตายในสนามรบของกองซุนอวด(公孫越) ลูกพี่ลูกน้องของเขา และประกาศสงครามกับเขาอย่างเป็นทางการ โดยปฏิเสธการคัดค้านด้วยความหวังดีของอ้วนเสี้ยวทั้งหมด[12] สิ่งนี้ได้นำไปสู่การปะทะสู้รบกันระหว่างอ้วนเสี้ยวและกองซุนจ้านในยุทธการที่เจี้ยเฉียว ยุทธการที่อำเภอหยงเซีย ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกในการต่อสู้รบระหว่างสองพี่น้องตระกูลอ้วนเป็นจุดเริ่มต้นของระยะใหม่ในความสับสนวุ่ยวายของสงครามซึ่งนำไปสู่จุดจบของราชวงศ์ฮั่น การสู้รบฆ่ากันเองเช่นนี้เป็นการยืนยันถึงการล้มเลิกแนวร่วมพันธมิตรต่อต้านตั๋งโต๊ะ เมื่อขุนศึกแห่งที่ราบตอนเหนือของจีนได้เริ่มต่อสู้รบกันเพื่อแย่งชิงอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดินจีน เพื่อมุ่งเน้นไปที่ความขัดแย้งกับกองซุนจ้าน อ้วนเสี้ยวได้จับมือเป็นพันธมิตรกับเล่าเปียว เพื่อต่อต้านอ้วนสุด ในช่วงฤดูหนาวของปีนั้น อ้วนเสี้ยวได้เอาชนะกองทหารชั้นยอดของกองซุนจ้านในยุทธการที่เจี้ยเฉียวด้วยการใช้อาวุธหน้าไม้จำนวนมาก ราชสำนักฮั่นได้ออกคำสั่งให้อ้วนเสี้ยวและกองซุนจ้านทำสัญญาสงบศึก จากนั้นอ้วนเสี้ยวจึงกลับไปที่เมืองเงียบกุ๋นและเริ่มตั้งเป้าหมายไปยังกองโจรแห่งภูเขาดำ(เฮซานเจ๋ย) ซึ่งคอยสร้างปัญหาในแคว้นกิจิ๋ว ด้วยความช่วยเหลือชั่วคราวจากลิโป้ อ้วนเสี้ยวสามารถเอาชนะกองโจรแห่งภูเขาดำไว้ได้ แม้จะสูญเสียอย่างหนักก็ตาม[13] ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม อ้วนเสี้ยวได้ประสบความสำเร็จในการลดภัยคุกคามจากกองโจรแห่งภูเขาดำที่มีต่อแนวปีกตะวันตกของเขาอย่างมาก การพิชิตแคว้นเฉงจิ๋ว (ค.ศ. 192–196)แม้ว่าจะได้รับคำเตือนจากจอสิวว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจะเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ของปัญหาในอนาคต แต่อ้วนเสี้ยวยืนยันที่จะส่งอ้วนถำ บุตรชายคนแรกของเขาไปปกครองที่แคว้นเฉงจิ๋ว ในปีต่อมา อ้วนเสี้ยวประสบความสำเร็จอย่างมากในการรวบรวมดินแดนอาณาเขตของตน ในเวลาเดียวกัน อ้วนถำยังประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการขยายดินแดนของเขาในแคว้นเฉงจิ๋ว[14] สามารถขับไล่เต๊งไก๋ ขุนพลของกองซุนจ้านใน ค.ศ. 193[15] และเอาชนะขงหยง เสนาบดีแห่งเมืองปักไฮใน ค.ศ. 196[16] การปฏิเสธตัวประกันจักรพรรดิ (ค.ศ. 195–196)ใน ค.ศ. 195 จอสิวได้แนะนำให้อ้วนเสี้ยวทำการต้อนรับจักรพรรดิเซี่ยนตี้ที่แคว้นกิจิ๋วเพื่อที่เขาจะได้สามารถควบคุมรัฐบาลส่วนกลางของราชวงศ์ฮั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้จักรพรรดิเป็นหุ่นเชิดเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองของเขา อย่างไรก็ตาม กัวเต๋าและอิเขงได้คัดค้านข้อเสนอของเขาด้วยเหตุผลที่ผิดว่า หากอ้วนเสี้ยวทำเช่นนั้น เขาจะต้องยอมอ่อนข้อต่อจักรพรรดิเซี่ยนตี้ในการตัดสินใจที่สำคัญ อ้วนเสี้ยวซึ่งชื่นชอบการมีอิสระของตนอยู่แล้วจึงเชื่อฟังกัวเต๋าและอิเขงและปล่อยให้โอกาศหลุดลอยไป ในทางตรงกันข้าม โจโฉซึ่งเป็นคู่แข่งของเขาได้ฉวยโอกาศนี้ในการต้อนรับจักรพรรดิเซี่ยนตี้สู่ฐานที่มั่นในนครฮูโต๋ ซึ่งเป็นเมืองราชธานีใหม่ของจักรวรรดิที่เพิ่งถูกก่อตั้งขึ้น ใน ค.ศ. 196 ราชสำนักฮั่น ภายใต้การควบคุมของโจโฉ ได้แต่งตั้งอ้วนเสี้ยวให้ดำรงตำแหน่งเป็นมหาเสนา อย่างไรก็ตาม อ้วนเสี้ยวไม่ยอมรับการแต่งตั้ง เนื่องจากตำแหน่งมหาเสนานั้นต่ำกว่าตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่โจโฉดำรงอยู่ ด้วยเหตุนี้ โจโฉจึงยอมสละตำแหน่งและเสนอให้อ้วนเสี้ยวเข้ารับตำแหน่งทันที อ้วนเสี้ยวได้รับการอวยยศศักดิ์เป็นเหมย์โหว การกวาดล้างกองซุนจ้าน (ค.ศ. 198–199)ใน ค.ศ. 198 อ้วนเสี้ยวได้บุกเข้าโจมตีกองซุนจ้านและโอบล้อมกองกำลังที่เหลือของเขาที่เมืองอีจิ้ง (อำเภอสง มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน) ในช่วงต้นปี ค.ศ. 199 อ้วนเสี้ยวสามารถเอาชนะกองซุนจ้านได้อย่างเบ็ดเสร็จในยุทธการที่อี้จิง และมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือสี่มณฑลทางตอนเหนือของแม่น้ำฮวงโห จากนั้นภายหลังจากได้สร้างพันธมิตรกับชนเผ่าโฮห้วน(อูหวน)ที่ชายแดนทางเหนือ อ้วนเสี้ยวได้หันความสนใจไปที่โจโฉซึ่งกำลังรวบรวมฐานอำนาจไว้ที่ทางใต้ของแม่น้ำฮวงโห การทัพกัวต๋อทั้งสองฝ่ายต่างเตรียมพร้อมสำหรับศึกตัดสินชี้ขาด ในช่วงปลายปี ค.ศ. 199 ทั้งสองฝ่ายได้สู้รบปะทะกันที่อำเภอลิมหยงหรือหลี่หยาง(ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอซุน มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นจุดข้ามผ่านที่สำคัญของแม่น้ำฮวง โจโฉเตรียมการป้องกันที่ตำบลกัวต๋อหรือกวนตู้(ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอจงมู่ มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ทางตอนใต้ของแม่น้ำเพียงเล็กน้อย เมื่อเล่าปี่ได้แปรพักตร์จากโจโฉในเดือนแรกในปี ค.ศ. 200 และปักหลักที่แคว้นชีจิ๋ว โจโฉได้ละทิ้งออกจากแนวรบทางตอนเหนืออย่างเปิดเผยต่ออ้วนเสี้ยวและหันเหไปทางตะวันออกเพื่อจัดการกับเล่าปี่ เตียนห้องได้เร่งเร้ากระตุ้นให้อ้วนเสี้ยวฉวยโอกาศบุกเข้าโจมตีโจโฉอย่างเต็มกำลังในขณะที่เขาไม่อยู่ แต่อ้วนเสี้ยวกลับปฏิเสธที่จะเปิดฉากโจมตีอย่างเต็มกำลัง เขากลับส่งกองกำลังทหารขนาดเล็กไปก่อกวนข้าศึก อิกิ๋ม ขุนพลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยโจโฉให้ปกปองด่านข้ามแม่น้ำฮวง สามารถเอาชนะกองกำลังทหารของอ้วนเสี้ยวไว้ได้ ไม่นานภายหลังจากที่โจโฉกลับมายังกัวต๋อ อ้วนเสี้ยวได้ให้ตันหลิมแต่งหนังสือกล่าวโทษประณามโจโฉในสิ่งที่เป็นหัวใจหลักของการประกาศสงคราม จากนั้นเขาได้เคลื่อนกองทัพหลักของเขาไปยังฐานทัพแนวหน้าของอำเภอหลิมหยง ทางตอนเหนือของแม่น้ำฮวง ในเวลานั้น กองทัพทหารผ่านศึกหลักของอ้วนเสี้ยวมีจำนวนมากกว่า 100,000 นาย เสริมด้วยหน่วยทหารอาสาสมัครที่มีทักษะน้อยกว่าจำนวนแสนนาย ด้วยจำนวนทหารที่มีมากกว่าของโจโฉและกองกำลังทหารม้าขนาดใหญ่ที่มีอยู่ การโจมตีครั้งแรกของอ้วนเสี้ยวเกือบที่จะครอบงำตำแหน่งข้าศึกของเขา มีการบันทึกในจดหมายเหตุสามก๊กว่า โจโฉได้พิจารณาที่จะสละตำแหน่งที่มั่นหลายครั้ง และปรึกษาหารือกับหัวหน้านักยุทธศาสตร์นามว่า ซุนฮก เกี่ยวกับการตัดสินใจนั้น ซึ่งซุนฮกไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งและสนับสนุนให้โจโฉยึดที่มั่นต่อไป ภายหลังจากการแปรพักตร์อย่างไม่คาดคิดของเขาฮิว ซึ่งเป็นนักยุทธศาสตร์และเพื่อนสนิทของอ้วนเสี้ยว โจโฉได้รับข้อมูลลับที่น่าเชื่อเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของคลังเก็บเสบียงของอ้วนเสี้ยว ในช่วงปลายปี ค.ศ. 200 โจโฉและงักจิ้นได้นำกองกำลังทหารบุกเข้าโจมตีคลังเก็บเสบียงของอ้วนเสี้ยวที่อำเภออัวเจ๋า(อูเฉา) และเผาทำลายทิ้ง สร้ายความเสียหายอย่างมากต่อขวัญกำลังใจของกองทัพอ้วนเสี้ยว นายทหารสองคนของอ้วนเสี้ยวอย่างเตียวคับและโกลำได้แปรพักตร์ไปอยู่ข้างโจโฉทันที เมื่อพวกเขารู้เรื่องที่เกิดขึ้นในอำเภออัวเจ๋าและคนอื่น ๆ อีกหลายคนได้ทำตาม อ้วนเสี้ยวไม่สามารถหยุดยั้งกระแสความคิดนี้ได้และหนีไปทางเหนือข้ามแม่น้ำหวงพร้อมกับเหล่าผู้จงรักภักดีหลายร้อยคน ความปราชัยครั้งแรกของอ้วนเสี้ยวถือว่าเป็นการตัดสินชี้ขาดเช่นกัน ภายหลังจากนั้น เขาได้สูญเสียความได้เปรียบเหนือโจโฉและไม่มีวันพลิกฟื้นกลับคืนมา ใน ค.ศ. 201 โจโฉได้เอาชนะเขาอีกครั้งในยุทธการที่อำเภอซองเต๋ง(ชังถิง) และดำเนินการยึดดินแดนหลายแห่งของอ้วนเสี้ยวในแคว้นกิจิ๋ว ความพยายามที่จะพลิกวิกฤตอย่างไร้ประโยชน์และถึงแก่อสัญกรรม(ค.ศ. 201-202)ภายหลังจากยุทธการที่อำเภอซองเต๋ง กองกำลังทหารที่กำลังอ่อนล้าของโจโฉได้เดินทางกลับไปยังทางใต้เพื่อพักผ่อน ในขณะเดียวกัน อ้วนเสี้ยวสามารถจัดตั้งกองทัพที่ปราชัยของเขาเสียใหม่เพื่อยับยั้งการก่อกบฎในดินแดนของเขาเอง ในไม่ช้าได้จัดตั้งระเบียบขึ้นมาใหม่และกลับคืนสู่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนสงคราม[17] อ้วนเสี้ยวมีบุตรชายสามคน และชื่นชอบบุตรชายคนที่สามของเขา นามว่า อ้วนซง เนื่องจากรูปร่างหน้าตาดีของเขา และทั้งอ้วนถำและอ้วนซงต่างเป็นตัวเลือกของเขาในการสืบทอดตำแหน่ง[18] อย่างไรก็ตาม อ้วนเสี้ยวไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้ใครมาสืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา ก่อนที่เขาจะถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 202 ปล่อยให้ดินแดนที่เขาปกครองถูกแก่งแย่งชิงกันโดยบุตรชายของเขาและโจโฉ ไม่นานภายหลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของอ้วนเสี้ยว สิมโพยและฮองกี๋ สองที่ปรึกษาทรงอิทธิพล ต่างสนับสนุนอ้วนซง และผลักดันให้เขาสืบทอดตำแหน่งต่อจากอ้วนเสี้ยว แม้ว่าจะได้รับการคัดค้านจากอ้วนถำ[19] นางเล่าซือ(หลิวซือ) ภรรยาของอ้วนเสี้ยวได้ให้การสนับสนุนอ้วนซงและอ้วนถำไม่สามารถทำอะไรได้เลยเพื่อเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ เมื่อเขารีบเดินทางกลับมาจากแคว้นเฉงจิ๋ว จากนั้นนางเล่าซือได้กลายเป็นผู้คุมครอบครัวตระกูลอ้วน ภายหลังจากที่สามีของนางเสียชีวิต ได้สังหารอนุภรรยาทั้งห้าของอ้วนเสี้ยวด้วยความหึงหวงและทำให้พวกนางเสียโฉม ตามคำเตือนก่อนหน้าของจอสิว ความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นในกองทัพอ้วนเสี้ยว โจโฉได้ใช้ประโยชน์จากความวุ่นวายภายในครอบครัวตระกูลอ้วนให้เป็นประโยชน์ต่อเขาและกำจัดทายาทและคนที่เหลือของอ้วนเสี้ยวโดยสมบูรณ์ใน ค.ศ. 207 โจโฉได้แสดงความเคารพหลุมฝังศพของอ้วนเสี้ยว ภายหลังจากได้พิชิตเมืองเงียบกุ๋นใน ค.ศ. 204 เขาได้ร้องไห้เสียใจถึงสหายเก่าของเขาต่อหน้าเหล่าผู้ติดตามของเขาและมอบของขวัญปลอบใจต่อครอบครัวอ้วนเสี้ยวและเงินบำนาญของรัฐบาล[20] ครอบครัวตระกูล
ลักษณะและอุปนิสัยตำราพิชัยสามก๊กของวรรณไว พัธโนทัย กล่าวถึงอ้วนเสี้ยวไว้ว่า อ้วนเสี้ยวนั้นมีข้อเสียเป็นผู้มีอุบายมาก แต่ความเด็ดขาดมีน้อย ชอบฟังแต่คำยุให้รำตำให้รั่ว เห็นแก่ญาติพี่น้องของตนอย่างเดียว ไม่มีความรู้ด้านตำราพิชัยสงคราม ชอบแต่คนมีหน้ามีตาและชอบพูดขัดคอคนอื่น อ้างอิง
|