Share to:

 

จีนล่ง

จีนล่ง (ฉิน หล่าง)
秦朗
ขุนพลทหารม้ากล้า (驍騎將軍 เซียวฉีเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 227 (227) – ค.ศ. 238 (238)
กษัตริย์โจยอย
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
เสียชีวิตไม่ทราบ
บุตรฉิน ซิ่ว
บุพการี
อาชีพขุนพล
ชื่อรองยฺเหวียนหมิง (元明)
ชื่อในวัยเด็ก"อาซู" (阿穌)

จีนล่ง (มีบทบาทในช่วง ค.ศ. 199 – 238) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ฉิน หล่าง (จีน: 秦朗; พินอิน: Qín Lǎng) ชื่อรอง ยฺเหวียนหมิง (จีน: 元明; พินอิน: Yuánmíng​) เป็นขุนพลของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน

ภูมิหลังครอบครัว

จีนล่งเกิดในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก มีบ้านเกิดของบรรพชนที่เมืองซินซิง (新興郡 ซินซิงจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครซินโจว มณฑลชานซีในปัจจุบัน)[1] บิดาของจีนล่งคือฉิน อี๋ลู่ อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของลิโป้ขุนศึกผู้มีบทบาทในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก มารดาของจีนล่งคือตู้ชื่อ (杜氏) อดีตภรรยาของฉิน อี๋ลู่ซึ่งภายขุนศึกโจโฉนำไปเป็นภรรยาน้อยหลังจากลิโป้พ่ายแพ้และถูกประหารชีวิตในยุทธการที่แห้ฝือเมื่อปี ค.ศ. 198 จีนล่งในวัยเยาว์ติดตามมารดาเข้าร่วมอาศัยในตระกูลของโจโฉ โจโฉรีบจีนล่งเป็นบุตรบุญธรรมและให้ความเอ็นดูอย่างมาก ครั้งหนึ่งในงานเลี้ยง โจโฉบอกกับแขกเหรือว่า "จะมีใครที่รักบุตรชายบุญธรรมของตนเหมือนที่ข้ารักหรือไม่ (หมายถึงจีนล่ง)"[2]

ในรัชสมัยของโจยอย

เมื่อจีนล่งเติบโตขึ้น ได้เดินทางไปทั่วแผ่นดินจีนและไม่ได้รับตำแหน่งราชการพลเรือนหรือทหารใด ๆ หลังโจโฉเสียชีวิตในปี ค.ศ. 220 จีนล่งคงอยู่ในรัฐวุยก๊กที่ก่อตั้งโดยโจผีบุตรชายและทายาทของโจโฉในยุคสามก๊ก

ในปี ค.ศ. 227 หลังจากโจยอย โอรสของโจผีขึ้นครองราชบัลลังก์วุยก๊กหลังการสวรรคตของพระบิดา จีนล่งได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลทหารม้ากล้า (驍騎將軍 เซียวฉีเจียงจฺวิน) และขุนนางกรมวัง (給事中 จี่ชื่อจง) และร่วมตามเสด็จจักรพรรดิโจยอยโดยตลอด ในรัชสมัยของโจยอย โจยอยมักจะจับผิดการกระทำผิดของผู้คน ผู้คนจำนวนมากที่กระทำความผิดเล็กน้อยถูกประหารชีวิตตามรับสั่งของพระองค์ จีนล่งไม่เคยแนะนำทัดทานโจยอยและไม่เคยแนะนำผู้มีความสามารถให้แก่ราชสำนักวุยก๊ก แต่จีนล่งก็ยังคงเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิโจยอย โดยพระองค์มักปรึกษาการต่าง ๆ กับจีนล่งและเรียกจีนล่งด้วยชื่อในวัยเด็กว่า "อาซู" (阿穌) โจยอยยังพระราชทานของกำนัลแก่จีนล่งและถึงขนาดพระราชทานจวนขนาดใหญ่ในนครหลวงลกเอี๋ยงให้แก่จีนล่ง ขุนนางคนอื่น ๆ รู้ว่าจีนล่งเป็นผู้มีความสามารถไม่มากนัก แต่ก็ยังรู้ว่าจีนล่งเป็นคนสนิทของจักรพรรดิโจยอย ขุนนางเหล่านั้นจึงมักติดสินบนจีนล่งเพื่อประจบประแจง จีนล่งจึงใช้สถานะและความเป็นคนใกล้ชิดของโจยอยในการช่วยให้ขุนนางเหล่านั้นได้รับการเลื่อนตำแหน่งและได้รับบรรดาศักดิ์[3]

ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 223 ปู้ตู้เกินประมุขชนเผ่าเซียนเปย์ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สวามิภักดิ์ต่อวุยก๊ก กลับก่อกบฏและร่วมมือกับห่อปีประมุขชนเผ่าเซียนเปย์อีกกลุ่ม ปิดห้วนข้าหลวงมณฑลเป๊งจิ๋วในวุยก๊กนำกำลังทหารจากมณฑลเป๊งจิ๋วเข้าโจมตีชนเผ่าเซียนเปย์แต่ถูกตีแตกพ่าย หลังจากนั้นปู้ตู้เกินและห่อปีก็ยิ่งกลมเกลียวกันและโจมตีชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของวุยก๊กอย่างต่อเนื่อง โจยอยมีรับสั่งให้จีนล่งนำอีกกองกำลังหนึ่งจากนครหลวงไปโจมตีชนเผ่าเซียนเปย์ จีนล่งขับไล่ข้าศึกไปยังทะเลาทรายทางเหนือได้สำเร็จ ในฤดูหนาว เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาของปู้ตู้เกินยอมจำนนต่อจีนล่งในมณฑลเป๊งจิ๋ว จีนล่งจึงนำกำลังทหารยกกลับลกเอี๋ยง[4]

ปลายปี ค.ศ. 238 โจยอยประชวรหนักและทรงต้องการจะแต่งตั้งโจฮู, เซี่ยโหว เซี่ยน (夏侯獻), โจซอง, เฉา เจ้า (曹肇) และจีนล่งให้ช่วยเหลือราชการแผ่นดินหลังพระองค์สวรรคต เซี่ยโหว เซี่ยนและคนอื่น ๆ ไม่ถูกกันกับเสนาบดีเล่าฮอง (劉放 หลิว ฟ่าง) และซุนจู (孫資 ซุน จือ) เล่าฮองและซุนจูจึงทูลโน้มน้าวให้โจยอยเปลี่ยนพระทัย โจยอยจึงตั้งโจซองและสุมาอี้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน ส่วนจีนล่งและคนอื่น ๆ ถูกปลดจากตำแหน่ง[5]

ทายาท

บุตรชายของจีนล่งชื่อฉิน ซิ่ว (秦秀) มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้เด็ดเดี่ยว เข้มงวด และพูดตรงไปตรงมา ฉิน ซิ่วดำรงตำแหน่งบัณฑิต (博士 ปั๋วชื่อ) ในสำนักศึกษาหลวง (太學 ไท่เสฺว) ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน (จักรรพรดิจิ้นอู่) แห่งราชวงศ์จิ้นหลังสิ้นสุดยุคสามก๊ก[6]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. (魏氏春秋曰:朗字元明,新興人。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  2. (獻帝傳曰:朗父名宜祿, ... 朗隨母氏畜于公宮,太祖甚愛之,每坐席,謂賔客曰:「豈有人愛假子如孤者乎?」) อรรถาธิบายจากเซี่ยนตี้จฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ vol. 3.
  3. (魏略曰:朗游遨諸侯間,歷武、文之世而無尤也。及明帝即位,授以內官,為驍騎將軍、給事中,每車駕出入,朗常隨從。時明帝喜發舉,數有以輕微而致大辟者,朗終不能有所諫止,又未甞進一善人,帝亦以是親愛;每顧問之,多呼其小字阿穌,數加賞賜,為起大第於京城中。四方雖知朗無能為益,猶以附近至尊,多賂遺之,富均公侯。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  4. (青龍元年 ... 步度根部落皆叛出塞,與比能合寇邊。遣驍騎將軍秦朗將中軍討之,虜乃走漠北。 ... 冬十月,步度根部落大人戴胡阿狼泥等詣并州降,朗引軍還。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  5. (景初二年, ... 其年,帝寢疾,欲以燕王宇為大將軍,及領軍將軍夏侯獻、武衞將軍曹爽、屯騎校尉曹肇、驍騎將軍秦朗共輔政。 ... 命更為詔,帝獨召爽與放、資俱受詔命,遂免宇、獻、肇、朗官。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 14.
  6. (世語曰:朗子秀,勁厲能直言,為晉武帝博士。) อรรถาธิบายจากชื่อยฺหวี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.

บรรณานุกรม

Kembali kehalaman sebelumnya