ซินเหียนเอ๋ง
ซินเหียนเอ๋ง (ค.ศ. 191-269)[2] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซิน เซี่ยนอิง (จีน: 辛憲英; พินอิน: Xīn Xiànyīng) เป็นสตรีสูงศักดิ์ ชนชั้นสูง และที่ปรึกษาชาวจีนผู้มีชีวิตในยุคสามก๊กของจีน ซินเหียนเอ๋งเป็นบุตรสาวของซินผีขุนนางของรัฐวุยก๊ก แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่เพียงแหล่งเดียวที่บันทึกถึงชีวประวัติของซินเหียนเอ๋งเขียนขึ้นโดยเซี่ยโหว จาน (夏侯湛) หลานยายของซินเหียนเอ๋งผู้เป็นบัณฑิตและขุนนางที่มีชื่อเสียงในยุคราชวงศ์จิ้น[3] ซินเหียนเอ๋งมีชื่อเสียงจากการให้คำแนะนำให้สมาชิกในครอบครัวและเครือญาติระหว่างเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของวุยก๊ก เช่น อุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง และกบฏจงโฮย ภูมิหลังครอบครัวบ้านเกิดของซินเหียนเอ๋งคือในอำเภอหยางจ๋าย (陽翟縣 หยางจ๋ายเซี่ยน) เมืองเองฉวน (潁川郡 อิ่งชฺวานจฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณนครยฺหวี่โจว มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน[4][5] บรรพบุรุษของซินเหียนเอ๋งแท้จริงแล้วมาจากเมืองหลงเส (隴西郡 หล่งซีจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครติ้งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) แต่ย้านถิ่นฐานมายังเมืองเองฉวนในช่วงศักราชเจี้ยนอู่ (建武; ค.ศ. 25–56) ในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นกองบู๊ช่วงต้นยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[6] บิดาของซินเหียนเอ๋งคือซินผี ผู้รับราชการเป็นขุนนางของขุนศึกโจโฉผู้กุมอำนาจราชสำนักส่วนกลางและคุมองค์พระเจ้าเหี้ยนเต้จักรพรรดิหุ่นเชิดในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หลังราชวงศ์ฮั่นตะวันออกล่มสลาย ซินผีได้รับราชการต่อมากับรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กและมีตำแหน่งสูงสุดเป็นเสนาบดีกรมรักษาราชวัง (衛尉 เว่ย์เว่ย์) ซินเหียนเอ๋งมีน้องชายชื่อซินเป (辛敞 ซิน ฉ่าง) ผู้รับราชการเป็นขุนนางของวุยก๊กเช่นกัน ซินเหียนเอ๋งสมรสกับหยาง ตาน (羊耽) บุตรชายคนสุดท้องของหยาง ซฺวี่ (羊續) ขุนนางของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก หยาง ตานเป็นชาวเมืองไทสัน (泰山郡 ไท่ชานจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครไท่อาน มณฑลชานตงในปัจจุบัน) รับราชการเป็นเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) ในราชสำนักวุยก๊ก[7] หลานอาของหยาง ตาน ได้แก่ เอียวเก๋า (羊祜 หยาง ฮู่) และหยาง ฮุย-ยฺหวี (羊徽瑜) (ทั้งสองเป็นบุตรชายและบุตรหญิงของหยาง เต้าพี่ชายของหยาง ตาน) ปฏิกิริยาต่อความยินดีของโจผีที่ได้ขึ้นเป็นรัชทายาทในปี ค.ศ. 217[8] ภายหลังจากโจผีบุตรชายของโจโฉได้ชัยชนะในการต่อสู้ชิงอำนาจกับโจสิดผู้เป็นน้องชาย แล้วได้ขึ้นเป็นรัชทายาทประจำราชรัฐของโจโฉผู้บิดา โจผีรู้สึกยินดีมากจึงเข้ากอดซินผีและพูดว่า "ท่านซินไม่รู้หรอกหรือว่าข้ามีความสุขมากแค่ไหน"[9] เมื่อซินผีเล่าเรื่องนี้ให้ซินเหียนเอ๋งบุตรสาวฟัง ซินเหียนเอ๋งก็ถอนหายใจและพูดว่า "รัชทายาทจะสืบทอดตำแหน่งของผู้ปกครองและสืบทอดแผ่นดินของผู้ปกครองในสักวันหนึ่ง เขาจะสืบทอดตำแหน่งจากบิดาโดยไม่รู้สึกเศร้าใจได้อย่างไร เขาจะปกครองแผ่นดินโดยไม่รู้สึกหวั่นใจได้อย่างไร หากเขาแสดงความยินดีแทนที่จะโศกเศร้าและหวาดหวั่น แผ่นดินจะคงอยู่ยืนยาวได้อย่างไร วุยจะรุ่งเรืองได้อย่างไร"[10][2] ซินเหียนเอ๋งบอกเป็นนัยว่าโจผีควรจะแสดงความรู้สึกเศร้าใจเพราะบิดาจะต้องตายก่อนที่เขาจะสามารถขึ้นเป็นผู้ปกครองคนถัดไป และเขาควรรู้สึกหวั่นใจกับความจริงที่ว่าเขาจะต้องแบกรับความรับผิดชอบอันหนักหน่วงในการปกครองแผ่นดิน หากโจผียอมรับบทบาทด้วยท่าทีอันสงบกว่านี้ ก็มีสิทธิ์ที่โจผีจะกลายมาเป็นผู้ปกครองที่เอาจริงเอาจังและชาญฉลาด แนะนำซินเประหว่างอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลงน้องชายของซินเหียนเอ๋งคือซินผีรับราชการเป็นเสนาธิการทัพของโจซองขุนพลวุยก๊กผู้มีฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของโจฮองจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของวุยก๊ก ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249[11] เมื่อโจซองติดตามโจฮองไปยังสุสานโกเบงเหลง (高平陵 เกาผิงหลิง) สุมาอี้ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมได้ฉวยโอกาสที่โจซองไม่อยู่นี้ก่อการรัฐประหารและยึดกำลังทหารทั้งหมดในนครหลวงลกเอี๋ยง สุมาเล่าจี๋ (魯芝 หลู่ จือ) นายกองพันในสังกัดของโจซองเตรียมการจะนำทหารของตนสู้ตีฝ่าออกจากลกเอี๋ยงไปสมทบกับโจซอง เมื่อสุมาเล่าจี๋ชวนให้ซินเปตามตนไปหาโจซองด้วยกัน[12] ซินเปรู้สึกกลัวจึงหันไปปรึกษากับซินเหียนเอ๋งผู้พี่สาวว่า "โอรสสวรรค์อยู่ด้านนอก ราชครู (สุมาอี้) สั่งปิดประตูเมือง ผู้คนพูดว่านี่ไม่เป็นเรื่องดีต่อแผ่นดินเลย ท่านคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น"[13] ซินเหียนเอ๋งตอบว่า "เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ตามความเห็นของพี่ ราชครูไม่มีทางเลือกอื่นจึงจำต้องทำเรื่องนี้ ก่อนที่หมิงตี้ (โจยอย) จะสวรรคต พระองค์ทรงตั้งให้เขาเป็นราชครูและทรงมอบหมายราชการแผ่นดิน ขุนนางหลายคนในราชสำนักยังจำเรื่องนี้ได้ดี แม้ว่าโจซองจะได้รับมอบหมายความรับผิดชอบนี้ร่วมกับราชครูเช่นกัน แต่เขากลับผูกขาดอำนาจและกระทำเยี่ยงเผด็จการ เขาไม่ซื่อสัตย์ต่อองค์จักรพรรดิ คุณธรรมจึงไม่สูงส่ง ราชครูเพียงแค่ต้องการกำจัดเขาออกไปเท่านั้น"[14] ซินเปถามซินเหียนเอ๋งว่าควรจะตามสุมาเล่าจี๋ออกไปหรือไม่ ซินเหียนเอ๋งตอบว่า "ไม่ไปได้อย่างไร การปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเป็นเรื่องที่ชอบธรรม เมื่อคนอื่นเดือดร้อน เราก็ควรจะช่วยเหลือพวกเขา หากเจ้าทำงานให้ใครและเจ้าไม่ทำในสิ่งที่ต้องทำก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย หากเจ้าเป็นคนสนิท (ของโจซอง) เจ้าก็ควรแสดงความภักดีต่อเขาและสละชีวิตของเจ้าเพื่อเขาหากจำเป็น แต่ในกรณีนี้ (เจ้าไม่ได้เป็นคนสนิทของโจซอง ดังนั้น) เจ้าเพียงแค่ตามออกไปตามหน้าที่ของคนส่วนมากก็เท่านั้น" ซินเปทำตามคำแนะนำของซินเหียนเอ๋งและตามสุมาเล่าจี๋ออกจากลกเอี๋ยงไปร่วมกับโจซอง[15] ในที่สุดโจซองก็ยอมจำนนต่อสุมาอี้และสละอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้กับสุมาอี้ ต่อมาโจซองถูกตั้งข้อหากบฏและถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัว รวมไปถึงคนสนิทของโจซองและครอบครัว ภายหลังจากโจซองเสียชีวิต เจียวเจ้พูดกับสุมาอี้ว่า "ซินเปและ[สุมา]เล่าจี๋กับพรรคพวกคนอื่น ๆ ได้สังหารทหารรักษาประตูไปเข้าด้วยพวกกบฏ เอียวจ๋ง (楊綜 หยาง จง) คัดค้านการยอมมอบตราประจำตำแหน่งของเสนาบดีผู้ล่วงลับ (โจซอง) พวกคนเหล่านี้สมควรถูกลงโทษ" แต่สุมาอี้ไม่ให้ดำเนินการใด ๆ กับคนเหล่านั้นโดยกล่าวว่า "พวกเขาเป็นคนชอบธรรมที่รับใช้นายอย่างซื่อสัตย์" และยืนยันให้พวกเขายังคงอยู่ในตำแหน่งตามเดิม ซินเปถอนหายใจกล่าวว่า "ถ้าเราไม่ปรึกษาพี่สาวเสียก่อน ก็คงทำสิ่งที่ไม่ชอบธรรมไปแล้ว"[16] มีบทกวียกย่องซินเหียนเอ๋งว่า:
เนื่องด้วยทัศนคติที่เป็นคุณธรรมของซินเหียนเอ๋ง สุมาอี้จึงประทับใจในความซื่อสัตย์ของนาง ตระกูลซินจึงรอดพ้นจากการกวาดล้างและภายหลังได้กลายเป็นตระกูลขุนนางที่ภักดีที่สุดตระกูลหนึ่งของราชวงศ์จิ้น คาดการณ์การล่มจมของจงโฮยเมื่อจงโฮยขุนพลวุยก๊กได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันตก (鎮西將軍 เจิ้นซีเจียงจฺวิน) ในปี ค.ศ. 263[17] ซินเหียนเอ๋งถามเอียวเก๋าหลานชายว่า "เหตุใดจง ชื่อจี้[b] จึงไปทางตะวันตก" เอียวเก๋าตอบว่า "เพื่อนำทัพทำศึกเพื่อพิชิตจ๊ก"[18] ซินเหียนเอ๋งจึงเตือนเอียวเก๋าว่า "จงโฮยเป็นคนดื้อดึงและกระทำตามใจตน เกรงว่าเขาจะไม่อยู่ใต้อำนาจผู้ใดนาน ๆ อาเห็นว่าเขาต้องก่อกบฏในกาลภายหน้าเป็นแน่"[19] เมื่อจงโฮยกำลังจะยกทัพออกไปทำศึกกับจ๊กก๊ก ได้เขียนฎีกาถวายราชสำนักวุยก๊กเพื่อขอนำหยาง ซิ่ว (羊琇) บุตรชายของซินเหียนเอ๋งไปเป็นเสนาธิการทัพของตน ซินเหียนเอ๋งคร่ำครวญว่า "ในกาลก่อนข้าห่วงใยเพื่อรัฐ บัดนี้ปัญหามาเยือนตระกูลข้าเสียแล้ว" หยาง ซิ่วร้องขอต่อสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของวุยก๊กไม่ให้ตนติดตามจงโฮยไปทำศึก แต่สุมาเจียวปฏิเสธคำขอนี้[20] ก่อนที่หยาง ซิ่วจะออกไป ซินเหียนเอ๋งแนะนำหยาง ซิ่วว่า "จงคำนึงถึงการกระทำของตนอยู่เสมอ เหล่าวิญญูชน (君子 จฺวินจื่อ) ในยุคโบราณมีความกตัญญูต่อบิดามารดาที่บ้าน และมีความจงรักภักดีต่อรัฐของตนนอกบ้าน เมื่อเจ้าปฏิบัติหน้าที่ จงคิดอยู่เสมอว่าเจ้าทำหน้าที่อะไร เมื่อเจ้าเผชิญหน้ากับประเด็นทางจริยธรรม จงคิดอยู่เสมอว่าเจ้ายืนอยู่ที่ไหน อย่าให้ทำบิดามารดาเป็นห่วงเจ้า เมื่อเจ้าอยู่ในกองทัพ จงเมตตาต่อผู้อื่น จะช่วยเจ้าได้อย่างยาวนาน"[21] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 264[17] หลังจากวุยก๊กพิชิตจ๊กก๊กได้สำเร็จ จงโฮยก็เริ่มก่อกบฏต่อวุยก๊ก แต่การก่อกบฏล้มเหลวเพราะผู้ใต้บังคับบัญชาของจงโฮยบางส่วนหันกลับมาต่อต้านจงโฮยและสังหารจงโฮยลงได้ หยาง ซิ่วยังคงปลอดภัยตลอดช่วงเวลาที่เกิดการก่อกบฏ[22] เสียชีวิตซินเหียนเอ๋งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 269 ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยนแห่งราชวงศ์จิ้น ซินเหียนเอ๋งเสียชีวิตขณะอายุ 79 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[a][2] คำวิจารณ์ซินเหียนเอ๋งผู้ใฝ่เรียนและชอบอ่านตำราตั้งแต่วัยเด็ก[23] ซึ่งเด็กผู้หญิงในสมัยนั้นปกติไม่ทำกัน ซินเหียนเอ๋งยังเป็นที่รู้จักในด้านสติปัญญาความสามารถด้วย[24] ซินเหียนเอ๋งยังเป็นที่รู้จักในด้านการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและมัธยัสถ์ ครั้งหนึ่งเอียวเก๋าหลานชายของซินเหียนเอ๋งส่งผ้าห่มทำจากผ้าไหมเป็นของขวัญให้ซินเหียนเอ๋ง ซินเหียนเอ๋งเห็นว่าของขวัญนี้ราคาแพงเกินไปจึงส่งคืนกลับให้เอียวเก๋า[25] ญาติและผู้สืบเชื้อสายซินเหียนเอ๋งและหยาง ตาน (羊耽) มีบุตรชายอย่างน้อย 2 คนและบุตรสาวอย่างน้อย 1 คน บุตรชายคนแรกชื่อหยาง จิ่น (羊瑾) รับราชการเป็นรองราชเลขาธิการฝ่ายขวา (尚書右僕射 ช่างชูโย่วผูเช่อ) ในราชสำนักวุยก๊ก[26] บุตรชายของหยาง จิ่นชื่อหยาง เสฺวียนจือ (羊玄之) รับราชการเป็นรองราชเลขาธิการฝ่ายขวา (尚書右僕射 ช่างชูโย่วผูเช่อ) และขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) ในราชสำนักราชวงศ์จิ้น หยาง เสฺวียนจือเป็นบิดาของหยาง เซี่ยนหรง (羊獻容) ผู้สมรสกับจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้แห่งราชวงศ์จิ้น[27] บุตรชายคนที่ 2 ของซินเหียนเอ๋งและหยาง ตานชื่อหยาง ซิ่ว (羊琇) รับราชการในราชสำนักของราชวงศ์จิ้นต่อไปหลังการสิ้นสุดรัฐวุยก๊ก และกลายเป็นนนางทหารม้ามหาดเล็ก (散騎常侍 ซ่านฉีฉางชื่อ) ของสุมาเอี๋ยน จักรพรรดิลำดับแรกของราชวงศ์จิ้น[28] บุตรสาวของซินเหียนเอ๋งและหยาง ตานสมรสกับเซี่ยโหว จฺวาง (夏侯莊) บุตรชายของแฮหัวหุย (夏侯威 เซี่ยโหว เวย์) และหลานชายของแฮหัวเอี๋ยน (夏侯淵 เซี่ยโหว เยฺวียน) เซี่ยโหว จฺวางและบุตรสาวของซินเหียนเอ๋งมีบุตรชายหนึ่งคือชื่อเซี่ยโหว จ้าน (夏侯湛) ผู้กลายเป็นบัณฑิตและขุนนางที่มีชื่อเสียงของราชวงศ์จิ้น เซี่ยโหว จฺวางยังมีบุตรชานอีกคนหนึ่งชื่อเซี่ยโหว ฉุน (夏侯淳) ผู้รับราชการเป็นเจ้าเมืองในยุคราชวงศ์จิ้น[29] บุตรสาวของเซี่ยโหว จฺวางชื่อเซี่ยโหว กวางจี (夏侯光姬) เป็นพระราชมารดาของจักรพรรดิจิ้น-ยฺเหวียนตี้แห่งราชวงศ์จิ้น[30] ญาติที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ ของซินเหียนเอ๋ง ได้แก่ เอียวเก๋า (羊祜 หยาง ฮู่) และหยาง ฮุย-ยฺหวี (羊徽瑜) เป็นหลานชายและหลานสาวของซินเหียนเอ๋งตามลำดับ ผ่านการที่ซินเหียนเอ๋งสมรสกับหยาง ตาน ในวัฒนธรรมประชานิยมซินเหียนเอ๋งปรากฏครั้งแรกในฐานะตัวละครที่เล่นได้ซึ่งอยู่ฝ่ายราชวงศ์จิ้นในภาคที่ 9 ของซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ของโคเอเทคโม บุคลิกของซินเหียนเอ๋งถูกแสดงว่าเป็นหญิงสาวผู้ร่าเริงและชาญฉลาดและวิจารณญาณดีเยี่ยม ตัวละครได้รับการพากย์เสียงโดยชิโนะ ชิโมจิ หมายเหตุ
อ้างอิง
บรรณานุกรม
|