ชะเอมเทศ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Glycyrrhiza glabra มาจากภาษากรีกแปลว่า "รากหวาน") เป็นพรรณไม้ที่มีอายุนานหลายปี ลำต้นมีความยาวประมาณ 1-2 เมตร มีรากใหญ่แตกแขนงจำนวนมาก ใบเป็นใบประกอบลักษณะเป็นรูปขนนก ก้านใบย่อยสั้นมาก แผ่นใบรูปไข่ มีใบย่อยประมาณ 9-17 ใบ ส่วนก้านใบย่อยนั้นจะสั้นมาก ใบจะเป็นสีเขียวอมเหลือง ดอกจะออกเป็นช่อ กลีบดอกจะเป็นสีม่วงอ่อน ๆ และก้านดอกจะสั้นมาก ฝักจะมีลักษณะแบน และผิวข้างนอกจะเรียบ นุ่ม
สายพันธุ์
ชะเอมเทศมีหลายพันธุ์ [2]เช่น
- ชะเอมสเปน หรือ var. typical มีรสหวานมากกว่าพันธุ์อื่น
- ชะเอมรัสเซีย หรือ var. glandulifera เป็นพรรณไม้ที่มีขนอยู่เต็มทั้งต้น ใบจะเป็นใบประกอบรูปขนนก ฝักมีหนามขนาดเล็ก อยู่ทั่วฝัก รากนั้นจะเป็นรากขนาดใหญ่ ตรงปลายจะเรียวลงคล้ายกระสวย รากนี้ถ้าไม่ได้เอา เปลือกออกจะมีลักษณะเป็นท่อนยาวประมาณ 15-30 ซม. และมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1-5 ซม. ส่วนผิวนอกจะเป็นสีเหลืองซีดหรืออาจเป็นสีน้ำตาลแดง ผิวจะหยาบ และมีเส้นใยมาก เนื้อข้างในจะเป็นสีเหลืองมะนาว และมีรสหวานออกขมเล็กน้อย เปลือกรากรสขมมาก ต้องลอกเปลือกออกก่อน
สรรพคุณทางยา
- เปลือกของราก จะมีเป็นสีแดง และมีรสหวานใช้เป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการคลื่นเหียน อาเจียน
- ใบทำให้เสมหะแห้ง และเป็นยารักษาดีพิการ
- ดอกใช้รักษาอาการคัน และรักษาพิษฝีดาษ
- ผลจะมีรสหวาน ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง และอาการคอแห้ง ทำให้ชุ่มชื้น
- รากจะมีรสชุ่ม ใช้เป็นยาบำรุงปอด ขับเลือดที่เน่าในท้อง รักษาพิษยาหรือพืชพิษต่าง ๆ ชนิดคั่วแล้วรักษาอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ตรากตรำทำงานหนัก ปวดท้อง ไอเป็นไข้ สงบประสาท บำรุงปอด ใช้รากสดรักษาอาการเจ็บคอ เป็นแผลเรื้อรัง ระบบการย่อยอาหารไม่ดี หรืออาหารเป็นพิษ และรักษากำเดาให้เป็นปกติ รากแห้งของพืชชนิดนี้ใช้ทำยาระบายอ่อนๆ หรือใช้ปรุงแต่งรส
- อื่น ๆในรากของชะเอมนั้น จะมีแป้งและความหวานมาก ต้องรักษาไว้อย่าให้แมลงมารบกวน เพราะพวกมอดและแมลงอื่นชอบกิน ถ้าผุจะทำให้เสื่อมคุณภาพ นอกจากนี้ยังใช้รากผสมยาอื่น ช่วยกลบรสยา หรือแต่งยาให้หวานอีกด้วย
ข้อมูลทางคลีนิค
- รักษาอาการปัสสาวะออกมากผิดปกติ (เบาจืด)
- รักษาแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก
- รักษาอาการหอบหืดจากหลอดลมอักเสบ
- รักษาโรควัณโรคปอด
- รักษาเส้นเลือดดำขอด
- รักษาลำไส้บีบตัวผิดปกติ ซ้อนกันเป็นก้อน
- รักษาโรคไข้มาลาเรีย
- รักษาโรคพยาธิใบไม้ในเลือดอย่างเฉียบพลัน
- รักษาโรคตับอักเสบชนิดที่ติดต่อได้
- รักษาเยื่อตาอักเสบ
- รักษาผิวหนังบริเวณแขน ขา แตกเป็นขุย
- รักษาผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน
- รักษาปากมดลูกอักเสบเน่าเปื่อย
- รักษาแผลที่เกิดจากการถูกความเย็นจัด
- รักษาเยื่อหุ้มลูกตาชั้นนอกอักเสบ (Scleritis)
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
- มีฤทธิ์รักษาอาการอักเสบและอาการแพ้ กรดกลีเซอเรตินิคมีฤทธิ์ในการรักษาอาการบวมอักเสบในหนูใหญ่
- มีฤทธิ์อะดรีโนคอร์ติโคสเตียรอยด์ (adrenocorticosteroids) ฤทธิ์คล้ายคอร์ติโตสเตียรอยด์ มีสารสกัดเข้มข้น โปแตสเซียมกลีเซอไรซิเนต หรือแอทโมเนียมกลีเซอไรซิเนต กรดกลีเซอเรตินิค (glycyrhetinic acid) สารพวกนี้ล้วนแต่มีฤทธิ์เหมือนกับดีออกซีคอร์ติโซน (deoxycortisone) ทำให้การขับถ่ายปริมาณของปัสสาวะ และเกลือโซเดียมลดน้อยลง และฤทธิ์คล้ายกลูโคคอร์ติโคสเตียรอยด์ (glucocorticosteroids) กรดกลีเซอเรตินิคจะไปยังยั้งการทำลายกรด อะดรีโนคอร์ติโคสเตียรอยด์ ในร่างกายทำให้ปริมาณของคอร์ติโคสเตียรอยด์ในเลือดให้สูงขึ้น
- มีฤทธิ์ในการรักษาพิษ กลีเซอไรซินและน้ำต้มสกัดชะเอมมีฤทธิ์รักษาพิษของตริคนีนได้ โดยสามารถลดความเป็นและอัตราการตายจากสตริคนีนได้ ฤทธิ์นี้อาจเนื่องมาจากกรดกลูคิวโรนิค ที่มีอยู่ในชะเอมเทศ
- มีฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารคือ มีฤทธิ์ในการรักษาแผลเรื้อรังในระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ต่อการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ
- ฤทธิ์ต่ออาการดีซ่านที่ทำให้เกิดขึ้นในการทดลอง กลีเซอไรซินและกรดกลีเซอเรตินิค ทำให้บิลิรูบิน (Bilirubin) ในพลาสมาของกระต่ายและหนูใหญ่สีขาวที่เกิดจากการผูกท่อน้ำดีให้มีปริมาณลดลง และการขับบิลิรูบินออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น
- มีฤทธิ์ต่อการเผาผลาญไขมันในเส้นเลือด กลีเซอไรซินจะไม่มีผลต่อการเผาผลาญไขมันในคนปรกติ แต่ในคนไข้ที่มีความดันเลือดสูง ส่วนมากเมื่อกินกลีเซอไรซินไปแล้วจะทำให้ระดับโฆเลสเตอรอลในเลือดนั้นลดลง และความดันเลือดจะลดลงด้วย
- มีฤทธิ์รักษาอาการไอ หลังจากที่ได้กินชะเอมเทศแล้วสารที่สกัดได้จะไปเคลือบเยื่อเมือกตามบริเวณที่อักเสบตามคอจะช่วยลดการระคายเคืองและบรรเทาอาการไอด้วย
- มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการชัก สารที่สกัดที่ได้จากชะเอม FM100 จะมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้
- มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง กรดกลีเซอเรตินิคนี้มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งในไขกระดูกชนิด Oberling-Guerin ที่ได้เพาะเลี้ยงในไขกระดูกของหนูใหญ่สีขาว
- มีฤทธิ์ต่อระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ กลีเซอไรซิน และเกลือแคลเซียมกลีเซอไรวิเนต นำมาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ จะทำให้เพิ่มฤทธิ์ในการขับปัสสาวะของธีโอฟิลลีน (theophylline)
- ฤทธิ์อื่น ๆ โซเดียมกลีเซอไรซิเนตจะทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น และกลีเซอไรซินนี้มีฤทธิ์ในการลดไข้ในหนูเล็กสีขาวและกระต่ายทดลองที่ทำให้เกิดขึ้นได้
อ้างอิง