บูเช็กเทียน
อู่ เจ๋อเทียน ตามสำเนียงกลาง หรือ บูเต็กเทียง ตามสำเนียงแต้จิ๋ว หรือ บูเช็กเทียน ตามสำเนียงฮกเกี้ยน (จีนตัวย่อ: 武则天; จีนตัวเต็ม: 武則天; พินอิน: Wǔ Zétiān; เวด-ไจลส์: Wu3 Tse2-t'ien1; 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 624[6][7] – 16 ธันวาคม ค.ศ. 705[8]) [9] พระนามเดิมว่า อู่ จ้าว (จีน: 武曌; พินอิน: Wǔ Zhào; เวด-ไจลส์: Wu3 Chao4) ในราชวงศ์ถังมักออกพระนามว่า เทียนโฮ่ว (天后) [10] และในสมัยต่อมาว่า อู่โฮ่ว (武后) ทรงเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์อู่โจว และทรงเป็นสตรีพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนอันยาวนานกว่าสี่พันปีที่ได้เป็นฮ่องเต้ ในแผ่นดินของพระราชสวามีและพระราชบุตรของพระนางระหว่างปี ค.ศ. 665 ถึง 690 พระนางทรงปกครองจีนโดยพฤตินัย ต่อมาในปี ค.ศ. 690 ถึง 705 พระนางทรงสถาปนาราชวงศ์ของพระนางเอง คือ ราชวงศ์โจว หรือในประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า ราชวงศ์อู่โจว และเฉลิมพระนามพระนางเองว่า เชิ่งเสินหวงตี้ (聖神皇帝) [11] อันเป็นการละเมิดประเพณีแต่โบราณและยังทำให้ราชวงศ์ถังสะดุดหยุดลงระยะหนึ่ง นักประวัติศาสตร์ผู้นิยมลัทธิขงจื๊อจึงประณามพระนางเป็นอย่างมาก อู่ เจ๋อเทียน ทรงมีตำแหน่งสำคัญทั้งในสมัยถังไท่จง จักรพรรดิพระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์ถัง และในสมัยถังเกาจง จักรพรรดิพระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์ถัง โดยแรกเริ่มทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสนมของถังไท่จง เมื่อถังไท่จงสวรรคต พระนางจึงได้อภิเษกสมรสกับถังเกาจงในปี ค.ศ. 655 และได้รับการขนานพระนามว่า เกาจงฟูเหริน (高宗夫人) ในปี ค.ศ. 690 หลังจากถังเกาจงสวรรคต ก็เกิดการแย่งชิงราชสมบัติเป็นเวลากว่า 7 ปี ในที่สุดพระนางได้ทรงตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้หญิงพระองค์แรกในประวัติศาสตร์จีน รวมถึงประกาศเปลี่ยนราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์อู่โจวตั้งแต่นั้นมา จนสวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 705[12] ในช่วงที่อู่ เจ๋อเทียน ทรงเป็นผู้นำทั้งด้านการปกครองและการทหาร มีการขยายอำนาจของจีนออกไปเป็นอันมากเกินกว่าอาณาเขตดินแดนเดิมที่เคยมีมา ไปถึงบริเวณทวีปเอเชียกลาง รวมถึงการครอบครองพื้นที่แถบคาบสมุทรเกาหลีตอนบน ส่วนภายในประเทศจีนเอง แม้จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไขว่คว้าเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของพระนางทั้งในการสู้รบ ปราบปรามกบฏ และลงโทษประหารชีวิต แต่พระนางได้ทรงพัฒนาประเทศโดยการส่งเสริมและเผยแพร่ระบบการสอบจอหงวนเพื่อส่งเสริมให้บัณฑิตผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามารับราชการบริหารประเทศโดยไม่คำนึงถึงชนชั้น[13] ส่งเสริมและยกระดับบทบาทของสตรีเพศโดยเปิดโอกาสให้เข้ารับตำแหน่งราชการในระดับสูง นอกจากนี้พระนางยังให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนด้วยการลดภาษีอากรที่กดขี่ ส่งเสริมการเกษตรและการสร้างงาน[13] ทำให้ประเทศจีนในยุคของพระนางมีความเข้มแข็งและพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อู่ เจ๋อเทียน ทรงส่งเสริมและให้ความสำคัญแก่พระพุทธศาสนามากกว่าลัทธิเต๋าในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ จนจัดให้มีการสร้างวัดและปฏิมากรรมในถ้ำ เช่น ถ้ำผาหลงเหมิน กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาได้รับการพัฒนาอย่างสูงสุดในประเทศจีนในช่วงยุคของพระนาง[13] นอกจากในฐานะผู้นำทางการเมือง อู่ เจ๋อเทียน ยังมีชีวิตครอบครัวที่โดดเด่น แม้ว่าในบางครั้งความสัมพันธ์ในครอบครัวจะเป็นปัญหาให้แก่พระนาง มีพระโอรส 3 พระองค์ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นจักรพรรดิ และพระนัดดาของพระนาง คือ ถังเสวียนจง จักรพรรดิหนึ่งในยุคทองแห่งประวัติศาสตร์จีน[14] พระนามบูเช็กเทียน มีพระนามเดิมว่า อู่ จ้าว (Wu Zhao) [9] (บางครั้งใช้ตัวอักษรจีนว่า "武曌" หากว่าตัวอักษรที่ใช้จริงไม่เป็นที่ปรากฏชัด อย่างไรก็ตามคำว่า "จ้าว" ไม่ได้ใช้ตัวอักษร "瞾" เนื่องจากตัวอักษรนี้เป็นอักษรที่มีการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยของพระนางเอง ส่วนแซ่หรือราชสกุลของพระนางคือ "อู่" ซึ่งยังคงใช้อยู่แม้ว่าจะทรงอภิเษกสมรสกับ จักรพรรดิถังเกาจง ซึ่งใช้ราชสกุล หลี่ ต่อมาจักรพรรดิถังไท่จง พระราชทานพระนามให้แก่พระนางใหม่ว่า "เม่ย์" (媚) [15] ทำให้ในปัจจุบัน ประชาชนจีนมักเอ่ยพระนามของพระนางว่า อู่เม่ย์ หรือ อู่เม่ย์เหนียง (武媚娘) เมื่อกล่าวถึงชีวิตในวัยเยาว์ของพระองค์ และจะใช้ชื่อเรียกพระนามว่า อู่โฮ่ว เมื่อกล่าวถึงพระนางในช่วงที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสี (หรือฮองเฮา) และพระพันปี (หรือไทเฮา) แล้ว ส่วนการใช้คำว่า อู่ เจ๋อเทียน (จีน: 武則天) จะใช้เมื่อกล่าวถึงพระองค์ในขณะดำรงพระยศเป็นจักรพรรดิ (ฮ่องเต้) แห่งราชวงศ์อู่โจวของจีน[ต้องการอ้างอิง]) พระราชประวัติพระราชสมภพ(สำหรับรายนามสมาชิกในตระกูลของจักรพรรดินีอู่ เจ๋อเทียน ดูเพิ่มที่: List of family of Wu Zetian) ) ตระกูลอู่มีต้นกำเนิดในเมืองเหวินสุ่ย (จีน: 文水) มณฑลปิ้งโจว (จีน: 并州) (ปัจจุบันคือ ตำบลเหวินสุ่ยในมณฑลซานซี) บูเช็กเทียนเกิดในเมืองลี่โจว (จีน: 利州) (ปัจจุบันคือ เมืองก่วงหยวน (จีน: 广元) ในมณฑลเสฉวน) [ต้องการอ้างอิง] หรือมิฉะนั้นอาจเป็นที่เมืองฉางอาน (ปัจจุบันคือเมืองซีอาน) ในช่วงรัชสมัยจักรพรรดิถังเกาจู่ ประสูติเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 624[6][16] และสวรรคตในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 705[6][8] จักรพรรดินีอู่ประสูติในปีที่ 7 แห่งรัชสมัยจักรพรรดิถังเกาจู่ โดยปีนั้นเป็นปีที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง (total eclipse of the Sun) ซึ่งสามารถมองเห็นได้ในประเทศจีน บิดาของพระนางคือ อู่ ซึ่อฮั่ว (Wu Shihuo; จีนตัวย่อ: 武士彟; จีนตัวเต็ม: 武士彠 พินอิน: Wǔ Shìhuò; 559-635 CE) มีอาชีพเกี่ยวกับการค้าไม้ ซึ่งเป็นเพียงพ่อค้าสามัญชนธรรมดาที่มีฐานะคนหนึ่ง ส่วนมารดาของพระนางนั้นมาจากตระกูลหยางซึ่งเป็นตระกูลที่มีอำนาจมากในสมัยนั้น ในช่วงปีสุดท้ายของรัชสมัยจักรพรรดิสุยหยาง หลี่ยวน (Li Yuan; จีน: 李淵) ผู้มีตำแหน่งแม่ทัพขุนนางในราชวงศ์สุย ซึ่งภายหลังกลายเป็นจักรพรรดิถังเกาจู่แห่งราชวงศ์ถังได้เข้าพักอาศัยอยู่ในบ้านของตระกูลอู่ (หรือบู) หลายครั้งจนมีความสนิทสนมกับตระกูลนี้ หลังจากหลี่หยวนล้มล้างอำนาจของจักรพรรดิสุยหยางได้แล้ว พระองค์ได้ตอบแทนตระกูลอู่ด้วยเงินทอง เมล็ดพันธุ์พืช ที่ดิน และแพรพรรณเนื้อดีต่าง ๆ เป็นอันมาก และเมื่อสถาปนาราชวงศ์ถังสำเร็จ อู่ซี่อฮั่วได้รับตำแหน่งเสนาบดีอาวุโสและตำแหน่งผู้ครองเมืองหยางโจว ลี่โจว และจิงโจว (Jingzhou; จีน: 荊州) ปัจจุบันคือ เขตเจียงหลิง (Jiangling County; จีน: 江陵县) ในมณฑลหูเป่ย์ ต่อมาจักรพรรดิเกาจู่ได้สละราชสมบัติ พระราชโอรสของพระองค์ คือ เจ้าชายหลี่ซื่อหมิน (Li Shi Min; จีน: 李世民; พินอิน: Lǐ shì min) จึงขึ้นครองราชย์ต่อเป็นจักรพรรดิถังไท่จงนั่นเอง พระราชมารดาของจักรพรรดินีอู่ เจ๋อเทียนนั้นเดิมทรงเป็นเชื้อสายราชวงศ์สุย (隋朝) ที่ปกครองประเทศจีนมาก่อนราชวงศ์ถัง ซึ่งท่านหญิงหยาง พระราชมารดาของพระนางนั้นเดิมเป็นพระนัดดาของกวนหวัง (จีน: 关王; พินอิน: Guān wáng) หรือพระนามเดิม หยางสง ซึ่งเป็นพระญาติสนิทของจักรพรรดิสุยหยาง (พระนามจริงว่า หยางกว่าง) จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์สุย จึงนับได้ว่าท่านหญิงหยางเป็นผู้เกิดในชาติตระกูลสูง หากราชวงศ์สุยมิได้ล่มสลายลงไปเสีย อู่ซื่อฮั่วคงมิได้มีโอกาสพบเจ้าหญิงหยาง แต่เมื่อราชวงศ์สุยล่มสลายไป เจ้าหญิงหยางจึงจำต้องหาที่พึ่งพิง สตรีในยุคนั้นมีทางเลือกไม่มากนัก เนื่องจากขณะนั้นพระองค์เป็นเพียงสมาชิกราชวงศ์ที่ตกยาก ซึ่งอู่ซื่อฮั่วเองก็ต้องการที่หาภริยาที่จะมาส่งเสริมเชิดชูเกียรติของตนเองเช่นกัน โดยเฉพาะในยามที่ต้องออกสังคมกับพวกขุนนาง ซึ่งก็มักจะเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเจ้าหญิงเชื้อสายราชวงศ์สุยอย่างเจ้าหญิงหยางจึงเป็นที่หมายปองของอู่ซื่อฮั่วเป็นอย่างมาก เมื่อความต้องการของทั้งสองฝ่ายตรงกัน เจ้าหญิงหยางจึงทรงสมรสกับอู๋ซื่อฮั่ว (โดยมีฐานะเป็นภริยาคนที่สอง เนื่องจากอู่ซื่อฮั่วมีภริยาคนแรกอยู่แล้วเป็นหญิงสามัญชน) และถูกเรียกขานนามว่าท่านหญิงหยาง นับแต่นั้นมา แม้จะเป็นภริยาคนที่ 2 แต่ว่าเป็นเชื้อพระวงศ์เก่ามาก่อนท่านหญิงหยางจึงเป็นที่รักและยกย่องของอู๋ซื่อฮั่วอย่างมาก ทำให้ภริยาคนแรกกับบุตรชายทั้ง 2 ที่เกิดกับภริยาคนแรกไม่ชอบใจท่านหญิงหยางและเกิดเหตุกระทบกระทั่งทำร้ายจิตใจกันตลอดมา[17] ครั้นต่อมาเมื่อท่านหญิงหยางได้ให้กำเนิดทารกน้อยบูเช็กเทียน (อู่ เจ๋อเทียน) ได้มีเรื่องเล่ากันว่ามีโหรใหญ่คนหนึ่งชื่อหยวนเทียนกังมาเห็นทารกน้อยที่น่ารักคนนี้ และนึกว่าเป็นเด็กชายจึงออกปากทักไปว่า เด็กคนนี้ถ้าหากเป็นหญิงล่ะก็ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดินจีนเป็นแน่ ยิ่งกว่านั้นเมื่อบูเช็กเทียนได้เข้าวังไปแล้ว โหราจารย์แห่งราชสำนักยังได้พยากรณ์สำทับอีกว่า ต่อไปสตรีแซ่อู่จะมีอำนาจขึ้นล้มราชวงศ์ถัง พงศาวลี
วัยพระเยาว์จักรพรรดินีอู่ประสูติในตระกูลร่ำรวย มีคนรับใช้ที่คอยช่วยเหลือเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่เคยเรียนรู้งานในบ้านใด ๆ พระราชบิดาของพระนางจึงสนับสนุนให้พระนางอ่านหนังสือและศึกษาเล่าเรียนหนังสือแทน ซึ่งแตกต่างจากบิดาที่มีบุตรสตรีคนอื่น ๆ ในยุคนั้นเป็นอย่างมาก และพระนางเองก็มิได้เป็นสตรีประเภทที่สามารถนั่งเงียบ ๆ ทำงานเย็บปักถักร้อย หรือดื่มชาทั้งวันได้ พระนางจึงตั้งใจเล่าเรียนวิชาต่าง ๆ มากมาย อาทิ วิชาด้านการเมืองและการปกครอง การเขียน วรรณกรรม และดนตรี พระนางเติบโตขึ้นพร้อมกับการเรียนรู้มากมายที่พระราชบิดาของพระนางเป็นผู้สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เมื่ออายุได้ 14 พรรษา พระนางจึงถูกส่งเข้าถวายตัวเป็นนางสนมของจักรพรรดิถังไท่จง เมื่อพระนางอายุได้ 14 พรรษา ได้ถูกส่งเข้าถวายตัวเป็นพระสนมของจักรพรรดิถังไท่จง และที่นี่เองที่พระนางเริ่มรับหน้าที่ฝ่ายในในตำแหน่งคล้ายเลขานุการ ซึ่งทำให้พระนางได้สานต่อด้านการศึกษาอีกครั้ง ในรัชสมัยของจักรพรรดิถังไท่จงนั้น พระอัครมเหสี หรือ หวงโฮ่ว (จีน: 皇后; พินอิน: Huánghòu) คือจักรพรรดินีจ่างซุน (จีน: 长孙皇后; พินอิน: Zhǎng xūn huánghòu; พระนางทรงมีแซ่ 2 พยางค์คือ ฉางซุน หรือ จ่างซุน ส่วนพระนามคือ อู่เต๋อ) เป็นพระชนนีของพระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ของจักรพรรดิถังไท่จง ในเวลาต่อมาเจ้าชายหลี่เฉิงเฉียน พระราชโอรสพระองค์แรกผู้ดำรงตำแหน่งรัชทายาท (จีน: 皇太子; พินอิน: Huáng tàizǐ) กับพระราชโอรสพระองค์ต่อมาคือ เจ้าชายหลี่ไท่ ซึ่งมีความขัดแย้งต่อกันมานาน เนื่องจากเจ้าชายหลี่ไท่มีพระประสงค์จะเป็นรัชทายาท แต่ด้วยความที่พระองค์มิได้เป็นพระราชโอรสพระองค์แรก พระองค์ยังทรงทราบด้วยอีกว่ารัชทายาท เจ้าชายหลี่เฉิงเฉียนนั้นเป็นพวกรักร่วมเพศ จึงทรงพยายามทุกทางที่จะกำจัดพระเชษฐาของพระองค์เองให้ได้ โดยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เจ้าชายหลี่เฉิงเฉียนรัชทายาทเกือบจะถูกจักรพรรดิถังไท่จงพระบิดาจะจับได้แล้วว่าพระองค์นั้นทรงเป็นพวกรักร่วมเพศ หากแต่หลักฐานไม่เพียงพอ จักรพรรดิถังไท่จงจึงทรงเลือกที่จะเชื่อพระราชโอรสของพระองค์มากกว่า และโปรดให้ประหารชีวิตขันทีคนสนิทซึ่งเป็นคู่รักของรัชทายาทเสีย แต่ไม่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลดเจ้าชายหลี่เฉิงเฉียนจากรัชทายาทแต่อย่างใด ต่อมารัชทายาทวางแผนกบฏเพื่อรวบอำนาจมาไว้ที่ตนเองแต่ผู้เดียว เพื่อเป็นการกำจัดเจ้าชายหลี่ไท่พระอนุชาด้วย แต่แผนการรั่วไหลเสียก่อน ในครั้งนี้จักรพรรดิถังไท่จงไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลดเจ้าชายหลี่เฉิงเฉียน จากตำแหน่งรัชทายาทเป็นสามัญชน แล้วจึงเนรเทศไปอยู่ตำบลในเขตชายแดน หลี่เฉิงเฉียนอยู่ได้ไม่นานก็ถึงแก่กรรมที่ตำบลชายแดนนั้นเอง ส่วนเจ้าชายหลี่ไท่ พระราชโอรสพระองค์ต่อมาก็พลาดหวังจากตำแหน่งรัชทายาท โดยตำแหน่งรัชทายาทกลับไปตกอยู่กับเจ้าชายหลี่จื้อ (Li Zhi; จีน: 李治; พินอิน: Lǐ zhì) พระราชโอรสพระองค์เล็กของจักรพรรดิถังไท่จง และเป็นพระอนุชาของเจ้าชายหลี่ไท่นั่นเอง ด้วยจักรพรรดิไท่จงมีพระราชดำริเองว่าพระราชโอรสพระองค์รองนั้นเป็นผู้ที่มีจิตใจโหดเหี้ยม แม้จะมีความสามารถเหนือกว่าแต่ก็ไม่สมควรได้ครองแผ่นดิน ส่วนพระราชโอรสพระองค์เล็กนั้นแม้จะไม่เข้มแข็งเด็ดขาด แต่ก็มีพื้นฐานจิตใจค่อนไปทางฝ่ายดีงาม การตัดสินพระทัยของจักรพรรดิถังไท่จงครั้งนี้เป็นการพลิกโฉมประวัติศาสตร์จีนในอีกไม่นานนับจากนั้น ต่อมาไม่นานใน ปี ค.ศ. 649 จักรพรรดิถังไท่จงเสด็จสวรรคต เจ้าชายหลี่จื้อซึ่งเป็นรัชทายาทได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทน และทรงพระนามว่าจักรพรรดิถังเกาจง (จีน: 唐高宗皇帝; พินอิน: Tánggāozōng huángdì; ครองราชย์ปี ค.ศ. 649 - 683) เป็นรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์ถังนับจากจักรพรรดิถังเกาจู่เป็นต้นมา โดยทรงมีอัครชายาที่พระราชบิดาพระราชทานอภิเษกสมรสให้มาแต่เดิม พระอัครชายาพระองค์นี้จึงได้ครองพระราชอิสริยยศอัครมเหสี ออกพระนามว่าจักรพรรดินีหวัง (จีน: 王皇后; พินอิน: Wáng huánghòu) ด้วยพระนางมีแซ่เดิมว่า หวัง (王姓) [17] นางสนมของจักรพรรดิถังไท่จงเมื่อพระนางบูเช็กเทียนเข้ามาเป็นนางสนมโดยการอยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้สมรส ของจักรพรรดิถังไท่จง (ราวปี ค.ศ. 636 ถึง 638) และได้รับยศเป็น "ไฉเหริน" (cairen; จีน: 才人; พินอิน: Cái rén) ซึ่งเป็นตำแหน่งนางสนมระดับที่ 5 ในระบบ 9 ขั้นของข้าราชการ ชนชั้นสูง และนางสนม ในราชสำนักแห่งราชวงศ์ถัง (Tang's nine-rank system) [15][18] โดยครั้งเมื่อพระนางถูกส่งตัวเข้าวังนั้น ท่านหญิงหยางผู้เป็นมารดาร้องไห้คร่ำครวญอย่างขมขื่นกับโชคชะตาของพระนาง หากแต่บูเช็กเทียนได้กล่าวกับมารดาของพระนางว่า "ท่านรู้ได้อย่างไรว่านี้มิใช่โชคของข้าพเจ้าที่ได้พบกับพระโอรสแห่งสวรรค์ (Son of Heaven) " เมื่อได้เข้าใจในความทะเยอทะยานของพระนาง ท่านหญิงหยางจึงได้หยุดร้องไห้ อย่างไรก็ตามพระนางบูเช็กเทียนมิได้เป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิไท่จงนัก แม้ว่าพระนางจะเคยได้เข้ารับใช้พระองค์ในฐานะนางสนม (มีความสัมพันธ์ทางเพศ) [19] ในช่วงที่พระนางบูเช็กเทียนเป็นนางสนมอยู่นั้น ได้แสดงนิสัยอันเด็ดเดี่ยวกล้าหาญจนทำให้จักรพรรดิไท่จงเกิดความประทับใจ ในเวลานั้นจักรพรรดิถังไท่จงทรงมีม้าชื่อ "สิงโตป่า (Lion Stallion) " ที่มีลักษณะดุดันและแข็งแรงมาก ไม่มีผู้ใดสามารถขึ้นนั่งฝึกม้าตัวนี้ได้ พระนางบูเช็กเทียนซึ่งเข้ารับใช้เป็นนางสนองพระโอษฐ์อยู่ได้เสนอกับจักรพรรดิถังไท่จงว่าตนสามารถปราบม้าตัวนี้ได้ โดยใช้ของสามสิ่ง คือ แส้เหล็ก ค้อน และกริช โดยจะใช้แส้เหล็กเฆี่ยนมันก่อน ถ้าม้านั้นไม่ยอมเชื่อฟังก็จะใช้ค้อนทุบหัวม้า หากยังไม่ยอมอีก ก็จะเอากริชเชือกคอมันให้ตายลงเสีย[20] จักรพรรดิถังไท่จงได้สดับฟังคำแนะนำของพระนางแล้วชื่นชมในความเด็ดเดี่ยวของบูเช็กเทียนมาก[20] หากแต่พระองค์ก็รู้สึกตกใจมาก และมีความรู้สึกลึก ๆ กว่านางสนมที่เคร่งครัดถือตัวไม่ควรพูดจาแบบนี้ แต่เจ้าชายหลี่จื้อ (Li Zhi ; จีน: 李治; พินอิน: Lǐ zhì) ซึ่งเป็นรัชทายาทในขณะนั้นกลับติดใจและหลงรักบูเช็กเทียนที่มีอายุมากกว่าเขา 4 ปี ในระหว่างนี้บูเช็กเทียนก็ได้แอบลักลอบมีความสัมพันธ์กับรัชทายาท ซึ่งเป็นพระโอรสองค์สุดท้ายของจักรพรรดิไท่จง คือ เจ้าชายหลี่จื้อ แต่ความสัมพันธ์นี้มีอันต้องหยุดลงเมื่อจักรพรรดิไท่จงสิ้นพระชนม์ลงในปี ค.ศ. 649 เจ้าชายหลี่จื้อ ซึ่งมีพระมารดาพระนามว่า "เหวินเต๋อ (Wende) " เป็นพระมเหสีเอกของจักรพรรดิไท่จง ได้สืบทอดพระราชบัลลังก์ต่อโดยมีพระนามว่า จักรพรรดิถังเกาจง (Emperor Tanggaozong; จีน: 唐高宗皇帝; พินอิน: Tánggāozōng huángdì; ครองราชย์ปี ค.ศ. 649 - 683) บวชเป็นภิกษุณีจักรพรรดิไท่จงมีพระโอรสทั้งหมด 14 พระองค์ โดยมี 3 พระองค์เป็นพระโอรสในพระมเหสีเอก คือ พระนางเหวินเต๋อ (จีน: 文德皇后; พินอิน: Wén dé huánghòu) แต่พระองค์มิได้มีพระโอรสกับพระสนมบูเช็กเทียน[21] ตามพระราชประเพณีโบราณของราชสำนัก หากพระมเหสีหรือนางสนมคนใดไม่มีพระโอรสหรือพระธิดากับพระมหากษัตริย์ และเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง พระมเหสีและนางสนมเหล่านั้นจะต้องออกจากราชสำนักและบวชเข้าสำนักสงฆ์ตลอดชีวิต พระนางบูเช็กเทียนจึงถูกส่งตัวไปยังวัดก่านเย่ (Ganye Temple; จีน: 感業寺) เพื่อบวชเป็นภิกษุณีจนกว่าชีวิตจะหาไม่ (บางส่วนอ้างว่าเป็นเพราะจักรพรรดิไท่จงทรงทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบูเช็กเทียนกับพระราชโอรสของพระองค์ แต่ด้วยความเสน่หาในความงามของบูเช็กเทียน พระองค์จึงไม่ทรงสั่งประหารชีวิต แต่หากให้บูเช็กเทียนไปบวชแทน) พระนางบูเช็กเทียนต้องพลัดพรากจากวังไปนานถึงสองปี จึงได้มีโอกาสได้พบกับจักรพรรดิถังเกาจงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงเดินทางไปยังวัดก่านเย่ที่พระนางบูเช็กเทียนบวชอยู่ ในช่วงเวลานี้เองที่พระมเหสีของจักรพรรดิถังเกาจงทรงแอบเห็นว่าทั้งสองมีความผูกพันต่อกัน จึงชักชวนให้บูเช็กเทียนเข้ามาเป็นนางสนมเอกแทนที่นางสนมเอกแซ่เซียว ซึ่งมีความขัดเคืองกันอยู่และไม่ต้องพระทัยของพระมเหสีของจักรพรรดิถังเกาจงนัก การขึ้นสู่อำนาจ.ในราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 650 พระนางบูเช็กเทียนได้กลับเข้าวังอีกครั้งในฐานะพระสนมของจักรพรรดิถังเกาจง พระราชโอรสของจักรพรรดิถังไท่จง ได้รับยศเป็น เจาอี๋ (Zhaoyi; จีน: 昭儀) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในบรรดาศักดิ์เก้าชั้นของนางสนม ทำให้พระนางมีอำนาจและอิทธิพลในการบริหารราชการเป็นอย่างมากในช่วงตลอดรัชสมัยของจักรพรรดิถังเกาจง และได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นผู้มีความทะเยอทยานในอำนาจเป็นอย่างมาก มีนักประวัติศาสตร์จีนโบราณบางคนเชื่อว่าพระนางบูเช็กเทียนเป็นผู้สังหารพระธิดาของพระนางเองเพื่อใส่ร้ายและโยนความผิดให้แก่จักรพรรดินีหวัง (Empress Wang; จีน: 王皇后; พินอิน: Wáng huánghòu) (หวังฮองเฮา ในจักรพรรดิถังเกาจง) ในการก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วย จากสำนักภิกษุณีกลับมาเป็นนางสนมอีกครั้งจักรพรรดิถังเกาจงเสด็จขึ้นครองราชย์ในขณะที่มีพระชนมายุเพียง 21 ปี ทรงเป็นผู้ด้อยประสบการณ์และความสามารถ ประกอบกับมีสุขภาพที่อ่อนแเอ[12] หากทรงได้รับการแต่งตั้งจากพระราชบิดาจักรพรรดิถังไท่จงให้เป็นรัชทายาทเนื่องจากความอัปยศของพระเชษฐาทั้งสองของพระองค์[21] จักรพรรดิถังเกาจงนั้นทรงเป็นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหากแต่มีจิตใจที่ดี แม้ว่าพระองค์จะค่อนข้างไปทางหูเบาและฝักใฝ่ในกามารมณ์ ไม่นานหลังจากขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงหลงใหลและโปรดปรานในตัวพระสนมเซียว (แซ่เซียว นามว่าฮุ่ยจือ ซึ่งเดิมเป็นสตรีสามัญชน) (Consort Xiao; จีน: 宵恕妃; พินอิน: Xiāo shù fēi) อย่างมาก จนต่อมาในภายหลังถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนานางขึ้นเป็นพระมเหสีลำดับที่ 3 ออกพระนามว่า พระมเหสีเซียว จักรพรรดินีหวังทรงตระหนักดีว่าพระราชสวามีโปรดปรานพระสนมเซียวมาก จนทรงกลัวว่าจะส่งผลถึงฐานะของพระนาง ซึ่งก็เป็นความจริงดังที่จักรพรรดินีทรงกังวล เพราะไม่นานต่อมาพระสนมเซียวก็ทรงพระครรภ์และให้พระประสูติการพระราชกุมารพระองค์น้อยที่มีสุขภาพแข็งแรง ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าชายหลี่ซู่เจี๋ย (Li Sujie) และธิดา 2 พระองค์ คือ เจ้าหญิงอี้หยาง (Yiyang) และเจ้าหญิงเซวียนเฉิง (Xuancheng) แก่ถังเกาจง จักรพรรดิทรงปีติยินดีอย่างยิ่ง ถึงกับโปรดเกล้าฯให้สถาปนาพระราชโอรสพระองค์น้อยขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งรัฐสี่ (喜王) ตั้งแต่แรกประสูติทีเดียว และยังมีพระราชปรารภว่าจะให้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทอีกด้วย พระอัครมเหสีหวังทรงตื่นตกใจมากและได้พยายามใช้กุศโลบายทุกทางจนสามารถเปลี่ยนพระทัยถังเกาจงให้สถาปนาพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในบรรดาพระราชโอรสทั้งหมด คือ เจ้าชายหลี่จง กษัตริย์แห่งรัฐเอี้ยน (燕王) ซึ่งมีพระมารดาเป็นเพียงพระสนม คือพระสนมหลิว ซึ่งเป็นพระญาติกับพระจักรพรรดินีหวังทางฝ่ายพระมารดาให้เป็นรัชทายาทแทนได้สำเร็จ ทำให้พระสนมเซียวโกรธแค้นอย่างยิ่ง ในระหว่างพระราชพิธีพระบรมศพจักรพรรดิถังไท่จง[22] ถังเกาจงทรงเข้าออกวัดก่านเย่ (Ganye Temple) เพื่อทรงจุดธูปบูชาพระบรมศพพระราชบิดา ทำให้พระองค์ได้พบกับพระนางบูเช็กเทียนอีกครั้ง ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างถังเกาจงและพระนางบูเช็กเทียนผู้เคยเป็นที่ทรงปฏิพัทธ์มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลก่อนนั้นอยู่ในสายพระเนตรของพระจักรพรรดินีหวัง[23] พระจักรพรรดินีหวังผู้ซึ่งไม่ได้เป็นที่โปรดปรานในจักรพรรดินัก ด้วยพระองค์ทรงโปรดพระสนมเซียวมากกว่า ดังนั้นเมื่อจักรพรรดินีหวังเห็นว่าถังเกาจงยังมีความสนใจและประทับใจในความงามของบูเช็กเทียนอยู่ จักรพรรดินีหวังจึงวางแผนให้รับพระนางบูเช็กเทียนกลับเข้าสู่ราชสำนักอีกครั้งในฐานะพระสนมอีกคนหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อดึงความสนใจของถังเกาจงจากพระสนมเซียวเสีย หลังจากพระนางบูเช็กเทียนออกจากวัดเพื่อกลับเข้าสู่ราชสำนักในฐานะของพระสนมของถังเกาจงอีกครั้ง (แม้ว่าถังเกาจงจะมีฐานะเป็นลูกเลี้ยงของพระนาง นอกจากนั้นยังมีผู้เชื่อว่าพระนางเคยมีเพศสัมพันธ์กับจักรพรรดิไท่จงผู้วายชนม์แล้ว จึงกล่าวได้ว่าเป็นการร่วมประเวณีกับญาติสนิท[19][24]) พระจักรพรรดินีหวังทรงคิดว่าเพียงแต่จะชักนำพระนางบูเช็กเทียนเข้ามาสู่ราชสำนักอีกครั้งเพื่อดึงความสนพระทัยของถังเกาจงออกจากพระมเหสีเซียวเท่านั้น พอกำจัดพระมเหสีเซียวไปได้แล้วก็จะค่อยกำจัดบูเช็กเทียนในภายหลัง จึงไม่ทรงขัดขวางเมื่อพระราชสวามีมีพระราชดำริจะรับพระนางบูเช็กเทียนเข้าวังในอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้พระนางบูเช็กเทียนไม่ได้ดำรงฐานะเป็นเพียงพระสนมธรรมดาเหมือนในรัชกาลก่อน หากแต่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นถึง "เจาอี๋" หรือ พระสนมเอกลำดับ 1 (จีน: 昭宜; พินอิน: Zhāo yí) จากบรรดาพระสนมเอกของจีนซึ่งมีทั้งหมด 9 ชั้น นับว่าเป็นที่ 3 ในวังรองจากจักรพรรดินีหวัง และพระสนมเซียวทีเดียว ซึ่งพระนางบูเช็กเทียนพระสนมเอกก็ไม่ทำให้จักรพรรดินีหวังทรงผิดหวัง เพราะหลังจากนั้นไม่นานถังเกาจงก็ทรงลืมพระมเหสีเซียวไปเสียสนิท พระโอรสปี ค.ศ. 652 พระนางบูเช็กเทียนทรงให้กำเนิดพระโอรส คือ หลี่หง (Li Hong) และต่อมาในปี ค.ศ. 653 พระนางก็ได้ให้กำเนิดพระโอรสอีกพระองค์หนึ่ง คือ หลี่เสียน (Li Xian; จีน: 李賢; พินอิน: Li Xián หรือ Crown Prince Zhanghuai; จีน: 章懷太子; ค.ศ. 653 - 684) ซึ่งทั้งสองพระองค์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทแห่งถังเกาจง เนื่องจากจักรพรรดินีหวังและพระปิตุลาของพระนาง คือ อัครมหาเสนาบดีหลิวซื่อ (The Chancellor Liu Shi) ทรงเกลี้ยกล่อมให้ถังเกาจงทรงแต่งตั้งพระโอรสพระองค์โต คือ เจ้าชายหลี่จง (Li Zhong; จีน: 李忠; พินอิน: Lǐ zhōng; ค.ศ. 643 - 6 มกราคม ค.ศ. 665) ซึ่งถือกำเนิดจากพระสนมหลิวเป็นรัชทายาทไปก่อนหน้าแล้ว ข้อกล่าวหาต่อพระนางบูเช็กเทียนเมื่อมีโอกาสพระสนมบูเช็กเทียนก็ไม่รอช้าที่จะกำจัดพระจักรพรรดินีหวังออกไปเสียก่อนที่ตนเองจะเป็นฝ่ายถูกกำจัดออกไปแทน โดยมีเรื่องที่บันทึกไว้มีว่า ในปี ค.ศ. 654 พระสนมบูเช็กเทียนมีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง เมื่อพระจักรพรรดินีหวังเสด็จไปทรงเยี่ยมเจ้าหญิงพระราชธิดาองค์น้อยซึ่งยังมีพระชนม์ไม่ถึงเดือน นัยว่าเสด็จไปทรงเยี่ยมตามราชประเพณีในฐานะที่เป็นพระมารดาเลี้ยง และเพื่อแสดงว่ามีพระมหากรุณาต่อเจ้าหญิงน้อยดุจพระมารดาแท้ ๆ แต่กลับเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่มีผู้ใดคาดคิด คือเจ้าหญิงพระองค์น้อยเสด็จสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหันในวันเดียวกันนั้นเอง ซึ่งพระสนมบูเช็กเทียนได้กล่าวหาพระจักรพรรดินีหวังว่าเป็นสาเหตุที่พระราชธิดาน้อยสิ้นพระชนม์[12] ข้อกล่าวหาในครั้งนี้พระจักรพรรดินีหวังไม่อาจแก้ตัวใด ๆ ได้ เนื่องจากพระจักรพรรดินีเป็นผู้ที่อยู่กับเจ้าหญิงน้อยเป็นพระองค์สุดท้ายก่อนที่เจ้าหญิงน้อยจะสิ้นพระชนม์ นับว่าพระจักรพรรดินีทรงชักศึกเข้าบ้านโดยแท้[17] ถังเกาจงทรงเชื่อในข้อกล่าวหาว่าพระจักรพรรดินีหวังเป็นผู้ปลงพระชนม์พระราชธิดาองค์น้อยเนื่องจากความอิจฉาริษยา โดยพระจักรพรรดินีหวังก็ไม่อาจหาหลักฐานใด ๆ มาแก้ข้อกล่าวหานี้ได้ พระจักรพรรดิถังเกาจงจึงทรงพระพิโรธและรับสั่งให้ถอดยศและขับไล่พระจักรพรรดินีหวังออกจากราชสำนัก โดยจะทรงแต่งตั้งพระสนมบูเช็กเทียนขึ้นเป็นพระจักรพรรดินีแทน แต่พระองค์ต้องการให้คณะเสนาบดีเห็นชอบกับรับสั่งในครั้งนี้ด้วย ถังเกาจงพร้อมด้วยพระสนมบูเช็กเทียนจึงได้เสด็จไปเยี่ยมบ้านของพระมาตุลาของพระจักรพรรดิถังเกาจง คือ จ่างซุนอู๋จี้ (Zhangsun Wuji) มหาเสนาบดี ทั้งได้พระราชทานทรัพย์สมบัติให้แก่จ่างซุนอู๋จี้เป็นอันมาก และเมื่อพระถังเกาจงทรงนำเรื่องที่อดีตพระจักรพรรดินีหวังไม่มีพระราชโอรสธิดาให้แก่พระองค์มาเป็นข้ออ้างในการขับไล่พระนาง จ่างซุนอู๋จี้ก็บ่ายเบี่ยงที่จะตอบสนองพระราชดำรัสนั้น ต่อมามารดาของพระสนมบูเช็กเทียน สตรีสกุลหยาง พร้อมทั้งสวี่จิงจง (Xu Jingzong) ผู้เป็นฝ่ายเดียวกับพระสนมบูเช็กเทียนได้เยี่ยมจ่างซุนอู๋จี้อีกครั้งเพื่อขอให้เขาสนับสนุนการตัดสินพระทัยของพระจักรพรรดิถังเกาจง แต่ก็ยังไม่เป็นผล[25] อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าพระจักรพรรดินีหวังหรือพระสนมบูเช็กเทียนเป็นผู้ทำร้ายพระราชธิดาพระองค์น้อย เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนมายืนยันได้ว่าพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ด้วยสาเหตุใดแน่ มีความเป็นไปได้ว่าพระสนมบูเช็กเทียนอาจเป็นผู้สังหารพระราชธิดาของตัวเองแล้วใส่ร้ายพระจักรพรรดินีหวัง แต่ก็อาจเป็นไปได้เช่นกันว่าพระจักรพรรดินีหวังเป็นผู้สังหารพระราชธิดาเองเนื่องจากความอิจฉาริษยาที่พระจักรพรรดิถังเกาจงทรงโปรดปรานพระสนมบูเช็กเทียนมาก หรืออาจไม่มีผู้ใดเป็นผู้ทำร้ายพระราชธิดา แต่สิ้นพระชนม์จากสาเหตุธรรมชาติอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการทารกตายกะทันหัน (asphyxiation) จากการที่อาหารเป็นพิษ สำลักอาหาร เป็นต้น ถอดพระยศพระจักรพรรดินีหวังและพระมเหสีเซียวซูเฟยช่วงฤดูร้อน ปี ค.ศ. 655 พระสนมบูเช็กเทียนได้ใส่ร้ายพระจักรพรรดินีหวังและ พระมารดาของพระจักรพรรดินี คือหลิวฮูหยินอีกครั้งว่าทั้งสองใช้คาถาอาคมไสยศาสตร์ พระจักรพรรดิถังเกาจงจึงมีรับสั่งห้ามมิให้หลิวฮูหยินเข้าวังอีกต่อไป และยังปลด หลิวซื่อ (Liu Shi) พระมาตุลาของพระมเหสีหวังด้วย[25] ในขณะเดียวกันเหล่าข้าราชการในราชสำนักก็เริ่มเข้าเป็นพวกกับพระสนมบูเช็กเทียนมากขึ้น มีทั้ง สวี่จิงจง (Xu Jingzong) หลี่อี้ฟู่ (Li Yifu) ชุยอี้เสวียน (Cui Yixuan; จีน: 崔義玄; พินอิน: Cuī Yìxuán) และหยวนกงหยู (Yuan Gongyu; จีน: 袁公瑜; พินอิน: Yuán gōngyú) เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงในปีนั้น พระจักรพรรดิถังเกาจงทรงเรียกประชุมเสนาบดี อันมีอัครมหาเสนาบดีจ่างซุนอู๋จี้ และเสนาบดีหลี่จี (Li Ji) หยูจือหนิง (Yu Zhining) และ ฉู่ซุ่ยเหลียง (Chu Suiliang) เข้าประชุม โดยฉู่ซุ่ยเหลียงคาดเดาไว้ว่าจะเป็นเรื่องการถอดพระอิสริยยศพระจักรพรรดินีหวัง หลี่จีปฏิเสธการเข้าร่วมโดยอ้างอาการป่วย ในที่ประชุม ฉู่ซุ่ยเหลียงนั้นทักท้วงการถอดพระอิสริยยศครั้งนี้อย่างรุนแรง ในขณะที่ฉางซุนอู๋จี้ และหยู๋จือหนิง นั้นไม่เห็นด้วยกับถังเกาจงด้วยการไม่แสดงความเห็น ในขณะเดียวกัน หานย่วน (Han Yuan) และ ไหลจี้ (Lai Ji) ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการถอดพระอิสริยยศนี้ ทำให้ถังเกาจงรับสั่งถามไปยังหลี่จีอีกครั้งหนึ่ง โดยหลี่จีตอบว่า "สิ่งนี้เป็นเรื่องในบ้านของพระองค์เอง ใยจึงถามบุคคลภายนอก" เมื่อได้ยินดังนั้น ถังเกาจงจึงได้ข้อสรุปที่จะทำตามพระประสงค์ของพระองค์เอง และทรงปลดเสนาบดีฉู่ซุ่ยเหลียงจากราชสำนัก ไปเป็นผู้ว่ามณฑลถั่น (ปัจจุบันคือบริเวณฉางชาในมณฑลหูหนาน) [25] เมื่อทรงถอดพระยศพระจักรพรรดินีหวังลงเป็นสามัญชน ให้เรียกว่านางหวัง (王氏) พร้อมกันนี้ก็โปรดให้ถอดยศพระมเหสีเซียวซูเฟยลงเป็นนางเซียว (宵氏) แล้ว ทรงยังสั่งให้คุมขังทั้งสองคนไว้ แล้วมีพระราชโองการสั่งให้แต่งตั้งพระสนมบูเช็กเทียนขึ้นเป็นพระจักรพรรดินีแทน ภายหลังต่อมาพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนก็สั่งให้สังหารนางหวังและนางเซียวเสมือนถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้ายและเงียบเชียบเนื่องจากทรงเห็นว่าถังเกาจงมีพระราชประสงค์ให้ปล่อยตัวนางทั้งสอง โดยต่อมาพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนก็ทรงฝันร้ายว่าถูกหลอกหลอนโดยนางทั้งสองอยู่หลายครั้ง ขึ้นสู่ตำแหน่งพระอัครมเหสีต่อมาในช่วงปลายปี ค.ศ. 655 พระนางบูเช็กเทียนได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นพระอัครมเหสี หรือ หวงโฮ่ว (ตามสำเนียงจีนกลาง) หรือ ฮองเฮา (ตามสำเนียงฮกเกี้ยน) แต่งตั้งรัชทายาทพระองค์ใหม่ปี ค.ศ. 656 ด้วยคำแนะนำของสวี่จิงจง ถังเกาจงทรงถอดพระยศพระโอรสที่ประสูติจากพระสนมหลิว คือ เจ้าชายหลี่จง จากตำแหน่งรัชทายาทไปเป็นอ๋องแห่งเหลียง (Prince of Liang) แลัวแต่งตั้งให้หลี่หง พระโอรสอันเกิดจากพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนซึ่งในขณะนั้นดำรงพระยศเป็นต้ายอ๋อง (Prince of Dai) ขึ้นเป็นรัชทายาทแทน[26] เริ่มกำจัดเสนาบดีฝ่ายตรงข้ามในปี ค.ศ. 657 จักรพรรดินีบูเช็กเทียนพวกพ้องของพระนางในราชสำนักได้เริ่มตอบโต้กับเหล่าข้าราชการและเสนาบดีที่เคยต่อต้านเมื่อครั้งที่พระนางขึ้นสู่อำนาจ โดยทรงเริ่มจากให้สวี่จิงจงและหลี่อี้ฟู่ ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีแล้วในเวลานั้น ใส่ร้ายกล่าวหาหานย่วนและไหลจี้ว่าคบคิดกับฉู่ซุ่ยเหลียงในการก่อกบฏ ทั้งสามคนนี้ รวมทั้งหลิวซื่อ ถูกลดตำแหน่งไปเป็นเจ้าเมืองในพื้นที่ห่างไกล ทั้งยังถูกห้ามไม่ให้กลับมายังเมืองหลวงฉางอานอีกต่อไป และในปี ค.ศ. 659 จักรพรรดินีบูเช็กเทียนรับสั่งให้สวี่จิงจงกล่าวหาจ่างซุนอู๋จี้ว่าวางแผนก่อการกบฏร่วมกับข้าราชการชั้นผู้น้อยชื่อ เหวยจี้ฟาง (Wei Jifang; จีน: 韋季方; พินอิน: Wéijìfāng) และหลี่เฉา (Li Chao; จีน: 李巢; พินอิน: Lǐ cháo) ทำให้จ่างซุนอู๋จี้ถูกเนรเทศและต่อมาในปีเดียวกันถูกกดดันให้ฆ่าตัวตายในระหว่างที่ถูกเนรเทศนั้นในท้ายที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นซูจิงจงยังได้สร้างเรื่องเพื่อป้ายสีแก่ฉู่ซุ่ยเหลียง หลิวซื่อ หานย่วน หยูจือหนิง ทำให้ฉู่ซุ่ยเหลียงผู้ซี่งเสียชีวิตไปแล้วในปี ค.ศ. 658 ถูกยึดตำแหน่งทั้งหมดหลังจากเสียชีวิตแล้ว และทำให้บุตรชายทั้งสองของเขา คือ ฉู่เยี่ยนฝู่ (Chu Yanfu; จีน: 褚彥甫; พินอิน: Chǔ yànfǔ) และฉู่เยี่ยนชง (Chu Yanchong; จีน: 褚彥沖; พินอิน: Chǔ yànchōng) ต้องถูกประหารด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีคำสั่งให้ประหารชีวิตหลิวซื่อ และหานย่วนด้วยเช่นกัน โดยหานย่วนนั้นได้เสียชีวิตลงก่อนที่คำสั่งประหารจะไปถึงเขา หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้จึงไม่มีผู้ใดในราชสำนักกล้าต่อต้านและวิพากย์วิจารณ์จักรพรรดินีบูเช็กเทียนอีกต่อไป การเนรเทศเจ้าชายหลี่จงในปี ค.ศ. 660 เจ้าชายหลี่จง (พระราชโอรสพระองค์แรกของจักรพรรดิถังเกาจงกับพระสนมหลิว) ทรงเกรงกลัวว่าพระองค์จะทรงเป็นเป้าหมายในการกำจัดเช่นเดียวกัน โดยพระนางบูเช็กเทียนได้ให้เนรเทศเจ้าชายออกจากราชสำนักและถูกกักบริเวณไว้[26] อาการพระประชวรของจักรพรรดิถังเกาจงในปี ค.ศ. 660 ถังเกาจงและจักรพรรดินีบูเช็กเทียนได้เสด็จไปยังเขตเปี้ยนโจว (จีน: 汴州; pinyin: Biànzhōu ปัจจุบันคือ เมืองไท่หยวน (จีน: 太原; พินอิน: Tàiyuán) เมืองหลวงของมณฑลซานซี) ซึ่งในครั้งนี้พระนางบูเช็กเทียนมีโอกาสได้เชิญเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องเข้าร่วมงานฉลองของราชสำนักด้วย[26] ปลายปีนั้นถังเกาจงทรงเริ่มมีอาการพระประชวรมากขึ้น โดยทรงมีอาการปวดพระเศียรอย่างหนักและสูญเสียการมองเห็นด้วย โดยคาดว่าเกิดจากโรคความดันสูง (hypertension-related) [27] หากนักประวัติศาสตร์บางคนมีความเห็นว่าอาการพระประชวรนั้นเป็นผลจากการที่พระนางบูเช็กเทียนพยายามลอบวางยาพิษแก่จักรพรรดิถังเกาจงทีละน้อย[28] ดังนั้นพระองค์จึงเริ่มให้จักรพรรดินีบูเช็กเทียนออกว่าราชการแทนมากขึ้น ทั้งนี้พระนางก็ได้แสดงความสามารถและสติปัญญาทั้งในด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ รวมทั้งการบริหารราชการอย่างถูกต้อง จนพระนางสามารถรวบอำนาจของจักรพรรดิถังเกาจงมาได้ทั้งหมด[26] ความพยายามขับไล่จักรพรรดินีบูเช็กเทียนกล่าวกันว่าในปี ค.ศ. 664 จักรพรรดินีบูเช็กเทียนได้เข้าแทรกแซงการบริหารราชการในราชสำนักมากขึ้นจนทำให้ถังเกาจงไม่พอพระทัย นอกจากนั้นพระนางยังได้ให้กัวสิงเจิน (Guo Xingzhen; จีน: 郭行真; พินอิน: Guōxíngzhēn) ผู้เป็นหมอผีลัทธิเต๋ามาทำพิธีคาถาอาคม ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในราชสำนัก อันเคยเป็นสาเหตุให้อดีตพระอัครมเหสีหวังถูกปลดและขับไล่ออกจากราชสำนักไป ขันทีหวังฝูเซิ่ง (Wang Fusheng; จีน: 王伏勝; พินอิน: Wángfúshèng) จึงได้รายงานแก่พระจักรพรรดิถังเกาจงให้ทรงทราบ ยิ่งทำให้พระองค์ไม่พอพระทัยมากยิ่งขึ้น พระองค์จึงได้ปรึกษากับเสนาบดีซั่งกวนอี๋ (Shangguan Yi; จีน: 上官儀; พินอิน: Shàngguān Yí) ซึ่งได้แนะนำให้ถังเกาจงทรงปลดจักรพรรดินีบูเช็กเทียนและขับไล่จากราชสำนักเสีย พระองค์จึงมีรับสั่งให้ซั่งกวนอี๋ร่างพระบัญชาขึ้น ในขณะเดียวกันนั้นจักรพรรดินีบูเช็กเทียนก็ได้รับข่าวการขับไล่พระองค์ พระนางจึงเสด็จเข้าเฝ้าถังเกาจงเพื่ออ้อนวอนขอให้พระองค์พระราชทานอภัยโทษ ทำให้ถังเกาจงทรงพระทัยอ่อนลงและกล่าวหาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคำแนะนำจากซั่งกวนอี๋ เนื่องจากทั้งซั่งกวนอี๋ และหวังฝูเซิ่ง ต่างก็เป็นผู้ที่ทำงานให้กับเจ้าชายหลี่จง พระนางบูเช็กเทียนจึงสั่งให้สวี่จิงจงวางแผนใส่ร้ายบุคคลทั้งสาม คือ เจ้าชายหลี่จง ซั่งกวนอี๋ และหวังฝูเซิ่งว่าก่อการกบฏ ทำให้ซั่งกวนอี๋ หวังฝูเซิ่ง และบุตรชายของซั่งกวนอี๋ คือ ซั่งกวนถิงจือ (Shangguan Tingzhi; จีน: 上官庭芝; พินอิน: Shàngguān tíng zhī) ถูกลงโทษประหารชีวิต ในขณะที่เจ้าชายหลี่จงนั้นก็ถูกกดดันให้ทรงฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา[29] ส่วนภรรยาของซั่งกวนถิงจื้อและบุตรสาว คือ ซั่งกวนหว่านเอ๋อร์ (Shangguan Wan'er; จีน: 上官婉兒; พินอิน: Shàngguān wǎn er) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นทารกอยู่ถูกจับมาเป็นทาสรับใช้ในราชสำนัก (ต่อมาเมื่อซั่งกวนหว่านเอ๋อร์โตขึ้น นางได้รับความไว้วางใจจนได้เป็นราชเลขาส่วนพระองค์ในพระนางบูเช็กเทียน ต่อมาเมื่อรัชทายาทหลี่เสียน ขึ้นครองราชย์สืบต่อมาเป็นจักรพรรดิถังจงจง ซั่งกวนหว่านเอ๋อร์จึงได้เป็นพระสนมในพระองค์) หลังจากนั้น จักรพรรดินีบูเช็กเทียนทรงนั่งว่าราชการหลังม่านด้านหลังของจักรพรรดิถังเกาจง ทำให้ทั้งสองพระองค์นั้นได้รับการเรียกขานจากประชาชนว่า "2 ธีรราช" หรือ "ผู้วิเศษคู่" (Er Sheng หรือ "Two Holy Ones"; จีนตัวเต็ม: 二聖; พินอิน: Èr shèng) [29] จักรพรรดิถังเกาจงมีพระราชโองการให้ออกพระนามพระองค์ในฐานะจักรพรรดิแห่งสวรรค์ (天皇) ส่วนจักรพรรดินีบูนั้นให้ออกพระนามในฐานะจักรพรรดินีแห่งสวรรค์ (天后) เช่นเดียวกัน ความร้าวฉานในตระกูลอู่ในช่วงเวลาที่จักรพรรดิบูเช็กเทียนสำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น พระนางได้แต่งตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ให้แก่ญาติของพระนางหลายคน เช่น ท่านหญิงหยาง (มารดาของจักรพรรดิบูเช็กเทียน) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสุภาพสตรีแห่งหรง (Lady of Rong) และพี่สาวผู้เป็นหม้ายของพระนางก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสุภาพสตรีแห่งฮั่น (Lady of Han) ด้วย ส่วนพี่ชาย คือ อู่หยวนชิง และ อู่หยวนซวง พร้อมทั้งลูกพี่ลูกน้อง คือ อู่เว่ยเหลียง และ อู่ฮ่วยหยุน ซึ่งแม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะดีนักกับท่านหญิงหยาง แต่ต่างก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งด้วย อย่างไรก็ตาม ในงานเลี้ยงฉลองที่ท่านหญิงหยางจัดขึ้นให้แก่พวกเขาเพื่อฉลองการรับตำแหน่งใหม่ อู่เว่ยเหลียง แสดงอาการโกรธท่านหญิงหยางและกล่าวว่าพวกเขามิได้รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติในการได้รับตำแหน่งใหม่นี้จากจักรพรรดินีบูเช็กเทียนเลย จักรพรรดิบูเช็กเทียนจึงมีรับสั่งให้ลดตำแหน่งญาติเหล่านี้และขับไล่ไปยังพื้นที่กันดารห่างไกลเพื่อเป็นการแก้แค้นที่กระทำไม่ดีกับมารดาของพระนาง โดย อู่หยวนชิง และ อู่หยวนซวง เสียชีวิตในระหว่างการเนรเทศ ในปี (หรือก่อนปี) ค.ศ. 666 พี่สาวหม้ายของจักรพรรดินีบูเช็กเทียน หรือสุภาพสตรีแห่งฮั่นได้เสียชีวิตลง ถังเกาจงจึงทรงแต่งตั้งให้บุตรีของนางจากสกุลเฮ่อหลัน เป็นสุภาพสตรีแห่งเว่ย (Lady of Wei) และอนุญาตให้พำนักอยู่ในราชสำนักต่อไปได้ (คาดว่าในฐานะนางสนม) แต่การแต่งตั้งนี้มิได้กระทำในทันทีหลังจากมารดาของนางเสียชีวิตลง ด้วยจักรพรรดิถังเกาจงทรงหวั่นเกรงว่าพระนางบูเช็กเทียนจักไม่พอพระทัย หากคาดว่าพระนางบูเช็กเทียนทรงทราบเรื่องนี้จึงวางอุบายใส่ยาพิษลงในอาหารที่นำมาถวายโดย อู่เว่ยเหลียง และ อู่ฮ่วยหยุน แก่สุภาพสตรีแห่งเว่ย แล้วใส่ร้ายความผิดให้แก่คนทั้งสอง ทำให้ อู่เว่ยเหลียง และ อู่ฮ่วยหยุน ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตในเวลาต่อมา[29][30] มารดาของพระนางบูเช็กเทียนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 670 มารดาของพระนางบูเช็กเทียน คือ ท่านหญิงหยาง ได้เสียชีวิตลง พระจักรพรรดิถังเกาจงจึงมีรับสั่งให้ข้าราชบริพารในราชสำนักและภริยาทุกคนเข้าร่วมพิธีเคารพศพของนาง ต่อมาในปีเดียวกันนั้น ราชอาณาจักรถูกภัยพิบัติจากความแห้งแล้งเป็นอย่างมาก จักรพรรดินีบูเช็กเทียนจึงขอให้ยกเลิกพิธีนั้นเสีย แต่จักรพรรดิทรงปฏิเสธและยังแต่งตั้งให้บิดาของพระนางคือ อู่ซื่อฮั่ว (ผู้ที่ได้รับยศหลังจากเสียชีวิตแล้วเป็นโจวกงหวัง (Duke of Zhou) ) และท่านหญิงหยาง มียศใหม่หลังจากเสียชีวิตแล้วเป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งไท่หยวน (Prince and Princess of Taiyuan) [29] ความร้าวฉานในตระกูลอู่ครั้งใหม่ต่อมาหลานของจักรพรรดินีบูเช็กเทียนผู้เป็นบุตรของพี่สาวหม้ายของพระองค์ คือ สุภาพสตรีแห่งฮั่น ชื่อ เฮ่อหลันหมิ่นจือ (Helan Minzhi; จีน: 賀蘭敏之; พินอิน: Hèlán mǐnzhī) ได้รับพระราชานุญาตให้ใช้สกุลอู่และสืบทอดตำแหน่งดยุกแห่งโจว แต่เป็นที่ชัดเจนว่าเฮ่อหลันหมิ่นจือนันกำลังสงสัยในตัวพระนางบูเช็กเทียนว่าเป็นผู้มีส่วนในการฆาตกรรมพี่สาวของเขา พระนางบูเช็กเทียนจึงได้เพิ่มความระมัดระวังในตัวเฮ่อหลันหมิ่นจือ นอกจากนั้นยังมีผู้กล่าวว่าเฮ่อหลันหมิ่นจือนั้นเคยมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับยายของเขาเอง คือท่านหญิงหยางอีกด้วย ในปี ค.ศ. 671 เฮ่อหลันหมิ่นจือถูกกล่าวหาว่าไม่ประพฤติตามกฎระเบียบการไว้ทุกข์ในระหว่างพิธีไว้ทุกข์ของท่านหญิงหยาง และยังถูกกล่าวหาว่าได้ข่มขืนบุตรีของข้าราชการที่ชื่อ หยางซือเจี่ยน (Yang Sijian; จีน: 楊思儉; พินอิน: Yángsījiǎn) ซึ่งเป็นสตรีที่จักรพรรดิถังเกาจงและจักรพรรดินีบูเช็กเทียนได้คัดเลือกให้เป็นชายาของเจ้าชายหลี่หงรัชทายาท เฮ่อหลันหมิ่นจือจึงได้รับโทษโดยการถูกเนรเทศ ซึ่งต่อมาเขาได้เสียชีวิตลงโดยมิอาจทราบได้แน่ชัดว่าเป็นการเสียชีวิตในระหว่างการเนรเทศหรือเป็นการฆ่าตัวตาย ในปี ค.ศ. 674 จักรพรรดินีบูเช็กเทียนได้ทรงเรียก อู่ เฉิงซื่อ (Wu Chengsi; จีน: 武承嗣; พินอิน: Wǔ Chéngsì; เสียชีวิตเมือวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 698) พระนัดดาของพระนางผู้เป็นบุตรของ อู่หยวนซวงกลับมาจากการถูกเนรเทศและให้รับตำแหน่งโจวกงหวังสืบต่อด้วย[31] ต่อต้านการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการในปี ค.ศ. 675 พระอาการประชวรของถังเกาจงหนักขึ้น พระองค์จึงมีพระราชปรารภให้แต่งตั้งจักรพรรดินีบูเช็กเทียนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่เสนาบดี ห่าวชู่จวิ้น (Hao Chujun; จีน: 郝處俊; พินอิน: Hǎochùjùn; ค.ศ. 607–681) และข้าราชการชื่อ หลี่อี้เหยี่ยน (Li Yiyan; จีน: 李義琰; พินอิน: Lǐyìyǎn; เสียชีวิตในปี ค.ศ. 688) คัดค้านพระองค์ในเรื่องนี้ ถังเกาจงจึงยังมิได้แต่งตั้งจักรพรรดินีบูเช็กเทียนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กำจัดคู่แข่งอย่างต่อเนื่องต่อเนื่องในปี ค.ศ. 675 มีผู้คนจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของความกริ้วโกรธของจักรพรรดินีบูเช็กเทียน พระปิตุจฉาของถังเกาจง คือ เจ้าหญิงฉางเล่อ (ภริยานายพล จ้าวกุย (Zhao Gui; จีน: 趙瓌; พินอิน: Zhào guī) และพระธิดาของพระองค์ได้เสกสมรสกับเจ้าชายหลี่เสียน หรือ อ๋องแห่งโจว (Prince of Zhou) พระโอรสองค์ที่สามในพระนางบูเช็กเทียน) ทรงไม่พอพระทัยในตัวจักรพรรดินีบูเช็กเทียนด้วยทรงเห็นว่าจักรพรรดิถังเกาจงทรงให้ความโปรดปรานในตัวพระนางเป็นอันมาก เจ้าหญิงจ้าว พระธิดาจึงถูกกล่าวหาด้วยข้อหาอาชญากรรมที่พระองค์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและถูกจับกุมในที่สุด ต่อมาเจ้าหญิงจ้าวได้สิ้นพระชนม์ด้วยอาการขาดอาหาร ส่วนนายพลจ้าวกุยและเจ้าหญิงฉางเล่อก็ถูกเนรเทศด้วย ในปลายเดือนนั้นเอง เจ้าชายหลี่หงรัชทายาท ผู้พยายามร้องขอมิให้พระนางบูเช็กเทียนใช้อิทธิพลเหนือการบริหารราชการของถังเกาจง เพราะพระองค์ก็ทรงมีความคิดเช่นเดียวกับผู้คนในยุคสมัยเดียวกันว่าพระชนนีหรือพระนางบูเช็กเทียนนั้นเป็นเพียงอิสตรี จึงไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราชการแผ่นดินมากนัก โดยเฉพาะเมื่อพระนางบูเช็กเทียนผู้ซึ่งแทบจะทรงว่าราชการแทนถังเกาจงทั้งหมดอยู่แล้วนั้น เจ้าชายหลี่หงองค์รัชทายาทยิ่งมิอาจจะทรงรับได้ พระองค์จึงทรงกราบทูลแก่พระราชบิดา ถังเกาจง ว่าจะทรงวางแผนยึดอำนาจจากพระนางบูเช็กเทียน โดยให้ออกพระราชโองการข้อความว่าจักรพรรดินีบูเช็กเทียนทรงใส่ร้ายอดีตจักรพรรดินีหวัง และให้คืนศักดิ์ฐานะให้แก่อดีตจักรพรรดินีหวังและอดีตพระมเหสีเซียวผู้ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย พร้อมกับทรงเรียกร้องให้ปล่อยตัวน้องสาวต่างมารดาของพระองค์ คือ เจ้าหญิงอี้หยาง (ธิดาในพระสนมเซียว) และซ่วนเฉิง ซึ่งขณะนั้นถูกกักบริเวณอยู่ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าพระนางบูเช็กเทียนเป็นผู้วางยาพิษแก่เจ้าชายหลี่หง ทำให้เจ้าชายหลี่เสียนได้รับแต่งตั้งเป็นอ๋องแห่งย่ง (Prince of Yong) และได้ขึ้นเป็นรัชทายาทแทน[31] นอกจากนั้นเจ้าชายหลี่ซู่เจี๋ย พระโอรสอีกพระองค์หนึ่งของพระสนมเซียว และเจ้าชายหลี่ซ่างจิน (Li Shangjin; จีน: 李上金; พินอิน: Lǐshàngjīn) พระโอรสอีกพระองค์หนึ่งของถังเกาจง ทั้งสองพระองค์ก็ถูกพระนางบูเช็กเทียนใส่ร้ายว่าก่ออาชญากรรมและถูกปลดออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน[31] การเนรเทศเจ้าชายหลี่เสียนพระราชโอรสเจ้าชายหลี่เสียนนั้นทรงเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถไม่ด้อยไปกว่าเจ้าชายหลี่หงพระเชษฐาธิราชเลย โดยเฉพาะในด้านอักษรศาสตร์ เช่น พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์พระราชพงศาวดารตั้งแต่ยุคบรรพกาลจนถึงราชวงศ์ฮั่นขึ้นมาชุดหนึ่งที่ยังคงได้รับการยอมรับจากวงการประวัติศาสตร์จีนในปัจจุบันว่ามีความน่าเชื่อถืออ้างอิงได้มากที่สุดฉบับหบึ่งทีเดียว จึงนับได้ว่าพระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์พระองค์หนึ่ง หากแต่จุดจบของพระองค์ก็ไม่ต่างจากพระเชษฐาเท่าไรนัก เรื่องที่ปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในเวลาต่อมา ความสัมพันธ์ระหว่างจักรพรรดินีบูเช็กเทียนกับพระราชโอรส เจ้าชายหลี่เสียน นั้นไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากเจ้าชายหลี่เสียนทรงหวั่นเกรงพระทัยเมื่อทรงได้ยินข่าวลือว่าพระองค์เองมิได้เป็นพระโอรสของพระนางบูเช็กเทียน แต่กลับเป็นพระโอรสในสุภาพสตรีแห่งฮั่น พระขนิษฐาของพระนางบูเช็กเทียน เมื่อพระนางทรงทราบว่าเจ้าชายหลี่เสียนทรงเกิดความเกรงกลัวขึ้นจากข่าวลือนี้ พระนางทรงไม่พอพระทัยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ หมิงฉงเอี่ยน (Ming Chongyan; จีน: 明崇儼) ผู้เป็นหมอดูหรือโหรคนโปรดซึ่งเป็นพระสหายที่ร่วมต่อสู้ในเกมช่วงชิงอำนาจ และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พระนางบูเช็กเทียนขึ้นมากุมอำนาจในฐานะจักรพรรดินี (ผู้เคยกราบทูลแก่จักพรรดิเกาจงและจักรพรรดินีบูเช็กเทียนว่าเจ้าชายหลี่เสียนนั้นไม่เหมาะจะเป็นผู้สืบราชบัลลังก์) ได้ถูกลอบสังหารลงในปี ค.ศ. 679 พระนางบูเช็กเทียนก็ยื่งระแวงในตัวเจ้าชายหลี่เสียนมากขึ้นเนื่องจากทรงสงสัยว่าเจ้าชายจะเป็นต้นเหตุแห่งการลอบสังหารนี้ ต่อมาในปี ค.ศ. 680 ระหว่างที่เจ้าหน้าที่สืบสวน คือ เซวียหยวนเชา (Xue Yuanchao; จีน: 薛元超; พินอิน: Xuēyuánchāo; 622 - 683), เผยเหยียน (Pei Yan; จีน: 裴炎; พินอิน: Péi yán) และ เกาจื้อโจว (Gao Zhizhou; จีน: 高智周; พินอิน: Gāozhì zhōu) สืบสวนเรื่องนี้นั้น ได้ค้นเจออาวุธจำนวนมากในวังของเจ้าชายหลี่เสียนรัชทายาท พระนางบูเช็กเทียนจึงมีพระราชโองการว่ารัชทายาทคิดก่อการกบฏและเป็นผู้สังหารหมิงฉงเอี่ยน จึงทรงให้ถอดถอนจากตำแหน่งรัชทายาทลงเป็นสามัญชน แล้วให้เนรเทศไปถึงเมืองเฉิงตู ดินแดนเสฉวนอันห่างไกล ภายหลังหลี่เสียนทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมตัวเองโดยการผูกคอตายที่เมืองเฉิงตูนั้น ซึ่งมีเสียงเล่าลือดังขึ้นว่าพระนางบูเช็กเทียนจักรพรรดินีและพระมารดานั้นเป็นผู้พระราชทานแพรขาวให้แก่พระราชโอรส เพื่อบีบบังคับให้ผูกคอตายเอง รัชทายาทพระองค์ใหม่หลังจากการเนรเทศเจ้าชายหลี่เสียน (Li Xian; จีน: 李賢; พินอิน: Li Xián; ค.ศ. 653 - 684) เจ้าชายหลีเสี่ยน (Li Xian; จีน: 李顯; พินอิน: Lǐ xiǎn; 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 656 - 3 กรกฎาคม ค.ศ. 710) ผู้ซึ่งภายหลังเปลี่ยนพระนามเป็น หลี่เจ๋อ (Li Zhe; จีน: 李哲; พินอิน: Lǐ zhé) ได้รับพระราชทานตำแหน่งเจ้าชายรัชทายาทแทนเจ้าชายหลี่เสียน แลภายหลังได้ทรงได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ถัง ทรงพระนามว่าจักรพรรดิถังจงจง (Emperor Zhongzong of Tang; จีน: 唐中宗; พินอิน: Tángzhōngzōng) ทรงครองราชย์ในระยะเวลาสั้น ๆ ในปี ค.ศ. 684 และอีกครั้งตังแต่ปี ค.ศ. 705 ถึงปี ค.ศ. 710[31] เจ้าหญิงไท่ผิงในปี ค.ศ. 681 เจ้าหญิงไท่ผิง (Princess Taiping; จีน: 太平公主; พินอิน: Tàipíng Gōngzhǔ แปลตามตัวอักษรว่า "เจ้าหญิงแห่งสันติสุข") พระขนิษฐาในเจ้าชายหลี่เจ๋อ หรือจักรพรรดิถังจงจง ได้อภิเษกสมรสกับเซวียเส้า (Xue Shao; จีน: 薛紹; พินอิน: Xuē shào) บุตรของเจ้าหญิงเฉิงหยาง พระขนิษฐาของถังเกาจง จักรพรรดินีบูเช็กเทียนนั้นเมื่อแรกทรงมีความประทับใจในเชื้อสายวงศ์ตระกูลของภริยาของพี่ชายเซวียเส้า คือ เซวียอี่ (Xue Yi; จีน: 薛顗; พินอิน: Xuē yǐ) มาก จนมีพระราชดำริให้พระเชษฐาของพระนางหย่าจากภริยาแล้วให้มาแต่งงานกับเซวียอี่แทน ต่อมาพระนางทรงยกเลิกความคิดนี้เมื่อทรงได้ทราบว่าเซวียอี่ผู้เป็นหลานสาวของอดีตเสนาบดีเซียวหยู (Xiao Yu) [31] การสวรรคตของจักรพรรดิถังเกาจงในช่วงปลายรัชสมัยของจักรพรรดิถังเกาจง พระองค์และจักรพรรดินีบูเช็กเทียนทรงมักเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่เมืองหลวงทางตะวันออก คือ เมืองลกเอี๋ยง เป็นเวลานาน ทำให้พระองค์มักไม่ค่อยประทับที่อยู่ในเมืองฉางอานเท่าใดนัก[26] ปลายปี ค.ศ. 683 ถังเกาจงสิ้นพระชนม์ลงในขณะที่ประทับอยู่ในเมืองลกเอี๋ยง (Luoyang) เนื่องจากถังเกาจงนั้นเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงนัก พระนางบูเช็กเทียนจึงเป็นผู้ดูแลการบริหารงานภารกิจของราชสำนักอยู่เบื้องหลังพระองค์ในช่วงเวลาตลอด 20 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ [32] เจ้าชายหลี่เจ๋อ (Li Zhe; จีน: 李哲; พินอิน: Lǐ zhé; ค.ศ. 656 - 710) หรือพระนามเดิม หลีเสี่ยน (จีน: 李顯; พินอิน: Lǐ xiǎn) ทรงขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิถังจงจง (Emperor Zhongzong of Tang; จีน: 唐中宗; พินอิน: Táng zhōng zōng) สืบต่อจากจักรพรรดิถังเกาจง แต่ผู้มีอำนาจในการบริหารราชการที่แท้จริงคือพระนางบูเช็กเทียนซึ่งทรงดำรงตำแหน่งอยู่ในฐานะ "พระพันปี" หรือ "หวงไท่โฮ่ว" ตามสำเนียงกลาง หรือ "ฮองไทเฮา" ตามสำเนียงฮกเกี้ยน (empress dowager; จีน: 皇太后; พินอิน: húangtàihòu) และผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน[33] พระพันปีหรือฮองไทเฮาและผู้สำเร็จราชการแผ่นดินหลังจากที่พระสวามี จักรพรรดิถังเกาจงสวรรคตลง พระนางบูเช็กเทียนทรงดำรงตำแหน่งพระพันปี (หรือฮองไทเฮา) และยังเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระนางได้มีรับสั้งให้วางยาพิษเจ้าชายหลี่หง (Li Hong; จีน: 李弘; พินอิน: Lǐ hóng; ค.ศ. 652 - 25 พฤษภาคม ค.ศ. 675) และทรงให้เนรเทศพระราชโอรสองค์อื่น ๆ เพื่อให้พระโอรสองค์ที่สามของพระนาง คือ เจ้าชายหลี่เจ๋อ ได้เป็นรัชทายาทแทน นอกจากนี้พินัยกรรมของถังเกาจงยังได้ระบุไว้ให้พระโอรสคือเจ้าชายหลี่เจ๋อเป็นผู้สืบทอดพระราชบังลังก์ต่อจากพระองค์ โดยให้มีพระนางบูเช็กเทียนเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ในราชการสำคัญต่าง ๆ ทั้งด้านการทหารและกิจการพลเรือน[34] รัชสมัยของจักรพรรดิถังจงจงในเดือนที่สองของปี ค.ศ. 684 เจ้าชายหลี่เจ๋อ รัชทายาทและพระราชโอรสในจักรพรรดินีบูเช็กเทียนทรงขึ้นครองราชย์ ออกพระนามว่า จักรพรรดิถังจงจง ด้วยเวลาที่ทรงครองราชย์เพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น (ข้อมูลบางแหล่งแจ้งว่าทรงครองราชย์นานน้อยกว่า 1 ปี) หลังการขึ้นครองราชย์จักรพรรดิจงจงทรงแสดงออกถึงการไม่เชื่อฟังพระนางบูเช็กเทียนในทันที ด้วยทรงเชื่อพระมเหสีของพระองค์ คือ จักรพรรดินีเหวย (empress Wei) เป็นอย่างมาก และยังแต่งตั้งให้พระสัสสุระ (พ่อตา) เหวยเสวียนเจิน (Wei Xuanzhen; จีนตัวเต็ม: 韋玄貞; พินอิน: Wéixuánzhēn) เป็นอัครมหาเสนาบดี (หรือเทียบเท่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน) นอกจากนั้นพระองค์ยังมีความพยายามแต่งตั้งให้พระสัสสุระของพระองค์เป็นซื่อจง (Shizhong; จีนตัวเต็ม: 侍中; พินอิน: Shì zhōng) ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานตรวจสอบของราชสำนัก หรือ เหมินเซี่ยเสิ่ง (the examination bureau of government หรือ Menxia Sheng; จีนตัวเต็ม: 門下省; พินอิน: Ménxià shěng) และแต่งตั้งให้บุตรชายของแม่นมของพระองค์เป็นข้าราชการในระดับกลาง แม้ว่าเผยเหยี่ยน (Pei Yan) จะคัดค้านอย่างรุนแรงก็ตาม และจนถึงจุดหนึ่งที่พระองค์มีพระราชดำรัสกับเผยเหยี่ยนไปว่า[33]
เผยหยานจึงได้ถวายรายงานแก่พระนางบูเช็กเทียน ซึ่งขณะนั้นมีพระอิสริยยศเป็นพระพันปี ทำให้พระพันปีบูเช็กเทียนทรงวางแผนกับเผยหยาน หลิวยี่จือ (Liu Yizh; จีน: 劉禕之; พินอิน: Liú yī zhī) และเหล่านายพล คือ เฉิงอู้ถิ่ง (Cheng Wuting; จีน: 程務挺; พินอิน: Chéng wùtǐng) และจางเฉียนซวี่ (Zhang Qianxu; จีน: 張虔勖; พินอิน: Zhāng qián xù) ปลดพระองค์ออกจากตำแหน่งและให้พระโอรสองค์สุดท้องของพระนาง คือเจ้าชายหลี่ตั้น (Li Dan หรือ Prince of Yu; จีน: 李旦; พินอิน: Lǐ dàn) ขึ้นครองราชย์แทน โดยออกพระนามว่าจักรพรรดิถังรุ่ยจง (จีน: 唐睿宗 ค.ศ. 662 - 716) พระพันปีบูเช็กเทียนทรงตั้งข้อหาแก่พระสัสสุระของจักพรรดิจงจงว่าคิดก่อการกบฏโดยให้จับกุมชังไว้ ส่วนพระจักรพรรดิจงจงนั้น ทรงลดตำแหน่งของพระองค์เหลื่อเป็นเพียงอ๋องแห่งลู่หลิง (Prince of Luling) พร้อมทั้งให้ถูกเนรเทศออกไป ในขณะเดียวกันนั้นพระพันปีบูเช็กเทียนยังได้ส่งนายพล ชิวเฉินจี (Qiu Shenji; จีน: 丘神勣; พินอิน: Qiū shénjī) ไปยังวังของเจ้าชายหลี่เสียน (Li Xián) ที่อยู่ในระหว่างการเนรเทศและพระราชทานผ้าแพรสีขาวเพื่อให้ทรงทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) การขึ้นสู่อำนาจเต็มรัชสมัยจักรพรรดิถังรุ่ยจงแม้ว่าพระโอรสองค์สุดท้ายของพระพันปีบูเช็กเทียน เจ้าชายหลี่ตั้น จะทรงขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิถังรุ่ยจงแล้วก็ตาม พระนางบูเช็กเทียนก็ยังเป็นผู้บริหารราชการที่แท้จริงทั้งในด้านสาระการทำงานและภาพลักษณ์ที่ปรากฏ พระนางมิได้ปรารถนาจะดำเนินตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิมที่จะต้องบริหารงานผ่านหลังม่านโดยการกระซิบบอกกล่าวแก่ผู้ปกครองพระองค์จริงที่จะเป็นผู้มีพระราชดำรัสแจ้งแก่คณะขุนนางอย่างเป็นทางการต่อ จักรพรรดิรุ่ยจงทรงมิเคยได้เสด็จประทับในเขตที่ประทับของจักรพรรดิ (imperial quarters) หรือปรากฏกายในงานพระราชพิธีของราชสำนักแม้แต่น้อย แต่กลับถูกกักบริเวณอยู่เพียงที่ประทับฝ่ายในเท่านั้น[35] ข้าราชการในราชสำนักมิเคยได้รับพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าจักรพรรดิรุ่ยจงเลยแม้แต่น้อย และพระองค์ก็ไม่ได้รับราชานุญาตจากพระนางบูเช็กเทียนให้ว่าราชการใด ๆ เนื่องจากพระนางเป็นผู้บริหารราชการต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น นอกจากนั้นด้วยคำแนะนำของพระราชนัดดาของพระนาง คือ อู่เฉิงซื่อ (Wu Chengsi; จีน: 武承嗣; พินอิน: Wǔ Chéngsì) พระนางจึงบูชาบรรพบุรุษโดยทรงยกย่องเกียรติภูมิของตระกูลอู่ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพระนางให้สูงส่งมากขึ้น[33] ในปี ค.ศ. 686 พระพันปีบูเช็กเทียนได้เสนอที่จะคืนพระราชอำนาจในการบริหารราชการให้แก่สมเด็จพระจักรพรรดิรุ่ยจง แต่จักรพรรดิรุ่ยจงทรงทราบดีว่าพระนางมิได้มีพระราชประสงค์เช่นนั้นโดยแท้ พระองค์จึงทรงปฏิเสธพระพันปีบูเช็กเทียนไป พระนางจึงบริหารราชการแผ่นดินต่อไปแม้ว่าจะทรงอยู่ในฐานะพระพันปี ในปี ค.ศ. 690 พระนางบูเช็กเทียนทรงบังคับให้จักรพรรดิรุ่ยจงสละราชบัลลังก์ให้แก่พระนางและตั้งเป็นราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์อู่โจว โดยพระนางบูเช็กเทียนทรงเป็นผู้ครองราชบัลลังก์เองในฐานะกษัตริย์ (ฮ่องเต้ หรือ หวงตี้) ช่วงต้นของการขึ้นครองราชย์ของกรพรรดินีบูเช็กเทียนนั้น เริ่มต้นด้วยความหวั่นกลัวของเหล่าข้าราชการในหน่วยสืบสวนลับที่ทรงตั้งขึ้นในระยะเวลาหลายปี อย่างไรก็ตามพระนางก็ได้รับการยอมรับและยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ที่ชื่นชอบพระองค์ว่าเป็นผู้ปกครองที่บริหารราชการด้วยพระปรีชาสามารถและเอาใจใส่ในการบริหารราชการ นอกจากนั้นพระนางยังทรงได้รับการยกย่องในเรื่องการจัดระบบการคัดเลือกข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเข้ารับราชการในราชสำนัก (การสอบจอหงวน) ในตลอดช่วงเวลาของราชวงศ์ถังและส่งผลในราชวงศ์ต่อมาอีกหลายราชวงศ์[36] 15 ปี ต่อมา ในปี ค.ศ. 705 พระนางบูเช็กเทียนทรงถูกทำรัฐประหารโดยอดีตจักรพรรดิถังจงจง หลังการทำรัฐประหารสำเร็จพระองค์ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์อีกครั้ง หากพระนางบูเช็กเทียนก็ยังคงใช้พระอิสริยยศ "จักรพรรดิ" หรือ "หวงตี้" หรือ "emperor" ต่อจนกระทั่งสวรรคตในปีเดียวกันนั้นเอง การจลาจลในปี ค.ศ. 684ไม่นานหลังจากนั้น หลี่จิ้งเย่ (จีน: 李敬業; พินอิน: Lǐ jìngyè) หรือผู้มีตำแหน่งเป็นอิงเจินอู่กง (英貞武公) ผู้เป็นหลานชายของหลี่ซื่อจี (Li Shiji; จีน: 李世勣; พินอิน: Lǐshìjī) ซึ่งเขาไม่พอใจที่ตนเองถูกเนรเทศจึงเริ่มก่อการกบฏขึ้นที่หยางโจว (จีน: 揚州; พินอิน: Yángzhōu, หรือในปัจจุบัยคือเมืองหยางโจว ในมณฑลเจียงซู) ในช่วงแรกนั้นได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจากผู้คนในถิ่นนั้น แต่หลี่จิ่งเย่ดำเนินการไปอย่างเชื่องช้า และยังมิได้ใช้ประโยชน์จากมวลชนที่สนับสนุนการกบฏนี้นัก ในขณะเดียวกันนั้นเผยหยานได้กราบทุลเสนอให้พระนางบูเช็กเทียนคืนอำนาจในราชสำนักให้แก่จักรพรรดิรุ่ยจงเสีย โดยกล่าวว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้การก่อการกบฏนั้นยุติลงไปได้เอง ซึ่งสิ่งที่เผยหยานกล่าวมานั้นทำให้พระนางไม่พอพระทัยเป็นอันมาก พระนางจึงตั้งข้อกล่าวหาแก่เผยหยานว่ามีส่วนร่วมรู้เป็นกับหลี่จิ่งเย่และสั่งประหารชีวิตเผยหยานทันที นอกจากนั้นพระนางยังทรงสั่งปลด เนรเทศ และประหารชีวิตเจ้าหน้าที่ที่พยายามแก้ต่างให้แก่เผยหยานอีกด้วย ต่อจากนั้นพระนางได้ส่งหลี่เสี้ยวอี้ (Li Xiaoyi; จีน:李孝逸; พินอิน: Lǐxiàoyì) ไปโจมตีหลี่จิ่งเย่ ซึ่งในครั้งแรกนั้นหลี่เสี้ยวอี้ดำเนินการไม่สำเร็จ จึงให้ผู้ช่วยของเขาคือ เว่ยเหยียนจง (Wei Yuanzhong; จีน: 魏元忠; พินอิน: Wèi yuánzhōng) เข้าโจมตีจนสำเร็จในที่สุด ส่วนหลี่จิ่งเย่นั้นถูกสังหารในระหว่างการต่อสู้นี้เอง[33] ความสัมพันธ์กับหวายอี้ในปี ค.ศ. 685 พระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนเริ่มมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับภิกษุหวายอี้ (Huaiyi; จีน: 懷義; พินอิน: Huái yì; เสียชีวิตวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 694) หรือ เซวียหวายอี้ (Xue Huaiyi; จีน: 薛懷義; พินอิน: Xuē huáiyì) ทำให้ในช่วงเวลาหลายปีถัดมานั้นหวายอี้ได้รับความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ [33][37][38] หน่วยตำรวจสืบค้นข้อมูลลับนับตั้งแต่หลี่จิ่งเย่ได้ก่อการกบฏขึ้นนั้น พระนางบูเช็กเทียนมีความหวาดระแวงอยู่เสมอ ไม่ไว้วางพระทัยไม่ว่าจะเป็นราชนิกูล เสนาบดี และเหล่าข้าราชการต่าง ๆ พระนางจึงใช้พระราชอำนาจกำจัดบุคคลที่ทรงไม่ไว้วางใจเหล่านั้นด้วยความเด็ดขาดและเหี้ยมโหด[39] ในปี ค.ศ. 686 ได้มีการออกแบบประดิษฐ์กล่องทองแดงสำหรับเก็บจดหมายที่ประชาชนส่งเข้ามาแจ้งเรื่องที่เปิดโปงความลับต่าง ๆ กล่องนี้ถูกออกแบบขึ้นโดยชายผู้หนึ่ง ชื่อ อวี๋เป่าเจีย กล่องทองแดงนี้ถูกออกแบบให้มีช่องจำนวน 4 ช่อง สำหรับแยกเก็บจดหมายเปิดโปงความลับในด้านต่าง ๆ โดยเมื่อมีผู้ใส่จดหมายลงในกล่องนี้แล้วจะไม่สามารถหยิบออกได้อีก[39] พระนางทรงพอพระทัยมากและให้จัดทำกล่องทองแดงนี้ว่างไว้ตามประตูพระราชวัง รวมทั้งในราชสำนัก เนื่องจากพระนางมีความหวาดระแวงว่าเหล่าเสนาบดีและข้าราชการจะคิดต่อต้านพระนาง สำหรับผู้ที่ส่งจดหมายเปิดโปงความลับ หากเรื่องที่แจ้งเป็นเรื่องจริงผู้ที่แจ้งจะได้รับรางวัลเพื่อเป็นการตอบแทน แต่ผู้ที่แจ้งเรื่องที่เป็นความเท็จแล้วก็จะไม่ได้รับโทษใด ๆ นอกจากนั้นบางครั้งพระนางบูเช็กเทียนยังรับสั่งเรียกให้ผู้ที่แจ้งเรื่องเข้ามานั้นมาเข้าเฝ้ามามอบตำแหน่งและเลื่อนขั้นให้กับบุคคลเหล่านี้ด้วย ทำให้กระแสการเปิดโปงความลับแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง[39] สาเหตุจากความหวาดระแวงของพระนางบูเช็กเทียนนี้ ทำให้หน่วยสืบสวนลับ ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่าง สั่วหยวนหลี่ (Suo Yuanli; จีนตัวเต็ม: 索元禮; จีนตัวย่อ: 索元礼; พินอิน: Sǔo Yuánlǐ) โจวซิ่ง (Zhou Xing; จีน: 周興; พินอิน: Zhōu xìng) และไหลจวิ้นเฉิน (Lai Junchen; จีน: 來俊臣; พินอิน: Lái jùnchén) มีอำนาจในการดำเนินการมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการตั้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการยัดเยียดข้อกล่าวหา ตั้งคดีที่ไม่เป็นธรรม ใส่ร้ายคนดี จึงได้เลื่อนขั้นขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังซื้อตัวอันธพาลไว้ใช้งานเป็นจำนวนมาก เพื่อการเปิดโปงโดยเฉพาะ ทั้งยังสร้างหลักฐานเท็จในการใส่ร้ายป้ายสี ทรมาน และประหารชีวิตอย่างเป็นระบบ[33] กำจัดคู่แข่งที่เป็นที่ต้องสงสัยในปี ค.ศ. 688 พระนางบูเช็กเทียนทรงยอมที่จะเสียแม่น้ำลั่ว (Luo River; จีน: 洛水; พินอิน: Luò shuǐ; เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองลกเอี๋ยงในมณฑลเหอหนาน หรือที่เรียกว่าเป็นเมืองหลวงแห่งตะวันออก) พระนางบูเช็กเทียนทรงเรียกประชุมเชื้อพระวงศ์อาวุโสของราชวงศ์ถังซึ่งอยู่ในตระกูลหลี่ในเมืองลั่วหยาง ทำให้เจ้าชายและเชื้อพระวงศ์เหล่านั้นต่างวิตกกังวลว่าจะเป็นแผนลวงในการลอบสังหารพวกตนเพื่อปกป้องพระราชบัลลังก์ของพระนาง พวกเขาจึงวางแผนต่อต้านพระนางบูเช็กเทียน อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการวางแผนการทำรัฐประหารอย่างรัดกุมนั้น หลี่เจิน (Li Zhen; จีน: 李貞; พินอิน: Lǐ zhēn; ค.ศ. 627 - 12 ตุลาคม ค.ศ. 688) หรือเดิมคือ เจ้าชายจิ้งแห่งเยว่ หรือ เยว่จิ้งหวัง (Prince Jing of Yue; จีน: 越敬王; พินอิน: Yuè jìng wáng) และบุตรชายของเขา หลี่ชง (Li Chong; จีน: 李沖; พินอิน: Lǐ chōng; เสียชีวิต 22 กันยายน ค.ศ. 688) หรือเดิมคือ อ๋องแห่งหลังเสีย (Prince of Langxie; จีน: 琅邪王; พินอิน: Láng xié wáng) ได้ลุกขึ้นมาต่อต้านเสียก่อน โดยใช้ฐานอยู่ในบริเวณยวี่โจว (Yu Prefecture; จีน: 豫州; พินอิน: Yùzhōu, ในปัจจุบันคือเมืองจู้หม่าเตี้ยน (Zhumadian; จีน: 驻马店; พินอิน: Zhùmǎdiàn) ในมณฑลเหอหนาน) และบริเวณป๋อโจว (Bo Prefecture; จีน: 博州; พินอิน: Bó zhōu, ในปัจจุบันคือ เหลียวเฉิง, มณฑลซานตง) ในขณะที่เจ้าชายราชวงศ์ถังคนอื่น ๆ ยังไม่พร้อม ทำให้หลี่เจินและหลี่ชงถูกกองกำลังของพระนางบูเช็กเทียนและกองกำลังพื้นเมืองโจมตีได้โดยสำเร็จอย่างรวดเร็ว พระนางบูเช็กเทียนจึงใช้โอกาสนี้จับกุมหลานชายของถังเกาจง หลี่หยวนเจีย (Li Yuanjia; จีน: 李元嘉; พินอิน: Lǐ yuánjiā) หรืออ๋องแห่งฮั่น และหลี่หลิงขุย (Li Lingkui; จีน: 李靈夔; พินอิน: Lǐ líng kuí) หรืออ๋องแห่งหลู และเจ้าชายฉางเล่อ รวมถึงเชื้อพระวงศ์คนอื่น ๆ ในราชวงศ์ถังผู้สืบเชื้อสายตระกูลหลี่ได้ถูกบังคับให้ทำอัตนิบากกรรมไปทั้งสิ้น แม้แต่เซวียเส้าพระสวามีของเจ้าหญิงไท่ผิงซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยก็ถูกทรมานด้วยการอดอาหารและเสียชีวิตในที่สุด ต่อมาอีกหลายปีก็ยังมีแรงจูงใจทางการเมืองที่ทำให้เกิดการสังหารเหล่าสมาชิกเชื้อพระวงศ์ตระกูลหลี่อยู่อย่างต่อเนื่อง[37] พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์โจวในปี ค.ศ. 690 ขณะที่พระนางบูเช็กเทียนมีพระชนมายุได้ 67 พรรษา พระนางได้ทรงดำเนินการขั้นสุดท้ายในการขึ้นครองราชย์เป็น "หวงตี้" พร้อมทั้งแผนการตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์โจว เนื่องจากกฏมณเฑียรบาลจีนในสมัยนั้นไม่อนุญาตให้ผู้หญิงสืบทอดตำแหน่งในราชบัลลังก์ (คล้ายกับกฎหมายแซลิกในประเทศทางยุโรป) แต่พระนางบูเช็กเทียนนั้นทรงตั้งใจที่จะล้มล้างประเพณีนี้ นอกจากนั้นการใช้วิธีสืบสวนลับก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ระบบการรับข้าราชการพลเรือนในยุคของพระนางนั้นมีความบกพร่องและหละหลวมมากในการเลื่อนขั้นและปรับตำแหน่ง อย่างไรก็ตามพระนางบูเช็กเทียนนั้นถือว่ามีความสามารถในการประเมิณความสามารถของเหล่าขุนนางและข้าราชการได้เป็นอย่างดีเมื่อบุคคลเหล่านี้ได้เข้ามารับใช้พระองค์ ดังที่ซือหม่ากวง (Sima Guang; จีนตัวย่อ: 司马光; จีนตัวเต็ม: 司馬光; พินอิน: Sīmǎ Guāng; ค.ศ. 1019 - 1086) นักประวัติศาสตร์ในยุคราชวงศ์ซ่งได้ระบุไว้ในหนังสือจือจื้อทงเจี้ยน (Zizhi Tongjian หรือ Tzu-chih Tung-chien; จีนตัวย่อ: 资治通鉴; จีนตัวเต็ม: 資治通鑑; พินอิน: Zīzhì Tōngjiàn; แปลตามตัวอักษรว่า "กระจกที่ครอบคลุมเพื่อช่วยร้ฐบาล (Comprehensive Mirror to Aid in Government) ") ที่เขาเขียนไว้ โดยมีข้อความว่า[38]
ขุนนางคนใกล้ชิดของพระนางบูเช็กเทียนถวายคัมภรีร์ต้าอวิ๋นจิง ให้แก่พระนางและกล่าวว่าพระนางบูเช็กเทียนทรงเป็นพระศรีอริยเมตไตรยมาประสูติ จึงควรที่จะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ต่อมาฟูโหยวอี้ ขุนนางตำแหน่งซื่ออวี้สื่อ พาผู้คนจำนวน 900 คนมาเสนอเปลี่ยนราชวงศ์จากชื่อราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์โจว ในครั้งแรกพระนางบูเช็กเทียนทรงทำทีไม่อนุญาต แต่ก็ตอบแทนแก่ฟูโหยวอี้โดยการเลื่อนตำแหน่งให้แก่เขา หลังจากนั้นจึงมีเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการในราชสำนัก และประชาชนจำนวนกว่า 60,000 คน พากันมาขอให้พระนางทรงเปลี่ยนราชวงศ์อีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ เดือน พระนางบูเช็กเทียนจึงประกาศให้เปลี่ยนจากราชวงศ์ถังมาเป็นราชวงศ์โจว และจัดพระราชพิธีสถาปนาราชวงศ์ใหม่อย่างยิ่งใหญ่ ให้ตั้งเมืองลั่วหยางเป็นเมืองหลวง และเมืองฉางอานเป็นเมืองหลวงรอง รวมทั้งยกย่องบรรพบุรุษตระกูลอู่ (หรือบู ในสำเนียงฮกเกี้ยน) ของพระนางเป็นตระกูลแห่งจักรพรรดิ[39] เส้นทางการขึ้นสู่พระราชอำนาจและราชบัลลังก์ของจักรพรรดินีบูเช็กเทียนเพื่อเป็นกษัตริย์หญิงพระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งแผ่นดินจีนนั้น ผ่านอุปสรรคขวากหนามและทั้งยังเต็มไปด้วยเล่ห์กลอุบาย การใส่ร้ายป้ายสี ลอบทำร้าย ลอบสังหารอยู่หลายครา ก่อนที่พระนางจะสามารถสถาปนาราชวงศ์โจวของพระองค์ได้ เรื่องราวประวัติศาสตร์นี้ หลินยวี่ถัง (Lin YuTang) นักประพันธ์ชื่อดังของจีน ได้ระบุไว้ในหนังสือ ประวัติบูเช็กเทียน ถึงสถิติการวางแผนการสังหารบุคคลที่ขัดขวางเส้นทางของพระนางว่า ทรงสังหารลูก หลาน และเชื้อพระวงศ์ที่ใกล้ชิดรวม 23 พระองค์ สังหารเจ้าชายในรางวงศ์ถังแซ่หลี่ 50 พระองค์ เสนาบดีและขุนผลฝีมือดีอีก 36 คน รวมทั้งหมด 109 คน ช่วงต้นของการครองราชย์หลังจากที่พระนางบูเช็กเทียนทรงขึ้นครองราชย์เพื่อปกครองและบริหารราชการอย่างเต็มอำนาจในฐานะกษัตริย์ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงได้พัฒนาพระพุทธศาสนาขึ้นเหนือลัทธิเต๋า ทรงสนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการโดยการสร้างวัดต้าหยุน หรือวัดเมฆใหญ่ (Dayun Temple; จีน: 大雲寺; พินอิน: Dà yúnsì) ขึ้นในแต่ละจังหวัดที่อยู่ภายใต้อาณาเขตของเมืองหลวงทั้งสองแห่งคือ เมืองลกเอี๋ยงและเมืองฉางอาน รวมถึงแต่งตั้งตำแหน่งพระภิกษุอาวุโสรวม 9 ตำแหน่ง และพระนางยังทรงตั้งแท่นบูชาบรรพบุรุษเจ็ดชั้นไว้ในวัดหลวง แต่พระนางก็ยังคงปฏิบัติพิธีบวงสรวงอดีตจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถังทั้งสามพระองค์ คือ จักรพรรดิถังเกาจู่ จักรพรรดิถังไท่จง จักรพรรดิถังเกาจงเช่นเดิม[37] หากแต่พระนางบูเช็กเทียนก็ประสบปัญหาเรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งรัชทายาท ในช่วงที่ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งราชบัลลังก์นั้น พระนางแต่งตั้งเจ้าชายหลี่ตั้น (อดีตจักรพรรดิถังรุ่ยจง) ให้เป็นรัชทายาท และให้เปลี่ยนพระนามเป็นแซ่อู่ด้วย[37] อย่างไรก็ตาม จางเจียฝู (Zhang Jiafu; จีน: 張嘉福; พินอิน: Zhāngjiāfú) ได้เกลี้ยกล่อม หวังชิ่งจือ (Wang Qingzhi; จีน: 王慶之; พินอิน: Wáng qìngzhī) ให้ยื่นฏีกาเสนอให้เจ้าชาย อู่เฉิงซื่อ (Wu Chengsi; จีน: 武承嗣; พินอิน: Wǔ Chéngsì) ผู้เป็นพระนัดดาของพระนางบูเช็กเทียนขึ้นเป็นเจ้าชายรัชทายาทแทน โดยให้เหตุผลว่าพระจักรพรรดินีมีพระนามแซ่อู่ ดังนั้นผู้สืบทอดราชบัลลังก์จึงควรเป็นผู้ที่อยู่ในตระกูลอู่จึงจะมีความเหมาะสมกว่า พระนางได้ทรงทราบและเห็นด้วยหากแต่เสนาบดีเฉินจ่างเชี่ยน (Cen Zhangqian; จีน: 岑長倩; พินอิน: Cén zhǎngqiàn) และเก๋อฝู่หยวน (Ge Fuyuan; จีน: 格輔元; พินอิน: Gé fǔyuán) แสดงความเห็นคัดค้านเรื่องนี้อย่างรุนแรง พวกเขาทั้งสองรวมทั้งพวกอีกหนึ่งคน คือเสนาบดีโอวหยางทง (Ouyang Tong; จีน: 歐陽通; พินอิน: Ōuyáng tōng) จึงถูกลงโทษประหารชีวิตทั้งหมด ในที่สุดพระนางบูเช็กเทียนก็มิได้ทำตามคำเสนอแนะที่จะแต่งตั้งให้อู่เฉิงซื่อเป็นรัชทายาท แต่ทรงอนุญาตให้หวังชิ่งจรือสามารถเข้าออกพระราชวังเพื่อเข้าพระนางได้อย่างอิสระ โดยมีช่วงหนึ่งที่พระนางบูเช็กเทียนทรงไม่พอพระทัยหวังชิ่งจรือซึ่งเข้าออกพระราชวังบ่อยเกินไป พระนางจึงมีรับสั่งให้หลี่เจาเต๋อ (Li Zhaode; จีน: 李昭德; พินอิน: Lǐzhāodé) สั่งสอนหวังชิ่งจือ หลี่เจาเต๋อจึงใช้โอกาสนี้ทำร้ายหวังชิ่งจือจนเสียชีวิต หลี่เจาเต๋อจึงได้กราบบังคมทูลพระนางบูเช็กเทียนโดยเสนอแนะให้เจ้าชายหลี่ตั้นเป็นรัชทายาทดังเดิม ด้วยเหตุผลว่าความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นบุตรของเจ้าชายหลี่ตั้นนั้นมีความใกล้ชิดกับพระนางมากกว่าความสัมพันธ์ในฐานะพระนัดดาของเจ้าชายอู่เฉิงซื่อ นอกจากนั้นหากเจ้าชายอู่เฉิงซื่อทรงขึ้นครองราชบัลลังก์แล้วพระองค์ก็คงจะไม่ทำพิธีบูชาบรรพบุรุษให้แก่จักรพรรดิถังเกาจงเป็นแน่ พระนางบูเช็กเทียนจึงตกลงพระทัยให้เจ้าชายหลี่ตั้นคงเป็นรัชทายาทดังเดิม และมิได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาอีกเป็นเวลานานหลังจากนั้น[37] นอกจากนั้นหลี่เจาเต๋อยังได้กล่าวเตือนอีกว่าอู่เฉิงซื่อนั้นมีอำนาจมากเกินไป พระนางบูเช็กเทียนจึงได้ถอดถอนอู่เฉิงซื่อออกจากตำแหน่งเสนาบดีและแต่งตั้งเขาในตำแหน่งใหม่ที่สูงกว่าหากมิได้มีอำนาจอย่างแท้จริง[38] ในปี ค.ศ. 692 ในขณะที่อิทธิพลและอำนาจของหน่วยสืบสวนลับมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดกรณีที่ไหลจวิ้นเฉินเจ้าหน้าที่ตำรวจลับตั้งข้อหาใส่ร้ายเหล่าเสนาบดี ตี๋เหรินเจี๋ย (Di Renjia; จีน: 狄仁傑; พินอิน: Dírénjié) ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งราชวงศ์ถังในรัชศกอู่เจ๋อเทียน เป็นข้าราชการหนึ่งในหลาย ๆ คนซึ่งได้รับการสรรเสริญมากที่สุดในรัชศกดังกล่าว และเป็นที่สดุดีว่ามีบทบาทผลักดันให้อู่ จ๋อเทียนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบอันโหดร้ายเป็นระบอบอันเชิดชูคุณธรรม เริ่นจือกู่ (Ren Zhigu; จีน: 任知古; พินอิน: Rèn zhī gǔ) เผยสิงเปิ่น (Pei Xingben; จีน: 裴行本; พินอิน: Péixíngběn) และข้าราชการในราชสำนัก คือ ชุยเซวียนหลี่ (Cui Xuanli; จีน: 崔宣禮; พินอิน: Cuī xuānlǐ), หลูเซี่ยน (Lu Xian; จีน: 盧獻; พินอิน: Lú xiàn), เว่ยหยวนจง (Wei Yuanzhong; จีน: 魏元忠; พินอิน: Wèi yuánzhōng), และ หลี่ซื่อเจิน (Li Sizhen; จีน: 李嗣真; พินอิน: Lǐsìzhēn) ในข้อหาก่อการกบฏ โดยไหลจวิ้นเฉินได้พยายามทำให้ทั้งเจ็ดคนนี้ยอมรับสารภาพโดยอ้างพระราชกระแสรับสั่งของพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนว่าหากผู้ใดรับสารภาพแล้วจะได้รับการไว้ชีวิต ตี๋เหรินเจี๋ยซึ่งยอมรับสารภาพจึงไม่ถูกทรมาน หลังจากนั้นหวังเต๋อโช่ว (Wang Deshou; จีน: 王德壽; พินอิน: Wáng déshòu) ลูกน้องของไหลจวิ้นเฉินได้พยายามหว่านล้อมให้ตี๋เหรินเจี๋ยใส่ร้ายพาดพิงถึง หยางจื๋อโหรว (楊執柔) เสนาบดีอีกคนหนึงด้วย หากแต่ตี๋เหรินเจี๋ยปฏิเสธ และเขาได้เขียนคำร้องทุกข์ถึงพระนางบูเช็กเทียนบนผ้าห่มและซ่อนไว้ในเสื้อผ้าที่ส่งกลับบ้านโดยอ้างว่าจะเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าสำหรับฤดูร้อน โดยให้บุตรชายของเขา ตี๋กวงหย่วน (Di Guangyuan; จีน: 狄光遠; พินอิน: Dí guāng yuǎn) เป็นผู้นำคำร้องทุกข์นี้ออกมา พระนางบูเช็กเทียนจึงทรงระแคะระคายในเรื่องนี้และสงสัยมากขึ้นจนเรียกไหลจวิ้นเฉินเข้าพบ ซึ่งไหลจวิ้นเฉินก็ได้ปลอมแปลงเอกสารในชื่อของตี๋เหรินเจี๋ยและพรรคพวก โดยมีข้อความว่าบุคคลเหล่านี้ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระนางบูเช็กเทียนที่รับสั่งโทษประหารชีวิตแก่พวกเขา[38] อย่างไรก็ตาม Le Sihui บุตรชายคนเล็กของเสนาบดีอีกคนหนึ่งซึ่งถูกจับกุมและโดยได้รับโทษในฐานะผู้รับใช้เสนาบดีด้านการเกษตรได้เขียนเรื่องร้องเรียนแก่พระนางบูเช็กเทียน ซึ่งมีข้อความกล่าวด้วยว่าไหลจวิ้นเฉินนั้นเป็นผู้มากความสามารถในด้านการสร้างคดีเท็จ จนแม้ผู้ซื่อสัตย์และสุจริตที่สุดก็ยังอาจได้รับการทรมานจากเขาจนต้องยอมสารภาพผิดในที่สุด พระนางบูเช็กเทียนจึงรับสั่งให้นำตัวนักโทษทั้งเจ็ดคนนั้นมาให้พระนางไต่สวนด้วยพระองค์เอง และหลังจากที่ทั้งหมดได้ปฏิเสธการรับสารภาพว่าเป็นเอกสารที่ปลอมแปลงขึ้นโดยไหลจวิ้นเฉินแล้ว พระนางบูเช็กเทียนจึงให้ปล่อยตัวทั้งหมดแต่ให้ถูกเนรเทศไปรับราชการอยู่ต่างเมืองแทน โดยในกรณีของตี๋เหรินเจี๋ยนั้น ทรงให้ไปเป็นผู้พิพากษาที่มณฑลเผิงเจ๋อ (จีน: 彭澤; พินอิน: Péng zé, ปัจจุบันคือจิ่วเจียง ในมณฑลเจียงซี) หลังจากคดีของตี๋เหรินเจี๋ยและพวกแล้ว ด้วยคำแนะนำของ จูจิ้งเจ๋อ (Zhu Jingze; จีน: 朱敬則; พินอิน: Zhū jìngzé) และ โจวจวี่ (Zhou Ju; จีน: 周矩; พินอิน: Zhōu jǔ) การสังหารหมู่จากคดีทางการเมืองก็ลดน้อยลงไปเป็นอันมาก แม้ว่าจะยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิงก็ตาม[38] และในปี ค.ศ. 692 เดียวกันนี้เองพระนางบูเช็กเทียนได้รับสั่งให้นายพลหวังเสี้ยวเจี๋ย (Wang Xiaojie; จีน: 王孝傑; พินอิน: Wángxiàojié) เข้าโจมตีเมืองทูฟาน (Tufan) ซึ่งเป็นรัฐ ๆ หนึ่งในทิเบต ซึ่งนายพลหวังเสี้ยวเจี๋ยสามารถเอาชนะกองกำลังของทิเบตและสามารถรวบรวมอาณาบริเวณซียวี่ (Xiyu; จีน: 西域; พินอิน: Xīyù) (พื้นที่บริเวณตะวันออกของจีน) ที่ตกอยู่ภายใต้ทิเบตตั้งแต่ปี ค.ศ. 670 คือ ชิวฉือ (Qiuci; จีนตัวเต็ม: 龜茲; พินอิน: Qiūcí) ยวี๋เถียน (Yutian; จีนตัวเต็ม: 于田; พินอิน: Yú tián) ซูเล่อ (Shu le; จีน: 疏勒; พินอิน: Shū le) และซุ่ยเย่ (Suiye; จีนตัวเต็ม: 碎葉; พินอิน: Suì yè) กลับเข้ามาได้[38] ในปี ค.ศ. 693 พระนางบูเช็กเทียนทรงเชื่อคำกราบทูลของนางสนองพระโอษฐ์เหวยท้วนเอ๋อร์ (Wei Tuan'er; จีน: 韋團兒; พินอิน: Wéi tuán er) ผู้เป็นปฏิปักษ์กับเจ้าชายหลี่ตั้น (ไม่มีข้อมูลหลักฐานว่าเหตุใดนางจึงรู้สึกเช่นนั้น) ซึ่งกล่าวข้อความใส่ร้ายเจ้าหญิงหลิว พระมเหสีของเจ้าชายหลี่ตั้น (Crown Princess Liu; จีน: 劉皇后; พินอิน: Liú huánghòu) และนางสนมโตวว่าใช้คาถาอาคม พระนางบูเช็กเทียนจึงทรงสั่งให้ประหารชีวิตเมหสีหลิวและนางสนมโตว เจ้าชายหลี่ตั้นทรงเกรงพระทัยว่าพระองค์จะถูกลงโทษโดยการประหารเช่นกันเป็นรายต่อไปจึงไม่กล้าที่จะทักทานใด ๆ นางสนองพระโอษฐ์เหวยท้วนเอ๋อร์จึงวางแผนใส่ร้ายและกำจัดเจ้าชายหลี่ตั้นด้วยอีกพระองค์หนึ่ง อย่างไรก็ตามมีบางคนได้กราบบังคมทูลความจริงเกี่ยวกับนางสนองพระโอษฐ์เหวยท้วนเอ๋อร์ ทำให้พระนางบูเช็กเทียนทรงสั่งประหารนางสนองพระโอษฐ์เหวยท้วนเอ๋อร์ แต่พระนางก็ยังทรงลงโทษเจ้าชายหลี่ตั้นโดยการลดพระอิสริยยศของพระโอรสของเจ้าชายหลี่ตั้น ต่อมามีผู้กล่าวหาว่าเผยเฝ่ยกง (Pei Feigong; จีน: 裴匪躬; พินอิน: Péi fěi gōng) และฟ่านหยุนเซียน (Fan Yunxian; จีน: 范雲仙; พินอิน: Fàn yúnxiān) ได้ลักลอบเข้าพบเจ้าชายหลี่ตั้น ทั้งสองคนจึงถูกประหารด้วยเช่นกัน ทั้งพระนางบูเช็กเทียนยังได้สั่งห้ามมิให้ข้าราชการคนใดเข้าพบเจ้าชายหลี่ตั้นด้วย หลังจากนั้นเจ้าชายหลี่ตั้นก็ถูกกล่าวหาว่าวางแผนก่อการกบฏ พระนางบูเช็กเทียนจึงทรงให้ไหลจวิ้นเฉินดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ โดยได้เข้าจับกุมคนรับใช้ของเจ้าชายหลี่ตั้นจำนวนมากมาทรมานเพื่อให้รับสารภาพ จนกระทั่งมีคนรับใช้หลายคนที่ถูกทรมานจนทนไม่ได้และพร้อมสารภาพผิดรวมทั้งกล่าวโทษต่อเจ้าชายหลี่ตั้นด้วย หากมีคนรับใช้คนหนึ่งของเจ้าชายหลี่ตั้นชื่อ อันจิ้งจาง (An Jinzang) ได้ยืนยันว่าเจ้าชายหลี่ตั้นนันเป็นผู้บริสุทธิ์และได้ผ่าท้องตัวเองเพื่อเป็นการสาบานและยืนยันคำกล่าวนั้น เมื่อพระนางบูเช็กเทียนทรงทราบเรื่องนี้ ทรงให้หมอหลวงเข้ารักษาอันจิ้งจางซึ่งก็สามารถช่วยรักษาชีวิตของเขาไว้ได้อย่างหวุดหวิด รวมทั้งสั่งให้ไหลจวิ้นเฉินยุติการสอบสวนนี้ ซึ่งทำให้เจ้าชายหลี่ตั้นทรงรอดชีวิตมาได้[38] ในปี ค.ศ. 694 หลี่เจาเต๋อกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจแทนเจ้าชายอู่เฉิงซื่อที่ถูกถอดจากตำแหน่งเสนาบดีและลดทอนอำนาจลง และตัวหลี่เจาเต๋อเองก็ลุแก่อำนาจและอิทธิพลของตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ พระนางบูเช็กเทียนจึงรับสั่งให้ถอดถอนเขาลงเช่นกัน[38] ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่พระนางบูเช็กเทียนทรงลุ่มหลงในกลุ่มลี้ลับ ซึ่งมีฤๅษีเหวยฉือฟาง (Wei Shifang; จีน: 韋什方; พินอิน: Wéi shi fāng) ที่พระนางทรงแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีในช่วงเวลาสั้น ๆ ด้วย เขาอ้างว่าตนเองเกิดในปี ค.ศ. 238 จึงมีอายุมากกว่า 450 ปีแล้ว แม่ชีในพุทธศาสนาจากเมืองเหอเน่ย (Henei; จีน: 河內; พินอิน: Hénèi) ซึ่งอ้างว่าเป็นพระพุทธเจ้าและยังสามารถทำนายอนาคตได้ และชายชราอีกผู้หนึ่งซึ่งอ้างว่ามีอายุมากกว่า 500 ปี โดยพระนางบูเช็กเทียนทรงเคารพทั้งสามคนนี้มาก โดยอ้างว่าเป็นการสร้างภาพของพระศรีอริยเมตไตรย (พระพุทธเจ้าองค์ถัดไป) ที่นำมาใช้ในพิธีกรรมเพื่อสร้างฐานและบารมีให้แก่ราชบัลลังก์ของพระนาง[41] อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี ค.ศ. 695 พระตำหนักวังหลวงสองหลัง คือ หมิงถังหรือโถงท้องพระโรง (the imperial meeting hall; จีน: 明堂; พินอิน: Míngtáng) และโถงแห่งสรวงสวรรค์ (the Heavenly Hall; จีน: 天堂; พินอิน: Tiāntáng) ถูกไฟไหม้ลงจากฝีมือการวางเพลิงของเซียวหวายอี้ อดีตชู้รักของพระนางที่มีความรู้สึกริษยาและโกรธที่พระนางบูเช็กเทียนหันไปมีชู้รักคนใหม่ คือ เสิ่นหนานฉิว (Shen Nanqiu; จีน: 沈南璆; พินอิน: Shennán qiú) ผู้เป็นหมอหลวงแห่งพระราชวังในขณะนั้น ทำให้พระนางบูเช็กเทียนทรงโกรธที่กลุ่มบุคคลลี้ลับทั้งสามที่พระนางให้ความเคารพเชื่อถือนั้นกลับไม่สามารถทำนายเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ได้ล่วงหน้าตามที่กล่าวอ้างไว้ จึงรับสั่งให้จับกุมแม่ชีและบรรดาลูกศิษย์ของนางไปเป็นทาสเสีย ส่วนเหวยฉือฟางนั้นชิงฆ่าตัวตายเสียก่อน และชายชรานั้นหนีไปได้ ต่อมาพระนางทรงลงโทษเซียวหวายอี้ด้วยการประหารชีวิตตามไปอีกคนหนึ่งด้วย หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้พระนางบูเช็กเทียนทรงลดความสนใจในเรื่องลี้ลับเหล่านี้ลงอย่างมาก และกลับมาให้ความสนพระทัยเอาใจใส่ในการบริหารปกครองบ้านเมืองกว่าแต่ก่อนมากด้วย[38] ช่วงกลางของการครองราชย์ในการบริหารปกครองบ้านเมืองสมัยพระนางบูเช็กเทียนนั้น เกิดปัญหาทางชายแดนตอนเหนือและตะวันตกอยู่เสมอ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี ค.ศ. 696 กองทัพที่พระนางสั่งให้ยกไปต่อสู้กับทูฟาน (Tufan) ชนกลุ่มชาวทิเบตซึ่งนำทัพโดยหวังเสื้ยวเจี๋ย (Wang Xiaojie; จีน: 王孝傑; พินอิน: Wángxiàojié) และโหลวซือเต๋อ (Lou Shide; จีน: 婁師德; พินอิน: Lóu shī dé) นั้นได้รับความพ่ายแพ้แก่กองทัพของนายพลแห่งทูฟาน คือสองพี่น้องลุ่นชินหลิง (Lun Qinling ; จีน: 論欽陵; พินอิน: Lùn qīn líng) และลุ่นจ้านโผว (Lun Zanpo ; จีน: 論贊婆; พินอิน: Lùn zàn pó) พระนางจึงมีรับสั่งให้ปลดหวังหวังเสื้ยวเจี๋ยไปเป็นสามัญชนเสีย และให้โหลวซือเต๋อไปเป็นข้าราชการระดับต่ำแทน แต่ต่อมาภายหลังพระนางจึงได้คืนตำแหน่งแก่บุคคลทั้งสองให้กลับมาเป็นนายพลดังเดิม[38] ในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้นเอง พระนางบูเช็กเทียนรับสั่งให้สร้างหม้อสามขาเก้าชิ้น (Nine Tripod Cauldrons; จีน: 九鼎; พินอิน: Jǐu Dǐng) ขึ้นใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอันสูงสุดของในวัฒนธรรมจีน เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงสถานภาพและอำนาจของพระนางด้วย[42] มีเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างมากเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 696 หัวหน้าเผ่าชี่ตาน (Khitan; จีน: 契丹; พินอิน: Qìdān) คือ หลี่จิ้นจง (Li Jinzhong; จีน: 李盡忠; พินอิน: Lǐ jìnzhōng) และน้องเขยของเขา คือ ซุนว่านหรง (Sun Wanrong; จีน: 孫萬榮; พินอิน: Sūnwànróng) ซึ่งเป็นกลุ่มชนทางตอนเหนือของประเทศจีนที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 และมีอิทธิพลมากเหนือพื้นที่มองโกเลียและในเวลาต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 คือ แมนจูเรีย ทั้งสองเกิดควาโกรธแค้นที่มีการปฏิบัติอย่างทารุณต่อชาวชี่ตานโดย เจ้าเหวินฮุ่ย (Zhao Wenhui; จีน: 趙文翽; พินอิน: Zhàowénhuì) ข้าราชการผู้หนึ่งในราชสำนักแห่งราชวงศ์โจวซึ่งประจำอยู่ที่บริเวณหยิงโจว (Ying Zhao; จีน: 營州; พินอิน: Yíng zhōu) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองโจวหยาง ในมณฑลเหลียวหนิง จึงได้ร่วมกันก่อการกบฏ ซึ่งนำโดยหลี่จิ้นจงผู้ดำรงตำแหน่งเป็นอู๋ซ่างข่าน หรือ อู๋ซ่างเค่อฮั่น (Wushang Khan; จีน: 無上可汗; พินอิน: Wú shàng kè hán, แปลตามตัวอักษรว่า "ข่านผู้ไม่มีผู้ใดเหนือกว่า") ในขณะนั้น หากกองทัพที่พระนางบูเช็กเทียนส่งไปปราบปรามหลี่จิ้นจงและซุนว่านหรงนั้นกลับแพ้กองกำลังของชี่ตานกลับมาก ทำให้กองกำลังของชี่ตานฮึกเฮมและรุกรานเข้ามายังอาณาจักรของราชวงศ์โจว ในขณะเดียวกันผู้นำกลุ่มชนทูจิวตะวันออก (Tujue; จีน: 突厥; พินอิน: Tūjué) หรือกลุ่มชนเตอร์กิก คือ อาชรือน่า โม่โท่ว (Ashina Mochuo; จีน: 阿史那•默啜; พินอิน: Āshǐnà Mòchuò) ได้เข้าร่วมสงครามเพื่อต่อด้านทั้งอาณาจักรโจวและกลุ่มชนชี่ตาน โดยเขาสามารถนำกองกำลังโจมตีชาวชี่ตานและเอาชัยชนะได้ในช่วงฤดูหนาวของปี ค.ศ. 696 นั้นทำให้หลี่จิ้นจงเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งยังจับกุมครอบครัวของหลี่จิ้นจงและซุนว่านหรงด้วย ทำให้กลุ่มชนชี่ตานหยุดการโจมตีต่อต้านอาณาจักรโจวไปชั่วคราว[38] หลังจากที่ซุนว่านหรงได้ขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มชนชี่ตานต่อจากพี่เขยของเขาในฐานะข่านองค์ใหม่ เขาได้รวบรวมกองกำลังขึ้นมาใหม่อีกครั้งเพื่อต่อต้านอาณาจักรโจว โดยได้รับชัยชนะเหนือกองทัพโจวในการต่อสู้เผชิญหน้ากันอยู่หลายครั้ง โดยมีครั้งหนึ่งที่หวังซื่อเจีย (Wang Shijie) ถูกสังหารจนเสียชีวิตด้วย[20][38] พระนางบูเช็กเทียนได้พยายามบรรเทาสถานการณ์โดยการสร้างสัมพันธ์ที่ดีและสร้างสันติภาพกับอาชรือน่า โม่โท่ว ด้วยมูลค่าที่สูงมาก คือ การคืนตัวชาวทูจิวที่ถูกส่งมายังอาณาจักรโจวและยังส่งของมีค่า อาทิ เมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ผ้าไหม อุปกรณ์ใช้สอย และเหล็ก ให้แก่อาชรือน่า โม่โท่ว ด้วย ในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 697 อาชรือน่า โม่โท่ว ได้เข้าโจมตีกลุ่มชนชาวซี่ตานอีกครั้ง และในครั้งนี้สามารถเอาชนะจนทำให้กองกำลังของชาวซี่ตานล่มสลาย โดยหัวหน้าของพวกเขาคือซุนว่านหรงก็ถูกสังหารจนเสียชีวิตไปในการต่อสู้ จึงเป็นที่สิ้นสุดของการคุกคามจากซี่ตานในที่สุด[20] ในปี ค.ศ. 697 เช่นเดียวกันไหลจวิ้นเฉินผู้เคยสูญเสียอำนาจไปในอดีต (ในปี ค.ศ. 693) และกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งในช่วงนี้นั้นก็ได้สร้างเรื่องใส่ร้ายแก่หลี่เจาเต๋อว่าก่อคดีอาชญากรรม และยังวางแผนใส่ร้ายแก่เจ้าชายหลี่ตั้น เจ้าชายหลี่เจ๋อ และเจ้าหญิงไท่ผิงว่าทรงร่วมกันก่อการกบฏ ซึ่งทั้งสามพระองค์นั้นเป็นเจ้าชายพระราชโอรสและเจ้าหญิงพระราชธิดาแห่งราชตระกูลอู่ในพระนางบูเช็กเทียนด้วย ทำให้เจ้าชายทั้งสองพระองค์และเจ้าหญิงไท่ผิงทรงออกมาปฏิเสธและต่อต้านไหลจวิ้นเฉินเป็นครั้งแรก และกล่าวหาไหลจวิ้นเฉินในคดีอาชญากรรม ทั้งไหลจวิ้นเฉินและหลี่เจาเต๋อจึงถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกันทั้งคู่ หลังจากการเสียชีวิตของไหลจวิ้นเฉิน หน่วยสืบราชการตำรวจลับของพระนางบูเช็กเทียนก็จบสิ้นลง ผู้ที่เคยถูกจับและดำเนินคดีโดยไหลจวิ้นเฉินจึงถูกประกาศให้พ้นความผิดตามที่เคยถูกกล่าวหาไว้[20] ในช่วงเวลาเดียวกันนี้พระนางบูเช็กเทียนก็เริ่มความสัมพันธ์กับคนรักใหม่ของพระองค์ถึงสองคน คือ พี่น้อง ตระกูลจาง ชื่อ จางอี้จรีอ (Zhang Yizhi; จีน: 張易之; พินอิน: Zhāngyìzhī) และ จางชางจง (Zhang Changzong; จีน: 張昌宗; พินอิน: Zhāngchāngzōng) ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นดยุกทั้งสองคน[20][43] ในราวปี ค.ศ. 698 อู่เฉิงซื่อ หรือ อ๋องแห่งเว่ย (Prince of Wei) และ อู่ซานซือ หรือ อ๋องแห่งเหลียง (Prince of Liang) พระนัดดาอีกองค์หนึ่งของพระนางบูเช็กเทียน ได้พยายามให้ข้าราชสำนักโน้มน้าวพระนางบูเช็กเทียนให้แต่งตั้งพระองค์คนใดคนหนึ่งเป็นรัชทายาท โดยอ้างเหตุผลว่าจักรพรรดินั้นควรแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์ในตระกูลเดียวกันเป็นผู้สืบทอดราชวงศ์ แต่ตี๋เหรินเจี๋ย (Di Renjie; จีนตัวเต็ม: 狄仁傑; จีนตัวย่อ: 狄仁杰; พินอิน: Dí Rénjié) ผู้มีตำแหน่งเป็นเสนาบดีที่พระนางบูเช็กเทียนทรงให้ความไว้วางพระทัยมากในขณะนั้นได้ยืนยันต่อต้านความคิดนี้และกลับเสนอให้คืนตำแหน่งรัชทายาทแก่เจ้าชายหลี่เจ๋อด้วย ซึ่งมีผู้สนับสนุนความคิดเห็นของเขาคือ เสนาบดีหวังฟางชิ่ง (Wang Fangqing; จีน: 王方慶; พินอิน: Wángfāngqìng) และหวังจี๋ซ่าน (Wang Jishan; จีน:王及善; พินอิน: Wángjíshàn) รวมทั้งจี๋ซู (Ji Xu; จีน: 吉頊; พินอิน: Jí xū) ผู้เป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดของพระนางบูเช็กเทียน โดยจี๋ซูได้ชักชวนให้พี่น้องตระกูลจาง (Zhang) ร่วมสนับสนุนความเห็นนี้ด้วย ในที่สุดพระนางบูเช็กเทียนทรงเห็นด้วยและเรียกให้เจ้าชายหลี่เจ๋อกลับมาจากการถูกเนรเทศ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 698 ซึ่งไม่นานต่อจากนั้นเจ้าชายหลี่ตั้นพระโอรสองค์สุดท้องของพระนางหรืออดีตจักรพรรดิถังรุ่ยจงทรงเสนอให้ตำแหน่งเจ้าชายรัชทายาทแก่เจ้าชายหลี่เจ๋อ พระนางบูเช็กเทียนจึงแต่งตั้งเจ้าชายหลี่ตั้นให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าชายรัชทายาท โดยไม่นานต่อจากนั้นก็ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น "หลีเสี่ยน (Li Xiǎn) " และเป็น "อู่เซียน (Wu Xian) " ในที่สุด[20] ต่อมาภายหลัง อาชรือน่า โม่โท่ว เรียกร้องให้อ๋องแห่งราชวงศ์ถังอภิเษกสมรสกับบุตรีของตน ซึ่งเป็นแผนในการสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์ถังแทนที่ราชวงศ์โจว และยังเป็นการนำพาราชวงศ์ถังกลับคืนสู่อำนาจภายใต้อิทธิพลของเขาด้วย หากพระนางบูเช็กเทียนกลับส่งอู่หยานซิ่ว (Wu Yanxiu; จีน: 武延秀; พินอิน: Wǔ yánxiù) ซึ่งเป็นพระราชปนัดดาในพระนางเองไปอภิเษกกับบุตรีของอาชรือน่า โม่โท่ว แทน ทำให้อาชรือน่า โม่โท่ว ปฏิเสธอู่หยานซิ่วไป[44] เนื่องจากเขามิได้มีความตั้งใจที่จะประสานสันติภาพอย่างจริงใจกับราชวงศ์โจวของพระนางบูเช็กเทียนแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่ออู่หยานซิ่วเดินทางมาถึง เขาจึงกักตัวอู่หยานซิ่วไว้และเปิดการโจมตีครั้งใหญ่กับราชวงศ์โจว โดยรุกล้ำลงมาถึงทางตอนใต้ในบริเวณเจ้าโจว (Zhao Prefecture; จีน: 趙州; พินอิน: Zhàozhōu หรือปัจจุบันคือบริเวณฉือเจียจวงในมณฑลเหอเป่ย์) ก่อนที่จะล่าถอยทัพกลับไป[20] ในปี ค.ศ. 699 การคุกคามจากทูฟานจึงสงบลง กษัตริย์แห่งทูฟาน (Tridu Songtsen; Wylie: Khri 'dus-srong btsan) ทรงไม่พอพระทัยที่ลุ่นชินหลิง (Lun Qinling; จีน: 論欽陵; พินอิน: Lùn qīnlíng) ได้รวบอำนาจไว้แต่ผู้เดียว พระองค์จึงถือโอกาสขณะที่ลุ่นชินหลิงไม่อยู่ในเมืองลาซาซิ่งเป็นเมืองหลวง ส่งคนเข้าสังหารพวกพ้องของลุ่นชินหลิง และเข้าโจมตีเขาจนเอาชัยชนะได้ ทำให้ลุ่นชินหลิงทำอัตนิบาตกรรมหลังจากนั้นด้วย ลุ่นซ่านโป๋ (Lun Zanpo; จีน: 論贊婆; พินอิน: Lùn zànpó) พี่ชายของลุ่นชินหลิง และลุ่นกงเหริน (Lun Gongren; จีน: 論弓仁; พินอิน: Lùn gōngrén) บุตรชายของลุ่นชินหลิงจึงได้ยอมจำนนแก่ราชวงศ์โจว หลังจากนั้นทูฟานจึงอยู่ใต้ความวุ่นวายภายในอยู่หลายปี ทำให้เกิดความสงบสันติแต่ชายแดนของอาณาจักรแห่งราชวงศ์โจวด้านเมืองทูฟานในช่วงนั้น[20] ในปี ค.ศ. 699 เช่นเดียวกันนั้น พระนางบูเช็กเทียนได้ทรงตระหนักว่าพระองค์มีพระชนมายุมากขึ้นแล้ว ทำให้ทรงหวาดกลัวความตายที่จะเยือนมาถึง อีกทั้งเจ้าชายหลี่เสี่ยนและเจ้าชายพระองค์อื่น ๆ ในราชตระกูลอู่ไม่อาจอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ พระนางจึงมีพระบัญชาให้เจ้าชายหลี่ตั้น เจ้าหญิงไท่ผิง พระสวามีคนที่สองของเจ้าหญิงไท่ผิง คือ อู่โยวจี้ หรืออ๋องแห่งติง (Wu Youji; จีน:武攸暨; พินอิน: Wǔ yōu jì หรือ Prince of Ding) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระนางด้วย รวมทั้งเจ้าชายองค์อื่น ๆ ในราชตระกูลอู่ทั้งหมดทรงสาบานร่วมกัน[20] ช่วงปลายของการครองราชย์เนื่องจากพระนางบูเช็กเทียนมีพระชนมายุสูงขึ้น ทำให้เสนาบดีจางอี้จรีอและจางชางจงมีอำนาจมากขึ้น ทั้งเจ้าชายต่าง ๆ ในราชสกุลอู่ก็ยังสนับสนุนและชื่นชมพวกเขา พระนางบูเช็กเทียนก็ยิ่งมอบหมายให้จางอี้จรีอและจางชางดูแลราชการแทนพระนางมากยิ่งขึ้น ทำให้มีการวิพากย์วิจารณ์อย่างลับ ๆ โดยพระนัดดาของพระนางบูเช็กเทียน หลี่ฉงรุ่น (Li Chongrun; จีน::李重潤; พินอิน:Lǐzhòngrùn) หรือ อ๋องแห่งเชา (Prince of Shao) (บุตรของเจ้าชายหลี่เสี่ยน) หลี่เซียนฮุ่ย (Li Xianhui; จีน: 李仙蕙; พินอิน: Lǐxiānhuì) หรือเจ้าหญิงแห่งย่งไท่ (Lady of Yongtai) (พี่สาวของหลี่ฉงรุ่น) และสามีของหลี่เซียนฮุ่ย คือ อู่หยานจี (Wu Yanji; จีน: 武延基; พินอิน: Wǔyán jī) หรืออ๋องแห่งเว่ย (Prince of Wei) (พระปนัดดาแห่งพระนางบูเช็กเทียนและบุตรชายของเจ้าชายอู่เฉิงซื่อ) หากการสนทนานี้ได้เล็ดลอดออกไปจนทำให้จางอี้จรือเข้าถวายรายงานต่อพระนางบูเช็กเทียน พระนางจึงมีรับสั่งให้เจ้าชายเจ้าหญิงทั้งสามพระองค์ทำอัตนิบาตกรรมจนเสียชีวิตในที่สุด[45][46] และแม้ว่าพระนางจะแก่ชราลงมาก แต่ยังคงให้ความสนใจในการคัดเลือกและเลื่อนตำแหน่งข้าราชการผู้มีความสามารถโดดเด่น โดยมีผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในช่วงนี้ได้แก่ ซุยสวนเหว่ย (Cui Xuanwei; จีน: 崔玄暐; พินอิน: Cuīxuánwěi) and จางเจียเจิน (Zhang Jiazhen; จีน: 張嘉貞; พินอิน: Zhāngjiāzhēn) เป็นต้น[43] ปี ค.ศ. 703 อี้จรีอและจางชางจงเกิดความรู้สึกไม่พอใจเว่ยหยวนผู้ซึ่งขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งมหาเสนาบดีอาวุโส เนื่องจากเขาได้ปลดพี่น้องแซ่จาง คือ จางชางหยี (Zhang Changyi; จีน: 張昌儀; พินอิน: Zhāngchāngyí) และยังปฏิเสธที่จะเลื่อนตำแหน่งให้แก่พี่น้องแซ่จางอีกคน คือ จางชางชี (Zhang Changqi; จีน: 張昌期; พินอิน: Zhāngchāngqī) ด้วย นอกจากนั้นก็มีความหวาดกลัวว่าหากพระนางบูเช็กเทียนสิ้นพระชนม์ลง เว่ยหยวนอาจหาทางกำจัด (ฆ่า) พวกเขา พวกเขาจึงวางแผนใส่ร้ายเว่ยหยวนและเกาเจี่ยน (Gao Jian; จีน: 高戩; พินอิน: Gāo jiǎn) ข้าราชการอีกคนหนึ่งผู้เป็นที่โปรดปรานและได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหญิงไท่ผิง โดยได้ช้กชวนจางเยว่ (Zhang Yue; จีน: 张说; พินอิน: Zhāng Yuè[47]) ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของเว่ยหยวนให้ร่วมมือในครั้งนี้หากแต่เมื่องจางเยว่ถูกนำตัวไปสืบสวนต่อหน้าพระนางบูเช็กเทียนนั้นเขากลับคำให้การว่าจางอี้จรีอและจางชางจงได้บังคับให้เขาเป็นพยานใส่ร้ายทั้งเว่ยหยวน เกาเจี่ยน และจางเยว่จึงถูกเนรเทศแทนการถูกประหารชีวิต[43] สวรรคตในฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ. 704 เริ่มมีข้อกล่าวหาด้านการทุจริตต่อจางอี้จรีอและจางชางจง รวมถึงพี่น้องของเขา คือ จางชางชี จางชางหยี และจางถงซิว (Zhang Tongxiu; จีน: 張同休; พินอิน: Zhāngtóngxiū) ทำให้จางชางหยีและจางถงซิวถูกปลดจากตำแหน่ง หากแต่สำหรับจางอี้จรีอและจางชางจงนั้น แม้ว่าหลี่เฉิงเจีย (Li Chengjia; จีน: 李承嘉; พินอิน: Lǐchéngjiā) และหวนหยานฟ่าน (Huan Yanfan; จีน: 桓彥範; พินอิน: Huán yàn fàn) จะเสนอให้ถูกปลดด้วยเช่นกัน แต่พระนางบูเช็กเทียนทรงเชื่อตามคำแนะนำจากเสนาบดีหยางไจ้ซือ (Yang Zaisi; จีน: 楊再思; พินอิน: Yáng Zàisī) ที่ไม่ให้ปลดพวกเขาทั้งสอง ต่อมาภายหลังเสนาบดีเหวยอันฉื่อ (Wei Anshi; จีน: 韋安石; พินอิน: Wéi'ānshí) จึงได้มีการนำข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตของจางอี้จรีอและจางชางจงกลับมาพิจารณาคดีใหม่อีกครั้ง[43] ต่อมาในฤดูหนาว ปี ค.ศ. 704 พระนางบูเช็กเทียนทรงพระประชวรหนัก ในช่วงนั้นมีเพียงพี่น้องตระกูลจางเท่านั้นที่ได้รับพระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าพระนางได้ ซึ่งแม้แต่เสนาบดีต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้า ทำให้จางอี้จรีอและจางชางจงถูกสงสัยว่ากำลังวางแผนจะช่วงชิงพระราชบัลลังก์รวมถึงมีข่าวลือเรื่องการก่อการกบฏอยู่หลายครั้ง เมื่อพระนางบูเช็กเทียนมีพระอาการดีขึ้น ซุยสวนเหว่ยได้เสนอแก่พระนางเพื่อให้มีเพียงเจ้าชายหลีเสี่ยนและเจ้าชายหลี่ตั้นได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้าพระนางได้เท่านั้น หากแต่พระนางบูเช็กเทียนไม่ทรงเห็นด้วย ต่อจากนั้นมาก็ยังมีข้อกล่าวหาต่อพี่น้องจางโดยหวนหยานฟ่าน (Huan Yanfan; จีน: 桓彥範; พินอิน: Huán yàn fàn) และซ่งจิ่ง (Song Jing; จีน: 宋璟; พินอิน: Sòng jǐng) พระนางบูเช็กเทียนจึงทรงอนุญาตให้ซ่งจิ่งทำการสอบสวนในเรื่องนี้ได้ แต่ไม่นานต่อจากนั้น ในระหว่างที่การสืบสวนยังไม่สำเร็จลง พระนางรับสั่งให้อภัยโทษแก่จางอี้จรีอและยกเลิกการสอบสวนของซ่งจิ่งลงกลางคัน.[43] ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 705 พระนางบูเช็กเทียนในวัย 82 พรรษาทรงพระประชวรหนักอีกครั้ง อัครมหาเสนาบดีจาง เจี่ยนจือและพวกจึงร่วมกันก่อรัฐประหารและวางแผนสังหารพี่น้องตระกูลจาง อันมี จางเจี่ยนจือ จิ้งฮุย (Jing Hui; จีน: 敬暉; พินอิน: Jìng huī) และ หยวนซู่จี่ (Yuan Shuji; จีน: 袁恕己; พินอิน: Yuánshùjǐ) อีกทั้งยังชักชวนให้นายพลหลี่ตัวจั้ว (Li Duozuo; จีน: 李多祚; พินอิน: Lǐ Duōzuò) หลี่จ้าน (Li Dan; จีน: 李湛; พินอิน: Lǐ zhàn; หมายเหตุ 李湛, ใช้ตัวอักษรต่างจากพระนามของเจ้าชายหลี่ต้านหรือจักรพรรดิถังรุ่ยจง) และ หยางหยวนหย่าน (Yang Yuanyan; จีน: 楊元琰; พินอิน: Yángyuányǎn) รวมถึงเสนาบดีอีกคนหนึ่งคือ เหยาฉง (Yao Yuanzhi; จีน: 姚崇; พินอิน: Yáo Chóng) เข้าร่วมด้วย และได้กระทำการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์[48] โดยเริ่มจากการสังหารจางอี้จรีอและจางชางจง ต่อจากนั้นจึงนำกำลังเข้าล้อมพระตำหนักฉางเชิงเตี้ยน (Changsheng Hall; จีน: 長生殿; พินอิน: Chángshēng diàn) อันเป็นที่ประทับของพระนางบูเช็กเทียน และเพ็ดทูลแก่พระนางบูเช็กเทียนว่าพี่น้องตระกูลจางได้ก่อการกบฏ จึงเสนอให้พระนางมอบพระราชบัลลังก์แก่เจ้าชายหลี่เจ๋อ (หรือพระนามเดิมคือ หลี่เสี่ยน) ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ จึงมีการประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เจ้าชายหลี่เจ๋อเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระนาง และภายในวันต่อมาคือในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ได้มีพระบรมราชโองการอีกครั้งโดยมอบพระราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายหลี่เจ๋อ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เจ้าชายหลี่เจ๋อจึงทรงขึ้นครองพระราชบัลลังก์ต่อ เป็นจักรพรรดิถังจงจง ส่วนพระนางบูเช็กเทียนนั้นทรงถูกควบคุมตัวไปยังพระตำหนักรอง คือพระตำหนักซ่างหยางกง (Shangyang Palace; จีน: 上陽宮; พินอิน: Shàngyáng gōng) แต่พระนางก็ยังคงได้รับการยกย่องในฐานะ “Empress Regnant Zetian Dasheng (則天大聖皇帝) ”[43] ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม[49] พระองค์ทรงรื้อฟื้นราชวงศ์ถังขึ้นใหม่ และให้กลับมาใช้ชื่อราชวงศ์ถังดังเดิม ราชวงศ์โจวที่พระนางทรงก่อตั้งขึ้นมานาน 14 ปี จึงเป็นอันสิ้นสุดลง[42] ส่วนพระนางบูเช็กเทียนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 705[8] [39] ในปี ค.ศ. 706 พระโอรสของพระนางบูเช็กเทียน คือจักรพรรดิ์ถังจงจง ทรงให้มีการฝังพระศพของพระนางร่วมกับพระศพของจักรพรรดิ์ถังเกาจงไว้ในสุสานเฉียนหลิงซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองหลวงฉางอานในขณะนั้น ปัจจุบันอยู่ในเขตมณฑลส่านซีทางภาคตะวันตกของประเทศจีน สุสานเฉียนหลิงจึงเป็นที่ฝังพระศพของจักรพรรดิ์สององค์เพียงแห่งเดียวในประวัติศาสตร์จีนอันยาวนานกว่า 2,000 ปี ซึ่งทั้งสองพระองค์เป็นจักรพรรดิในสองรัชกาลและเป็นคู่สามีภรรยากัน โดยมีการตั้งแท่นศิลาจารึกอยู่บริเวณหน้าสุสาน แท่นศิลาจารึกนี้เป็นหินก้อนเดียว สูงประมาณ 10 เมตร กว้าง 2 เมตร มีการแกะสลักสวยงามประณีต แต่ไม่มีตัวอักษรใดบนจารึกนี้ นักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่าเนื่องจากพระนางบูเช็กเทียนทรงโค่นล้มระบบอำนาจผู้ชายที่สืบทอดกันมาของจีน พระนางทรงรู้ว่าตนเองมีความผิดใหญ่มาก จึงมิกล้าแต่งข้อความสรรเสริญตนเอง บางคนเห็นว่าสาเหตุคือพระนางบูเช็กเทียนร่วมฝังกับพระศพของจักรพรรดิ์ถังเกาจง จึงทรงไม่รู้จะใส่นามสกุลและชื่อราชวงค์ของตนอยู่หน้าหรือหลังนามสกุลของจักรพรรดิ์ถังเกาจงจึงจะเหมาะสม จึงใช้ศิลาจารึกที่ไม่มีตัวอักษรเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ แต่ผู้คนส่วนข้างมากเห็นว่า การที่พระนางบูเช็กเทียนตั้งศิลาจารึกที่ไม่มีตัวอักษรนั้นเป็นการกระทำที่ฉลาด เนื่องจากพระนางทรงรู้ว่าคนรุ่นหลังอาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานาต่อพระนาง การแต่งประวัติบนศิลาจารึกไม่สามารถรวบรวมเรื่องราวอันหลากหลายชั่วชีวิตของตนได้ จึงตั้งศิลาจารึกที่ไม่มีตัวอักษร เพื่อให้คนรุ่นหลังวิจารณ์กันเองแทน[50] จักรพรรดินีบูเช็กเทียนทรงพระปรีชาสามารถในการปกครองบ้านเมืองมาก โดยทรงส่งเสริมการเกษตร ลดหย่อนภาษี การสอบเข้ารับราชการ เป็นต้น ภายใต้การปกครองของพระนางที่ทรงครองราชสมบัติ 14 ปี ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถังมีกำลังเข้มแข็งและมีเสถียรภาพทางสังคม รวมถึงมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจก้าวหน้าไปเป็นอันมาก
การทำนุบำรุงพระศาสนาคณะเสนาบดีในระหว่างการครองราชย์พระนางบูเช็กเทียนทรงมีคณะเสนาบดีจำนวนมากในขณะที่พระนางทรงครองราชบัลลังก์ในฐานะกษัตริย์ในราชวงศ์โจวแห่งราชอาณาจักรจีน มีเสนาบดีจำนวนมากที่เป็นเชื้อพระวงศ์หรือมาจากตระกูลผู้ดีและเป็นผู้มีความโดดเด่นในความสามารถ (ดูรายนามชื่อเพิ่มเติมที่ List of Chancellors of Wu Zetian) การสร้างอำนาจผ่านวรรณกรรมกล่าวกันว่าวรรณกรรมที่เขียนขึ้นในยุคนั้นมีบางส่วนที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในเสริมสร้างพระราชอำนาจให้แก่พระนางบูเช็กเทียน วรรณกรรมมุมมองทางประวัติศาสตร์มุมมองทางประวัติศาสตร์จีนที่มีต่อพระนางบูเช็กเทียนมีหลากหลาย ทั้งความชื่นชมที่มีต่อตัวพระนางในความสามารถในการบริหารจัดการบ้านเมือง หากแต่ประณามพระนางในด้านการยึดอำนาจแห่งราชสำนักมาเป็นของตนเอง หลัวปินหวัง หนึ่งในสี่กวีที่มีชื่อเสียงที่สุดในช่วงต้นราชวงศ์ถัง ได้เขียนบทกวีและข้อความวิพากษ์วิจารณ์พระนางบูเช็กเทียนอยู่หลายครั้ง ทั้งยังสนับสนุนการก่อการกบฏของหลี่จิ่งเย่ (Li Jingye; จีน: 李敬業; พินอิน: Lǐ jìngyè) ด้วย หลิวซู (Liu Xu) นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์โฮ่วจิ้นและผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือชื่อ "หนังสือแห่งราชวงศ์ถัง (Book of Tang) "[51] ได้มีความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า
ยังมึความคิดเห็นอันหลากหลายจากมุมมองสมัยใหม่ที่มีต่อพระนางบูเช็กเทียนโดยนักเขียนต่างชาติ (modern non-Chinese authors) อาทิ:
มุมมองของลัทธิขงจื้อพระนางบูเช็กเทียนทรงอยู่ในสมัยที่ยึดถือขนบประเพณีอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจของผู้ชายต้องอยู่เหนือผู้หญิง ขงจื๊อแม้จะเป็นนักคิดที่น่ายกย่องแต่กับผู้หญิงแล้วก็มีอคติอย่างรุนแรง เช่น ผู้หญิงต้องประกอบด้วย 3 เชื่อฟัง 4 คุณธรรม คือ ยังไม่ออกเรือนต้องเชื่อฟังบิดา ออกเรือนแล้วต้องเชื่อฟังสามี สามีสิ้นชีวิตแล้วต้องเชื่อฟังบุตรชาย ต้องมีศีลธรรม พูดจาเรียบร้อย กิริยามารยาทดี การฝีมือดี พระนางบูเช็กเทียนทรงต่อต้านความไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิงอย่างสุดชีวิต ต่อต้านอิทธิพลอันไม่เป็นธรรมจากอำนาจผู้ชาย ต่อต้านกับกรอบประเพณีที่ให้ผู้หญิงอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และต่อต้านขนบประเพณีต่าง ๆ อีกมากที่มุ่งแต่จะบีบคั้นและกดผู้หญิงทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้ขัดกับความเชื่อของสังคมจีนที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง การขึ้นมามีอำนาจและครองราชบัลลังก์ของพระนางบูเช็กเทียนนั้นถูกวิพากย์วิจารณ์จากนักประวัติศาสตร์ที่นิยมลัทธิขงจื๊ออย่างรุนแรง แต่หากได้รับมุมมองที่แตกต่างออกไปหลังจากช่วงปี ค.ศ. 1950 ในช่วงต้นของราชวงศ์ถัง เนื่องจากจักรพรรดิองค์ต่าง ๆ เป็นเชื้อสายจากพระนางบูเช็กเทียน ข้อเขียนทางประวัติศาสตร์นั้นเกี่ยวกับพระนางจึงค่อนข้างไปในด้านดี แต่ความคิดเห็นในช่วงเวลาต่อมา โดยเฉพาะในหนังสือจือจื้อทงเจี้ยน (Zizhi Tongjian หรือ Tzu-chih Tung-chien; จีนตัวย่อ: 资治通鉴; จีนตัวเต็ม: 資治通鑑; พินอิน: Zīzhì Tōngjiàn; แปลตามตัวอักษรว่า "กระจกที่ครอบคลุมเพื่อช่วยร้ฐบาล (Comprehensive Mirror to Aid in Government) ") ที่เรียบเรียงเขียนโดยซือหม่ากวง (Sima Guang; จีนตัวย่อ: 司马光; จีนตัวเต็ม: 司馬光; พินอิน: Sīmǎ Guāng; ค.ศ. 1019 – 1086) ได้วิจารณ์พระนางบูเช็กเทียนอย่างหนัก ผลงานทัศนศิลป์เกี่ยวกับพระนางบูเช็กเทียนมีผลงานมากมายทั้งนวนิยาย ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และเกมส์คอมพิวเตอร์ ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระนางบูเช็กเทียน ดังนี้ นวนิยาย
ภาพยนตร์
ละครโทรทัศน์
เกมคอมพิวเตอร์
ดูเพิ่ม
อ้างอิงและเชิงอรรถ
แหล่งข้อมูล
ดูเพิ่มวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ บูเช็กเทียน
|