ประวัติศาสตร์ไอซ์แลนด์
ประวัติศาสตร์ของประเทศไอซ์แลนด์ ตามหลักฐานทางโบราณคดีก่อนจะมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในเกาะไอซ์แลนด์ เชื่อกันว่าเป็นนักบวชชาวไอริช ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 8[1] และย้ายออกไปก่อนชาวไวกิงเข้ามา[2] ซึ่งตามเอกสารทางโบราณคดี พวกไวกิงค้นพบไอซ์แลนด์ในปี ค.ศ.872 และเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ในปี ค.ศ.874[3] จากหมู่เกาะอังกฤษและประเทศนอร์เวย์ พร้อมกับทาสที่จับตัวได้มาจากการรุกรานทั่วยุโรป การตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ถูกบันทึกใน หนังสือการตั้งถิ่นฐาน (Landnámabók) จากหนังสือนี้ ระบุว่า Ingólfur Arnarson เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานคนแรก และตามมาด้วยชาวไวกิงอีกจำนวนหนึ่งและทาสชาวเคลต์ในปี ค.ศ.930 ไอซ์แลนด์ได้เขียนรัฐธรรมนูญ และก่อตั้งอัลทิงกิ (Alþingi, Althing) ซึ่งเป็นรัฐสภาขึ้น ใช้อำนาจนิติบัญญัติและตุลาการ เป็นรัฐสภาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นศูนย์กลางของรัฐอิสระไอซ์แลนด์ (Commonwealth of Iceland) ในช่วงสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 มีการนำศาสนาคริสต์เข้ามาในไอซ์แลนด์ผ่านกษัตริย์นอร์เวย์ Olaf Tryggvason ไอซ์แลนด์เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นใน ค.ศ.1220 - 1262 เรียกว่า ยุค Sturlungs ส่งผลทำให้ไอซ์แลนด์ถูกผนวกไปอยู่ใต้การปกครองของกษัตริย์นอร์เวย์ในปี ค.ศ.1262[4] และต่อมาภายใต้การปกครองของษัตริย์เดนมาร์ก หลังจากที่นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์กรวมกัน ภายใต้สหภาพคาลมาร์ แต่หลังจากที่ราชอาณาจักรเดนมาร์ก-นอร์เวย์ (อดีตสหภาพคาลมาร์) ล่มสลายในปี ค.ศ.1523 เกาะไอซ์แลนด์ได้ไปอยู่ภายใต้อธิปไตยของเดนมาร์ก กษัตริย์เดนมาร์กประกาศคริสต์ศาสนานิกายลูเทอรันเป็นศาสนาของอาณาจักรประมาณปี ค.ศ.1550 ส่งผลมาถึงการยึดทรัพย์ของโบสถ์โรมันคาทอลิกในเกาะไอซ์แลนด์ และบิชอปคาทอลิกคนสุดท้ายถูกประหารโดยการตัดหัว เดนมาร์กควบคุมการค้าในไอซ์แลนด์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 โดยระหว่าง ค.ศ.1707 - 1709 โรคฝีดาษระบาด ทำให้ประชากรลดลงจาก 50,000 เหลือเพียงราว 35,000 คน และในปี ค.ศ.1783 - 1784 เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายอย่างมากจากเหตุภูเขาไฟ Laki ระเบิด และ ภาวะขาดแคลนอาหาร[5] ไอซ์แลนด์ได้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี ค.ศ.1874 ปีที่เฉลิมฉลองหนึ่งสหัสวรรษการตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ รัฐธรรมนูญใหม่นี้ให้ไอซ์แลนด์มีอำนาจในกิจการภายใน มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในปี ค.ศ.1904 ซึ่งให้อำนาจปกครองตัวเองกับไอซ์แลนด์ ไอซ์แลนด์ได้เป็นรัฐเอกราชในปี ค.ศ.1918 โดยมีพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กเป็นประมุข โดยไอซ์แลนด์ยังให้เดนมาร์กจัดการกิจการต่างประเทศและการป้องกันประเทศให้ หลังจากเยอรมนียึดครองเดนมาร์กในปี ค.ศ.1940 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อัลทิงกิจึงตัดสินใจบริหารการต่างประเทศเองและประกาศนโยบายเป็นกลาง แต่ก็ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครองในเวลาต่อมา เริ่มจากกองทัพสหราชอาณาจักร และต่อมาเป็นกองทัพสหรัฐอเมริกา ฝ่ายสัมพันธมิตรคงกองกำลังในไอซ์แลนด์จนกระทั่งจบสงครามโลกครังที่ 2[6] ไอซ์แลนด์ประกาศเป็นสาธารณรัฐ จากราชอาณาจักรเดนมาร์ก ในปี ค.ศ.1944[7] มีสเวน ปีเยิร์นสซอน (Sveinn Björnsson) เป็นประธาธิบดีคนแรก ไอซ์แลนด์เป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป (ปัจจุบันคือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) และนาโต ไอซ์แลนด์ทำข้อตกลงทางกองทัพกับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2494 โดยให้สหรัฐตั้งฐานทัพในไอซ์แลนด์ ซึ่งคงอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2549 ไอซ์แลนด์เกิดความขัดแย้งหลายครั้งกับสหราชอาณาจักรในเรื่องการขยายน่านน้ำประมงของไอซ์แลนด์ในช่วงปี ค.ศ.1958, 1972 และ 1978 รู้จักกันในชื่อสงครามปลาคอด [8] (Þorskastríðin; Cod War) ไอซ์แลนด์เข้าร่วมสมาคมการค้าเสรียุโรปและเป็นสมาชิกก่อตั้งของเขตเศรษฐกิจยุโรป ในปี ค.ศ.2008 - 2011 ประเทศไอซ์แลนด์มีวิกฤษการณ์ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น[9] อันเป็นผลกระทบจากวิกฤษแฮมเบอเกอร์ในสหรัฐอเมริกา โดยประเทศไอซ์แลนด์ยังคงอยู่นอกสหภาพยุโรป เกาะไอซ์แลนด์อยู่ไกลจากแผ่นดินยุโรปมาก จึงได้รับความเสียหายจากสงครามยุโรปน้อยมาก แต่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภายนอกอื่น ๆ เช่น กาฬโรค และ การปฏิรูปโปรเตสแตนต์ ที่กำหนดโดยเดนมาร์ก ประวัติศาสตร์ของไอซ์แลนด์มีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นมากมายหลายครั้งเนื่องจากภูเขาไฟและแผ่นดินไหว[10] ไอซ์แลนด์เป็นเกาะที่มีอายุน้อยในทางธรณีวิทยา เกาะเกิดขึ้นเมื่อ 20 ล้านปีก่อน จากการระเบิดของภูเขาไฟกลางมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ยังคงขยายตัวจากการระเบิดของภูเขาไฟที่ยังสดใหม่ ตัวอย่างหินที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในไอซ์แลนด์มีอายุ 16 ล้านปี[11]
อ้างอิง
|