Share to:

 

ประวัติศาสตร์ฮังการี

พรมแดนของประเทศฮังการีในปัจจุบัน (หลัง ค.ศ. 1946) มีความคล้ายคลึงกับที่ราบเกรตฮังกาเรียน (ที่ราบพันโนเนีย) ในยุโรปกลาง ในช่วงยุคเหล็ก พื้นที่ตั้งอยู่ที่ทางแยกระหว่างพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชนเผ่าเซลติก (เช่น Scordisci, Boii และ Veneti) กลุ่มชนแดลเมเชีย (เช่น Dalmatae, Histri และ Liburni) และกลุ่มชนเจอร์มานิก (เช่น Lugii, Gepids และ Marcomanni)

ชื่อ "พันโนเนียน" มาจากพันโนเนีย จังหวัดหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน เฉพาะส่วนตะวันตกของดินแดน (ที่เรียกว่าทรานส์ดานูเบีย) ของฮังการีสมัยใหม่เท่านั้นที่เป็นส่วนหนึ่งของพันโนเนีย การควบคุมของโรมันสิ้นสุดลงด้วยการรุกรานของชาวฮันใน ค.ศ. 370–410 และพันโนเนียเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรออสโตรกอธในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 6 ซึ่งประสบความสำเร็จโดยอาวาร์ คากานาเต (คริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9) ชาวฮังการีเข้ายึดครองแอ่งคาร์เพเทียนในลักษณะที่วางแผนไว้ล่วงหน้า โดยมีการย้ายเข้ามาเป็นเวลานานระหว่าง ค.ศ. 862–895

อาณาจักรชาวคริสต์แห่งฮังการีก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1000 ภายใต้พระเจ้าอิชต์วานซึ่งปกครองโดยราชวงศ์อาร์ปาด ตลอดสามศตวรรษต่อมา ในช่วงสูงสุดของยุคกลาง อาณาจักรขยายไปถึงชายฝั่งทะเลเอเดรียติกและเข้าร่วมเป็นรัฐร่วมประมุขกับโครเอเชียในรัชสมัยของพระเจ้าคาลมานใน ค.ศ. 1102 ในรัชสมัยของพระเจ้าเบ-ลอที่ 4 ฮังการีถูกรุกรานโดยพวกมองโกลภายใต้การนำของบาตูข่าน ใน ค.ศ. 1241 ชาวฮังการีที่มีจำนวนมากกว่าพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาดในยุทธการที่โมฮีโดยกองทัพมองโกล ในการรุกรานครั้งนี้ ชาวฮังการีกว่า 500,000 คนถูกสังหารหมู่และทั้งอาณาจักรเหลือแต่เถ้าถ่าน เชื้อสายทางบิดาของราชวงศ์อาร์ปาดที่ปกครองสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1301 และกษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาของฮังการีทั้งหมด (ยกเว้นพระเจ้าแมทเธียส คอร์วินุส) เป็นผู้สืบเชื้อสายทางสายเลือดของราชวงศ์อาร์ปาด ฮังการีเผชิญกับความรุนแรงของสงครามออตโตมันในยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 จุดสูงสุดของการต่อสู้นี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแมทเธียส คอร์วินุส (ครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1458–1490) สงครามออตโตมัน-ฮังการีสิ้นสุดลงด้วยการสูญเสียดินแดนและการแบ่งอาณาจักรอย่างมีนัยสำคัญหลังจากยุทธการที่โมฮาชใน ค.ศ. 1526

การป้องกันการขยายตัวของออตโตมันเปลี่ยนไปที่ฮาพส์บวร์คแห่งออสเตรีย และอาณาจักรฮังการีที่เหลืออยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค ดินแดนที่สูญเสียไปได้รับการฟื้นฟูด้วยการยุติมหาสงครามตุรกี ดังนั้นดินแดนฮังการีทั้งหมดจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบอบราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค หลังจากการลุกฮือของพวกชาตินิยมใน ค.ศ. 1848 การประนีประนอมของออสเตรีย-ฮังการีใน ค.ศ. 1867 ได้ยกระดับสถานะของฮังการีโดยการสร้างระบอบกษัตริย์ร่วมกัน Archiregnum Hungaricum มีขนาดใหญ่กว่าฮังการีในปัจจุบันมาก ตามการตั้งถิ่นฐานโครเอเชีย-ฮังการีใน ค.ศ. 1868 ซึ่งได้ตัดสินสถานะทางการเมืองของราชอาณาจักรโครเอเชีย-สลาโวเนียภายในดินแดนแห่งมงกุฏนักบุญสตีเฟน

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฝ่ายมหาอำนาจกลางบังคับให้ราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คล่มสลาย สนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แลและทรียานงแยกดินแดนร้อยละ 72 ของราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งยกให้แก่เชโกสโลวาเกีย ราชอาณาจักรโรมาเนีย ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน สาธารณรัฐออสเตรียที่ 1 สาธารณรัฐโปแลนด์ที่ 2 และราชอาณาจักรอิตาลี หลังจากนั้นก็มีการประกาศสาธารณรัฐประชาชนที่มีอายุสั้น ตามมาด้วยราชอาณาจักรฮังการีที่ได้รับการฟื้นฟูแต่ปกครองโดยมิกโลช โฮร์ตี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เขาเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการในระบอบกษัตริย์ของฮังการีของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 4 พระมหากษัตริย์อัครทูตแห่งฮังการี ซึ่งถูกจองจำในช่วงเดือนสุดท้ายที่อารามตีฮานี ระหว่าง ค.ศ. 1938 ถึง ค.ศ. 1941 ฮังการีได้ดินแดนบางส่วนที่เสียไปกลับคืนมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ฮังการีอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมนีใน ค.ศ. 1944 จากนั้นอยู่ภายใต้การยึดครองของสหภาพโซเวียตจนกระทั่งสงครามสิ้นสุด หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สาธารณรัฐฮังการีที่ 2 ได้จัดตั้งขึ้นภายในพรมแดนปัจจุบันของฮังการีในฐานะสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ ค.ศ. 1949 จนถึงการสิ้นสุดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในฮังการีใน ค.ศ. 1989 สาธารณรัฐฮังการีที่ 3 ก่อตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ค.ศ. 1949 โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งประกาศใช้ใน ค.ศ. 2011 ฮังการีเข้าร่วมสหภาพยุโรปใน ค.ศ. 2004

ประวัติศาสตร์ช่วงต้น

มีการค้นพบมนุษย์โบราณสายพันธุ์ โฮโม ไฮเดลเบอร์เจนซิส (Homo heidelbergensis) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษร่วมกันของมนุษย์นีแอนเดอร์ทาลและมนุษย์ยุคปัจจุบัน จากฟอสซิลมนุษย์โบราณ "ชอมู (Samu)" ซึ่งค้นพบที่เมืองเวร์แตสเซอเลิช (Vértesszőlős) ประเทศฮังการี ซึ่งมีอายุกว่า 3 แสนปี และร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์โบราณกว่า 5 แสนปีก่อน ส่วนมนุษย์ปัจจุบัน (Homo sapiens) ค้นพบหลักฐานการอยู่อาศัยที่เก่าแก่ที่สุดเมื่อ 3 หมื่นปีก่อน และมีการค้นพบว่ามีการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมยุคหินใหม่เมื่อ 8 พันปีก่อน เรียกว่า "วัฒนธรรมยุคหินใหม่สตาร์เชโว่-เกอเริช-คริช (Starčevo–Körös–Criș culture)" ยุคสำริดเริ่มขึ้นเมื่อ 5 พันปีก่อนด้วยวัฒนธรรมยุคสำริดวูเชโดล (Vučedol culture)

ยุคเหล็กได้เริ่มขึ้นเมื่อ 800 ปีก่อนคริสตกาลด้วยการค้นพบวัตถุโบราณทราโก-คิมเมเรียน (Thraco-Cimmerian) ซึ่งสื่อให้เห็นถึงการทับซ้อนกันของอิทธิพลวัฒนธรรมโนโวเชร์คาสค์ (Novocherkassk culture วัฒนธรรมซึ่งเป็นรากฐานของชาวไซเทีย) และวัฒนธรรมฮาลสตัทท์ (Hallstatt culture รากฐานของชาวเคลต์) ชาวฮาลสตัทท์ยึดครองตอนเหนือของเขตทรานส์ดานูเบียตะวันตก ชาวพันโนเนีย (สันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์ชนเผ่าอิลลีร์ Illyrian) กระจายอยู่ทั่วที่ราบพันโนเนียโดยทั่วไป ชาวเคลต์สกอร์ดิสกิ (Scordisci) ตั้งรกรากในปี 279 ก่อนค.ศ. ในทรานส์ดานูเบียทางใต้ และส่วนตะวันออกเฉียงเหนือของที่ราบพันโนเนียได้มีการตั้งรกรากโดยชาวโบยอิ (ฺBoii) เมื่อประมาณ 200 ก่อน ค.ศ.

จักรวรรดิโรมันได้ทำการพิชิตดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำดานูบ ระหว่าง 35 ถึง 9 ปีก่อนคริสตกาล โดยตั้งแต่ 9 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงปลายศตวรรษที่ 4 แคว้นพันโนเนีย (Pannonia) ทางตะวันตกของที่ราบพันโนเนีย มีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน โดยมีการตั้งเมืองขึ้นในที่ราบพันโนเนียหลายเมือง เช่น เมืองซาวาเรีย (Savaria ปัจจุบันคือ เมืองโซมบ็อตแฮย์ Szombathely ทางตะวันตกของฮังการี) และเมืองอาควินคุม (Aquincum ปัจจุบันคือ เมืองโอบูดอ Óbuda ฝั่งตะวันตกตอนเหนือในอาณาเขตของกรุงบูดาเปสต์)

หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกจากปัญหาภายในและการรุกรานของอนารยชน ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 มีชนเผ่าจากยุโรปตะวันออกจำนวนมากเข้ามาในยุโรปกลางโดยเริ่มต้นด้วยกลุ่มชาวฮัน ได้ทำการโจมตียึดครองยุโรปตะวันออก ตั้งเป็นอาณาจักรฮันนิก ผู้ปกครองที่มีอำนาจที่สุดของอาณาจักรฮันนิก คือ อัตติลาเดอะฮัน (ค.ศ. 434–453) ซึ่งต่อมาได้มีการสลายตัวไป หลังจากการสลายตัวของอาณาจักรฮันนิก ชาวเกปิดส์ (Gepids) ซึ่งเป็นชนเผ่าเยอรมันดั้งเดิมทางตะวันออกซึ่งถูกพวกฮันส์ยึดครองได้ก่อตั้งอาณาจักรของตนเองขึ้นในที่ราบพันโนเนีย กลุ่มอื่น ๆ ที่มาถึงแอ่งคาร์เพเทียนในช่วงการอพยพ ได้แก่ ชาวก็อธ แวนดัล ลอมบาร์ด และ ชาวสลาฟ ในช่วงทศวรรษที่ 560 ชาวอาวาร์ได้ก่อตั้งจักรวรรดิข่านอาวาร์ ซึ่งเป็นรัฐที่รักษาอำนาจสูงสุดในภูมิภาคนี้มานานกว่าสองศตวรรษ ชาวแฟรงค์ภายใต้กษัตริย์ชาร์เลอมาญเอาชนะเผ่าอาวาร์ลงได้ในสมรภูมิรบ ช่วงทศวรรษที่ 790 ทำให้เผ่าอาวาร์ถอนตัวออกจากยุโรปกลาง ในช่วงกลางศตวรรษที่ 9 อาณาเขตของทะเลสาบบอลอโตนได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็น อาณาจักรชายแดนพันโนเนียของอาณาจักรแฟรงค์ (Frankish March of Pannonia) ส่วนด้านตะวันออกของแม่น้ำดานูบถูกยึดครองโดยจักรวรรดิบัลแกเรียแห่งแรก โดยพวกบัลแกเรียเข้ายึดการปกครองของชนเผ่าสลาฟในท้องถิ่นและเผ่าอาวาร์ที่หลงเหลืออยู่

ยุคกลางและยุคใหม่ช่วงต้น

การบุกทวีปยุโรป และการพิชิตที่ราบพันโนเนียของชาวฮังการี ค.ศ. 895−972

เส้นทางการโจมตีเมืองในทวีปยุโรป และ การพิชิตที่ราบพันโนเนีย โดยหัวหน้าเผ่าอาร์พาด

ชาวฮังการี หรือ ชาวม็อจยอร์ ที่รวมเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้การนำของหัวหน้าเผ่า นามว่า อาร์พาด ผู้สืบเชื้อสายตามประเพณีของอัตติลาเดอะฮัน ได้ทำการพิชิตที่ราบพันโนเนีย (Honfoglalás ฮงโฟ้กลอลาช) ตั้งรกรากอยู่ในที่ราบพันโนเนีย เริ่มตั้งแต่ปี 895 ตามทฤษฎี Finno-Ugrian เผ่าฮังการีมีต้นกำเนิดมาจากประชากรที่พูดภาษาอูราลิกโบราณซึ่งเดิมเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าระหว่างแม่น้ำโวลก้าและเทือกเขาอูราล ในแถบไซบีเรีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศรัสเซีย) ในรูปแบบสหพันธ์ชนเผ่าที่เป็นปึกแผ่น ประเทศฮังการีก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 895 ประมาณ 50 ปีหลังจากการแบ่งจักรวรรดิแคโรลิงเกียนตามสนธิสัญญาแวร์ดุนในปี ค.ศ. 843 ก่อนการรวมอาณาจักรแองโกล - แซกซอน ในขั้นต้นราชรัฐฮังการี (หรือที่เรียกว่า "Western Tourkia" ในแหล่งข้อมูลกรีกยุคกลาง) เป็นรัฐที่สร้างขึ้นโดยเผ่าเร่ร่อน มีการปกครองที่มีประสิทธิภาพและมีอำนาจทางทหารที่สูง ทำให้ชาวฮังการีประสบความสำเร็จในการรบอย่างดุเดือดโดยชาวฮังการีทำการบุกเมืองในยุโรปตั้งแต่กรุงคอนสแตนติโนเปิลทางตะวันออก ไปจนถึง แถบคาบสมุตรสเปนในปัจจุบัน ชาวฮังการีเอาชนะกองทัพจักรวรรดิแฟรงกิชตะวันออกที่สำคัญไม่น้อยกว่าสามกองทัพ ระหว่างปี ค.ศ. 907 ถึง 910 แต่ก็ได้หยุดการรุกรานเกือบทั้งหมด หลังความพ่ายแพ้ของกองทัพฮังการีในสมรภูมิเลชเฟลด์ในปี ค.ศ. 955 และทำการตั้งถิ่นฐานในที่ราบพันโนเนีย ล้อมรอบไปด้วยภูเขาคาร์เพเทียในแอ่งคาร์เพเทียน

ยุคของราชวงศ์อาร์พาด ค.ศ. 972−1308

พระเจ้าอิชต์วานที่ 1 แห่งฮังการี หรือ กษัตริย์เซนต์สตีเฟน กษัตริย์องค์แรกของฮังการี เปลี่ยนให้เผ่าฮังการีมานับถือศาสนาคริสต์

ปี ค.ศ. 972 เป็นปีที่แกรนด์พรินซ์ (ฮังการี: fejedelem) เกซาแห่งราชวงศ์อาร์พาด เริ่มเปลี่ยนศาสนาของเผ่าฮังการีให้เข้ากับยุโรปตะวันตกที่นับถือศาสนาคริสต์ เซนต์สตีเฟน (พระเจ้าอิชต์วานที่ 1 แห่งฮังการี) บุตรชายคนแรกของเขากลายเป็นกษัตริย์องค์แรกของฮังการี หลังเอาชนะโคปปาญ (Koppány) ลุงผู้นับถือลัทธิเพเกินฮังการีของเขาซึ่งอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ด้วย ภายใต้พระเจ้าอิชต์วานที่ 1 แห่งฮังการี ประเทศฮังการีได้รับการยอมรับว่าเป็นอาณาจักรคริสเตียน หลังเข้าพบกับสมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 2 พระเจ้าอิชต์วานที่ 1 แห่งฮังการีได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง (ซึ่งอาจรวมถึง มงกุฎเซนต์สตีเฟน ซึ่งปัจจุบันเก็บไว้ในรัฐสภาฮังการี) จากพระสันตปาปา ใน ค.ศ. 1006 พระเจ้าอิชต์วานที่ 1 แห่งฮังการีได้รวมอำนาจและเริ่มการปฏิรูปอย่างกว้างขวางเพื่อเปลี่ยนฮังการีให้เป็นรัฐศักดินาแบบตะวันตก ประเทศฮังการีเปลี่ยนมาใช้ภาษาละติน และ จนถึงปลายปี ค.ศ. 1844 ภาษาละตินยังคงเป็นภาษาราชการของฮังการี ในช่วงเวลานี้ฮังการีเริ่มกลายเป็นอาณาจักรที่มีอำนาจ

ลาสโล่ที่ 1 ขยายพรมแดนของฮังการีไปจนสุดเขตทรานซิลเวเนียและบุกโครเอเชียในปี ค.ศ. 1091 โดยการบุกโครเอเชียสิ้นสุดลงในสมรภูมิภูเขากะวอซด์ (Battle of Gvozd Mountain) ในปี ค.ศ. 1097 และเป็นสหภาพส่วนบุคคลของโครเอเชียและฮังการีในปี 1102 ซึ่งปกครองโดย กษัตริย์คาลมาน แห่งฮังการี (หรือ คาลมานผู้รักการอ่าน) กษัตริย์ที่ทรงอำนาจและมั่งคั่งที่สุดของราชวงศ์อาร์พาด คือ เบลอที่ 3 ซึ่งใช้จ่ายด้วยแร่เงินบริสุทธิ์ 23 ตันต่อปี ซึ่งมากกว่าการใช้จ่ายของกษัตริย์ฝรั่งเศส (ประมาณ 17 ตัน) และเป็นสองเท่าของรายวงศ์อังกฤษ

กษัตริย์ออนดราชที่ 2 ได้ออกตราสาร Diploma Andreanum ซึ่งรับรองสิทธิพิเศษของเขตอยู่อาศัยของนิคมชาวเยอรมันแซ็กซันในเขตทรานซิลเวเนีย ถือเป็นกฎหมายเอกราชฉบับแรกของโลก และเป็นผู้นำสงครามครูเสดครั้งที่ห้าไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1217 โดยตั้งกองทัพหลวงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามครูเสด ตราสารกระทิงทอง ปี ค.ศ. 1222 ของเขาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในภาคพื้นทวีปยุโรป ซึ่งทำให้เหล่าขุนนางเริ่มแสดงความคับข้องใจแก่แอนดรูว์ที่ 2 ซึ่งเป็นรากฐานที่นำไปสู่สถาบันรัฐสภา (parlamentum publicum)

การปิดล้อมเมืองแอสเตอร์โกม ปี ค.ศ. 1241 โดยโกลเดนฮอร์ด

ในปี ค. ศ. 1241–1242 อาณาจักรได้รับความเสียหายครั้งใหญ่จากการรุกรานของชาวมองโกล (โกลเดนฮอร์ด) มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร 2 ล้านคนในฮังการีในขณะนั้นเสียชีวิตจากการรุกราน กษัตริย์เบลอที่ 4 ปล่อยให้ชาวคูมัน (Cuman) และชาวยาสสิก (Jassic) เข้ามาในประเทศซึ่งกำลังหลบหนีชาวมองโกล และต่อมาชนชาติเหล่านี้ก็ได้ถูกกลืนเข้าไปเป็นประชากรฮังการี โดยหลังจากมองโกลล่าถอย กษัตริย์เบลอได้สั่งให้สร้างปราสาทหินและป้อมปราการหลายร้อยแห่งเพื่อป้องกันการรุกรานของชาวมองโกลครั้งที่สองที่อาจเกิดขึ้นได้ ชาวมองโกลกลับมาที่ฮังการีในปี ค.ศ. 1285 แต่ระบบปราสาทหินที่สร้างขึ้นใหม่และยุทธวิธีใหม่ (โดยใช้อัศวินติดอาวุธในสัดส่วนที่สูงกว่า) หยุดยั้งพวกมองโลกไว้ได้ ทำให้กองทัพมองโกลที่รุกรานพ่ายแพ้ ใกล้กับเมืองแป็ชต์ (ปัจจุบันคือบูดาเปสต์ฝั่งขวา) โดยกองทัพของราชวงศ์ลาดิสลัสที่ 4 แห่งฮังการี การรุกรานในภายหลังทัพมองโกลถูกขับไล่อย่างรวดเร็ว ชาวมองโกลสูญเสียกำลังรุกรานไปมาก และไม่สามารถผนวกฮังการีไว้ในดินแดนของจักรวรรดิมองโกล

เมืองหลวงหลักของราชวงศ์อาร์พาดมีอยู่ 2 แห่ง คือ แอสแตร์โกม (Esztergom) และ เซแก็ชแฟเฮร์วาร์ (Székesfehérvár)

ยุคของราชวงศ์อ็องฌูและฮุนยอดิ ค.ศ. 1308−1526

หลังจากผู้ปกครองคนสุดท้ายของราชวงศ์อาร์พาดเสียชีวิตในปี 1301 การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทำให้ประเทศอ่อนแอลงเป็นหลายปี ในที่สุดราชวงศ์อ็องฌู ซึ่งเป็นญาติของราชวงศ์อาร์พาดก็ได้รับอำนาจตลอดทั้งศตวรรษที่ 14 กษัตริย์ชาร์ลส์ โรแบรต์ (Charles Robert) กษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์อ็องฌู ได้รวมศูนย์อำนาจ ในรัชสมัยลูกชายของเขา หลุยส์ที่ 1 แห่งฮังการีประเทศฮังการีมีเขตแดนที่กว้างที่ใหญ่ที่สุด เลยไปถึงเขตประเทศโปแลนด์ ตะวันออกของประเทศออสเตรีย และบางส่วนของแคว้นโบฮีเมียในปัจจุบัน มีรัฐบริวารหลายร้อยรัฐอยู่ใต้ราชอำนาจของประเทศฮังการี หนึ่งในเมืองศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดของกษัตริย์ราชวงศ์อ็องฌู (ถัดจากเมืองเซแก็ชแฟเฮร์วาร์และเมืองบูดา) คือเมืองวิแชกราด ในศตวรรษที่ 15 ราชอาณาจักรฮังการีเป็นมหาอำนาจที่สำคัญในยุโรป ในช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิซีกิสมุนท์แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

แผนที่การยึดครองใน สงครามของกษัตริย์แมเธียส คอร์นิวุส แห่งฮังการี (ค.ศ. 1458-1490)

ในรัชสมัยของกษัตริย์แมทเธียส คอร์วินุส (Matthias Corvinus) ประเทศฮังการีได้มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่เจริญที่สุด ศูนย์กลางหลักของประเทศกลายเป็นเมืองบูดาพร้อมด้วยราชสำนักยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาที่มีชื่อเสียงของกษัตริย์แมเธียส กษัตริย์แมทเธียส คอร์วินุสได้ปกป้องพรมแดนด้านตะวันออกจากจักรวรรดิออตโตมัน และได้โจมตีดินแตนทางด้านตะวันตก ไกลจนถึงแคว้นโบฮีเมีย และ กรุงเวียนนา รวมถึงป้องกันการรุกรานจากพวกเติร์กในทางตะวันออกได้ หลังกษัตริย์แมเธียส คอร์นิวุส สวรรคตโดยไร้ซึ่งทายาทผู้ชอบธรรม บังลังก์แห่งฮังการีได้รับการสืบทอดโดย พระเจ้าววาดือสวัฟที่ 2 ยากีลโลแห่งโปแลนด์ กษัตริย์แห่งราชวงศ์ยากีลโล (ค.ศ. 1490-1516) ซึ่งทำให้ราชสำนักฮังการีเกิดความอ่อนแอ และ เกิดความสั่นคลอนทางอำนาจภายในราชอาณาจักร ทำให้ท้ายสุดประเทศฮังการีเกิดทั้งหมด ได้ตกไปอยู่ในการครอบครองของจักรวรรดิออตโตมัน หลังจากสงครามออตโตมัน ที่ฮังการีกับออตโตมันได้ทำการรบมานานกว่า 150 ปี

ในยุคนี้ เมืองหลวงของราชอาณาจักรฮังการี คือ บูดอ แตแมชวาร์ วิแชกราด และ เวียนนา (ภายใต้การยึดครองของกษัตริย์แมทเธียส คอร์วินุสเป็นระยะเวลาชั่วคราว)

ยุคสงครามออตโตมัน (ค.ศ. 1526−1699)

ในตอนต้นของคริสต์ทศวรรษ 1520 จักรวรรดิออตโตมานได้โจมตีป้อมปราการชายแดนฮังการีทางตอนใต้อย่างต่อเนื่อง หลังจากสงครามกับชาวฮังการีและรัฐอื่น ๆ ราว 150 ปี การล่มสลายของเมืองนานโดร์แฟเฮร์วาร์ (Nándorfehérvár) (หรือ กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบียในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นประตูสำคัญทางใต้ของอาณาจักรฮังการีในยุคกลาง เป็นปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ทัพจักรวรรดิออตโตมันเคลื่อนทัพสู่ที่ราบพันโนเนียได้ การโจมตีเมืองนานโดร์แฟเฮร์วาร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1521 ตามมาด้วยการโจมตีพื้นที่ด้านในของประเทศ จักรวรรดิออตโตมันได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือกองทัพฮังการีในยุทธการที่โมฮาช ในปี ค.ศ. 1526 ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 2 แห่งฮังการี สิ้นพระชนม์ขณะหลบหนี ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทางการเมืองนั้น ขุนนางฮังการีที่แตกแยกได้เลือกกษัตริย์สองพระองค์ให้ปกครองราชอาณาจักรฮังการีพร้อมกัน คือ พระเจ้ายาโนชที่ 1 แห่งฮังการี (John Zápolya) และ จักรพรรดิแฟร์ดีนันท์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Ferdinand I) แห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค

มัสยิดปาชา กาซิม ในเมืองเป็ช ประเทศฮังการี สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ในช่วงการพิชิตราชอาณาจักรฮังการีของจักรวรรดิออตโตมัน

ทัพของจักรวรรดิออตโตมันทำการโจมตีจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธ์อย่างต่อเนื่อง โดยทำการปิดล้อมกรุงเวียนนาในปี ค.ศ. 1529 แต่ไม่สามารถยึดได้สำเร็จ หลังการยึดครองกรุงบูดาโดยชาวเติร์กในปี ค.ศ. 1541 ฮังการีได้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนและยังคงอยู่จนถึงสิ้นศตวรรษที่ 17 ทางตะวันตกเฉียงเหนือถูกผนวกโดยราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค ซึ่งปกครองในฐานะกษัตริย์แห่งฮังการี เรียกส่วนนี้ว่า ราชอาณาจักรฮังการี (เมืองหลวงอยู่ที่กรุงบราติสลาวา ประเทศสโลวาเกีย) แผ่นดินส่วนตะวันออกของราชอาณาจักรกลายเป็นเอกราชในฐานะราชรัฐทรานซิลเวเนีย ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (และต่อมาโดยราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค) พื้นที่ศูนย์กลางที่เหลืออยู่รวมถึงเมืองหลวงบูดาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ปาชาลิกแห่งบูดา (Pashalik of Buda) เป็นพื้นที่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ทหารออตโตมัน 17,000-19,000 คน ประจำการอยู่ในป้อมปราการออตโตมันในดินแดนของฮังการี โดยเป็นชาวเติร์กออร์โธดอกซ์และชาวมุสลิมบอลข่านสลาฟ มากกว่าชาวตุรกี นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่จากกลุ่มชนสลาฟออร์ธอด็อกซ์ใต้ที่ทำหน้าที่เป็น ทหารราบอาคินยิ (akinji) และกองกำลังอื่น ๆ ที่มีไว้สำหรับการปล้นสะดมในดินแดนของฮังการีในปัจจุบัน[1] ในปี ค.ศ. 1686 กองทัพของโฮลีลีก (Holy League) ซึ่งมีทหารกว่า 74,000 คนจากชาติต่าง ๆ ได้ยึดคืนกรุงบูดาจากออตโตมันเติร์ก หลังจากความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของออตโตมานในอีกไม่กี่ปีต่อมา ราชอาณาจักรฮังการีทั้งหมดก็ถูกปลดออกจากการปกครองของออตโตมันในปี ค.ศ. 1718 การบุกเข้าไปในฮังการีครั้งสุดท้ายโดยข้าราชบริพารชาวเติร์กตาตาร์จากไครเมียเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1717

หลังพ้นจากการครอบครองของจักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิออสเตรียของราชวงศ์ฮาร์พบวร์ก ได้ทำการยึดครอง และ ปกครองอาณาเขตทั้งหมดของราชอาณาจักรฮังการี ราชวงศ์ฮาร์พบวร์กได้ทำการปฏิรูปศาสนาและการปกครองในอาณาเขตราชอาณาจักรฮังการี ในศตวรรษที่ 17 ทำให้อาณาจักรส่วนใหญ่หันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แทนที่นิกายโปรแตสแตนท์ องค์ประกอบทางชาติพันธุ์ของฮังการีได้รับการเปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐานอันเป็นผลมาจากสงครามที่ยืดเยื้อกับจักรวรรดิออตโตมัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้รับความเสียหาย การเติบโตของประชากรถูกทำให้ชงัก และเมืองขนาดเล็กจำนวนมาก ถูกทำลายราบคาบ รัฐบาลออสเตรียภายใต้จักรวรรดิออสเตรีย ได้ทำการตั้งถิ่นฐานชาวเซิร์บและชาวสลาฟอื่น ๆ ไว้ทางตอนใต้ที่ประชากรถูกกำจัดเกือบหมด และ ตั้งรกรากชาวเยอรมัน (เรียกว่า ดานูบสวาเบียน) ในหลายพื้นที่ แต่ชาวฮังการีไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานหรือตั้งถิ่นฐานใหม่ทางตอนใต้ของที่ราบฮังการีใหญ่ คงไว้เฉพาะตอนกลางและตอนเหนือเท่านั้น[2]

ยุคใหม่

ฮังการีภายใต้จักรวรรดิออสเตรีย (ค.ศ. 1669−ค.ศ. 1867)

สงครามอิสรภาพของราโกตซี (ค.ศ. 1703−ค.ศ. 1711)

ภาพวาดของจอร์จ ฟิลลิป รูเกินดาส แสดงการต่อสู้บนหลังม้าของกองทัพคุรุซของฮังการี และ กองทัพทหารม้าจักรวรรดิออสเตรีย

ระหว่างปี 1703 ถึงปี 1711 ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย มีการลุกฮือครั้งใหญ่ที่นำโดยเจ้าชายราโกตซี แฟแร็นตส์ที่ 2 ซึ่งหลังจากการอ่อนกำลังลงของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ก จากการต่อสู้ภายใน (สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน) ทำให้ในปี ค.ศ. 1707 ณ สภาไดเอตแห่งโอโน็ต (Diet of Ónod) ราโกตซีได้เข้ามามีอำนาจชั่วคราวในฐานะเจ้าชายปกครองฮังการีในช่วงสงคราม แต่ปฏิเสธการขึ้นเป็นกษัตริย์ฮังการี และกลายเป็นสงครามเพื่อปลดแอกจากราชวงศ์ฮาร์พบวร์ก เรียกว่า สงครามอิสรภาพของราโกตซี โดยมีการรวมตัวเป็นกองทัพต่อต้านราชวงศ์ฮาพส์บวร์กโดยชาวฮังการี เรียกว่า กองทัพคุรุตซ์ (Kuruc) แม้ว่ากองทัพคุรุตซ์จะเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้ แต่แพ้การสู้รบหลักที่แทร็นเชน (Trencsén) (ปัจจุบันคือเมือนเตรนซีน ประเทศสโลวาเกีย) ซึ่งส่งผลให้ใน ค.ศ. 1708 กองกำลังคุรุตซ์ ได้ทำการจำนน เนื่องจากการความพ่ายแพ้ต่อออสเตรียและขวัญกำลังใจที่ตกต่ำ

ยุคปฏิรูป (ค.ศ. 1825−ค.ศ. 1848)

ในช่วงระหว่างและหลังจากสงครามนโปเลียน สภาไดเอ็ทของฮังการีไม่ได้มีการจัดประชุมกันมาหลายทศวรรษ ในช่วงทศวรรษที่ 1820 จักรพรรดิแห่งออสเตรียถูกบังคับให้จัดประชุมสภาไดเอ็ท ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคปฏิรูป (1825–1848, ฮังการี: reformkor) เคานต์ อิชต์วาน เซแช็นยี (Count István Széchenyi) หนึ่งในรัฐบุรุษที่โดดเด่นที่สุดของประเทศฮังการี ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงฮังการีให้ทันสมัย การรณรงค์ของเขานั้นทำให้เกิดการบูรณะรัฐสภาฮังการีขี้นใหม่ในปี ค.ศ. 1825 ในช่วงเวลานี้ได้มีการกำเนิดพรรคเสรีนิยมเกิดขึ้นและมุ่งเน้นไปที่นโยบายเพื่อพวกชนชั้นล่าง นายลอโย็ช โค็ชชูต (Lajos Kossuth) นักเขียนข่าวที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น กลายเป็นผู้นำของสภาล่างในรัฐสภา การเปลี่ยนแปลงมุ่งเน้นไปที่ความทันสมัย แม้ว่าราชวงศ์ฮาพส์บวร์กจะทำการขัดขวางกฎหมายเสรีนิยมที่สำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง การเมือง และ การปฏิรูปเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีการคุมขังนักปฏิรูปหลายคน เช่น ลอโย็ช โค็ชชูต (Lajos Kossuth) และ มิฮาย ตานชิช (Mihály Táncsics) โดยทางการ เนื่องจากการพยายามปฏิรูประบอบการเมืองการปกครองใหม่ จนสุดท้ายพวกออสเตรียต้องยอมให้อำนาจครึ่งหนึ่งกับชาวฮังการี กลายเป็น จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ประเทศมหาอำนาจในยุโรปกลาง มีเมืองหลวง คือ กรุงเวียนนา และ กรุงบูดาเปสต์ และมีพระมหากษัตริย์ร่วมกัน คือ จักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 แห่งออสเตรีย

การปฏิวัติฮังการี (ค.ศ. 1848)

การเปลี่ยนแปลงจักรวรรดิสู่การกำเนิดของจักรวรรดิออสเตรียฮังการี

หลังจากเกิดเหตุการณ์การเจรจาต่อรองระหว่างออสเตรียและฮังการีเมื่อปี ค.ศ. 1867 ซึ่งดำเนินการการรวมชาติการเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ และเป็นการสานต่อโครงสร้างของการปกครองที่คงตัวตั้งแต่เมื่อยังคงเป็นจักรวรรดิออสเตรีย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1804 ถึง ค.ศ. 1867 เพื่อปกป้องและขยายอำนาจของจักรวรรดิ ซึ่งรวมไปถึงคาบสมุทรอิตาลี (ซึ่งนำไปสู่สงครามออสเตรีย-ซาร์ดีเนียเมื่อปีค.ศ. 1859) ท่ามกลางรัฐต่างๆของสมาพันธรัฐเยอรมัน ซึ่งถูกแทนที่โดยปรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจสูงสุดในกลุ่มประเทศเยอรมัน อันนำไปสู่สงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย เมื่อปีค.ศ. 1866 ทำให้ประเทศหลายประเทศต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมทั้งประเทศฮังการี ซึ่งมีการชุมนุมประท้วงที่ไม่พอใจการปกครองของออสเตรีย รวมทั้งการรวมเชื้อชาติต่างๆของจักรวรรดิออสเตรีย ชาวฮังการีไม่พอใจต่อการปราบปรามจลาจลของออสเตรีย ซึ่งมีจักรวรรดิรัสเซียสนับสนุนอีกแรง ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1848 อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจของฮังการีต่อการปกครองของทางออสเตรียได้เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายปี

ส่วนทางด้านออสเตรียซึ่งสนับสนุนระบอบกษัตริย์หรือจักรพรรดิอย่างเต็มที่ จักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ ทรงริเริ่มที่จะเจรจากับฮังการี โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้นำปฏิวัติของชาวฮังการี ให้มั่นใจและรับรองต่อระบอบการปกครองของพระองค์ โดยในที่สุด ชาวฮังการีก็ยอมรับพระองค์เป็นประมุขในฐานะสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งฮังการี โดยฮังการีได้ก่อตั้งรัฐสภาเป็นของตนเอง ณ กรุงบูดาเปสต์ เพื่อที่จะได้ออกกฎหมายเป็นของตนเองในนามของ ดินแดนแห่งมงกุฏนักบุญสตีเฟน

จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (ค.ศ. 1867−ค.ศ. 1918)

แผนที่เขตปกครอง 18 แห่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออสเตรีย: 1. โบฮีเมีย (Bohemia), 2. บูโควีนา (Bukovina), 3. คารินเทีย (Carinthia), 4. คาร์นิโอลา (Carniola), 5. ดัลเมเชีย (Dalmatia), 6. กัลลิเซีย (Galicia), 7. คึสเทินลันด์ (Küstenland), 8. ออสเตรียล่าง (Lower Austria), 9. โมราเวีย (Moravia), 10. ชาลซ์บูร์ก (Salzburg), 11. ซิเลเซีย (Silesia), 12. สตีเรีย (Styria), 13. ไทโรล (Tyrol), 14. ออสเตรียบน (Upper Austria), 15. โวราร์ลแบร์ก (Vorarlberg); ราชอาณาจักรฮังการี: 16. ฮังการี (Hungary) 17. โครเอเชีย-สลาโวเนีย (Croatia-Slavonia); ดินแดนปกครองร่วมกัน: 18.  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia and Herzegovina)

สงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914−ค.ศ. 1918)

สนธิสัญญาทรียานง (ค.ศ. 1920) และการเสียดินแดนของราชอาณาจักรฮังการี

ความแตกต่างระหว่างพรมแดนเดิมกับพรมแดนใหม่ของอาณาจักรฮังการีในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และราชอาณาจักรฮังการีอิสระ หลังการเสียดินแดนตามสนธิสัญญาทรียานง จากสำมะโนประชากรเชื้อชาติของราชอาณาจักรฮังการี ปี ค.ศ. 1910 สีเขียวแทนพื้นที่ราชอาณาจักรฮังการี และสีเทาแทนพื้นที่เขตปกครองตนเองโครเอเชีย-สลาโวเนีย (autonomous region of Croatia-Slavonia)

สนธิสัญญาทรียานง (ฝรั่งเศส: Traité de Trianon; ฮังการี: Trianoni békeszerződés; อังกฤษ: Treaty of Trianon) เป็นหนึ่งในห้าสนธิสัญญาสันติภาพสำคัญ ที่เตรียมไว้ในการประชุมสันติภาพปารีสและลงนามในพระราชวังกร็องทรียานง (Grand Trianon Palace) ในเมืองแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1920 ระหว่างชาติฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กับราชอาณาจักรฮังการี หลังเป็นหนึ่งในรัฐผู้สืบทอดของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี หลังการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1[3] ของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี โดยมีเนื้อหาในการทำให้อาณาจักรฮังการีกลายเป็นราชอาณาจักรฮังการี และแบ่งแยกดินแดนเดิมของอาณาจักรฮังการีแก่ประเทศเพื่อนบ้าน[4][5]

ผู้ลงนามในสนธิสัญญา 2 คนจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี นายอาโกชต์ แบนาร์ด (Ágost Benárd) และนายอัลเฟรด ดราชเช-ลาซาร์ (Alfréd Drasche-Lázár) ในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1920 ณ พระราชวังกร็องทรียานง เมืองแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส

สนธิสัญญาทรียานงร่างขึ้นจากคำร้องขอสงบศึกของ อดีตจักรพรรดิและรัฐบาลขุนนางจักรวรรดิออสเตรีย- ฮังการี หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรและผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องได้ยอมรับคำขอสงบศึกของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918[6] โดยฝ่ายสัมพันธมิตรได้กำหนดให้ฮังการีเป็นรัฐอิสระและกำหนดเขตแดนเสียใหม่ การแบ่งดินแดนทำให้ประเทศฮังการีกลายเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่ 93,073 ตารางกิโลเมตร (35,936 ตารางไมล์) เป็นปริมาณเพียง 28% จากพื้นที่เดิมของฮังการีเมื่อยังเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเคยมีพื้นที่อยู่ 325,411 ตารางกิโลเมตร (125,642 ตารางไมล์) มีประชากร 7.6 ล้านคน ซึ่งนับเป็นเพียง 36% ของจำนวนประชากรในฮังการีก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่มีประชากรอยู่ 20.9 ล้านคน[7] พื้นที่ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจัดสรรให้กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ส่วนใหญ่ประชากรไม่ใช่ชาวฮังการี แต่ 31% ของชาวฮังการี (3.3 ล้านคน) ถูกทิ้งไว้นอกเขตแดนของประเทศฮังการี[8] ห้าในสิบเมืองที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักรก่อนสงครามตกไปอยู่ในการครอบครองของประเทศอื่น ๆ เช่น เมืองโปโจญ (Pozsony: ปัจจุบันคือ กรุงบราติสลาวา, เมืองหลวงของประเทศสโลวาเกีย), เมืองโคโลจวาร์ (Kolozsvár: ปัจจุบันคือ เมืองคลูช-นาโปกา, ประเทศโรมาเนีย), เมืองซาเกร็บ (Zágráb: ปัจจุบันคือ กรุงซาเกร็บ, ประเทศโครเอเชีย), เมืองน็อจวาร็อด (Nagyvárad, ปัจจุบันคือ เมืองออราเดีย, ประเทศโรมาเนีย) เป็นต้น[9] สนธิสัญญาทรียานงจำกัดขนาดกองทัพของฮังการีให้มีทหารเพียง 35,000 คน และกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีถูกยุบลงไป[10]

อนุสรณ์สถานการเสียดินแดนจากสนธิสัญญาทรียานง ในเมืองเบเกชชอบอ ประเทศฮังการี

ประเทศที่ได้ครองดินแดนของอาณาจักรฮังการีที่เสียไป ประกอบด้วยราชอาณาจักรโรมาเนีย, สาธารณรัฐเชโกสโลวัก, ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย และสาธารณรัฐออสเตรีย หนึ่งในองค์ประกอบหลักของสนธิสัญญาคือแนวคิด "การตัดสินใจโดยประชาชน" เป็นความพยายามที่จะทำให้คนที่ไม่ใช่ชาวฮังการี มีรัฐชาติและความเป็นเอกราชของตนเอง[11] นอกจากนี้ฮังการีจะต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย สนธิสัญญาดังกล่าวถูกกำหนดโดยฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่าการเจรจาร่วมกับชาวฮังการี และชาวฮังการีไม่มีทางเลือกนอกจากต้องยอมรับเงื่อนไขสนธิสัญญา คณะผู้แทนชาวฮังการีได้ลงนามในสนธิสัญญาทรียานง (พร้อมกับการเขียนประท้วงสนธิสัญญาแนบร่วม)[12] เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1920 ที่พระราชวังกร็องทรียานง ในเมืองแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส สนธิสัญญาดังกล่าวได้รับการจดทะเบียนในชุดสนธิสัญญาของสันนิบาตชาติเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1921[13] อาณาเขตของประเทศสาธารณรัฐฮังการีในปัจจุบันมียังมีขนาดคงเดิมตามสนธิสัญญาทรียานง มีการแก้ไขเล็กน้อยจนถึงปี ค.ศ. 1924 เกี่ยวกับชายแดนฮังการีและออสเตรีย (รัฐบูร์เกนลันด์)[14] รวมไปถึงหมู่บ้านสามแห่งที่กลายเป็นดินแดนของประเทศเชโกสโลวาเกียในปี ค.ศ. 1947[15] หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สนธิสัญญาทรียานง เป็นเหตุการณ์สูญเสียทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของประเทศฮังการี เป็นสาเหตุที่ทำให้มีชนกลุ่มน้อยฮังการีกระจัดกระจายอยู่ทั่ว 7 ประเทศที่ได้ดินแดนไปในฮังการี วันที่ 4 มิถุนายน ของทุก ๆ ปี คือ วันรวมเป็นหนึ่งแห่งชาติ (A nemzeti összetartózás napja) เพื่อชาวฮังการีที่อยู่ทั่วโลก ให้มารวมกันอีกครั้ง หลังการถูกแยกกันจากสนธิสัญญาทรียานง

ระหว่างสงครามโลก (ค.ศ. 1918−ค.ศ. 1938)

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง วิเตซ[16] มิกโลช โฮร์ตี แห่งน็อจบาญอ (ฮังการี: nagybányai Horthy Miklós) พลเรือเอกชาวฮังการี ที่ได้กลายเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งมิกโลช โฮร์ตี ได้ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแห่งอาณาจักรฮังการีในสมัยระหว่างสงคราม และเกือบตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1920 ถึง 15 ตุลาคม ค.ศ. 1944 เขาได้ถูกขนามนามว่า "ฮิสเซอรีนไฮเนส ผู้สำเร็จราชการแห่งอาณาจักรฮังการี"(ฮังการี: Ő Főméltósága a Magyar Királyság Kormányzója) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพเรือออสเตรีย-ฮังการีในช่วงท้ายปีของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาได้รับการเลื่อนยศตำแหน่งเป็นพลเรือโทและผู้บัญชาการกองเรือ เมื่อพลเรือเอกก่อนหน้านี้ได้ถูกขับออกจากตำแหน่งโดยจักรพรรดิคาร์ลที่ได้ให้การสนับสนุนการก่อกบฏ ในปี ค.ศ. 1919 ตามมาด้วยส่วนหนึ่งของการปฏิวัติและการเข้าแทรกแซงจากภายนอกในฮังการี ตั้งแต่โรมาเนีย เชโกสโลวาเกีย และยูโกสลาเวีย โฮร์ตีได้เดินทางกลับบูดาเปสต์พร้อมกับกองทัพแห่งชาติและต่อมาก็ได้รับเชิญให้เป็นผู้สำเร็จราชการจากรัฐสภาฮังการี โฮร์ตีได้นำรัฐบาลชาติอนุรักษนิยม[17]ตลอดช่วงสมัยระหว่างสงคราม และได้ประกาศให้พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีและพรรคแอร์โรว์ครอสส์ เป็นพรรคการเมืองผิดกฎหมาย และดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเน้นการเรียกร้องดินแดนที่เสียไปในสนธิสัญญาทรียานงคืน เขาเป็นผู้ทำให้ความพยายามคืนสู่บัลลังก์ของ สมเด็จพระเจ้าคาร์ลที่ 4 ทั้งสองครั้งในปี ค.ศ. 1921 ต้องล้มเหลว รัฐบาลฮังการีตกอยู่ใต้ภัยคุกคามจากฝ่ายสัมพันธมิตรที่อาจจะประกาศสงครามถ้าหากมีการฟื้นฟูราชวงศ์ฮาพส์บวร์คขึ้นมา สมเด็จพระเจ้าคาร์ลที่ 4 จึงทรงถูกพาออกไปจากฮังการีโดยเรือรบของสหราชอาณาจักรในสถานะผู้ลี้ภัย

สงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1938−ค.ศ. 1944)

ในปลายปี ค.ศ. 1930 นโยบายต่างประเทศของโฮร์ตี ทำให้เขาต้องกลายเป็นพันธมิตรอย่างไม่เต็มใจกับเยอรมนีในการต่อกรกับสหภาพโซเวียต ด้วยการสนับสนุนอย่างเดียดฉันท์ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ โฮร์ตีนั้นสามารถกู้คืนดินแดนบางส่วนที่ถูกเอาไปจากพวกเขาโดยฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น สโลวาเกียตอนใต้ ราชอาณาจักรยูโกสลาเวียบางส่วน เขตทรานซิลเวียเนียบางส่วน และ เขตทรานสคาลเพเทียของสหภาพโซเวียต ภายใต้การนำของโฮร์ตี, ฮังการีได้ให้การสนับสนุนผู้ลี้ภัยชาวโปแลนด์ในปี ค.ศ. 1939 และได้มีส่วนร่วมในบทบาทการสนับสนุน (เป็นฝ่ายตรงข้ามกับแนวหน้า) ในช่วงที่เยอรมันเข้ารุกรานสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1941 และเยอรมันเข้ารุกรานยูโกสลาเวียในปีเดียวกัน ได้ครอบครองและผนวกรวมเข้ากับดินแดนของชาวฮังการีในอดีตซึ่งได้ถูกมอบให้กับราชณาจักรยูโกสลาเวีย โดยฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อย่างไรก็ตามด้วยความไม่เต็มใจของโฮร์ตีที่จะมีส่วนร่วมในความพยายามทำสงครามของเยอรมันและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในฮังการี รวมทั้งได้ปฏิเสธที่จะส่งมอบชาวยิวเชื้อสายฮังการีมากกว่า 600,000 คนจาก 825,000 คนให้แก่เจ้าหน้าที่เยอรมัน ควบคู่ไปกับความพยายามหลายครั้งในการจัดการข้อตกลงอย่างลับ ๆ กับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากได้เห็นชัดเจนว่า ฝ่ายอักษะจะพ่ายแพ้สงคราม จนท้ายที่สุดก็ทำให้เยอรมันต้องส่งกองทัพเข้าไปรุกรานและเข้าควบคุมประเทศฮังการีในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 ในปฏิบัติการมาร์กาเรต ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944 โฮร์ตีได้แถลงการณ์ว่าฮังการีนั้นได้ประกาศสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรและถอนตัวออกจากฝ่ายอักษะแล้ว เขาได้ถูกบังคับให้ลาออกและถูกจับกุมโดยนาซีเยอรมนีและถูกพาตัวไปยังแคว้นบาวาเรีย[18]

คอมมิวนิสต์ฮังการี (ค.ศ. 1945−ค.ศ. 1989)

หลังจากความพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมนี ประเทศฮังการีกลายเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต ผู้นำโซเวียตได้เลือก นายมาตยาช ราโกชิ (Mátyás Rákosi) ให้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนระบบของประเทศฮังการีให้เป็นแบบคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต ราโกชิได้ปกครองฮังการีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 ถึง ค.ศ. 1956 นโยบายของรัฐบาลในด้านการทหาร, การทำอุตสาหกรรม, การรวมกลุ่ม และ การชดเชยจากสงครามทำให้คุณภาพชีวิตในประเทศฮังการีลดลงอย่างรุนแรง ในการเลียนแบบตำรวจลับ KGB ของโจเซฟ สตาลิน รัฐบาลของราโกชิได้จัดตั้งตำรวจลับ ÁVH เพื่อบังคับใช้ระบอบการปกครองใหม่ โดยได้ทำการกวาดล้างเจ้าหน้าที่และปัญญาชนประมาณ 350,000 คน ซึ่งถูกจำคุกหรือประหารชีวิตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 ถึง 1956 นักคิดอิสระ, นักประชาธิปไตย และ บุคคลสำคัญในสมัยผู้สำเร็จราชการมิกโลช โฮร์ตีหลายคนถูกจับอย่างลับ ๆ และถูกวิสามัญฆาตกรรมในค่ายกักกันแรงงานกูลากทั้งในและต่างประเทศ ชาวฮังการีราว 600,000 คนถูกเนรเทศไปยังค่ายแรงงานโซเวียตซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 200,000 คน

หลังจากการเสียชีวิตของสตาลินในปี ค.ศ. 1953 สหภาพโซเวียตได้ดำเนินโครงการกดขี่ประชาชนแบบราโคซีหลายแบบ ซึ่งนำไปสู่การปลดมาตยาช ราโกชิ ออกจากตำแหน่ง และนายอิมแร น็อจย์ (Imre Nagy) ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ในช่วงนี้ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้นจากนักศึกษาและปัญญาชน อิมแร น็อจย์สัญญาว่าจะเปิดการค้าเสรีและการเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ในขณะที่นายราโกชิคัดค้านทั้งสองอย่างจริงจัง ในที่สุดราโกชิก็สามารถทำลายชื่อเสียงของอิมเร น็อจย์ และแทนที่เขาด้วยนายแอร์เนอ แกเรอ (Ernő Gerő) ที่แข็งกร้าวกว่า ประเทศฮังการีเข้าร่วมสนธิสัญญาวอร์ซอ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1955 เนื่องจากความไม่พอใจของสังคมต่อระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่เพิ่มขึ้นในรัฐบริวารของโซเวียตรัสเซีย หลังจากการยิงผู้ประท้วงอย่างสันติโดยกองกำลังทหารโซเวียตและตำรวจลับ ได้มีการชุมนุมทั่วประเทศเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1956 ผู้ประท้วงพากันรวมตัวทั่วท้องถนนในกรุงบูดาเปสต์และเริ่มการปฏิวัติรัฐบาล เรียกว่า การปฏิวัติฮังการี ค.ศ. 1956 เพื่อที่จะระงับความวุ่นวาย นายอิมแร น็อจย์ได้กลับมาดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี และสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งโดยเสรีและนำฮังการีออกจากสนธิสัญญาวอร์ซอ

รถถังโซเวียตที่ถูกทำลายโดยกองกำลังปลดแอกฮังการีในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1956 (ถ่าย ณ จัตุรัสมอริตซ์ จิกโมนด์, กรุงบูดาเปสต์)

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไปในขณะที่กองกำลังปฏิวัติลุกขึ้นต่อสู้กับกองทัพโซเวียตและตำรวจลับ ÁVH กองกำลังประชาชนติดอาวุธประมาณ 3,000 คน ได้ต่อสู้กับรถถังโซเวียตโดยใช้ค็อกเทลโมโลตอฟและปืนพก แม้ว่าโซเวียตจะมีกองกำลังที่แข็งแกร่งกว่ามาก แต่กองทัพโซเวียตก็ประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก และเมื่อถึงวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1956  กองทัพโซเวียตส่วนใหญ่ได้ถอนกำลังจากกรุงบูดาเปสต์ไปรักษาการณ์ในชนบท ในช่วงเวลาหนึ่งผู้นำโซเวียตไม่แน่ใจว่าจะตอบสนองต่อการต่อต้านในฮังการีอย่างไร แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจที่จะเข้าแทรกแซงเพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออกสั่นคลอน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1956 มีการเสริมกำลังทหารมากกว่า 150,000 นายและรถถัง 2,500 คันเข้าประเทศฮังการีจากสหภาพโซเวียต ชาวฮังการีเกือบ 20,000 คนถูกสังหารในการต่อต้านการแทรกแซง ขณะที่อีก 21,600 คนถูกจำคุกหลังจากนั้นด้วยเหตุผลทางการเมือง ประมาณ 13,000 คนถูกคุมขัง และ 230 คนถูกนำตัวไปประหารชีวิต นายอิมแร น็อจย์ถูกตัดสินทางการเมืองอย่างลับๆ โดยถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกตัดสินประหารชีวิต เขาถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1958 เนื่องจากพรมแดนของประเทศฮังการีถูกเปิดออกเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ผู้คนเกือบ 250,000 คนได้หนีออกจากประเทศ ก่อนที่การปฏิวัติของอิมแร น็อจย์จะถูกระงับลง

ยาโนช กาดาร์ (János Kádár) เลขาธิการพรรคแรงงานสังคมนิยมฮังการี ระหว่าง ค.ศ. 1956 - 1988 (ถ่ายในปี ค.ศ. 1962)

หลังช่วงเวลาแห่งการยึดครองทางทหารของโซเวียตไม่นานนัก นายยาโนช กาดาร์ (János Kádár) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิมแร น็อจย์ ได้รับเลือกจากผู้นำโซเวียตให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลใหม่และเป็นประธานพรรคสังคมนิยมแรงงาน (MSzMP) ที่ปกครองใหม่ กาดาร์ทำให้สถานการณ์เป็นปกติอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ. 1963 รัฐบาลได้ให้นิรโทษกรรมทั่วไปและปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังส่วนใหญ่การลุกฮือใน ค.ศ. 1956 กาดาร์ประกาศแนวนโยบายใหม่ตามที่ประชาชนไม่ถูกบังคับให้แสดงความภักดีต่อพรรคอีกต่อไปหากพวกเขายอมรับระบอบสังคมนิยมโดยปริยายว่าเป็นความจริงของชีวิต ในสุนทรพจน์หลายครั้งเขาอธิบายว่า "คนที่ไม่ต่อต้านเราอยู่กับเรา" ยาโนช กาดาร์นำเสนอลำดับความสำคัญของการวางแผนใหม่ในระบบเศรษฐกิจ เช่น การอนุญาตให้เกษตรกรมีที่ดินส่วนตัวจำนวนมากภายใต้ระบบฟาร์มรวม (háztájigazdálkodás ฮาซตายิกอสดาลโกดาช) มาตรฐานการครองชีพในฮังการีสูงขึ้นเนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคและการผลิตอาหารมีความสำคัญเหนือกว่าการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหาร ซึ่งมีอัตราลดลงเหลือหนึ่งในสิบเมื่อเทียบกับก่อนการปฏิวัติใน ค.ศ. 1956

ในปี ค.ศ. 1968 กลไกเศรษฐกิจใหม่ (NEM) ได้นำองค์ประกอบของตลาดเสรีเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม จากทศวรรษที่ 1960 ถึงปลายทศวรรษที่ 1980 ประเทศฮังการีมักถูกเรียกว่าเป็น "ค่ายทหารที่มีความสุขที่สุด" ในกลุ่มยุโรปตะวันออก ในช่วงหลังสงครามเย็น GDP ต่อหัวของฮังการีเป็นอันดับสี่รองจากเยอรมนีตะวันออก เชโกสโลวาเกีย และ สหภาพโซเวียต อันเป็นผลมาจากมาตรฐานการครองชีพที่ค่อนข้างสูงนี้ เศรษฐกิจที่เปิดเสรีมากขึ้น การกดขี่จากภาครัฐที่น้อยลง และสิทธิในการเดินทางที่ถูกจำกัดน้อยลง ฮังการีจึงถูกมองว่าเป็นหนึ่งในประเทศคอมมิวนิสต์ที่มีความเป็นเสรีนิยมที่สุดในช่วงคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษที่ 1980 มาตรฐานการครองชีพลดลงอย่างมากอีกครั้งเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งประเทศคอมมิวนิสต์ไม่สามารถที่จะแก้ไขวิกฤตได้ เมื่อกาดาร์เสียชีวิตในปี 1989 สหภาพโซเวียตประสบกับภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างมาก (ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991) และนักปฏิรูปรุ่นใหม่เห็นว่าการเปิดประเทศให้เสรีจะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ จะเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงของประเทศฮังการีเข้าสู่การเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยในที่สุด

หลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 1989−ปัจจุบัน)

ใน ค.ศ. 1989 มีเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง (ฮังการี: rendszerváltás) เนื่องจากการร่วมสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก โดยมีการก่อตั้งสาธารณรัฐฮังการีที่ 3 (Harmadik Magyar Köztársaság) ขึ้นมา ในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1989 แทนที่สาธารณรัฐประชาชนฮังการี ซึ่งมีระบบการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์ และในปีถัดมา ค.ศ. 1990 ประเทศฮังการีได้มีการจัดตั้งรัฐสภา, รัฐบาล และ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐขึ้น ถึงแม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองดีขึ้นมา หลังจากนั้น ก็ได้มีการจัดตั้งสถาบันอื่น ๆ ที่สำคัญในประเทศต่อมาในภายหลัง หลังปี ค.ศ. 1990

ในช่วงทศวรรศที่ 1990 ประเทศฮังการีมีความพยายามสร้างร่วมมือกับประเทศยุโรปตะวันตก ประเทศฮังการีกลายเป็นสมาชิกนาโต้ในปี ค.ศ. 1999 และหลังจากการเป็นสมาชิกนาโต้ 2 สัปดาห์ ก็ได้มีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองยูโกสลาเวีย โดยมีประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกรเป็นคู่กรณี ทหารฮังการีมีส่วนร่วมในปฏิบัติการของนาโต้ในอัฟกานิสถานเกือบตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเป็นหน่วยงานด้านการแพทย์ หลังจากนั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 มีการส่งหน่วยทหารฮังการีเข้าไปรบในประเทศอัฟกานิสถาน โดยงานของกองกำลังฮังการีในอัฟการนิสถานนั้น ส่วนใหญ่ประกอบด้วยหน่วยงานลาดตระเวนคุ้มกันและหน่วยงานสังคมสงเคราะห์

ฮังการีเข้าร่วมสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2007 และเป็นสมาชิกพื้นที่เชงเก้นของสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้การควบคุมพรมแดนถาวรที่พรมแดนฮังการี - ออสเตรีย, ฮังการี - สโลวีเนีย และฮังการี - สโลวัก ถูกยกเลิก แต่สกุลเงินอย่างเป็นทางการของประเทศยังคงเป็นเงินสกุลฮังกาเรียนโฟรินต์ ไม่ได้ใช้เงินยูโร

ชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศเปลี่ยนจากสาธารณรัฐฮังการี เป็นประเทศฮังการี (Magyarország) ตามกฎหมายพื้นฐานฉบับใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2012

ฮังการีในวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยยุโรป (ค.ศ. 2015)

แผนที่วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยยุโรป ค.ศ. 2015

ประเทศฮังการีได้ประสบกับวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยยุโรป ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 ถึง 2019 แต่มีจุดวิกฤตในปี ค.ศ. 2015 เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการย้านถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่ผู้ลี้ภัยและผู้ย้ายถิ่นทางเศรษฐกิจได้ทำการอพยพจำนวนมากจากพื้นที่ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ทวีปแอฟริกา และคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก หลั่งไหลสู่สหภาพยุโรปข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มาจากประเทศซีเรีย อัฟกานิสถานและเอริเตรีย ซึ่งประเทศฮังการีซึ่งเป็นประเทศหน้าด่านระหว่างสหภาพยุโรปและบอลข่านก็ได้ทำหน้าที่เป็นประเทศแรกที่ทำการรับรองผู้อพยพก่อนเดินทางต่อไปยังประเทศยุโรปตะวันตก อาทิ ประเทศเยอรมนี แต่ฮังการีคือหนึ่งในประเทศที่ไม่ยอมรับการรับผู้อพยพ และเกิดนโยบายกั้นรั้วพรมแดนด้านใต้ของประเทศที่ติดกับประเทศเซอร์เบีย นโยบายที่นำโดยนายวิกโตร์ โอร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการีจากพรรค FIDESZ

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 2015 รัฐบาลฮังการีได้ประกาศการก่อสร้างรั้วสูง 4 เมตร ยาว 175 กิโลเมตร ตามแนวชายแดนทางใต้ของประเทศเซอร์เบีย โดยได้ทำการสร้างเสร็จสิ้นในขั้นตอนที่หนึ่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2015 ตามข้อมูลของกระทรวงกลาโหมฮังการี รั้วประกอบด้วยลวดมีดโกนของนาโต้สามเส้นยาว 175 กิโลเมตร และรั้วอีกชั้นหนึ่งเป็นรั้วลวดหนามสูงประมาณ 4 เมตร โดยรั้วชั้นที่สองได้ทำการสร้างเสร็จในปลายปี ค.ศ. 2015 นายยาโนช ลาซาร์ (János Lázár) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอธิบายว่า "ฮังการีถูกปิดล้อมจากผู้ค้ามนุษย์" และประกาศว่ารัฐบาลจะ "ปกป้องพรมแดนที่ขยาย [ของพวกเขา] นี้ด้วยกำลัง" ประเทศฮังการีได้ทำการจัดกำลังตำรวจ 9,000 นายเพื่อกันผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารจากการเข้าประเทศฮังการี โดยคณะกรรมาธิการยุโรปเตือนสมาชิกประเทศฮังการีเกี่ยวกับขั้นตอนที่ขัดต่อพันธกรณีของสหภาพยุโรปและเรียกร้องให้สมาชิกอย่างฮังการีหาวิธีอื่นในการรับมือกับการอพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย

ผู้อพยพชาวตะวันออกกลางทำการประท้วงรัฐบาลฮังการีด้วยการอดอาหารหน้าสถานีรถไฟตะวันออก (Keleti pályaudvar) สถานีรถไฟระหว่างประเทศหลักประจำกรุงบูดาเปสต์ ในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2015

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2015 นายวิกโตร์ โอร์บานได้ปกป้องการจัดการของประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้อพยพภายใน แม้ว่าจะมีความวุ่นวายเนื่องจากการประท้วงของผู้อพยพโดยการอดอาหาร (hunger strike) หน้าสถานีรถไฟหลักระหว่างประเทศของบูดาเปสต์ (สถานีรถไฟตะวันออก: Keleti pályaudvar) พร้อมกับวิจารณ์การจัดการของประเทศเยอรมนีและสหภาพยุโรปโดยรวมที่ไม่ห้ามผู้อพยพเข้าสู่ยุโรป ในวันเดียวกันนั้นตำรวจฮังการีอนุญาตให้ผู้อพยพขึ้นรถไฟในบูดาเปสต์มุ่งหน้าไปทางตะวันตกก่อนจะหยุดที่เมืองบิชแก (Bicske) โดยตำรวจพยายามขนส่งผู้อพยพไปยังค่ายทะเบียนที่เมืองบิชแก เพื่อลงข้อมูลของผู้อพยพก่อนที่จะเดินทางต่อด้วยรถไฟอีกขบวนหนึ่งไปยังกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย แต่ผู้อพยพปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือและประท้วงขัดขืนโดยการอยู่ในรถไฟซึ่งไม่ได้เดินทางไปยังกรุงเวียนนาต่อไป

และเมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 2015 ผู้อพยพประมาณหนึ่งพันคนที่สถานีรถไฟตะวันออก (Keleti Pályaudvar) ออกเดินทางโดยการเดินเท้าไปยังออสเตรียและเยอรมนี ในคืนวันเดียวกันรัฐบาลฮังการีตัดสินใจส่งรถประจำทางเพื่อขนส่งผู้อพยพผิดกฎหมายไปยังเมืองแฮ็จแย็ชฮอโลม (Hegyeshalom) ที่ติดกับชายแดนประเทศออสเตรีย

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2015 มีรายงานว่าตำรวจฮังการีได้ปิดกั้นเส้นทางจากเซอร์เบียและจัดการจุดเข้าออกประจำที่มีเจ้าหน้าที่ทหารและเฮลิคอปเตอร์อย่างเข้มงวด พวกเขาปิดผนึกพรมแดนด้วยลวดมีดโกนและกักขังผู้อพยพข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย ด้วยการขู่ว่าจะถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาทางอาญา เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2015 ฮังการีได้ปิดผนึกพรมแดนกับเซอร์เบีย ผู้อพยพหลายร้อยคนพังรั้วกั้นระหว่างฮังการีและเซอร์เบียสองครั้งในวันพุธที่ 16 กันยายน 2015 และโยนเศษคอนกรีตและขวดน้ำข้ามรั้ว ตำรวจฮังการีตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตาและปืนใหญ่น้ำที่จุดผ่านแดนโฮร์โกช 2 (Horgoš 2) โดยรัฐบาลเซอร์เบีย ณ กรุงเบลเกรดประท้วงการกระทำเหล่านี้ของประเทศฮังการี ผู้ลี้ภัยชาวอิรักวัย 20 ปีถูกตัดสินให้เนรเทศและถูกห้ามเข้าประเทศฮังการีเป็นเวลา 1 ปีรวมถึงค่าธรรมเนียมศาล 80 ยูโรตามกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้เมื่อไม่กี่วันก่อน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2015 ประเทศฮังการีเริ่มสร้างรั้วอีกแห่งตามแนวชายแดนกับโครเอเชียซึ่งเป็นชาติสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเขตเชงเก้น ภายในสองสัปดาห์ผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคนข้ามจากโครเอเชียไปยังฮังการีซึ่งส่วนใหญ่ไปชายแดนออสเตรีย

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2015 ฮังการีประกาศว่าจะปิดพรมแดนสีเขียวกับโครเอเชียสำหรับผู้อพยพ และตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคมเป็นต้นไป ผู้อพยพหลายพันคนเปลี่ยนจุดหมายไปยังประเทศสโลวีเนียแทน และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2016 ฮังการีได้ประกาศภาวะฉุกเฉินสำหรับทั้งประเทศและส่งทหาร 1,500 นายไปยังพรมแดนทางใต้ ในเดือนสิงหาคม 2016 ภาวะฉุกเฉินได้ขยายไปถึงเดือนมีนาคม 2018 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นับตั้งแต่ ปลายปี ค.ศ. 2015 จวบจนปัจจุบัน ประเทศฮังการีไม่ได้ประสบกับปัญหาที่ตามมาจากวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยยุโรปอีกเลย

ประเทศฮังการีและโรคโควิด-19 (ค.ศ. 2020−ปัจจุบัน)

คนขับรถไฟใส่หน้ากากอนามัยขณะกำลังทำงาน (ถ่ายเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020) การใส่หน้ากากอนามัยบนขนส่งสาธารณะ เช่น รถราง และ รถไฟ เป็นมาตรการที่บังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2020 จนถึงปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021)

ประเทศฮังการีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 (SARS-CoV-2) ในวิกฤตการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 โดยมีเคสแรกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 2020 และวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2020 ได้มีการตรวจพบไวรัสโควิด-19 ในทุก ๆ เทศมณฑลของประเทศฮังการี[19] จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 2 กุมภาพันธุ์ ค.ศ. 2021) มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 360,000 คน และเสียชีวิต 12,656 คน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสภาพเศรษฐกิจของประเทศฮังการีทั้งประเทศ

จำนวนเคสที่ตรวจพบทั้งหมด 369,288
จำนวนผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่ 87,829
จำนวนผู้ที่หายแล้ว 268,803
จำนวนผู้เสียชีวิต 12,656
จำนวนคนที่โดนกักตัวอยู่ 18,030
จำนวนประชากรที่ตรวจเชื้อแล้ว 3,176,944
ล่าสุด : Feb 2, 2022 8:49 CET

อ้างอิง

  1. Inalcik Halil: "The Ottoman Empire"
  2. "Ch7 A Short Demographic History of Hungary" (PDF). Archived from the original (PDF) on 4 February 2011. Retrieved 20 September 2009.
  3. The United States ended the war with the U.S.–Hungarian Peace Treaty (1921)
  4. Craig, G. A. (1966). Europe since 1914. New York: Holt, Rinehart and Winston.
  5. Lichtheim, G. (1974). Europe in the Twentieth Century. New York: Praeger.
  6. "MILITARY ARRANGEMENTS WITH HUNGARY" (PDF). Library of Congress. US Congress. Retrieved 5 May 2020.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-03. สืบค้นเมื่อ 2021-02-03.
  8. Macartney, C. A. (1937). Hungary and her successors: The Treaty of Trianon and Its Consequences 1919–1937. Oxford University Press.
  9. Macartney, C. A. (1937). Hungary and her successors: The Treaty of Trianon and Its Consequences 1919–1937. Oxford University Press.
  10. https://en.wikipedia.org/wiki/Austro-Hungarian_Navy
  11. Martin P. van den Heuvel,Jan Geert Siccama: The Disintegration of Yugoslavia, Yearbook of European Studies, 1992 [1]
  12. "Trianon, Treaty of". The Columbia Encyclopedia. 2009.
  13. League of Nations Treaty Series, vol. 6, p. 188.
  14. Botlik, József (June 2008). "AZ ŐRVIDÉKI (BURGENLANDI) MAGYARSÁG SORSA เก็บถาวร 2020-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". vasiszemle.hu. VASI SZEMLE.
  15. http://adatbank.sk/lexikon/pozsonyi-hidfo/[ลิงก์เสีย]
  16. "วิเตซ" (Vitéz) หมายถึงระดับชั้นอัศวินระดับหนึ่งที่มิกโลช โฮร์ตี ตั้งขึ้น; "วิเตซ" มีความหมายตามตัวอักษรว่า "อัศวิน" หรือ "กล้าหาญ"
  17. John Laughland: A History of Political Trials: From Charles I to Saddam Hussein, Peter Lang Ltd, 2008 [1]
  18. von Papen, Franz, Memoirs, London, 1952, pps:541-23, 546.
  19. "Az egész országban jelen van a koronavírus". index.hu. 2020-03-18. สืบค้นเมื่อ 2020-03-18.
Kembali kehalaman sebelumnya