ประสาทสัมผัสประสาทสัมผัส[1][2] (อังกฤษ: sense) เป็นสมรรถภาพทางสรีรภาพของสิ่งมีชีวิตที่ให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดการรับรู้ (perception) มีการศึกษาเกี่ยวกับการทำงาน การจำแนกประเภท และทฤษฎีของประสาทสัมผัสในวิชาหลายสาขาโดยเฉพาะประสาทวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาปริชาน (หรือประชานศาสตร์) และปรัชญาแห่งการรับรู้ (philosophy of perception) ระบบประสาทของสัตว์มีระบบรับความรู้สึกหรืออวัยวะรับความรู้สึกโดยเฉพาะ ๆ สำหรับความรู้สึกแต่ละอย่าง มนุษย์เองก็มีประสาทสัมผัสหลายอย่าง การเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การได้กลิ่น การถูกต้องสัมผัส เป็นประสาทสัมผัสห้าทางที่รู้จักกันมาตั้งแต่โบราณ แต่ความสามารถเพื่อตรวจจับตัวกระตุ้นประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีอยู่ รวมทั้งอุณหภูมิ อากัปกิริยา (proprioception) ความเจ็บปวด (nociception) การทรงตัว (equilibrioception) แรงสั่น (mechanoreception) ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวกระตุ้นภายในต่าง ๆ (เช่นมีตัวรับรู้สารเคมีที่ตรวจจับความเข้มข้นของเกลือและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ความรู้สึกหิวน้ำ หิวข้าว) แต่เหล่านี้ก็สามารถเรียกว่าเป็นประสาทสัมผัสต่างหาก ๆ ได้เพียงไม่กี่อย่าง เพราะประเด็นว่า อะไรเรียกว่าประสาทสัมผัส (sense) ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ทำให้นิยามความหมายของคำอย่างแม่นยำได้ยาก สัตว์ต่าง ๆ มีตัวรับความรู้สึกต่าง ๆ กันเพื่อรู้โลกรอบ ๆ ตัว มีระดับความสามารถที่ต่าง ๆ กันไปแล้วแต่สปีชีส์ เมื่อเทียบกันแล้ว มนุษย์มีจมูกที่ไม่ดี และสัตว์เหล่าอื่นก็อาจจะไม่มีประสาทสัมผัส 5 ทางที่กล่าวแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง สัตว์บางอย่างอาจจะรับข้อมูลเกี่ยวกับตัวกระตุ้นและแปลผลข้อมูลเหล่านั้นต่างไปจากมนุษย์ และสัตว์บางชนิดก็สามารถสัมผัสโลกโดยวิธีที่มนุษย์ไม่สามารถ เช่นมีสัตว์บางชนิดสามารถรู้สนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็ก สามารถรู้แรงดันน้ำและกระแสน้ำ นิยามคำนิยามแบบกว้าง ๆ ของประสาทสัมผัสซึ่งเป็นที่ยอมรับก็คือ "ระบบที่ประกอบด้วยเซลล์รับความรู้สึกประเภทต่าง ๆ โดยแต่ละอย่างตอบสนองต่อปรากฏการณ์ทางกายภาพเฉพาะอย่าง ๆ และประกอบด้วยเขตในสมองที่รับและแปลสัญญาณของปรากฏการณ์ทางกายภาพนั้น" ไม่มีความเห็นพ้องที่ชัดเจนว่า มีประสาทสัมผัสกี่ทาง เนื่องจากมีนิยามต่าง ๆ กันว่า อะไรเรียกว่าประสาทสัมผัส สัตว์อื่นนอกจากมนุษย์อาจจะมีประสาทสัมผัสอื่น ๆ ที่มนุษย์ไม่มี เช่นการรับรู้สนามไฟฟ้า (electroreception) การรับรู้สนามแม่เหล็ก (magnetoreception) และการรับรู้แสงโพลาไรส์ ในศาสนาพุทธ คำว่า อายตนะที่แปลว่า เครื่องเชื่อมต่อการรับรู้[3] รวมจิตใจว่าเป็น "ประสาท" รับความรู้สึก เพิ่มขึ้นจากประสาทสัมผัสโดยทั่วไป 5 อย่าง ที่เพิ่มขึ้นอย่างนี้ อาจเพื่อเน้นเรื่องสภาวะจิตใจในปรัชญาและข้อปฏิบัติของชาวพุทธ คือ ใจโดยลำพังจัดว่าเป็นทวารคือทางเข้าหลักของปรากฏการณ์ธรรมชาตินานาชนิดที่ต่างกับข้อมูลทางกายภาพที่ได้รับทางประสาทสัมผัส การพิจารณาระบบรับความรู้สึกของมนุษย์อย่างนี้ แสดงความสำคัญของความรู้สึกภายใน และของการรับรู้อื่น ๆ ที่บูรณาการประสบการณ์ทางกาย ประสาทสัมผัสที่รู้จักกันมาตั้งแต่โบราณการเห็นการเห็นเป็นสมรรถภาพของตาในการโฟกัสและจับภาพที่เกิดจากแสงในความถี่ที่เห็นได้ซึ่งตกกระทบที่เซลล์รับแสงในจอตาของตาแต่ละข้าง เป็นผลให้เซลล์ส่งกระแสประสาทไปยังระบบประสาทกลางเกี่ยวกับสีและความสว่าง มีเซลล์รับแสงสองอย่างคือเซลล์รูปแท่งและเซลล์รูปกรวย เซลล์รูปแท่งไวแสงมาก แต่ไม่แยกแยะสี เปรียบเทียบกับเซลล์รูปกรวยที่แยกแยะสี แต่ไวแสงน้อยกว่า นี่จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่า นี่เป็นประสาทสัมผัสหนึ่งทาง สองทาง หรือสามทางกันแน่ โดยนักกายวิภาคทั่วไปพิจารณาว่าเป็นประสาทสัมผัส 2 ทาง เพราะเป็นตัวรับความรู้สึกต่าง ๆ กันที่รับรู้สีและความสว่าง บางพวกกล่าวว่า แม้แต่การเห็นเป็น 3 มิติด้วยตาสองข้าง ก็เป็นประสาทสัมผัสอีกอย่างหนึ่ง แต่โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การรับรู้อย่างนี้จัดเป็นส่วนของประชาน (cognition) คือการรับรู้ที่เกิดขึ้นหลังได้ข้อมูลทางประสาทสัมผัสโดยเกิดขึ้นภายในเปลือกสมองส่วนการเห็น ซึ่งเป็นเขตที่ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุและรูปแบบต่าง ๆ จะแปลผลและระบุว่าเป็นอะไรโดยเทียบกับประสบการณ์อันเคยมีมาก่อน อาการตาบอดอาจเกิดเพราะความเสียหายต่อลูกตาโดยเฉพาะต่อจอตา เพราะความเสียหายที่เส้นประสาทตาซึ่งเชื่อมตากับสมอง หรือเพราะโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้เนื้อสมองซึ่งจำเป็นในการเห็นตายเหตุขาดเลือด อนึ่ง ความบอดทั้งแบบชั่วคราวและถาวรก็สามารถเกิดขึ้นได้เพราะสารพิษหรือยา สำหรับบุคคลที่ตาบอดเพราะเปลือกสมองส่วนการเห็นเสื่อมหรือเสียหาย แต่ตายังใช้ได้อยู่ ก็ยังอาจเห็นในบางระดับและมีปฏิกิริยาต่อตัวกระตุ้นทางตาที่ไม่เห็น เป็นภาวะที่เรียกว่าภาวะเห็นทั้งบอด (blindsight) บุคคลเช่นนี้จะไม่สำนึกว่าตนเองทำปฏิกิริยาต่อข้อมูลที่มาจากตา โดยพฤติกรรมจะเปลี่ยนไปตามตัวกระตุ้นทางตาที่ไม่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ ในปี 2013 นักวิจัยได้พัฒนาอุปกรณ์ใช้ฝังในประสาทซึ่งให้การรับรู้แสงอินฟราเรดแก่หนู เป็นการให้ประสาทสัมผัสใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่ทดแทนหรือเพิ่มสมรรถภาพของประสาทสัมผัสที่มีอยู่แล้ว[5] การได้ยินการได้ยินก็คือการรับรู้เสียง เป็นการรับรู้ความสั่นสะเทือนล้วน ๆ คือ ตัวรับแรงกล (mechanoreceptor) ที่อยู่ในหูชั้นในจะแปลงความสั่นสะเทือนในสื่อ (เช่นอากาศ) ให้เป็นกระแสประสาทที่เป็นไฟฟ้า เนื่องจากเสียงเป็นความสั่นสะเทือนที่เดินทางไปในสื่อเช่นอากาศ การตรวจจับความสั่นสะเทือน (การได้ยิน) จึงเป็นประสาทสัมผัสเชิงกลเพราะมีสื่อนำความสั่นสะเทือนไปโดยแรงกลจากแก้วหูผ่านกระดูกหูเล็ก ๆ ตามลำดับไปสู่ปลายประสาทที่ปรากฏเหมือนขน (คือเซลล์ขน) ในหูชั้นใน ซึ่งสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวเชิงกลในระดับความถี่ 20-20,000 เฮิรตซ์[6] โดยแตกต่างกันพอสมควรระหว่างบุคคล การได้ยินเสียงความถี่สูงจะเสื่อมลงเมื่ออายุมากขึ้น หูหนวกเป็นการไม่ได้ยินหรือมีความบกพร่องในการได้ยิน เสียงสามารถตรวจจับโดยเป็นความสั่นสะเทือนผ่านร่างกายได้เช่นกันคือผ่านระบบรับความรู้สึกทางกาย เสียงความถี่ต่ำที่สามารถได้ยินอาจตรวจจับได้โดยวิธีนี้ คนหูหนวกบางพวกสามารถกำหนดทิศทางและตำแหน่งของแรงสั่นสะเทือนผ่านเท้าของตน[7] การลิ้มรสการลิ้มรสก็เป็นการรับรู้ที่รู้จักกันดีอย่างหนึ่งในประสาทสัมผัส 5 อย่าง หมายถึงสมรรถภาพในการตรวจจับรสของสิ่งต่าง ๆ เช่นอาหาร เกลือแร่ และสารพิษเป็นต้น แต่พึงสังเกตว่า "ความอร่อย" ของอาหารนั้นมักจะหมายถึงความรู้สึกที่ได้จากประสาทสัมผัสหลายอย่างรวม ๆ กันรวมทั้งรสชาติ กลิ่น สัมผัส และอุณหภูมิ มนุษย์รับรสชาติจากอวัยวะรับความรู้สึกที่เรียกว่า ตุ่มรับรส (taste bud) หรือ gustatory calyculi ซึ่งมีอยู่ที่ผิวด้านบนของลิ้นเป็นต้น มีรสหลัก ๆ 5 รสคือ หวาน ขม เปรี้ยว เค็ม และอูมามิ (รสกลมกล่อม) รสอย่างอื่น ๆ เช่นรสแคลเซียม[8][9] และรสกรดไขมันอิสระ (free fatty acids)[10] ก็อาจรับรู้ได้แต่ยังไม่ได้การยอมรับโดยทั่วไป การได้กลิ่นการได้กลิ่นเป็นประสาทสัมผัสเชิงเคมีอย่างหนึ่ง และไม่เหมือนการลิ้มรส มีเซลล์รับกลิ่นเป็นร้อยชนิด (388 ชนิดโดยแหล่งข้อมูลหนึ่ง[11]) แต่ละตัวทำปฏิกิริยาต่อโมเลกุลที่มีลักษณะโดยเฉพาะ ๆ โมเลกุลมีกลิ่นมีลักษณะต่าง ๆ มากมายและกระตุ้นเซลล์รับกลิ่นเฉพาะอย่างในระดับต่าง ๆ การตอบสนองของเซลล์รับกลิ่นหลาย ๆ ตัวที่มารวมกัน นำไปสู่การรับรู้ว่าเป็นกลิ่นใดกลิ่นหนึ่ง เปลือกสมองส่วนการรู้กลิ่นเป็นตัวแปลผลของข้อมูลกลิ่นในระบบรับกลิ่น เซลล์รับกลิ่นในจมูกมนุษย์ต่างกับเซลล์ประสาทในที่อื่น ๆ เพราะมีอายุจำกัดและต้องสร้างทดแทนใหม่เสมอ ๆ ความไม่สามารถรู้กลิ่นเรียกว่า ภาวะเสียการรู้กลิ่น (anosmia) มีเซลล์ประสาทในจมูกบางส่วนที่ทำหน้าที่รับรู้ฟีโรโมนโดยเฉพาะ[12] สัมผัสการถูกต้องสัมผัสเป็นความรู้สึกที่เริ่มจากเซลล์รับความรู้สึก ซึ่งทั่ว ๆ ไปมีอยู่ในผิวหนังรวมทั้งปุ่มขน (hair follicle) แต่ก็มีอยู่ที่ลิ้น คอ และเยื่อเมือกด้วย มีตัวรับแรงกลที่ตอบสนองต่อแรงกดแบบต่าง ๆ (แบบหนัก แบบผ่าน ๆ แบบคงที่ เป็นต้น) ความรู้สึกคันที่เกิดจากแมลงกัดหรือภูมิแพ้เกี่ยวข้องกับเซลล์ประสาทซึ่งทำหน้าที่โดยเฉพาะและอยู่ที่ผิวหนังและในไขสันหลัง[13] การเสียหรือความเสื่อมความรู้สึกสัมผัสเรียกว่า อาการไม่รู้สึกสัมผัส (tactile anesthesia) ส่วนอาการความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน (paresthesia) เป็นความรู้สึกจักจี้ เหน็บชา ร้อนคัน หรือเหมือนถูกเข็มจิ้ม เป็นผลของความเสียหายทางประสาท โดยอาจเป็นแบบถาวรหรือชั่วคราว ประสาทสัมผัสอื่น ๆการทรงตัวและความเร่งการกำหนดรู้การทรงตัว (balance) หรือ vestibular sense หรือ equilibrioception ยังสิ่งมีชีวิตให้รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของกาย ทิศทางการเคลื่อนไหว และความเร่ง เพื่อให้รักษาดุลของท่าทางในร่างกายได้ อวัยวะที่รับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวของกายเป็นต้นเหล่านี้ก็คือ ปลายประสาทของระบบการทรงตัว (vestibular system) ที่อยู่ในหูชั้นในแต่ละข้าง อวัยวะเหล่านี้มีหน้าที่รับรู้ความรู้สึกสองอย่างคือ ความเร่งของโมเมนตัมเชิงมุม และความเร่งเชิงเส้น (ซึ่งเป็นอันเดียวกับความรู้สึกเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วง) โดยเรียกรวม ๆ กันว่าการกำหนดรู้การทรงตัว (equilibrioception) เส้นประสาท vestibular nerve สื่อข้อมูลจากเซลล์ขนใน osseous ampullae (กระเปาะกระดูกหู) 3 ส่วนที่รับรู้ความเคลื่อนไหวของน้ำในหลอดกึ่งวงกลม 3 หลอด เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดจากการหมุนหัว (คือความเร่งของโมเมนตัมเชิงมุม) นอกจากนั้นแล้ว เส้นประสาท vestibular nerve ก็ยังสื่อข้อมูลจากอวัยวะอื่นในหูชั้นในคือ utricle และ saccule ซึ่งมีเซลล์ขนโดยมีขนที่งอได้เพราะน้ำหนักของ otolith ซึ่งเป็นผลึกเล็ก ๆ ของแคลเซียมคาร์บอเนต และให้ความเฉื่อยเพื่อตรวจจับความเร่งเชิงเส้น (แบบตรง ๆ) และทิศทางของแรงโน้มถ่วง อุณหภูมิการรับรู้ร้อนเย็น (thermoception) เป็นการรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิหรือการแลกเปลี่ยนความร้อนที่อวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งช่องต่าง ๆ ในร่างกาย มีตัวรับอุณหภูมิเฉพาะอย่างสำหรับรับความเย็นและความร้อน ตัวรับความเย็นมีบทบาทสำคัญในการรับรู้กลิ่นเพราะบอกทิศทางของลม (และของกลิ่น) ตัวรับความร้อนไวต่อรังสีอินฟราเรดและอาจจะมีอยู่ในอวัยวะพิเศษเช่นในสัตว์วงศ์ย่อยงูหางกระดิ่ง ตัวรับอุณหภูมิ (thermoceptor) ที่ผิวหนังต่างกับตัวรับอุณหภูมิในสมองเขตไฮโปทาลามัสที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับภาวะธำรงดุล (homeostasis) คือให้ข้อมูลแก่สมองเกี่ยวกับอุณหภูมิภายในร่างกาย ประสาทสัมผัสเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวการรับรู้อากัปกิริยา (proprioception) หรือประสาทสัมผัสเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (kinesthetic sense) ให้ข้อมูลแก่สมองกลีบข้างเกี่ยวกับตำแหน่งเชิงเปรียบเทียบของส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ประสาทแพทย์ตรวจสอบประสาทสัมผัสนี้โดยให้คนไข้ปิดตาแล้วแตะจมูกของตนด้วยปลายนิ้ว ถ้าการรับรู้อากัปกิริยาเป็นปกติ คนไข้จะไม่เสียความสำนึกว่ามืออยู่ที่ตำแหน่งไหนจริง ๆ แม้จะไม่ได้รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสอื่น ๆ การรับรู้อากัปกิริยาและการรับรู้สัมผัสเกี่ยวข้องกันอย่างละเอียดสุขุม และความเสื่อมในประสาทสัมผัสเหล่านั้นมีผลให้การรับรู้และพฤติกรรมบกพร่องอย่างลึกซึ้งและน่าประหลาดใจ[14] ความเจ็บปวดโนซิเซ็ปชั่น (nociception) เป็นการส่งสัญญาณแสดงความเสียหายที่เกิดกับเส้นประสาทหรือเนื้อเยื่อ มีโนซิเซ็ปเตอร์ (nociceptor) คือปลายประสาทรับรู้ 3 ประเภทคือที่ผิวหนัง ที่กายส่วนอื่น ๆ (เช่นที่ข้อต่อและกระดูก) และที่อวัยวะภายใน (visceral) ก่อนหน้านี้เชื่อว่า ความเจ็บปวดมาจากตัวรับแรงกล แต่งานวิจัยในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 แสดงว่า ความเจ็บปวดเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างหากที่เป็นไปร่วมกับความรู้สึกประเภทอื่น ๆ เช่นการสัมผัส ในครั้งหนึ่ง ความเจ็บปวดจัดว่าเป็นประสบการณ์ที่เป็นอัตวิสัยอย่างสิ้นเชิง (คนอื่นไม่สามารถรู้ได้) แต่งานวิจัยภายหลังกลับแสดงว่า ความเจ็บปวดปรากฏให้ตรวจดูได้ที่รอยนูนสมอง anterior cingulate gyrus[15] ความเจ็บปวดมีหน้าที่หลักให้เราสนใจที่ภัยอันตราย และกระตุ้นให้หลีกเลี่ยงอันตรายเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น มนุษย์หลีกเลี่ยงการถูกของแหลมทิ่มหรือวัตถุที่ร้อน หรือยืดแขนเกินระยะที่ปลอดภัย เพราะประสบการณ์เหล่านั้นอาจเป็นอันตราย ดังนั้น จึงทำให้เจ็บ ถ้าไม่รู้สึกเจ็บ เราอาจทำสิ่งที่เป็นภัยได้หลายอย่างโดยไร้สำนึก เวลาการรับรู้เวลา (time perception) หมายถึงกระบวนการรับรู้และประสบการณ์ของการรับรู้เวลาที่ผ่านไป แม้ความรู้สึกเกี่ยวกับเวลา (sense of time) จะไม่เป็นส่วนของระบบรับความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่งานวิจัยของนักจิตวิทยาและนักประสาทวิทยาศาสตร์ก็ได้แสดงว่า สมองมนุษย์มีกลไกการรับรู้เวลา[16][17] ซึ่งประกอบด้วยระบบต่าง ๆ ที่กระจายไปในสมองรวมทั้งในเปลือกสมอง (cerebral cortex) ซีรีเบลลัม และ basal ganglia องค์ประกอบอย่างหนึ่งก็คือนิวเคลียส suprachiasmatic nucleus ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับจังหวะรอบวัน (circadian rhythm[A]) ประสาทสัมผัสภายในอื่น ๆการรับรู้ภายในร่างกายเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า interoception[18] โดยหมายถึง "ประสาทสัมผัสที่ปกติได้ตัวกระตุ้นภายในร่างกาย".[19] เป็นความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับตัวรับความรู้สึกมากมายหลายประเภทในอวัยวะภายใน มีอาการบางอย่าง เช่น alexithymia[B] ที่เชื่อว่า การรับรู้เช่นนี้ผิดปกติ ตัวอย่างโดยเฉพาะ ๆ ของตัวรับความรู้สึกเช่นนี้ก็คือ
ในสัตว์อื่นที่คล้ายกับของมนุษย์สิ่งมีชีวิตอื่นมีตัวรับความรู้สึกสำหรับโลกรอบตัว รวมทั้งประสาทสัมผัสที่กล่าวมาแล้วในมนุษย์ แต่กลไกและสมรรถภาพของประสาทสัมผัสเหล่านั้นอาจต่างกันมาก การได้กลิ่นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยมากรู้กลิ่นได้ดีกว่ามนุษย์ แม้ประสาทสัมผัสจะมีกลไกคล้าย ๆ กัน ปลาฉลามใช้การได้กลิ่นและการรับรู้เวลาที่เฉียบคมเพื่อกำหนดทิศทางของกลิ่น คือ จะว่ายไปทางรูจมูกที่ตรวจจับกลิ่นได้ก่อน[24] ส่วนแมลงมีตัวรับกลิ่น (olfactory receptor) ที่หนวด (antenna) Vomeronasal organสัตว์หลายชนิดรวมทั้งซาลาแมนเดอร์ สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางประเภทมีอวัยวะที่เรียกว่า vomeronasal organ[25] ซึ่งอยู่ต่อกับช่องปาก ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อวัยวะนี้โดยหลักใช้ตรวจจับฟีโรโมนที่อยู่ในอาณาเขตหรือเส้นทาง หรือตรวจดูภาวะทางเพศ เป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่เรียกว่า flehman response ซึ่งปรากฏโดยการม้วนหรือยกริมฝีปากด้านบนขึ้น ซึ่งส่งฟีโรโมนไปที่ vomeronasal organ ในมนุษย์ อวัยวะนี้เป็นอวัยวะเหลือค้าง (vestigial - คือเหลือให้เห็น) แต่นิวรอนที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะนี้ไม่ปรากฏว่าให้ความรู้สึกอะไร ๆ แก่สมอง[26] ส่วนสัตว์เลื้อยคลานเช่นงูและสัตว์วงศ์เหี้ยใช้อวัยวะนี้เพื่อดมกลิ่นโดยส่งโมเลกุลมีกลิ่นไปที่อวัยวะด้วยปลายลิ้นแฉก เป็นอวัยวะที่เรียกว่า Jacobsons organ ในสัตว์เลื้อยคลาน การลิ้มรสแมลงวันและผีเสื้อมีอวัยวะรู้รสที่เท้า ทำให้สามารถรู้รสของวัตถุสิ่งของที่มันไปจับ ส่วนปลาตระกูลปลาหนังมีอวัยวะรู้รสทั้งร่างกาย และสามารถรู้รสของทุกอย่างที่มันสัมผัส รวมทั้งสารเคมีต่าง ๆ ในน้ำ[27] การเห็นแมวสามารถเห็นในที่แสงสลัว เพราะนอกจากมีกล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ ม่านตาเพื่อหดและขยายรูม่านตา ยังมีเยื่อ tapetum lucidum หลังจอตาซึ่งสะท้อนแสงโดยเพิ่มระดับแสงให้กับเซลล์รับแสง (photoreceptor) อีกด้วย ส่วนงูในวงศ์ย่อยงูหางกระดิ่ง วงศ์งูเหลือม และวงศ์งูโบอา มีอวัยวะตรวจจับแสงอินฟราเรด คืองูเหล่านั้นสามารถรับรู้ความร้อนในร่างกายของเหยื่อ ทำให้เข้าไปหาเหยื่อในที่สลัวได้ ส่วนค้างคาวแวมไพร์ธรรมดาอาจมีอวัยวะตรวจจับแสงอินฟราเรดที่จมูก ซึ่งทำให้รู้ว่าส่วนไหนของร่างกายเหยื่อมีเลือดวิ่งผ่านมาก[28] อนึ่ง นกและสัตว์อื่น ๆ เป็น tetrachromat คือเป็นสัตว์ที่มีเซลล์รูปกรวย 4 ประเภท (เทียบกับ 3 ในมนุษย์) ซึ่งทำให้สามารถเห็นแสงอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่นสั้นจนถึง 300 นาโนเมตร ส่วนผึ้งและแมลงปอ[29] ก็สามารถเห็นแสงในระดับอัลตราไวโอเลตเช่นเดียวกัน ส่วนกั้งสามารถรับรู้แสงโพลาไรส์ สามารถเห็นภาพในแสงหลายสเปกตรัม และเป็น dodecachromat คือสัตว์ที่มีเซลล์รูปกรวย 12 ประเภท[30] การทรงตัวสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายประเภทมี statocyst ซึ่งเป็นตัวรับความรู้สึกเกี่ยวกับความเร่งและการกำหนดทิศทางการวางตัว เป็นอวัยวะที่ทำงานต่างกับหลอดกึ่งวงกลมในหูของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างมาก ความรู้สึกเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงพืชบางชนิดเช่นพืชวงศ์ผักกาดมียีนจำเป็นเพื่อรู้ทิศทางของแรงโน้มถ่วง ถ้ายีนเหล่านี้ไม่ทำงานเพราะการกลายพันธุ์ พืชนั้นจะไม่สามารถเติบโตขึ้นในแนวตั้ง[31] ที่ไม่คล้ายกับของมนุษย์นอกจากนั้นแล้ว สัตว์บางชนิดมีประสาทสัมผัสที่มนุษย์ไม่มี รวมทั้งประสาทสัมผัสในส่วนย่อยบทความดังต่อไปนี้ การกำหนดตำแหน่งวัตถุโดยเสียงสะท้อนสัตว์บางชนิดรวมทั้งค้างคาวและสัตว์อันดับวาฬและโลมา สามารถกำหนดทิศทางของวัตถุอื่น ๆ โดยแปลข้อมูลที่ได้รับจากเสียงสะท้อน (เหมือนโซนาร์) เพื่อหาทางในสิ่งแวดล้อมที่มีแสงสลัว หรือเพื่อระบุและติดตามเหยื่อ ในปัจจุบันนี้ยังไม่ชัดเจนว่า นี่เป็นเพียงแค่ระบบประมวลผลหลังการได้ยินเสียงที่พัฒนาเป็นอย่างดี หรือเป็นประสาทสัมผัสอีกทางหนึ่ง การตอบคำถามนี้จะต้องสร้างภาพในสมองของสัตว์ในขณะที่สัตว์กำลังกำหนดตำแหน่งวัตถุโดยเสียงสะท้อน นี่เป็นเรื่องยาก คนตาบอดบางพวกรายงานว่าสามารถหาเส้นทาง และในบางกรณี สามารถแม้ระบุวัตถุ โดยแปลข้อมูลเสียงสะท้อน (โดยเฉพาะเสียงเท้าของตน) เป็นความสามารถที่เรียกว่า human echolocation (การกำหนดตำแหน่งวัตถุโดยเสียงสะท้อนในมนุษย์) การรับรู้สนามไฟฟ้าการรับรู้สนามไฟฟ้า (electroception) เป็นสมรรถภาพในการตรวจจับสนามไฟฟ้า ปลา ปลาฉลาม และปลากระเบนหลายสปีชีส์สามารถรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้าในที่ใกล้ ๆ สำหรับปลากระดูกอ่อน (เช่นฉลามและกระเบน) การตรวจจับเกิดที่อวัยวะเฉพาะเรียกว่า Ampullae of Lorenzini[D] ปลาบางชนิดรู้สึกสนามไฟฟ้าใกล้ ๆ ที่มีอยู่โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม แต่บางพวกต้องสร้างสนามไฟฟ้าอย่างอ่อน ๆ ของตนเองแล้วรู้สึกรูปแบบความต่างศักย์บนผิวกายของตน และบางพวกก็ใช้ความสามารถในการสร้างและการตรวจจับสนามไฟฟ้าเพื่อสื่อสารกับกันและกัน ปลาที่สามารถรับรู้สนามไฟฟ้าจะสร้างแบบจำลองของปริภูมิรอบ ๆ ตัวในสมองจากความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของความต่างศักย์โดยเปรียบเทียบยอดสัญญาณไฟฟ้าที่ได้รับในเวลาต่าง ๆ กันที่ส่วนต่าง ๆ ของกาย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สามารถตรวจจับสนามไฟฟ้าคือปลาโลมามหาสมุทร (dolphin) และสัตว์อันดับโมโนทรีมเช่นตุ่นปากเป็ด ในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ตุ่นปากเป็ด[32] มีประสาทสัมผัสรับรู้สนามไฟฟ้าที่ไวสุด โลมามหาสมุทรสามารถตรวจจับสนามไฟฟ้าในน้ำโดยใช้ตัวตรวจจับสนามไฟฟ้าในหนวด (vibrissa) ที่มีเป็นคู่ ๆ บนจะงอยปากซึ่งวิวัฒนาการมาจากหนวดที่ตรวจจับความเคลื่อนไหว[33] ตัวรับสนามไฟฟ้าเหล่านี้ สามารถตรวจจับสนามไฟฟ้าแม้อ่อนจนถึงระดับ 4.6 ไมโครโวลต์/ซม. เช่นกับสนามไฟฟ้าที่เกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อซึ่งกำลงหดตัวและเหงือกที่กำลังปั๊มน้ำของสัตว์ที่อาจเป็นเหยื่อ ประสาทสัมผัสนี้ทำให้โลมามหาสมุทรสามารถกำหนดตำแหน่งของเหยื่อได้ที่ก้นทะเล ในที่ฝุ่นตะกอนจะจำกัดการเห็นและการกำหนดตำแหน่งวัตถุโดยเสียงสะท้อน กลุ่มบุคคลที่ชอบประดับร่างได้ทดลองใช้อุปกรณ์แม่เหล็กฝังเพื่อเลียนแบบประสาทสัมผัสแบบนี้[34] แต่โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์ (และเชื่อว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นด้วย) สามารถตรวจจับสนามไฟฟ้าได้โดยอ้อมโดยกำหนดผลที่ขน ตัวอย่างเช่น ลูกโป่งที่มีชารจ์ไฟฟ้าจะสร้างแรงกดที่ขนแขนของมนุษย์ ซึ่งสามารถรู้สึกได้ทางกายสัมผัส และสามารถระบุได้ว่ามีเหตุมาจากไฟฟ้าสถิต ไม่ได้มาจากลมหรือเหตุอื่น ๆ แต่นี่ก็ไม่ใช่การรับรู้สนามแม่เหล็ก แต่เป็นกระบวนการรับรู้ต่อจากการรับความรู้สึก การรับรู้สนามแม่เหล็กการรับรู้สนามแม่เหล็กเป็นความสามารถในการตรวจจับทิศทางอาศัยสนามแม่เหล็กโลก ความสำนึกรู้ในทิศทางอย่างนี้พบบ่อยที่สุดในนก[35][36][37] และก็ปรากฏในแมลงเช่นผึ้งด้วย แม้จะตกลงกันดีว่า ประสาทสัมผัสอย่างนี้มีอยู่ในนกเพราะสำคัญในการหาทิศทางของนกย้ายถิ่น แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ยังไม่เข้าใจดี[38] งานวิจัยหนึ่งพบว่า ปศุสัตว์ก็รับรู้สนามแม่เหล็กด้วย เพราะมักจะจัดแนวกายของตนให้เป็นไปในแนวเหนือใต้[39] แบคทีเรียประเภท Magnetotactic สร้างแม่เหล็กเล็ก ๆ ในตนซึ่งทำให้แบคทีเรียแม้ที่ตายแล้วจัดอยู่ในแนวเหนือใต้ของสนามแม่เหล็กโลก[40][41] โดยเชื่อว่า ช่วยให้แบคทีเรียเข้าไปถึงบริเวณที่มีความเข้มข้นออกซิเจนซึ่งดีสุด[42] คำถามว่า การรับรู้สนามแม่เหล็กอาจจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างไรเป็นประเด็นในงานวิจัยประเด็นหนึ่ง[43] ประสาทสัมผัสอื่น ๆ
ประสาทสัมผัสในพืชพืชบางชนิดมีอวัยวะรับความรู้สึก เช่นในพืชกาบหอยแครง ที่ตอบสนองต่อความสั่นสะเทือน แสงสว่าง ของเหลว กลิ่น หรือสารเคมีบางประเภท เพื่อให้ดักจับกินสัตว์ได้ พืชบางชนิดสามารถรับรู้ตำแหน่งของพืชอื่น ๆ แล้วโจมตีและกินส่วนของพืชนั้น แต่พืชก็ไม่มีตัวรับความเจ็บปวดที่ส่งข้อมูลผ่านเซลล์ประสาท และไม่มีการรับรู้แบบถ่ายโอนสัญญาณสนามไฟฟ้าไปเป็นกระแสประสาท (คือตัวรับรู้สนามไฟฟ้า) ซึ่งยืนยันแล้วในการทดลองหลายอย่าง[44] ความคิดที่สืบทอดกันมาในยุคของนายวิลเลียม เชกสเปียร์ (กวีเอกชาวอังกฤษ ค.ศ. 1564-1616) เชื่อกันโดยทั่วไปว่ามีประสาทสัมผัส 5 ทาง[45] ความคิดเกี่ยวประสาทสัมผัส 5 ทางที่สืบต่อกันมาเช่นนี้ ก็ยังเป็นสิ่งที่ยอมรับโดยทั่วไปในทุกวันนี้ ประสาทสัมผัส 5 อย่างนี้เรียกว่า อินทรีย์ 5 ในพระพุทธศาสนา ปรากฏในคัมภีร์อุปนิษัทของพวกพราหมณ์ (ยุคก่อนและหลังพุทธกาล) โดยแสดงรถม้าลากด้วยม้า 5 ตัว เป็นอุปมาของกาย และคนขับเป็นอุปมาของใจ การแสดงประสาทสัมผัสที่สืบกันมาโดยอุปมา เป็นตีมที่นิยมสำหรับจิตรกรชาวยุโรปในคริสต์วรรษที่ 17 โดยเฉพาะของชาวเนเธอร์แลนด์ (จิตรกรรมยุคทองของเนเธอร์แลนด์) และชาวฟลามส์ (จิตรกรรมยุคบาโรกของเฟล็มมิช) ตัวอย่างก็คือจิตรกรรมปี 1668 คือ "อุปมานิทัศน์ของประสาทสัมผัสทั้ง 5 (Allegory of the Five Senses)" Gérard de Lairesse ในรูป บุคคลแต่ละคนเป็นตัวแทนของประสาทสัมผัสแต่ละทาง การเห็นก็คือเด็กชายที่นอนอยู่กับกระจกนูน การได้ยินก็คือเด็กคล้ายคิวปิดถือเครื่องดนตรีประเภทเคาะเป็นสามเหลี่ยม การได้กลิ่นเป็นเด็กหญิงถือดอกไม้ การลิ้มรสเป็นหญิงถือผลไม้ และการสัมผัสเป็นหญิงกับนก มีคัมภีร์ไวยากรณ์ภาษาของคนทมิฬชื่อว่า Tolkappiyam ที่เชื่อว่า เป็นวรรณกรรมชิ้นแรกของโลกที่แสดงประสาทสัมผัส 6 ทางโดยสืบต่อกับอวัยวะภายนอก คือ มีบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "สัตว์ที่มีประสาทสัมผัสเดียวเป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสเกี่ยวกับสัมผัส สำหรับสัตว์ที่มีประสาทสัมผัส 2 ทาง เป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสเกี่ยวกับรสเพิ่มขึ้นอีก สำหรับสัตว์ที่มีประสาทสัมผัส 3 ทาง มีประสาทสัมผัสเกี่ยวกับกลิ่นเพิ่มขึ้นอีก สำหรับสัตว์ที่มีประสาทสัมผัส 4 ทาง มีประสาทสัมผัสเกี่ยวกับการเห็นเพิ่มขึ้นอีก สำหรับสัตว์ที่มีประสาทสัมผัส 5 ทาง มีประสาทสัมผัสเกี่ยวกับการได้ยินเพิ่มขึ้นอีก สำหรับสัตว์ที่มีประสาทสัมผัส 6 ทาง มีประสาทสัมผัสเกี่ยวกับใจเพิ่มขึ้นอีก"[46][47] ดูเพิ่ม
เชิงอรรถ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ประสาทสัมผัส
|