รัฐเชียงตุง
เขตรัฐตุงคบุรี หรือ เขมรัฐโชติตุงบุรี โดยย่อว่า เขมรัฐ[1][2][3][4] (พม่า: ခေမာရဋ္ဌ เขมารฏฺฐ; บาลี: เขมรฏฺ) หรือ รัฐเชียงตุง (พม่า: ကျိုင်းတုံ; ไทใหญ่: ၵဵင်းတုင်; ไทยถิ่นเหนือ: ᨩ᩠ᨿᨦᨲᩩᨦ) บ้างเรียก เมืองเขิน (ไทเขิน: ᨾᩮᩨ᩠ᨦᨡᩨ᩠ᨶ) และจารึกเมืองเชียงตุงเรียก เมืองไทย[5] เป็นรัฐเจ้าฟ้าแห่งหนึ่งในกลุ่มสหพันธรัฐชาน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า[1] มีราชธานีคือเชียงตุง ซึ่งเป็นเขตเมืองใหญ่เพียงแห่งเดียวเพราะเป็นแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ ทั้งประเทศเป็นเขตภูเขาสูงสลับซับซ้อนของเทือกเขาแดนลาวมีที่ราบขนาดแคบ[6] ถือเป็นรัฐที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่รัฐชานอื่น ๆ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของรัฐชาน ตั้งแต่แม่น้ำสาละวินจรดแม่น้ำโขง[7] และถูกแยกจากรัฐชานตอนเหนือด้วยแม่น้ำข่า รัฐเชียงตุงมีลักษณะเป็นรัฐชายขอบ โอนอ่อนไปตามอิทธิพลของรัฐรอบข้างคือ พม่า จีน และล้านนา เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งมีอำนาจมากกว่า เจ้าผู้ครองเชียงตุงก็จะเข้าสวามิภักดิ์กับฝ่ายนั้น กระนั้นเชียงตุงยังคงรักษาความสัมพันธ์กับเชียงใหม่ในฐานะบ้านพี่เมืองน้องมาตลอด[8] แต่ในช่วงหลังเชียงตุงสวามิภักดิ์กับพม่า เพราะพม่าไม่มีนโยบายกวาดต้อนผู้คน[9] ต่างจากฝ่ายสยามที่มุ่งทำลายเมืองเชียงตุง เพราะไม่ต้องการให้ฝ่ายพม่าใช้เชียงตุงเป็นที่มั่นสำหรับโจมตีเมืองเชียงราย[10] หลังการสละราชอำนาจของเจ้าจายหลวง มังราย เมื่อ พ.ศ. 2502 รัฐเชียงตุงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชานโดยสมบูรณ์ แม้จะพยายามต่อสู้เพื่อเอกราชหลายครั้ง แต่ก็ตกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่าไปโดยปริยาย และหลังการรัฐประหารของนายพลเนวี่นเมื่อ พ.ศ. 2505 สิทธิพิเศษของเจ้าฟ้าไทใหญ่ต่าง ๆ ถูกยกเลิกลงทั้งหมด ประวัติแรกเริ่มรัฐเชียงตุงเกิดจากการขยายอำนาจขึ้นทางเหนือของพญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา ที่ส่งพระราชนัดดาชื่อเจ้าน้ำท่วมขึ้นปกครองเชียงตุง อันเป็นดินแดนของชาวว้าและไทใหญ่[11][12] ประชากรส่วนใหญ่ในเมืองหลวงเป็นชาวเขิน ต่างจากหัวเมืองอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นไทใหญ่[13] ตามประวัติศาสตร์ พญามังรายสร้างเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1810[14] เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศเหนือของล้านนา[8] โดยมีสัมพันธ์อันดีจนถึงรัชสมัยพญากือนา ส่วนรัชสมัยพญาแสนเมืองมาจนถึงพญาสามฝั่งแกน เชียงตุงสวามิภักดิ์กับจีน จนรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชความสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุงกับล้านนาจึงเฟื่องฟูอีกครั้ง เพราะมีการเผยแผ่ศาสนาพุทธและวรรณกรรมล้านนาไปยังเชียงตุง[15] ร่วมสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงกระทำสงครามกับพระเจ้ามังระช่วง พ.ศ. 2303 รัฐเชียงตุงจึงสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2345 แต่ภายหลังเชียงตุงได้รับความช่วยเหลือจากพม่า จึงกลับเข้าสู่กับปกครองของพม่าตามเดิมและผนวกรัฐเมืองยองไปด้วยกันใน พ.ศ. 2357[16] ยุครัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา สยามมีนโยบายมุ่งแผ่อำนาจไปยังเชียงตุงและเชียงรุ่ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แม้ทั้งสองเมืองนี้จะยอมสวามิภักดิ์ต่อสยามก็ตาม หลังการปักปันเขตแดนกับสหราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. 2428-2438 สยามเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เมื่อเขตแดนแบ่งออกอย่างชัดเจน สยามมีดินแดนสุดที่แม่สาย ส่วนเมืองเชียงตุง เมืองยอง และหัวเมืองไทใหญ่อื่น ๆ ขึ้นในอารักขาของสหราชอาณาจักร[17] ต่อมาสหราชอาณาจักรยุบรัฐเชียงแขงขึ้นกับเชียงตุง[18] 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ตรงกับสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐเชียงตุงถูกกองทัพพายัพจากประเทศไทยรุกรานและเข้ายึดเชียงตุงซึ่งเป็นเมืองหลวง ตามข้อตกลงระหว่างจอมพลแปลก พิบูลสงครามกับจักรวรรดิญี่ปุ่น เดือนธันวาคมปีเดียวกันกองทัพไทยเข้ายึดรัฐเชียงตุงและสี่อำเภอของรัฐเมืองปั่น ที่สุดรัฐบาลไทยผนวกดินแดนนี้อย่างเป็นทางการและประกาศจัดตั้งสหรัฐไทยเดิมและอำเภอเมืองพานเมื่อ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2486[19][20] ภายหลังประเทศไทยถอนตัวออกจากรัฐเชียงตุงและเมืองปั่นเมื่อ พ.ศ. 2488 และยกเลิกการอ้างสิทธิใน พ.ศ. 2489 เพื่อเข้าร่วมกับองค์การสหประชาชาติและยกเลิกการคว่ำบาตรจากการเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ[21] หลังการสละราชอำนาจของเจ้าจายหลวง มังราย เมื่อ พ.ศ. 2502 รัฐเชียงตุงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชานโดยสมบูรณ์ แม้จะพยายามต่อสู้เพื่อเอกราชหลายครั้ง แต่ก็ตกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่าไปโดยปริยาย และหลังการรัฐประหารของนายพลเนวี่นเมื่อ พ.ศ. 2505 สิทธิพิเศษของเจ้าฟ้าไทใหญ่ต่าง ๆ ถูกยกเลิกลงทั้งหมด[22] การปกครองรัฐเชียงตุงปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีเจ้าฟ้าเป็นผู้ปกครอง ใช้พระนามว่า เขมาธิปติราชา[3][23] เช่น รัตนภูมินทะนรินทาเขมาธิปติราชา[24] หรือ พญาศรีสุธรรมกิตติ สิริเมฆนรินทร์ เขมาธิปติราชา[1] ในยุคเริ่มต้น เชียงตุงมีฐานะเป็นประเทศราชของอาณาจักรล้านนา มีเจ้าผู้ครองปกครองตนเองด้วยจารีตท้องถิ่น และได้รับเกียรติเรียกเจ้าผู้ครองเชียงตุงว่า "พระหัวเจ้า" เชียงตุงต้องแสดงความจงรักภักดีต่อราชธานีที่ยิ่งใหญ่กว่าด้วยการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา[25] ล้านนามักส่งลูกหลานกษัตริย์หรือขุนนางที่ใกล้ชิดจากเชียงใหม่ปกครองเชียงตุง แต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา เชียงตุงยอมรับอำนาจของพม่า ส่วนเชียงใหม่ยอมรับอิทธิพลของสยาม ความขัดแย้งระหว่างสยามและพม่าส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่และเชียงตุง จนก่อให้เกิดสงครามเชียงตุงช่วงต้นรัตนโกสินทร์[25] เจ้าผู้ครองรัฐเป็นผู้บริหารและใช้อำนาจเต็ม ปกครองประชากรด้วยความผาสุก กอปรด้วยความอารีอย่างบิดากับบุตร หากมีผู้ใดกระทำผิดก็จะใช้อำนาจเด็ดขาดในการปราบปราม เช่น หากมีผู้ใดโกรธชักดาบออกจากฝักเพียงฝ่ามือเดียวจะถูกปรับไหมเป็นเงินหลายรูปี เป็นต้น[26] ทั้งนี้รัฐเชียงตุงยังมีนครรัฐน้อย ๆ เป็นบริวารในอำนาจตนเองจำนวนหนึ่งเช่น รัฐเมืองเลน รัฐเมืองสาต และรัฐเมืองปุ[16][27]
เศรษฐกิจแม้รัฐเชียงตุงจะเป็นรัฐบนภูเขาสูงสลับซับซ้อน แต่มีราชธานีตั้งอยู่บนแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่ชุมนุมทางการค้าขนาดใหญ่ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้เชียงตุงจึงเป็นรัฐเกษตรกรรมผสมผสานกับการค้า ขณะที่เมืองยองซึ่งอยู่ตะวันออกสุด ที่ราบขนาดขนาดกว้าง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ถือเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของรัฐเชียงตุง[30] เชียงตุงเป็นศูนย์กลางทางการค้าทางเกวียนจากเมืองต้าหลี่ และสิบสองพันนา ก่อนส่งต่อไปยังย่างกุ้งและมะละแหม่ง[3] ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทุกปีจะมีคาราวานขนถ่ายสินค้าจากจีน ผ่านเชียงตุงไปเชียงใหม่ ด้วยล่อจำนวน 8,000 ตัว[11] สินค้าจากเชียงตุงส่วนใหญ่คือใบชา ฝิ่น ส้มจุก และหนังสัตว์[3] ประชากรศาสตร์ชาติพันธุ์รัฐเชียงตุงมีประชากรหลายเชื้อชาติ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ แต่ในราชธานีและพื้นที่ตอนกลางของประเทศมีประชากรหลักเป็นชาวไทเขิน[31] บ้างก็ว่าชาวไทเขินคือชาวไทยวนที่อพยพขึ้นมาจากอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยพญามังราย ตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 13[32] ตามหัวเมืองก็มีประชากรชาติอื่น ๆ เข้าไปอาศัย เช่น ฮ่อ พม่า กะเหรี่ยง กุรข่า ไทลื้อ ม้ง ปะหล่อง และกะชีน[33] นอกนั้นยังมีชาวไทเหนือซึ่งอพยพมาจากยูนนาน และชาวเขาหลายเผ่าอาศัยอยู่ เช่น ไตหลอย มูเซอ ละว้า และอ่าข่า[34] ส่วนอดีตรัฐเมืองยองทางตะวันออกสุด ซึ่งถูกรวมเข้ากับรัฐเชียงตุงนั้น มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อลูกผสมกับชาวไทใหญ่และเขิน[35] ชาวไทเขินที่เป็นประชากรหลักของราชธานีมักสวมเครื่องแต่งกายสีฉูดฉาด ประกอบด้วยผ้าโพกศีรษะ เสื้อปั๊ด ผ้าคาดเอว แต่ละชิ้นมักไม่ซ้ำสีกัน ในอดีตผู้ชายมักสักด้วยอักขระอาคมต่าง ๆ[36] ในยุคที่ตกอยู่ในอารักขาของสหราชอาณาจักร ชาวเขินมักถูกรวมเข้ากับชาวไทใหญ่[35] ภาษาภาษาไทเขิน มีความคล้ายและใกล้เคียงกับภาษายองและไทลื้อมาก ทั้งยังคล้ายกับภาษาไทยวน ต่างเพียงแค่สำเนียง และการลงท้ายคำ[37] ซึ่งชาวเขินแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มเขินก่อ-เขินแด้, กลุ่มเขินอู และกลุ่มเขินหวา[38] ส่วนอักษรไทเขินได้รับอิทธิพลอักษรจากล้านนาจากการเผยแผ่ศาสนา โดยรับอักษรธรรมล้านนาและอักษรฝักขามไปพร้อม ๆ กับศาสนา จึงมีลักษณะคล้ายกับอักษรธรรมล้านนา รวมทั้งยังรับวรรณกรรมล้านนาที่แพร่หลายสู่เชียงตุงด้วย[39] นอกจากนี้ชาวเชียงตุงบางส่วนที่เคยได้รับการเรียนภาษาไทยช่วงที่ไทยเข้าปกครอง สามารถพูดและอ่านภาษาไทยได้ดี[40] ศาสนาเดิมประชากรนับถือศาสนาผี ปัจจุบันนับถือศาสนาพุทธ มีวัดอยู่ทุกหมู่บ้าน มีวัฒนธรรมสูง และไม่ชอบการลักขโมย[26] สืบเนื่องคณะสงฆ์จากอาณาจักรล้านนาเดินทางเข้าไปเผยแผ่ศาสนา ดังจะพบว่ามีการสถาปนาวัดนิกายสวนดอก (นิกายรามัญ หรือยางกวง) และนิกายป่าแดง (หรือนิกายสีหล) สู่เชียงตุงตั้งแต่รัชสมัยพญากือนาและพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเผยแผ่ศาสนาในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองเสียอีก[41] โดยพญากือนาทรงสนับสนุนให้พระสงฆ์จากเชียงแสนและเชียงตุงศึกษาศาสนาพุทธจากวัดสวนดอกในเชียงใหม่ ต่อมาในรัชกาลพญาสามฝั่งแกนมีการรับคัมภีร์ศาสนาจากลังกาเรียกว่านิกายป่าแดงตามชื่อวัดป่าแดง ก่อนแพร่หลายไปทั่วล้านนาและเชียงตุง ซึ่งพระยาสิริธัมมจุฬา เจ้าเมืองเชียงตุงสร้างวัดป่าแดงเป็นอรัญวาสีประจำเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1989[42] สองนิกายนี้เคยเกิดสังฆเภทเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนพระเมืองแก้วทรงไกล่เกลี่ยให้สองนิกายนี้กลับมาปรองดองกัน[43] ในช่วงหลังนิกายป่าแดงได้รับความนิยมมากกว่านิกายยางกวง ในด้านพระธรรมวินัยและการสวดแบบบาลีที่ถูกต้องแบบเดียวกับการสวดของพระสงฆ์ไทย แต่นิกายยางกวงยังปรากฏอิทธิพลอยู่บ้างตามชุมชนห่างไกล ด้านการสวดมนต์ พระสงฆ์ไทใหญ่และพม่าจะสวดบาลีสำเนียงพม่า ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์เขินจึงไม่สังฆกรรมกับพระสงฆ์ไทใหญ่และพม่า แม้ปัจจุบันพระสงฆ์เขินแสดงเจตจำนงรวมเข้ากับนิกายสุธัมมาของพม่า[43] กระนั้นคณะสงฆ์เขินยังคงจารีตและระบบสมณศักดิ์เดิมตามอย่างล้านนา และอิงการศึกษาศาสนาอย่างคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน[44] คณะสงฆ์เขินมี สมเด็จอาชญาธรรม เป็นประมุขสงฆ์แห่งเมืองเชียงตุงและหัวเมืองทางฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เปรียบตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งเชียงตุง แต่หลังคณะสงฆ์เขินรวมเข้ากับนิกายสุธัมมาของพม่าแล้ว ตำแหน่งสมเด็จอาชญาธรรมถูกลดฐานะลงเทียบเจ้าคณะอำเภอเชียงตุงเท่านั้น[45] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|