วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ชื่อเดิม: วีรพล เทพหัสดิน ณ อยุธยา[1]; เกิด 19 ตุลาคม พ.ศ. 2493) ชื่อเล่น น้อย อดีตหัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน[2] อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย[3] อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ[4] และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ[5] ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ[6] นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย กรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ประวัติพลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ชื่อเดิม คือ วีรพล เทพหัสดิน ณ อยุธยา[1] เกิดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2493 เป็นบุตรชายของ พลเอก ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และ คุณหญิงเพลิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา มีน้องสาว 2 คน คือ ณัฐธยาน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ สิริยส เทพหัสดิน ณ อยุธยา พลเอก วิชญ์ เป็นหนึ่งในนายทหารที่ ควบคุมการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553[7] ปฏิบัติหน้าที่ตาม พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เขาเป็นกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พลเอก วิชญ์ ถือเป็นนายทหารที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ[8] ซึ่งพลเอก วิชญ์ ลงพื้นที่ร่วมกับพลเอก ประวิตร อยู่หลายครั้ง[9][10][11] พลเอก วิชญ์ มีชื่อที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการจากสื่อมวลชนว่า "บิ๊กน้อย"[8] พลเอก วิชญ์ เคยตกเป็นข่าวว่าอาจเป็นนายทหารผู้นำการรัฐประหาร โดยผู้ที่เปิดเผย คือ พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นและ นายประชา ประสพดี ส.ส.จังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเจ้าตัวได้ออกมาปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวพร้อมกับตอบโต้กลับไป[12] อย่างไรก็ตามเมื่อ พลตรี ขัตติยะ ถูกลอบสังหารและเสียชีวิตลง พลเอก วิชญ์ ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่นก็ได้ไปร่วมในงานศพด้วย[13] การศึกษาพลเอก วิชญ์ จบการศึกษาจากวชิราวุธวิทยาลัย[14] ก่อนที่จะเข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 11 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 22 หลังจากนั้นจบปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม[15] นอกจากนี้ยังผ่านการอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ประจำปี พ.ศ. 2549[16] การทำงานด้านราชการพลเอก วิชญ์ เคยรับราชการทหารในตำแหน่งต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 ในปี พ.ศ. 2545 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ในปี พ.ศ. 2547 ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 1 และดำรงตำแหน่งราชองครักษ์ ในปี พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งแม่ทัพน้อยที่ 1 ในปี พ.ศ. 2549 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะนายทหาร ฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ในปี พ.ศ. 2551 ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลทหารสูงสุด ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 หลังจากนั้นได้รับเลื่อนยศเป็น พลเอก พร้อมกับดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552[17] ในปี พ.ศ. 2553 มีข่าวคราวว่า พลเอก วิชญ์ อาจจะได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจาก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่จะเกษียณในกลางปีเดียวกัน ร่วมกับ พลเอก พิรุณ แผ้วพลสง แต่แล้วท้ายที่สุดตำแหน่งนี้ก็ตกเป็นของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในที่สุด[18] ด้านอื่น ๆพลเอก วิชญ์ ถูกแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียม ในปี พ.ศ. 2558[19][20] ต่อมาถูกแต่งตั้งเป็น กรรมการอิสระ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559[21] ก่อนที่จะลาออกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565[22] ปี พ.ศ. 2560[23] พลเอก วิชญ์ ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แทนที่พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์[24] ซึ่งพลเอก วิชญ์ ทำงานที่ราชตฤณมัยฯ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 ในตำแหน่งแรกคือ กรรมการประชาสัมพันธ์[25] ก่อนที่จะถูกแต่งตั้งเป็นประธานอำนวยการแข่งม้า และเป็นเลขาธิการกิตติมศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2559[26] ปัจจุบัน พลเอก วิชญ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งถูกแต่งตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2564 แทนที่ พลตรี จารึก อารีราชการัณย์[27] และดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย[28] นอกจากนี้ พลเอก วิชญ์ ยังเป็นนายกสมาคมกีฬาม้าแข่งไทย[29] และเป็นที่ปรึกษาสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์[30] การเมืองพลเอก วิชญ์ ถูกแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557[5] หลังจากนั้นได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และได้ดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564[31] จนกระทั่งลาออกจากพรรคพลังประชารัฐในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565[32] ต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2565 พลเอก วิชญ์ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย[33] ก่อนที่จะลาออกจากพรรคเศรษฐกิจไทยในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ภายหลังการลาออกของกรรมการบริหารพรรคจำนวน 15 คน[34] โดย ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยแทนในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2565[35] หลังจากนั้นพลเอก วิชญ์ ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565[36] จนกระทั่งลาออกจากพรรครวมแผ่นดินในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566[37] เพื่อเตรียมสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ[38] และดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐ[39] สอดคล้องกับรายงานของสยามรัฐออนไลน์ที่ระบุว่า พลเอก วิชญ์ ได้ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐแล้วในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2566[6] ส่วนพรรครวมแผ่นดินจะมี พลเอก ชัชชัย ภัทรนาวิกเข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน[39] ยศทหารเครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |