Share to:

 

สด จิตรลดา

สด จิตรลดา
เกิด5 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 (62 ปี)

สด จิตรลดา มีชื่อจริงว่า เชาวลิต วงศ์เจริญ (ชื่อเล่น: เชาว์) เป็นแชมป์โลกชาวไทยคนที่ 8 โดยเป็นแชมป์ในรุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์) ของสภามวยโลก (WBC) และแชมป์เดอะริง เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ที่ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี มีสถิติการชกทั้งหมด 29 ครั้ง ชนะ 23 ครั้ง แพ้ 4 ครั้ง เสมอ 1 ครั้ง (ชนะน็อก 14 ครั้ง)


ผลงาน

ละครโทรทัศน์

ละครพื้นบ้าน

  • ละครพื้นบ้านทั้งหมดด้านล่างนี้ออกอากาศทางช่อง 7 เอชดี (ละครพื้นบ้าน)
ปี เรื่อง บทบาท
2562 ขวานฟ้าหน้าดำ อุทัย
นางสิบสอง

ชกมวยไทย

สด จิตรลดา เริ่มชีวิตการชกมวยจากการชกมวยไทยโดยใช้ชื่อว่า "เชาวลิต ศิษย์พระพรหม" มีประวัติการชกมวยไทยอย่างโชกโชน ก่อนเบนเข็มมาชกมวยสากลอาชีพ สด เคยชกมวยสากลสมัครเล่นมาก่อน และเคยครองแชมป์ประเทศไทยในรุ่นฟลายเวทด้วยในปี พ.ศ. 2523 ที่จังหวัดขอนแก่น

ชื่อของ สด จิตรลดา มาจากการตั้งชื่อผู้จัดการ "บึ๊กอึ่ง" สหสมภพ ศรีสมวงศ์ (ชื่อเดิม สมภพ ศรีสมวงศ์ -ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) โดยขณะนั้น สหสมภพ กำลังปั้นนักมวยคนหนึ่งชื่อ มันส์ ส.จิตรพัฒนา และชื่อของมันส์ ติดอยู่ในอันดับของสภามวยโลก แต่ มันส์ ชกแพ้อดีตแชมป์โลก เนตรน้อย ศ.วรสิงห์ เข้า ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนเริ่มไม่มั่นใจในฝีมือ ประกอบกับมันส์จะเลิกชกมวยไป แต่ชื่อยังคงติดอันดับโลกอยู่

สหสมภพที่ได้ตัว เชาวลิต ศิษย์พระพรหม มาจึงสวมชื่อ มันส์ ลงไป และได้เปลี่ยนชื่อหลังจาก ส.จิตรพัฒนา เป็น ส.จิตรลดาแทน กลายเป็น มันส์ ส.จิตรลดา และต่อมาชื่อนี้ จากการจัดอันดับของ WBC ได้เปลี่ยนไปเหลือเพียง ส.จิตรลดา ทางฝ่ายผู้สนับสนุนจึงขอเปลี่ยนอีกทีเป็น สด จิตรลดา ในที่สุด

ได้ชิงแชมป์โลก

สด จิตรลดาชกมวยสากลอาชีพเพียง 3 ครั้ง ก็มีชื่อติดอันดับของ WBC ในรุ่นจูเนียร์ฟลายเวท และได้รับการติดต่อจาก "ไอ้เหยี่ยว" ชัง ช็อน-กู แชมป์โลกชาวเกาหลีใต้ ให้ชิงแชมป์โลก ในการชกครั้งนี้ สด จิตรลดา ที่มีสถิติการชกเพียงไม่กี่ครั้ง กลับชกได้ดีกว่าแชมป์โลกมากประสบการณ์อย่าง ชัง ช็อน-กู โดยเดินไล่ถล่มในยกสุดท้ายจนหน้าตาแตกเละเทะ กรรมการจึงถ่วงเวลาแกล้งล้มขาแพลงบนเวที ทำให้รอดพ้นการโดนสดน็อคเอ๊าท์ไปอย่างหวุดหวิด แม้ผลคะแนนออกมาจะแพ้ไปก็ตาม แต่ก็ได้สร้างความมั่นใจต่อกลุ่มผู้สนับสนุนว่า มีโอกาสจะประสบความสำเร็จในการชกมวยสากลอาชีพได้ จากนั้นการสนับสนุน สด จิตรลดา อย่างจริงจังจึงได้เริ่มขึ้น

แชมป์โลกคนที่ 8

ภายหลังจากการอุ่นเครื่องสร้างประสบการณ์อีก 2 ครั้ง สด จิตรลดา จึงได้มีโอกาสชิงแชมป์โลกอีกครั้งของสภามวยโลก WBC ในรุ่นฟลายเวท จาก กาบริเอล เบร์นัล นักมวยชาวเม็กซิกัน ที่อาคารกีฬานิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งคราวนี้ สดทำได้ โดยชนะคะแนน 12 ยกไป

สด จิตรลดา นับว่าเป็นนักมวยแชมป์โลกขวัญใจชาวไทยอีกคนหนึ่ง เป็นมวยชกสนุก มีลีลาฟุทเวิร์กสวยงาม หมัดแย๊ปคม กล้าแลกกล้าชนแม้หมัดจะไม่หนักก็ตาม แต่ก็ถือว่าชนะใจคนดู ระหว่างเป็นแชมป์โลก สดได้เดินทางไปต่างประเทศชกป้องกันตำแหน่งหลายครั้ง ได้แก่ อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จาเมกา และกลางทะเลทรายในประเทศคูเวต เกือบทุกครั้งจบลงด้วยความสวยสดงดงาม และด้วยในยุคนั้นที่กีฬามวยสากลอาชีพได้รับความนิยมสุดขีด เมืองไทยมีแชมป์โลกพร้อมกันถึง 3 คน คือ สด จิตรลดา, เขาทราย แกแล็คซี่ และสามารถ พยัคฆ์อรุณ

การชกมวยสากลอาชีพในสมัยนั้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในการชก และมอบเข็ดขัดด้วยตัวท่านเอง พลเอกเปรมจะพูดคุยกับนักมวยอย่างเป็นกันเองเหมือนพ่อ ลูก และจะมีคำถามหลังการชกซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่า "เจ็บไหมลูก"

สด จิตรลดา ป้องกันตำแหน่งไว้ได้ 6 ครั้ง และได้เสียตำแหน่งแก่ คิม ยง-คัง นักมวยเกาหลีใต้ ที่โซล ประเทศเกาหลีใต้ แต่ในปีต่อมา สดได้มีโอกาสแก้มืออีกครั้ง และสามารถเอาชนะไปได้ จึงกลายเป็นแชมป์โลก 2 สมัย

ในเวลาต่อมา สด ได้มีโอกาสป้องกันตำแหน่งกับนักมวยรุ่นน้อง ซึ่งเป็นถึงอดีตแชมป์โลกเช่นเดียวกัน คือ เมืองชัย กิตติเกษม ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่า สดน่าจะเอาชนะเมืองชัยได้ไม่ยาก ด้วยประสบการณ์และฝีมือที่เหนือกว่า แต่เนื่องจากสดเป็นมวยที่เก่ง หาคู่ชกด้วยยาก นาน ๆ ถึงได้ขึ้นชกที จึงเรื้อเวที ทำให้เมื่อได้ชกกันจริงแล้ว สดกลับเป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอไป และเมื่อมีการแก้มืออีกครั้งก็แพ้ไปในแบบเดิมอีก เพราะสภาพร่างกายของสด ไม่สดดังชื่ออีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายตาที่สั้น ซึ่งมีปัญหามานาน สด จิตรลดา จึงได้แขวนนวมไปภายหลังการชกครั้งที่สองกับเมืองชัย กิตติเกษม นั่นเอง

ชีวิตส่วนตัวและชีวิตหลังแขวนนวม

ภายหลังแขวนนวมสดได้ศึกษาต่อจนกระทั่งจบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นับว่าเป็นนักมวยเพียงไม่กี่คนที่จบการศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา และได้เปิดกิจการร้านอาหารใช้ชื่อว่า "ครัวสด" แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเขตคลองเตย (ส.ข.) ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาสดได้เข้าทำงานอยู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่พักหนึ่ง จึงลาออกและเดินทางไปสอนมวยไทยที่สหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดาเป็นระยะเวลา 3-4 ปี ปัจจุบันได้กลับมาเปิดค่ายมวยไทยเพื่อสอนมวยให้เด็กและเยาวชนตลอดจนผู้สนใจในศิลปะมวยไทยที่บ้านพักซอยทานสัมฤทธิ์ ติวานนท์ 38 จังหวัดนนทบุรี[1]

สถานภาพสมรสกับ ทัศนีย์ สีดาสมุทร นักแสดงช่อง 7 [2] และมีลูกสาวคนเดียวคือ ณัฐณิชา วงศ์เจริญ (สตางค์) [3]

สถิติการชก

  • ชกอุ่นเครื่อง และ ชกนอกรอบ
    • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2526 : ชนะน็อกยก 4 ศรีธัญญา ศิษย์เสน่ห์ ที่ เวทีมวยช่อง 7 สี
    • 23 มกราคม พ.ศ. 2526 : ชนะคะแนน 6 ยก สุริยะ ปทุมวดี ที่ เวทีมวยช่อง 7 สี
    • 18 ธันวาคม พ.ศ. 2526 : ชนะน็อกยก 3 นิพนธ์ยุทธ ศักดิ์อาดัม ที่เวทีมวยช่อง 7 สี
    • 30 มกราคม พ.ศ. 2526 : ชนะน็อกยก 2 เจ้าเณรน้อย จอมคาถา ที่เวทีมวยช่อง 7 สี
    • 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 : ชนะน็อกยก 7 วิค เพนแกรม (ธงของประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์) ที่ เวทีมวยช่อง 7 สี
    • ไม่ทราบวัน เดือน พ.ศ. 2527 : ชนะน็อกยก 7 รูดี้ พาลิเกา (ฟิลิปปินส์) ที่ เวทีมวยช่อง 7 สี
    • ชกนอกรอบ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2529 : ชนะน็อกยก 9 แช มุนจิน (ธงของประเทศเกาหลีใต้ เกาหลีใต้) ที่ เวทีมวยชั่วคราวสวนสยาม กรุงเทพฯ
    • 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 : ชนะน็อกยก 8 รอนนี่ เบอร์ลาโน่ (ฟิลิปปินส์) ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 30 ธันวาคม พ.ศ. 2531  : ชนะทีเคโอยก 9 เนลสัน คาบิ๊ก (ฟิลิปปินส์) ที่ สนามมวยเวทีลุมพินี
    • 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 : ชนะน็อกยก 6 บอย เซลโรดา นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ที่สนามมวยเวทีลุมพินี
    • 27 กันยายน พ.ศ. 2532 : ชนะคะแนน 10 ยก เวลจี้ ลิโอโนร่า นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ที่เวทีมวยราชดำเนิน
    • 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 : ชนะน็อกยก 6 ปาร์ค ชอง พิล (เกาหลีใต้) ที่ เวทีมวยช่อง 7 สี
    • 28 สิงหาคม พ.ศ. 2534 : ชนะน็อกยก 5 ทาโรน่า มาลูส (ฟิลิปปินส์) ที่ เวทีมวยช่อง 7 สี
  • เคยชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่สำเร็จ

รวมสถิติการชกทั้งหมด 29 ครั้ง ชนะ 23 ครั้ง แพ้ 4 ครั้ง เสมอ 1 ครั้ง (ชนะน็อก 14 ครั้ง)

อ้างอิง

  1. นิตยสารคนเด็ดฉบับพิเศษ 22 แชมป์โลกชาวไทย โดย สุพจน์ ชีรานนท์ (พ.ศ. 2538)
  2. รอยอดีตยอดมวยดัง.. *สด จิตรลดา*..
  3. ครูมวย "สด จิตรลดา" แชมป์โลกชาวไทย โต้ลือโดดตึก-ตกอับ ยันสบายดี
  4. เทปการชกของ สด จิตรลดา กับ ชาร์ลี มากรี (1)
  5. เทปการชกของ สด จิตรลดา กับ ชาร์ลี มากรี (2)
  6. "เทปการชกของ สด จิตรลดา กับ กาบริเอล เบร์นัล ครั้งที่ 3". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-03. สืบค้นเมื่อ 2009-03-25.
  7. เทปการชกของ สด จิตรลดา กับ เมืองชัย กิตติเกษม ครั้งที่ 2

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya