Share to:

 

สถาบันธัญญารักษ์

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง6 กรกฎาคม พ.ศ. 2509
หน่วยงานก่อนหน้า
  • สถานสงเคราะห์คนติดฝิ่น
  • โรงพยาบาลยาเสพติด
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์
สำนักงานใหญ่60 ถนนพหลโยธิน ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 12130
13°58′40.8036″N 100°37′7.8852″E / 13.978001000°N 100.618857000°E / 13.978001000; 100.618857000
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • น.พ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา, ผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดหน่วยงานกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ลูกสังกัด
  • ศูนย์ชุมชนบำบัดธัญญารักษ์
  • ศูนย์การศึกษาธัญญารักษ์
เอกสารหลัก
  • ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 37
เว็บไซต์http://www.thanyarak.go.th/

สถาบันธัญญารักษ์ เป็นสถาบันการแพทย์เฉพาะทาง ในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่เลขที่ 60 ถ.พหลโยธิน ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี มีเนื้อที่ทั้งหมด 210 ไร่ ให้บริการด้านวิชาการ ทั้งการวิจัย การประเมินเทคโนโลยี ถ่ายทอดความรู้ และพัฒนานโยบายด้านการบำบัดรักษายาเสพติด รวมทั้งเปิดให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาและสารเสพติดทุกประเภท ในระดับตติยภูมิ ทั้งแบบผู้ป่วยนอกและแบบผู้ป่วยในบำบัดด้วยยา 200 เตียง ฟื้นฟูสมรรถภาพ 600 เตียง

ประวัติ

ยาเสพติดไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นปัญหาของทุกประเทศในโลก เพราะอันตรายร้ายแรงมิใช่จะเกิดมีแต่เฉพาะผู้ติดยาเสพติดเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยอันตรายอย่างใหญ่ยิ่งต่อความสงบสุขของสังคม และความมั่นคงของประเทศชาติอีกด้วย องค์การสหประชาชาติตระหนักถึงอันตรายดังกล่าว ทุกประเทศในเครือสมาชิก จึงมีข้อตกลงในการดำเนินการป้องกันปราบปรามและให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในแต่ละประเทศให้ได้ผล สำหรับประเทศไทยได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ห้ามการขายฝิ่นและสูบฝิ่นโดยเด็ดขาด ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ผลอันเกิดจากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 37 ได้มีคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งสถานพยาบาล และสถานพักฟื้น ให้การรักษาแก่ผู้ติดฝิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่คลอง 5 ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี มีชื่อว่า “สถานสงเคราะห์คนติดฝิ่น ของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข” (The Government Opium Treatment Centre) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2502 การดำเนินงานระยะเริ่มแรกโดย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่รับผิดชอบให้การรักษาผู้ติดฝิ่นขั้นถอนยา รับผู้ป่วยได้ 1,000 คน ส่วนกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รักษาขั้นฟื้นฟู รับผู้ป่วยได้ 3,000 คน

เนื่องจากการปฏิบัติงานโดยแบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 2 ฝ่ายนั้น ทำให้การดำเนินงานบำบัดรักษาไม่ได้ผลดี การบังคับบัญชารับผิดชอบงาน ควรจะขึ้นอยู่กับหน่วยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่ฝ่ายเดียว กรมการแพทย์จึงได้โอนกิจการความรับผิดชอบการรักษาขั้นถอนพิษยา ให้แก่กรมประชาสงเคราะห์ รับไปดำเนินงานแต่ฝ่ายเดียว เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 และกรมการแพทย์ ได้มอบหมายให้นายแพทย์ประยูร นรการผดุง ไปเป็นที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ

ต่อมากรมประชาสงเคราะห์ ได้พิจารณาเห็นว่าการรักษาขั้นถอนยาของสถานพยาบาล เป็นการบำบัดรักษาที่ต้องใช้เทคนิคทางการแพทย์ กรมประชาสงเคราะห์จึงได้มอบการรักษาขั้นถอนพิษยาของสถานพยาบาลให้กรมการแพทย์ดำเนินการรับผิดชอบพร้อมงบประมาณ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2505 โดยตั้งชื่อสถานพยาบาลนี้ว่า “โรงพยาบาลยาเสพติด” และเพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการอันได้ผลตามที่ต่างประเทศปฏิบัติกัน กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย จึงได้โอนการดำเนินงาน การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดขั้นฟื้นฟู มาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แต่ฝ่ายเดียว เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2507

คณะกรรมการกลางปราบปรามยาเสพติดให้โทษ (ก.ป.ส.) ซึ่งได้มีการแต่งตั้งขึ้น ในปี พ.ศ. 2504 มิได้มีหน้าที่ เพียงด้านการปราบปรามยาเสพติดแต่เพียงอย่างเดียว ยังให้การสนับสนุนงาน ด้านป้องกัน และบำบัดรักษาด้วย ได้ขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี และมีมติเห็นชอบ ในการจัดสร้างโรงพยาบาลยาเสพติด ในปี พ.ศ. 2505 แต่กรมการแพทย์ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ และล่าช้ามาถึง 3 ปี ในปี พ.ศ. 2507 คณะกรรมการกลางปราบปรามยาเสพติดให้โทษ (ก.ป.ส.) โดย พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงค์ เป็นประธาน ขออนุมัติคณะรัฐมนตรีในการก่อสร้างโรงพยาบาลยาเสพติด ในวงเงิน 39,600,000 บาท ก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลา 18 เดือน การก่อสร้างตัวอาคารเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งถือว่า เป็นสถานพยาบาลยาเสพติดถาวรสำหรับภาคกลางเป็นแห่งแรก และมอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พิจารณา เห็นว่าหากใช้ชื่อโรงพยาบาลนี้ว่าโรงพยาบาลยาเสพติด จึงไม่เป็นการเหมาะสมเพราะทำลายจิตใจผู้ติดยาเสพติดที่เข้ามารับการบำบัดรักษา จึงได้ขอพระราชทานนามโรงพยาบาล จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงพยาบาลนี้ว่า “ธัญญารักษ์” เมื่อวันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 และได้ถือว่าเป็นวันสถาปนาของธัญญารักษ์ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ทศวรรษแรก (พ.ศ. 2509-2518)

โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ได้เปิดดำเนินการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2510 เป็นต้นมา โดยมีนายแพทย์ประยูร นรการผดุง เป็นผู้อำนวยการท่านแรก และได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิธีการที่นานาประเทศปฏิบัติกันอยู่ ว่าควรดำเนินการในรูปใดจึงจะสัมฤทธิ์ผลและเป็นที่ยอมรับ ได้มีการพัฒนารูปแบบการบำบัด ตามลำดับ ดังนี้

ตั้งแต่ พ.ศ. 2510–2513 การบำบัดรักษายาเสพติดได้แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ขั้นถอนพิษยา ใช้ระยะเวลา 7 วัน โดยให้บริการแบบผู้ป่วยในอย่างเดียว
  2. ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพจิตใจ
  3. ขั้นติดตามผล

ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 เปลี่ยนการบำบัดรักษายาเสพติดจาก 3 ขั้นตอนเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่

  1. ขั้นเตรียมการก่อนรักษา
  2. ขั้นถอนพิษยา
  3. ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ
  4. ขั้นติดตามหลังรักษา

ทศวรรษที่ 2 (พ.ศ. 2519-2528)

พ.ศ. 2520 ได้เปิดบริการคลินิกถอนพิษยานอกโดยให้ผู้ป่วยที่ติดเฮโรอีนรับการรักษาแบบไป – กลับ รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง นาน 21 วัน ส่วนผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดชนิดอื่น ให้ซื้อยาไปรับประทานที่บ้านได้โดยใช้สถานที่ทำการที่ตึกอำนวยการ

พ.ศ. 2523 ได้เปิดบริการรับผู้ป่วยยาเสพติดหญิง 1 ตึก จำนวน 50 เตียง

พ.ศ. 2524 สร้างโรงงานอาชีวบำบัดใหม่ เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยด้วยวิธีฝึกทักษะอาชีพต่างๆ

ในปี พ.ศ 2528 ได้พัฒนาการฟื้นฟูสมรรถภาพในรูปแบบชุมชนบำบัด โดยเริ่มดำเนินการในโครงการสนับสนุนของ UNDAF โดยความร่วมมือจากมูลนิธิยูเนสเวด ประเทศสวีเดน ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ไปศึกษาดูงานการบำบัดรักษายาเสพติดที่ประเทศสวีเดน พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่มูลนิธิยูนิสเวดมาร่วมดำเนินการให้คำปรึกษาในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด รูปแบบชุมชนบำบัด (Therapeutic Community, หรือTC)

คณะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ได้กลับจากประเทศสวีเดนได้จัดตั้ง “ศูนย์ชุมชนบำบัดธัญญารักษ์” (Thanyarak Therapeutic Community Center) ขึ้นในบริเวณโรงพยาบาลธัญญารักษ์ โดยทำการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ และสามารถเริ่มเปิดชุมชนบำบัด เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2529

ทศวรรษที่ 3 (พ.ศ. 2529-2538)

การดำเนินงานการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัด ประสพผลดีพร้อมทั้งมีการพัฒนางานให้ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับคนไทย ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเฮโรอีนสามารถเลิกได้จำนวนมาก แม้จะใช้เวลานาน 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี ในการฟื้นฟู และได้มีการขยายงานด้านนี้ต่อไปอีก ในช่วงผู้อำนวยการนายแพทย์ธงชัย อุ่นเอกลาภ โดยจัดตั้งศูนย์ชุมชนบำบัดเช่นนี้ขึ้นอีก “ศูนย์ชุมชนบำบัดธัญญารักษ์ แห่งที่ 2 และ 3” เปิดดำเนินการ วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2532 แต่ละศูนย์รับผู้ป่วยหรือสมาชิกได้ 50 เตียง และต่อมาในวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2534 ได้ดำเนินการเปิดศูนย์ชุมชนบำบัดสำหรับผู้หญิงขึ้น สามารถรับสมาชิกหญิงได้ 35 เตียง และได้พยายามดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบชุมชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยนอกด้วย

พ.ศ. 2534 นอกจากหน้าที่ให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาและสารเสพติดแล้ว โรงพยาบาลธัญญารักษ์ได้รับมอบหมายให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมให้กับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั่วประเทศ ในหลักวิชาการด้านยาเสพติด ได้เปิดอาคารถาวรตึกฝึกอบรม เป็นอาคาร 2 ชั้น

พ.ศ. 2535 โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ได้จัดส่งบุคลากรร่วมทีมงานจากหลายหน่วยงาน ในสังกัดกรมการแพทย์ และจากสถานพยาบาลยาเสพติดต่างๆในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมปฏิบัติงานในระยะเตรียมการก่อนรักษา และการบำบัดรักษาขั้นถอนพิษยา ให้กับชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ในเขตพื้นที่ทรงงานโครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยมี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นกำลังสำคัญในพื้นที่ ส่วนการบำบัดรักษาขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้เลือกใช้วิธีการรูปแบบชุมชนบำบัด โดยส่งบุคลากรจากโรงพยาบาลธัญญารักษ์ขึ้นไปช่วยดำเนินงานจนครบตามโครงการ 1,000 วัน ในการดำเนินการของโครงการนี้ ได้รับพระกรุณาจากพระราชดำรัสของสมเด็จย่าเป็นแนวทางของชาวธัญญารักษ์ ที่มีรับสั่งว่า “คนที่ติดยาเขาเป็นคนหรือเปล่า ในเมื่อเขาเป็นคน เรามีการช่วยเหลือเขาได้ไหม ถ้าช่วยเหลือเขาได้ เท่ากับชุบชีวิตใหม่ให้เขา ... เราก็ควรทำ”

พ.ศ. 2535 เปิด “ศูนย์การศึกษาธัญญารักษ์” สอนวิชาสายสามัญและสายวิชาชีพ ให้กับผู้ป่วยในระยะ ฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้รับการสนับสนุน หลักสูตรการศึกษาสายสามัญจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดปทุมธานี และได้รับการสนับสนุนอาจารย์ประสานงานประจำจาก กองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ. 2537 เปิดดำเนินการอาคารถาวรของศูนย์ชุมชนบำบัดผู้ป่วยนอก “อาคารเฉลิมพระเกียรติ” สร้าง และบริจาค โดย ดร.มงคล และ ดร.วนิดา วัฒนเกียรติสรร บริษัท เมอร์รี่คิงส์ ดีพาร์ทเม้นต์สโตร์ จำกัด เป็นจำนวนเงิน 4,000,000 บาท

พ.ศ. 2537 อธิบดีกรมการแพทย์ พลเรือตรีนายแพทย์วิฑุร แสงสิงแก้ว ได้สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างตึกอำนวยการหลังใหม่ เป็นอาคาร 5 ชั้น วงเงิน 187,600,502 บาท

ได้มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานของกรมการแพทย์ ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลธัญญารักษ์ รับโอนศูนย์บำบัดรักษาในส่วนภูมิภาค 5 แห่ง ของกรมการแพทย์มาอยู่ในความดูแล ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2538 ตาม พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมการแพทย์ ได้แก่ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดภาคใต้ จังหวัดสงขลา ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดจังหวัดปัตตานี ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทศวรรษที่ 4 (พ.ศ. 2539-2548)

พ.ศ. 2541 ตึกอำนวยการ 5 ชั้น หลังใหม่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้เปิดดำเนินการ โดยได้ย้ายแผนกผู้ป่วยนอก รวมทั้งหน่วยอื่นๆ ทั้งหมด จากอาคารหลังเดิม

ประมาณปี พ.ศ. 2541 โรงพยาบาลได้เริ่มดำเนินการนำกระบวนการพัฒนาคุณภาพมาพัฒนา โดยมีเป้าหมายหลักก็คือ เพื่อพัฒนาคุณภาพการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน โดย ผู้อำนวยการ นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ได้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพต่างๆ อาทิ จัดอบรม ESB (Excellent Service Behavior) อบรมกิจกรรม 5 ส. จัดสัมมนา OD (Organization Development) กิจกรรม CQI (Continual Quality Improvement) การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลอย่างจริงจัง ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 จนสามารถผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน HA โดย สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลประกาศให้โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ผ่านการรับรอ งคุณภาพตามมาตรฐาน Hospital Accreditation (HA) อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2544

พ.ศ. 2543 ได้พัฒนาการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยที่เสพติดเมทแอมเฟตามีนแบบผู้ป่วยนอก โดยการสนับสนุนของ NAS (Narcotic Affairs Section) สถานทูตสหรัฐอเมริกา ส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมที่ Matrix Institute, ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ดำเนินการเปิดศูนย์แมทริกซ์ธัญญารักษ์ และเป็นต้นแบบ และพัฒนาให้คลินิกยาเสพติดทั่วประเทศ ศึกษา ฝึกอบรม และใช้รูปแบบ Mattrix Program ซึ่งเป็นการบำบัด โดยปัญญาพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavior Therapy, CBT) เป็นรูปแบบสำคัญในการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ

พ.ศ. 2544 ได้มีการพัฒนา การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยใน จากรูปแบบเดิมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เสพติดเมทแอมเฟตามีนและอายุน้อย วัยรุ่น เป็นรูปแบบ “การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเข้มข้นทางสายใหม่ (FAST Model)” ซึ่งได้ขยายและพัฒนาอบรม รูปแบบใหม่นี้แก่หน่วยงานของกองทัพ ดำเนินการใน โรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง และวัดที่เป็นศูนย์สงเคราะห์ให้ดำเนินการได้ไปทั่วประเทศ

การให้บริการข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ แก่ประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ 2544 ได้เปิดบริการสายด่วนยาเสพติด 1165 ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด โดยทีมบุคลากร

พ.ศ. 2545 กรมการแพทย์ได้มีการปรับภารกิจ คือให้หน่วยงานเพิ่มภารกิจทางวิชาการมากกว่าภารกิจบริการ จึงได้มีกฤษฎีกาเปลี่ยนจากโรงพยาบาลธัญญารักษ์ เป็นสถาบันธัญญารักษ์ ในปัจจุบัน

ทศวรรษที่ 5 (พ.ศ. 2549-ปัจจุบัน)

นอกจากการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาและสารเสพติดแล้ว สถาบันธัญญารักษ์ได้มุ่งเน้นพัฒนางานด้านวิชาการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การเสพติด ศึกษาและพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษา พัฒนาหลักเกณฑ์มาตรฐานการบำบัดรักษาและการประเมินเทคโนโลยี เพื่อถ่ายทอดความรู้เวชศาสตร์การเสพติด รูปแบบการบำบัดรักษา ให้คลินิก และสถานพยาบาลยาเสพติดทั่วประเทศ และในปี พ.ศ. 2549 นายแพทย์วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดขององค์การอนามัยโลก (WHO Expert Advisory Panel on Drug Dependence) ซึ่งเป็นคนไทยคนที่สาม ที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก

พ.ศ. 2551 ได้มีการพัฒนาและรับรองคุณภาพของสถานบำบัดรักษายาเสพติดทุกระบบทั้งสมัครใจ, บังคับบำบัดและต้องโทษให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สถาบันธัญญารักษ์ เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ จัดทำ “ข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือด้านการพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานบำบัดรักษายาเสพติดทุกระบบ โดยมีการลงนาม ระหว่างปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551

พ.ศ. 2551 พัฒนาและอบรม หลักสูตร “พยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลผู้ใช้ยาและสารเสพติด” เป็นหลักสูตร 4 เดือน เพื่อพัฒนาศักยภาพของพยาบาลวิชาชีพให้มีความสามารถปฏิบัติตาม การพยาบาลแบบองค์รวม เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการใช้ยาและสารเสพติด ในเด็ก เยาวชนและบุคคลทั่วไป บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ที่มี ปัญหาด้านยาและสารเสพติด

พ.ศ. 2551 ได้ทำการปรับปรุงอาคารอำนวยการหลังเดิม และตั้งชื่ออาคารนี้ว่า “อาคารประยูร นรการผดุง” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่นายแพทย์ประยูร นรการผดุง ผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลธัญญารักษ์ และใช้เป็นสำนักงานของกลุ่มภารกิจภายนอกในการประสานงานนโยบายและยุทธศาสตร์และการพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาลยาเสพติด

ในทศวรรษนี้ สถาบันธัญญารักษ์ได้ดำเนินการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนในการดำเนินงานให้ทันกับสถานการณ์ยาเสพติด ได้มีกระบวนการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการ ดูแลด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติด เพื่อคืนคนดีสู่สังคม

ตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันธัญญารักษ์

  • ดอกบัว หมายถึง ผู้ป่วยที่เป็นศูนย์กลางในการดูแลของบุคลากรสถาบันธัญญารักษ์
  • มือ หมายถึง เป็นการโอบอุ้มและอุ้มชู ให้ความรู้ ความคิดแก่ผู้ป่วยยาเสพติดเปลี่ยนชีวิตใหม่เป็นบัวที่พ้นน้ำ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า
  • โลก หมายถึง สถาบันธัญญารักษ์มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันวิชาการด้านยาเสพติดของประเทศไทย และของโลก ต่อไป
  • สีประจำสถาบันธัญญารักษ์ คือ สีเขียว ของวันสถาปนา “ธัญญารักษ์” วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความสดชื่น ความปลอดภัยและเป็นแหล่งความรู้ เปรียบเสมือนการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดแบบบูรณาการ
  • ต้นไม้ประจำสถาบันธัญญารักษ์ คือ ราชพฤกษ์ (ต้นคูณ) หมายถึงการที่ทางสถาบันธัญญารักษ์ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรักษาตัวแล้วหายได้ ถือเป็นการเพิ่มค่าทวีคูณให้กับสังคม

ทำเนียบผู้อำนวยการ

  1. นายแพทย์ประยูร นรการผดุง (พ.ศ. 2510–2513)
  2. นายแพทย์สมทรง กาญจนหุต (พ.ศ. 2514–2519)
  3. นายแพทย์ธงชัย อินทุลักษณ์ (พ.ศ. 2519–2529)
  4. นายแพทย์ธงชัย อุ่นเอกลาภ (พ.ศ. 2530–2541)
  5. นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ (พ.ศ. 2541–2550)
  6. นายแพทย์วิโรจน์ วีรชัย (พ.ศ. 2551–2560)
  7. นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา (พ.ศ.2561-ปัจจุบัน)

อ้างอิง

  1. ประยูร นรการผดุง. ประมวลความรู้เรื่องยาเสพติดให้โทษ. พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2509:169-187.
  2. จินตรา อุ่นเอกลาภ, ธงชัย อุ่นเอกลาภ. การรักษารูปแบบชุมชนบำบัดธัญญารักษ์ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข: พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2535:1-3.
  3. WHO Expert Committee on Drug Dependence. Meeting (34th: 2006: Geneva, Switzerland), WHO ECDD: Thirty-fourth Report.
Kembali kehalaman sebelumnya