สังคมนิยมตลาด
สังคมนิยมตลาด (อังกฤษ: Market Socialism) คือระบบเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่ง ที่ปัจจัยการผลิตถือเป็นกรรมสิทธิ์ของสาธารณะ สังคม หรือในรูปแบบสหกรณ์ ภายใต้กรอบเศรษฐกิจที่มีการใช้กลไกตลาด สังคมนิยมตลาดแตกต่างจากสังคมนิยมไร้ตลาด ในเชิงการใช้ประโยชน์จากกลไกตลาดเพื่อจัดสรรสินค้าทุนและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ[1][2][3] กำไรจากผลประกอบการที่ได้จากกิจการที่ถือกรรมสิทธิ์โดยสังคม (เช่น รายได้สุทธิที่มิได้ถูกนำมาลงทุนซ้ำเพื่อขยายกิจการนั้น) อาจนำมาใช้เพื่อจ่ายผลตอบแทนให้แก่ลูกจ้างโดยตรง หรือสมทบกลับเข้าสังคมในรูปแบบแหล่งเงินทุนสาธารณะ หรือจัดสรรกลับสู่ประชากรในรูปของเงินปันผลเพื่อสังคม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะตัวของสังคมนิยมตลาดนั้น ๆ[4] สังคมนิยมตลาดแตกต่างจากแนวคิดเศรษฐกิจผสม ตรงที่โมเดลของสังคมนิยมตลาดนั้นเป็นระบบที่สมบูรณ์และกำกับดูแลได้ด้วยตนเอง[5] นอกจากนั้นสังคมนิยมตลาดยังมีความแตกต่างจากนโยบายประชาธิปไตยสังคมนิยมที่อยู่ภายใต้เศรษฐกิจตลาดแบบทุนนิยม โดยในขณะที่ประชาธิปไตยสังคมนิยมมีเป้าหมายที่จะบรรลุความมีเสถียรภาพและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ด้วยการใช้นโยบายเช่นมาตรการภาษี เงินอุดหนุน หรือโครงการสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ นั้น สังคมนิยมตลาดเล็งที่จะบรรลุผลลัพธ์ที่คล้ายกันด้วยการเปลี่ยนรูปแบบกรรมสิทธิ์และรูปแบบการบริหารในวิสาหกิจ[6] แม้ว่าจะมีข้อเสนอในรูปแบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์โดยสังคมอันมีตลาดสำหรับซื้อขายปัจจัยทุนมาตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 คำว่าสังคมนิยมตลาดเพิ่งจะปรากฏขึ้นในช่วงทศวรรษ 1920 ระหว่างที่มีการอภิปรายเรื่องการคำนวณเชิงสังคมนิยม[7] ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมด้วยกันเอง ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมนั้นไม่สามารถทำงานในฐานของการคำนวณด้วยหน่วยธรรมชาติ ตลอดจนไม่สามารถทำงานด้วยการแก้โจทย์เชิงระบบพหุสมการสำหรับการประสานงานกันทางเศรษฐกิจ และนั่นหมายความว่าตลาดทุนย่อมมีความจำเป็นในเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม[8] สังคมนิยมตลาดในยุคต้นมีรากฐานมาจากงานเขียนของอดัม สมิธ และทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิคอื่น ๆ อันประกอบด้วยข้อเสนอเรื่องวิสาหกิจแบบสหกรณ์ที่ดำเนินงานภายใต้เศรษฐกิจตลาดเสรี ข้อเสนอเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะกำจัดการขูดรีด โดยอำนวยให้ปัจเจกบุคคลได้รับผลตอบแทนจากแรงงานของตนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในขณะที่รื้อทิ้งผลกระทบจากการบิดเบือนตลาด ที่เกิดจากการกระจุกตัวของกรรมสิทธิ์และทรัพย์สินที่อยู่ในมือของเจ้าของเอกชนผู้เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม[9] ผู้อุทิศตนต่อหลักการสังคมนิยมตลาดในยุคต้นได้แก่นักเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมสายริคาร์เดียน และนักคิดสำนักประโยชน์ร่วมนิยม ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ออสการ์ อาร์. แลงจ์ และแอบบา พี. เลิร์นเนอร์ ได้ร่างเค้าโครงโมเดลสังคมนิยมแบบนีโอคลาสสิค ซึ่งกล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมการวางแผนส่วนกลางในการกำหนดราคาให้เท่ากับต้นทุนส่วนเพิ่ม เพื่อให้บรรลุประสิทธิภาพพาเรโตในท้ายที่สุด แม้ว่าโมเดลในช่วงต้นเหล่านี้ไม่ได้มีการพึ่งพาตลาดแบบเดิม ๆ แต่ก็ยังนับว่าเป็นสังคมนิยมตลาดเนื่องจากมีการใช้ประโยชน์จากกลไกราคาและด้วยการคำนวณที่เป็นตัวเงิน โมเดลในยุคหลังส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอจากนักเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิคชาวอเมริกัน ที่กล่าวว่ากรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตโดยสาธารณะนั้น สามารถบรรลุได้โดยการเข้าไปถือกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์และเข้าไปมีอำนาจควบคุมการลงทุน ประวัติเศรษฐศาสตร์คลาสสิค
หัวใจสำคัญของสังคมนิยมตลาด คือการปฏิเสธหลักการพื้นฐานของการดึงเอามูลค่าส่วนเกินซึ่งมาจากวิถีการผลิตที่ขูดรีด ของแนวคิดเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ ทฤษฎีสังคมนิยมที่สนับสนุนกลไกตลาดนั้น ย้อนไปได้ถึงยุคของนักเศรษฐศาสตร์สำนักริคาร์เดียนและสำนักอนาธิปไตย ซึ่งอุทิศตนกับแนวคิดที่ว่าตลาดเสรีนั้นเข้ากันได้กับการที่สาธารณะสามารถมีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต หรือให้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในปัจจัยการผลิต ผู้นำเสนอแนวคิดเรื่องสังคมนิยมตลาดในยุคต้น ได้แก่จอห์น สจ๊วต มิลล์ ผู้เป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมสายริคาร์เดียน และนักปรัชญาเสรีนิยมคลาสสิค กับปิแอร์-โจเซฟ พรูดอน นักปรัชญาสายอนาธิปไตย โมเดลของทั้งสองท่านนี้ให้แนวคิดที่เป็นมรดกตกทอดด้านการปรับปรุงกลไกตลาดและระบบการกำหนดราคาเสรีให้สมบูรณ์แบบ โดยกำจัดความบิดเบือนของสิ่งเหล่านี้ที่มีสาเหตุมาจากการขูดรีด การมีทรัพย์สินของเอกชน และความรู้สึกแปลกแยกของแรงงาน สังคมนิยมตลาดรูปแบบนี้ได้รับการขนานนามว่า สังคมนิยมตลาดเสรี เนื่องจากไม่ได้มีกลไกการวางแผนใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง[10][11] จอห์น สจ๊วต มิลล์ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของมิลล์ในช่วงต้นนั้น คือแนวคิดตลาดเสรีซึ่งมิลล์ขยับให้โน้มเอียงไปทางสังคมนิยม และมีการเพิ่มบทในหนังสือ หลักการเศรษฐศาสตร์การเมือง ของตนหลายบทเพื่อปกป้องสังคมนิยมทั้งทางทัศนะและแรงจูงใจ[12] หนังสือฉบับที่พิมพ์ครั้งต่อมามิลล์มีข้อเสนอว่าควรยกเลิกระบบค่าแรงแบบเหมาเพื่อหลีกทางให้กับระบบค่าแรงเชิงปฏิบัติการ อย่างไรก็ดีทัศนะบางประการของมิลล์ที่เกี่ยวกับภาษีอากรแนวราบยังคงมีอยู่[13] แม้กระนั้นหนังสือ หลักการเศรษฐศาสตร์การเมือง ฉบับพิมพ์ครั้งที่สามก็มีการปรับแก้เนื้อหาเพิ่มเติม เพื่อให้สะท้อนความกังวลด้านข้อจำกัดของรายได้ค้างรับ ซึ่งมิลล์สนับสนุน เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่ได้รับแล้ว ซึ่งมิลล์ไม่สนับสนุนเท่าใดนัก[14] หนังสือ นานาหลักการ ของมิลล์ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 1848 และกลายเป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างกว้างขวางที่สุดในยุคนั้น[15] มีวุฒิฐานะเสมอกับหนังสือ ความมั่งคั่งของประชาชาติ ของอดัม สมิธ นอกจากนี้ นานาหลักการ ของมิลล์ยังได้ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในฐานะตำราสอนเศรษฐศาสตร์อีกด้วย ในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดนั้น นานาหลักการ เป็นที่รับรองให้เป็นตำราเรียนมาตรฐานจนถึงปี 1919 จนกระทั่งมีการเปลี่ยนตำราหลักไปเป็นหนังสือ หลักการเศรษฐศาสตร์ ของอัลเฟรด มาร์แชล ส่วนหนังสือ หลักการเศรษฐศาสตร์การเมือง ฉบับพิมพ์ครั้งหลัง ๆ ของมิลล์นั้น มีข้อวิภาษสำคัญว่า “กล่าวถึงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ นั้น ไม่มีหลักการในทฤษฎีใดที่สามารถขัดขวางระเบียบทางเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานของนโยบายแบบสังคมนิยมได้”[16][17] นอกจากนี้มิลล์ยังส่งเสริมแนวคิดที่จะให้วิสาหกิจแบบสหกรณ์แรงงานมาทดแทนธุรกิจแบบนายทุนอีกด้วย โดยระบุว่า:
ประโยชน์ร่วมนิยมปิแอร์-โจเซฟ พรูดอน ได้พัฒนาระบบทฤษฎีที่เรียกว่าประโยชน์ร่วมนิยม ซึ่งโจมตีความชอบธรรมของสิทธิในทรัพย์สิน เงินอุดหนุน บรรษัทยักษ์ใหญ่ ระบบธนาคาร หรือรายได้จากการเช่าที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ทัศนะของพรูดอนกล่าวถึงกลไกตลาดแบบกระจายศูนย์ ที่ซึ่งผู้คนสามารถเข้าถึงตลาดได้ด้วยอำนาจที่เท่าเทียม และปราศจากความเป็นทาสจากอัตราค่าจ้าง[19] หลายฝ่ายเชื่อว่าระบบสหกรณ์ สหภาพเครดิต และกรรมสิทธิ์โดยคนงานในรูปแบบอื่น ๆ สามารถทำได้จริงโดยมิต้องตกอยู่ใต้อำนาจรัฐ สังคมนิยมตลาดยังเคยมีอรรถาธิบายถึงภารกิจของนักอนาธิปไตยเชิงปัจเจกบางราย ซึ่งโต้แย้งกับความเชื่อที่ว่าตลาดเสรีนั้นจะจุนเจือบรรดาคนงาน และจะบั่นทอนกำลังของนายทุน[20][21] อนาธิปไตยเชิงปัจเจกในสหรัฐอเมริกานักอนาธิปไตยและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ยูนิส มิเนตต์ ชูสเตอร์ กล่าวว่า “มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าอนาธิไตยสายพรูโดเนียนได้ลงหลักปักฐานในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ 1848 เป็นอย่างช้า ในขณะที่นักอนาธิปไตยเชิงปัจเจกโจเซฟ วอร์เรน และสตีเฟน เพิร์ล แอนดรูส์ มีทัศนะว่ากลุ่มเหล่านั้นมิได้ตระหนักถึงอัตลักษณ์ดังกล่าว แต่กระนั้นวิลเลี่ยม บี. กรีนน์เสนอว่ามันคือชุมชนประโยชน์ร่วมนิยมสายพรูโดเนียน ที่มีความบริสุทธิ์ที่สุด และอยู่ร่วมกันด้วยรูปแบบที่เป็นระบบ[22] เป็นที่ยอมรับร่วมกันอย่างกว้างขวางว่าโจไซอาห์ วอร์เรน คือนักอนาธิปไตยชาวอเมริกันคนแรก[23] และวารสารรายสัปดาห์ความยาว 4 หน้า นักปฏิวัติผู้รักสันติ ที่เขาเขียนในปี 1833 นั้น ถือเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เชิงอนาธิปไตยฉบับแรกที่ได้รับการตีพิมพ์[24] กิจการโรงพิมพ์ที่วอเรนก่อตั้งขึ้นนั้นประดิษฐ์แท่นพิมพ์ ตัวพิมพ์ และจานพิมพ์ ด้วยตนเอง[24] วอร์เรนนั้นเป็นผู้ติดตามของโรเบิร์ต โอเวน และเข้าร่วมอาศัยในชุมชนของโอเวนที่เมืองนิวฮาร์โมนี่ มลรัฐอินเดียนา โจไซอาห์ วอร์เรน เป็นผู้ประดิษฐ์วลีที่ว่า “ตั้งต้นทุนที่ข้อจำกัดของราคา” ซึ่ง “ต้นทุน” ในที่นี้มิได้หมายถึงราคาชำระในรูปตัวเงิน แต่หมายถึงแรงงานที่คน ๆ หนึ่งใช้ในการผลิตสิ่ง ๆ หนึ่ง[25] ดังนั้น “[วอร์เรน]จึงเสนอระบบที่ชำระคู่ธุรกรรมด้วยใบรับรองซึ่งระบุจำนวนชั่วโมงทำงานที่ได้ลงมือทำ” ทุกคนสามารถใช้เอกสารนี้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้า ที่ใช้จำนวนชั่วโมงทำงานเท่ากันในการผลิต ได้ที่ร้านค้าท้องถิ่นที่ยอมรับบันทึกเวลาดังกล่าว[23] เขาทดสอบทฤษฎีนี้ด้วยการก่อตั้ง “ร้านค้าแรงงานเพื่อแรงงาน” ชื่อว่า ร้านค้าเวลาซินซินเนติ ซึ่งยอมรับการแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยเอกสารที่รับรองการทำงานของแรงงาน ร้านค้านี้ประสบความสำเร็จและเปิดดำเนินการกว่า 3 ปี หลังจากนั้นจึงปิดตัวลงเพื่อให้วอร์เรนสามารถไปจัดตั้งอาณานิคมเชิงประโยชน์นิยมที่อื่น เช่น ยูโทเปีย และ โมเดิร์นไทม์ส ท้ายที่สุดวอร์เรนเคยกล่าวว่าหนังสือ วิทยาศาตร์แห่งสังคม ของสตีเฟน เพิร์ล แอนดรูส์ ที่ตีพิมพ์ในปี 1852 นั้นสามารถอธิบายทฤษฎีของตัววอร์เรนเองได้อย่างชัดเจนและสมบูรณ์ที่สุด[26] หลังจากนั้น เบนจามิน ทัคเกอร์ ได้หลอมรวมแนวคิดเศรษฐศาสตร์ของวอร์เรนและพรูดอนเข้าด้วยกัน และตีพิมพ์แนวคิดเหล่านั้นในวารสาร เสรีภาพ โดยเรียกแนวคิดเหล่านี้ว่า “สังคมนิยม-อนาธิปัตย์”[27] ทัคเกอร์กล่าวว่า “ความจริงที่ว่า ในขณะที่ความเป็นอยู่ของชนชั้นหนึ่งพึ่งพิงการขายแรงงานของตนนั้น อีกชนชั้นหนึ่งกลับได้รับอภิสิทธิ์จากการขายสิ่งที่มิใช่แรงงาน […] ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับความเป็นไปเช่นนี้เท่า ๆ กับคนอื่น ๆ แต่เมื่อคนเรายกอภิสิทธิ์เหล่านี้ออกไป […] ทุกคนจะกลายเป็นแรงงานที่แลกเปลี่ยนกับมิตรแรงงานด้วยกัน […] ดังนั้นส่วนเกินที่มาจากการขูดรีด จึงเป็นสิ่งที่สังคมนิยม-อนาธิปัตย์เล็งที่จะกำจัด […] และช่วงชิงรางวัลที่บรรดาทุนเคยได้รับ”[27] นักอนาธิปไตยเชิงปัจเจกชาวอเมริกันเช่นทัคเกอร์มองตนเองในฐานะนักสังคมนิยมเศรษฐกิจกลไกตลาด พอ ๆ กับในฐานะปัจเจกชนทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็ชี้ข้อโต้แย้งว่าความเป็นนัก “สังคมนิยม-อนาธิปัตย์” หรือ “สังคมนิยมเชิงปัจเจก” ของตนนั้นเป็นแนวคิดที่ “สอดคล้องกับแนวคิดแมนเชสเตอร์นิยม”[28] ส่วนอนาธิปไตยตลาดปีกซ้ายนั้นคือสาขาใหม่ของอนาธิปไตยตลาดเสรี ที่มีพื้นฐานของการรื้อฟื้นทฤษฎีเช่นสังคมนิยมตลาด[29][30][31][32] เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิคต้นศตวรรษที่ 20ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิคได้มอบองค์ความรู้พื้นฐานเชิงทฤษฎีที่ครอบคลุมกว่าเดิมแก่โมเดลสังคมนิยมตลาด โมเดลสังคมนิยมแบบนีโอคลาสสิคในยุคต้นนั้นกล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมการวางแผนส่วนกลางในการกำหนดราคาให้เท่ากับต้นทุนส่วนเพิ่ม เพื่อให้บรรลุประสิทธิภาพพาเรโตในท้ายที่สุด แม้ว่าโมเดลในช่วงต้นเหล่านี้ไม่ได้มีการพึ่งพาตลาดแบบเดิม ๆ แต่ก็ยังนับว่าเป็นสังคมนิยมตลาดเนื่องจากมีการใช้ประโยชน์จากราคาและการคำนวณที่เป็นตัวเงิน ส่วนแนวคิดอื่น ๆ ของสังคมนิยมตลาดกล่าวถึงวิสาหกิจที่ถือกรรมสิทธิ์โดยสังคม หรือโดยสหกรณ์ผู้ผลิตที่ดำเนินการในระบบตลาดเสรี ภายใต้บรรทัดฐานของความสามารถในการทำกำไร ในขณะที่โมเดลในยุคหลังส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอจากนักเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิคชาวอเมริกัน ที่กล่าวว่ากรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตโดยสาธารณะนั้น สามารถบรรลุได้โดยการเข้าไปถือกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์และเข้าไปมีอำนาจควบคุมการลงทุน โมเดลสังคมนิยมนีโอคลาสสิคช่วงแรกสุดนั้นพัฒนาโดยเลออง วอลรัส, เอ็นริโค บาโรเน่ (1908)[33][34] และออสการ์ อาร์. แลงจ์ (1936)[35] โดยที่แลงจ์และเฟรด เอ็ม. เทย์เลอร์ (1929)[36] เสนอว่าคณะกรรมการวางแผนส่วนกลางควรกำหนดราคาด้วยการลองผิดลองถูก และเข้าไปปรับแก้เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนหรือภาวะล้นตลาด แทนที่จะต้องพึ่งพากลไกราคาเสรี กรณีที่เกิดภาวะขาดแคลน ราคาควรปรับสูงขึ้น และถ้าเกิดภาวะล้นตลาด ราคาควรปรับให้ต่ำลง[37] การปรับราคาให้สูงขึ้นจะส่งเสริมให้ธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มการผลิต เพราะหน่วยผลิตเหล่านั้นขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจที่จะเพิ่มกำไร และเมื่อการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นก็จะสามารถแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนได้ ในขณะที่การปรับราคาให้ต่ำลงจะทำให้กิจการต่าง ๆ บีบตัวการผลิตให้ลดลงเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุน ซึ่งสามารถทำให้กำจัดภาวะล้นตลาดได้ ดังนั้นแนวทางปฏิบัติแบบนี้จะทำหน้าที่เสมือนแบบจำลองของกลไกตลาด ซึ่งแลงจ์คิดว่าจะเอื้อให้สามารถบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ[38] แม้ว่าโมเดลแลงจ์-เลิร์นเนอร์นั้นนับว่ามีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนิยมตลาด อย่างไรก็ดี ควรมีอรรถธิบายเพิ่มเติมถึงแบบจำลองของกลไกตลาด เนื่องจากตลาดซื้อขายปัจจัยการผลิตนั้นมิได้ดำรงอยู่เพื่อจัดสรรสินค้าทุนจริง ๆ แต่วัตถุประสงค์ของโมเดลแลงจ์-เลิร์นเนอร์นั้นคือการปรับเปลี่ยนจากการใช้กลไกตลาด ไปสู่กลไกไร้ตลาดเพื่อจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ[39][40] เอช. ดี. ดิกกินสัน ตีพิมพ์บทความสองชิ้นที่กล่าวถึงรูปแบบหนึ่งของสังคมนิยมตลาด เรียกว่า “รูปแบบราคาในชุมชนสังคมนิยม” (The Economic Journal 1933) และ “ปัญหาของเศรษฐกิจสังคมนิยม” (The Economic Journal 1934) ดิกกินสันได้เสนอทางออกเชิงคณิตศาสตร์ประการหนึ่งเพื่อแก้โจทย์ทางเศรษฐกิจสังนิยมที่คณะกรรมการวางแผนส่วนกลางกำลังประสบอยู่ คณะกรรมการฯควรต้องมีข้อมูลเชิงสถิติด้านเศรษฐศาสตร์ที่จำเป็น ตลอดจนควรต้องมีขีดความสามารถในการใช้สถิติที่ได้ไปในการชี้นำการผลิต นอกจากนี้เศรษฐกิจควรเขียนบรรยายได้ด้วยระบบสมการ มูลค่าของคำตอบจากสมการเหล่านี้สามารถนำไปใช้เพื่อกำหนดราคาสินค้าต่าง ๆ ให้เท่ากันกับต้นทุนส่วนเพิ่ม และนำไปใช้เพื่อกำหนดทิศทางการผลิต อย่างไรก็ดี ฮาเยค (1935) ได้โต้แย้งแนวคิดการจำลองตลาดด้วยสมการแบบนี้ ดิกกินสัน (1939) จึงรับเอาข้อเสนอของโมเดลแลงจ์-เทย์เลอร์ในการทำแบบจำลองตลาดด้วยวิธีปฏิบัติแบบลองผิดลองถูก โมเดลสังคมนิยมตลาดฉบับแลงจ์-ดิกกินสันนั้น ยังรักษาไว้ซึ่งการลงทุนนอกกลไกตลาด แลงจ์ (1926 p65) ยืนกรานว่าคณะกรรมการวางแผนส่วนกลางควรมีสิทธิในการตั้งอัตราการสะสมทุนตามที่เห็นสมควร นอกจากนี้แลงจ์และดิกกินสันยังเล็งเห็นปัญหาการบริหารจัดการแบบราชการในระบบสังคมนิยมตลาดอีกด้วย ตามที่ดิกกินสันเคยกล่าวไว้ว่า “ความพยายามที่จะตรวจสอบความรับผิดรับชอบของผู้จัดการวิสาหกิจที่มากเกินไป จะทำให้ผู้จัดการเหล่านั้นถูกตรึงไว้ด้วยระบบระเบียบแบบราชการ อันจะทำให้สูญเสียความคิดริเริ่มและความอิสระในการดำเนินงาน” (Dickinson 1938, p.214) ในหนังสือ เศรษฐศาสตร์แห่งการมีอำนาจควบคุม: หลักการของเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ (1944) แอ๊บบ้า เลิร์นเนอร์ยอมรับว่าในระบบสังคมนิยมตลาดนั้นอาจมีความเป็นไปได้ว่าการลงทุนมีสิทธิที่จะถูกบิดเบือนด้วยวาระทางการเมือง ปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21ฮยาโรสลาฟ ฟานเน็ก ชาวเช็ค และบรังโก ฮอร์วาท ชาวโครแอท คือนักเศรษฐศาสตร์สองท่านที่นำสังคมนิยมตลาดไปเผยแพร่ในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย และขนานนามใหม่ว่าโมเดลอิลลิเรียน มีลักษณะสำคัญว่าวิสาหกิจหรือหน่วยผลิตนั้นถือกรรมสิทธิ์โดยลูกจ้าง และจัดวางโครงสร้างให้คนงานบริหารจัดการตนเอง อีกทั้งแข่งขันกันเองในตลาดเปิดเสรี นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 มีการพัฒนาฐานโมเดลเช่นสังคมนิยมที่ใช้คูปอง (โดยนักเศรษฐศาสตร์จอห์น โรมเมอร์) และประชาธิปไตยเชิงเศรษฐกิจ (โดยนักปรัชญาเดวิด ชไวการ์ต) ประนาภ พรฐาน และจอห์น โรเมอร์ ยังได้นำเสนอสังคมนิยมตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีตลาดหุ้นทำหน้าที่จัดสรรทุนเรือนหุ้นไปสู่พลเมืองเท่า ๆ กัน อย่างไรก็ดี ไม่มีการซื้อหรือขายจริงที่ตลาดหุ้นแห่งนี้ เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบด้านลบจากการกระจุกตัวของกรรมสิทธิ์ในทุน ปรากฏว่าโมเดลของพรฐานและโรมเมอร์ตอบโจทย์ข้อเรียกร้องหลักของทั้งสังคมนิยม (คนงานถือกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตทั้งปวง มิใช่แค่ปัจจัยแรงงาน) และเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด (ราคาเป็นตัวกำหนดความมีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรทั้งปวง) นักเศรษฐศาสตร์ชาวนิวซีแลนด์สตีเว่น โอ’ดอนเนล ขยายความโมเดลของพรฐานและโรมเมอร์ไปอีกขั้น ด้วยการแยกองค์ประกอบการทำงานของทุนในระบบดุลยภาพทั่วไป ให้เชื่อมโยงกับกิจกรรมเชิงวิสาหกิจภายใต้เศรษฐกิจแบบสังคมนิยมตลาด โอ’ดอนเนล (2003) ยังได้สร้างโมเดลที่สามารถนำไปใช้เป็นพิมพ์เขียวในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจช่วงเปลี่ยนผ่าน ผลของโมเดลชี้ให้เห็นว่าแม้โดยธรรมชาตินั้นโมเดลสังคมนิยมตลาดจะไม่เสถียรในระยะยาว แต่ก็สามารถจัดหาสิ่งที่จำเป็นที่เอื้อให้การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบวางแผนไปเป็นเศรษฐกิจกลไกตลาด ให้กับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ ช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 นักเศรษฐศาสตร์มาร์กเซียนริชาร์ด ดี. วูลฟ์ ได้นำหลักการเศรษฐศาสตร์มาร์กเซียนกลับมาศึกษาใหม่ โดยเจาะลึกไปที่ระดับฐานย่อยขององค์ความรู้ แนวคิดหลักของวูลฟ์คือ การเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยมไปสู่สังคมนิยมนั้น จำเป็นต้องมีการปรับผังองค์กรของวิสาหกิจจากระบบบนสู่ล่างตามแบบฉบับโมเดลของทุนนิยม ไปสู่โมเดลที่การตัดสินใจที่สำคัญของกิจการทั้งหมดนั้น (ว่าจะเรื่องการผลิตอะไร อย่างไร ที่ไหน และจะทำอะไรกับผลผลิต) เป็นไปได้ด้วยระบบคนงานหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง วูลฟ์เรียกสิ่งนี้ว่า วิสาหกิจคนงานดูแลตนเอง (WSDEs) คนงานเหล่านั้นจะมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันหรือกับลูกค้าอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่เปิดเผยแบบสังคมประชาธิปไตย อันจะส่งผลไปถึงตลาดหรือการวางแผน หรือทั้งสองอย่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมนิยมตลาดเช่นฮยาโรสลาฟ ฟานเน็ก อ้างว่าตลาดเสรีที่แท้จริงนั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ภายใต้เงื่อนไขการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเพื่อการผลิตโดยเอกชน ในทางกลับกัน ฟานเน็กยืนยันว่าความแตกต่างและความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นในเชิงรายได้หรืออำนาจควบคุมอันเป็นผลจากการถือกรรมสิทธิ์โดยเอกชนนั้น เอื้อประโยชน์แก่ชนชั้นที่เป็นผู้ครอบงำ และทำให้ชนชั้นนี้สามารถชี้นำตลาดให้เป็นคุณต่อพวกตนได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการผูกขาดตลาดและรูปแบบอำนาจในการควบคุมตลาด หรือโดยใช้ประโยชน์จากความร่ำรวยและทรัพยากรในการให้ภาครัฐออกกฎหมายเชิงนโยบายที่เอื้อประโยชน์ที่เฉพาะเจาะจงให้กับกิจการของชนชั้นนี้ นอกจากนั้น ฟานเน็กยังระบุด้วยว่า คนงานในเศรษฐกิจสังคมนิยมรูปแบบสหกรณ์และวิสาหกิจดูแลตนเองนั้น จะมีแรงจูงใจที่ชัดเจนกว่า ที่จะทำงานให้บรรลุผลิตภาพสูงสุด เพราะคนงานเหล่านั้นจะได้รับส่วนแบ่งกำไร (ในฐานของผลลัพธ์โดยรวมของกิจการ) เพิ่มเติมจากรายได้จากค่าจ้างหรือเงินเดือนตามปกติ แรงจูงใจดังกล่าวอาจสัมฤทธิ์ผลได้ภายใต้เศรษฐกิจตลาดเสรีหากการที่ลูกจ้างถือกรรมสิทธิ์ในบริษัทเป็นค่านิยมปกติ จากการกล่าวอ้างของนักคิดเช่นหลุยส์ โอ. เคลโซ และเจมส์ เอส. อัลบัส[41] เศรษฐศาสตร์ปรปักษ์ดุลยภาพมีโมเดลสังคมนิยมตลาดอีกรูปแบบหนึ่งที่เผยแพร่โดยนักวิพากษ์แนวคิดเรื่องการวางแผนจากส่วนกลาง และนักวิพากษ์แนวคิดเรื่องทฤษฎีดุลยภาพทั่วไปสายนีโอคลาสสิค นักเศรษฐศาสตร์ที่ควรกล่าวถึงได้เหล่านี้แก่ อาเลค โนเฟอ และฮยานอส คอร์ไน โดยที่ อาเลค โนเฟอ เสนอสิ่งที่ตนเรียกว่า สังคมนิยมที่ปฏิบัติได้จริง ซึ่งกอรปด้วยแนวคิดแบบรัฐวิสาหกิจภายใต้เศรษฐกิจผสม บริษัทมหาชนที่พึ่งพาตนเอง สหกรณ์ และวิสาหกิจเอกชนขนาดเล็ก ที่ดำเนินงานในเศรษฐกิจกลไกตลาด แนวคิดนี้ยังรวมไปถึงบทบาทของการวางแผนในระดับเศรษฐกิจมหภาคอีกด้วย[42] การนำไปใช้ในทางปฏิบัติองค์ประกอบของรูปแบบสังคมนิยมตลาดหลายประการได้ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปในระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่นระบบเศรษฐกิจของอดีตสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าใช้รูปแบบสังคมนิยมที่มีพื้นฐานของกลไกตลาด โดยมีสหกรณ์ที่ถือกรรมสิทธิ์โดยภาคสังคม โมเดลคนงานดูแลตนเอง ตลอดจนมีการจัดสรรปัจจัยทุนด้วยตลาด นอกจากนี้ มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจบางประการในช่วงเวลาของการเปิดเสรีทางการเมืองปรากสปริง ของผู้นำประเทศเชโกสโลวาเกีย อเล็กซานเดอร์ ดุปเชค นั้น นับว่ามีองค์ประกอบของสังคมนิยมตลาดอยู่หลายประการ[43] ด้านเศรษฐกิจกลไกตลาดที่มีรูปแบบสังคมนิยมของเวียดนาม นับว่าเป็นสังคมนิยมตลาดในตัวของมันเอง กิจการสหกรณ์มีความแพร่หลายในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะภาคค้าปลีกและการเกษตร ในขณะเดียวกันก็ยังดำรงไว้ซึ่งภาคเศรษฐกิจที่ถือกรรมสิทธิ์โดยรัฐ โดยที่รัฐยังมีอำนาจควบคุมภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ[44] กิจการสหกรณ์ในเวียดนามยังได้รับการสนับสนุนในรูปเม็ดเงินจากรัฐ ตลอดจนมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากรัฐอีกหลายประการ ในขณะที่บริษัทเอกชนไม่มี[45] สหกรณ์คนงาน มอนดราก้อน คอร์ปอร์เรชั่น ในแคว้นบาสก์ สหกรณ์ "โคออป" ในอิตาลี และสหกรณ์ในอีกหลายประเทศ เป็นที่อ้างถึงอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นองค์กรกรรมสิทธิ์คนงาน – หรือกรรมสิทธิ์ผู้บริโภค – ซึ่งมีรูปแบบการบริหารที่เป็นประชาธิปไตย ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ด้านปีเตอร์ ดรักเกอร์ ระบุว่าระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญที่มีการกำกับดูแลของสหรัฐอเมริกานั้น มีการลงทุนในตลาดทุนในฐานะ “กองทุนบำเหน็จบำนาญแบบสังคมนิยม”[46] ส่วนวิลเลียม เอช. ไซมอน อธิบายเพิ่มเติมถึงลักษณะของ กองทุนบำเหน็จบำนาญแบบสังคมนิยม ว่าเป็น “สังคมนิยมตลาดรูปแบบหนึ่ง”[47] เศรษฐกิจของคิวบาภายใต้ผู้นำ ราอุล คาสโตร มีลักษณะของความพยายามที่จะปฏิรูปโครงสร้างให้เป็นแบบสังคมนิยมตลาด[48] และที่คล้ายกันนั้น เศรษฐกิจของลิเบียภายใต้ผู้นำ มูอัมมาร์ กัดดาฟี อาจกล่าวได้ว่าเป็นสังคมนิยมตลาด เนื่องจากทฤษฎีสากลที่สามของกัดดาฟีนั้น มีส่วนเหมือนกันหลายประการเมื่อเทียบกับทฤษฎีบริหารตนเองของชาวยูโกสลาฟ[49][50] นโยบายที่คล้ายกับแนวทางสังคมนิยมตลาดเช่น มาตรการเงินปันผลเพื่อสังคม และรายได้มูลฐาน นั้นเคยถูกนำมาปฏิบัติจริงในพื้นฐานของกรรมสิทธิ์สาธารณะในทรัพยากรธรรมชาติที่มลรัฐอลาสก้า (กองทุนถาวรอลาสก้า) และที่นอร์เวย์ (กองทุนรัฐบำเหน็จบำนาญแห่งนอร์เวย์) ที่เบลารุส ภายใต้ผู้นำอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโค ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมตลาด[51] ที่เอธิโอเปีย ภายใต้ผู้นำ อาบีย์ อาห์เม็ด ก็ได้รับการขนานนามระบบเศรษฐกิจว่าเป็นแบบสังคมนิยมตลาดเช่นกัน[52] ความสัมพันธ์ต่ออุดมการณ์ทางการเมืองมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์สังคมนิยมตลาดมักถูกหยิบยกขึ้นมา เพื่ออธิบายความพยายามในการเปิดใช้กลไกตลาดภายใต้ระบบเศรษฐกิจวางแผนแบบโซเวียต ด้วยความที่ว่า สังคมนิยมตลาดเคยจะถูกนำมาใช้ปฏิบัติเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1920 ในสหภาพโซเวียต และมีชื่อเรียกว่า “นโยบายเศรษฐกิจใหม่” แต่ต่อมาโซเวียตก็ละทิ้งแนวคิดนี้ไป หลังจากนั้นในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 มีการหยิบใช้องค์ประกอบหลายประการของสังคมนิยมตลาดที่ประเทศฮังการี (มีชื่อเล่นเรียกว่า กูลาชคอมมิวนิสม์) เชโกสโลวาเกีย และยูโกสลาเวีย (ดู ติโตอิสม์) ระบบเศรษฐกิจร่วมสมัยของเบลารุสก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบสังคมนิยมตลาด ในขณะที่การปฏิรูปเปเรสทรอยก้าของสหภาพโซเวียตภายใต้การนำของ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ก็มีการแผนงานที่จะเปิดใช้ระบบตลาดในแผนเศรษฐกิจ สอดคล้องกับที่ช่วงปลายนั้นบุคคลสำคัญวงในของสหภาพโซเวียตเคยหารือกันว่าประเทศควรปรับทิศทางไปสู่ระบบสังคมนิยมที่พื้นฐานของกลไกตลาดเช่นกัน ในอดีตนั้น ระบบสังคมนิยมตลาดเหล่านี้มีเจตนาที่จะรักษาไว้ซึ่งกรรมสิทธิ์ของรัฐในภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เช่นภาคอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมพลังงาน และภาคโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่จะปรับให้กระบวนการตัดสินใจเป็นแบบกระจายศูนย์ โดยอนุญาตให้ผู้จัดการในท้องถิ่นต่าง ๆ มีอิสระในการตัดสินใจที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องของตลาด ระบบสังคมนิยมตลาดเหล่านี้อนุญาตให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต ตลอดจนอนุญาตให้เอกชนและผู้ประกอบการประกอบกิจการภายในภาคเศรษฐกิจบริการและภาคเศรษฐกิจชั้นรอง การกำหนดราคาในสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าเกษตรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาด เกษตรกรได้รับอนุญาตให้ขายผลผลิตของตนบางส่วนในตลาดเปิด และเก็บรักษากำไรทั้งหมด หรือบางส่วน เพื่อเป็นเครื่องมือจูงใจให้มีการพัฒนาการผลิตให้ดีขึ้นต่อไป สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีนสังคมนิยมตลาดมักถูกใช้เพื่ออ้างอิงถึงระบบเศรษฐกิจในรัฐที่ใช้อุดมการณ์มาร์กซ์-เลนิน และบ่อยครั้งที่ใช้อ้างถึงเศรษฐกิจร่วมสมัยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ซึ่งนำระบบกำหนดราคาเสรีมาใช้เพื่อจัดสรรสินค้าทุนทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมืองชาวจีนระบุแย้งว่า เศรษฐกิจสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาดนั้น ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของสังคมนิยมตลาดในทัศนะแบบเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค[53] อีกทั้งมีนักเศรษฐศาสตร์และนักรัฐศาสตร์จากตะวันตกหลายราย ตั้งคำถามถึงความลึกของการนำรูปแบบสังคมนิยมตลาดไปใช้ในระบบเศรษฐกิจของจีน และมักนิยมเรียกระบบของจีนว่าเป็น ทุนนิยมโดยรัฐ[54] แม้จะมีชื่อเรียกคล้ายกัน สังคมนิยมตลาดมีความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาด หรือเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจกลไกตลาดที่มีรูปแบบสังคมนิยม ของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตามลำดับ ระบบเศรษฐกิจที่ประกาศอย่างเป็นทางการเหล่านี้นั้น ถือเป็นตัวแทนของกระบวนการที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสังคมนิยมที่แท้จริงในระยะยาว[55] ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างโมเดลสังคมนิยมตลาดเมื่อเทียบกับโมเดลของจีนและเวียดนามนั้นคือ บทบาทของเอกชนที่สามารถลงเม็ดเงินลงทุนในวิสาหกิจ การไม่ปรากฏอยู่ของระบบเงินปันผลเพื่อสังคมหรือระบบรายได้มูลฐาน อันที่จะจัดสรรและกระจายผลกำไรของรัฐไปสู่ประชากรอย่างเท่าเทียม ตลอดจนการดำรงอยู่ในบทบาทของตลาดการเงินกรณีโมเดลของจีน เหล่านี้เป็นลักษณะของตลาดที่ไม่มีปรากฏอยู่ในงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาด[54] แม้ประสบการณ์ของจีนในระบบสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีน จะเป็นที่อ้างอิงบ่อยครั้งในฐานะระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาด ที่ซึ่งรัฐยังถือกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญก็ตาม แต่สัดส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนั้น มีกลไกตลาดทำหน้าที่ดูแล ซึ่งรวมถึงตลาดหลักทรัพย์สำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนหุ้น ตลอดจนการนำกลไกทางอ้อมต่าง ๆ ของตลาดมาใช้ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (เช่น นโยบายการเงิน การคลัง และอุตสาหการ) เพื่อชักจูงเศรษฐกิจเสมือนวิถีปฏิบัติของเศรษฐกิจทุนนิยม ตลาดทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดในจีน โดยรัฐมีบทบาทวางเค้าโครงแผนเศรษฐกิจระดับมหภาค และจะไม่เข้าไปก้าวก่ายกระบวนการตัดสินใจในระดับเศรษฐกิจจุลภาค การตัดสินใจในระดับจุลภาคจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรเอกชนและรัฐวิสาหกิจกระทำกันเอง แม้โมเดลนี้จะมีเอกชนถือกรรมสิทธิ์ในวิสาหกิจและดำเนินกิจการเพื่อแสวงหากำไรก็ตาม แต่นั่นก็จำกัดให้อยู่ในกรอบของกิจการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจบริการเท่านั้น[56] การวางแผนการผลิตโดยการบังคับโควต้าของผลผลิตในระบบเศรษฐกิจเดิมของจีนนั้น ถูกแทนที่ด้วยกลไกตลาดในเกือบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นในภาครัฐหรือภาคเอกชน แม้ว่ารัฐจะยังคงมีบทบาทในการวางแผนชี้นำให้กับรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ก็ตาม[56] และเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจวางแผนแบบโซเวียตนั้น โมเดลสังคมนิยมที่มีการใช้กลไกตลาดของจีนมีที่มาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่ ทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นแปรสภาพเป็นบริษัทร่วมทุน ในปี 2008 มีจำนวนรัฐวิสาหกิจดำเนินงานภายใต้รัฐบาลกลางอยู่ 150 แห่ง[57] หลังปฏิรูปพบว่ารัฐวิสาหกิจเหล่านี้มีพลวัตรเพิ่มขึ้น และกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐในปีเดียวกัน[58][59] อีกทั้งได้นำพาให้เศรษฐกิจจีนพลิกฟื้นในปี 2009 ท่ามกลางวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลก[60] อย่างไรก็ดีมีนักมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ออกมาปกป้องโมเดลเศรษฐกิจของจีนจากการวิพากษ์วิจารณ์ โดยชี้ว่าเศรษฐกิจสังคมนิยมแบบวางแผนนั้น จะบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมือมีการพัฒนาวิถีสังคมนิยมด้วยเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาดควบคู่ไปกับเศรษฐกิจที่แลกเปลี่ยนโภคภัณฑ์เสียก่อนเป็นอันดับแรก อันจะทำให้ระบบสังคมนิยมปรากฏขึ้นมาหลังจากที่พัฒนาการขั้นตอนแรกหมดความจำเป็นไปเองทางประวัติศาสตร์ และจะแปรสภาพตัวเองไปเป็นสังคมนิยมอย่างช้า ๆ[53] ผู้เชี่ยวชาญโมเดลของจีนยังแย้งเพิ่มเติมอีกว่า ระบบเศรษฐกิจของอดีตสหภาพโซเวียตและประเทศบริวารนั้น ใช้วิถีทางกฎหมายเพื่อบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจธรรมชาติ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน โดยข้ามขั้นตอนที่จำเป็นของการพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาดเสียก่อน[61] สังคมนิยมประชาธิปไตยนักสังคมนิยมประชาธิปไตยบางราย ให้การสนับสนุนรูปแบบที่แตกต่างกันไปของระบบสังคมนิยมตลาด บ้างก็สนับสนุนระบบที่มีรูปแบบการบริหารจัดการตนเอง บ้างก็สนับสนุนเศรษฐกิจส่วนร่วมแบบไร้ตลาด ที่มีลักษณะของการวางแผนเศรษฐกิจแบบกระจายศูนย์[62] อนาธิปไตยนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ปิแอร์-โจเซฟ พรูดอน คือบุคคลแรกที่เรียกตนเองว่านักอนาธิปไตย และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นนักทฤษฎีอนาธิปไตยที่ทรงอิทธิพลที่สุดผู้หนึ่ง ตลอดจนได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งอนาธิปไตย”[63] พรูดอนได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสหลังเหตุการณ์ปฏิวัติแห่งปี 1848 ซึ่งขณะนั้นพรูดอนได้รับฉายานามว่าเป็น “นักนิยมสหพันธรัฐ” วลีของพรูดอน “[การมี]ทรัพย์สินคือโจรกรรม!” นั้นทำให้พรูดอนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง วลีนี้ปรากฏอยู่ในงานเขียนในปี 1840 ของพรูดอนชื่อ ทรัพย์สินคืออะไร? หนังสือเล่มนี้ทำให้พรูดอนตกเป็นที่จับตาดูของเจ้าหน้าที่รัฐในฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังตกเป็นที่สังเกตของ คาร์ล มากซ์ จึงทำให้เริ่มมีการสื่อสารระหว่างกัน ทั้งคู่ต่างก็มีอิทธิพลทางความคิดต่อกัน ท้ายที่สุดจึงได้มีโอกาสได้พบปะกันที่ปารีสในช่วงที่มาร์กซ์กำลังลี้ภัยอยู่ที่นั่น อย่างไรก็ดีมิตรภาพของทั้งสองจบลงเมื่อมาร์กซ์ได้เขียนงานวิจารณ์หนังสือของพรูดอนที่ชื่อว่า ปรัชญาแห่งความขัดสน ด้วยงานเขียนของตนเองที่ตั้งชื่อว่า ความขัดสนแห่งปรัชญา ความขัดแย้งนี้เป็นที่มาของการแยกตัวกันภายในสมาคมคนงานสากล ออกเป็นปีกอนาธิปไตยและปีกมาร์กซิสต์ อนาธิปไตยตลาดปีกซ้าย คือแนวคิดอนาธิปไตยเชิงปัจเจกที่มีรูปแบบของสังคมนิยมที่ใช้กลไกตลาด บางครั้งก็เรียกขานกันว่า อิสระนิยมซ้าย และสังคมนิยมแบบอิสระนิยม มีบุคคลสำคัญที่ควรกล่าวถึงคือ เควิน คาร์สัน[64][65] ร็อดเดอริก ที. ลอง[66][67] ชาร์ลส ดับเบิ้ลยู. จอห์นสัน[68] แบรด สแปงเกลอร์[69] ซามูเอล เอ็ดวาร์ด คอนคิน ที่ 3[70] เชลดอน ริชแมน[71][72][73] คริส แมทธิว สเชียบาร์รา[74] และแกรี่ ชาร์ติเยร์[75] นักคิดเหล่านี้เน้นถึงความสำคัญของตลาดเสรีที่มีลักษณะของความอิสระอย่างสุดขีด โดยเรียกว่า ตลาดปลดปล่อย เพื่อให้แตกต่างจากความหมายของตลาดทั่วไป โดยมุ่งหวังที่จะกำจัดอภิสิทธิ์ของนายทุนและนักอำนาจรัฐนิยม[76] ข้อวิพากษ์วิจารณ์นักปฏิเสธตลาดเช่น เดวิด แมคนัลลี แย้งแนวคิดแบบมาร์กซิสต์โดยกล่าวว่า เนื้อแท้ของกลไกตลาดนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม และกล่าวว่าหลักการเจตนาและปรัชญาทางศีลธรรมของอดัม สมิธ ที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมนั้น ถูกบ่อนทำลายโดยวิถีแห่งตลาดเสรีของสมิธเอง เนื่องจากพัฒนาการของเศรษฐกิจกลไกตลาดย่อมความเกี่ยวข้องกับวิถีแห่งการบีบบังคับ การขูดรีด และความรุนแรง ที่หลักการเจตนาทางศีลธรรมของสมิธเองก็ไม่อาจยอมรับได้ แมคนัลลียังวิจารณ์สังคมนิยมที่ใช้กลไกลตลาดในข้อที่ว่า ระบบนี้ศรัทธาในวิถีของตลาดยุติธรรมที่มีการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน และเชื่อว่าตลาดจะบรรลุผลสำเร็จได้ด้วยการกรองทิ้งองค์ประกอบที่เป็นเสมือนปรสิตออกไปจากเศรษฐกิจตลาด เช่นกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตของเอกชน ดังนั้นสังคมนิยมตลาดจึงมีความย้อนแย้งทั้งที่ระบบสังคมนิยมมีนิยามว่าเป็นจุดจบของแรงงานที่พึ่งพิงค่าแรง[77] ดูเพิ่ม
อ้างอิง
เอกสารเพิ่มเติม
Information related to สังคมนิยมตลาด |