Share to:

 

อาดัมกับเอวา

อาดัมกับเอวา (อังกฤษ: Adam and Eve) ตามความเชื่อใน เรื่องเล่าการทรงสร้างในปฐมกาล[Note 1] ของศาสนาในกลุ่มศาสนาอับราฮัม,[2][3] พวกเขาคือชายและหญิงคู่แรก และเป็นหัวใจสำคัญของความเชื่อที่ว่ามนุษยชาติล้วนสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษคู่แรกดั้งเดิม[4] นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นพื้นฐานของหลักคำสอนเรื่อง การตกในบาป และ บาปกำเนิด ซึ่งเป็นความเชื่อที่สำคัญในศาสนาคริสต์ แม้ว่า ศาสนายูดาห์ และ ศาสนาอิสลาม จะไม่ได้นับถือหลักคำสอนเหล่านี้ก็ตาม[5]

หนังสือปฐมกาล บทที่ 1–5 ของพระคัมภีร์ฮีบรู นำเสนอเรื่องราวการสร้างสรรค์ 2 แบบที่มุมมองแตกต่างกัน

เรื่องเล่าแรกเน้นย้ำถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าและบทบาทของมนุษย์ พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายของพระองค์เอง มอบหมายให้มนุษย์ขยายเผ่าพันธุ์และดูแลสิ่งสร้าง เรื่องเล่านี้ไม่ได้ระบุชื่ออาดัมกับเอวา

เรื่องเล่าที่สอง เน้นย้ำถึงการล่อลวง บาป และผลลัพธ์ที่ตามมา พระเจ้าปั้นอาดัมจากดินและวางไว้ในสวนเอเดน ทรงกำหนดกฎห้ามกินผลไม้จาก "ต้นไม้แห่งการรู้ถึงความดีและความชั่ว" และสร้างเอวาจากซี่โครงของอาดัมเป็นคู่เคียง งูล่อลวงเอวากินผลไม้ต้องห้าม ทำให้อาดัมและเอวาได้รับรู้ดีรู้ชั่ว เกิดความละอายเกี่ยวกับความเปลือยกาย ทำให้พระเจ้าทรงลงโทษทั้งงู มนุษย์ และผืนดิน มนุษย์ถูกขับไล่ออกจากสวนเอเดน

แม้ อาดัมและเอวา จะไม่ได้ถูกกล่าวถึงอีกใน พระคัมภีร์ฮีบรู นอกเหนือจากชื่อของอาดัมที่ปรากฏใน 1 พงศาวดาร 1:1[6] ซึ่งบ่งบอกว่า ถึงแม้เรื่องราวของพวกเขาจะถูกนำมาเชื่อมโยงกับเรื่องราวของชาวยิว แต่แท้จริงแล้วมีความเกี่ยวข้องกันน้อย[7] เรื่องราวของอาดัมและเอวา มีการตีความและเสริมแต่งอย่างมากใน ศาสนาอับราฮัม ยุคหลัง และนักปราชญ์ด้านพระคัมภีร์ในยุคปัจจุบันก็ได้ทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดเช่นกัน การตีความและความเชื่อเกี่ยวกับ อาดัมและเอวา รวมถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพวกเขานั้นมีความหลากหลายในแต่ละศาสนาและนิกาย อย่างเช่น ศาสนาคริสต์: เน้นย้ำถึงบาปกำเนิดและการไถ่บาปโดยพระเยซูคริสต์, ศาสนายูดาห์: เน้นย้ำถึงพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับชาวยิว, ศาสนาอิสลาม: เน้นย้ำถึงความเชื่อฟังต่อพระเจ้าและบทบาทของนบี เรื่องราวของอาดัมและเอวา มักปรากฏในงานศิลปะ และยังมีอิทธิพลสำคัญต่อวรรณกรรมและบทกวีด้วย

คำบรรยายพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู

จิตรกรรมฝาผนังการสร้างอาดัมเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน โดย มีเกลันเจโล ค.ศ. 1508–1512

บทเปิดของหนังสือปฐมกาล นำเสนอประวัติศาสตร์ในเชิงตำนานเกี่ยวกับการแทรกซึมของความชั่วร้ายเข้าสู่โลก[8] พระเจ้าทรงวางชายและหญิงคู่แรก (อาดัมและเอวา) ไว้ในสวนเอเดน แต่พวกเขาก็ถูกขับไล่ออกมา จากนั้น เกิดการฆาตกรรมครั้งแรก ตามมาด้วยการตัดสินใจของพระเจ้าที่จะทำลายล้างโลก และทรงช่วยเหลือเฉพาะ โนอาห์ ผู้ชอบธรรม กับบุตรชายของเขาเท่านั้น; มนุษยชาติรุ่นใหม่ถือกำเนิดขึ้นจากพวกเขา และแพร่กระจายไปทั่วโลก ถึงแม้โลกใบใหม่จะมีความชั่วร้ายไม่ต่างจากโลกใบเก่า แต่พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะไม่ทำลายล้างโลกด้วยน้ำท่วมอีกเลย ประวัติศาสตร์ในส่วนนี้จบลงที่ เตราห์ บิดาของอับราฮัม บรรพบุรุษของชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกไว้ นั่นคือ ชาวอิสราเอล[9]

เรื่องเล่าการทรงสร้าง

อาดัม และ เอวา ถือเป็นชายและหญิงคู่แรกในคัมภีร์ไบเบิล[10][11] ชื่อของอาดัม ปรากฏครั้งแรกในปฐมกาล บทที่ 1 ในความหมายรวม หมายถึง "มนุษยชาติ" ต่อมาในปฐมกาล บทที่ 2-3 ชื่อของอาดัมมีคำนำหน้านามแน่นอนว่า "ha" ซึ่งเทียบเท่ากับภาษาอังกฤษว่า "the" บ่งบอกว่านี่คือ "ชายคนนั้น"[10] ในบทเหล่านี้ พระเจ้าทรงปั้น "ชายคนนั้น" (ha adam) จากดิน (adamah) ทรงเป่าลมปราณลงในจมูกของเขา และมอบหมายให้เขาดูแลสิ่งทรงสร้าง[10] จากนั้น พระเจ้าทรงสร้างผู้หญิงคนหนึ่งเป็น "ผู้ช่วยที่เหมาะสมกับเขา" ezer kenegdo จากด้านข้างหรือซี่โครงของเขา [11] คำว่า 'rib' (ซี่โครง) ในภาษาซูเมเรียนเป็นการเล่นคำ โดยคำว่า ti มีความหมายทั้ง "ซี่โครง" และ "ชีวิต"[12][13] เธอถูกเรียกว่า ishsha ซึ่งแปลว่า "ผู้หญิง" เพราะตามที่ข้อความระบุ เธอถูกสร้างขึ้นมาจาก ish ซึ่งแปลว่า "ชาย"[11] ชายคนนั้นยินดีต้อนรับเธอด้วยความชื่นชม และข้อความแจ้งแก่ผู้อ่านว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป ชายคนหนึ่งจะออกจากพ่อแม่ของเขาเพื่อไป "ผูกพัน" กับผู้หญิง ทั้งสองกลายเป็นเนื้อเดียวกัน[11]

การตกในบาป

The Rebuke of Adam and Eve, Natoire, 1740

ชายและหญิงคู่แรก อาศัยอยู่ใน สวนเอเดน ของพระเจ้า ที่ซึ่งสรรพสิ่งล้วนกินพืชผัก และไม่มีความรุนแรง พวกเขาได้รับอนุญาตให้กินผลไม้จากต้นไม้ทุกต้น ยกเว้นเพียงต้นเดียว นั่นคือ ต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว หญิง ถูกชักจูงโดย งู ที่สามารถพูดได้ ให้กินผลไม้ต้องห้าม และเธอก็แบ่งผลไม้นั้นให้ ชาย ซึ่งเขาก็รับประทานเช่นกัน[11] (ตามความเชื่อที่ผิดเพี้ยนกันไป เธอไม่ได้ล่อลวงชาย ผู้ชายน่าจะอยู่ด้วยในขณะที่เธอพบกับงู)[11] พระเจ้าทรงสาปแช่งทั้งสาม โดยสาปแช่งให้ชายทำงานหนักไปตลอดชีวิตจนกว่าจะเสียชีวิต ส่วนหญิงต้องเจ็บปวดทรมานขณะคลอดบุตร และอยู่ภายใต้การปกครองของสามี ส่วนงูต้องเลื้อยไปบนท้อง และกลายเป็นศัตรคู่แค้นกับทั้งชายและหญิง[11] จากนั้น พระเจ้าทรงปกปิดความเปลือยเปล่า ให้ชายและหญิง ผู้ที่กลายเป็นเหมือนพระเจ้า เพราะรู้ดีรู้ชั่ว แล้วทรงขับไล่พวกเขาออกจากสวน มิให้พวกเขากินผลไม้จากต้นไม้ต้นที่สอง คือ ต้นไม้แห่งชีวิต และมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์[14]

การถูกขับออกจากสวนเอเดน

เนื้อหาต่อเนื่องในปฐมกาล บทที่ 3 ด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับ "การขับไล่ออกจากสวนเอเดน" การวิเคราะห์รูปแบบของปฐมกาล บทที่ 3 เผยให้เห็นว่า เนื้อหาส่วนนี้สามารถจัดเป็นได้ทั้ง นิทานคติสอนใจ (parable) หรือ "นิทานสอนปัญญา" (wisdom tale) ตามแนวคิดของ ปัญญาจารย์ บทกวีในบทนี้จัดอยู่ในประเภทของ ปัญญาเชิงปรัชญา ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ความย้อนแย้ง และ ความจริงอันโหดร้ายของชีวิต ลักษณะเด่นนี้พิจารณาจากรูปแบบ โฉมเรื่อง และ โครงเรื่องของนิทาน รูปแบบของปฐมกาล บทที่ 3 ยังได้รับการแต่งแต้มด้วยคำศัพท์ โดยใช้ การเล่นคำ และ ความกำกวมสองแง่ หลากหลาย[15]

เนื้อหาเกี่ยวกับการขับไล่ออกจากสวนเอเดน เริ่มต้นด้วย บทสนทนา ระหว่าง เอวา กับ งู[16] ระบุไว้ในปฐมกาล 3:1[17] ระบุว่าเป็นสัตว์ที่ เจ้าเล่ห์ กว่าสัตว์อื่นใดที่พระเจ้าทรงสร้าง แม้ว่าปฐมกาลไม่ได้ระบุว่า งู คือ ซาตาน.[18]เอวา ยินดีที่จะคุยกับ งู และตอบสนองต่อความ เย้ยหยัน ของสัตว์ตัวนี้ด้วยการย้ำคำสั่งห้ามของพระเจ้าเกี่ยวกับการกินผลไม้จาก ต้นไม้แห่งความรู้ (ปฐมกาล 2:17)[19][20] เอวา ถูกชักจูงให้คุยตามคำแนะนำของ งู ซึ่งโต้แย้งคำสั่งของพระเจ้าโดยตรง[21] งู ยืนยันกับ เอวา ว่าพระเจ้าจะไม่ทรงบันทึกเธอตายหากเธอกินผลไม้ และยิ่งไปกว่านั้น หากเธอกินผลไม้นั้น "ตาของเธอจะสว่าง" และเธอจะ "เป็นเหมือนพระเจ้า รู้ดีรู้ชั่ว" (ปฐมกาล 3:5)[22] เอวา เห็นว่าผลไม้จาก ต้นไม้แห่งความรู้ นั้น น่าดูน่ากิน และการกินผลไม้จะเป็นการเพิ่มพูนปัญญา เอวา กินผลไม้และแบ่งให้ อาดัม (ปฐมกาล 3:6)[23] เหตุการณ์นี้ทำให้ อาดัม และ เอวา รู้ถึงความเปลือยเปล่าของตนเอง พวกเขาจึงทำ เครื่องปิดร่างกายด้วยใบมะเดื่อ (ปฐมกาล 3:7)[24][25]

อาดัมและเอวาในเอกสารตัวเขียนสีวิจิตร(ป. 950)

บทสนทนาที่บรรยายเอาไว้ต่อไป พระเจ้าทรงซักถามชายและหญิง (ปฐมกาล 3:8–13),[26][16] โดยเริ่มบทสนทนาด้วยการเรียกชายมาหาพร้อมตั้งคำถามเชิงโวหาร ชายตอบว่าเขาซ่อนตัวในสวนเพราะกลัวหลังรู้ตัวว่าเปลือยกาย (ปฐมกาล 3:10)[27][28] พระเจ้าทรงถามคำถามเชิงโวหารอีกสองข้อ เพื่อให้ชายสำนึกว่าเขาฝ่าฝืนคำสั่ง ชายจึงโทษหญิงว่าเป็นผู้กระทำผิด และกล่าวเป็นนัยว่าพระเจ้าทรงรับผิดชอบเพราะประทานหญิงให้แก่เขา (ปฐมกาล 3:12)[29][30] พระเจ้าตรัสเรียกหญิงมาอธิบายตัวเอง แต่เธอกลับโยนความผิดให้กับงู (ปฐมกาล 3:13)[31][32]

คำประกาศของพระเจ้า ลงโทษผู้กระทำผิดทั้งสาม (ปฐมกาล 3:14–19)[33][16] A บทลงโทษเริ่มจากการประกาศลักษณะของความผิด ต่อเนื่องไปยัง งู, ผู้หญิง และ ชาย ตามลำดับ สำหรับงู พระเจ้าทรงสาปงู[34] สำหรับผู้หญิง ผู้หญิงได้รับโทษที่ส่งผลต่อบทบาทหลักสองประการของเธอ ดังนี้ เธอจะประสบความทุกข์ทรมานระหว่างการตั้งครรภ์ และ ความเจ็บปวดระหว่างการคลอดบุตร และเธอจะปรารถนาสามีของเธอ แต่เขาจะปกครองเธอ[35] ส่วนชายคนนี้ถูกลงโทษโดยพระเจ้าสาปแช่งดินที่เขาสร้างมา และเขาได้รับคำพยากรณ์ถึงความตาย แม้ว่าในข้อความจะไม่ได้ระบุว่าเขาเป็นอมตะ[18]: 18 [36] ทันใดนั้น ระหว่างที่ไล่เรียงไปตามเนื้อหาของ ปฐมกาล 3:20[37] ชายผู้นี้ได้ตั้งชื่อผู้หญิงว่า "เอวา" (ฮิบรู: hawwah) "เพราะเธอเป็นแม่ของสรรพชีวิต" พระเจ้าทรงทำ เสื้อผ้าหนัง ให้แก่ อดัมและเอวา (ปฐมกาล 3:20)[38]

ปฐมกาล 3:19 กล่าวถึง คำพยากรณ์ถึงความตาย ของอาดัม โดยใช้โครงสร้างการเรียงประโยคแบบไขว้[39] เชื่อมโยงการสร้างอาดัมจาก "ดิน" (ปฐมกาล 2:7)[40] กับการ "กลับคืน" สู่สภาวะเดิม:[41] "เจ้าจะกลับคืนสู่ดิน เพราะเจ้าถูกสร้างจากดิน เจ้าเป็นเพียงดิน และเจ้าจะกลับคืนเป็นดิน"

สวนเอเดน บทบรรยายจบลงด้วย บทบรรยายภายในองค์พระเจ้าตัดสินใจขับไล่สามีภรรยาออกจากสวน และดำเนินการตามคำตัดสินนั้น (ปฐมกาล 3:22-24)[42][16] The reason given for the expulsion was to prevent the man from eating from the tree of life เหตุผลที่ขับไล่ เนื่องจากต้องการป้องกันมิให้ชายผู้นั้นกินผลไม้แห่งชีวิต และกลายเป็นอมตะ "ดูสิ พวกมนุษย์ได้กลายมาเป็นเหมือนเราแล้ว คือรู้จักผิดชอบชั่วดี และตอนนี้เขาอาจจะยื่นมือออกไปหยิบผลไม้จากต้นไม้แห่งชีวิตมากิน และมีชีวิตอยู่ตลอดไป" (ปฐมกาล 3:22)[43][18]: 18 [44] พระเจ้าทรงขับไล่อาดัมและเอวาออกจากสวน และทรงตั้ง เครูบ (สิ่งเหนือธรรมชาติที่ให้ความคุ้มครอง) พร้อม "ดาบเพลิง" ไว้เฝ้าทางเข้า (ปฐมกาล 3:24)[45][46]

ลูกหลาน

ปฐมกาล บทที่ 4 เล่าถึงชีวิตนอกสวนเอเดน รวมถึงการกำเนิดบุตรคนแรกของอาดัมและเอวา คาอินและอาเบล และเรื่องราวของการฆาตกรรมครั้งแรก บทความยังเล่าถึง เสท บุตรคนที่สามของอาดัมและเอวา และการมี "บุตรชายและธิดาคนอื่น ๆ" ของอาดัม (ปฐมกาล 5:4)[47] บทที่ 5 บรรยายรายชื่อลูกหลานของอาดัมตั้งแต่เซ็ธจนถึงโนอาห์ พร้อมทั้งระบุอายุขณะคลอดบุตรคนแรกและอายุขณะเสียชีวิต โดยระบุว่าอาดัมเสียชีวิตเมื่ออายุ 930 ปี หนังสือยูบิลี (Book of Jubilees) ระบุว่า คาอินแต่งงานกับอาวัน น้องสาวของเขา ซึ่งเป็นธิดาของอาดัมและเอวา[48]

ประวัติศาสตร์จารึก

บทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรก เป็นบทนำของโทราห์ ซึ่งเป็น 5 บทแรกที่เล่าถึงประวัติความเป็นมาของชนชาติอิสราเอล เนื้อหาในบทความนี้ได้รับการรวบรวมจนเกือบจะเป็นรูปแบบเดียวกับปัจจุบันในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล[49] ถึงแม้ ปฐมกาล 1–11 จะมีความเชื่อมโยงน้อยมากกับส่วนอื่น ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล[50] ตัวอย่างเช่น ชื่อตัวละครและสถานที่ เช่น อาดัม (แปลว่า มนุษย์) และเอวา (แปลว่า ชีวิต) แดนโนด (แปลว่า การพเนจร) เป็นชื่อเชิงสัญลักษณ์มากกว่าที่จะเป็นชื่อจริง[51] และ บุคคล สถานที่ และเรื่องราวที่กล่าวถึงในบทความนี้ แทบจะไม่มีปรากฏที่อื่นอีกเลย[51] สิ่งนี้ทำให้เหล่านักวิชาการสันนิษฐานว่า บทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรกน่าจะเป็นบทประพันธ์ยุคหลังที่นำมาต่อเติมบทปฐมกาล และ เบญจบรรณ (Pentateuch) เพื่อใช้เป็นบทนำ[52] ช่วงเวลาที่แท้จริงของการประพันธ์ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นช่วงปลายสุด เห็นว่า บทความนี้เป็นผลงานในสมัยเฮลเลนิสต์ ซึ่งอย่างเร็วที่สุดก็คือช่วงทศวรรษแรก ๆ ของศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล[53] ในทางกลับกัน แหล่งข้อมูลของ ยาห์วิสต์ (Yahwist) กลับถูกนักวิชาการบางคน เช่น จอห์น แวน เซเตอร์ส ระบุว่ามาจากช่วงก่อนการถูกเนรเทศของชาวยิวในยุคก่อนเปอร์เซีย (ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล) เนื่องจาก บทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรก ได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก ตำนาน บาบิโลน[54][Note 2] บทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรก อาศัยแหล่งที่มาที่แตกต่างกัน 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งที่มาของปุโรหิต และแหล่งที่มาที่บางครั้งเรียกว่ายาห์วิสต์ หรือบางครั้งเรียกง่าย ๆ ว่า แหล่งที่มาที่ ไม่ใช่ปุโรหิต (non-Priestly)สำหรับการพิจารณาเรื่องราวของ อาดัมและเอวา ใน บทปฐมกาล (Genesis) เราสามารถใช้คำว่า "ไม่ใช่ปุโรหิต" และ "ยาห์วิสต์" แทนกันได้[55]

ประเพณีของกลุ่มศาสนาอับราฮัม

ศาสนายูดาห์

ใน ศาสนายูดาห์โบราณ มีการยอมรับว่ามีคำบรรยายการสร้างมนุษย์ที่แตกต่างกันสองแบบ เรื่องแรกกล่าวว่า "ชายและหญิง [พระเจ้า] เป็นผู้สร้างพวกเขา" ซึ่งสื่อถึงการสร้างพร้อมกัน ในขณะที่เรื่องที่สองระบุว่าพระเจ้าทรงสร้างเอวาหลังจากการสร้างอาดัม. มิดราช รับบา (Midrash Rabbah) – ปฐมกาล VIII:1 ได้อธิบายความแตกต่างนี้โดยกล่าวในบทปฐมกาล 1 ว่า "ชายและหญิง [พระเจ้า] ทรงสร้างพวกเขา" บ่งบอกว่า เดิมทีพระเจ้าทรงสร้างอาดัมเป็น เฮอร์มาโฟรไดต์[56] ซึ่งมีทั้งเพศชายและเพศหญิงทางร่างกายและวิญญาณ ก่อนที่จะทรงแยกอาดัมและเอวาออกเป็นสองบุคคล รับบี บางท่านเสนอว่า เอวาและผู้หญิงในเรื่องแรกเป็นคนละคน โดยคนแรกถูกระบุว่าเป็น ลิลิธ ซึ่งในคัมภีร์อื่นๆ ถูกกล่าวถึงว่าเป็นปีศาจร้ายแห่งราตรี

ตามความเชื่อดั้งเดิมของศาสนายูดาห์ อาดัมและเอวาถูกฝังไว้ในถ้ำพระสังฆราช (Cave of Machpelah) ใน ฮีบรอน.

ปฐมกาล 2:7 กล่าวว่า "พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงปั้นมนุษย์ด้วยผงคลีจากพื้นดิน ระบายลมปราณเข้าทางจมูกของเขา มนุษย์จึงกลายเป็นเนเฟช ฮายา" คำนี้มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "สิ่งมีชีวิต" ในภาษาอังกฤษ ในแง่ของร่างกายที่สามารถมีชีวิตได้ แนวคิดเรื่อง "วิญญาณ" ในความหมายสมัยใหม่ ไม่มีอยู่ในความคิดของชาวฮีบรูจนกระทั่งประมาณศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เมื่อความคิดเรื่อง การฟื้นคืนชีพของร่างกาย ได้รับความนิยม[57]

ศาสนาคริสต์

ทางเข้าของอาสนวิหารน็อทร์-ดามในปารีส มีรูปปั้นของอาดัม, เอวา และ งูเพศเมีย (มักเรียกกันว่าลิลิธ)

ผู้นำคริสตจักรบางท่านในยุคแรกมองว่า เอวา ต้องรับผิดชอบต่อ การตกในบาป ของมนุษย์ และผู้หญิงทุกคนที่เกิดตามมาถือเป็นคนบาปคนแรก เนื่องจากเอวาเป็นฝ่ายชักจูงอาดัมให้ทำผิดในพระบัญญัติ คำพูดที่ว่า "เจ้าคือประตูสู่นรก" โดยเทอร์ทูลเลียน (Tertullian) กล่าวกับผู้อ่านเพศหญิงของเขา และอธิบายต่อไปว่าพวกเธอต้องรับผิดชอบต่อการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ "เพราะบาปของคุณ [นั่นคือ การลงโทษสำหรับบาป ซึ่งก็คือความตาย] แม้แต่พระบุตรของพระเจ้าก็ต้องสิ้นพระชนม์"[58] ในปี ค.ศ. 1486 บาทหลวง ดอมินิกัน คราเมอร์ (Kramer) และ สเปรนเกลอร์ (Sprengler) ใช้เอกสารทำนองเดียวกันในหนังสือ มัลเลอุส มาเลฟิการุม (Malleus Maleficarum, ค้อนแห่งแม่มด) เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินประหารแม่มด

งานศิลปะคริสต์ศาสนายุคกลาง นิยม บรรยาย งูในสวนเอเดนเป็นรูปผู้หญิง (มักเรียกกันว่าลิลิธ) ซึ่งเน้นย้ำทั้ง ความเย้ายวน ของงู และความเชื่อมโยงระหว่างงูกับเอวาไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ปิตาจารย์แห่งคริสตจักร ยุคแรก ๆ หลายท่าน รวมถึง คลีเมนต์ ออฟ อเล็กซานเดรีย (Clement of Alexandria) และ ยูเซบิอุสแห่งซีซาเรีย (Eusebius of Caesarea) ตีความ คำภาษาฮีบรู "เฮวา" ว่า ไม่เพียงแต่เป็นชื่อของเอวาเท่านั้น แต่ยังหมายถึง "งูเพศเมีย" ในรูปสระที่มีการ บิดรูป อีกด้วย

อ้างอิงจากหลักคำสอนของคริสต์ศาสนาเกี่ยวกับ การตกในบาปของมนุษย์ นำไปสู่หลักคำสอนเรื่องบาปกำเนิด นักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป (354–430), ศึกษาควบคู่กับจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม ตีความคำกล่าวของ อัครทูตเปาโล ว่า บาปของอาดัมถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์: "ความตายจึงได้ลุกลามไปถึงมนุษย์ทุกคน เพราะว่าทุกคนได้ทำบาปในอาดัม" (โรม 5:12)[59] บาปกำเนิด กลายเป็นแนวคิดที่ว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมสภาพแห่งความบาป และต้องรอการไถ่บาป หลักคำสอนนี้กลายเป็นรากฐานสำคัญของประเพณีเทววิทยาคริสต์ศาสนาฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ไม่ได้รับการยอมรับในศาสนายูดาห์หรือคริสตจักรอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์

ตลอดหลายศตวรรษ ระบบความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ของคริสต์ศาสนาได้พัฒนาขึ้นมาจากหลักคำสอนเหล่านี้ พิธีบัพติศมา ถูกเข้าใจในหลายนิกายว่าเป็นการชำระล้างมลทินของ บาปกำเนิด แม้ว่าสัญลักษณ์ดั้งเดิมนั้นคือการเกิดใหม่ นอกจากนี้ งู ที่เข้ามาล่อลวงเอวา ถูกตีความว่าเป็น ซาตาน เอง หรือ ซาตาน ใช้ งู เป็นสื่อ ทั้งที่ไม่มีการกล่าวถึงการระบุตัวตนนี้ในโทราห์ และศาสนายูดาห์ไม่ได้ยึดถือความเชื่อนี้

นอกเหนือจากการพัฒนารากฐานความเชื่อเกี่ยวกับมนุษย์คู่แรก (protoplasts) แล้ว คริสตจักรยุคกลาง ยังได้เสริมแต่งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผ่านตำนานอันหลากหลายที่เรียกว่า หนังสือแห่งอาดัม (Adam books) ซึ่งเล่าถึงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพลัดพรากจากสวนเอเดน รวมถึงชีวิตของอาดัมและเอวาหลังจากถูกขับไล่ออกมา เรื่องราวเหล่านี้ยังมีการสืบทอดไปใน ตำนานแห่งไม้กางเขน (Legend of the Rood) โดยกล่าวถึงการเดินทางกลับไปยังสวรรค์ของเสท บุตรชายของอาดัมและเอวา และเหตุการณ์ต่อเนื่องที่เกี่ยวเนื่องกับไม้จากต้นไม้แห่งชีวิต ตำนานเหล่านี้ผู้คนในยุโรปต่างให้ความเชื่อถือกันอย่างแพร่หลาย มาจนถึงช่วงยุคเริ่มต้นของยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่

ศาสนจักรคาทอลิก สอนว่า อาดัมและเอวา เป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนจริง และเป็นผู้รับผิดชอบต่อ บาปกำเนิด ตามเรื่องราวใน ปฐมกาล จุดยืนนี้ได้รับการยืนยันโดย สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ใน ประกาศิต ยูมานิเจเนอริส (Humani Generis) ซึ่งทรงประณามทฤษฎี กำเนิดมนุษย์หลายสายพันธุ์ (polygenism) และยืนยันว่า บาปกำเนิดเกิดจาก "บาปที่อาดัมได้กระทำจริง"

อย่างไรก็ตาม ประกาศิต ยูมานิเจเนอริส ยังระบุว่า ความเชื่อเรื่อง วิวัฒนาการ ไม่ขัดแย้งกับหลักคำสอนโรมันคาทอลิก ซึ่งนำไปสู่การยอมรับ วิวัฒนาการเทวนิยม อย่างค่อยเป็นค่อยไปในหมู่นักเทววิทยา โรมันคาทอลิก และ คาทอลิกอิสระ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2, สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 และ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส[60][61][62][63]

สำหรับคริสเตียนบางกลุ่ม (โดยเฉพาะใน คริสตจักรออร์โธดอกซ์) การตกบาปของอาดัมและเอวานั้นถูกมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่ อยู่นอกเหนือประวัติศาสตร์ และส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์ของจักรวาลทั้งหมด แนวคิดเรื่อง การตกที่ไร้กาลเวลา (atemporal fall) นี้ได้รับการอธิบายโดยนักเทววิทยาออร์โธดอกซ์สมัยใหม่ ได้แก่ เดวิด เบนท์ลีย์ ฮาร์ท (David Bentley Hart), จอห์น เบห์ร์ (John Behr) และ เซอร์เกย์ บุลกาคอฟ (Sergei Bulgakov) แต่แนวคิดนี้มีรากฐานมาจากงานเขียนของปิตาจารย์ยุคแรกหลายท่าน โดยเฉพาะ ออริเจน (Origen) และ แม็กซิมัสผู้สารภาพ (Maximus the Confessor) [64][65][66] บุลกาคอฟเขียนไว้ในหนังสือ The Bride of the Lamb (เจ้าสาวแห่งพระเมษบาล) ปี 1939 ฉบับแปลโดย บอริส จาคิม (สำนักพิมพ์วิลเลียม บี. เอิร์ดแมนส์, ค.ศ. 2001) ว่า "ประวัติศาสตร์เชิงประจักษ์เริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริงจากการตก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์" และว่าใน "เรื่องราวในปฐมกาล บทที่ 3 ...ได้บรรยายเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือประวัติศาสตร์ของเรา แม้ว่าจะอยู่บริเวณขอบเขตของมัน"[67] เดวิด เบนท์ลีย์ ฮาร์ท ได้เขียนเกี่ยวกับแนวคิดการตกที่ไร้กาลเวลานี้ในหนังสือ The Doors of the Sea (ประตูแห่งท้องทะเล) ปี 2005 รวมถึงบทความ "The Devil's March: Creatio ex Nihilo, the Problem of Evil, and a Few Dostoyevskian Meditations" (จากหนังสือ Theological Territories ปี 2020)[68]

ไญยนิยม

ในตำราไญยนิยม ในตำราไญยนิยมที่ยังหลงเหลืออยู่สองเล่ม ได้แก่ พระวะยาศัยแห่งอาดัม (Apocalypse of Adam) ซึ่งพบใน คัมภีร์ไน ฮัมมะดี (Nag Hammadi) และ พันธสัญญาของอาดัม (Testament of Adam) แนวคิดหลักของตำราเหล่านี้คือการสร้างอาดัมในฐานะ โปรโตอันโทรโปส (Protoanthropos) หรือ มนุษย์ดั้งเดิม

ประเพณีไญยนิยมอีกแนวหนึ่งเชื่อว่า อาดัมและเอวาถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยในการต่อต้านซาตาน งู ในตำนานนี้ไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นซาตาน แต่กลับถูกมองว่าเป็น วีรบุรุษ โดย โอเฟียต (Ophites) อย่างไรก็ตาม ไญยนิยมบางกลุ่มเชื่อว่า การตกของซาตานนั้นเกิดขึ้นหลังจากการสร้างมนุษยชาติ ตามตำนานนี้ ซาตานปฏิเสธที่จะกราบไหว้อาดัมเนื่องจากความหยิ่งยโส ซาตานกล่าวว่า อาดัมนั้นด้อยกว่าตนเองเพราะอาดัมถูกสร้างจากดิน ในขณะที่ตนเองถูกสร้างจากไฟ การปฏิเสธนี้เองนำไปสู่ การตกของซาตาน ดังที่บันทึกไว้ใน หนังสือเอโนค (Book of Enoch)

ใน ศาสนามันดาอี (Mandaeism) กล่าวว่า "(พระเจ้า) ทรงสร้างโลกทั้งปวง ทรงสร้างจิตวิญญาณด้วยพลังของพระองค์ และทรงวางจิตวิญญาณลงในร่างกายมนุษย์ด้วยเทวทูต ดังนั้นพระองค์จึงทรงสร้างอาดัมและเอวา มนุษย์ชายและหญิงคนแรก"[69]

อิสลาม

ภาพวาดจาก มานาฟี อัล-ฮายาวัน (สัตว์ที่มีประโยชน์) วาดภาพอาดัมและเอวา จากมาราเกห์ในอิหร่าน ค.ศ. 1294–99

ในศาสนาอิสลาม อาดัม (Ādam; อาหรับ: آدم), ซึ่งมีบทบาทเป็น บิดาแห่งมนุษยชาติ ได้รับความเคารพจาก ชาวมุสลิม เอวา (Ḥawwāʼ; อาหรับ: حواء) ก็เป็น มารดาแห่งมนุษยชาติ เช่นกัน[70] การสร้างอาดัมและเอวามีการกล่าวถึงใน อัลกุรอาน (Qurʼān) แม้ว่านักตีความอัลกุรอานจะมีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องราวการสร้างที่แท้จริง (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ อายะห์ 1)[71]

ใน ตัฟซีร (tafsir) ของ อัลกุมมี (al-Qummi) เกี่ยวกับ สวนเอเดน สถานที่แห่งนั้นไม่ได้อยู่บนโลกทั้งหมด ตามอัลกุรอาน อาดัมและเอวาทั้งคู่ได้กิน ผลไม้ต้องห้าม ใน สวรรค์ ผลจากการกระทำนั้น ทั้งคู่จึงถูกส่งลงมายังโลกในฐานะผู้แทนของพระเจ้า แต่ละคนถูกส่งไปยังยอดเขา อาดัมอยู่บน ภูเขาเศาะฟา (al-Safa) และเอวาอยู่บนภูเขามัรวะฮฺ (al-Marwah) ในประเพณีอิสลามนี้ อาดัมร้องไห้เป็นเวลา 40 วันจนกว่าจะสำนึกผิด หลังจากนั้นพระเจ้าได้ส่ง หินดำ ลงมาเพื่อสอน ฮัจญ์ ให้กับเขา ตาม หะดีษ ของศาสดา อาดัมและเอวาได้กลับมารวมตัวกันที่ ที่ราบเขาอะเราะฟะฮ์ ใกล้กับ มักกะฮ์[72] พวกเขามีลูกหลายคน โดยเฉพาะ กอบีลและฮาบีล[73] นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับบุตรชายคนเล็กชื่อ โรกายล์ (Rocail) ผู้สร้างพระราชวังและสุสานที่มีรูปปั้นอิสระซึ่งมีชีวิตเหมือนมนุษย์จริง ๆ จนถูกเข้าใจผิดว่ามีจิตวิญญาณ[74]

ศาสนาอิสลาม ไม่ได้มีแนวคิดเรื่อง บาปกำเนิด เพราะตามความเชื่อของอิสลาม อาดัมและเอวาได้รับการอภัยโทษจากพระเจ้า เมื่อพระเจ้าทรงบัญชาให้เหล่าเทพบุตรกราบไหว้อาดัม อิบลีส ได้ตั้งคำถามว่า "ข้าพระองค์ดีกว่าเขา โดยที่พระองค์ทรงบังเกิดข้าพระองค์จากไฟ และได้บังเกิดเขาจากดิน"[75] ขบวนการเสรีนิยมในอิสลามมองว่าการบัญชาของพระเจ้าให้เหล่าเทพบุตรกราบไหว้อาดัมเป็นการยกย่องมนุษยชาติ และเป็นวิธีการสนับสนุน สิทธิมนุษยชน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นการแสดงให้อาดัมเห็นว่าศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์บนโลกคือ อัตตา ของตนเอง[76]

ใน วรรณคดีสวาฮิลี เอวากินผลไม้ต้องห้ามซึ่งเป็นสาเหตุให้เธอถูกขับไล่หลังจากถูก อิบลีส ล่อลวง จากนั้นอาดัมก็กินผลไม้ต้องห้ามอย่างกล้าหาญเพื่อติดตามเอวาและปกป้องเธอไว้บนโลก[77]

ศาสนาบาไฮ

ใน ศาสนาบาไฮ มองว่าอาดัมเป็นผู้เห็นพระเจ้า (Manifestation of God) คนแรก[78] เรื่องราวของอาดัมและเอวาถูกมองว่าเป็น สัญลักษณ์ ในหนังสือ คำถามบางประการได้รับคำตอบ (Some Answered Questions) อับดุล-บาฮา ('Abdu'l-Bahá) ไม่ยอมรับการอ่านตามตัวอักษรและระบุว่าเรื่องราวนี้มี "ความลึกลับของพระเจ้าและความหมายสากล"[79] อาดัมเป็นสัญลักษณ์ของ "จิตวิญญาณของอาดัม" เอวาเป็นสัญลักษณ์ของ "ตัวตนของพระองค์" ต้นไม้แห่งความรู้เป็นสัญลักษณ์ของ "โลกแห่งวัตถุ" และงูเป็นสัญลักษณ์ของ "การยึดติดกับโลกแห่งวัตถุ"[80][81][82] การตกของอาดัมจึงแสดงถึงวิธีที่มนุษยชาติตระหนักถึงความดีและความชั่ว[78] ในอีกแง่หนึ่ง อาดัมและเอวาเป็นตัวแทนของพระประสงค์และการตัดสินใจของพระเจ้า ซึ่งเป็นสองขั้นตอนแรกของ เจ็ดขั้นตอน ของการสร้างสรรค์ของพระเจ้า[83]

ประวัติศาสตร์

ในขณะที่ความเชื่อดั้งเดิมระบุว่า โมเสส เป็นผู้เขียน ปฐมกาล นักวิชาการสมัยใหม่มองว่า เรื่องราวการสร้างโลก ในปฐมกาล เป็นหนึ่งใน ตำนานต้นกำเนิด โบราณหลาย ๆ เรื่อง [83][84]

การวิเคราะห์เช่น สมมติฐานเอกสาร (documentary hypothesis) ยังชี้ให้เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นผลมาจากการรวบรวมประเพณีโบราณหลายแหล่ง ทำให้เกิดความขัดแย้งที่เห็นได้ชัด[84][85] ในหนังสือเล่มเดียวกัน เรื่องราวอื่น ๆ อย่าง เรื่องเล่าน้ำท่วมในปฐมกาล ก็ถูกเข้าใจว่าได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมเก่าแก่ โดยมีความคล้ายคลึงกับเรื่องที่เก่าแก่กว่าอย่าง มหากาพย์กิลกาเมช (Epic of Gilgamesh) [86]

จิตรกรรมและวรรณกรรม

จิตรกรรมฝาผนัง การตกบาปของอาดัมกับเอวาเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน

บทกวีมหากาพย์ แพระไดส์ลอสต์ (Paradise Lost; สววรค์ลา หรือ สวรรค์ล่ม) โดยกวีชาวอังกฤษ จอห์น มิลตัน ช่วงในศตวรรษที่ 17 เป็นบทกวีมหากาพย์ในรูปแบบ กลอนเปล่า (blank verse) ได้สำรวจและอธิบายเรื่องราวของอาดัมและเอวาอย่างละเอียด แตกต่างจากอาดัมในคัมภีร์ไบเบิล อาดัมในบทกวีของมิลตันได้รับการเปิดเผยถึง อนาคตของมนุษยชาติ โดย อัครทูตสวรรค์มีคาเอล ก่อนที่เขาจะต้องออกจากสวนเอเดน

มาร์ก ทเวน (Mark Twain) สร้างงานวรรณกรรม ในรูปแบบบันทึกประจำวันของอาดัมและเอวา ที่ตลกขบขันและเสียดสี ในเรื่อง ไดอารี่ของเอวา (Eve's Diary, 1906) และ ชีวิตส่วนตัวของอาดัมและเอวา (The Private Life of Adam and Eve, 1931) ซึ่งตีพิมพ์หลังจากเสียชีวิต

ซี. แอล. มัวร์ (C. L. Moore) ในเรื่อง ผลแห่งความรู้ (Fruit of Knowledge) ปี 1940 ได้เล่าเรื่อง การตกในบาป ใหม่ในรูปแบบ รักสามเส้า ระหว่าง ลิลิธ อาดัม และเอวา โดยการกินผลไม้ต้องห้ามของเอวานั้นเป็นผลมาจากการบงการที่ผิดพลาดของลิลิธที่อิจฉา ซึ่งหวังจะทำให้คู่แข่งของเธอเสียชื่อเสียงและถูกทำลายโดยพระเจ้า เพื่อที่จะได้กลับมาครอบครองความรักของอาดัม

สตีเฟน ชวาร์ตซ์ (Stephen Schwartz) ประพันธ์ละครเพลง Children of Eden ในปี 1991 ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องราวใน ปฐมกาล โดยเล่าเรื่องราวผ่านสองช่วงเวลาหลัก ช่วงแรก มุ่งเน้นไปที่การสร้าง อาดัมและเอวา โดย พระเจ้า (Father) ซึ่งในเรื่องนี้ พระเจ้าทรงสร้างอาดัมและเอวาพร้อมกัน และมองทั้งคู่เป็นลูกของพระองค์ ทั้งสองยังช่วยพระองค์ตั้งชื่อสัตว์อีกด้วย เมื่อเอวากินผลไม้ต้องห้ามจากการล่อลวงของงู พระเจ้าทรงให้อาดัมเลือก ระหว่างพระองค์กับสวนเอเดน หรือ เอวา อาดัมเลือกเอวาและกินผลไม้ ทำให้พระเจ้าทรงเนรเทศทั้งคู่ไปยังถิ่นทุรกันดารและทำลายต้นไม้แห่งความรู้ ซึ่งอาดัมได้แกะสลักเป็นไม้เท้า ต่อมาเอวาให้กำเนิด คาอินและอาเบล อาดัมห้ามลูกชายทั้งสองไปเลยน้ำตกหวังว่าพระเจ้าจะให้อภัยและนำพวกเขากลับสวนเอเดน ช่วงที่สอง เล่าเรื่องราวของ คาอินและอาเบล เมื่อโตขึ้น คาอินฝ่าฝืนคำสั่งพ่อและไปเลยน้ำตก พบก้อนหินขนาดใหญ่ที่สร้างโดยมนุษย์คนอื่น ๆ และนำครอบครัวมาดู อาดัมเปิดเผยว่าตนเองพบมนุษย์เหล่านี้ตั้งแต่พวกเขายังเล็ก แต่เก็บเป็นความลับ อาดัมพยายามห้ามคาอินไม่ให้ตามหาพวกเขา ทำให้คาอินโกรธและพยายามทำร้ายอาดัม แต่กลับหันความโกรธไปที่อาเบลที่พยายามขัดขวาง และฆ่าอาเบล ต่อมาเมื่อเอวาชราแล้ว เธอพูดคุยกับพระเจ้า เล่าว่าอาดัมค้นหาคาอินตลอดเวลา และหลังจากหลายปี อาดัมก็เสียชีวิตและถูกฝังไว้ใต้เวิ้งน้ำตก เอวายังให้กำเนิด เซ็ธ ซึ่งขยายรุ่นของเธอและอาดัม สุดท้าย พระเจ้าทรงเรียกเอวาไปอยู่กับพระองค์ ก่อนตาย เธออวยพรให้ลูกหลานรุ่นหลัง และมอบไม้เท้าของอาดัมให้เซ็ธ พระเจ้าทรงกอดเอวา และเธอก็ได้พบกับอาดัมและอาเบลอีกครั้ง โดยปกติแล้ว นักแสดงที่รับบทอาดัมและเอวา จะรับบทโนอาห์และมาดามโนอาห์ด้วย

พระเจ้าพิพากษาอาดัม โดย วิลเลียม เบลก ปี 1795 หอศิลป์เทต

ในนวนิยายของ เรย์ เนลสัน เรื่อง Blake's Progress นักกวี วิลเลียม เบลก และภรรยาของเขา เคท เดินทางไปสู่จุดจบของเวลา ที่ซึ่ง ยูริเซน (Urizen) ปีศาจได้นำเสนอการตีความเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลใหม่ให้กับพวกเขา: "ในภาพวาดนี้ คุณจะเห็นอาดัมและเอวากำลังฟังคำแนะนำอันชาญฉลาดจากเพื่อนและที่ปรึกษาที่ดีของพวกเขาคือ งู อาจกล่าวได้ว่าเขาคือผู้ช่วยชีวิตของพวกเขา เขาให้เสรีภาพแก่พวกเขา และเขาจะให้ชีวิตนิรันดร์แก่พวกเขาหากได้รับอนุญาต"

จอห์น วิลเลียม หรือ "ลุงแจ็ค เดย์" วาดภาพ อาดัมและเอวาทิ้งสวนเอเดน ในปี ค.ศ. 1973 โดยใช้ เส้นและจุดสีบริสุทธิ์ เพื่อสื่อถึงสภาพแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ของสวนเอเดน[87]

ในนวนิยายวิทยาศาสตร์ของซี. เอส. ลิวอิส เรื่อง เปเรแลนดรา (Perelandra) ในปี 1943 เรื่องราวของอาดัมและเอวาถูกนำกลับมาเล่าใหม่บนดาวศุกร์ แต่ด้วยตอนจบที่แตกต่าง คู่รักผิวสีเขียวซึ่งมีชะตากรรมที่จะเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ดาวศุกร์ กำลังใช้ชีวิตอย่างไร้เดียงสาบนเกาะลอยฟ้าอันงดงาม ซึ่งเป็นสวนเอเดนของดาวศุกร์ นักวิทยาศาสตร์จากโลกผู้ถูกครอบงำโดยปีศาจเดินทางมาในยานอวกาศ รับบทเป็นงูและพยายามล่อลวงเอวาชาวดาวศุกร์ให้ฝ่าฝืนพระเจ้า แต่ แรนซัม นักวิชาการจากเคมบริดจ์ ผู้เป็นตัวเอก ประสบความสำเร็จในการขัดขวางเขา เพื่อให้มนุษยชาติดาวศุกร์มีอนาคตที่รุ่งโรจน์ ปราศจากบาปกำเนิด

แกลเลอรี่ภาพ

โน้ต

  1. ในกรณีนี้ เรื่องเล่า ไม่ได้หมายถึงนิทานหลอกลวง แต่หมายถึง เรื่องเล่าที่มาแต่โบราณ ซึ่งสะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์ทางประสบการณ์บางอย่าง โดยมักใช้การบุคลาธิษฐานกับพลังธรรมชาติและพลังวิญญาณ เป็นเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเทพเจ้า วีรบุรุษ กำเนิดของโลกหรือของชนชาติ ฯลฯ
  2. Van Seters, John (1992). Prologue to History: The Yahwist as Historian in Genesis. ลุยส์วิลล์: สำนักพิมพ์เวสต์มินสเตอร์ จอห์น น็อกซ์. pp. 80, 155–156. ISBN 0-664-22179-3.

อ้างอิง

  1. ไฮเมอร์ส จูเนียร์, ดร. อาร์ เอล (2018-04-28). "การหลงผิดของมนุษย์ THE FALL OF MAN (Thai)". sermonfortheworld. สืบค้นเมื่อ 2024-07-13.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. Womack, Mari (2005). Symbols and Meaning: A Concise Introduction. Walnut Creek ... [et al.]: Altamira Press. p. 81. ISBN 978-0759103221. สืบค้นเมื่อ 16 August 2013. Creation myths are symbolic stories describing how the universe and its inhabitants came to be. Creation myths develop through oral traditions and therefore typically have multiple versions.
  3. Leeming, David (2010). Creation Myths of the World: Parts I-II. p. 303.
  4. Azra, Azyumardi (2009). "Chapter 14. Trialogue of Abrahamic Faiths: Towards an Alliance of Civilizations". ใน Ma'oz, Moshe (บ.ก.). The Meeting of Civilizations: Muslim, Christian, and Jewish. Eastbourne: Sussex Academic Press. pp. 220–229. ISBN 978-1-845-19395-9.
  5. Alfred J., Kolatch (1985). The Second Jewish Book of Why (2nd, revised ed.). New York City: Jonathan David Publishers. p. https://archive.org/details/secondjewishbook00kola/page/64. ISBN 978-0-824-60305-2. While there were some Jewish teachers in Talmudic times who believed that death was a punishment brought upon mankind on account of Adam's sin, the dominant view by far was that man sins because he is not a perfect being, and not, as Christianity teaches, because he is inherently sinful. Excerpt in Judaism's Rejection Of Original Sin เก็บถาวร 2016-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  6. Enns 2012, p. 84.
  7. Blenkinsopp 2011, p. 3.
  8. Blenkinsopp 2011, p. ix.
  9. Blenkinsopp 2011, p. 1.
  10. 10.0 10.1 10.2 Hearne 1990, p. 9.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 Galambush 2000, p. 436.
  12. Kramer 1963, p. 149.
  13. Collon, Dominique (1995). Ancient Near Eastern Art (ภาษาอังกฤษ). University of California Press. p. 213. ISBN 9780520203075. สืบค้นเมื่อ 27 April 2019. the strange story of Adam's 'spare rib' from which Eve was created (Genesis 2:20–3) makes perfect sense once it is realised that in Sumerian the feminine particle and the words for rib and life are all ti, so that the tale in its original form must have been based on Sumerian puns.
  14. Alter 2004, p. 27–28.
  15. Freedman, Meyers, Patrick (1983). Carol L. Meyers; Michael Patrick O'Connor; David Noel Freedman (บ.ก.). The Word of the Lord Shall Go Forth: Essays in Honor of David Noel Freedman. Eisenbrauns. pp. 343–344. ISBN 9780931464195.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 Mathews 1996, p. 226
  17. Genesis 3:1
  18. 18.0 18.1 18.2 Levenson, Jon D. (2004). "Genesis: Introduction and Annotations". ใน Berlin, Adele; Brettler, Marc Zvi (บ.ก.). The Jewish Study Bible. Oxford University Press. ISBN 9780195297515.
  19. Genesis 2:17
  20. Mathews 1996, p. 235
  21. Mathews 1996, p. 236
  22. Genesis 3:5
  23. Genesis 3:6
  24. Genesis 3:7
  25. Mathews 1996, p. 237
  26. Genesis 3:8–13
  27. Genesis 3:10
  28. Mathews 1996, p. 240
  29. Genesis 3:12
  30. Mathews 1996, p. 241
  31. Genesis 3:13
  32. Mathews 1996, p. 242
  33. Genesis 3:14–19
  34. Mathews 1996, p. 243
  35. Mathews 1996, p. 248
  36. Mathews 1996, p. 252
  37. Genesis 3:20
  38. Genesis 3:20
  39. Genesis 3:19
  40. Genesis 2:7
  41. Mathews 1996, p. 253
  42. Genesis 3:22–24
  43. Genesis 3:22
  44. Addis, Edward (1893). The Documents of the Hexateuch, Volume 1. Putnam. pp. 4–7.
  45. Genesis 3:24
  46. Weinstein, Brian (2010). 54 Torah Talks: From Layperson to Layperson. iUniverse. p. 4. ISBN 9781440192555.
  47. Genesis 5:4
  48. Betsy Halpern Amaru (1999) The Empowerment of Women in the Book of Jubilees, p. 17.
  49. Enns 2012, p. 5.
  50. Sailhamer 2010, p. 301 and fn.35.
  51. 51.0 51.1 Blenkinsopp 2011, p. 2.
  52. Sailhamer 2010, p. 301.
  53. Gmirkin 2006, p. 240-241.
  54. Gmirkin 2006, p. 6.
  55. Carr 2000, p. 492.
  56. Howard Schwartz (September 2004). Tree of Souls: The Mythology of Judaism: The Mythology of Judaism. Oxford University Press. p. 138. ISBN 978-0195086799. สืบค้นเมื่อ 27 December 2014. The myth of Adam the Hermaphrodite grows out of three biblical verses
  57. Harry Orlinsky's Notes to the NJPS Torah
  58. "Tertullian, "De Cultu Feminarum", Book I Chapter I, Modesty in Apparel Becoming to Women in Memory of the Introduction of Sin Through a Woman (in "The Ante-Nicene Fathers")". Tertullian.org. สืบค้นเมื่อ 2014-02-17.
  59. Fox, Robin Lane (2006) [1991]. The Unauthorized Version: Truth and Fiction in the Bible. Penguin Books Limited. pp. 15–27. ISBN 9780141925752.
  60. "Humani Generis (August 12, 1950) | PIUS XII". www.vatican.va. สืบค้นเมื่อ 2020-11-17.
  61. Owen, Richard (6 March 2009). "Vatican says Evolution does not prove the non existence of God". The Times (ภาษาอังกฤษ). ISSN 0140-0460.
  62. ยอห์น ปอลที่ 2, Message to the Pontifical Academy of Sciences: On Evolution เก็บถาวร 2021-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; สุนทรพจน์ดังกล่าวจัดทำขึ้นเป็นภาษาฝรั่งเศส - เพื่อโต้แย้งว่าการแปลภาษาอังกฤษถูกต้องหรือไม่ "la theorie de l'evolution plus qu'une hypothese" แปลว่า "มากกว่าหนึ่งสมมติฐาน" หรือ "มากกว่าหนึ่งสมมติฐาน" ดูที่ Eugenie Scott, NCSE online version เก็บถาวร 2018-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน of Creationists and the Pope's Statement, which originally appeared in The Quarterly Review of Biology, 72.4, December 1997
  63. McKenna, Josephine (2014-10-27). "Pope Francis: 'Evolution ... is not inconsistent with the notion of creation'". Religion News Service (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  64. Hart, David Bentley (31 August 2022). "Sensus Plenior I: On gods and mortals". Leaves in the Wind. สืบค้นเมื่อ 5 February 2023. First Reader (Aug 31, 2022): Should we favor the 'atemporal fall' view then? David Bentley Hart (Aug 31, 2022): Well, I certainly do. But the original Eden story isn't about the 'fall' at all, except in the vague sense that it was a mythic aetiology of life's miseries. Second Reader (Sep 2, 2022): Can you briefly describe what you understand or hold the 'atemporal fall' to be? Hart (Sep 2, 2022): No, not briefly. Second Reader (Sep 2, 2022): An extended response would, of course, be satisfactory also! But no, if you are aware of any particularly good reflections on it, I'd be grateful for a reference. Hart (Sep 2, 2022): Bulgakov, The Bride of the Lamb
  65. Behr, John (15 January 2018). "Origen and the Eschatological Creation of the Cosmos". Eclectic Orthodoxy. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 January 2023. สืบค้นเมื่อ 5 February 2023. Our beginning in this world and its time can only be thought of as a falling away from that eternal and heavenly reality, to which we are called.
  66. Chenoweth, Mark (Summer 2022). "The Redemption of Evolution: Maximus the Confessor, The Incarnation, and Modern Science". Jacob's Well. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 August 2022. สืบค้นเมื่อ 5 February 2023.
  67. Bulgakov, Sergei (2001). "Evil". The Bride of the Lamb. แปลโดย Jakim, Boris. Grand Rapids, Michigan: Wm. B. Eerdmans. p. 170. ISBN 9780802839152.
  68. Hart, David Bentley (2020). "The Devil's March: Creatio ex Nihilo, the Problem of Evil, and a Few Dostoyevskian Meditations". Theological Territories: A David Bentley Hart Digest. Notre Dame, Indiana: Notre Dame Press. ISBN 9780268107178.
  69. Al-Saadi, Qais (27 September 2014), "Ginza Rabba "The Great Treasure" The Holy Book of the Mandaeans in English", Mandaean Associations Union, สืบค้นเมื่อ 28 November 2021
  70. พจนานุกรมประวัติศาสตร์ของศาสดาพยากรณ์ในศาสนาอิสลามและยูดาย, วีลเลอร์, "อาดัมและเอวา"
  71. อัลกุรอาน 4:1:มนุษยชาติทั้งหลาย! จงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้าที่ได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง และได้ทรงบังเกิดจากชีวิตนั้นซึ่งคู่ครองของเขา และได้ทรงให้แพร่สะพัดไปจากทั้งสองนั้น
  72. Wheeler, Brannon (July 2006). Mecca and Eden: Ritual, Relics, and Territory in Islam – Brannon M. Wheeler – Google Books. University of Chicago Press. p. 85. ISBN 9780226888040. สืบค้นเมื่อ 17 February 2014.
  73. al-Tabari (1989). The History of al-Tabari. New York: State University of New York Press. p. 259. ISBN 0-88706-562-7.
  74. Godwin, William (1876). Lives of the Necromancers (ภาษาอังกฤษ). Chatto and Windus. pp. 112–113. สืบค้นเมื่อ 29 January 2019.
  75. อัลกุรอาน 7:12
  76. Javed Ahmed Ghamidi, Mizan. Lahore: Dar al-Ishraq, 2001
  77. John Renard Islam and the Heroic Image: Themes in Literature and the Visual Arts Mercer University Press 1999 ISBN 9780865546400 p. 122
  78. 78.0 78.1 Smith, Peter (2000). "Adam". A Concise Encyclopedia of the Baháʼí Faith. London: Oneworld Publications. ISBN 978-1-78074-480-3. OCLC 890982216. สืบค้นเมื่อ 2021-06-26 – โดยทาง Google Books.
  79. Sours, Michael (2001). The Tablet of the Holy Mariner: An Illustrated Guide to Baha'u'llah's Mystical Work in the Sufi Tradition. Los Angeles: Kalimát Press. p. 86. ISBN 978-1-890688-19-6.
  80. ʻAbdu'l-Bahá (2014) [1908]. Some Answered Questions (newly revised. ed.). Haifa, Israel: Baháʼí World Centre. ISBN 978-0-87743-374-3.
  81. Momen, Wendy (1989). A Basic Baháʼí Dictionary. Oxford, UK: George Ronald. p. 8. ISBN 978-0-85398-231-9.
  82. McLean, Jack (1997) Revisioning the Sacred: New Perspectives on a Baháʼí Theology – Volume 8. เก็บถาวร 2022-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน p. 215.
  83. Saiedi, Nader (2008). Gate of the Heart. Waterloo, ON: Wilfrid Laurier University Press. p. 204. ISBN 978-1-55458-035-4.
  84. Van Seters, John (1998). "The Pentateuch". ใน Steven L. McKenzie, Matt Patrick Graham (บ.ก.). The Hebrew Bible Today: An Introduction to Critical Issues. Westminster John Knox Press. p. 5. ISBN 9780664256524.
  85. Davies, G.I (1998). "Introduction to the Pentateuch". ใน John Barton (บ.ก.). Oxford Bible Commentary. Oxford University Press. p. 37. ISBN 9780198755005.
  86. Finkel, Irving (2014). The Ark Before Noah. UK: Hachette. p. 88. ISBN 9781444757071.
  87. "Adam and Eve Leave Eden". Smithsonian American Art Museum. สืบค้นเมื่อ 11 February 2014.

บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya