Share to:

 

อำเภอดอนตาล

อำเภอดอนตาล
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Don Tan
คำขวัญ: 
อุทยานสมเด็จย่า เพลินตาเขื่อนริมโขง จรรโลงลำผญา
ผาแต้มบรรพกาล กลองโบราณล้ำค่า งามตาสระกมุทมาศ
หาดหินวัดเวินไชย ถิ่นไทยข่ากะเลิง
แผนที่จังหวัดมุกดาหาร เน้นอำเภอดอนตาล
แผนที่จังหวัดมุกดาหาร เน้นอำเภอดอนตาล
พิกัด: 16°19′0″N 104°55′12″E / 16.31667°N 104.92000°E / 16.31667; 104.92000
ประเทศ ไทย
จังหวัดมุกดาหาร
พื้นที่
 • ทั้งหมด510.92 ตร.กม. (197.27 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2565)
 • ทั้งหมด44,132 คน
 • ความหนาแน่น86.37 คน/ตร.กม. (223.7 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 49120
รหัสภูมิศาสตร์4903
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอดอนตาล ถนนเหมลา ตำบลดอนตาล อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร 49120
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ดอนตาล เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดมุกดาหาร

ประวัติศาสตร์

อำเภอดอนตาลเดิมเป็นเมืองเก่าชื่อเมืองดอนตาล ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มีพัฒนาการไม่น้อยกว่า 2,000 ปี โดยปรากฏหลักฐานโบราณคดีหลายแห่ง เช่น ภาพเขียนสี (ฮูบแต้ม) ที่ผาแต้ม อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว กลองกบหรือกลองข่า (มโหระทึก) ขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย ใบเสมาหินทรายสมัยศรีโคตรบูรที่วัดเวินชัยมงคล เป็นต้น ราวคริสต์ศตวรรษที่ 6-9 สมัยเจนละของเขมรได้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมาก พร้อมเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับที่ท่าโฮงใกล้วัดท่า อาทิ กำไลแขน แหวน ลูกปัด เงินโบราณ เป็นต้น สาเหตุเนื่องจากชาวบ้านขุดไร่ไถนาแล้วพบโดยบังเอิญ

ลักษณะชาติพันธุ์ประชากรของอำเภอดอนตาลส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากเผ่ากะเลิงหรือลาวกะเลิง 1 ใน 8 เผ่าชาติพันธุ์ดั้งเดิมของจังหวัดมุกดาหาร จัดอยู่ในกลุ่มภาษาออสโตรเอเชียติค ตระกูลภาษาเดียวกันกับแขมร์-มอญ ลักษณะการใช้ภาษามีคำร่วมกับภาษาข่า ภาษาโซ่ (กะโซ่) และภาษาลาวบรรดาเผ่า

สมัยอาณาจักรล้านช้างเจ้านายลาวคือ อัญญาพระปุมลุม และ ญาแม่หม่อมการ ภริยา อพยพไพร่พลจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาตั้งหมู่บ้านขึ้นที่ริมโขงฝั่งขวาตรงข้ามเกาะหัวดอนตาล (เกาะหัวโนนตาล) ซึ่งเป็นเกาะกลางน้ำโขงที่มีต้นตาลขึ้นอยู่มาก แล้วตั้งนามบ้านว่า บ้านดอนตาล ตามชื่อเกาะ ส่วนอัญญาพระปุมลุมได้เป็นกวานบ้านคนแรกขึ้นกับเวียงจันทน์ ราว 100 ปีต่อมาบ้านดอนตาลเกิดแห้งแล้งอดอยากและเกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายมาก ชาวบ้านจึงอพยพหมู่บ้านจากริมฝั่งโขงขึ้นมาตั้งอยู่ห่างจากดอนตาลเดิมราว 1 กม. ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านดอนตาลปัจจุบัน ต่อมาสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (ครองราชย์ราว พ.ศ. 2181-2238) แห่งเวียงจันทน์สวรรคต มีเจ้านายลาวอีก 3 กลุ่มอพยพไพร่พลมาตั้งรกรากที่บ้านดอนตาล ประชากรจึงเพิ่มจำนวนขึ้นดังนี้

กลุ่มที่ 1 อพยพมาจากเมืองหนองบัวลุ่มภูหรือเมืองจำปานครกาบแก้ว ฝั่งขวาน้ำโขง จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน นำโดย อาชญาซาวมุงคุณ (ท้าวซาวมงคล)

กลุ่มที่ 2 อพยพจากดงเขนยแก้งกอก เมืองจำพอนแก้งกอก ฝั่งซ้ายน้ำโขง แขวงสุวรรณเขตในปัจจุบัน นำโดย ท้าวราชาบุตรโคตร (เจ้าราชบุตรโคตร) ต่อมาเป็นเจ้าเมืองดอนตาลคนแรก

กลุ่มที่ 3 อพยพจากเมืองคง นครจำปาศักดิ์ ฝั่งซ้ายน้ำโขง แขวงจำปาศักดิ์ในปัจจุบัน นำโดย ท้าวกินรี (เจ้าจันทกินรี) ต่อมาเป็นเจ้าเมืองมุกดาหารคนแรก

ท้าวราชาบุตรโคตรและท้าวกินรี 2 พี่น้องเป็นบุตรเจ้าจารย์จันทสุริยวงศ์เจ้าเมืองหลวงโพนสิม หลังสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร (ครองราชย์ราว พ.ศ. 2256-2280) ขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จำปาศักดิ์ ได้โปรดให้เจ้าจารย์จันทรสุริยวงศ์ไปรักษาเมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง เมืองโพนสิม ครั้นเจ้าจารย์จันทสุริยวงศ์สิ้นแล้วท้าวกินรีอยู่รักษาเมืองหลวงโพนสิม ต่อมาจึงอพยพไพร่พลบางส่วนลงใต้แล้วข้ามโขงไปตั้งรกรากที่ดอนตาลอยู่กับพี่ชายคือท้าวราชาบุตรโคตร ท้าวราชาบุตรโคตรสร้างหอโฮงขึ้นที่ฝั่งโขงทิศตะวันออกวัดท่า ปัจจุบันเรียกว่าท่าโฮง เมื่อเจ้านายทั้ง 3 กลุ่มขึ้นเป็นใหญ่ที่บ้านดอนตาลแล้วจึงปรึกษากันให้เฒ่าบ้านแก่เมืองคือ พ่อเฒ่าเซียงปา พ่อเฒ่าซุมพู (ชมพู) พ่อเฒ่าอึ่ง แม่เฒ่ามุน (มน) และแม่เฒ่าคำ ไปอัญเชิญเจ้าปู่มเหสักหรือเจ้าโฮงแป้นแผ่นทองเหลืองลงมาจากเมืองหนองบัวลุ่มภู แล้วสร้างหอโฮงให้สถิตที่ริมน้ำโขงเมืองดอนตาลเรียกว่าศาลเจ้าปู่ดอนตาล โดยประกอบพิธีเลี้ยงต่อจากบุญเดือน 6 ของทุกปี

มุขปาฐะพื้นเมืองระบุว่ารัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 หรือสมเด็จพระเจ้าศิริบุญสาร (ครองราชย์ราว พ.ศ. 2294-2322) พระยาตากเมืองธนบุรีให้ทัพสยามบุกทำลายนครเวียงจันทน์และหัวเมืองลาว ท้าวกินรียอมผูกไมตรีเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จึงสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจันทรศรีโสราชอุปราชามันธาตุราช เจ้าประเทศราชมุกดาหาร ส่วนท้าวราชาบุตรโคตรผู้พี่ไม่ยอมอ่อนน้อมจึงไม่เดินทางขึ้นกรุงเทพฯ ไปรับตราตั้ง เป็นเหตุให้ไม่ได้รับนามยศเหมือนผู้น้อง ต่อมาดอนตาลถูกยุบลงเป็นหมู่บ้านเช่นเดิม

ราวต้น พ.ศ. 2400 หัวเมืองลาวฝั่งขวาตกเป็นเมืองส่วยของสยาม บ้านดอนตาลถูกยกขึ้นเป็นกองส่วยขึ้นเมืองมุกดาหาร นายกองมีบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระบำรุงสวัสดิ์ (ต้นสกุลบำรุงสวัสดิ์) หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลแล้วถูกลดฐานะเป็นตำบลขึ้นอำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ต่อมายกฐานะเป็นกิ่งอำเภอดอนตาลเมื่อ 26 มกราคม พ.ศ. 2506 แบ่งการปกครองออกเป็น 7 ตำบล 77 หมู่บ้าน มีพระราชกฤษฏีกาตั้งเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2517 ต่อมา พ.ศ. 2525 มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดมุกดาหาร อำเภอดอนตาลกลายเป็นอำเภอหนึ่งที่ขึ้นจังหวัดมุกดาหาร

ในอดีตอำเภอดอนตาลเป็นพื้นที่สงครามแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์จาก สปป.ลาว และ สส.เวียดนาม จัดเป็นพื้นที่สีแดงของแนวร่วมผู้ก่อการปลดปล่อยคอมมิวนิสต์หลายตำบลหลายหมู่บ้าน ถือเป็นเป็นอำเภอแรกที่ผู้เข้าร่วมขบวนการปลดปล่อยยินยอมออกมามอบตัวกับทางราชการไทย

ที่ตั้งและอาณาเขต

อำเภอดอนตาลตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้

การแบ่งเขตการปกครอง

การปกครองส่วนภูมิภาค

อำเภอดอนตาลแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 7 ตำบล 63 หมู่บ้าน ได้แก่

1. ดอนตาล (Don Tan) 12 หมู่บ้าน 5. บ้านบาก (Ban Bak) 7 หมู่บ้าน
2. โพธิ์ไทร (Pho Sai) 7 หมู่บ้าน 6. นาสะเม็ง (Na Sameng) 9 หมู่บ้าน
3. ป่าไร่ (Pa Rai) 11 หมู่บ้าน 7. บ้านแก้ง (Ban Kaeng) 7 หมู่บ้าน
4. เหล่าหมี (Lao Mi) 10 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องที่อำเภอดอนตาลประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลดอนตาล ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลดอนตาล
  • เทศบาลตำบลบ้านแก้ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแก้งทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลดอนตาลผาสุก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอนตาล (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลดอนตาล)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ไทร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพธิ์ไทรทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลป่าไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าไร่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าหมี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเหล่าหมีทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านบาก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านบากทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาสะเม็ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาสะเม็งทั้งตำบล

พรมแดนธรรมชาติ

อำเภอดอนตาลติดกับพรมแดนธรรมชาติคือแม่น้ำโขง

แหล่งท่องเที่ยว

อ้างอิง

Kembali kehalaman sebelumnya