เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ
เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ (ญี่ปุ่น: 悠仁親王; โรมาจิ: Hisahito Shinnō; ประสูติ 6 กันยายน พ.ศ. 2549) เป็นพระโอรสพระองค์เล็กในพระยุพราชฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ กับเจ้าหญิงคิโกะ พระชายาฯ เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และเป็นพระภาติยะในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ ปัจจุบันเจ้าชายฮิซาฮิโตะเป็นรัชทายาทลำดับที่สองแห่งการสืบราชสันตติวงศ์ญี่ปุ่น พระประวัติเจ้าชายฮิซาฮิโตะ ประสูติเมื่อเวลา 08.28 น. ตามเวลาสากลญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าเวลาประเทศไทย 2 ชั่วโมง โดยตรงเวลาสากลไทยเวลา 06:28 น. ของวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2549 ณ โรงพยาบาลไอกุ กรุงโตเกียว ด้วยวิธีการผ่าคลอดก่อนกำหนดสองสัปดาห์ สืบเนื่องมาจากภาวะแทรกซ้อนเมื่อตั้งครรภ์[1] และพระมารดามีภาวะรกเกาะต่ำ[2] เป็นพระบุตรพระองค์เล็กและเป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวของพระยุพราชฟูมิฮิโตะ อากิชิโนะโนะมิยะ กับเจ้าหญิงคิโกะ พระชายาฯ[1][3] มีพระเชษฐภคินีสองพระองค์ คือ มาโกะ โคมูโระ และเจ้าหญิงคาโกะแห่งอากิชิโนะ ตามลำดับ เจ้าชายฮิซาฮิโตะปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2549[1] เจ้าชายฟูมิฮิโตะ พระชนก ตั้งพระนามพระโอรสนี้เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2549 ว่า "ฮิซาฮิโตะ" (悠仁) มาจากคำว่า ฮิซะ แปลว่า ความสงบเยือกเย็น กับคำว่า ฮิโตะ ตามธรรมเนียมราชสำนักญี่ปุ่นสำหรับลงท้ายพระนามเจ้านายฝ่ายหน้า แปลว่า ผู้มีคุณธรรม รวมกันมีความหมายว่า ผู้มีศีลธรรม จริยธรรม ความสงบเยือกเย็น และความเป็นนิรันดร์[4] มีพระนามลำลองที่พระชนกและพระชนนีเรียก ว่า ยูยู, ยูจัง หรือ ฮิซาฮิโตะคุง[5] เจ้าชายฮิซาฮิโตะเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าพระองค์ล่าสุดของราชวงศ์ญี่ปุ่นในรอบ 41 ปี ตั้งแต่การประสูติกาลของเจ้าชายฟูมิฮิโตะเมื่อ พ.ศ. 2508 ตั้งแต่นั้นชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศยกเลิกข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ญี่ปุ่นเพื่ออนุญาตให้เจ้านายฝ่ายในสามารถเสวยราชสมบัติได้ เพราะขณะนั้นทั้งจักรพรรดินารูฮิโตะและเจ้าชายฟูมิฮิโตะต่างไม่มีพระโอรสเลย แต่หลังเจ้าชายฮิซาฮิโตะประสูติ จึงคาดว่าคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎมนเทียรบาลเพื่อให้เจ้าหญิงไอโกะ พระราชธิดาของจักรพรรดินารูฮิโตะสืบราชสมบัติ[6] มีประชาชนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ต่างวิพากษ์วิจารณ์กฎมนเทียรบาลฉบับปัจจุบันว่าสร้างภาระใหญ่หลวงแก่เจ้านายฝ่ายหน้า ที่ล้วนแต่มีพระชันษาสูง และมีน้อยพระองค์นักที่จะออกมาประกอบพระกรณียกิจแทนเจ้านายฝ่ายในที่ทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ไปเสียมาก[7] การศึกษา
ฤดูใบไม้ผลิของ พ.ศ. 2553 เจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลของมหาวิทยาลัยโอจาโนมิซุ กรุงโตเกียว ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 สำนักพระราชวังประกาศว่า เจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนประถมศึกษาของมหาวิทยาลัยโอจาโนมิซุในเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 ร่วมกับพระสหายที่เคยเรียนด้วยกันมาแต่ชั้นปฐมวัย นับเป็นเจ้านายญี่ปุ่นพระองค์แรกที่ทรงศึกษาในสถานศึกษาอื่นที่ไม่ใช่โรงเรียนกากูชูอิง อันเป็นโรงเรียนของชนชั้นมูลนาย[8] มีรายงานว่าขณะอยู่ในโรงเรียนพระองค์มีจิตอาสา ทรงช่วยเหลือนักเรียนรุ่นน้อง และร่วมเล่นกับเหล่าพระสหาย[9] เดือนเมษายน พ.ศ. 2562 เจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในมหาวิทยาลัยโอจาโนมิซุ[10] ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้น ตำรวจรายงานว่าคาโอรุ ฮาเซกาวะ ชายวัย 56 ปี พยายามใช้มีดลอบทำร้ายเจ้าชายฮิซาฮิโตะที่ห้องเรียน[11] มีนาคม พ.ศ. 2564 เจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในการประกวดสารคดีเด็กของคิตากีวชู ครั้งที่ 12 ประเภทนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น[12] กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เจ้าชายฮิซาฮิโตะถูกกล่าวหาว่าทรงคัดลอกผลงานเรียงความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางไปเกาะโองาซาวาระ และทรงได้รับรางวัลจากการประกวดดังกล่าว[13][14] ทางสำนักพระราชวังและเจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงออกมายอมรับว่า การอ้างอิงในพระนิพนธ์ดังกล่าว "มีน้อย" และเจ้าชายฮิซาฮิโตะจะทรงติดต่อผู้จัดงานประกวดเพื่อแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติม โดยไม่ต้องเพิกถอนรางวัล[13] เมษายน พ.ศ. 2565 เจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งมหาวิทยาลัยสึกูบะ[15] พระกรณียกิจเจ้าชายฮิซาฮิโตะตามเสด็จพระชนกชนนี ในการเสด็จเยือนประเทศภูฏานอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562[16] พงศาวลี
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ
|