เจ้าหญิงอากิโกะแห่งมิกาซะ
เจ้าหญิงอากิโกะแห่งมิกาซะ (ญี่ปุ่น: 彬子女王; โรมาจิ: Akiko Joō; ประสูติ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2524) เป็นพระธิดาในเจ้าชายโทโมฮิโตะแห่งมิกาซะ กับเจ้าหญิงโนบูโกะ พระชายาฯ เป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระประวัติเจ้าหญิงอากิโกะแห่งมิกาซะประสูติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2524 เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่จากทั้งหมดสองพระองค์ในเจ้าชายโทโมฮิโตะแห่งมิกาซะ กับเจ้าหญิงโนบูโกะ พระชายาฯ (พระนามเดิม โนบูโกะ อาโซ) มีพระขนิษฐาหนึ่งพระองค์คือเจ้าหญิงโยโกะ พระชนนีเป็นน้องสาวของนายกรัฐมนตรีทาโร อาโซ และเป็นหลานสาวของชิเงรุ โยชิดะ ซึ่งทั้งสองเคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เจ้าหญิงอากิโกะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกากูชูอิง และทรงศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ศิลป์วิทยาญี่ปุ่น ณ วิทยาลัยเมอร์ตัน (ออกซฟอร์ด) สหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2544-2545[1] ต่อมาทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาบูรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเมื่อปี พ.ศ. 2547[2] พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "ชุดสะสมของวิลเลียม แอนเดอร์สันที่พิพิธภัณฑ์บริติช - ความสนใจศิลปะญี่ปุ่นของตะวันตกในศตวรรษที่ 19" (William Anderson Collection at the British Museum - Western Interest in Japanese Art in the Nineteenth Century)[3] ซึ่งวิลเลียม แอนเดอร์สัน (พ.ศ. 2385–2443) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ ผู้สอนกายวิภาคและการผ่าตัดในญี่ปุ่น ที่ต่อมามีชื่อเสียงจากการเป็นนักวิชาการและนักสะสมงานศิลป์ของญี่ปุ่น โดยระหว่างที่ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดนั้น พระองค์ได้ทรงเข้าร่วมงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ส่วนพระองค์ เป็นต้นว่าในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 เจ้าหญิงอากิโกะทรงช่วยเหลือมหาวิทยาลัยโตเกียวสำหรับการจัดนิทรรศการคตินิยมศิลปะญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 19, เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 ทรงร่วมการประชุมเชิงวิชาการเกี่ยวกับงานศิลป์ที่สะสมโดยวิลเลียม แอนเดอร์สัน ณ มหาวิทยาลัยโอชาโนมิซุ ต่อมาในเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2551 พระองค์เสด็จไปศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมญี่ปุ่นคลาร์ก (Clark Center for Japanese Art and Culture) เมืองแฮนด์ฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อทรงจัดทำวิทยานิพนธ์ส่วนพระองค์[4][5] เจ้าหญิงอากิโกะทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ วิทยาลัยเมอร์ตัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 จนสำเร็จการศึกษาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 เมื่อพระองค์ทรงผ่านการสอบครั้งสุดท้าย[2] พระองค์จึงได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดในปีถัดมา[6] ซึ่งถือเป็นเจ้านายพระองค์ที่สองของญี่ปุ่นที่ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก (พระองค์แรกคือเจ้าชายฟูมิฮิโตะ อากิชิโนโนมิยะ ทรงรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาปักษีวิทยา มหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาขั้นสูง) พงศาวลี
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|