Share to:

 

เวทางค์

เวทางค์ (สันสกฤต: वेदाङ्ग) หรือ เวทางคศาสตร์ คือวิชาประกอบการศึกษาพระเวท[1] มี 6 อย่าง คือ 1. ศึกษา (วิธีออกเสียงคำในพระเวทให้ถูกต้อง) 2.ไวยากรณ์ 3. ฉันท์ 4. โชยติษ (ดาราศาสตร์) 5. นิรุกติ (ประวัติของคำ) และ 6. กัลปะ (วิธีประกอบพิธีกรรม)

ประวัติ

"เวทางคศาสตร์" เป็นชื่อคัมภีร์ชุดหนึ่งของศาสนาฮินดู จัดอยู่ในประเภทสมฤติ (คือ คัมภีร์ที่จดจำมา) มีหมายความว่า ศาสตร์ที่ว่าด้วยองค์ประกอบของพระเวท คือเป็นหนังสือคู่มือสำหรับการอ่าน ท่องจำ สาธยาย และเรียนพระเวท ตลอดจนสำหรับการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามที่พระเวทว่าไว้

สำหรับพระเวทนั้นเป็นคัมภีร์ชั้นต้นหรือคัมภีร์ประเภทศรุติ (คือ คัมภีร์ที่ได้ยินได้ฟังมา) เพราะเชื่อกันว่าพวกฤๅษีผู้มีฌานได้รับการเปิดเผยหรือวิวรณ์ (อังกฤษ: revelation) จากเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์มาโดยตรง แล้วนำมาบอกเล่าแก่ผู้อื่นโดยมิได้ต่อเติมเสริมแต่งตามความเห็นหรือมติ (อังกฤษ: opinion) ของตน ด้วยเหตุนี้ พระเวทจึงได้ชื่อว่าเป็น "อเปารุเษยะ" แปลว่า ไม่ใช่ผลงานของมนุษย์

องค์ประกอบ

คัมภีร์เวทางคศาสตร์มีลักษณะสำคัญคือแต่งเป็นสูตรสั้น ๆ คล้ายทฤษฎีบททางคณิตศาสตร์เพื่อให้จำได้ง่ายและเร็ว แล้วมีคำอธิบายขยายความโดยละเอียดเพื่อความเข้าใจอันดียิ่งขึ้น ประกอบไปด้วยคัมภีร์หกคัมภีร์ซึ่งรวมกันเรียกว่า "เวทางคศาสตร์" ดังต่อไปนี้

1. ศิกฺษ หรือศึกษาศาสตร์ ว่าด้วยการอ่านออกเสียงคำในพระเวทให้ถูกต้องตามอักขรวิธี ตามครุและลหุ ตลอดจนตามวิธีอ่านทั่วไป สูตรในศึกษาศาสตร์ที่สำคัญและรู้จักกันดีได้แก่ ปราติสาขยสูตร-ว่าด้วยกฎการอ่านออกเสียงภาษาพระเวทโดยนำคำต่าง ๆ ที่มีเสียงไพเราะมาประสมเข้าด้วยกันแล้วบอกวิธีอ่านออกเสียงที่มีลักษณะเด่นเฉพาะของสำนักพระเวทตาง ๆ เช่น สำนักฤคเวทที่ชื่อว่า "ศกกฺลยสาขาของเศานกะ (หรือของเสนกบัณฑิต)" สำนักยชุรเวทดำชื่อ "ไตตฺติรียปฺราติศาขฺยะ" สำนักยชุรเวทขาวชื่อ "วาชสเนยีปฺราติศาขฺยะ" และสำนักอถรรพเวทชื่อ "เศานกียตตุราธยายิกะ" ส่วนสามเวทไม่มีสำนักโดยเฉพาะ

2. ฉนฺท หรือฉันทศาสตร์ ว่าด้วยวิธีอ่านมนตร์ด้วยทำนองเสนาะให้ถูกต้องตามลักษณะฉันท์ และว่าด้วยวิธีแต่งฉันท์ ฉันทศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดได้แก่ฉบับของปิงคละ เขียนเมื่อประมาณ พ.ศ. 300

3. วฺยากรณ หรือไวยากรณศาสตร์ ว่าด้วยประเภทและระเบียบของคำที่ใช้ในพระเวท ไวยากรณศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบได้แก่ฉบับของปาณินิ (ประมาณ พ.ศ. 190-290) แต่ในคัมภีร์นี้ปาณินีได้อ้างนักไวยากรณ์ไว้หลายคนที่มีชีวิตอยู่ก่อนหน้าตน หนึ่งในนั้นคือ ศากฎายนะ ผู้ซึ่งมีรายงานว่าผลงานส่วนหนึ่งได้รับการค้นพบแล้ว

4. นิรุกฺต หรือนิรุกติศาสตร์ ว่าด้วยภาษา ความเข้าใจภาษา และการรู้จักใช้คำให้ผู้อื่นเข้าใจ ตลอดจนที่มาของคำในพระเวทที่มีความหมายยาก ๆ นิรุกติศาสตร์ที่รู้จักกันดีได้แก่ฉบับของยาสกะผู้มีชีวิตของก่อนปาณินิ ก่อนหน้ายาสกะก็มีผู้แต่งนิรุกติศาสตร์แล้วสิบเจ็ดคน แต่ผลงานเหล่านั้นสูญหายไปหมดแล้ว นิรุกติศาสตร์ของยาสกะประกอบไปด้วยบทย่อยที่เรียกว่า "ภาค" จำนวนสามภาค ดังนี้

4.1 ไนฆัณฑุกะ (บาลีว่า นิฆัณฑุ) ว่าด้วยประเภทศัพทมูลวิทยาหรืออภิธานศัพท์คำพ้อง
4.2 ไนคม (บาลีว่า นิคม) ว่าด้วยประเภทอภิธานศัพท์คำเฉพาะในพระเวท
4.3 ไทฺวตะ ว่าด้วยประมวลคำที่เกี่ยวกับพระเจ้าและพิธีกรรม

5. โชฺยติษฺ หรือโชยติษศาสตร์ ว่าด้วยวิธีคำนวณการโคจรของดวงดาวต่าง ๆ ตามที่พระเวทระบุไว้ เพื่อใช้ประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ คัมภีร์นี้ได้แก่ดาราศาสตร์ในปัจจุบัน

6. กลฺป หรือกัลปศาสตร์ ว่าด้วยวิธีนำมันตระต่าง ๆ ของพระเวทไปใช้ในพิธีกรรมทั้งหลาย ประกอบไปด้วยสูตรจำนวนสามสูตร ดังนี้

6.1 เศฺราตสูตร ว่าด้วยสูตรพิธีกรรมสำคัญ
6.2 คฺฤหยสูตร ว่าด้วยพิธีสังสการ อันเป็นพิธีที่ต้องกระทำในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย รวมทั้งอาศรมทั้งสี่ของพราหมณ์ ได้แก่ พรหมจารี, คฤหัสถ์, วานปรัสถ์ และสันยาสี
6.3 ธรฺมสูตร ว่าด้วยภาระ และหน้าที่ ข้อปฏิบัติของประชาชนทุกวรรณะ

อิทธิพลต่อพุทธศาสนา

ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นต้นของศาสนาพุทธได้ปรากฏชื่อคัมภีร์ในเวทางคศาสตร์อยู่หลายแห่ง เช่น ในอัมพัฏฐสูตร โสณทัณฑสูตร กูฏทันตสูตร แห่งทีฆนิกาย สีลขันธวรรค (พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย เล่ม 9 ข้อ 356, 303 และ 331 ตามลำดับ) บรรยายความคงแก่เรียนของอัมพัฏฐพราหมณ์และกูฏทันตพราหมณ์ไว้ตรงกันว่า เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฎุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ตลอดจนรู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ

ซึ่งอรรถกถาทีฆนิกายอธิบายชื่อคัมภีร์ดังกล่าวไว้ดังนี้

1. ที่ว่า "ทรงจำมนตร์" หมายถึง ทรงจำมันตระหรือบทสวดในฤคมันตระ (ฤคเวท) ยชุรมันตระ (ยชุรเวท) และสามมันตระ (สามเวท)

2. ที่ว่า "นิฆัณฑุศาสตร์" ตรงกับคัมภีร์ไนฆัณฑุกะของนิรุกติศาสตร์ เวทางคศาสตร์

3. ที่ว่า "เกฎุภศาสตร์" นั้นเป็นชื่อคัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์กัลปศาสตร์ ภาษาสันกฤตว่า "ไกฎกศาสตร์"

4. ที่ว่า "อักษรศาสตร์" นั้นเป็นชื่อคัมภีร์ว่าด้วยการเปล่งเสียง การออกเสียง ซึ่งตรงกับศึกษาศาสตร์ เวทางคศาสตร์ และว่าด้วยการอธิบายคำศัพท์โดยอาศัยประวัติและกำเนิดของคำ ซึ่งตรงกับนิรุกติศาสตร์ เวทางคศาสตร์

5. ที่ว่า "ประวัติศาสตร์" นั้นเป็นชื่อคัมภีร์ประเภทพงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ ตรงกับคัมภีร์อิติหาสะของศาสนาพราหมณ์

6. ที่ว่า "การทำนายลักษณะมหาบุรุษ" นั้นคือชื่อศาสตร์ที่ว่าด้วยลักษณะของบุคคลสำคัญ เช่น พระพุทธเจ้า อันมีอยู่ในคัมภีร์พราหมณ์ชื่อว่า "มันตระ" ในส่วนเฉพาะที่ว่าด้วยพระพุทธเจ้าเรียกว่า "พุทธมันตระ" มีหนึ่งหมื่นหกพันคาถา

อ้างอิง

  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 1129
  • ราชบัณฑิตยสถานพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 1,544 หน้า. ISBN 978-616-7073-80-4
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2545). รายงานประจำปี 2544 ราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หน้า 118-121.
  • เจริญ อินทรเกษตร. (2514-2516). "โชยติษ". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 11). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม.
  • มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย, (เล่ม 9). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป. (2503, 21 มกราคม). ลัทธิของเพื่อน. พระนคร : มปท. (ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพนางส่งศรี อมาตยกุล ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 21 มกราคม 2503).
  • อติศักดิ์ ทองบุญ. (2532). ปรัชญาอินเดีย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้มติ้งกรุพ จำกัด.
  • John Dowson. (1957). A Classical Dictionary of Hindu Mythology and Religion, Geography, History and Literatures. London : Routledge & Kegan Paul, Ltd.
  • R.C. Majumdar. (1968). "Literatures and Science (of Later Vedic Civilization)." Advanced History of India. London : Macmillan and Company, Ltd.
  • Benjamin Walker. (1968). "Scriptures." Hindu World, (vol. 2). London : George Allen & Unwin, Ltd.
Kembali kehalaman sebelumnya