Share to:

 

โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี

โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี
Mueang Surat Thani School
สัญลักษณ์โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี ปี 2563
เมธาวี อตฺตโน วฒฺฑนํ อาเนติ
(การศึกษาย่อมนำความเจริญมาสู่ตน)
ที่ตั้ง
แผนที่
223 หมู่ที่ 4 ถนนลูกเสือ ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84000
ข้อมูล
ชื่ออื่นม.ส.ธ. / MST
ประเภทรัฐ
หน่วยงานกำกับกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้อำนวยการธีรเดช จู่ทิ่น
ระดับปีที่จัดการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6
จำนวนนักเรียน2,280 คน (โดยประมาณ)
สี  ม่วง   เหลือง
เพลงมาร์ชเมืองสุราษฎร์ธานี
เว็บไซต์http://www.mst.ac.th
เว็บไซต์โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี
https://www.facebook.com/muangsuratthanischool.mst/
Facebook Page โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี

โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี ก่อตั้งเมื่อวันศุกร์ ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 มีเนื้อที่ทั้งหมด 27 ไร่ 1 งาน 13.2 ตารางวา เป็นโรงเรียนสหศึกษาสังกัดกองการมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษานำร่อง ที่ใช้หลักสูตรการเรียนการสอน ฉบับปี พ.ศ. 2524 เป็นโรงเรียนแห่งแรกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

  • ชื่ออื่น : โรงเรียนเมืองสุราษฎร์, โรงเรียนเมืองฯ
  • อักษรย่อ : ม.ส.ธ. / MST
  • คติพจน์ประจำโรงเรียน : เมธาวี อตฺตโน วฒฺฑนํ อาเนติ การศึกษาย่อมนำความเจริญมาสู่ตน
  • อัตลักษณ์ประจำโรงเรียน : งามอย่างไทย
  • ความหมาย : งามมารยาท งามน้ำคำ งามน้ำใจ
  • ตราประจำโรงเรียน : สามเหลี่ยมด้านเท่าในรูปวงกลมล้อมรอบด้วยสี่เหลี่ยมจัตุรัส
  • ความหมาย : รู้หน้าที่ มีกฎวินัย มีเหตุผล สามารถทำให้กลุ่มคนภายในสังคมอยู่รวมกันได้ อย่างมีความสุขและปรองดองภายใต้กฎกติกาเดียวกัน
  • สีประจำโรงเรียน​ : ม่วง-เหลือง
  • ม่วง : ความหนักแน่น เข้มขรึม ความสงบและสง่างาม
  • เหลือง : ธรรมะ ปัญญา ความร่าเริงและความสุข
  • ดอกไม้ประจำโรงเรียน​ : ดอกบัว
  • คำขวัญประจำโรงเรียน​ : เชิดชูสถาบัน หมั่นเรียนรู้ คู่คุณธรรม
  • ความหมาย : ยึดมั่นและเชิดชู สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประชาชน ครอบครัวและโรงเรียน เป็นผู้มีซึ่งความขยัน หมั่นแสวงหาความรู้อยู่เสมอ มีคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่เหมาะสมกับศีลธรรมอันดีของชาติ
  • ปรัชญาประจำโรงเรียน : คิด ทำ แก้ปัญหา
  • ความหมาย : การแก้ปัญหาอย่างปัญญาชน พิจารณาอย่างมีวิจารณญาณ ตั้งใจ มุ่งมั่น กระทำการต่าง ๆ อย่างมียุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานและการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี รอบคอบ และมีเหตุมีผล
  • เพลงประจำโรงเรียน : มาร์ช ม.ส.ธ. / มาร์ช ม่วง-เหลือง / บัวกลางเมือง / รำวง ม.ส.ธ ร่วมใจ

ทำเนียบผู้อำนวยการ

ลำดับที่ รายนาม ตำแหน่ง ปีการศึกษา สิ้นสุด
1 นายทรง จีระกูล อาจารย์ใหญ่ พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2527
2 นายณรงค์ กาญจนประทุม ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2533
3 นายกาญจน์ จามพัฒน์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2535
4 นายโกวิทย์ นวลขาว ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2541
5 นายไพโรจน์ อินทร์ศรีสม ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2541 พ.ศ. 2543
6 นายนิคม โพธิ์เพชร ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2543 พ.ศ. 2547
7 นายสุนิตย์ พิมาน ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2547 พ.ศ. 2550
8 ว่าที่ร้อยตรีทวีศักดิ์ ยศถา ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2550 พ.ศ. 2555
9 นายเจนจัด ภักดีไทย ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2555 พ.ศ. 2557
10 นายพิศิษฐ์ ศักดา ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2557 พ.ศ. 2560
11 นายเกรียงไกร แก้วมีศรี ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2560 พ.ศ. 2562
12 นางวรรณา​ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการ พ.ศ.​ 2562 พ.ศ. 2563
13 นายสมชาย กิจคาม ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2567
14 นายธีรเดช จู่ทิ่น ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2567 ปัจจุบัน

ประวัติ

โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี ก่อตั้งเมื่อ วันศุกร์ ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 (ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ตามปฏิทินจันทรคติ ปีมะแม) เหตุผลที่จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2499 อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ได้รับเงิน ก.ศ.ส.จากกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 40,000 บาท เพื่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาโดยให้ชื่อว่า โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี เปิดสอนตามหลักสูตรมัธยมศึกษา (หลักสูตรพิเศษขณะนั้น) กระทรวงศึกษาธิการต้องการให้โรงเรียนนี้ได้เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2499 เป็นต้นมา แต่ผู้บริหารการศึกษาของอำเภอขณะนั้น ไม่สามารถจัดการปลูกสร้างอาคารเรียนให้ทันการเปิดเรียนในภาคต้นของปีการศึกษา 2499 ได้ ทั้งนี้เพราะมีเหตุขัดข้อง 2 ประการ คือ

  • ประการแรก งบประมาณที่ได้รับเป็นเวลากระชั้นมาก ไม่อาจหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทัน
  • ประการสอง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญยังตกลงไม่ได้ คือ ปัญหาเกี่ยวกับสถานที่ยังไม่อาจตัดสินลงไปได้ว่าจะสร้างที่ใดแน่ เพราะปัญหาที่ดิน

อย่างไรก็ตาม จำเป็นจะต้องเปิดสอนให้ได้ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ทางอำเภอพิจารณาเห็นว่า โรงเรียนวัดบางใบไม้ มีอาคารเรียนกว้างขวางพอที่จะอาศัยสถานที่โรงเรียนนี้เปิดทำการสอนไปพลางก่อน ในปีแรกมีนักเรียนที่จบชั้น ป.4 มาสมัครเข้าเรียน 43 คน ได้เริ่มสอนตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2499 ทางอำเภอได้ให้ นายประจวบ นิตย์นรา ครูโรงเรียนวัดประสิทธาราม มาทำหน้าที่ครูประจำชั้น และให้นายวินัย วิเศษรัตน์ ครูใหญ่โรงเรียนวัดบางใบไม้รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ ต่อมาอำเภอและจังหวัดได้ร่วมกันพิจารณาเลือกสถานที่ ที่จะสร้างโรงเรียน ซึ่งมีอยู่ 3 แห่ง คือ

  1. ที่วัดแหลมไผ่ ตำบลบางไทร
  2. ที่วัดบางใบไม้ ตำบลบางใบไม้
  3. ที่สาธารณประโยชน์หนองบัว หมู่ 4 ตำบลมะขามเตี้ย

สถานที่สองแห่งแรกไม่เหมาะสมทั้งทำเลและทั้งมีอุปสรรคหลายประการไม่อาจสร้างได้ จึงตกลงสร้างที่หนองบัว (คือ ที่ตั้งโรงเรียนขณะนี้) โรงเรียนการช่างสุราษฎร์ธานี ผู้รับเหมาก่อสร้างได้เริ่มทำการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2500 ตามแบบแปลนโรงฝึกงานของกรมสามัญศึกษา ระยะนี้ใช้เป็นอาคารเรียนและโรงฝึกงานร่วมกัน เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอ การก่อสร้างตอนนี้จึงไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ ยังไม่มีประตู หน้าต่าง ฝ้าเพดาน ครั้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2500 นายอภัย จันทวิมล อธิบดีกรมสามัญศึกษามาตรวจเยี่ยมโรงเรียน ได้เงินงบประมาณอีก 5,000 บาท เป็นค่าก่อสร้างเพิ่มเติม คือ ได้ติดประตู หน้าต่าง เสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2500 มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มาสมัครเรียน จำนวน 15 คน นางนิลุบล พัฒนมาก เป็นครูประจำชั้น และรักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ด้วย และเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2500 ได้เริ่มเปิดทำการสอนนักเรียนที่อาคารนี้เป็นครั้งแรก สำหรับนักเรียนเดิมที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดบางใบไม้นั้น คงให้เรียนต่อไปจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนเดิม เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2500 กรมสามัญศึกษาได้แต่งตั้ง นายทรง จีระกุล มาเป็นครูโรงเรียนนี้อีกคนหนึ่ง ต่อมาได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2520

ลักษณะชุมชน

สภาพชุมชนรอบบริเวณโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี มีลักษณะชุมชนกึ่งเมือง บริเวณใกล้เคียงโรงเรียนโดยรอบ ได้แก่

  • ชุมชนหนองบัว
  • ชุมชนมะขามเตี้ย
  • ชุมชนศรีธานี

อาชีพหลักของชุมชน คือ อาชีพเกษตรกรรม รับจ้างและค้าขาย เนื่องจากเป็นแหล่งสร้างงาน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประเพณี/ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป คือ ประเพณีชักพระทอดผ้าป่า

พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีเป็นโรงเรียนสหศึกษาสังกัดกองการมัธยมศึกษา กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีเปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาเป็นครั้งแรก ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปี พ.ศ. 2499 ใช้อักษรย่อ ส.ฎ.10 ฝากเรียนที่โรงเรียนวัดบางใบไม้ ต.บางใบไม้ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ. 2500 ย้ายมาที่ตั้งปัจจุบัน เลขที่ 223 ถ.ลูกเสือ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี แล้วถูกเปลี่ยนมารับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตร 7 : 3 : 2

โรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้เป็น โรงเรียนที่สงวนไว้เพื่อการทดลองทางวิชาการประถมศึกษา ของ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในความรับผิดชอบของหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยเหตุผลนี้ เมื่อรัฐบาลโอนการศึกษาประชาบาล (ป.1 - ป.7) ไปสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานียังคงสังกัดกรมสามัญศึกษาเช่นเดิม

ปี พ.ศ. 2521 รัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ กระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนหลักสูตร โดยกำหนดชั้นเรียนระดับประถมศึกษามัธยมศึกษา เป็น 6 : 3 : 3 และกระทรวงได้ ยุบโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี จากโรงเรียนระดับประถมศึกษาและตั้งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาโดยมี นายทรง จีระกุล เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก

ปี พ.ศ. 2527 กรมสามัญศึกษาได้แต่งตั้งให้ นายณรงค์ กาญจนประทุม เป็นอาจารย์ใหญ่ แทนนายทรง จีระกุล ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โรงเรียนเวียงสระ ในช่วงนี้โรงเรียนได้วางโครงการปรับปรุงและพัฒนาโรงเรียน ทั้งในด้านอาคาร สถานที่ ได้รื้อถอนอาคารที่มีสภาพทรุดโทรม สร้างหอประชุมและอาคารเรียนใหม่เพื่อขยายห้องเรียนเพิ่มขึ้นและ พ.ศ. 2530 นายณรงค์ กาญจนประทุมดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี

วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 นายกาญจน์ จามพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเวียงสระ ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแทน นายณรงค์ กาญจนประทุม ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเวียงสระ และ นายกาญจน์ จามพัฒน์ได้พัฒนาโรงเรียนให้ก้าวหน้าต่อไปจน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ ระดับ 9 คนแรกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

วันที่ 5 พฤศจิกาจน พ.ศ. 2535 นายโกวิทย์ นวลขาว ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแทนนายกาญจน์ จามพัฒน์ ซึ่งเกษียณอายุราชการ ในช่วงนี้โรงเรียนได้ดำเนินนโยบายพัฒนาและปรับปรุงในทุก ๆด้าน เพื่อให้โรงเรียนได้บรรลุถึงเป้าหมายและมุ่งสนองความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น จนเป็นโรงเรียนของชุมชนอย่างแท้จริง และได้รับรางวัลดีเด่นด้านต่าง ๆ หลายครั้ง

วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2541 นายไพโรจน์ อินทรศรีสม ผู้อำนวยการโรงเรียนเดชะปัตตยานุกูล จังหวัดปัตตานี ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแทนนายโกวิทย์ นวลขาว ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสามัญศึกษา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเรียนได้รับการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานในด้านต่างๆอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 นายนิคม โพธิ์เพชร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี ในช่วงนี้โรงเรียนได้ปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ควบคู่กันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกครองดูแลนักเรียน จนได้รับ รางวัลเกียรติยศดีเด่น จาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2545

ปี พ.ศ. 2547-2550 นายสุนิตย์ พิมาน ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี แทน นายนิคม โพธิ์เพชร โรงเรียนได้รับรางวัลธนาคารโรงเรียนดีเด่น โรงเรียนได้ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพจากภายนอกรอบที่ 1 ผลการประเมินอยู่ในระดับพึงพอใจ ศูนย์ดนตรีไทยโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าพระราชทานถ้วยรางวัลในการจัดประกวดดนตรีไทยนักเรียนระดับภาคใต้ ครั้งที่ 1 ณ โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี

ปี พ.ศ. 2550-2555 ว่าที่ร้อยตรีทวีศักดิ์ ยศถา ผู้อำนวยการโรงเรียนเกาะสมุย ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี แทน นายสุนิตย์ พิมาน โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี ร่วมลงนามกับโรงเรียนมัธยมบาดาวี รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในการร่วมกันพัฒนาการจัดการศึกษาทำให้โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีได้พัฒนาในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนได้รางวัลชนะเลิศระดับภาคใต้จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ หัวข้อ พลังงานเพื่อลดโลกร้อน โรงเรียนผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพจากภายนอกรอบที่ 2 ผลการประเมินอยู่ในระดับดี

ปี พ.ศ. 2555-2557 นายเจนจัด ภักดีไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนเวียงสระ ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี แทน ว่าที่ร้อยตรี ทวีศักดิ์ ยศถา โรงเรียนได้รางวัลสถานศึกษาดีเด่น รองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับจังหวัด โครงการยุวชนประกันภัย ได้รับรางวัลโรงอาหารได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารระดับ ดีมาก ของกรมอนามัย ประจำปี 2556 และได้รับยกย่องเป็นสถานศึกษาที่มีผลงานเด่นด้านคุณธรรม ได้รับรางวัลเหรียญทองในการแข่งขัน Robot Asian Student's Fair ณ ประเทศมาเลเซีย

ปี พ.ศ. 2557-2560 นายพิสิษฐ ศักดา ผู้อำนวยการโรงเรียนทีปราษฎร์พิทยา ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี แทน นายเจนจัด ภักดีไทย โรงเรียนพัฒนาในทุก ๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง เช่น ดำเนินการปรับปรุงหอประชุมรินทอง งบประมาณ 3,000,000 บาท / การปรับปรุงสนามฟุตบอล / การทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษาเพื่อนำเงินสมทบเพื่อการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ จำนวน 1,100,000 บาทและ โรงเรียนผ่านการประเมินคุณภาพรอบที่ 3 ผลการประเมินอยู่ในระดับดี

ปี พ.ศ. 2560-2562 นายเกรียงไกร แก้วมีศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 สุราษฎร์ธานี ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี แทนนาย พิสิษฐ ศักดา โรงเรียนได้มีการสร้างพระพุทธรูปบูชา / สวนโมกข์สวนเมือง โรงเรียนมีการยกระดับภาพลักษณ์องค์กรให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นและยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพนักเรียนอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ในปีการศึกษาต่อมาในการรับสมัครนักเรียนเพื่อศึกษาต่อ โดยอัตราการแข่งขันเพื่อสอบเข้ารับการศึกษานั้นสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฎตั้งแต่ก่อตั้งสถานศึกษา และดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน

ปี พ.ศ. 2562-2563 นางวรรณา มณีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 สุราษฎร์ธานี ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี แทนนาย นายเกรียงไกร แก้วมีศรี โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีได้มุ่งเน้นการพัฒนานักเรียนทั้ง ด้านวิชาการควบคู่วิชาชีพ และเน้นในเรื่องความรักใคร่สมัครสมานสามัคคีภายในองค์กรทั้งบุคลากรและนักเรียน โดยในการพบปะนักเรียนครั้งแรกนั้นท่านได้มีคำพูดที่ว่า " พี่ดูแลน้อง น้องให้เกียรติและเคารพรุ่นพี่ ทุกคนต้องรักและสามัคคี " โดยให้ทุกคนยึดประโยคนี้เป็นคติประจำใจ โดยในขณะนั้นทั่วทั้งโลกเผชิญกับโรคระบาด COVID-19 ที่ระบาดอย่างร้ายแรง โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีภายใต้การนำของท่านผู้อำนวยการ วรรณา มณีรัตน์ ได้มีการปรับทั้งระบบการเรียนการสอนอีกทั้งพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนจากเดิมที่ นายเกรียงไกร แก้วมีศรี ได้พัฒนาไว้ในระดับนึงแล้ว ให้มีความปลอดภัยในด้านสาธารณสุข ทั้งต่อนักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียน ให้สอดคล้องกับสภาวะการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวต่อแผนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี

บุคคลสำคัญ

คุณครูนวลช้อย ทีปะปาล

คุณครูนวลช้อย ทีปะปาล เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2480 ที่ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นธิดาของนายวินัย วิเศษรัตน์ ชาวบางใบไม้ อำเภอเมือง และนางชื่น วิเศษรัตน์ (ปฏิบัติ) ชาวตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จบการศึกษา ครุศาสตร์บัณฑิต จากวิทยาลัยครู สุราษฎร์ธานี สมรสกับนายสุธี ทีปะปาล มีบุตรธิดา 3 คน

ประวัติการรับราชการ

เริ่มเข้ารับราชการเป็นครูกรมสามัญศึกษา กองการประถมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2499

  • พ.ศ. 2499-2501 ครูจัตวา โรงเรียนวัดบางกล้วย กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2501-2503 ครูจัตวา โรงเรียนวัดแหลมทอง กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2504-2506 ครูตรี โรงเรียนโพธิ์นิมิตร กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2506-2521 ผู้ช่วยครูใหญ่ โรงเรียนโพธิ์นิมิตร สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระทรวงมหาดไทย
  • พ.ศ. 2521-2522 อาจารย์ 1 โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2522-2524 อาจารย์ 2 โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2524-2525 อาจารย์ 2 หัวหน้าหมวดกิจกรรม โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี
  • พ.ศ. 2525-2541 อาจารย์ 2 หัวหน้าหมวดกิจกรรมและหัวหน้างานโรงเรียนกับชุมชน โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี
  • พ.ศ. 2541 เกษียณอายุราชการ

วุฒิสูงสุดทางลูกเสือ - ยุวกาชาด

  • หัวหน้าผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ (L.T.)
  • ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลขั้นที่ 5
  • ผู้อำนวยการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชายุวกาชาด
  • ผู้อำนวยการฝึกอบรมอาสายุวกาชาด

ผลงานดีเด่น

ผลงาน ณ โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี

  1. ริเริ่มสร้างรั้วโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี
    ขณะนั้นโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี ยังไม่มีรั้วใครจะเข้า-ออกเวลาใดก็ได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลามีงานเทศกาล คุณครูนวลช้อย จึงได้เรียนเสนอความคิดกับนายทรง จีระกุล อาจารย์ใหญ่ในขญะนั้น ซึ่งให้ความเห็นชอบด้วยและดำเนินการให้ช่างเขียนแบบแปลนเป็นช่อง ๆ ประมาณราคาช่องละ 1,500 บาท ให้คุณครูนวลช้อย ประสานงานขอบริจาคจากบุคคลทั้งในและนอกโรงเรียน รวมแล้วได้ 10 ช่อง เริ่มทำรั้วหน้าโรงเรียนด้านซ้ายมือและในปีต่อมามีการตั้งกรรมการดำเนินงาน โดยมีคุณครูวชิร ศรเกษตริน คุณครูโวหาร สอนสง และคุณครูยงยุทธ์ คงเจริญ เป็นแกนนำสำคัญ และได้ดำเนินการมาเรื่อย ๆ จนได้รั้วโรงเรียนที่สวยงามและแข็งแรง
  2. ริเริ่มก่อตั้งทุนการศึกษา
    คุณครูนวลช้อยได้รับมอบหมายจากนายทรง จีระกุล อาจารย์ใหญ่ในขณะนั้นให้รับผิดชอบงานกิจกรรมนักเรียนทำให้ใกล้ชิดนักเรียนและพบว่านักเรียนที่เรียนดี ประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์มีจำนวนมาก คุณสุณี ฉัตราภรณ์ คหบดีของจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งมีความสนิทสนมกับคุณครูนวลช้อย เมื่อได้ทราบถึงความตั้งใจของคุณครูนวลช้อยจึงได้มอบเงินให้ 2,000 บาทโดยทันที คุณครูนวลช้อยได้นำเงินมาจัดเป็นทุน 2 ประเภท คือ
    • ทุนเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
    • ทุนบำเพ็ญประโยชน์ (มอบให้นักเรียนที่บำเพ็ญประโยชน์และสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน)
    โดยได้เชิญ คุณสุณี ฉัตราภรณ์ มามอบทุนในปีการศึกษา 2522 นับเป็นทุนเริ่มแรกของ โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี
  3. ริเริ่มก่อตั้งวงดนตรีไทยโรงเรียน
    เดิมวงดนตรีไทยเป็นวงขนาดเล็กมีคุณครูลาภและคุณครูเชย เพชรดุล เป็นผู้ฝึกสอน และคุณครูนวลช้อยได้นำวงไปบรรเลงในงานทั้งของชุมชนและหน่วยงานของรัฐ ทำให้วงดนตรีไทยโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีเป็นที่รู้จักมากขึ้นพร้อมกับการเติบโตทีละน้อยของวงดนตรีไทยภายใต้งบประมาณที่จำกัดและต้องของบริจาคเครื่องดนตรีจากผู้มีจิตเมตตา วงดนตรีไทยโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีพัฒนามาถึงจุดสูงสุดในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการลงนามในพันธะข้อตกลง (MOU) ระหว่างโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีกับองค์การบริหารส่วงจังหวัดสุราาฎร์ธานี ในการจัดการศึกษาร่วมกันโดยพัฒนาและส่งเสริมความเป็นเลิศด้านดนตรีไทย
  4. ริเริ่มกิจกรรมนำโรงเรียนสู่ชุมชน
    คุณครูนวลช้อย อยากให้โรงเรียนเป็นที่รู้จักของชุมชนมากขึ้นเมื่อพบว่าในหลักสูตรมีวิชาฟ้อนรำด้วย จึงเสนอความคิดกับฝ่ายวิชาการแลันายทรง จีระกุล อาจารย์ใหญ่ขณะนั้น ว่าจะขอเปิดวิชาฟ้อนรำด้วย แต่ทางโรงเรียนไม่มีครูนาฏศิลป์ คุณครูนวลช้อยจึงได้รับมอบหมายให้สอนวิชาฟ้อนรำตั้งแต่ปี 2521 ต่อมาโรงเรียนประสบความสำเร็จด้านการแระรำตัวกับชุมชนเป็นอย่างมาก เมื่อได้รับมอบหมายให้แสดงเปิดสนามกีฬาจังหวัด ถึง 4 ปีซ้อนและในงานอัฒจันน์เชียร์ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา แปลอักษรคำว่า "นวลช้อย" ถือเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ระหว่างโรงเรียน 2 โรงที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน
  5. ปรับปรุงห้องพยาบาล โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี
    ในวันเกิออายุครบ 82 ปี คุณครูนวลช้อยเกิดความคิดอยากสร้างสิ่งมีประโยชน์แก่นักเรียนโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีเมื่อทราบว่าทางโรงเรียนต้องการปรับปรุงห้องพยาบาล คุณครูนวลช้อยเห็นด้วยว่าห้องพยาบาลควรได้รับการปรับปรุงให้มีความพร้อมต่อความต้องการอีกทั้งยังประโยชน์ไปถึงการรับบริจาคโลหิตของโรงพยาบาลและเหล่ากาชาด จึงได้ให้ทางโรงเรียนจัดหาช่างและ ยังมีคุณครูชัยโรจน์ หิริศักดิ์สกุล ครูช่างซึ่งเกษียณแล้ว เขียนแบบแปลนให้ จึงมีการดำเนินการปรับปรุงและมีพิธีเปิดใน วันพฤหัสบดี ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เกียรติยศและความสำเร็จ

  • วันที่ 20 ตุลาคม 2558 คณะคุณครูโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีเข้าเฝ้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา โดยนำนักเรียนที่ชนะเลิศการประกวดดนตรีไทยชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 7 เข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานถ้วยรางวัล
  • วันที่ 12 มิถุนายน 2561 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จฯ มาทรงติดตามการดำเนินงานโครงการ TO BE NUMBER ONE (ทูบีนัมเบอร์วัน) ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทรงเปิดชมรม TO BE NUMBER ONE (ทูบีนัมเบอร์วัน) และศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE (ทูบีนัมเบอร์วัน) ของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต ๘ สุราษฎร์ธานี และ โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งทรงเป็นองค์ประธานในการแสดงคอนเสิร์ต TO BE NUMBER ONE (ทูบีนัมเบอร์วัน) ณ โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี โดยนายธีระกิจ หวังมุทิตากุล นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี เฝ้ารับเสด็จพร้อมเข้ารับพระราชทานเข็ม ทั้งนี้นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กราบทูลรายงานผลการดำเนินงานโครงการ TO BE NUMBER ONE (ทูบีนัมเบอร์วัน) ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และกราบทูลเบิกผู้ทูลเกล้าถวายเงินเข้าโครงการ TO BE NUMBER ONE (ทูบีนัมเบอร์วัน) เบิกผู้เข้ารับพระราชทานเข็ม และเบิกเลขาธิการมูลนิธิ TO BE NUMBER ONE (ทูบีนัมเบอร์วัน) เข้ารับพระราชทานเงินเข้ามูลนิธิ TO BE NUMBER ONE (ทูบีนัมเบอร์วัน) โดยมีคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการทุกส่วนราชการ คณะครูนักเรียน โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี และประชาชนเฝ้ารับเสด็จฯ
  • วันที่ 22 มกราคม 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลตรีกัลย์สรรค์ จันทรเสน  เชิญตะกร้าสิ่งของพระราชทาน หมวก ผ้าพันคอ บัตรประจำตัวจิตอาสา จดหมายเชิญพระราชกระแสทรงชื่นชมและทรงให้กำลังใจในการมีจิตอาสาทำความดีมายังโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี เพื่อมอบให้แก่ นายธราเทพ บุญหาญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งทำความดีให้ความช่วยเหลือนายวิโรจน์ แซ่ภู่ อายุ 59 ปี  หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขณะออกกำลังกายบริเวณสนามฟุตบอลใกล้สี่แยกบางใหญ่ อ.เมือง เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 ด้วยการทำซีพีอาร์ (CPR) จนชีพจรคืนกลับมาและนำตัวส่งโรงพยาบาลจนปลอดภัย พร้อมกันนี้นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี  รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และ นายเกรียงไกร แก้วมีศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี ร่วมแสดงความชื่นชมยินดีกับนายธราเทพ บุญหาร ที่ประกอบคุณงามความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
  • รางวัลเกียรติยศดีเด่น จาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • รางวัลธนาคารโรงเรียนดีเด่น
  • ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพจากภายนอกรอบที่ 1 ผลการประเมินอยู่ในระดับพึงพอใจ
  • โรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี ร่วมลงนามกับโรงเรียนมัธยมบาดาวี รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในการร่วมกันพัฒนาการจัดการศึกษา
  • ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพจากภายนอกรอบที่ 2 ผลการประเมินอยู่ในระดับดี
  • รางวัลสถานศึกษาดีเด่น
  • รางวัลโรงอาหารได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารระดับ ดีมาก ของกรมอนามัย ประจำปี 2556
  • ได้รับยกย่องเป็นสถานศึกษาที่มีผลงานเด่นด้านคุณธรรม
  • รางวัลเหรียญทองในการแข่งขัน Robot Asian Student's Fair ณ ประเทศมาเลเซีย
  • ผ่านการประเมินคุณภาพรอบที่ 3 ผลการประเมินอยู่ในระดับดี

การเรียนการสอน

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

  • ห้องเรียนทั่วไป (ห้อง 1-4)
  • ห้องเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ทั่วไป (ห้อง 5-6)
  • ห้องเรียนพิเศษ
    • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ S.M.E. (ห้อง 7)
    • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-เทคโนโลยี S.M.T. (ห้อง 8)
    • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ S.M. (ห้อง 9-10)

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

  • แผนการเรียนภาษาไทย-สังคมศึกษา (ห้อง 1-2)
  • แผนการเรียนศิลป์ภาษาจีน (ห้อง 3)
  • แผนการเรียนคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ (ห้อง 4-5)
  • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (ห้อง 6-7)
  • ห้องเรียนพิเศษ
    • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ S.M.E. (ห้อง 8)
    • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-เทคโนโลยี S.M.T. (ห้อง 9)
    • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ S.M. (ห้อง 10)

การแข่งขันกีฬาสี (หนองบัวเกมส์)

ปีการศึกษา 2567

  • สีแดง โกเมนปทุมมาศ
  • สีชมพู อุทุมพรพลอยพรรณ
  • สีเขียว มาลินทร์มรกต
  • สีฟ้า กมลาศไพลิน
  • สีแสด บงกชประภัสสร

ปีการศึกษา 2566

  • สีแดง โกเมนปทุมมาศ
  • สีชมพู อุทุมพรพลอยพรรณ
  • สีเขียว มาลินทร์มรกต
  • สีฟ้า กมลาศไพลิน
  • สีแสด บงกชประภัสสร

ปีการศึกษา 2565

  • สีแดง โกเมนปทุมมาศ
  • สีชมพู อุทุมพรพลอยพรรณ
  • สีเขียว มาลินทร์มรกต
  • สีฟ้า กมลาศไพลิน
  • สีแสด เรืองยศบุษกร

ปีการศึกษา 2562

  • สีแดง เลือดอโยธยา
  • สีชมพู ทักษิณาโนราศิลป์
  • สีเขียว โขนพระพันปี
  • สีฟ้า มหาเทพไอยรา

ปีการศึกษา 2561

  • สีแดง หิมพานต์
  • สีชมพู พาหุยุทธศิลป์
  • สีเขียว วนาหิมาพาลัย
  • สีฟ้า ยุทธนาวี

ปีการศึกษา 2560

  • สีแดง เทวนคร
  • สีชมพู ชนกธราดล
  • สีเขียว เอกบรมราชันย์
  • สีฟ้า ฟ้าครองเมือง

ปีการศึกษา 2559

  • สีแดง เพลิงยักษา
  • สีชมพู ชมพูผกามาศ
  • สีเขียว ผู้ชนะสิบทิศ
  • สีฟ้า Mission blue

ชมรมศิษย์เก่า

ชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี รุ่น 22 (ใยบัว)

ตราสัญลักษณ์ของชมรมฯ

ชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี รุ่น 22 (ใยบัว) เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ สมาชิกศิษย์เก่า คณะคุณครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือ เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อพบปะพูดคุย ติดต่อ ประสานงานกัน แลกเปลี่ยนความคิดในการพัฒนาโรงเรียน ภายใต้แนวทางของสมาชิกชมรมศิษย์เก่า เพื่อเชื่อมความรัก ความสมัครสมาน สามัคคี และยังเป็นการรวมกลุ่มกัน เพื่อที่จะทำงานจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ แก่สังคม และแก่ประเทศชาติ เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีความเป็นศิษย์ที่ดีของโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี

แหล่งข้อมูลอื่น


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "-คู่มือนักเรียนและผู้ปกครองโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี 2560 -หนังสือพิธีมอบห้องพยาบาล ครูนวลช้อย ทีปะปาล" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="-คู่มือนักเรียนและผู้ปกครองโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี 2560 -หนังสือพิธีมอบห้องพยาบาล ครูนวลช้อย ทีปะปาล"/> ที่สอดคล้องกัน

Kembali kehalaman sebelumnya