Share to:

 

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Faculty of Science, Mahasarakham University
ชื่อย่อวท. / SCI
คติพจน์วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า ด้วยปัญญาและคุณธรรม
สถาปนา27 มีนาคม พ.ศ. 2511 (56 ปี)
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คณบดีศ.ดร.ไพโรจน์ ประมวล
ที่อยู่
เลขที่ 41 หมู่ 20 ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150 โทรศัพท์/โทรสาร 0-4375-4247-8
วารสารวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สี  สีเหลือง
มาสคอต
อะตอม
เว็บไซต์https://science.msu.ac.th

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อังกฤษ : Faculty of Science, Mahasarakham University) เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชาสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำการเปิดในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก มีทั้งหมด 25 สาขาวิชา ก่อตั้งในปี 2511 ในชื่อ คณะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป็น 1 ใน 3 คณะเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยมหาสารคามตั้งแต่สมัยยังเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม[1] ร่วมกับคณะวิชาการศึกษา และคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นคณะวิชาที่เปิดสอนวิชาพื้นฐานให้กับคณะวิชาการศึกษา จึงยังไม่ได้เปิดรับนิสิต โดยเปิดสอนวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกชีววิทยา วิชาโทเคมี ให้กับคณะวิชาการศึกษา และรับนิสิตในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตของตนเองรุ่นแรกในปี 2531

ประวัติ

ป้ายนำทางคณะวิทยาศาสตร์
อาคารปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2511 โดยเริ่มก่อกำเนิด มาจาก “คณะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์”[2] ของวิทยาลัยวิชาการการศึกษามหาสารคาม พร้อมกับคณะวิชาการศึกษาและคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ เป็นคณะวิชาที่เปิดสอนวิชาพื้นฐานให้กับคณะวิชาการศึกษา จึงยังไม่ได้เปิดรับนิสิต โดยเปิดสอนวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกชีววิทยา วิชาโทเคมี ให้กับคณะวิชาการศึกษา เนื่องจากรัฐบาลมีความต้องการใช้การศึกษาพัฒนาชุมชนในชนบท โดยเร่งผลิตครูที่มีคุณภาพและจำนวนมากพอเพียงออกไปเป็นผู้นำ ในส่วนของสถานที่ทำการเรียนการสอนของคณะวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระยะแรกนั้น (พ.ศ. 2511-2515 ที่ตั้ง ม.เก่า) นิสิตที่เรียนสาขาด้านวิทยาศาสตร์ต้องเรียนรวมกับนิสิตสาขาอื่นๆ ที่อาคารเรียนหลังที่ 1 ซึ่งการใช้อาคารนั้นแบ่งออกเป็นสองส่วน คือชั้น 3-4 ให้กลุ่มวิชาทางวิทยาศาสตร์ใช้ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของอาคารให้ทางกลุ่มวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ใช้ส่วนชั้น 1-2 ใช้เป็นสำนักงานรองอธิการ อย่างไรก็ตามการแบ่งการใช้นั้นไม่ได้ยึดเคร่งมาก เพียงแต่แบ่งเพื่อความง่าย สะดวกในการใช้สอย ให้เป็นสัดส่วนเท่านั้น

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2511-2515 วิทยาลัยได้ขยายพื้นที่มายังฝั่งตรงข้ามซึ่งเดิมเคยเป็นสนามแข่งม้าของจังหวัดมหาสารคาม[3] และได้สร้างอาคารเรียนหลังที่ 2 และหลังที่ 3 ขึ้นมา จากนั้นนิสิตที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์จึงย้ายมาใช้อาคารเรียนหลังที่ 3 ส่วนอาคารหลังที่ 2 ใช้ เป็นสำนักงานรองอธิการบดี สำหรับอาคารเรียนหลังที่ 1 ใช้เป็นอาคารเรียนของนิสิตที่เรียนวิชาพื้นฐานด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ของคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ และคณะวิชาการศึกษา

พ.ศ. 2512 ร่วมกับคณะวิชาการศึกษา เปิดสอนในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกชีววิทยา วิชาโทเคมีและคณิตศาสตร์

พ.ศ. 2513 ร่วมกับคณะวิชาการศึกษา เปิดสอนในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกชีววิทยา คณิตศาสตร์และวิชาโทชีววิทยา,เคมี,คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์

พ.ศ. 2516 ร่วมกับคณะวิชาการศึกษา เปิดสอนในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอก และโทชีววิทยา เคมีคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 วิทยาลัยวิชาการการศึกษามหาสารคามได้ถูกโอนเข้าไปสังกัดในทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามและทั่วประเทศขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ[4] ตามด้วยชื่อสถานที่ตั้งของวิทยาลัยเดิมเป็นวิทยาเขต คณะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม จึงทอนชื่อคณะจากเดิมชื่อว่า “คณะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” มาเป็น “คณะวิทยาศาสตร์” ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2518 กลายเป็น “คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม”[5] การปรับโอนในครั้งนี้ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรจากเดิมที่มุ่งเน้นการผลิตครูเป็นหลัก มาเป็นการมุ่งผลิตนักวิทยาศาสตร์ ทำให้บุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ หันมาให้ความสำคัญในการทำวิจัยเพิ่มขึ้น งานวิจัยในระยะแรกเน้นไปทางด้านเกษตร โดยเฉพาะการวิจัยทางด้านโภชนาการซึ่งมี ผศ.วรากร วราอัศวปติ เป็นกำลังสำคัญ เนื่องจากช่วงเวลานั้นเด็กในภาคอีสานมีปัญหาทางด้านภาวะทุพโภชนาระดับรุนแรง ต่อมางานวิจัยเหล่านี้ ทำให้เกิดการจัดการศึกษาและตั้งคณะเทคโนโลยีขึ้นในภายหลัง โดยคณะวิทยาศาสตร์ได้ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ ผลิตบัณฑิตทางการศึกษาหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ในสาขาวิชาชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทั่วไป

พ.ศ. 2518 ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกคณิตศาสตร์

พ.ศ. 2524 ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ผลิตบัณฑิตทางการศึกษา หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) สาขาวิทยาศาสตร์เกษตร ผลิตมหาบัณฑิตหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.) สาขาวิชาชีววิทยา และหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิตการมัธยมศึกษา (กศ.ม.) สาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2531 ผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาสถิติ เป็นสาขาวิชาแรกที่เปิดรับนิสิตภายใต้ชื่อคณะวิทยาศาสตร์ หลังจากที่ผลิตบัณฑิตร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ยาวนานถึง 20 ปี

พ.ศ. 2532 ผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาชีววิทยา และร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ ผลิตมหาบัณฑิตหลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การศึกษา

พ.ศ. 2534 ผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาเคมี

พ.ศ. 2536 ผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์

ในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการปรับโครงสร้างของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมีการแยกวิทยาเขตมหาสารคามออกมาบริหารงานเองอย่างเป็นเอกเทศและยกระดับขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[6] นับเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่ 19 ของประเทศไทย ส่งผลให้เป็นที่มาของชื่อดังปรากฏในปัจจุบันคือ “คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Faculty of Science, Mahasarakham University”[7] ซึ่งมีการบริหารจัดการและแบ่งส่วนราชการแยกเป็นภาควิชาและสำนักงานเลขานุการ ในส่วนภาควิชาแบ่งเป็น 5 ภาควิชา คือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาเคมี ภาควิชาฟิสิกส์ และภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์[8]

หลังจากยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปี พ.ศ. 2537 มหาวิทยาลัยได้มีการก่อสร้างอาคารและหน่วยงานต่างๆในเขตพื้นที่ขามเรียงขึ้น รวมถึงอาคารคณะวิทยาศาสตร์ด้วย เมื่ออาคารเรียนสร้างแล้วเสร็จ จึงได้ย้ายที่ทำการจากที่ตั้งตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มายังที่ตั้งตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ใน พ.ศ. 2542 คืออาคารวิทยาศาสตร์ SC1 หรือเป็นที่รู้จักกันของบุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม “ตึก SC1 คณะวิทยาศาสตร์”

พ.ศ. 2538 ผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ

พ.ศ. 2539 ตั้งภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์

ต่อมาในปี 2542 ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ได้แยกออกจากคณะวิทยาศาสตร์เพื่อไปจัดตั้งเป็น คณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ (ในปัจจุบันได้แยกออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ และดำเนินงานอยู่ในคณะวิทยาการสารสนเทศ) ทำให้คณะวิทยาศาสตร์เหลือภาควิชาเพียง 4 ภาควิชาคือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาเคมีและภาควิชาฟิสิกส์ พร้อมทั้งเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต เพิ่มอีก 2 หลักสูตรได้แก่ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ และสาขาวิชาฟิสิกส์ และย้ายที่ทำการของคณะวิทยาศาสตร์จากบ้านโนนศรีสวัสดิ์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มาที่ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม (ที่ตั้งปัจจุบัน)

พ.ศ. 2543 เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) สาขาวิชาเคมีศึกษา และชีววิทยาศึกษา

พ.ศ. 2545 เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) สาขาวิชาชีววิทยา

พ.ศ. 2546 เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) สาขาวิชาเคมี

พ.ศ. 2547 เปิดหลักสูตรปริญญาตรีรวม 6 หลักสูตร ปริญญาโท 4 หลักสูตร และปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรี 3 หลักสูตร ได้แก่ สาขาเคมี สาขาชีววิทยา และสาขาสถิติ

พ.ศ. 2548 คณะวิทยาศาสตร์มีโครงการเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตจำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ สาขาฟิสิกส์ศึกษา สาขาคณิตศาสตร์ศึกษา สาขาบรรพชีวินวิทยา และเปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาชีววิทยา และสาขาบรรพชีวินวิทยา (หลักสูตรนานาชาติ)

ปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานในระบบราชการสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แบ่งการบริหารงานเป็นระดับภาควิชาซึ่งมีจำนวน 4 ภาควิชา คือ ภาควิชาเคมี ภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาฟิสิกส์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ และสำนักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์ มีบุคลากรทั้งหมด 206 คน โดยมีอาจารย์ประจำทั้งหมด 150 คน และบุคลากรสายสนับสนุนทั้งหมด 56 คน มีนิสิตจำนวน 2,033 คน ประกอบด้วยปริญญาตรีจำนวน 1,893 คน และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 140 คน[9]

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตและงานวิจัยที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นการสร้างหลักสูตรบรรพชีวินวิทยา(นานาชาติ)แห่งแรกในประเทศไทย และจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา เก็บถาวร 2021-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย เพื่อผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ลงตัวและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อชุมชน

หน่วยงานภายในคณะ

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แบ่งการบริหารหน่วยงานภายในดังนี้


การบริหารงานภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ด้านการบริหารงาน ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัยและพัฒนา
  • สำนักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์
    • กลุ่มงานบริหาร
    • กลุ่มงานนโยบาย แผนและคลัง
    • กลุ่มงานวิชาการและพัฒนานิสิต
  • ภาควิชาคณิตศาสตร์
  • ภาควิชาฟิสิกส์
  • ภาควิชาเคมี
  • ภาควิชาชีววิทยา
  • พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา
  • หน่วยบริการวิชาการด้านเครื่องมือวิทยาศาสตร์
  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาตักสิลาเพื่อการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม
  • ศูนย์บริการวิชาการ
  • หน่วยวิจัยดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • Data Science and sustainable agriculture; Climate Change,
    Innovation and extreme Risk Assessment (DSSA)
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีท่อความร้อน
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยอนุกรมวิธานพืชและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและการประยุกต์
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยสถิติและสถิติประยุกต์
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยทางวัสดุศาสตร์เชิงฟิสิกส์
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยพลังงาน
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยบรรพชีวินวิทยาประยุกต์และการลำดับชั้นหินตามชีวภาพ
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยนาโนเทคโนโลยี
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสร้างสรรค์และนวัตกรรม
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีซูปราโมเลคิวลาร์
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยจุลชีววิทยาและจุลชีววิทยาประยุกต์
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยคณิตศาสตร์และคณิตศาสตร์ประยุกต์
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมเลียนแบบธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนทางการเกษตร
    สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยโปรตีนและเอมไซม์เทคโนโลยี
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยพอลิเมอร์แตกสลายทางชีวภาพได้
  • หน่วยปฏิบัติการวิจัยเฉพาะทางวิจัยเทคโนโลยีพลาสมา
  • หน่วยวิจัยเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลแม่เหล็ก

โดยโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย หรือโครงการ (วมว.) เป็นโครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินการ การบริหาร จัดการหลักสูตรการเรียนการสอนห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนซึ่งอาจเป็นโรงเรียนเครือข่ายหรือโรงเรียนในกำกับของมหาวิทยาลัยโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ให้การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน

หลักสูตร

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดทำการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก มีหลักสูตรทั้งหมด 4 หลักสูตร 25 สาขาวิชา แบ่งเป็นหลักสูตรปกติ 24 สาขาวิชาและหลักสูตรนานาชาติ 1 สาขาวิชา ได้แก่


หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ภาควิชา ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญามหาบัณฑิต ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต

รวมทุกภาควิชา

หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์และธุรกิจ

ภาควิชาคณิตศาสตร์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์
  • สาขาวิชาสถิติ

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา
  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์
  • สาขาวิชาวิทยาการจัดการสถิติ

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาวิทยาการจัดการสถิติ

ภาควิชาฟิสิกส์

หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาฟิสิกส์
  • สาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์
  • สาขาวิชาพลังงานและการควบคุมระบบอัตโนมัติ

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาฟิสิกส์
  • สาขาพลังงาน

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาฟิสิกส์

ภาควิชาชีววิทยา

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาชีววิทยา
  • สาขาวิชาจุลชีววิทยา
  • สาขาวิชาพันธุศาสตร์โมเลกุล

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาวิชาชีววิทยา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาบรรพชีวินวิทยา (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ

ภาควิชาเคมี

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาเคมี
  • สาขาวิชานวัตกรรมทางชีวเคมี

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาวิชาเคมี

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาเคมี

สถานที่ตั้งและพื้นที่

อาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
กลุ่มอาคารคณะวิทยาศาสตร์และสระคณะวิทยาศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งอยู่เลขที่ 41 หมู่ 20 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย ประกอบด้วยอาคารเรียนหลัก 3 หลังได้แก่ อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ (SC1) อาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (SC2) และอาการปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์ (SC3) ตั้งอยู่ระหว่างคณะเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ และสำนักวิทยบริการ

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2539 มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีการก่อสร้างอาคารคณะวิทยาศาสตร์ SC1 ขึ้น แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2541 ผู้ออกแบบโดยบริษัท CAPE มี หจก. กำจรกิจก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์ ลักษณะอาคารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 13,500 ตาราง วงเงินก่อสร้าง 162,000,000 บาท อาคารคณะวิทยาศาสตร์ SC1 เป็นอีกอาคารที่มีความสำคัญมาก มีห้องปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย มีห้องประชุมขนาดใหญ่ เป็นสถานที่ที่จัดกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ ตลอดจนงานสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์ ที่ทางคณะได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมกิจกรรมเกิดแรงบันดาลใจเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักวิจัย มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนได้ทดลอง โดยคณะวิทยาศาสตร์ได้ใช้อาคารคณะวิทยาศาสตร์ SC1 เป็นอาคารเรียนของคณะ ผลิตบัณฑิตไปรับใช้ประเทศชาติจำนวนมาก

ปัจจุบันอาคารวิทยาศาสตร์ SC1 เป็นที่ทำการของภาควิชาสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย

  • ชั้น 1 ภาควิชาคณิตศาสตร์
  • ชั้น 2 ภาควิชาฟิสิกส์
  • ชั้น 3 ภาควิชาชีววิทยา
  • ชั้น 4 ภาควิชาเคมี

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ก่อสร้างอาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพพร้อมครุภัณฑ์ขึ้น โดยใช้งบประมาณปี 2541-2543 วงเงินก่อสร้าง 122,000,000 บาท เลขที่สัญญาจ้าง จ.12/2541 สัญญาจ้างลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 จำนวนงวดงาน 15 งวดงาน กำหนดวันแล้วเสร็จ 8 กันยายน 2543 ผู้ออกแบบ CAPE ข้อมูลแบบ พิมพ์เขียว บริษัทผู้รับจ้าง หจก.กำจรกิจก่อสร้าง เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนและห้องปฏิบัติการคณะวิทยาศาสตร์ ชื่อ อาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพ หรือ อาคาร SC2 ลักษณะอาคาร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 11,000 ตารางเมตร

ปัจจุบันอาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพ หรืออาคาร SC2 ประกอบด้วย 4 ชั้น ได้แก่

  • ชั้น 1 ห้องบรรยาย
  • ชั้น 2 ห้องบรรยาย ห้องปฏิบัติการทางเคมี ห้องพักอาจารย์ ห้องสำนักงานและห้องเรียนโครงการ วมว.
  • ชั้น 3 ห้องพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา ห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยา ห้องพักอาจารย์
  • ชั้น 4 ห้องนิทรรศการอัญมณีใต้ท้องทะเล ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์หน่วยวิจัย

ทำเนียบคณบดี

รายนามผู้บริหารและคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้ (เท่าที่มีการบันทึก)


ทำเนียบผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
หัวหน้าคณะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม
รายนามหัวหน้าคณะ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ รักษพลเดช พ.ศ. 2511 - 2514
2. รองศาสตราจารย์ ดร.ประยงค์ พงษ์ทองเจริญ พ.ศ. 2514 - 2517
รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม
รายนามรองคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย์ ดร.ไพฑรูย์ สุขศรีงาม (รักษาราชการแทน) พ.ศ. 2517 - 2523
2. รองศาสตราจารย์ ดร.ไพฑรูย์ สุขศรีงาม พ.ศ. 2523 - 2527
3. รองศาสตราจารย์มยุรี ภารการ พ.ศ. 2527 - 2530
4. ดร.อุษา กลิ่นหอม พ.ศ. 2530 - 2534
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สกล คงบุญ พ.ศ. 2534 - 2538
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทพ อุสาหะ พ.ศ. 2538 - 2540
2. รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล พ.ศ. 2540 - 2544
3. ศาสตราจารย์ ดร.เรือน สมณะ พ.ศ. 2544 - 2549
4. รองศาสตราจารย์จีระพรรณ สุขศรีงาม พ.ศ. 2549 - 2553
5. ศาสตราจารย์ ดร.ละออศรี เสนาะเมือง พ.ศ. 2553 - 2556
6. ศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร มากตุ่น พ.ศ. 2557 - 2560
7. ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา

อาคาร SC1 และ SC2

พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา (อังกฤษ: Natural Medicinal Mushroom Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาด้านพฤกษศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถานจัดแสดงพันธุ์เห็ดต่างๆ ที่มีฤทธิ์ทางยา และเป็นหน่วยงานในกำกับดูแลโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคามเขตพื้นที่ขามเรียง

พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา ก่อตั้งในปี 2550 โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามและได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิจัยเห็ดฟิลินัสธรรมชาติ ไทย-เกาหลี (Thai – Korea Natural Phellinus Mushroom Research Center) มีวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญคือ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา ทั้งเห็ดในภาคอีสานและเห็ดที่มีการวิจัยหรือได้รับความสนใจในต่างประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาตัวยาใหม่ๆ เพื่อช่วยชีวิตมนุษย์โดยเฉพาะโรคที่ยาแผนปัจจุบันยังรักษาไม่ได้ ซึ่งโครงการพิพิธภัณฑ์ได้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 และตัวโครงการได้แล้วเสร็จเดือนสิงหาคม ปี 2550 และได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ถือเป็นพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชีย[10]

พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบฐานข้อมูล โดยกำหนดหมายเลขเป็นInternational Index Herbarium Code คือ MSUT ปัจจุบันมีมากกว่า 4000 ตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีบริการรับฝากตัวอย่างเห็ดโดยให้หมายเลข MSUT พร้อมกับมีหมายเลขผู้เก็บตัวอย่าง (Collector Number) ทั้งนี้สามารถรับแบบฟอร์มการรับฝากตัวอย่างได้ทีพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา[11]

พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา ยังคงเปิดให้ประชาชนที่สนใจได้ศึกษาข้อมูล ที่จะเรียนรู้ นับเป็นสถานที่ที่น่าสนใจและมีความหลากหลายทางชีววิทยาและเห็ดธรรมชาติซางฮวงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยายังได้มีการให้บริการทางด้านวิชาการแก่นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจ ทั้งในเรื่องของการให้ยืมตัวอย่างเพื่อการศึกษาวิจัย หรือให้คำแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีข้อสงสัยในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับเห็ด รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เห็ดฯ ได้รับการจดทะเบียนเป็น International Herbarium Index โดยมีรหัส คือ MSUT ซึ่งสามารถขอยืมตัวอย่างและขอความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์อื่นทั่วโลกที่อยู่ในฐานข้อมูล และพิพิธภัณฑ์เห็ดฯ ยังมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างดี เช่น The Field Museum, Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา[12]

ทุกปีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะจัดงานสัปดาห์วันวิทยาศาสตร์ และจะเปิดพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยานี้ให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้าชมฟรี โดยตัวอย่างเห็ดจะอยู่ในรูปของ เห็ดแห้ง และเห็ดที่อยู่ในโถดอง อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่ทำมาจากเห็ดอีกด้วย ซึ่งจะมีการแสดงแผนภาพเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เยี่ยมชม[13]

หน่วยวิจัย

หน่วยปฏิบัติการวิจัย และผลงานวิจัยของหน่วยวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวนทั้งสิ้น 20 หน่วยวิจัย ดังนี้[14][15]

กีฬา 5 วิด’สัมพันธ์

“กีฬา 5 วิด’สัมพันธ์”[16] เป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างวิทยาลัยการเมืองการปกครอง (วิดการเมือง), คณะวิทยาการสารสนเทศ (วิดยาการ), วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ (วิดดุ), คณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิดวะ) และคณะวิทยาศาสตร์ (วิดยา) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) โดยมีจุดประสงค์ให้ทั้ง 5 คณะ เกิดความผูกพัน มิตรภาพไมตรี และเกิดความสามัคคีแน่นแฟ้นต่อกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังได้รับความสนุกสนามเพลิดเพลินและผ่อนคลาย

ส่วนในกีฬานั้นจะแบ่งออกเป็น 2ประเภท คือกีฬาสากล กับกีฬาพื้นบ้าน ส่วนในเรื่องของแสตนเชียร์และผู้นำเชียร์ได้มีการตกลงถึงกฎ กติกา มารยาทในการแข่งขันกีฬา เช่น มีชักกะเย่อ ส่งลูกปิงปอง และเพิ่มสีสันด้วยกีฬาผู้นำคือให้ผู้นำแต่ละคณะได้ลงมาทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งมีการโชว์สแตนด์เชียร์ จัดกีฬาพื้นบ้านขึ้นมา เพื่อให้น้องที่สแตนด์มีส่วนร่วมด้วยเป็นประจำทุกปี เรียกได้ว่าเป็นประเพณีไปแล้ว สำหรับการเวียนเจ้าภาพ จะเวียนเป็นวงกลมตามภูมิลักษณะของมหาวิทยาลัย เริ่มต้นจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการสารสนเทศ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง และคณะวิทยาศาสตร์ ตามลำดับ

อันดับและการรับรองมาตรฐาน

คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับ SCD Faculty Rankings 2021 ระดับคณะเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ซึ่งเป็นการจัดอันดับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จากมูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย ประจำปี 2021 ใน ด้าน “POLICY & RESEARCH” รองจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[17]

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

อ้างอิง

  1. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ประวัติคณะศึกษาศาสตร์. เก็บถาวร 2021-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2564.
  2. สาร MSU Online. อาคารคณะวิทยาศาสตร์ SC1. 10 พฤษภาคม 2565.
  3. สาร MSU Online. วิทยาลัยวิชาการฯ ขยายพื้นที่มาสนามม้า. 10 พฤษภาคม 2565.
  4. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗. เก็บถาวร 2022-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
  5. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย. การแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๒๙. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
  6. ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. ๒๕๓๗, มาตรา เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๕๔ ก หน้า ๑ ประกาศใช้เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๕๓๗. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
  7. กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี. พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๘. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
  8. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. รายงานข้อมูลพื้นฐานปี 2563 ส่วนราชการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หน้า 12. เก็บถาวร 2021-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564
  9. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ข้อมูลพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564.
  10. เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์. เก็บถาวร 2021-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564.
  11. แนะนำพิพิธภัณฑ์. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564.
  12. ข้อมูลพิพิธภัณฑ์. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564.
  13. แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2564.
  14. RESEARCH UNITS. หน่วยวิจัยในคณะวิทยาศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2565
  15. RESEARCH UNITS. หน่วยวิจัยในคณะวิทยาศาสตร์ (ต่อ). สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2565
  16. สื่อมวลชล. “กีฬา 5 วิด’สัมพันธ์” สานสัมพันธ์ 5 คณะ มมส. เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้น 6 ตุลาคม 2565.
  17. คณะวิทยาศาสตร์. คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับ SCD Faculty Rankings 2021 ระดับคณะเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2565.
  18. "ประวัติชลิตา ส่วนเสน่ห์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-26.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya